ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1253


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๒๕๓

    สนทนาธรรม ที่ หอศิลป์

    วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ละอาย คือผู้ที่รู้ว่าถ้าตราบใดที่ไม่ได้ฟังคำ ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ ก็จะไม่รู้อย่างนี้กี่ภพกี่ชาติ ก็จะเป็นอย่างนี้แหละ ละอายหรือยัง เพราะเหตุว่ารู้ว่ามีคำที่จะทำให้เข้าใจได้ ถ้าจะเห็นประโยชน์ของการที่เกิดมาแล้ว สามารถเข้าใจสิ่งที่มี ขณะนั้นเริ่มเป็นผู้ละอายต่อความไม่รู้ เพราะฉะนั้นอกุศลสิ่งที่ไม่ดี ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรละอาย แต่ก็ไม่มีใครคิดเลย ที่จะฟังธรรม ที่จะศึกษาธรรม ทั้งๆ ที่กล่าวว่า ผู้ที่เคารพสูงสุดเหนือบุคคลใดทั้งสิ้น คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และเคารพในพระธรรมที่ตรัสไว้ดีแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เลย เพราะผู้นั้นไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็มีผู้ที่ได้เข้าใจธรรม โดยอาศัยการฟัง เป็นสาวกแม้ปัญญาไม่ถึงระดับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ไเข้าด้ใจความจริง ขณะที่เข้าใจความจริง ก็จะรู้เลยว่าต่างกับขณะที่ไม่เข้าใจ ขณะที่เริ่มละอายก็จะเริ่มเข้าใจ แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้นเข้าใจขึ้น แล้วทำไมไม่เห็นประโยชน์ที่จะเข้าใจ จะจากโลกนี้ไปโดยไม่เข้าใจเหมือนเดิม หรือว่าอย่างน้อยก็เข้าใจตามสมควร แต่ถ้าผู้ที่เห็นประโยชน์มาก ไม่เคยละเว้นการฟังพระธรรม อะไรจะมีประโยชน์กว่า ฟังเรื่องอื่น ตื่นเต้น ตกใจสนุกสนาน เพลิดเพลิน แล้วหลับก็หมด ลืมเลย อาจจะจากโลกนี้ไปทั้งๆ ที่กำลังหลับสนิทก็ได้ สิ่งที่เป็นความสำคัญ ในชีวิตทั้งหมด ไม่มีความสำคัญใดๆ เหลือเลยทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อวานนี้หมดแล้วใช่ไหม เมื่อวานนี้มีอะไรบ้างที่สำคัญ แต่วันนี้ที่กำลังมีสำคัญกว่า เพราะกำลังมี พอถึงพรุ่งนี้สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญมากกว่านี้ ก็หมดความสำคัญละ ไม่มีเหลือที่จะสำคัญอีกต่อไป แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นสำคัญต่อไป ถ้าจากโลกนี้ไปก็คิดวือ ทุกอย่างในโลกนี้หมดสิ้นความสำคัญ เพราะว่าไม่ปรากฏอีก แต่ว่าปัญญาความเข้าใจถูก ก็จะสะสมไปเหมือนอัธยาศัยของแต่ละคนแต่ละขณะ บางคนชอบดนตรี อีกคนหนึ่งชอบทำอาหาร อีกคนหนึ่งชอบเรียน เรื่องการรักษาโรคเป็นนายแพทย์ จะทำอะไรก็ตามแต่ แต่ละ ๑ คน บังคับไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้ไหม แม้แต่ขณะที่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ คิดไม่เหมือนกัน เห็นประโยชน์ไม่เหมือนกัน เข้าใจไม่เหมือนกัน

