ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1224


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๒๒๔

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมนิวซีซั่น หาดใหญ่ จ.สงขลา

    วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑


    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ประจักษ์ความจริงก็คือว่า ทันทีที่ปรากฏแข็ง แข็งดับ จึงสามารถที่จะไถ่ถอนความยึดมั่น ในสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างเป็นคน ถ้าไม่มีธาตุแข็ง ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีรูปอื่นๆ จะเป็นคนได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ทั้งหมดเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นก็ละกิเลสไม่ได้เลย นี่เพียงแค่ละกิเลสที่เป็นความเห็นผิด ที่ยึดถือธรรมว่าเป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มั่นคง แต่ยังมีกิเลสอีกมากมาย มีเพียง ๑ เป็นเจตสิก ๑ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติว่า ทิฏฐิความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฎฐิ เพราะว่าไม่ได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าแข็งคือมีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ แล้วไม่มี แต่ในความทรงจำยังมีอยู่ตลอดใช่ไหม เพราะฉะนั้นกว่าที่จะได้ค่อยๆ มั่นคงขึ้นมา พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ให้ใครไปทำอะไร ด้วยความไม่รู้ ด้วยความต้องการ แต่ฟังขึ้นจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคง ในความเป็นอนัตตา แล้วปัญญาที่เป็นอินทรีย์ ก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นตามลำดับ

    อ.วิชัย ดังนั้นความต่างของการรู้แข็งก็คือ มีความรู้หรือมีปัญญาที่จะเข้าใจแข็งระดับไหน เพราะว่าถ้าก่อนการฟังพระธรรม ทุกคนก็รู้ว่ามีแข็ง แต่ว่าเมื่อรู้แล้วก็คิดโดยความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งไม่สามารถมีความรู้ว่า เป็นธาตุอย่างหนึ่งซึ่งกระทบที่กาย แล้วก็เป็นเหตุให้จิตเกิดขึ้นรู้แข็ง ดังนั้นความเข้าใจตรงนี้ ก็มาจากการฟังพระธรรม แต่ว่าความมั่นคงที่จะเห็นด้วยปัญญา ที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรม เป็นธาตุอย่างหนึ่ง ซึ่งเพียงปรากฏที่กาย แล้วก็หมดไปไม่เหลือเลย

    ท่านอาจารย์ วันนี้กระทบแข็งบ่อยไหม

    อ.วิชัย บ่อย

    ท่านอาจารย์ กระทบแข็งโดยไม่รู้ใช่ไหม

    อ.วิชัย โดยไม่รู้

    ท่านอาจารย์ พอฟังธรรมแล้วลองกระทบดูสิ รู้ไหม

    อ.วิชัย ก็เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ แข็งเหมือนเดิมใช่ไหม แต่ปัญญาที่รู้แข็งระดับไหน สามารถที่จะถึงนิพพานได้ เมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคง โดยความเป็นอนัตตา ไม่เลือก เพราะมั่นคงในความเป็นอนัตตา ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าไม่มีเรา ไม่มีทุกอย่าง ถ้าไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้น ก็จะไม่มีอะไรเลย แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ชั่วครั้งคราวที่แสนสั้น แล้วก็ไม่มีอีกเลย ค่อยๆ ฟังให้มั่นคง จะค่อยๆ คลายความยึดถือ และก็ฟังธรรมอื่นประกอบ ค่อยๆ ฟังขึ้นเพื่อละความเป็นเราไม่ใช่เพื่อจะรีบร้อน ไปทำให้ไม่เป็นเรา เป็นไปไม่ได้เลย ๒ ทางนี้เป็นทางที่ตรงกันข้ามทาง ๑ เป็นทางละ อีกทาง ๑ เป็นทางหวังได้ ติดข้องโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นทุกคนก็กระทบแข็ง รู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่มีใครต้องไปบอกว่า เป็นอินทรีย์หรือยัง เป็นอินทรีย์ไหน สัทธินทรีย์ ปัญญิณทรีย์ หรืออะไรหรือเป็นแค่แข็ง เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องบอกใคร ใช่ไหม รู้เฉพาะตน แล้วก็เมื่อปัญญาสามารถเข้าใจได้ ก็จะเห็นความจริงว่า ไม่มีการที่จะมีความสำคัญตน หรืออะไรๆ ที่ติดข้องเหมือนเดิม เพราะรู้ว่าเพียงแค่นี้แหละที่มีแล้วก็หมดตลอด ในสังสารวัฎฏ์เท่านั้นเอง

