ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1220


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๒๒๐

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมนิวซีซั่น หาดใหญ่ จ.สงขลา

    วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑


    ท่านอาจารย์ เพราะว่านิพพานมีจริง เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่มี จิตรู้ได้ทุกอย่าง ฝันเห็นอะไร ใช่ไหม ในฝัน บางคนก็บอกก่อนจะซื้อสลากกินแบ่ง ฝันเห็นนั่นเห็นนี่ใช่ไหม เพราะฉะนั้นที่ฝันเห็น ไม่เหมือนเห็นเดี๋ยวนี้ใช่ไหม แต่จำเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้นเห็น และจำ ถึงไม่เห็นก็คิดถึงสิ่งที่จำได้ เพราะฉะนั้นฝันก็คือจำ สิ่งที่เคยเห็นชาติไหนก็ได้ ปรุงแต่งจนบางคนฝันว่าเหาะได้ เป็นไปได้ไหม ความฝันจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นจำมีจริงเป็นเจตสิก เริ่มรู้ว่าจิตต่างกันเป็นประเภทต่างๆ เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้จิตหลากหลาย แต่จิตจะหลากหลายประการอื่นยังมีอีก โดยกิจหน้าที่ก็ได้ อย่างจิตเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมกัน ๗ ประเภท จิตได้ยินก็มีเจตสิกเช่นเดียวกับจิตเห็นคือ ๗ ประเภท ประเภทเดียวกันด้วยทั้ง ๗ แต่จิตเห็นไม่ใช่จิตได้ยิน เพราะฉะนั้นมีหลายนัย ที่จะแสดงความหลากหลาย เพื่ออะไร ให้เริ่มเข้าใจปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม เป็นจิตเป็นเจตสิก และเป็นรูป รูปหมายความถึงสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นที่เข้าใจว่าเป็นคน ต้องมีจิต เมื่อมีจิตต้องมีเจตสิก และก็มีรูปด้วย เพราะว่าเป็นสัตว์ มดมีจิตไหม มีเจตสิกไหม มีรูปไหม เห็นไหม เห็นเป็นมดหรือเป็นคน เป็นคนก็ไม่ได้ เป็นมดก็ไม่ได้ เป็นได้อย่างเดียวคือเห็น เห็นต้องเป็นเห็น เพราะฉะนั้นเอารูปร่างออกหมด ก็เห็น ไม่รู้ว่าใครเห็นใช่ไหม มดหรือคนหรือนกหรืออะไรก็แล้วแต่ นี่คือธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ฟังจนกระทั่งเก็บเล็กผสมน้อยไปแต่ละชาติ ค่อยๆ ปรุงแต่งไป เพราะฉะนั้นจิตเกิดพร้อมกับเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท สภาพความรู้สึกมีไหม เสียใจ ดีใจ เจ็บ เมื่อยต่างๆ เพราะฉะนั้นก็มีสุขกาย สุขใจ ต้องอาศัยกาย ถ้าไม่มีกายจะทุกข์ไหม จะปวดหัวไหม จะเจ็บไข้ได้ป่วยไหม ก็ไม่ได้เลย จะหิวไหม ไม่มีกาย หิวได้ยังไงใช่ไหม ไม่มีกายก็ไม่หิว เพราะฉะนั้นหิวไม่ใช่กาย แต่เป็นความรู้สึกที่ต้องอาศัยกาย เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ว่า ตัวกายคือรูปไม่รู้อะไร แต่ว่าจิตเกิดเมื่อไหร่พร้อมเจตสิก ๑ ซึ่งต้องเป็นความรู้สึกอย่าง ๑ อย่างใดใน ๕ อย่าง ๕ อย่างนี้ก็คือว่า สุขกาย ๑ ทุกข์กาย ๑ แล้วก็โสมนัสคือสุขใจ ๑ โทมนัสคือทุกข์ใจ ๑ และก็อทุกขมสุข ไม่สุขไม่ทุกข์ใช้คำว่าอุเบกขาก็ได้ หมายความถึงสภาพที่ไม่สุข และไม่ทุกข์ มีไหม บ่อยไหม อะไรบ่อยวันหนึ่งความรู้สึกอะไรบ่อย อยู่ที่เราแต่ละคน อยู่ที่ตัวเอง คนอื่นตอบได้ไหม ก็ไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นแต่ละคน ก็สามารถที่จะศึกษาธรรม เข้าใจธรรม รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ตามสภาพที่ปรากฏให้เข้าใจถูกต้อง ว่าเป็นธรรมแต่ละ ๑ เพราะฉะนั้นเราตอบได้เลยทุกวัน ความรู้สึกอะไรมาก เหมือนกันเลยใช่ไหม คุณธิดารัตน์ตอบว่าไม่สุขไม่ทุกข์ อย่างเห็นนี่เห็นทั้งวัน จิตเห็นไม่สุขไม่ทุกข์ จิตได้ยินไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะรู้เสียง ไม่เจ็บ เวลาได้ยินกำลังเห็น ขณะที่เห็นก็ไม่เจ็บ แต่ถ้าจะเจ็บเมื่อไหร่ไม่ใช่เห็นเจ็บแต่เจ็บตา หมายความว่ามีรูปที่เป็นกายประสาท สามารถกระทบกับสิ่งที่เย็น หรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เราอาจจะคิดว่าถูกยิง แต่ว่าขณะนั้นสิ่งที่กระทบกายต้องแข็ง หรือร้อนหรืออะไรก็ได้ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด แต่ว่าเราเรียกว่าลูกปืนบ้าง ถูกมีดถูกอะไรก็ตามแต่ แต่ความจริงต้องกระทบกายปสาท กายปสาทเป็นรูปซึมซาบอยู่ทั่วตัว ในส่วนที่เป็นความรู้สึกได้ทางกายเจ็บหรือสุข เพราะฉะนั้นความรู้สึก ไม่ใช่จิตแต่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ไม่มีจิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกในภาษาบาลีใช้คำว่าเวทนา แต่คนไทยชอบพูดว่าเวทนาใช่ไหม แล้วหมายความว่าไง เวทนา

