ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1201


    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๒๐๑

    สนทนาธรรม ที่ บ้านธัมมะ ลำพูน

    วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑


    ผู้ฟัง ลักษณะที่เราพยายามตั้งใจ หรือคิดว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นไม่ดี อย่างนี้จะกลายเป็นการเอาตัวตนเข้าไปทำหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ตลอดหมดไม่มีตัวตนเลย เพราะว่าคุณชัยยงค์ลืมว่าทุกอย่างเป็นธรรม พูดไม่ดีกับพ่อแม่ เป็นธรรมหรือเปล่า หรือเป็นเรา

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ได้รู้เลยว่า ทั้งหมดนั่นน่ะเป็นธรรม เหมือนเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ถ้าเราตั้งใจที่ว่าอย่างน้อยจะไม่ทำ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า เราตั้งใจเห็นไหม ลืมว่าตั้งใจเป็นธรรม เห็นไหม มีธรรม แต่มีตัวตน ที่จะพยายามไปรู้ธรรม กับมีธรรมแล้วไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงฟังจนค่อยๆ รู้ธรรมแต่ละ ๑ ว่าเป็นธรรม ตั้งใจก็เป็นธรรม พูดไม่ดีก็เป็นธรรม ต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะรู้ว่า ตั้งใจขณะนั้นมี แต่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่จำ ไม่ใช่โกรธ ตั้งใจก็เป็นธรรม แต่ละ ๑ ละเอียดยิบซึ่งเคยเป็นเรามาตั้งแต่เช้าที่ว่าเป็นอะไรๆ มาทั้งหมดคือธรรม แต่ละ ๑ ซึ่งละเอียดเกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ตัวเราตั้งใจจะไปทำสติ แต่เป็นความเข้าใจถูกต้อง ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเป็นเราฟังธรรม เป็นเราซึ่งฟังแล้วจะทำ ตั้งใจที่จะทำ แต่ไม่รู้ว่าตั้งใจก็ไม่ใช่เรา พูดไม่ดีก็ไม่ใช่เรา ทำดีก็ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง อาจารย์กำลังสื่อว่า ที่ตั้งใจจะไม่ให้อกุศลจิตเกิดก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วทำได้ไหม

    ผู้ฟัง ผมก็คิดว่ามันจะทำให้ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ทำได้ ทำให้ดีขึ้นได้ไหม นี่คือความผิดพลาดตั้งแต่ต้นตั้งแต่ฟัง เห็นไหม โดยไม่รู้ตัวเลย ความไม่รู้มีมาก ความเป็นตัวตนมีมาก ความต้องการมีมาก ก่อนฟังธรรม ก็อาจจะต้องการโน่นนี่ๆ นั่นอย่างอื่น แต่พอฟังธรรมอยากจะตั้งใจว่าจะไม่ทำอกุศล ก็คืออยาก ไม่อย่างนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะบำเพ็ญบารมีถึงนานอย่างนั้นหรือ เพื่อที่จะรู้ว่าทุกขณะ ทุกอย่างที่มี เป็นสิ่งที่มีจริงที่ต้องเกิดจึงมี และเกิดโดยที่ไม่มีใครไปทำขึ้นมาได้ คิดยังไง คิดให้เกิดธรรมไม่ได้ แต่เมื่อมีปัจจัยที่ธรรมใดจะเกิดธรรมนั้นก็เกิด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ตั้งใจจะไม่ทำอกุศล ปัญญาคือรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา อย่างไหนเป็นปัญญา อย่างไหนเป็นเรา เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรม ต้องรู้ว่าเพราะไม่รู้จึงมีเรา และแม้แต่ฟังคำว่าทุกอย่างที่มีจริงไม่ใช่เรา จึงใช้คำว่า "ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ "

    เพราะฉะนั้นต้องฟังละเอียดจริงๆ ว่าฟังทั้งหมดเพื่อให้รู้ความจริงว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราไปทำ ไม่มีใครที่จะเป็นผู้สร้าง ผู้ทำ แต่สิ่งนั้นเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น และเกิดแล้วก็ไม่ได้ตั้งอยู่นานเลย เกิดแล้วก็ดับไป จึงลวงให้เห็นว่าเหมือนตั้งอยู่ เหมือนมีเรา สืบเนื่องมาแต่ละขณะ เป็นเราไปหมด ตั้งแต่เราทำไม่ดี จนกระทั่งเราคิดตั้งใจที่จะทำดี ก็เป็นเราไปหมด แต่ความจริงเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้คำเดียวเปลี่ยนไม่ได้ ต้องมั่นคง ต้องเป็นธรรม แสดงเห็นว่าความเข้าใจของเรา ไม่ได้เข้าใจธรรม เป็นเราฟังธรรมเพื่อที่จะเข้าใจธรรม และก็เป็นเราที่จะทำธรรม ไม่รู้ว่าทำไม่ได้เกิดแล้วดับแล้วด้วย ฟังแล้วเป็นไง ท้อถอยหรือว่าเบิกบาน