    อ.อรรณพ แม้สิ่งที่กำลังปรากฏ อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่เรากล่าวถึง อย่างแข็งต้องมีปรากฎอยู่เยอะแยะ แต่ว่าก็ไม่รู้ในความเป็นจริงนั้น แค่เพียงแข็งที่ปรากฏ แต่ทว่าปัญญาที่เข้าใจแข็งโดยลำดับ จนที่ท่านกล่าวว่า จนถึงนิพพานได้ จากปัญญาอย่างที่รู้แข็งคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เริ่มฟังแข็งเป็นคุณอรรณพหรือเปล่า

    อ.อรรณพ เป็นสภาพแข็งที่ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ลืม

    อ.อรรณพ แล้วก็ไม่สนใจแข็ง

    ท่านอาจารย์ ฟังแค่นี้ ตอบแค่นี้ จำแค่นี้ลืมละ กระทบใหม่ก็แข็งเป็นเรา หรือเป็นโต๊ะหรือเป็นอะไรต่อไป เพราะว่าสะสมความไม่รู้ และความยึดถือมานานเท่าไหร่ เกินแสนโกฏกัปป์ แน่นหนา มากมาย มั่นคง และจะค่อยๆ ไถ่ถอนการที่เคยยึดถือไว้ จะเป็นไปได้ยังไง โดยรวดเร็ว โดยความหวัง วันนี้พรุ่งนี้เดือนหน้าปีหน้า เป็นไปไม่ได้เลย หรือแม้ชาตินี้ นั่นคือผู้ที่เข้าใจความจริงว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีเหตุที่สมควร ถ้าไม่มีเหตุที่สมควรเกิดไม่ได้เลย ลองคิดดูสิ ได้ฟังธรรมได้มีความเข้าใจ ถ้าไม่ฟังต่อไปก็เข้าใจได้แค่นี้ แล้วก็ลืมด้วย แล้วก็ถ้ามีการฟังต่อไปอีกต่อไปอีกก็ยิ่งละคลายความเป็นเราที่ต้องการที่จะรู้นั่นรู้นี่ เพราะรู้ว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจ ขณะนี้จิตมีใช่ไหม เจตสิกมีใช่ไหม รับรองใช่ไหม กำลังทำหน้าที่ของจิต และเจตสิก ไม่มีใครเลยใครรู้บ้าง กลายเป็นเราละใช่ไหม อยากจะรู้เรื่องนั้น อยากจะทำอย่างนี้ หารู้ไม่ว่านั่นคือจิต และเจตสิกทั้งหมดเลย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า เป็นจิตอะไร เป็นเจตสิกอะไร เพราะฉะนั้นมีอยู่ทั้งหมด รูปอะไร จิตอะไร เจตสิกอะไร ก็อยู่ตรงนี้ทั้งหมดเลย เกิดดับอยู่ตลอดเวลาแต่ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ฟังเพื่อละความไม่รู้ จนกระทั่งความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อมีความเข้าใจละคลายขึ้น ก็มีปัจจัยที่จะเข้าใจถึงเฉพาะสภาพที่เป็นธรรม

    เพราะขณะนี้เป็นแต่เพียงฟังเรื่องของธรรม แต่ยังไม่ถึงเฉพาะลักษณะที่เป็นธรรม ลองคิดดู ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ วิสาขาวิคารมารดา ท่านอนาถบิณฑิกะ จิตตคฤหบดีท่านก็เคยตั้งต้นมาอย่างนี้ ในกัปป์ไหนก็ได้ของท่าน แล้วก็รู้ได้ว่าไม่มีตัวตน ที่สามารถที่จะไปทำให้เกิดความเข้าใจเลย โดยความเป็นอนัตตา ท่านพระสารีบุตรก็ไม่คิดว่าท่านจะพบท่านพระอัสสชิ เมื่อครั้งที่ท่านเป็นอุปปาติสสะมาณพแต่ก็ได้พบ และก็ไม่รู้ด้วยว่าจะได้ฟังอะไร เหมือนอย่างทุกท่าน จากบ้านมาถึงที่นี่ ก็ไม่รู้ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไร ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น ก็จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีขณะไหนเลยสักขณะเดียว ซึ่งเกิดปรากฏโดยไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็มีทั้งสิ่งที่ดีสิ่งที่ชั่ว สิ่งที่ไม่ดีไม่ชั่วทุกอย่างหมด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดค่อยๆ ให้เข้าใจในความไม่มีเรา เป็นแต่เพียงธรรม เพราะฉะนั้นวันหนึ่ง คำที่ได้ฟังทั้งหมด ก็จะแจ่มแจ้ง จนถึงขั้นประจักษ์ได้ แต่ต้องมาจากการที่เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น

