ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1210


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๒๑๐

    สนทนาธรรม ที่ บ้านธัมมะ ลำพูน

    วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑


    ท่านอาจารย์ โกรธเกิดขึ้น อยากไม่โกรธ หาทางไม่โกรธ กับโกรธเกิดแล้วรู้ว่าโกรธไม่ใช่เรา อะไรจริง อะไรถูก โลภะความติดข้องเกิด ความรู้สึกเป็นสุขเกิด ไม่ใช่ไปบังคับไม่ให้มีไม่ให้เกิด แต่เข้าใจว่าไม่ใช่เรา โดยประการนั้นๆ โดยลักษณะนั้นๆ ที่เกิดอย่างนั้นดับอย่างนั้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงเป็นปกติ เพราะฉะนั้นสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ไม่ประมาทในการฟังธรรมให้เข้าใจทีละคำ จนกว่าความเข้าใจนั้นจะมั่นคงเป็นสัจจญาณ เป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด แล้วจะรู้ความต่างของปัญญา และสติขณะที่ฟังเข้าใจ กับขณะที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ เพราะได้ฟังเข้าใจจนถึงสามารถรู้ได้ เข้าใจได้ในสิ่งซึ่งเคยไม่รู้มาก่อน เป็นธรรมดาทุกอย่าง ถ้าไม่รู้สิ่งที่เป็นปกติธรรมดา เป็นปัญญาหรือเปล่า ไม่ใช่เลย จะเป็นปัญญาได้ยังไง สิ่งที่เป็นปกติเดี๋ยวนี้ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้อื่นได้ยังไง

    อ.ธิดารัตน์ อาสวะโดยสภาพธรรม ก็มีโลภะมีทิฏฐิมีอวิชชานี้ หมวดของอุปาทานก็มีโลภะกับทิฏฐิอย่าง ๒ หมวด เขาต้องมีความต่างกันโดยลักษณะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าสภาพธรรมนั้นๆ สามารถที่จะกระทำกิจเป็นธรรมประเภทไหน ตัวอย่างหนึ่ง จิตที่เป็นโลภะเป็นสหชาตาธิปติได้ไหม

    อ.ธิดารัตน์ เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง

    ท่านอาจารย์ เป็นได้ เป็นไม่ได้ มีไหม

    อ.ธิดารัตน์ ได้

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงกิเลสประเภทอาสวะ เห็นไหม แล้วอาสวะคือเมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้ที่ชอบดอกไม้ไม่ใช่อาสวะ แต่โลกไม่ปรากฏ กำลังหลับสนิท แล้วมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น รู้ไหม ไม่รู้ เป็นอวิชชาใช่ไหม เป็นชวนจิตใช่ไหม เป็นอาสวะใช่ไหม

    อ.ธิดารัตน์ เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตตาธิปติหรือเปล่า

    อ.ธิดารัตน์ ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น แต่ทันทีที่เกิดขึ้นติดข้อง ติดข้องนี่คือโลภะ เป็นกามาสวะ เราไม่สามารถจะรู้ได้เลย ความติดข้องในสิ่งที่เป็นรูป ที่ปรากฏให้เห็น สีสันวรรณะต่างๆ สะสมไว้มากแค่ไหน ยังไม่ทันรู้ว่าเป็นอะไร เพียงปรากฏให้เห็น ไม่ใช่มีแต่อวิชชาความไม่รู้ ยังมีความติดข้องด้วย เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตนั้นประกอบด้วยโลภะ เป็นสหชาตาธิปติหรือเปล่า เห็นไหม เพราะฉะนั้นจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ เป็นก็ได้คือขณะที่มีกำลัง สามารถที่จะรู้ได้ว่าพอใจในสิ่งนั้น มีฉันทะเกิดขึ้น ทำให้พอใจในสิ่งนั้น เวลาที่โลภะเกิดจะมีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องแยกฉันทเจตสิกไม่ใช่โลภะเจตสิก เพราะฉะนั้นแม้แต่โลภเจตสิกกับโลภมูลจิตยังต่างกัน เพราะฉะนั้นขณะที่ลืมตา มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏใช่ไหม รู้ไหมว่ารูปยังไม่ทันดับ ทั้งๆ ที่รูปไหนเกิดดับเร็วสุดที่จะประมาณได้ ทรงแสดงอายุของจิต และรูปว่า รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ลองดู ทันทีที่ยังเป็นภวังค์อยู่ รูปก็เกิดดับของรูปไป แต่เวลาที่มีรูปกระทบ จะกระทบหูก็ได้ กระทบตาได้ หรือกระทบอะไรก็ได้ เป็นปัจจัยให้ถึงวาระที่กรรมจะต้องทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แล้วแต่ว่าวาระของกรรมที่จะให้ผลทางตาให้เห็น หรือว่าวาระที่กรรมจะให้ผลทางหูให้ได้ยิน เลือกได้ไหม ไม่ได้ ใช่ไหม มีตาแล้วมีสิ่งที่กระทบตาได้ มีหูแล้วมีเสียงที่กระทบหูได้ แต่วาระใดเล่าที่กรรมพร้อมที่จะให้ผล ขณะนั้นสิ่งนั้นเมื่อกระทบตาแล้ว ทำให้ภวังค์ไหว เพราะฉะนั้นนับอายุของรูปตั้งแต่กระทบ ก่อนภวังค์ไหวเป็นอดีตภวังค์ เราเรียกภวังค์โดยชื่อ ก่อนที่จะมีการรู้อารมณ์ของโลกนี้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่าภวังค์เกิดดับนี่นับไม่ถ้วนเลย กำลังหลับสนิทไหนใครจะนับได้ ภวังค์เกิดดับเท่าไหร่ แต่เวลาที่จะรู้อารมณ์ จะแสดงให้เห็นว่าอายุของรูป ๑๗ ขณะ คือเมื่อไหร่ คือตั้งแต่เริ่มกระทบ เพราะฉะนั้นขณะนั้นใช้คำว่าอดีตภวังค์ ภวังค์ที่เกิดแล้วที่ถูกกระทบ ดับไปเมื่ออตีตภวังค์๑ ขณะเดียวดับ ภวังค์ต่อไปต้องตามการที่ถูกกระทบคือไหว ไหวที่นี่ไม่ได้หมายความว่าอย่างรูป แต่จะละอารมณ์ของภวังค์ เพราะการกระทบของรูปที่กระทบประสาทรูป ๑ ประสาทรูปใด ๑ ขณะดับ ทำให้เกิดภวังค์ขณะสุดท้าย หมายความว่าเมื่อภวังคจิตดวงนี้ดับไปแล้ว จิตต้องรู้อารมณ์อื่น จะรู้อารมณ์ของภวังค์ไม่ได้ แม้แต่จิตจะรู้อารมณ์อะไรก็ยังเลือกไม่ได้เลย และเมื่อไหร่ก็เลือกไม่ได้ด้วย นี่คือความละเอียดอย่างยิ่ง

    เพราะฉะนั้นทันทีที่ภวังค์สุดท้าย ที่เราใช้คำว่าภวังคุปปัจเฉทะ ตัดกระแสของภวังค์คือจิตดวงนี้ดับแล้ว ภวังค์เกิดไม่ได้ต้องเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้นวิถีจิตคืออะไร ไม่ใช่พูดเปล่าเปล่าว่าวิถีจิต วิถีจิตคือจิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใด เกิดขึ้นรู้อารมณ์ ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะฉะนั้นก็จะมีจิตที่พ้นวิถี ไม่ใช่วิถีจิต คือขณะที่เป็นปฏิสนธิจิตขณะแรกของชาตินี้ กรรมทำให้วิบาก ผลของกรรมนั้นที่จะทำให้เกิด แล้วแต่จะเกิดเป็นอะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นวิบากจิต อารมณ์ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ แต่เป็นอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติ คือใกล้ตายของชาติก่อน เพราะฉะนั้นชาติก่อนเราทำอะไรที่ไหนรู้ไหม ใกล้จะตายรู้อะไรไหมก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นอารมณ์ของชาติก่อนไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นอารมณ์ของภวังค์ ปฏิสนธิเป็นอารมณ์เดียวกัน ปฏิสนธิจิตเป็นชาติอะไรเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมอะไร ภวังค์ก็ต้องเป็นผลของกรรมนั้น ที่ทำให้ไม่ใช่เพียงแค่เกิดขึ้นขณะเดียว เกิดขึ้นขณะเดียวพอไหม เป็นผลของกรรม เกิดแล้วดับไม่มีอะไรอีก แต่ไม่พอต้องดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น เมื่อเป็นสัตว์ที่มีชีวิตเป็นสิ่งมีชีวิตดำรงไปยังตายไม่ได้ พยายามสักเท่าไหร่ก็ตายไม่ได้ ถ้าไม่ถึงแก่กรรม คือไม่ถึงกาลที่กรรมนั้นจะสิ้นสุด ให้ผลยังไง ให้พ้นจากความเป็นบุคคลนั้น จะเป็นบุคคลนั้นต่อไปอีกไม่ได้เลยแม้หนึ่งขณะจิต เงินทองมหาศาลก็ซื้อไม่ได้ นายแพทย์กี่คนกี่คนจะทำยังไงก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าถึงกาละที่กรรมจะให้ผล ทำให้จิตขณะสุดท้ายเกิดขึ้น ทำกิจอะไรทำกิจเคลื่อนพ้นความเป็นบุคคลนั้น จะกลับเป็นบุคคลนั้นไม่ได้อีกเลย ในสังสารวัฎฏ์ เป็นได้แค่ชาติเดียว