    ผู้ฟัง ถ้าตอบตามความรู้สึกจริงๆ ก็คิดว่า ชาตินี้สติไม่เกิด ทั้งๆ ที่ผมหวังทำทุกวัน ต้องใช้คำว่าทุกวัน

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิด ไม่ใช่เพราะคุณชัยยงค์คิด

    ผู้ฟัง ตรงนั้นผมเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ยับยั้งไม่ให้สติเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อยู่ที่ว่าเพราะอะไรสติจึงไม่เกิด

    ผู้ฟัง เพราะยังเข้าใจไม่พอ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรู้ได้เลย ทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัยที่สมควร ใช่ไหม ด้วยเหตุนี้ฟังอย่างนี้แล้ว เบิกบานหรือว่าท้อถอย

    ผู้ฟัง ทั้งเบิกบาน ทั้งท้อถอย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเบิกบาน ขณะนั้นเป็นเพราะอะไร ท้อถอยในขณะนั้นเป็นเพราะอะไร เห็นไหม บังคับได้ไหมไม่ได้ ตอบตามความเป็นจริง ก็ต้องรู้ว่าเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เบิกบานก็ตอนที่ว่า เราก็รู้ว่ามีทาง แต่ท้อถอยก็ทางนั้นแสนสาหัส

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่ทางนั้นแสนสาหัส แต่เป็นทาง จะสาหัสสักเท่าไหร่ก็ตาม ก็ยังเป็นหนทาง ที่จะทำให้สามารถที่จะรู้ความจริง และดับกิเลสได้ ยังเบิกบานหรือท้อถอย

    ผู้ฟัง ผมไม่เคยคิดว่า อยากจะดับกิเลส เพราะผมรู้ว่าเป็นทางที่ยากมาก เพียงแต่ว่าก็มุ่งมั่นที่จะให้มันเข้าใจมากขึ้นๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ผิด

    ผู้ฟัง มุ่งมั่นก็คือเป็นเราอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าสำนึกว่า ตระหนักว่า รู้ความจริงว่า กิเลสมากมายแค่ไหนในสังสารวัฎฏ์ ยิ่งกว่าจักรวาลไม่มีที่จะบรรจุเลย แล้วการฟังธรรมของเราได้เข้าใจแค่นี้ แล้วจะไปดับกิเลส จะประจักษ์แจ้งเป็นไปได้หรือ แต่ความเป็นตัวตนมีมาก ที่อยากจะรู้อย่างนั้น อยากจะทำอย่างนั้น หรืออยากจะให้เร็วขึ้น เห็นไหม มาในรูปแบบสารพัด ไม่เคยรู้เท่าทันโลภะเลย ปัญญาเท่านั้นที่สามารถที่จะรู้ได้ว่าโลภะอยู่ไหน และปัญญาจึงละโลภะ เพราะรู้ว่านั่นเป็นโลภะอยู่ตรงนั้น

    ผู้ฟัง ผมไม่เคยคิดที่จะอยากดับกิเลส เพราะผมรู้ว่ามันยากมาก แล้วก็ไม่เคยคิดที่ว่าอยากจะได้เร็ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นจะท้อถอยทำไม

    ผู้ฟัง ท้อถอยก็เพราะรู้ว่ามันแสนสั้น

    ท่านอาจารย์ ก็เมื่อครู่นี้ไม่เคยคิดอยาก ไม่อยากจะท้อถอยหรือ เห็นไหม ลึกๆ ลงไป ลึกแสนลึก คือความเป็นตัวเรา เพราะความไม่รู้ อวิชชา และโลภะ โลภะนี่บางเนียน สนิท เยื่อใยมีสารพัด หนักก็มากทุกอย่าง แล้วแต่จะเกิดขึ้นในระดับใด แต่ปัญญาเท่านั้นที่รู้จึงดับได้ ถ้าปัญญาไม่รู้ก็พาเขวไปได้ โลภะพาไปได้ทุกอย่าง พาไปได้แม้ถึงอรูปพรหมภูมิ อยากไปหรือ ก็ไปสิ มีทาง แต่ที่จะออกจากสังสารวัฎฏ์ โลภะพาออกจากสังสารวัฎฏ์ไม่ได้