    แต่ละ ๑ ขณะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามขณะนี้ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้น แต่มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เช่นเห็น เห็นธรรมดา แต่เราไม่ได้ไปทำให้เห็นเกิดเลย ก็มีเห็น แล้วทำไมต้องมีเห็น ไม่ให้มีเห็นได้ไหม ไม่ให้มีเห็นเกิดขึ้นได้ไหม ไม่มีทางเลย เพราะเป็นอนัตตา กว่าจะเข้าใจจริงๆ และวันหนึ่งไม่ได้มีแต่เห็น คิดเรื่องอะไร ดีหรือชั่ว ทุจริตหรือสุจริต ต้องมีเหตุที่ได้กระทำไว้ แต่ไม่รู้เลยว่านั่นแหละเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลคือวันนี้ และต่อไปในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นการสะสมความเข้าใจถูกต้องในวันนี้มากขึ้น เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้าด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม และเห็นคุณจริงๆ จะไม่ละเลยการที่จะไตร่ตรอง และดำรงสิ่งที่มีค่าที่สุด เพราะว่าถ้าใครก็ตาม มีความเห็นที่ถูกต้อง หวังที่จะให้คนอื่นเข้าใจด้วยไหม เราเป็นมิตรที่ดีเป็นเพื่อนที่ดี ให้สิ่งที่ดีกันมาก็มากแล้ว แต่ว่าให้สิ่งที่ดีที่สุดยิ่งกว่านั้น ก็คือให้สิ่งซึ่งใครก็ให้ไม่ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นคำของพระองค์แต่ละคำ จะรับหรือไม่รับ ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นละอายมีจริง แต่ว่าส่วนใหญ่เราคิดถึงและอายในทางที่จะไม่ทำทุจริต แต่ไม่คิดว่าละอายแม้แต่เพียงคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์

    ทุกอย่างละเอียดมาก แล้วก็ประโยชน์ก็คือว่าปัญญา ความเข้าใจถูกต้อง ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดชั่วสิ่งใดดี สิ่งใดจะนำมาซึ่งผลที่ถูกที่ดีที่ควร สิ่งใดจะนำมาซึ่งผลที่ไม่ดี ถ้าเข้าใจอย่างนี้ความเห็นที่ถูกต้อง ภาษาบาลีใช้คำว่าปัญญา หรือจะใช้คำว่าสัมมาทิฏฐิก็ได้ หรือจะใช้คำว่าญาณก็ได้ เพราะว่าความเข้าใจถูกมีหลายระดับ ตั้งแต่เริ่มฟังคำแรกจนถึงขณะนี้ ความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นไหม แค่นี้แต่ถ้ามากกว่านี้ล่ะ มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นคำที่ใช้สำหรับความเห็นถูก ก็ต้องมากตามระดับของความเห็นถูก เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษานับคำไม่ถ้วน และก็เป็นความจริงทุกกาลสมัย ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ที่ไม่สามารถบังคับบัญชาคนอื่นได้ แต่หวังดีได้ เพราะฉะนั้นเมื่อหวังดี ให้สิ่งที่ดีที่สุดก็คือว่า ให้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ประเทศไทยจะมีแต่สิ่งที่ถูกต้องไหม โลกจะมีแต่ความถูกต้องไหม แต่ถ้าไม่รู้แล้วจะแก้ปัญหา ซึ่งเกิดจากความไม่รู้ จะสำเร็จได้ยังไง เพราะว่าความไม่รู้ก็นำมาสู่ความไม่รู้ และปัญหาต่อๆ ไป เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ทางแก้ไข ก็คือผู้ที่เข้าใจธรรม เริ่มแก้ไขตั้งแต่ความไม่ละอาย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ อาจจะเริ่มที่จะมีความละอาย มีความไม่รู้ อยากจะถามถึงขั้นตอนว่า มีลำดับขั้นตอนอย่างไร ที่จะเกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องได้

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจได้อย่างไรใช่ไหม ปัญหาของคุณนะ จนกระทั่งถึงเข้าใจมากๆ จะเริ่มต้นยังไง จะเข้าใจได้ยังไง

    ผู้ฟัง หลายคนอยากรู้ขั้นตอนว่า จะเริ่มยังไง

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องรู้ด้วยตัวเอง จากการฟังและไตร่ตรอง สิ่งที่ได้ฟังใช่ไหม เพราะเรามาต่างคนก็ต่างคิด คนนั้นอ่านพระธรรมข้อนี้ พระวินัยข้อนั้น พระสุตตันปิฏก พระอภิธรรมปิฏก มาร่วมกันฟังว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และถูกต้องยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เข้าใจความจริงยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นตั้งแต่มานี่ เราพูดกันแล้วกี่คำ

