ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1256


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๒๕๖

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมดิอิมเพรส จ.น่าน

    วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑


    ท่านอาจารย์ ทุกคนเห็นแล้วใช่ไหม ใครทำให้เห็นเกิด มีใครทำให้เห็นเกิดได้ไหมกำลังเห็นอย่างนี้ เห็นแล้วด้วย ได้ยิน ใครทำให้ได้ยินเกิด คิด ใครทำให้คิดเกิด จำก็มีใครทำให้จำเกิด ไม่รู้สักอย่างว่าแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ มีเพื่อให้เข้าใจความจริง แต่ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เข้าใจผิดเข้าใจว่าเป็นเราเห็น เราได้ยิน เราคิด เราจำ ขั้นเริ่มต้นยากไหม เปลี่ยนจากสิ่งที่ไม่เคยรู้เลย ซึ่งเคยเป็นเราทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละ ๑ ต้องแต่ละ ๑ จริงๆ เพราะว่าเห็นไม่ใช่ได้ยิน ขณะที่ได้ยินถ้าเป็นเราได้ยินได้ยินหมดละ เราอยู่ไหน ก็ไม่มีเราเลย เพราะฉะนั้นจากคำนี้ ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจคำที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายคือสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทั้งหมด เป็นอนัตตา ไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยงและยั่งยืน เพราะจากการที่ทรงตรัสรู้จะนำไปสู่การเข้าใจความจริง ที่พระองค์ตรัสว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นมีการดับไปเป็นธรรมดา ฟังชินหูคิดยังอย่างไร คิดว่าเกิดแล้วต้องตาย หรือว่าเกิดแล้วก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ว่าความจริงละเอียดกว่านั้น คือสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาประมาทไม่ได้เลย สิ่งนั้นแหละที่เกิดนั่นแหละ มีความดับเป็นธรรมดา แสดงว่าขณะนี้ถ้าเข้าใจประโยคนี้ เห็นเกิดแล้วดับ ได้ยินไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นขณะได้ยินไม่มีเห็น เพราะฉะนั้นได้ยินก็ต้องเกิดขึ้นแล้วก็ดับ มีอะไรในชีวิตแต่ละ ๑ แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ในขณะนี้เอง ซึ่งเกิดแล้วไม่ดับบ้าง

    นี่คือสิ่งที่ต้องฟัง จนกว่าจะมีความเข้าใจที่มั่นคง มิเช่นนั้นแล้วไม่สามารถจะถึงปัญญาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปฏิปัติธรรม เพราะเหตุว่าความลึกซึ้งของธรรม มี ๓ ระดับขั้น ปริยัติได้ยินบ่อยๆ ตามวัดวา ก็จะมีตึก มีอาคาร ปริยัติธรรม แต่ปริยัติคือฟังพระพุทธพจน์ ฟังหมายความว่าไง เข้าใจด้วยไม่ใช่แค่ได้ยิน เพราะฉะนั้นเมื่อกี้ฟังคำว่าธรรม เข้าใจระดับไหน สามารถที่จะรู้ไหม ว่าสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ เริ่มพิจารณาไตร่ตรองว่า ไม่เที่ยง อนิจจัง สิ่งที่ไม่เที่ยงจะนำความสุข ที่แท้จริงมาให้ได้หรือ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์จริงๆ ปัญญาถึงระดับที่สามารถถึงเฉพาะ เห็นที่กำลังเกิดดับ ได้ยินที่กำลังเกิดดับ ทั้งหมดต้องมาจากการฟัง และมีความเข้าใจ รอบรู้อย่างมั่นคงว่าเดี๋ยวนี้เป็นธรรม การฟังธรรม เข้าใจธรรม รู้แจ้งธรรม ไม่ต้องไปที่ไหนเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่ากำลังมีธรรม เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังมีธรรม ก่อนฟังไม่ได้เข้าใจว่าเป็นธรรม แต่เดี๋ยวนี้พิจารณาไตร่ตรองทุกขณะเป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละ ๑ แต่ละ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป สืบต่ออย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ จึงยากแก่การที่จะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นก็บางคนสงสัย ความต่างกันของไม่มีเรากับไม่ใช่เราเป็นยังไง ก็ธรรมดาเดี๋ยวนี้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะพูดสลับกลับกันยังไงก็ได้ แต่ขอให้เป็นความเข้าใจจริงๆ นี่คือขั้นแรก ที่จะเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแค่ ๒ คำ ๓ คำ ๔ คำ แต่ที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา มากเพื่ออะไร เพื่อความเข้าใจจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงได้