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามปัญหาใหม่ คือในขั้นภาวนาบอกว่า

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ภาวนาเป็นภาษาบาลี และเราพูดภาษาไทย จะหมายความถึงอะไร ขอเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น ภาวนานี้เป็นภาษาบาลี หมายถึงการอบรมเจริญปัญญา อบรมเจริญกุศลจากที่ไม่มีให้มีขึ้น และเจริญยิ่งขึ้นๆ จนถึงความความสมบูรณ์พร้อม นี่คือความหมายของภาวนา เป็นไปในเรื่องของการเจริญขึ้น ของกุศลธรรม และปัญญาที่เข้าใจความจริง แล้วก็แสดงถึงความเป็นจริง ของธรรมที่เกิดขึ้นเจริญขึ้น โดยมีเหตุมีปัจจัย ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน ที่ไปทำให้กุศลเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นตัวตนที่ไปทำให้ปัญญาเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดเป็นธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะว่าแม้แต่ความเจริญขึ้นของปัญญาที่จะสมบูรณ์พร้อมจริงๆ ที่เป็นวิปัสสนาภาวนานี้ ซึ่งก็เป็นปัญญาที่เจริญขึ้นมาจากไหน ก็มาจากการได้ยินได้ฟังในแต่ละคำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่กล่าวถึงว่า "สุตตมยปัญญา หรือ สุตตมยญาณ " หมายถึงปัญญาที่สำเร็จมาจากการฟัง ถ้าไม่มีการตั้งตนอย่างนี้ ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้น เพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยที่สำคัญ ก็คือการได้ฟังได้ศึกษาในคำจริงแต่ละคำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้นโดยความหมายของ "ภาวนา" ก็คือการอบรมเจริญกุศลอบรมเจริญปัญญา ให้มีขึ้นเจริญขึ้นนั่นเอง

    ผู้ฟัง ในการดำรงชีวิต เราจำเป็นที่จะต้องประกอบอาชีพ ในเทปผมฟังได้ว่า การที่เราไปทำงาน ในขณะที่เราทำงานก็เป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ในเทปบอกหรือว่าเข้าใจ เห็นไหม ไม่ใช่ตามใคร แต่ทำไมเขาบอกว่าแม้แต่ทำงานก็เป็นอกุศล แล้วเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ใช่ตามเขา แต่ฟังแล้วอกุศลคืออะไร แล้วที่เขาพูดบอกว่าอย่างนั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่เมื่อเขาบอกก็จริง แต่ต้องรู้ว่าอกุศลคืออะไร

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์อธิบายว่าทำไมการทำงานถึงเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเราต้องรู้จักจิตเสียก่อน แต่ละคำ ข้ามไม่ได้เลย จิตเป็นเราหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ มีจริง