    ผู้ฟัง หลายคำเลย

    ท่านอาจารย์ หลายคำ แต่ละคำนำมาซึ่งความเข้าใจขึ้นไหม แม้แต่คำว่าละอายต่ออกุศล สิ่งที่ไม่ดี ถ้าใช้คำว่าละอาย คือละอายต่อความไม่ดี จึงไม่กระทำ แต่ถ้าไม่ละอายก็ต้องทำ เพราะฉะนั้นเราพูดกันหลายคำมาก แม้แต่คำว่าละอาย เข้าใจขึ้นบ้างไหม เพราะได้ยินแล้วไตร่ตรอง ฟังกี่คำก็เข้าใจเท่านั้นที่ได้ฟัง นอกจากคำว่าละอายยังมีอีกมากมาย ฟังไป เข้าใจไปเรื่อยๆ นั่นคือเหตุที่จะให้เข้าใจ แต่ต้องไม่ลืม ไม่มีประโยชน์เลยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสแล้ว ผู้ฟังและไม่ใส่ใจ ผู้นั้นจะไม่ได้สาระจากพระธรรม เฉพาะผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ ของความเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เริ่มเห็นประโยชน์ เริ่มฟังเริ่มไตร่ตรอง เริ่มเข้าใจขึ้นทีละคำ

    ผู้ฟัง แล้วก็ยังมีคำถามเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง บอกว่าตนเองจะเป็นประโยชน์อย่างไร ในการที่จะแก้วิกฤต ทางพระพุทธศาสนา ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าตนเองยังไม่รู้เหมือนเดิม แก้ได้ไหม แต่ถ้ารู้ว่าเหตุ ต้นตอของวิกฤติคืออะไร แก้ได้ หาเจอหรือยัง ต้นตอของวิกฤติคืออะไร ถ้ายังไม่พบแก้ไปเถอะ ทั้งโลกไม่มีทางที่จะแก้ได้ ผู้พบคนแรกคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม พระองค์ทรงเป็นกัลยาณมิตร ผู้หวังดี ผู้เป็นเพื่อนที่ดี เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้เลย ทำไมเรามานั่งที่นี่ ไม่เคยรู้จักกันตั้งหลายท่าน แต่เพราะหวังดี จะมีคำที่เป็นประโยชน์เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คำของใครทั้งสิ้น ใครก็จะพูดอย่างเพราะสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เลย และคำของพระองค์จะทำให้เกิดความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นเมื่อใครก็ตามศึกษา แล้วเห็นประโยชน์ ก็รู้ว่าควรที่จะให้คนอื่นได้เข้าใจด้วยดีไหม หรือว่าไม่ต้องพูดอะไรเลย ไม่ต้องกล่าวอะไรเลย ผิดก็ปล่อยให้ผิดไปไม่แก้ไข เพราะฉะนั้นจะแก้ไข ก็ต่อเมื่อเห็นจริงๆ ว่าต้องรู้ต้นตอ และต้นตอของความผิดความทุจริตทั้งหมด ไม่มีใครอยากเลว ไม่มีใครอยากชั่ว ไม่มีใครอยากโกง แต่ถ้าไม่มีความละอายก็ทำได้ แต่คนที่ไม่ทำเพราะละอาย แล้วจะมีความละอายได้อย่างไร ละอายละเอียดมาก จนกระทั่งละอายต่อความไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็รู้เลย ใครจะคิดอย่างไรก็ตาม ไม่มีใครมีพระปัญญาเท่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นใครจะแก้ปัญหา หนทางเดียวคือแก้โดยการศึกษาเข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นรู้ว่าภิกษุคือใคร ภิกษุคือผู้ละอายต่อความไม่ดีทั้งหมด เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส ต้องประพฤติตามสิกขาบท ซึ่งทรงบัญญัติไว้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ คำพูดใดไม่เป็นประโยชน์เป็นโทษ คิดดู นี่คือภิกษุในพระธรรมวินัย