    ผู้ฟัง กราบท่านอาจารย์สุจินต์ ก็อยากจะสนทนาว่า เพราะไม่รู้คำว่าปฏิบัติคือการเข้าถึง เข้าใจว่า ไม่ต้องไปทำ คำว่าปฏิบัติ มันไม่ใช่ว่าจะต้องไปเดินจงกรม หรือไปนั่งสมาธิโดยไม่รู้อะไร เพราะความไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติจึงไปทำ วิกฤติที่กึ่งพุทธกาลนี้จึงมีสำนักปฏิบัติ

    ท่านอาจารย์ ทำให้ทุกคนเข้าใจความหมายของคำว่า วิกฤตพระพุทธศาสนาใช่ไหมเพราะไม่รู้แล้วทำ ด้วยเหตุนี้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนาทั้งหมดไม่ใช่ให้ไม่รู้ แต่ทุกคำทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็แต่ละคำด้วย เช่นคำว่าปริยัติธรรม ธรรมะซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ ซึ่งผู้ที่เคารพต้องฟัง ไม่ใช่ฟังคำของคนอื่น แต่ฟังแล้วไตร่ตรอง เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนรอบรู้ในพระพุทธพจน์ไม่เปลี่ยน รอบรู้คือมั่นคง เพราะคำของผู้ที่ได้ตรัสรู้แล้วเปลี่ยนไม่ได้ เพราะเหตุว่าตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด แล้วจะเปลี่ยนได้อย่างไร สิ่งนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าธรรม เดี๋ยวนี้เองทั้งหมดที่มีจริง เป็นธรรม เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม มั่นใจไหมว่าไม่ใช่เรา นั่นคือรอบรู้หรือยัง ถ้ายังไม่รอบรู้ก็ยังคงมีตัวเรา จะไปต้องการทำสิ่งนั้นหวังสิ่งนี้ คิดว่าจะสำเร็จได้ด้วยการทำด้วยความเป็นตัวตน แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมั่นคงเป็นสัจจญาณ หมายความเป็นปัญญาที่รู้ความจริงว่าเดี๋ยวนี้เอง สิ่งที่กำลังปรากฏเกิดแล้วดับ นี่คือเรื่องมั่นคงจนกระทั่งจะไปที่ไหน ด้วยความไม่รู้นอกจากพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า ฟังแล้วยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาเพียงขั้นรู้ ด้วยความเข้าใจว่า ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยงนี่คือปริยัติ หรือสัจจญาณ ถ้าไม่มีปริยัติ ปฏิปัติที่เราใช้ภาษาไทยว่า ปฏิบัติเกิดไม่ได้เลย เอาความไม่รู้ไปปฏิบัติแล้วจะรู้อะไร