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบอกได้ใช่ไหม ว่าจิตคืออะไร เดี๋ยวนี้มี เพราะฉะนั้นจิตคืออะไร ยังไม่ต้องไปภาวนา ยังไม่ต้องสติปัญญาเจริญอะไรๆ ทั้งสิ้น เข้าใจแต่ละคำ แล้วก็จะนำไปสู่ความเข้าใจขึ้น ถูกต้องขึ้น จากการไตร่ตรองพิจารณาโดยละเอียดไม่ใช่โดยข้าม มีจิตใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ คืออะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอะไร ปรมัตถธรรม ทุกคำต้องไล่เรียงไป จนกระทั่งเป็นความเข้าใจที่ชัดเจน กระจ่างใส ไม่มีความเห็นผิดเข้ามาเจือปน เพราะถ้ามีความเห็นผิดเข้ามาเจือปน ขณะนั้นก็ไม่ได้เข้าใจ ก็เป็นอันตราย ที่จะรู้อย่าง งูๆ ปลาๆ แต่ว่าไม่ได้เกิดประโยชน์ที่จะรู้จริงๆ แจ้งชัดไปแต่ละ ๑ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ความรู้ เป็นความคิด และก็เดาด้วยบางที ใช่ไหม ฟังมาก็เดาไปหรืออะไรอย่างนั้น เพราะฉะนั้นแต่ละคำ ข้ามไม่ได้เลยถ้าตอบว่าจิตเป็น ปรมัตถธรรม ธรรมะ และปรมัตถะ คืออะไรที่เป็นปรมัตถธรรม พูดคำไหนซึ่งแต่ก่อนนี้ เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลย แล้วพอได้ยินเขาพูด เราพูดตามเขาเลย กับการที่แต่ละคำ เราไตร่ตรอง จนกระทั่งเราสามารถที่จะบอกคนอื่นได้ชัดเจนถูกต้องว่า ปรมัตถธรรมคืออะไร แต่เราจะไม่เพียงพูดตามคนอื่นหรือเท่าที่ได้ฟังด้วยเท่าที่ได้ยิน หรืออ่านพบ แต่ต้องไตร่ตรองคำนั้น หมายความว่าอะไร ธรรมะกับปรมัตถะ มาจากคำว่า ปรม (อย่างยิ่ง, ประเสริฐ) + อตฺถ (เนื้อความ) + ธมฺม (สภาพที่ทรงไว้) แต่ละคำ ที่จะบอกว่าจิตเป็นปรมัตถธรรม เพราะอะไร เพราะปรมัตถธรรมคืออะไร ต้องตั้งต้นอย่างดีเยี่ยมจริงๆ หมายความว่าไม่ข้าม ไม่สงสัย ไม่แคลงใจ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น มั่นคงขึ้น ถูกต้องขึ้น ไม่มีอะไรที่จะผิดพลาด แต่ถ้าเราไม่ไตร่ตรอง ก็จะมีความผิดพลาด ความสับสนเกิดขึ้นได้ เพราะเรายังรู้ไม่จริง และรู้ไม่ชัด แต่ถ้ารู้จริงคำนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย กี่วันกี่เดือนกี่ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร ในอดีตก็เป็นอย่างนั้น ปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ อนาคตข้างหน้าก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรม ถ้าใครถามเราก็ตอบได้ว่าคืออะไร ดีกว่าใช่ไหม ถ้าจะรู้จริงๆ ไปเรื่อยๆ ทีละคำชัดเจนขึ้นค่อยๆ ละความไม่รู้ ความสงสัย ความกระจ่างชัด ก็จะติดตามมาได้ เพราะไม่แทรกคั่นด้วยความไม่รู้ จากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเท่านั้น จากคนที่ใช้ภาษานี้ในแคว้นนั้นชาวเมืองมคธเขาพูด พระสัมมาสัมเจ้าทรงแสดงธรรมในภาษาที่เขาเข้าใจ พอถึงเราใช่ไหม เราหยิบเอาภาษาที่ยกเอาภาษาที่คนในแคว้นโน้นพูด แต่เราไม่ได้พูดอย่างนั้น เราก็เกิดสงสัยว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นควรที่จะรู้ว่า คำนี้หมายความถึงอะไร เป็นคำธรรมดา ที่พอเขาฟังเขาก็เข้าใจได้ แต่เราฟังแล้วเป็นอีกภาษาหนึ่ง ต้องรู้ก่อนว่าหมายความว่าอะไร เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้เราคิดว่าเราจะข้าม แต่พอซักถามแล้วก็จะรู้ได้หมด ความเข้าใจของเราว่ามั่นคงแค่ไหน ชัดเจนแค่ไหน ยังมีความไม่รู้โน่นบ้างนี่บ้างเล็กๆ น้อยๆ เคลือบคลุมอยู่หรือเปล่า เพราะฉะนั้นเรายังจะไม่กล่าวถึงสติ ยังไม่กล่าวถึงเจริญสติใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าความเข้าใจ ในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง หรือการไตร่ตรองเข้าใจขึ้น มี ชัดเจนไม่คลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง สรุปแล้วการทำงานนี้เป็นอกุศลจิตหรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้จักจิตจะรู้ไหมว่าเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าจะถามว่าปรมัตถธรรมคืออะไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงมีลักษณะ ซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถ์