    เพราะฉะนั้นพระภิกษุไม่ละอายนั่นไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย เพราะแม้คำพูดที่ไม่สมควร แก่การเป็นภิกษุ รู้สึกไหมว่านั้นเป็นกิเลส และอายหรือเปล่า ถ้าไม่ละอายก็ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย เพราะฉะนั้นแม้คำพูดซึ่งเราพูดเล่น ซึ่งเราก็พูดกันทุกวัน แต่สำหรับพระภิกษุพูดไม่ได้ เป็นอาบัติทุพภาสิต เพราะเหตุว่าเมื่อสละเพศคฤหัสถ์แล้ว ลองคิดดูยากไหมสละเพศคฤหัสถ์ วงศาคณาญาติ พ่อแม่พี่น้อง ความสะดวกสบายทุกประการในบ้าน อาหารอร่อย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์ทั้งหมดของคฤหัสถ์ ไม่ใช่สำหรับผู้ละอายต่อกิเลส ที่จะขัดเกลากิเลส ละคลายกิเลส โดยการเข้าใจพระธรรม ความเข้าใจต่างหากที่ทำให้ละกิเลส ใครก็ตามที่ไม่เข้าใจธรรมละกิเลสไม่ได้ ไม่มีทางเลย แต่ว่าผู้ที่เริ่มเข้าใจ ปัญญาเห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว ปัญญานำไปในสิ่งทั้งปวง ถือเอาเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทิ้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นผู้นั้น ต้องสำนึก แม้แต่พูดล้อเล่น เพื่อความสนุกสนาน สำนึกแล้วจะทำยังไง ไม่ใช่คฤหัสถ์ทำอย่างนี้ เป็นบรรพชิตทำได้ไหม คฤหัสถ์ทำได้แต่บรรพชิตทำไม่ได้ สำนึกแล้วต้องปลงอาบัติ ปลงหมายความว่าอะไร รู้ว่าได้กระทำผิด ต่อพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติเพื่ออนุเคราะห์ ให้ขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่งคือสละทุกอย่าง เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นต้องปลงอาบัติ ปลงหมายความว่าแสดงโทษ รับรู้ว่าเป็นโทษ โดยไม่กระทำอย่างนั้นอีก จึงชื่อว่าลัชชี ไม่เช่นนั้นก็เป็นภิกษุ ไม่ละอายเป็นอลัชชีรู้จักภิกษุ เพราะฉะนั้นภิกษุ ต้องฟังพระธรรม มิฉะนั้นจะเป็นภิกษุทำไม และก่อนบวชก็ต้องรู้ด้วยว่าบวชทำไม ไม่ใช่เพราะไม่รู้จะทำอะไรก็บวช ย่ำยีพระศาสนา คิดว่าใครก็บวชได้ ไม่ต้องรู้อะไรก็บวช แล้วบวชแล้วทำอะไรเมื่อไม่รู้ ไม่เห็นประโยชน์เลย ฟังพระธรรมหรือเปล่า รักษาพระวินัยหรือเปล่า ถ้ากระทำทั้งหมดที่ไม่ตรงคือธรรม ก็ไม่ศึกษา สิกขาบทก็ไม่ศึกษา ไม่ประพฤติตาม แล้วเป็นภิกษุหรือ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยพระองค์เอง มีการกล่าวถึงผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุ ในพระธรรมวินัยยังไงบ้าง คุณวิชัย