    เพราะฉะนั้นนี่ก็คือวิกฤต แล้วก็สัจจญาณ เมื่อมีความมั่นคงแล้ว ไม่มีเราใช่ไหม แล้วอะไรปฏิบัติ ต้องรู้ตั้งแต่ขั้นฟังว่าไม่มีเรา เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล เช่นสติพร้อมกับปัญญา ที่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฟังจนกระทั่งไม่สงสัย ในเห็นในได้ยินที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ปฏิปัติ ที่ปฏิบัติในภาษาไทย ต้องเกิดจากความเข้าใจขั้นปริยัติ เพราะฉะนั้นจะได้ยินคำว่าสติปัฎฐาน สติสัมปชัญญะ และสติ ถ้าเป็นสติคือสภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล ที่มานั่งฟังเพราะสติ รู้ว่าถ้าฟังแล้วก็จะได้เข้าใจ สิ่งซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ดีแล้วเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมี ปัญญาในขณะที่ฟัง และเข้าใจเพียงขั้นต้น รู้เลยหนทางที่จะรู้ความจริงมีหนทางเดียวคือฟังเข้าใจ ต้องเป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นปัจจัยให้สติอีกระดับหนึ่ง คือสติปัฎฐาน หรือจะใช้คำว่าสติสัมปชัญญะเพราะประกอบด้วยปัญญา เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามปกติ ทีละ ๑ โดยไม่ใช่เรา รู้ด้วยว่าขณะนั้นเป็นอนัตตา ไม่ได้หวัง ไม่ได้ต้องการ เพราะรู้ว่าจะไปทำสติได้อย่างไร แล้วจะไปทำปัญญาได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีเหตุที่จะให้เกิด เกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ต้องมีความมั่นคง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุที่จะให้เกิดสิ่งนั้น ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างมั่นคงในปริยัติ ปฏิปัติ หรือกิจจญาณเกิดไม่ได้เลย กว่าจะถึงปฏิเวธ เดี๋ยวนี้เกิดดับประจักษ์กับปัญญาที่เริ่มเข้าใจ จนละคลายการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นเราตามลำดับขั้น กว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล รู้แจ้งอริยสัจจะ ที่มีอยู่ในตำราเรียนแต่เรียนแต่ชื่อ และก็ไม่เข้าใจอะไรเลย นั่นก็คือวิกฤต ทำอะไรก็ตามด้วยความไม่รู้ นำไปสู่ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ก็เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นความเข้าใจธรรม ความเข้าใจคำสอนที่ถูกต้อง จึงเป็นการทะนุบำรุงรักษาพระศาสนา ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ หนทางเดียว

    ผู้ฟัง อยากจะขอความกระจ่างว่า คำว่าพระคือใคร แล้วก็เกี่ยวข้องกับพระวินัยอย่างไร

    อ.คำปั่น ชาวพุทธก็ได้ยินคำว่าพระ ก็มาจากคำว่า วร ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ มีคำว่าภิกษุด้วยก็คือพระภิกษุ เพราะฉะนั้นความหมายของภิกษุ ก็คือผู้ที่เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส เป็นผู้ที่เข้าใจธรรม เป็นผู้ที่เห็นทุกข์ในสังสารวัฎฏ์ ตามความเป็นจริง และอีกความหมายหนึ่ง ก็คือผู้ที่มีความละอายในอกุศล ยิ่งกว่าชีวิตของคฤหัสถ์ ท่านจึงสละชีวิตของคฤหัสถ์ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งก็คือเพศบรรพชิต ที่จะต้องศึกษาธรรม อบรมปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ที่จะต้องมีความประพฤติคล้อยตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงรับเงินและทอง พระภิกษุที่บวชในพระธรรมวินัย ก็จะต้องมีความประพฤติคล้อยตามพระองค์ ก็คือไม่รับเงินไม่รับทอง รวมถึงไม่ยินดีด้วย แสดงถึงชีวิตของพระภิกษุ ในพระธรรมวินัยจริงๆ ที่มีความเข้าใจธรรมแล้วก็ขัดเกลากิเลสของตนเอง

    แล้วพระภิกษุ เกี่ยวเนื่องกับพระวินัยอย่างไร พระวินัยเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อนำออกซึ่งกิเลส เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส จะเห็นได้เลย ว่าสิกขาบทคือบทที่จะต้องศึกษา และน้อมประพฤติตาม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติไว้ทั้งหมด เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่ออยู่ผาสุกของพระภิกษุ ในพระธรรมวินัย พระภิกษุทุกรูปทุกยุคทุกสมัยจะต้องศึกษา แล้วก็มีความเคารพในพระวินัย ไม่มีการล่วงละเมิดพระวินัย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตนี่คือความสอดคล้อง ความเกี่ยวเนื่องกัน แต่ถ้าภิกษุใดก็ตามที่ไม่ละอาย ที่ไม่มีความเคารพยำเกรง ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะมีการล่วงละเมิดผิดพระวินัย ก็เป็นโทษสำหรับภิกษุรูปนั้น

