ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1262


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๒๖๒

    สนทนาธรรม ที่ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี

    วันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑


    ท่านอาจารย์ สืบต่อมาแต่ละขณะ แต่ละชาติแต่ละชาติ ไม่เคยขาดไปเลย แล้วในแสนโกฏกัปป์นั้นเคยฟังพระธรรมมาบ้างไหม เคยอยู่ที่เมืองสาวัตถีใกล้ๆ พระวิหารเชตวันบ้างหรือเปล่า หรือว่าพระนครพาราณาสี ไม่มีใครสามารถรู้ได้เลย เหมือนจากโลกนี้ไปแล้วเหมือนประตูปิดสนิท ถ้าเป็นชาติหน้าเราจะไม่รู้เลยว่าชาตินี้ เราได้อยู่ตรงนี้จำอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราก็ไม่รู้ว่า กว่าจะเป็นคนนี้เดี๋ยวนี้ในชาตินี้ สะสมอะไรมาบ้าง แต่ผู้ที่สะสมมาที่จะได้ฟังพระธรรม แล้วสะสมปัญญามามากพร้อมพอที่จะสละเพศคฤหัสถ์ สู่เพศบรรพชิตเป็นภิกษุในธรรมวินัย เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของร่างกาย ร่างกายไม่รู้อะไรเลย แต่จิตใจที่มีกิเลสและก็สะสมปัญญามาเห็นประโยชน์ว่า สามารถที่จะดับกิเลสได้คิดดู กิเลสตั้งมากมายมหาศาลที่สะสมมาแล้ว สามารถดับได้หมดโดยธรรมเตชะ เดช ปาฏิหาริย์ของคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการไม่รู้หรือเข้าใจผิด เป็นความรู้ถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องได้เมื่อฟังคำของพระองค์ เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็สละอาคารบ้านเรือน ใช้คำว่าบวช บรรพชะ หรือบรรพชาหมายความว่า สละทั่วไม่เป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป ล้อเล่นได้ไหม เป็นภิกษุแล้วนี่ไม่มีคฤหัสถ์ แล้วก็ล้อกันเล่นได้ไหม

    อ.วิชัย ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ยังไม่ได้เลย เห็นไหม เพราะฉะนั้นตั้งแต่ตื่นจนหลับเราไม่ใช่คฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเป็นการขัดเกลาอย่างยิ่ง มิเช่นฉะนั้นแล้ว ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย และเดี๋ยวนี้ถ้าเราไม่ได้ศึกษาธรรม เราจะรู้จักภิกษุในธรรมวินัยไหม เพราะฉะนั้นก็วิกฤติเพราะไม่มีการเข้าใจพระธรรม จะแก้ไขวิกฤตินี้ได้ก็ต่อเมื่อชาวพุทธได้เริ่มรู้สึกว่าพุทธศาสนา คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่สวดมนต์ ไม่ใช่เวียนเทียน แต่เป็นการเข้าใจแต่ละคำ เช่นคำว่ามนต์ มันตะ หมายความถึงปัญญา เพราะฉะนั้นแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เปล่งออกเป็นคำที่เกิดจากปัญญาทั้งหมด เพราะฉะนั้นคนที่ได้ฟังคำของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มีความเข้าใจถูกในคำที่ได้ฟังทบทวนสาธยาย ซึ่งภาษาไทยก็ใช้คำว่าสวด ทบทวนคิดถึงสิ่งที่ได้ฟังแล้ว รับรองได้ว่าวันนี้คิดอะไรกันบ้าง เมื่อวานนี้คิดอะไรกันบ้าง ขณะที่ฟังธรรม ไม่ได้คิดเรื่องอื่น แต่พ้นจากนี้ไปแล้วคิดอะไรกันบ้าง แล้วคิดมาแล้วตั้งกี่ปีกี่ชาติ เพราะฉะนั้นก็มีปัจจัยสะสมมาที่จะคิดเรื่องอื่น ด้วยเหตุนี้พระธรรม ฟังไม่ใช่ครั้งเดียว ฟังบ่อยๆ เพราะรู้ว่าถ้าไม่บ่อยก็ลืม ถ้าพบกันครั้งเดียวจำได้ไหม ไม่ได้เลยใช่ไหม แต่พบกันบ่อยๆ ไม่ลืม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมบ่อยๆ ก็ไม่ลืม แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมหรือฟังธรรมน้อย อย่างอื่นมาก ก็มีปัจจัยที่จะให้คิดถึงอย่างอื่นมาก เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ ไม่ต้องมีใครมาบอกเราเลย เรามีความเข้าใจและมั่นคงในพระธรรมแค่ไหน คิดเรื่องอื่นก็คือว่า ยังไม่มีปัจจัยที่จะคิดไตร่ตรองธรรม และก็ไม่ใช่ให้พูดคำที่ไม่รู้จัก เพราะว่าแม้แต่คำว่าสวดมนต์ ยังไม่รู้เลยว่ามนต์คืออะไร และสวดคืออะไร และทุกคำที่พูดก็ไม่เข้าใจเลยใช่ไหม อิติปิโสภะคะวาอะไร นโมตัสสะภะคะวะโตอะไร พูดแต่ไม่รู้ว่าพูดอะไรพูดคำที่ไม่รู้จัก บางคนพูดยาวมากเลย เป็นสูตรตามที่ทรงแสดง แต่ว่าถ้าเป็นภาษาไทยสำหรับคนไทย เหมือนกับภาษามคธีที่สำหรับชาวมคธ ความหมายเดียวกันหมดเลย คือกำลังพูดให้เข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้