    อ.วิชัย ดังนั้นก็จะแสดงระดับของความไม่ละอาย ที่จะไม่ละอายต่ออกุศล แม้เพียงเล็กน้อย จนมีกำลังเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ภิกษุผู้เป็นอลัชชี ก็คือเป็นผู้ที่ล่วงละเมิดสิกขาบท ทั้งทั้งที่รู้อยู่นี่คือภิกษุอลัชชี หรือภิกษุผู้ทุศีล หมายความว่าเป็นผู้ที่มีความประพฤติ ล่วงละเมิดสิกขาบท โดยที่ไม่มีความเคารพยำเกรง ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสิกขาบทที่พระองค์บัญญัติแล้วก็เป็นภิกษุทุศีล ถ้าบุคคลใดที่ไม่มีคุณภายใน แต่ทรงผ้ากาสาวพัตร์ พระองค์ตรัสว่าเป็นภิกษุเพียงดังแกลบ เพราะว่าภายนอกนี้เหมือนภิกษุ แต่ว่าคุณความดีภายในไม่มี ดังนั้นก็เหมือนข้าวที่ลีบไม่มีเนื้อในภายใน หรือถ้ายิ่งกว่านั้นอีกที่บางรูปถึงขั้นปาราชิก แล้วยังความเป็นภิกษุ ดูก็เหมือนภิกษุหยากเยื่อ คือเป็นสิ่งที่เขาไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่อะไรจึงทิ้งไป และไม่มีความสำคัญอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร นี่ก็จะเป็นภิกษุหยากเยื่อ เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่าผู้ใดที่จะควรแก่ การเป็นภิกษุในธรรมวินัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติสิกขาบท สำหรับภิกษุไว้ประการใดบ้าง ก็ละเมิดสิกขาบท คฤหัสถ์ก็ให้เงินพระภิกษุ ช่วยกันบ่อนทำลายพระศาสนานี่คือวิกฤติ ระหว่างชาวพุทธไม่ได้เข้าใจพระธรรม แล้วก็ไม่ได้สนใจที่จะให้พระภิกษุดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต โดยรักษาพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นสำหรับพุทธบริษัทในครั้งอดีต มีภิกษุแน่นอนแล้วก็มีภิกษุณี ซึ่งในครั้งนั้นพระองค์ไม่ปรารถนาที่จะให้มีภิกษุณี ด้วยเหตุนี้ท่านพระอานนท์ต้องทูลขอ และอ้างถึงการที่พระมหาประชาบดีโคตมี ได้ทรงเลี้ยงดูพระองค์ ตั้งแต่ครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้มีอุปการะคุณมาก และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ทรงทราบว่าพระนางจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่สามารถเป็นเพศคฤหัสถ์ได้ต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงทรงอนุญาตให้มีพระภิกษุณี โดยรู้ว่าในกาลต่อไปคำสอนของพระองค์ ก็จะค่อยๆ ไม่มีผู้ที่ศึกษา จนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ศาสนานี่ค่อยๆ เสื่อมลงนั้น แล้วก็สตรีจะไม่ได้เป็นผู้ที่สามารถที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ ด้วยเหตุนี้ทรงวางกฎเกณฑ์ของการที่สตรี จะสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ ไว้เป็นสิกขาบทเกินกว่าภิกษุ แสดงให้เห็นว่า พระพุทธประสงค์ไม่ต้องการให้มีพระภิกษุณี เพราะเหตุว่าเพศบรรพชิต เป็นเพศของพระอรหันต์ เมื่อกาลสมัยล่วงไปไม่ใช่โอกาสที่จะมีพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่โอกาสที่จะมีภิกษุณี

    ผู้ฟัง อาจารย์ วิกฤตทางศาสนานี้จะทำอย่างไร ทีนี้องค์กรใดหรือชาวพุทธทุกคนต้องช่วยกัน