    อ.ธิดารัตน์ ก็จะเป็นความสงสาร ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ สงสารน้อยหรือมาก

    อ.ธิดารัตน์ ก็แล้วแต่ว่าจะสงสารมากน้อยเท่าไร ก็ดูน่าสงสาร

    ท่านอาจารย์ สงสารนิดเดียวน่าเวทนา

    อ.ธิดารัตน์ ส่วนใหญ่จะเยอะๆ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็ดูน่าสงสารเยอะๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องมากใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า แม้ความรู้สึกยังหลากหลายมากเป็นแต่ละ ๑ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่จะห้ามธรรมไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้เป็นอย่างนั้นก็เป็นไปไม่ได้ แสดงให้เห็นความจริงว่าเราหรือ หรือว่าธรรมทั้งหมด ตั้งแต่มีโลก จนกระทั่งเกิดทุกชาติ ก็เป็นธรรมทั้งนั้นที่เกิดดับ รวมกันแยกกันไม่ออก เร็วมากหมุนไปตลอดเวลามีแต่ไป มาแล้วก็ไปมา มาคือจากไม่เกิดแล้วก็เกิด แล้วก็ไปไม่เหลือเลย นี่คือกว่าจะรู้ว่า นี่คือผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้สิ่งที่ยากแสนยากที่จะรู้เพราะอะไร กำลังเป็นอย่างนี้เดี๋ยวนี้ ต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจ แล้วก็จะเหมือนพระสาวกในครั้งอดีตที่ท่านรู้ความจริงได้ เพราะท่านเคยฟังมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ก็ต้องทราบว่า แม้ว่าจิตจะเป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ก็หลากหลายตามประเภทของเจตสิก ที่เกิดร่วมด้วย หลากหลายโดยกิจหน้าที่ หลากหลายโดยอารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ หลากหลาย โดยเจตสิกที่เกิดต่างๆ กันไป แม้กุศลก็หลากหลายใช่ไหม กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ปัญญามีจริงๆ หรือเปล่า ปัญญาคือความเห็นที่ถูกต้อง เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมประเภทไหน ประเภทใหญ่ๆ ที่เป็นปรมัตถ์ธรรมคือจิต เมื่อมีจิตต้องมีเจตสิก เป็นสภาพรู้ที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน และสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยก็มี เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นคนเป็นอะไร ก็ไม่ใช่มีแต่รูป แต่มีจิตเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้นคนหนึ่งก็คือจิตเจตสิกรูป สัตว์ มีจิตเจตสิกรูปไหม มี เพราะฉะนั้นทำไมว่าเป็นสัตว์ ทำไมว่าเป็นคน ก็ต้องมีเหตุผลอีกใช่ไหม