    ท่านอาจารย์ ทุกคำต้องละเอียด เห็นพระเพราะคิดว่าเป็นภิกษุ แต่ว่าตามความเป็นจริง ต้องรู้ว่าก่อนการตรัสรู้ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระภิกษุอย่างนี้ตามพระธรรมวินัยหรือเปล่า ก็ไม่มีใช่ไหม แต่เมื่อมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผู้ที่ฟังพระธรรมเลย ก็เหมือนอย่างขณะนี้ แต่ว่าอัธยาศัยต่างกัน คือผู้ที่เห็นโทษของการที่จะมีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ สะดวกสบายทุกอย่าง จะร้องเพลง จะรับประทานอาหาร จะทำอะไรได้หมด มีวงศาคณาญาติ มีเพื่อนฝูงมิตรสหาย กับการที่จะสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต ตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาจากไหน มาจากการได้ฟังพระธรรม ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย จะเป็นภิกษุไหม ก็เป็นไม่ได้ใช่ไหม เพราะเหตุว่าภิกษุคือผู้ที่เห็นภัย เพราะรู้ภัย ว่าภัยคือเมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้ ใครเห็นบ้างว่าเป็นภัย ไม่มีทางที่จะเห็นได้เลย จนกว่าจะมีความเข้าใจ ละเอียดขึ้นละเอียดขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ฟังหลากหลายอัธยาศัย ในครั้งพุทธกาล เหมือนเดี๋ยวนี้ไหม ไม่ว่าในกาลไหน การฟังสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามแต่ละคน เข้าใจกันคนละระดับ หรืออาจจะเข้าใจผิดบ้างถูกบ้างก็ได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฟังด้วยดี ด้วยการที่จะเข้าใจจริงๆ ถ่องแท้ในแต่ละคำ เช่นภิกษุ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรม ก็ไม่มีภิกษุในพระธรรมวินัย แต่ฟังแล้วสิ ปัญญาที่เริ่มเข้าใจความจริงว่า สามารถที่จะสละเพศคฤหัสถ์รู้ตนเอง ไม่ได้ใครมาบอกว่าให้บวช ให้เต็มจำนวน ๑๐๐ ๑๐๐๐ หนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่เป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง เห็นว่าสามารถที่จะดำเนินรอยตามพระบาท ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยสละเพศคฤหัสถ์

    คำว่าเพศคฤหัสถ์ หมายความว่าผู้นั้นจะทำอย่างคฤหัสถ์ ไม่ได้อีกต่อไป เช่นหุงหาอาหารก็ไม่ได้ หัวเราะเล่นก็ไม่ได้ ร้องเพลงก็ไม่ได้ นี่คือผู้ที่จะประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะรู้ตนเองว่าจะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ต้องขออุปสมบท ไม่ใช่ไปบวชได้ตามใจชอบ ใครที่นึกอยากจะบวช ก็ไปเอาผ้ากาสาวพัสตร์มาใส่ ไม่ได้เลย แต่ว่าผู้นั้นจะต้องรู้ว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่สูงยิ่ง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าใครนึกบวช แต่ต้องได้รับอนุญาตจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบัญญัติพระวินัย ทุกข้อด้วยพระองค์เอง เพราะฉะนั้นแต่ละคำ แม้พระวินัยเองก็เกิดจากปัญญา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่รู้โทษ ซึ่งคนอื่นไม่รู้ว่าโทษแม้เพียงเล็กน้อย ที่ชาวโลกเห็นว่าเล็กน้อย แท้ที่จริงนำมาซึ่งโทษใหญ่ ในภายหลัง ประมาทไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ได้ฟังธรรม ก็รู้อัธยาศัยที่ต่างกัน เมื่อผู้ที่ขอบวชเป็นพระภิกษุ คนที่เป็นคฤหัสถ์กราบไหว้ ในอุปนิสัยที่สามารถสละเพศคฤหัสถ์ เพราะเหตุว่าตนเองทำไม่ได้ แต่พระภิกษุทำได้ แต่ต้องเป็นภิกษุในธรรมวินัย ไม่ใช่ว่าไม่ฟังพระธรรม ไม่รู้จักพระธรรมแล้วบวช เพราะฉะนั้นในยุคนี้ ไม่รู้จะทำอะไรก็บวช ใช่ไหม บางคนป่วยไข้ได้เจ็บ อยากหายโรคก็บวช บางคนสารพัดเหตุ ไม่มีอะไรเลยก็บวช แต่ว่าไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นเป็นการบวชสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยหรือเปล่า นี้ก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องรู้จักจริงๆ ว่าภิกษุคือใคร เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ ควรอย่างยิ่ง ที่จะได้เข้าใจความต่าง ของเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต มิฉะนั้นแล้วก็จะคิดว่าผู้ที่ใส่ผ้า ต่างจากคฤหัสถ์ ที่ใช้คำว่าครองจีวร เข้าใจธรรมรู้ธรรม แต่รู้ไหมว่าบวชเพราะอะไร เพราะฉะนั้นลองถามแต่ละท่าน ที่จะบวชว่า บวชเพราะอะไร ถ้าไม่เข้าใจธรรม สมควรไหมที่จะบวช หรือว่าการบวชง่ายมาก ไม่ต้องเข้าใจธรรมก็บวชได้ แล้วบวชแล้วทำอะไร ไม่ได้ทำอย่างที่เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย เพราะว่าภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่มีกิจของคฤหัสถ์อีกต่อไป ตั้งแต่ตื่นจนหลับกระทำกิจของภิกษุสองอย่าง คือคันถะธุระหมายความถึงศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เพราะได้ฟังแล้วรู้ว่าไม่พอ เท่านั้นไม่พอ ยังจะต้องเข้าใจอีกมาก เพื่ออะไรเพื่อปัญญาจะถึงการประจักษ์แจ้งความจริง ตามที่ได้ฟังทุกคำ เช่นเดี๋ยวนี้เราพูดว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฎสิ่งนั้นเกิด ต้องมีการประจักษ์ การเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดสิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา ปัญญาต้องถึงการประจักษ์แจ้งการเกิดดับ นี่คือจุดประสงค์ของการบวช ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างคฤหัสถ์แล้วก็ฟังธรรม เพราะว่าคฤหัสถ์ที่สะสมการเห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ฟังธรรมตามโอกาส อย่างบางท่านตั้งแต่เช้าบ่ายเย็นค่ำ คฤหัสถ์สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่บวช เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ดับกิเลสเพิ่มขึ้นเป็นพระอนาคามี ละคลายความยินดีติดข้องใน รูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บรรลุความเป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่ เมื่อนั้นไม่เป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เห็นศรัทธามั่นคงที่จะขัดเกลากิเลส ที่จะศึกษาให้เข้าใจ เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจ ไม่มีอะไรจะขัดเกลากิเลสได้เลย แต่ต้องความเข้าใจต่างหาก ความเข้าใจนั่นแหละทำกิจของความเข้าใจไม่มีเรา แต่ว่าเป็นปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งแต่ขั้นปริยัติ จนกระทั่งมีปัจจัย ที่จะทำให้สติสัมปชัญญะอีกระดับหนึ่ง เกิดขึ้นจึงชื่อว่าปฏิบัปั จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เพราะฉะนั้นพระธรรมสำหรับพุทธบริษัท ที่ไม่ได้มอบหมายว่าเฉพาะภิกษุ คฤหัสถ์ไม่ควรที่จะศึกษา ถ้าอย่างนั้นจะเป็นพุทธบริษัทได้อย่างไร เพราะเหตุว่าพุทธบริษัท สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่ จึงเป็นคฤหัสถ์ต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ลองคิดเพศบรรพชิตคือภิกษุ เป็นเพศของพระอรหันต์ใช่ไหม ซึ่งก่อนนั้น สามารถจะขัดเกลากิเลส ดับกิเลส จนถึงความเป็นพระอนาคามี โดยไม่ต้องบวชได้ ท่านจิตตคฤหบดีเป็นต้นในครั้งพุทธกาล ท่านอนาถบิณฑิกะ ทุกคนคงได้ยินบ่อยๆ ผู้เลิศในทางให้ทาน หรือแม้หมอชีวกโกมารภัตร ก็เป็นคฤหัสถ์แล้วเป็นพระโสดาบันรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะรู้ประมาณว่า ท่านสามารถที่จะมีชีวิตที่ขัดเกลากิเลสในเพศคฤหัสถ์ แล้วก็ทำกิจของคฤหัสถ์ที่จะดำรงพระศาสนา โดยการที่เข้าใจทั้งพระธรรมวินัย ในครั้งโน้นเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุทุกรูปไม่เว้นเลย ต้องประพฤติปฏิบัติตามที่พระองค์ ได้ทรงบัญญัติไว้ ภิกษุใดไม่ประพฤติปฏิบัติตาม คฤหัสถ์นั้นแหละเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นเพ่งโทษคือให้รู้ว่านั่นเป็นโทษ ติเตียนคือให้รู้ว่าภิกษุทำไม่ได้ โพนทะนาคือกระจายข่าวให้รู้ทั่วกัน เพราะฉะนั้นพระธรรมยิ่งเปิดเผยยิ่งรู้เร็ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการเข้าใจว่าภิกษุคือใคร จะรู้ไหมว่านั่นเป็นภิกษุหรือไม่ใช่ภิกษุ เพราะฉะนั้นบวชเพื่อคันถธุระ ศึกษาพระธรรม ขัดเกลากิเลส โดยความเข้าใจนั่นแหละต่างหาก ที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลส ตามระดับขั้นของปัญญา มิฉะนั้นไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย

    เพราะฉะนั้นใครที่จะบวช ต้องถาม บวชทำไม จะบวชกันหรือเปล่า ที่บวชมาแล้วบวชกันเยอะเลยใช่ไหม แต่ถามว่าทำไมบวช คำตอบยังไม่ได้เข้าใจธรรมเลย คิดว่าบวชแล้วจะเข้าใจหรือ แต่ว่าบวชแล้วก็ปรากฏว่ากี่วันก็ตามแต่ ก็ไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร ปริยัติคืออะไร ปฏิบัติคืออะไร ปฏิเวธคืออะไร สัจจญาณคืออะไร กิจญาณคืออะไร กตญาณคืออะไร จึงมีสำนักปฏิบัติเพราะผู้ไม่รู้ว่าธรรมดานี่ ไม่ใช่ตัวตนจะไปสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจธรรมตามลำดับต่างหาก ที่สามารถที่จะเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตา เพราะว่าธรรมทุกอย่าง ไม่มีใครสามารถไปทำให้เกิดขึ้นได้เลย จะไปสำนักปฎิบัติธรรมทำได้หรือ ทำเห็นเดี๋ยวนี้สิ ทำได้ยินเดี๋ยวนี้สิ ถ้าทำไม่ได้แล้ว จะไปทำสติปัญญาให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นทุกอย่าง ชาวพุทธต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรองสิ่งที่ได้ฟังแล้วก็ ซักถาม สนทนา เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้ในครั้งพุทธกาลพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านยังสนทนาธรรม เพราะท่านไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ชาวพุทธจะต้องตระหนักว่า ถ้าเป็นชาวพุทธโดยไม่รู้จักพระพุทธศาสนา โดยไม่รู้จักพระรัตนตรัย เพราะว่าภิกษุที่บวชและไม่ได้รู้แจ้งสัจธรรม ไม่ใช่สังฆรัตนะ แต่ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ที่อบรมปัญญาจนกระทั่งเป็นพระอริยะบุคคลต่างหาก ที่เป็นสังฆรัตนะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 187
    6 มี.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