    อ.อรรณพ ในเรื่องสมาธิ คนจะให้ความสำคัญ กับเรื่องการทำสมาธิ แล้วก็มองว่าพระพุทธศาสนา มีสิ่งสำคัญหลักประการหนึ่ง ก็คือเรื่องของการที่ทำสมาธิ กราบเรียนท่านอาจารย์ได้ให้ความเห็น ในเรื่องของสมาธิกับพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ พระพุทธศาสนาคืออะไร

    อ. อรรณพ คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร

    อ.อรรณพ คือผู้ที่บำเพ็ญพระบารมี แล้วก็ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคืออะไร

    อ.อรรณพ คือพระปัญญาที่สามารถเข้าใจสภาพธรรม และพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงจำแนกพระธรรมให้ผู้ฟังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ทำไมกล่าวถึงปัญญาคุณ ไม่ใช่สมาธิคุณ

    อ.อรรณพ เพราะว่าทรงมีพระปัญญา ที่จะเข้าใจในสภาพธรรมทั้งหลาย แล้วก็ด้วยความเข้าใจนั้น จึงมีการแสดงพระธรรมได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนที่จะทำสมาธิ คิดว่าสมาธิสำคัญถูกต้องไหม

    อ.อรรณพ ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ คือส่วนใหญ่ ทุกคนมีความอยาก ไม่เคยพ้นไปเลยสักอย่างเดียว ฟังธรรมเผินๆ อยากรู้นิพพาน อยากรู้แจ้งอริยสัจธรรม อยากหมดกิเลสนี่คืออยาก แต่ว่าอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดสังสารวัฎฏ์ไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นอยากนี่ดีไหม

    อ.อรรณพ ถ้าอยากในทางที่ดีก็น่าจะดี

    ท่านอาจารย์ อะไรล่ะ

    อ.อรรณพ ก็อยากที่จะหมดกิเลสจะได้มาฟังธรรม ถ้าไม่อยากก็คงไม่มาฟังธรรม เจริญกุศล

    ท่านอาจารย์ อยากหมดกิเลส เพราะไม่รู้จักกิเลสใช่ไหม กำลังอยากนั่นแหละกิเลส

    อ.อรรณพ หรือว่าเด็กๆ เราต้องการให้เขาทำความดี เราก็ให้เขาแข่งกันนะ ให้เขาอยากได้รางวัล เค้าจะได้ทำความดี คือพื้นฐานมาอย่างนั้นก่อน

    ท่านอาจารย์ ก็มีความเป็นเรา เพราะฉะนั้นฟังธรรม และเข้าใจในความเป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตาหรือเปล่า

    อ.อรรณพ ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แม้แต่เพียงประโยคแรก ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจ แจ่มแจ้งในทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ก็ไม่เห็นว่าสำคัญ กับคิดว่าอยากจะทำสมาธิ

    ผู้ฟัง ทำไมคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชื่อว่าชาวพุทธ ทำไมถึงชอบทำสมาธิ

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้

    อ.อรรณพ เพราะไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร ทรงแสดงธรรมอะไร เพื่ออะไร และใครสอนให้เขาทำสมาธิ

    อ. อรรณพ ครูอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารึเปล่า

    อ. อรรณพ ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ให้มีความเข้าใจอะไรรึเปล่า