    อ.ธิดารัตน์ ที่เป็นสัตว์เพราะว่าเป็นผลของกรรม ที่ต่างจากมนุษย์ เพราะว่ากรรมก็มีทั้งฝ่ายที่เป็นกรรมดี แล้วก็กรรมไม่ดี ถ้าเป็นอกุศลกรรม จะให้ผลก็ทำให้เกิดเป็นแมวเป็นสุนัข เป็นอะไรอย่างนี้ตามกรรม แต่ถ้าเป็นกรรมที่ดี ซึ่งเป็นผลของกุศล ก็เกิดในสุคติภูมิก็คือเป็นมนุษย์ สูงขึ้นไปมีกำลังก็บนสวรรค์อย่างนี้เป็นต้น แล้วอกุศลกรรมถ้ามีกำลังมากๆ ก็ไปตกนรก ตามกำลังของผู้รับบาป เพราะฉะนั้นการที่จะเกิดมีรูปร่างอะไร เป็นนกสวยหรือนกไม่สวย หรือว่าสัตว์ก็มีรูปร่างแปลกๆ เยอะเลย ท่านอาจารย์ก็วิจิตรตามกรรมที่กระทำนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ อะไรอะไรที่ใครคิดว่าใครทำไม่ได้ กรรมทำได้ทุกอย่าง จริงๆ เพราะฉะนั้นเมื่อกี้เราพูดอีกคำหนึ่งคือสะสม จิตเป็นสภาพรู้เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย แต่ว่ามีเจตสิกที่เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้นทันทีที่จิต ๑ ขณะพร้อมเจตสิกดับไป เป็นปัจจัยที่จะให้จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อ โดยไม่มีระหว่างคั่นเลย เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นใช่ไหม ไม่ขาดจิตไปเลยแต่ไม่รู้ว่าจิตอะไรบ้าง เพราะว่าในชีวิตประจำวัน มีจิตเกิดดับสืบต่อ ที่ไม่ปรากฏมากกว่าที่ปรากฏ เพราะขณะเห็นนี้ เห็นมีใช่ไหมกำลังปรากฏ แต่จิตที่เกิดก่อนเห็นก็มี และจิตที่เกิดก่อนจิตที่เกิดก่อนเห็นก็มี และแต่ละทีละ ๑ ขณะ ทันทีที่จิตเห็นดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ รู้อารมณ์เดียวกันกับที่จิตเห็น แต่ไม่เห็น ละเอียดไหม นี่คือการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงไว้ จิตเกิดขึ้นแล้ว ๑ ทำกิจของตนของตน ๑ และจิตที่เกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัย ให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ไม่มีปัจจัย ที่จะทำให้จิตเจตสิกเกิดต่อไปได้เลย นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ความละเอียดความเป็นไปของจิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ว่าจิต และเจตสิกที่ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปสืบต่อ หลากหลายตามการที่จิตนั้นๆ เกิดขึ้นแต่ละคน