    เพราะฉะนั้นก่อนจุติ กรรม ๑ ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติ ปฏิสนธิคือสืบต่อจากจุติ มีอารมณ์อะไร กรรมนั้นก็ทำให้จิตใกล้จุติมีอารมณ์นั้น ถ้าเป็นผลกุศลกรรม ก็เป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตกุศลเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม อารมณ์นั้นก็เป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดขึ้น เลือกได้ไหม เหมือนเดี๋ยวนี้เลือกไม่ได้เลย เหมือนเดี๋ยวนี้ทุกอย่าง เพียงแต่ว่าจุติยังไม่เกิด แต่ถ้าจุติจิตเกิดก็เหมือนเดี๋ยวนี้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อจุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน เพราะเหตุว่าทันทีที่เห็น หรือได้ยินเป็นต้นก็ตามดับ ทางใจต้องรับรู้ต่อ แต่พอถึงเวลาสิ้นชีวิต ไม่มีมโนทวารวิถีหรือมีก็ได้ ดับแล้ว ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกัน เป็นอารมณ์ที่ไม่ปรากฏเลย ชื่ออะไรอยู่ที่ไหนไม่รู้เลยทั้งสิ้น เคยเห็น เคยได้ฟัง เคยได้ยินอะไรมาก็ไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นภวังค์จิตโลกนี้ไม่ปรากฏ แต่จะปรากฏเมื่ออาศัยทางหนึ่งทางใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจโดยกระทบ ผัสสเจตสิก อาหารปัจจัยนำมาซึ่งโลกนี้เลย ใช่ไหม พอแค่เห็นเท่านั้นแหละ เป็นเรื่องเป็นราว เป็นคิดเป็นไตร่ตรอง ผสมกันหมดทั้ง ๕ ทาง เพราะฉะนั้น เพราะผัสสเพราะนี่ ไม่เกิดกับจิตทุกประเภท แล้วแต่ว่าผัสสเจตสิกจะกระทบอะไร จิตที่เกิดพร้อมกัน ต้องรู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบ ผัสสเจตสิกกระทบสิ่งนี้จิตจะไปรู้สิ่งอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นการกระทบกันแม้เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าอะไรที่ปรากฏเพราะกระทบ ต้องมีสิ่งนั้นกระทบตาขณะนี้เห็นสีสันวรรณะต่างๆ เสียงปรากฏเสียงต้องกระทบหู โดยที่ว่าต้องผัสสะเจตสิก เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เป็นปัจจัยให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าผัสสะกระทบอะไร