    อ. อรรณพ ไม่ได้ให้มีความเข้าใจ บอกว่าเดี๋ยวทำเอง เดี๋ยวก็เห็นเอง รู้เอง

    ท่านอาจารย์ ไม่ยากใช่ไหม

    อ. อรรณพ ไม่ยาก

    ท่านอาจารย์ ก็ง่ายดี แต่ว่าไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธะคือผู้รู้ ผู้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นจะให้อะไรใคร ก็ให้ความรู้ซึ่งคนอื่นให้ไม่ได้ นี่คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปหาฤาษีชีไพรในป่า สมัยที่ยังไม่มีการตรัสรู้ มีเยอะแยะในป่าทำสมาธิได้ฌานอะไร ไม่ได้ฌานก็มี แต่ไม่ได้มีความเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ชาวโลกมีก่อนการตรัสรู้ก็คือว่า ไม่รู้ว่าเป็นธรรม และไม่เข้าใจธรรมด้วย แต่เมื่อมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เมื่อฟังจึงได้เข้าใจความจริงว่าไม่มีเรา เพราะฉะนั้นคนที่ทำสมาธิเป็นตัวตน เป็นเราที่อยากจะทำสมาธิ ไม่ได้เข้าใจเลยว่าขณะนั้นเป็นอะไร

    อ. อรรณพ ก็ได้คำตอบที่ชัดเจน ว่าอย่าทำสมาธิ ๑ เพราะความไม่รู้ แล้วก็ความเป็นตัวตนที่เป็นเรา ที่อยากจะให้พ้นไปจากความทุกข์ใจ ในชีวิตการงาน เรียนหนังสือก็เครียด จบมาแล้ว ทำงานก็เครียด อีกชีวิตครอบครัวก็อาจจะเครียด ตอนสบายสบายก็อาจจะไม่คิดอะไร ก็เลยต้องการความสบายใจ และเวลาที่ทิ้งเรื่องอื่นแล้วมานั่งทำสมาธิ ก็มีเหตุปัจจัยให้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ก็เลยหลงมาว่า การทำสมาธิทำให้อย่างน้อยกาย และจิตสบาย เป็นจิตบำบัด สมาธิบำบัด

    ท่านอาจารย์ ก็ลองไตร่ตรอง ทำสมาธิกับเข้าใจสมาธิ ควรจะเป็นอย่างไร ทำสมาธิกับเข้าใจสมาธิ ต่างกันไหม

    อ. อรรณพ ต่าง

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นประโยชน์

    อ. อรรณพ ความเข้าใจย่อมเป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไปทำสมาธิ โดยไม่รู้อะไรเลย เป็นประโยชน์ไหม

    อ.อรรณพ ไม่เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ กับการที่รู้ว่าสมาธิคืออะไร เป็นประโยชน์กว่าไหม

    อ.อรรณพ เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด เช่นคำว่าสมาธิมีจริงๆ หรือเปล่า เป็นสภาพธรรมอะไร ใครก็ไม่รู้ใช่ไหม แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง ของทุกอย่างซึ่งมีจริง เพราะฉะนั้นทรงแสดงว่า สภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ๑ มี เพราะว่าจิตเป็นธาตุรู้เป็นสภาพรู้ซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้ แต่ไม่ใช่ปัญญา เพียงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร อย่างได้ยินเสียง เสียงปรากฏกับจิตที่ได้ยินเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่น เพราะฉะนั้นจึงรู้แจ้งในเสียงที่กำลังได้ยินนั่นคือจิต แต่ไม่ใช่สมาธิ ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นเขาไม่มีความเข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ก็มีความต้องการที่จะไม่วุ่นวายที่จะสงบ คิดว่าจะสงบได้ แต่ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ ก็ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ว่าอยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็ไปพยายามทำ แต่ไม่รู้อะไร ความไม่รู้มีมาก แต่ความรู้ต้องมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดยิ่ง ว่าจิตเกิดต้องมีสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้เกิดร่วมด้วย สภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่จิตก็คือเจตสิก ซึ่งภาษาบาลีก็ใช้คำว่าเจตสิกะ