    เพราะฉะนั้นจิต ๑ ดับไป ถ้าเป็นโลภะจิตที่ติดข้องดับไป โลภะดับหมดไม่เหลือเลยไปด้วยหรือเปล่า จิตขณะนั้นดับไปก็จริง แต่จิตนั้นเองเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ไม่ใช่จิตอื่น เพราะฉะนั้นจิตนั้นมีโลภะเกิดขึ้นแล้วดับไปก็จริง แต่เชื้อความเกิดขึ้นของโลภะซึ่งดับไป สะสมสืบต่ออยู่ในจิต เพราะฉะนั้นทุกอย่างสะสมสืบต่อ จากจิตขณะ ๑ ไปสู่ขณะต่อไป แล้วก็ทำกิจการงาน ตามประเภทของจิต นั้นๆ เพราะฉะนั้นขณะนี้แต่ละคน ก็มีแต่ละ ๑ จิตถูกไหม ทีละ ๑ แต่หลากหลายมาก ตามการสะสมที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทำให้แต่ละคน มีความความชอบต่างกัน มีความสามารถต่างกัน อย่างนักดนตรี เล่นดนตรีเก่งตั้งแต่เด็ก บางคนที่ไม่ได้สะสมมา กี่ปีก็เล่นไม่ได้ อย่างนั้นตามการสะสม เพราะฉะนั้นแต่ละ ๑ ถ้ารู้ความเป็นไปของธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้คือจิต และเจตสิก ไม่อัศจรรย์ เพราะเหตุต้องเป็นไป ตามการสะสมของแต่ละ ๑ คน เพราะฉะนั้นมีคนที่จะเหมือนกันซ้ำกันได้ไหม ไม่มีทางเป็นไปได้เลย และใน ๑ คน แต่ละ ๑ ขณะจิตก็หลากหลายต่างกัน เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวชัง เดี๋ยวรัก เดี๋ยวชอบ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวคิด แม้เดี๋ยวนี้ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นนี่คือการสะสมของธาตุรู้ ซึ่งหลากหลายมาก มิฉะนั้นจะไม่มีพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสาวกหลากหลายกันไป และสาวกแต่ละท่านก็มีความพิเศษ ในการที่เป็นผู้เลิศในทางต่างๆ กันตามการสะสม เพราะฉะนั้นพระอรหันต์แต่ละท่าน อย่างท่านพระสารีบุตรก็เลิศในทางปัญญา ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็เลิศในทางอิทธิฤทธิ์ ท่านพระมหากัสสปะก็เลิศในทางรักษาธุดงค์ แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ไม่ซ้ำกันเลย ไม่รู้จะกล่าวยังไง ก็ยกแต่เฉพาะผู้ที่สมควรจะกล่าวถึง ถ้าเป็นพวกพระสาวก แต่คนธรรมดาอีก เยอะแยะไปหมดเลย แล้วก็เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปแต่ละคน แต่ต้องเข้าใจ ไม่ใช่อย่างละคร

    ผู้ฟัง คือคนส่วนใหญ่ ที่มีประสบการณ์ในเรื่องของคนใกล้ตาย หรือว่าดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินอะไรนี่ เขาจะมีความรู้สึกว่า ขณะที่จิตใกล้ตาย เป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ เขาก็พยายามที่จะว่านิมนต์พระมาสวด หรือว่าทำยังไงก็ตามให้จิตของผู้ที่จะวายชนม์ตรงนั้น หรือสิ้นกรรมนั้นได้เป็นกุศล เช่นระลึกถึงสิ่งที่เคยทำมากุศลเคยให้ทานอะไร เป็นกุศโลบายได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ส่วนนี้มีใครทำได้ ท่านพระเทวทัตอยู่ไหน ก่อนที่ท่านจะตาย ท่านใคร่ที่จะได้ไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอเข้าเฝ้าแต่ไม่ถึง ทำไมไม่ถึง ใครห้ามหรือเปล่า กรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถ จะดลบันดาลอะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่ว่าต้องเข้าใจว่า ในบรรดาธรรมทั้งหลาย จิตเจตสิกรูป อะไรเป็นกรรมเห็นไหม แต่ละเจตสิกก็หลากหลายต่างกันมาก เพราะฉะนั้นธรรมที่พระองค์ทรงแสดงชัดเจน เจตสิกแต่ละ ๑ ไม่ปะปนกัน สภาพความรู้สึกเป็นเวทนาเจตสิก จะจำไม่ได้ เกิดเมื่อไหร่ ต้องรู้สึกกำลังรู้สึก นั่นแหละเวทนาเจตสิกไม่ใช่เรา กำลังจำหรือเปล่า นั่นแหละสัญญาเจตสิกไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นที่พูดว่ากรรม ก็ได้แก่เจตนาเจตสิก ละเอียดมากกว่านี้อีกมาก นี่เป็นแต่เพียงให้ทราบว่า ได้ยินชื่อต่างๆ ก็สมควรที่จะน้อมไปสู่การที่จะเข้าใจมั่นคงขึ้นว่าไม่ใช่เรา การศึกษาธรรมไม่ว่าจะมากสักเท่าไหร่ก็ตาม ละเอียดสักเท่าไหร่ก็ตามต้องรู้จุดประสงค์ว่า ต้องสอดคล้องกันคือไม่ใช่เรา มิฉะนั้นจะเป็นเราศึกษาธรรม เราเข้าใจธรรมซึ่งไม่มีประโยชน์ ถ้าเป็นอย่างนั้น เพราะว่าศึกษาเพื่อเข้าใจให้ถูกต้องไม่ใช่เรา ไม่มีเรา มีแต่ธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ต้องเป็นผู้ละเอียดไหม รอบคอบไหม รู้ใช่ไหมว่าฟังเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีไม่ใช่เป็นเรา จนกว่าจะหมดความเป็นเราจริงๆ และจริงๆ แล้ว ขณะเกิดทำกรรมอะไรรึเปล่า จิตต้องเกิดในชาตินี้ ขณะแรกที่สุด ทำกรรมอะไรหรือเปล่า ไม่ได้ทำใช่ไหม แต่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ชาติไหนก็ได้ ถ้ายังไม่ได้ให้ผล และถึงเวลาที่จะให้ผล ใครก็ยับยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นจากพระภิกษุ ไปสู่นรกก็ได้ เป็นเปรตก็ได้ เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ แล้วแต่จะเป็นสัตว์ประเภทไหน เป็นเทพก็ได้ แล้วแต่เหตุทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นทุกอย่างไม่มีใครดลบันดาลได้ นอกจากเหตุอย่างไร ก็ทำให้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเกิดมาชาตินี้เป็นอย่างนี้เพราะกรรม ทั้งรูปร่างด้วย พร้อมขณะแรกที่จิตเกิด กรรมทำให้จิต และเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกรรม ๑ เกิด พร้อมทั้งรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นด้วย แม้แต่จะเป็นหญิงหรือจะเป็นชายก็เป็นเพราะกรรม