    เพราะฉะนั้น ๑๗ ขณะนี่เราต้องรู้ เพื่อที่จะรู้ว่ารูปที่เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย และรูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นทันทีที่มีการเห็น ยับยั้งได้ไหม ทันทีที่สีนี้กระทบตา หรือเสียงกระทบหู ถึงวาระที่กรรมจะให้ผล ยับยั้งไม่ได้ ต้องมีจิตที่รู้อารมณ์นั้น โดยไม่ใช่ภวังค์จิตเกิดสืบต่อจากภวังค์จิตสุดท้าย คือภวังคุปปัจเฉทะ แต่ความน่าอัศจรรย์ แม้เป็นสิ่งที่กระทบตาได้ หรือเสียงที่กระทบหูได้ วิถีจิตแรกยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน แค่เพียงรู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทวารไหน นี่เป็นหน้าที่ของจิตนั้น จึงมีชื่อว่าปัญจทวารวัชชนะ ทุกคนคุ้นเคยกับคำว่า ๕ ปัญจะ ทวารประตูหรือทาง อาวัชชนะหมายความถึงจิตที่รำพึง ภาษาไทยรำพึงนี้ยาวมาก แต่ ๑ ขณะแค่รู้ว่ามีอะไรกระทบ ถ้าเราอยู่ในบ้าน คนมาหาที่ประตู รู้ไหมว่าเป็นใคร แต่รู้ว่ามีคนมา เพราะฉะนั้นหน้าที่ของปัญจทวารวัชชนจิต ก็คือเพียงรู้ว่ามีอารมณ์กระทบแล้วดับ เป็นทางเปิดทางให้เพราะรู้ ที่จิตที่เกิดต่อไปจะเห็น หรือจะได้ยินสิ่งที่กระทบ กี่ขณะจิตนับไป เพื่อที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นจิตที่ไม่ใช่สหชาตาธิปติ ใช่ไหม แม้แต่พูดคำเดียว ก็สามารถที่จะเข้าใจลึกซึ้งถึงความไม่ใช่เรา และความเข้าใจจริงๆ ว่าไม่ใช่เรามาจำว่าจิตมีกี่ประเภทนั้นๆ แต่ต้องให้รู้ว่าเพราะอะไรด้วย ด้วยเหตุนี้เวลาที่ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตาจะเรียกว่าจักขุทวาราวัชชนจิตก็ได้ ถ้าเป็นทางหูก็ใช้โสตทวารวัชชนจิต ตามกิจที่รู้สิ่งที่กระทบว่ากระทบทวารไหนดับแล้ว จิตเห็นจิตได้ยินเกิดขึ้น ๑ ขณะเดียว ก่อนเห็นจักขุวิญญาณเกิดเห็น จิตก่อนนั้นไม่เห็น ทันทีที่เห็นดับไป จิตที่เกิดต่อไม่เห็น แต่มีอารมณ์นั้นได้ เพราะการเห็นทำให้สืบต่อไปถึงขณะจิตต่อไป เพราะฉะนั้นทันทีที่จักขุวิญญาณจิตเห็นเดี๋ยวนี้ดับ จิตที่เกิดต่อรับรู้อารมณ์โดยไม่เห็น แต่เหมือนเห็นตลอด ความรวดเร็วของก้านธูปจาก ๑ หมุนให้เป็นวงกลมหรืออะไรก็ได้

    เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะรับรู้แล้วดับ จิตที่เกิดต่อยังคงเป็นวิบาก แค่รับรู้ รับเท่านั้น แต่จิตไปรู้เพิ่มขึ้นอีก จากการที่รับดับไปก็รู้ต่อในอารมณ์นั้น ภาษาบาลีจะใช้คำว่าสันตีรณะ ภาษาไทยใช้คำว่าพิจารณา ไม่ต้องไปคำนึงถึงภาษาเลย มันเร็วเกินกว่าที่ใครจะไปรู้ได้ เพราะเป็นชื่อของจิตแต่ละ ๑ ขณะ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อให้เข้าใจ แต่ไม่มีชื่อก็ได้ แต่เราไม่เคยรู้แล้วเราจะเอาชื่ออะไรไปเรียก ใช่ไหม อย่างพิจารณาเราก็ไม่รู้ว่าจิตไหน แต่ว่าสำหรับสันตีรณะต้องเฉพาะจิตซึ่งเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตดับ กุศลอกุศลก็ยังไม่เกิด แต่พร้อมอยู่ในจิตมากมายมหาศาล ที่สะสมเป็นอนุสัยที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น เร็วปานนั้น คือทันทีที่สันตีรณดับโวฏฐัพนะเป็นกิริยาจิตไม่ใช่วิบากจิต ความต่างแม้แต่ของ ๑ ขณะจิต ทรงแสดงไว้โดยชาติการเกิดว่าเป็นเหตุหรือเป็นผล หรือไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล เป็นกิริยาจิต เพราะเหตุว่าสามารถที่จะรู้ได้ทั้งสิ่งที่เป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรม เป็นอารมณ์ที่ดี ปราณีตหรือไม่ปราณีต ปราณีตมากหรือว่าประณีตธรรมดา จิตนี้สามารถที่จะรู้ได้หมดจึงเป็นกิริยาจิต แต่ถ้ารู้เฉพาะอารมณ์ที่ไม่ดี ต้องเป็นอกุศลวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ได้ทำไว้ จิตที่เป็นผลของกรรมดีเกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ทุกอย่างเป็นไปตามปัจจัยแต่ละ ๑ ปัจจัย สามารถบอกได้เลยว่าจิตนั้นเป็นปัจจัยอะไร ไม่ใช่ว่าไม่เป็นปัจจัย แต่ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยเดียว ไม่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิด ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยเดียว นี่คือความลึกซึ้งอย่างยิ่งกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเมื่อโวฏฐัพพนะซึ่งเป็นกิริยาจิตดับ โวฏฐัพพนะหมายความว่าอะไร