    เพราะเวลาที่มีผู้ที่ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามว่าเห็นเที่ยงไหม ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าจักขุวิญญาณ เขากำลังเห็น เพราะฉะนั้นให้เขาคิด เพื่อจะได้เป็นปัญญาของเขาเอง เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่สุด ที่ผู้ที่เป็นมิตรที่ดีกัลยาณมิตรจะให้กันได้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่น่าพอใจ ทรัพย์สินเงินทองวัตถุต่างๆ แต่สิ่งที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือความเห็นถูกความเข้าใจถูก เป็นความหวังดีอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ผิด ไม่ให้คลาดเคลื่อนไม่ให้หลงผิดไป เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แล้วไม่ประมาทแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์ตรัสคำที่เราพูด แต่ปัญญาต่างห่างกันระดับไหน แม้แต่คำว่าธรรมพระองค์ตรัสรู้ธรรม ทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้น ไม่เหลือเลยถึงที่สุด แต่เราพอได้ยินคำว่าธรรม รู้แค่ไหนพอหรือยัง

    อ.วิชัย อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงความต่างกัน ของเพศระหว่างบรรพชิตกับคฤหัสถ์ แม้การกล่าวเพื่อประสงค์จะล้อเล่น เพราะว่าในโอมสวาทะสิกขาบท พระฉัพพัคคีย์ก็ได้ทำการทะเลาะกับภิกษุที่มีศีล และก็มีการกล่าวด้วยคำด่า ดังนั้นถ้าภิกษุกล่าวด้วยภิกษุด้วยกันต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้ากล่าวเพื่อประสงค์จะล้อเล่น ล้อชื่อบ้าง โคตรบ้าง ตระกูลบ้าง การงานบ้างต้องอาบัติทุภาษิต ก็คือวาจาชั่ว ดังนั้นถ้าจะเห็นแต่ละสิกขาบท จะแสดงความละเอียดของอกุศล ซึ่งปกติของคฤหัสถ์ก็กล่าวเป็นปกติ แต่ว่าความเป็นภิกษุ คือต้องเห็นกิเลสที่ละเอียดกว่านั้น