    ท่านอาจารย์ เริ่มต้นคงไม่ลืมมาจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนไม่รู้ ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ก็ต้องผิดเพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าจะเอาใครมาแก้ ความรู้ต่างหากแก้ ถ้ายังคงไม่รู้ต่อไปก็แก้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือความเข้าใจถูกทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ผิด แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดลึกซึ้งที่จะเข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจแล้ว พุทธบริษัทก็สามารถที่จะดำรงพระศาสนาได้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ก็ย่ำยีพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าแม้แต่การบวชถ้าไม่เข้าใจธรรม ถามว่าบวชทำไม ในครั้งพุทธกาลผู้บวชฟังพระธรรมเข้าใจ แล้วก็รู้ตนเองว่าสามารถที่จะขัดเกลากิเลส ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ โดยประพฤติปฏิบัติธุระ ๒ อย่าง คันถะธุระคือฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรมอีกธุระ ๑ ก็คือว่าเมื่อเข้าใจแล้วปัญญานำไปสู่ปฏิปัติ ไม่ใช่เรา แต่เป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเริ่มปฏิบัติกิจของปัญญามากขึ้น คือสิ่งที่ได้ฟังขณะนี้เราพูดเรื่องเห็น แค่จะถามว่าเห็นเป็นธรรมหรือเปล่า จะตอบว่ายังไง ยังไม่ไปถึงไหนเลย ต้องเป็นคนที่ตรง ได้ยินเป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เพราะฉะนั้นขณะนี้ถ้าเราไม่รู้ว่า ไม่มีเรา แต่เมื่อกี้บอกว่าเป็นธรรม ก็ต้องเป็นเราไม่ได้ ใช่ไหม ทุกคำต้องตรง อย่างเห็นต้องเป็นเห็น เห็นเป็นได้ยินไม่ได้ คิดเป็นคิด ไม่ใช่ได้ยิน เพราะฉะนั้นธรรมเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นธรรมคืออะไร คือสิ่งที่มีจริงๆ ทำไมว่าจริง มีลักษณะเฉพาะของตนซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างแข็งอย่างนี้ ใครจะเปลี่ยนแข็งให้เป็นเสียงไม่ได้ ใครจะเป็นหวานให้เป็นคิดก็ไม่ได้ แต่ละสิ่งซึ่งมีจริงเป็นธรรม คือเป็นธาตุ เป็นสิ่งที่ใครก็เปลี่ยนความเป็นจริงของสิ่งนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะนี้เราไม่รู้เลย ว่าเห็นไม่ใช่เรา แต่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่เว้นเลย ถ้ากล่าวว่าธรรมทั้งหลาย และเริ่มต้นรู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ จะให้ใครไปสอนใครที่ไหน ก็ไม่รู้ ก็สอนตามความไม่รู้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นจะพ้นวิกฤตก็คือว่า เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจ ชาวต่างประเทศ คิดว่าสำนักปฏิบัติคือพระพุทธศาสนา ก็เป็นวิกฤตอย่างยิ่ง ที่เป็นอย่างนี้เพราะไม่รู้ใช่ไหม ปัจจุบันนี้ ก็คิดถึงในครั้งพุทธกาล พระพุทธศาสนารุ่งเรือง แล้วสมัยนี้ใครจะบอกว่า พระพุทธศาสนารุ่งเรือง พูดด้วยความเข้าใจหรือเปล่า หรือว่าพูดตามๆ กัน เพราะว่าไม่เหมือนในครั้งพุทธกาล ในครั้งพุทธกาลพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของสภาพจิตใจ เรื่องของกิเลสเรื่องของกุศล เรื่องของความดีความชั่ว กายนี่ทำอะไรไม่ได้หรอกถ้าไม่มีใจ จะกะพริบตาก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ แต่ใจต่างหาก ที่สามารถทำให้รูปนี่เคลื่อนไหวไปได้ จะพูดหรือจะทำก็ตามแต่ ทั้งหมดก็ต้องเป็นไปตามจิตใจ ด้วยเหตุนี้พระศาสนารุ่งเรืองในครั้งนั้น เพราะผู้ที่ได้ฟังพระธรรมมีทั้งพระมหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ ชาวบ้าน ทุกเพศทุกวัยไม่จำกัด ในครั้งนั้นอายุแค่ ๗ ขวบก็ถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ใช่ทุกคน หวังไม่ได้หรอกเพราะไม่รู้ แต่เป็นได้เพราะรู้ เพราะฉะนั้นความรู้ตามลำดับขั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เหมือนทุกอย่างที่ต้องเริ่มต้น ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฟังธรรมในครั้งนั้น มีศรัทธาเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์บำรุงพระภิกษุ คฤหัสถ์มีตั้งแต่พระมหากษัตริย์ มหาอำมาตย์ ชาวบ้านธรรมดา พ่อค้าทั้งหมด ใครก็ตามที่เห็นประโยชน์ พระภิกษุไม่ลำบากเดือดร้อน ไม่ต้องแสวงหาสิ่งใดทั้งสิ้น ก็ตามพระธรรมวินัย หุงหาอาหารเองก็ไม่ได้ ความละเอียดของการขัดเกลากิเลส เราหุงหาอาหารเอง ตามใจชอบ ใครชอบอะไรก็ทำอย่างนั้นใช่ไหม แม้แต่จะเจียวไข่ทอดไข่ก็ต้องตามแบบที่ตนชอบ จะสุกมากสุกน้อยยังไง กิเลสหรือเปล่า มีความติดข้องที่ไม่รู้เลย ไม่เคยรู้เลยว่าคำว่าปุถุชนของผู้รู้ หนาแน่นด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 187
    24 ก.พ. 2568

    ซีดีแนะนำ