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ ที่คนไทยเราเชื่อในเรื่องของการต่ออายุ การสะเดาะเคราะห์ เชื่อว่าให้ไปทำ ไปถวายสังฆทาน เช่นคนที่กำลังป่วยหนัก และญาติก็บอกไปถวายสังฆทานอุทิศอะไรต่ออะไร ตรงนี้มันจะมีผล หรือว่ามันไม่มีผลอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ สะเดาะเคราะห์ นี้ทำไง

    ผู้ฟัง แล้วแต่ว่าครูบาอาจารย์ของสำนักไหน ท่านจะแนะนำไว้ อย่างเช่นไปปล่อยสัตว์

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ก่อนทำกรรมหนักมา ไปปล่อยสัตว์สัก ๗ ตัวหมดเคราะห์ไหม แค่นี้ก็ฟังขึ้นไหม มีเหตุมีผลไหม แล้วยังเชื่อกันได้ยังไง แต่คำที่ลึกซึ้งเป็นเหตุเป็นผลซึ่งแสดงความจริงซึ่งลึกซึ้งมาก ต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจ แม้แต่เคราะห์คืออะไร ทุกคำควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป เห็นไหมมีอยู่เท่านี้แหละ ไม่มากกว่านี้เลย ไม่ว่าจะอะไรทั้งหมดในสากลจักรวาล ต้องเป็น ๑ ใน ๓ ธรรมที่เกิดขึ้น ต้องเป็นจิตหรือเป็นเจตสิกหรือเป็นรูป เพราะฉะนั้นเคราะห์เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เคราะห์ในความหมายของคนปกติ หมายถึงสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบใจ ไม่พอใจ และไม่อยากจะให้เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ได้อย่างใจไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ดั่งใจ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องจบ ก็ตอบแล้วว่าไม่ได้อย่างใจ แล้วไปมัวทำอะไร จะให้ได้อย่างใจ เพราะฉะนั้นตำหรับตำรา เวทมนตร์คาถามีมากมาย ตั้งแต่ก่อนสมัยการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วใครรู้ว่าจริงหรือเปล่า พิสูจน์ได้ไหม แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำสามารถจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แสดงถึงความจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเคราะห์คืออะไร