    เพราะฉะนั้นถ้าเราจะรู้ความต่างกัน นี่เป็นปัญญา รู้ความต่างกันว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่กำลังปรากฏ เช่นเสียงใดปรากฏจิตรู้แจ้งในสิ่งนั้น กลิ่นใดปรากฏ กลิ่นมีตั้งหลายกลิ่น แต่กลิ่นใดปรากฏแล้วจิตรู้แจ้งในกลิ่นที่ปรากฏ ไม่ใช่กลิ่นอื่น ก็เป็นการแสดงให้เห็น เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงว่าแม้สมาธิก็มีจริง แต่ก็ไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่ใช่จิตด้วย แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต ทรงจำแนกเจตสิกไว้ทั้งหมด ๕๒ ประเภท โดยประเภท แต่ด้วยความละเอียด มีตั้งแต่น้อยจนกระทั่งถึงใหญ่ ตั้งแต่เล็กน้อยที่สุดจนถึงมากมายที่สุด เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์เป็นเจตสิก จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วดับ จิตเกิดขึ้น๑ ขณะเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งเดียวที่ถูกรู้ เพราะจิต ๑ ต้องรู้สิ่ง ๑ และขณะที่จิต ๑ เกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท ใครรู้ ควรรู้ไหม หรือว่าไปทำสมาธิแล้วจะรู้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้นความรู้ที่ไม่มีใครสามารถที่จะให้ได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีค่ายิ่ง เพราะสามารถที่จะประจักษ์ความจริงของทุกคำ ที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว แต่ก็ต้องเป็นการอบรมเข้าใจขึ้นเข้าใจขึ้น เพราะไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แล้วก็สามารถที่จะรู้ว่าขณะนี้ จิตกำลังเกิดดับประกอบด้วยเจตสิกเท่าไหร่เป็นต้น เพราะฉะนั้นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เกิดกับจิตภาษาบาลีใช้คำว่าเอกัตตาเป็นเจตสิก ๑ เกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นจิตตั้งมั่นในอารมณ์ ๑ เพราะเจตสิกนี้ ตั้งมั่นในอารมณ์อะไร จิตก็รู้เฉพาะสิ่งนั้น ตั้งมั่นในเสียงจิตก็รู้เฉพาะเสียงนั้น ตั้งมั่นในกลิ่น จิตก็รู้เฉพาะกลิ่นนั้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วสมาธิก็คือเจตสิก ๑ ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง แต่ว่าระดับขั้นของธรรม มีตั้งแต่อย่างเริ่มต้นนิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งมาก เช่นปัญญา เริ่มเข้าใจเพียงเล็กน้อย ฟังอีกเข้าใจอีก ก็เข้าใจเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้นความตั้งมั่นในอารมณ์ ๑ ถ้าตั้งมั่นในอารมณ์เดียวแล้วก็หมด แล้วก็หมด หลายๆ อารมณ์หลากหลาย สภาพของความตั้งมั่นก็ไม่ปรากฏ เราก็ไม่ใช้คำว่าสมาธิ แต่ถ้าจิตนั้นตั้งมั่นในอารมณ์เดียว มากพอที่จะปรากฏความตั้งมั่น เราก็บอกว่าเป็นสมาธิ อย่างบางคนกำลังอ่านหนังสืออยู่ และคนอื่นมารบกวนเค้าก็บอกว่าเค้ากำลัง อ่านหนังสือ เขาจะเสียสมาธิ ถ้าคนอื่นมาพูดเรื่องอื่น ก็ใช้คำสมาธิกัน โดยไม่รู้ตัวจริงของสมาธิว่าเป็นสภาพธรรม ๑ เป็นเจตสิก ๑ ซึ่งเกิดกับจิตแล้วก็ดับไปพร้อมจิต แต่ว่าถ้าตั้งมั่นในอารมณ์ใดมากๆ นานๆ อาการของสมาธินั้นก็ปรากฏ แต่ว่าจิตที่เป็นกุศลที่ดีงามก็มี จิตที่เป็นอกุศลไม่ดีงามก็มี เพราะฉะนั้นสมาธิก็มีทั้งอกุศล และกุศล มิจฉา และสัมมา เพราะฉะนั้นถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่รู้อะไรเลย แต่ต้องการให้จิตตั้งมั่นไปทำสมาธิ ก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจะกล่าวลักขณาทิจตุกะได้ไหม อย่างนั้นว่าสมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายละเอียด เพราะเหตุว่า ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงพระธรรม ก็คือจิต เจตสิก รูป ดูไม่มากมาย แต่ทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษา ตามความเป็นจริงว่าแต่ละอย่าง ก็ต้องมีความต่างละเอียดลึกซึ้งเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ขณะใดก็ตามที่ไม่มีปัญญา แล้วทำสมาธิจะเป็นสัมมาสมาธิได้ไหม เพราะขณะนั้นไม่มีปัญญาไม่รู้อะไร แต่มีความเป็นตัวตนที่ต้องการสงบ หรือตั้งมั่นไม่ให้มีอารมณ์อื่น นี่ก็แสดงเห็นว่า สมาธิอื่นนอกพระพุทธศาสนามีมากมาย แต่สมาธิตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นอกุศลสมาธิ ขณะนั้นที่เกิดร่วมด้วย กับอกุศลเจตสิกอื่น ก็ต้องเป็นอกุศลสมาธิด้วย จะทำไหม เอาไหม ดีไหม ชอบไหม ไม่รู้ก็ทำ แต่ถ้ารู้จะทำไหม ทำอะไร เพื่ออะไร แล้วรู้อะไร แล้วประโยชน์อะไร ไม่มีเลย

    อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ สมาธิที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ต้องตามลำดับใช่ไหม ก่อนอื่นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร

    อ.อรรณพ ผู้ที่มีปัญญาที่สุด ถึงสามารถจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงทุกประการ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครเปรียบได้เลยในสากลจักรวาล พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณใช่ไหม

    อ.อรรณพ ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วเราเป็นใคร

    อ.อรรณพ เราก็เป็นผู้ที่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาแค่ไหน ปัญญาแค่ไหน คำที่พระองค์ตรัสพระปัญญาของพระองค์ระดับไหนที่ตรัส แม้แต่คำว่าธรรม แล้วเราซึ่งได้ยินคำว่าธรรมหรืออ่านคำว่าธรรม ปัญญาระดับไหน ประมาทไหม ว่าแต่ละคำคิดว่าจะเข้าใจได้ง่าย แต่จะรู้ได้เลย เมื่อมีความเคารพอย่างยิ่ง ว่าคำที่ได้อ่านหรือได้ฟังมาจากบางส่วน บางตอนใน ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดง เราอยู่ตรงนี้ เราจะพูดให้หมดได้ไหมทุกเรื่อง ทั้ง ๓ ปิฏก ทุกเล่ม ทุกตอน ไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษากับบุคคลต่างๆ ทรงแสดงเรื่องนี้เท่านี้ กับอีกกลุ่มบุคคลหนึ่ง ก็แสดงเรื่องนี้เรื่องเดียวกัน แต่เพิ่มเติมก็ได้ หรือขยายให้กว้างก็ได้ ตามระดับขั้นของความเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ฟัง มีความรู้ความเข้าใจแค่ไหน ก็ทรงแสดงตามลำดับ เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเลย จะไปพูดให้เขาเจริญมรรคมีองค์ ๘ ได้ไหม ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้นทรงแสดงความจริงให้เกิดปัญญา และรู้ว่าใครก็ตาม ชาวพุทธคนไหนก็ได้ อ่านพระไตรปิฏกด้วยความเข้าใจจบทั้ง ๓ ปิฏกมีไหม เพราะฉะนั้นบางคนอ่านพบตอนนี้ตรงนี้ อีกคนหนึ่งอ่านอีกตอนหนึ่งตรงหนึ่ง ข้อความเพิ่มเติม อินทรีย์ ๕ พละ ๕ พละ ๗ มีไหมก็มี เห็นไหม คนที่ไปเจอพละ ๕ อ้อก็มี พอไปเจอพละ ๗ อ้าวมีอีก อย่างนี้ก็แสดงเห็นว่า ต้องครบถ้วน ต้องไตร่ตรอง และต้องสอดคล้องกันทั้งหมดด้วยว่าเมื่อกล่าวถึง ๕ คืออะไร เมื่อกล่าวถึง ๗ คืออะไร ก็มีคำที่ทรงแสดงความจริง ให้เข้าใจโดยละเอียดอย่างยิ่ง เพื่อไม่เข้าใจผิด เพราะเราคิดเองไม่ได้ แม้แต่อ่านข้อความใดในพระไตรปิฏก ยังต้องไตร่ตรอง และก็รู้ว่าจะมีข้อความอื่นอีกที่จะขยายให้เป็นความถูกต้อง เช่นสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา หมายความถึงเดี๋ยวนี้หรือเปล่า เดี๋ยวนี้จิตเกิดดับทุกขณะ ต้องมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญาหรือเปล่า จิตเห็นมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม แล้วก็เอกัคตาเจตสิกที่จิตเห็น จะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้ไหม เห็นไหม ว่าการพิจารณาธรรมเมื่อเข้าใจแล้วสอดคล้องกันทั้งหมด คัดค้านกันไม่ได้เลย เพราะนั่นเป็นเพียงลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท แต่เมื่อพูดถึงเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา จะต้องต่างกับ ขณะซึ่งปัญญาขั้นฟัง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 187
    14 พ.ย. 2567