    อ.คำปั่น โวฏฐัพพนะในภาษาไทยหมายถึงการตัดสิน

    ท่านอาจารย์ ใช้คำนี้ แต่ไม่ใช่ตัดสิน เป็นไปตามการสะสม ที่เป็นทางชวนปฏิปาทกมนสิการเกิดแล้ว ที่จะพร้อมที่สืบต่อไปเป็นชวนะ เป็นทางให้มนสิการให้จิตที่จะเสพอารมณ์นั้นเกิดขึ้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ตามแต่ ซึ่งเราเรียนมาแล้วทั้งหมด ต้องรู้ลำดับของการเกิดด้วย เพราะฉะนั้นชื่อภาษาบาลี ก็เป็นภาษาไทยเข้าใจแล้วแต่เป็นภาษาบาลี ก็ต้องรู้ว่าภาษาบาลีใช้คำอะไร ขณะนั้นเป็นอกุศลที่สะสมมาระดับที่ไม่มีการรู้เลยว่า เดี๋ยวนี้ เพราะ ๑๗ ขณะ ที่รูปเกิดแล้วดับ ใครรู้ ยังไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นเป็นสหชาตาธิปติไหม จิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้นที่มีโลภะเกิดร่วมด้วยเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นแสดงว่าแม้เป็นชวนจิต แต่เป็นสหชาตาธิปติก็ได้ ไม่เป็นสหชาตาธิปติก็ได้ แต่ถ้าเป็นโมหมูลจิตไม่เป็นสหชาตาธิปติ นี่คือความละเอียดอย่างยิ่ง ฟังทำไมเข้าใจทำไมเบื่อไหม แต่ละคำถ้าเบื่อก็จบ หมายความว่าไม่มีทางที่จะเข้าใจต่อไป ถึงการที่จะดับกิเลสได้เลย เพราะความเป็นตัวตน ความไม่รู้ และความติดข้อง ปิดกั้นไม่ให้เห็นประโยชน์ของปัญญา แม้เพียงเล็กน้อยวันนี้อาจจะจำไม่ได้หมด แต่ว่าค่อยๆ ฟังอีกบ่อยๆ ก็จะรู้ความละเอียดว่า ที่กล่าวถึงสหชาตาธิปติปัจจัย ว่าจิตอะไรเป็นสหชาตาธิปติได้ แต่หมายความว่าไม่เป็นก็ได้ ก็คือขณะที่เป็นชวนวิถีจิต เมื่อเห็นดับไป ทางปัญจทวารอกุศลเกิด ถึงแม้มโนทวารที่เกิดสืบต่อก็ไม่รู้ ถ้ายังไม่ปรากฏเมื่อไหร่ ก็ยังคงไม่ใช่อธิปติเมื่อนั้น เป็นเราหรือเปล่า กำลังฟังเป็นเราหรือเปล่า กำลังฟังเป็นเราหรือเปล่า ชั่วขณะที่เข้าใจ เป็นปัญญาระดับเข้าใจ แต่ความเป็นเราลึกแค่ไหน มากมายมหาศาลแค่ไหน ถ้าฟังเข้าใจแล้วจะมีสำนักปฏิบัติไหม เพราะฉะนั้นสำนักปฏิบัติทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปิดกั้นหนทางที่ถูก ที่สัตว์โลกมีโอกาสจะได้เข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    อ.คำปั่น ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงความเป็นไปของจิตที่เป็นวิถีจิต วิถีจิตก็คือจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ในการรู้อารมณ์ ก็คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าจะประมวลชีวิตตั้งแต่เกิดมา จนกระทั่งก่อนถึงจุติจิต ที่จะเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ก็คือวิถีจิตสลับกับภวังคจิตเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงชีวิตธรรมดา ภวังคจิตกับวิถีจิตก็คือว่าหลับแล้วก็ตื่น ใช่ไหม ตื่นขึ้นก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรสแล้วก็หลับ แล้วก็ตื่น แล้วก็มีเรื่องมากมาย พอถึงหลับหายไปไหนหมด แค่หมดเลย แล้วก็ตื่น เพราะฉะนั้นก็คือภวังคจิตเรื่อยๆ จนกระทั่งมีวิถีจิตเกิดคั่น และก็ภวังค์ต่อไป ไม่เหลือ ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะว่าเพียงเกิดขึ้นเห็นแล้วเป็นภวังค์ ตอนหลับไม่เห็นมีอะไร ทั้งหมดในวันหนึ่งไม่มีเมื่อหลับ แต่หารู้ไม่ว่าแม้ขณะนี้ก็มีภวังค์คั่น แต่น้อยมากจนไม่ปรากฏ สภาพการเกิดดับของจิต ไม่ได้ปรากฏการเกิดขึ้น และดับไป ตามความเป็นจริงให้ปรากฏ จึงหลงเข้าใจว่าไม่ได้ดับไปเลย ภวังค์อยู่ไหนขณะนี้มองไม่เห็นเลย แม้แต่จิตที่เกิดก่อนเห็นก็ไม่รู้ จิตที่เกิดหลังเห็นก็ไม่รู้ คิดว่ามีเห็นอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดคือความไม่รู้ แต่ลองเทียบดูว่าชีวิตมีอะไรนักหนา นอกจากภวังค์ตื่น รู้สิ่งต่างๆ แล้วก็หลับ แล้วก็ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้นใช้คำว่าไม่เหลืออะไรเลย ที่เคยมีในวันนั้น ตอนหลับสนิทจำเรื่องที่ได้ฟังได้ไหม ไม่ได้เลยไม่มีทางเลย หายไปไหนหมด ตอบสิ สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ตื่นขึ้นมาจำได้เลยอยู่ไหน ถึงจะไม่รู้ว่าอยู่เชียงใหม่หรืออยู่กรุงเทพฯก็ห้องนี้ ก็ยังจำได้ ก็เป็นธรรมดานี่คือชีวิต ธรรมซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ แข็งมีแล้วเกิดแล้ว จะไม่ให้เกิดได้ยังไง จะไม่มีแข็งได้ไงฉันใด จิตก็เกิดเป็นธาตุรู้แล้ว เห็นแล้ว จะไม่ให้เป็นอย่างนี้ได้ยังไง ก็คือเป็นธรรมแต่ละ ๑ ในสังสารวัฎฏ์ ไม่ออกจากสังสารวัฎฏ์สักที ใช่ไหม อยู่มานาน แล้วจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก หมดความเป็นคนนี้ ชาติหน้าเป็นคนใหม่ก็หมดอีก ชาติก่อนเป็นใครก็หมดแล้ว ไม่เหลือเลย ไม่ใช่แค่จำไม่ได้ ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้นมีเพื่อหมด ชั่วคราวที่เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะเป็นคนดีขึ้นไหม จะไปทำชั่วทำไม ในเมื่อเป็นผลชั่วที่จะต้องได้รับทางตาหูจมูกลิ้นกาย และการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นธรรมหรือความเข้าใจ นำมาซึ่งกุศลทั้งปวง กำลังเข้าใจธรรมเดี๋ยวนี้ เป็นศีลไหม เป็น นำไปสู่ศีลอื่นที่ยิ่งกว่านี้ด้วย ในขณะที่เพียงศีล ๕ ศีล ๘ แล้วไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่สามารถที่จะนำไปสู่ความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ แล้วบางคนก็จะมุ่งหน้ารักษาศีล ๕ ศีล ๘ ไม่ได้เข้าใจเลย ว่าศีลคือจิตเจตสิกซึ่งเป็นกุศลทุกประเภท เพราะฉะนั้นปัญญาของใครจะเทียบกับปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังคำของใครกับฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่รู้ว่าต่างกัน คือคนนั้นไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เว้นสักคำแม้แต่คำที่ว่า สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง

    อ.คำปั่น ร่าเริงเบิกบาน ที่ได้เข้าใจความจริงใช่ไหม ไม่หลงไปในทางที่ผิด ไม่ไปสำนักปฏิบัติ ไม่ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ แต่เห็นประโยชน์ของพระธรรม เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ว่าถ้าไม่ได้ฟังไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ก็มีความจริงใจอดทน มีความเพียรที่จะฟังที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจความเป็นจริงของธรรมยิ่งขึ้น การสนทนาธรรมก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งเลย ทำให้ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยได้ฟัง สิ่งไหนได้ฟังแล้วได้ฟังอีก ก็ความเข้าใจเพิ่มขึ้น คลายความสงสัยเสียได้ ทำความเห็นให้ตรงถูกต้อง ตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ขณะที่ฟังพระธรรม จิตผ่องใสด้วยกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปัญญาที่เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น จากการที่ได้ยินได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 187
    22 ต.ค. 2567