    ผู้ฟัง ก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เค้าก็คิดไป เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้แล้วก็ไม่รู้เลย เป็นเขา เป็นเรา เป็นธรรม เป็นแก้ไข เป็นอะไรทุกอย่าง แต่หารู้ไม่ว่าจิตเจตสิกรูปเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาได้ไหม เพราะฉะนั้นอาศัยพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เรารู้ทั่วถึงหรือเปล่า ทรงแสดงจิตไว้มากมายหลายประเภท มีเจตสิกประกอบหลากหลาย จำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ สำหรับจิต ๘๙ ประเภท มีจิตอะไรบ้างที่ปรากฏวัน ๑ วัน ๑ จิตก่อนเห็นไม่ได้ปรากฏ จิตหลังเห็นก็ไม่ได้ปรากฏ จะมีแต่เดี๋ยวนี้จิตเห็นใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราไม่รู้อีกตั้งหลายอย่าง ทั้งๆ ที่มี สิ่งที่มีก็เกิดดับสืบต่อไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า เราสามารถจะเพียงรู้สิ่งที่ปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏ มี ๒ อย่าง คือรู้หรือไม่รู้ ความจริงของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นจะพูดเรื่องเคราะห์ พูดเรื่องสะเดาะเคราะห์ พูดเรื่องกรรม พูดเรื่องผลของกรรมอะไรๆ ก็ตามแต่ จะเข้าใจได้จากสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง เราอยู่กับความประมาททุกขณะจิต

    ท่านอาจารย์ ทีเราฟังธรรมนิดเดียว แต่เราคิดเยอะ เช่นเราอยู่ด้วยความประมาททุกขณะจิต นี่เราพูดเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงจิตขณะไหนเป็นกุศล ประมาทไหม ขณะไหนเป็นอกุศล ประมาทหรือเปล่า ขณะไหนไม่ใช่กุศลแต่เป็นผลของกุศล และเป็นผลอกุศล ทรงแสดงไว้ละเอียด ใครก็คิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นหนทางเดียว ก็คือว่าคิดเองผิดหมด ใช่ไหม แต่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ก่อนเราพยายามไปทำนู่นนี่นั่น แต่คำว่าจับด้ามมีดจนสึก ก็คือความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนอันนี้มันสึกแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังฟังคำ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีละคำสองคำ เกิดสมบูรณ์เมื่อไหร่รู้แจ้งเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดจะคิดเองไหม หรือว่าฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจขึ้นในแต่ละคำ ว่าเป็นธรรมที่มีจริงซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เพื่อละคลายความยึดมั่นถ้าไม่มีเลยเราจะติดข้องไหม แต่เพียงมี ๑ ติดข้องไหม ถ้ามีต้องเท่าไหร่ติดหมดเลย เวลาทุกข์เราใช่ไหม แต่ความจริงทุกข์เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เราหรือไม่ใช่ใครใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจึงต้องละเอียด พูดถึงกรรมซึ่งเป็นเหตุ กุศลกรรมอกุศลกรรม แล้วผลของกรรมล่ะเมื่อไหร่ ขณะเห็นเป็นผลของกรรมเพราะเลือกไม่ได้ เพราะฉะนั้นเริ่มรู้ว่าผลของกรรมของชาตินี้ คือตั้งแต่ขณะแรกก็เลือกเกิดไม่ได้ เกิดมาแล้วไม่รู้เลยว่าเมื่อไรเป็นกรรม เมื่อไหร่เป็นผลของกรรม แต่จะรู้อย่างคร่าวๆ ได้ว่าขณะใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นั่นคือผลของกรรม มีผลของกรรมอื่นที่ไม่ปรากฏเลย ไม่มีทางรู้ได้เลย เพราะกรรมไม่ได้ให้ผลเพียงแค่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ผลของกรรมอื่นที่เกิดไม่ปรากฏ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ก็คือว่าเห็นเมื่อไหร่ นั่นแหละผลของกรรม ได้ยินเมื่อไรก็ผลของกรรม ไม่ได้อยากได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟังเลยใช่ไหม แต่ได้ยิน เลือกไม่ได้ พ้นจากนั้นแล้วก็คือกิเลส และกรรม วิบากจิตคือจิตซึ่งเกิด เพราะเป็นผลของกรรม ถ้าสิ้นกรรมไม่มีกรรม และไม่เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด พระอรหันต์ทั้งหลายหลังจากที่ดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีกุศลจิต และอกุศลจิตอีกต่อไปแล้ว ถ้าพูดถึงกุศลจิต และอกุศลจิต ต้องเป็นปัจจัยให้เกิดผล เพราะฉะนั้นหลังจากเป็นพระอรหันต์แล้ว มีวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมในอดีตแต่ไม่มีกรรมที่จะทำให้เกิดวิบากอีกต่อไป หลังจากที่ปรินิพพาน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 187
    7 พ.ย. 2567