    ผู้ฟัง มีลักษณะเฉพาะของตน

    ท่านอาจารย์ ที่ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าใครทั้งสิ้น เกิดขึ้นเป็นแข็ง จะเปลี่ยนแข็งให้เป็นเสียงไม่ได้ เกิดแล้วเป็นแข็งแล้ว เปลี่ยนเป็นเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นแข็งมีจริงเป็นธรรม ปรมัตถธรรม มีลักษณะที่แข็งปรากฏ ให้รู้ว่าเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม มีลักษณะเฉพาะของตนของตน ปัญญาก็เป็นปรมัตธรรมเป็นธรรม มีลักษณะคือรู้ถูกเห็นถูกเข้าใจถูก ใครจะเปลี่ยนปัญญาให้เห็นผิดได้ไหม เปลี่ยนให้เป็นไม่รู้ได้ไหม ไม่ได้ ความเข้าใจเกิดขึ้นแล้วทำหน้าที่ของความเข้าใจ เข้าใจแล้วจะเปลี่ยนเป็นไม่เข้าใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดเลยไม่เว้น แล้วยังมีคำว่า "อภิธรรม" ด้วย ธรรมนั่นแหละเป็นปรมัตถธรรม และลึกซึ้งอย่างยิ่ง จึงมีอีกคำนึงว่าอภิธรรม ยังเห็นอย่างนี้ลึกซึ้งไหม เห็นมีจริงเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรมใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ลึกซึ้งเพราะเดี๋ยวนี้ก็กำลังเห็น แต่ไม่รู้จักเห็น เป็นอภิธรรม จิต มีจริงไหม

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ กำลังเห็นเป็นจิต บังคับจิตให้ไม่เห็นได้ไหม เกิดแล้วเห็นแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ บังคับจิตให้เป็นอื่นได้ไหม เป็นโกรธเป็นเกลียดเป็นไม่ชอบได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นปรมัตธรรมแต่ละ ๑ มีลักษณะเฉพาะของตน ซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แม้แต่จิตเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นต้องรู้ไม่รู้ไม่ได้ หลากหลายมากแล้วแต่สภาพธรรม ซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ทำให้จิตหลากหลาย ถ้าเราใช้คำว่าอกุศลหมายความว่าอะไร ภาษาบาลีเป็น อกุศล ภาษาไทยที่เราเข้าใจรู้ได้

    ผู้ฟัง ก็จิตที่ไม่ดีงาม

    ท่านอาจารย์ ไม่ดี อกุศลไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าใช้ อกุศลจิต มีคำว่าจิต ใช่ไหม หมายความถึงจิตที่ไม่ดี ทำไมจิตจึงไม่ดี

    ผู้ฟัง ก็เป็นสภาพธรรม เช่นอาจจะเป็นโลภะ โทสะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโลภะ เป็นอะไร เป็นจิตรึเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เห็นไหม นี่คือความละเอียดของธรรม

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้จำ แต่ให้รู้ความต่างว่า จิตต้องไม่ใช่เจตสิก เจตสิกแต่ละ ๑ ก็ไม่ใช่จิต ต้องรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ จิตจะเป็นเจตสิกไม่ได้ เป็นธาตุรู้เกิดขึ้นต้องรู้ แต่รู้ต่างกัน เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ สิ่งที่ปรากฏ อย่างเห็นอย่างนี้ สามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะ ของสิ่งที่ปรากฏได้ นั่นคือจิต แต่เจตสิกที่เกิดมีลักษณะเฉพาะ ที่เป็นเจตสิกแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ และอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ถ้าเจตสิกไม่มีจิตก็เกิดไม่ได้ ถ้าจิตไม่มีเจตสิกก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละ ๑ เป็นธรรมซึ่งไม่ปะปนกัน เป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครเปลี่ยนลักษณะนั้นได้เลย และก็เป็นอภิธรรมด้วย เคยได้ยินคำว่า ผัสสเจตสิก ไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ จำได้ใช่ไหม ไม่ลืมแต่แค่พูด แต่ลองคิด ผัสสะ เห็นขณะนี้ถ้าไม่มีสิ่งที่กระทบตา จิตเห็นเกิดไม่ได้ ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ แต่รูปกับรูปกระทบกัน ทั้งสองไม่รู้อะไร แต่ว่าสภาพรู้ ใครยับยั้งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ จะบอกว่าจิตอย่าเกิดนะ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางห้ามเลย เดี๋ยวนี้จิตเกิดแล้วดับไปแล้ว ไม่ต้องเกิดอีกได้ไหม ไม่ได้ เพราะมีปัจจัยที่จิตจะเกิด ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการกระทบกันของสิ่งที่กระทบตาได้แข็งกระทบตาไม่ได้ เสียงกระทบตาไม่ได้ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องกระทบตา แต่จะปรากฏเมื่อธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นธรรมที่มีจริง แต่จิตไม่ใช่ผัสสเจตสิก เพราะฉะนั้นถ้ารูปต่อรูปกระทบกัน และไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้น อะไรก็ไม่ปรากฏ แต่ธาตุรู้คือจิตเกิดเองไม่ได้ ต้องเป็นไปตามปัจจัย คือแล้วแต่ว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นสัมผัสหรือกระทบอะไร จิตจึงเกิดขึ้นรู้เฉพาะสิ่งซึ่งผัสสเจตสิกกระทบ เพียงเท่านี้ ถ้าเป็นท่านพระสารีบุตร ธรรมใดเกิดแต่เหตุท่านรู้เลย ท่านเห็นเลยว่า ถ้าปราศจากแม้การกระทบซึ่งเป็นผัสสะ โลกก็ไม่มี จิตก็ไม่เกิด ธาตุรู้ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด ประจักษ์แจ้งจนประจักษ์ การเกิดดับละความติดข้องได้ แม้แต่เพียงคำเดียว ซึ่งเราได้ยินบ่อยๆ อย่างผัสสเจตสิก ถ้าผัสสเจตสิกกระทบสิ่งใด จิตจึงเกิดขึ้นพร้อมผัสสะที่กระทบ รู้สิ่งนั้นสิ่งเดียวกับที่ผัสสะกระทบ ขณะนี้ถ้าผัสสะกระทบเสียง จิตได้ยินต้องเกิด จิตเห็นเกิดไม่ได้เลย ผัสสะกระทบเสียง เมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาท ถ้าเสียงไม่กระทบกับโสตปสาท ผัสสะก็กระทบไม่ได้ เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็น ว่าแต่ละ ๑ ขณะนี่อาศัยปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นมากมาย ทำไมทรงแสดงละเอียด ไม่บอกว่าแค่จิตก็เป็นจิต เกิดดับเป็นธาตุรู้ มีจิตหลายประเภท มีกุศลจิต อกุศลจิตแค่นั้นละกิเลสไม่ได้เลย ก็เป็นเราที่กำลังฟัง เป็นเราที่อกุศลก็เป็นเรา กุศลเขาเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็มีความเป็นตัวตน ซึ่งไม่ชอบอกุศล อยากจะมีกุศล ก็พยายามไปทำอะไรต่างๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเหมือนกับคำของคนอื่นไม่ได้ คนอื่นบอกให้ว่านี้ไม่ดีนะนี่ดีนะ ทำอย่างนั้นนะ ทำอย่างนี้นะ แต่ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้บอกให้ใครทำ แต่แสดงความจริงของธรรม ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพราะฉะนั้นคำของพระองค์ละเอียดลึกซึ้ง ตรงตามความเป็นจริง จากการที่ได้ทรงตรัสรู้ จึงไม่เหมือนคำของคนอื่น ที่จะกล่าวได้เพียงแค่กุศลอกุศล แต่ก็ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้นต้องฟัง และเข้าใจคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็รู้จักพระองค์จากคำที่เราได้ยินได้ฟังได้อ่าน ไตร่ตรองรู้ว่านี่คือพระพุทธเจ้าไม่ใช่คนอื่น แต่ถ้าคำของคนอื่น ก็เป็นคำของเขา ไม่ได้กล่าวให้เข้าใจความจริงซึ่งเป็นธรรม ขณะนี้จะเป็นเจริญสติได้ไหม ยังไม่รู้จักสติ ถ้ารู้จักก็ขั้นฟัง เดี๋ยวนี้ขั้นฟังทั้งนั้นเลย ตัวธรรมก็เกิดดับไปตลอด ไม่มีใครรู้จักธรรมเลย ตอนตื่นขึ้นมาเห็น ได้ยินก็เป็นเรื่องเป็นราวของสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอาหารเช้า เป็นกิจการงาน เป็นอะไรต่างๆ เพราะจิตเกิดขึ้นทำกิจการงาน พร้อมเจตสิก เกิดดับอยู่ตลอดเวลา สำคัญว่าเป็นเราทุกชาติ จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ถ้าใช้คำว่าธรรม ต้องต่อไปด้วยว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ไม่งั้นก็จะเป็นอกุศลของเราใช่ไหม กุศลของเราไม่อยากมีอกุศล ทำยังไงถึงจะมีกุศลมากๆ ใครบอกก็เชื่อ ทำตามเขา ก็ไม่มีทางที่จะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้จักแต่คนที่บอก

    เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตร ความเป็นมิตรที่ดีคือหวังดีต่อผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของคนอื่น กัลยาณมิตรสูงสุดคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เกิดความเข้าใจที่จะละกิเลสของบุคคลนั้นเอง ใครๆ ก็ไปละความไม่รู้ให้ใครไม่ได้ นอกจากคำที่กล่าวถึงความจริง ที่เข้าใจได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 187
    1 ธ.ค. 2567