    ท่านอาจารย์ ทุกคนมีกิเลสมากไม่ว่าใคร ใช่ไหม คฤหัสถ์หรือบรรพชิตที่จะละกิเลสคือความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ได้ฟัง เกิดขึ้นและดับไปถ้าไม่ประจักษ์ จะละความเป็นตัวตนได้ไหม เพราะฉะนั้นปัญญาเท่านั้นที่ทำให้ประเสริฐเป็นสังฆรัตนะ เพราะว่าเป็นสาวก ไม่ใช่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสมอกันในทางปัญญาแต่เพศต่างกัน เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ก็ขัดเกลากิเลสตามความเป็นจริง ต้องตรงตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีอัธยาศัยที่จะบวชบวชได้หรือ ต้องบวชด้วยความเคารพจริงๆ บวชเพื่อประพฤติปฏิบัติตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงวางสิกขาบทว่าผู้ที่จะบวชกายวาจา ต้องประพฤติเป็นไปตามพระองค์ ภิกษุไปบิณฑบาต ตามหลังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อากัปกิริยาต้องเหมือนกันเป็นสมณะคือผู้ที่สงบ เป็นภิกษุในธรรมวินัยฉันใด สามเณรผู้ที่มีอายุยังไม่ถึงการณ์ที่จะอุปสมบทได้ ก็ต้องตามพระภิกษุไม่ใช่ว่าอยากจะให้เด็กๆ มาบวช แล้วไปวิ่งเล่นทำอะไร แล้วสอนนั่นสอนนี่ นี่เป็นการย่ำยีพระพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าสิ่งที่มีค่าสูงสุด สามารถจะดำรงอยู่ได้ด้วยความเข้าใจตรงตามความเป็นจริงว่า เพศคฤหัสถ์ทำทุกอย่างตามอัธยาศัยที่สะสมมา ผู้ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก็ต้องขัดเกลากิเลสตามที่สะสมมา ที่สามารถจะดำรงความเป็นภิกษุได้ ถ้าไม่สามารถ ซึ่งที่ภาษาไทยใช้คำว่าสึก ลาสิกขาได้ทันที เพียงบอกกล่าวคนที่รู้ความ ไม่ต้องไปหาฤกษ์ หายามอะไรเลยทั้งสิ้น ก็สู่ความเป็นคฤหัสถ์แล้ว ด้วยความเป็นผู้ตรง สามารถที่จะศึกษาธรรมต่อไป ขัดเกลากิเลสตามที่สะสมมาในเพศคฤหัสถ์ได้ แต่ถ้ายังคงเป็นบรรพชิต แต่มีอัธยาศัยอย่างคฤหัสถ์ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เลย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของความตรงต่อความจริง

    เพราะฉะนั้นเป็นภิกษุง่ายไหม แล้วก็ชวนกันไปบวชสมควรไหม บวชแล้วก็มีความประพฤติอย่างคฤหัสถ์ถูกต้องหรือ เพราะฉะนั้นคือคฤหัสถ์ใดก็ตามที่เข้าใจถูกต้อง แม้ในครั้งพุทธกาล ท่านอนาถบิณฑิก ตอนเช้าท่านก็ไปสู่พวกเดียรถีย์เพื่อสนทนากัน ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไร ท่านก็ชี้แจงให้ฟัง เพราะฉะนั้นเวลาที่มีผู้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่าท่านอนาถาบิณฑิกไปสู่พวกเดียรถีย์ ที่สนทนากันกล่าวธรรมที่ถูกต้อง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านอนาถบิณฑิกทำถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ก็ศึกษาธรรมได้เข้าใจธรรมได้ ทำประโยชน์ต่อพระศาสนาได้ สำหรับคนที่ไม่รู้และสนใจที่จะรู้ก็สนทนาธรรมกัน ศึกษากันเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไม่ใช่ว่าคฤหัสถ์บางท่านเข้าใจว่าไม่ควรศึกษาธรรม เพราะเป็นหน้าที่ของภิกษุ พูดอย่างนั้นได้อย่างไร เพราะเหตุว่าในครั้งพุทธกาล พุทธบริษัทผู้ที่นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต และเป็นพระอริยะบุคคล ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตด้วย เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดเป็นเรื่องที่ตรง ถ้าชาวพุทธไม่ได้เข้าใจถูกต้อง ก็เป็นการเหมือนกับช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา เพราะเข้าใจผิด ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก

    ผู้ฟัง กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ยังข้องใจอยู่ว่า ทำไมเราเป็นชาวพุทธ ถึงต้องมานั่งฟังการสนทนาธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าทุกอย่างต้องชัดเจน เพราะฉะนั้นคำว่าชาวพุทธคืออะไรเห็นไหม เป็นชาวพุทธแต่ว่าชาวพุทธคือใคร ตอบได้ไหม ทุกคนหวับอกทุกคนเป็นชาวพุทธแต่ว่าชาวพุทธคือใคร ถ้าบอกว่าทุกคนเป็นคนไทย ชาวไทยก็เพราะเหตุว่าเกิดในประเทศไทย แล้วทำไมเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธคือใคร และพุทธคือใครทุกคำ ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงชื่อพุทธ และก็ชื่อชาวพุทธ แต่ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง พุทธะคือใคร ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ก็จะไม่มีคำตอบว่า ทำไมเราจึงต้องมาฟังคำ ในการที่ต้องสนทนาธรรม เพราะมีคำว่าสนทนาธรรมด้วย เพราะฉะนั้นพุทธะที่นี้คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถูกต้องไหม พระพุทธเจ้าใครไม่เคยได้ยินบ้าง แต่ได้ยินแล้วก็ไม่รู้ว่าพระองค์คือใครไม่รู้จัก เห็นแต่พระพุทธรูป และจะกล่าวว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ยังไง พระพุทธรูปก็เป็นพระพุทธรูป ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเรากราบไหว้พระพุทธรูป เพราะเราเป็นชาวพุทธอย่างนั้นหรือ ไม่รู้ว่านั่นไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแต่เพียงรูปเครื่องหมาย ที่ทำให้ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร แต่ว่าถ้าเข้าใจจริงๆ คำนี้มีหลายคนไหม หรือว่าเพียงคนเดียวในสากลจักรวาล ไม่ว่าจะโลกไหน สวรรค์ พรหม เทวดากี่จักรวาลก็ตาม เป็นชื่อหนึ่งสำหรับบุคคลหนึ่งซึ่งประเสริฐ ด้วยพระปัญญาคุณ ซึ่งไม่มีใครเปรียบปานได้เลยทั้งสิ้น พระปัญญาคุณนั้นสามารถ ที่จะทำให้หมดจดจากกิเลส ทุกคนมีกิเลสใช่ไหม บางคนก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีกิเลส บอกว่าไม่มีกิเลส เพราะไม่รู้ แต่ความจริงทุกคนมีกิเลสแน่นอน แม้ไม่รู้ว่ากิเลสคืออะไร เพียงแต่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้สึกว่าสิ่งนั้นสวยงามชอบไหมก็เป็นกิเลสแล้ว ได้ยินเสียงอะไรซึ่งไม่น่าพอใจ ขณะนั้นไม่ชอบใช่ไหม ก็เป็นกิเลสละ

    พุทธะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ซึ่งใครก็รู้ไม่ได้แม้เทวดาและพรหมก็ต้องมาเฝ้าทูลถาม คิดดู เทวดาเป็นใคร พรหมเป็นใคร มนุษย์เป็นใคร พระมหากษัตริย์พระราชาในขณะนครั้งนั้นก็ไปเฝ้ากราบทูลถาม แสดงถึงพระปัญญาของพระองค์ ซึ่งตอบได้ทุกคำถาม และเราก็มีคำถามอยู่ในใจกันเยอะแยะ ไปพึ่งใครดีที่จะตอบ ประเทศชาติกำลังวิกฤติ เรียกว่ามีการทุจริตมากมายทั่วทุกวงการ จะไปหาใครให้คำตอบ ใช่ไหม แต่ถ้ากล่าวว่ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งก็คือพึ่งพระองค์ เพราะฉะนั้นรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน เพื่อจะเป็นชาวพุทธ คือไม่พึ่งใครเลยทั้งสิ้น นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนก็กราบไหว้และกล่าวคำว่าพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง วันนี้พึ่งหรือยัง วันก่อนพึ่งหรือยัง ปัญหามีเยอะแยะจะพึ่งไหม ใช่ไหม ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว แต่จากการที่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงความจริงถึงที่สุด ๔๕ พรรษา ทุกอย่างที่ทรงแสดงเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเป็นความจริงถึงที่สุด นั่นคือธรรมคือสิ่งที่มีจริงทุกวันทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกโลก ทุกจักรวาล สิ่งที่มีจริงพระองค์ทรงตรัสรู้และทรงแสดงความจริง เพราะฉะนั้นคำของพระองค์ก็ตรัสถึง ความจริงถึงที่สุดของสิ่งที่มีจริง เรารู้ความจริงหรือยัง เพราะฉะนั้นจะฟังคำของพระองค์ ที่ตรัสให้ผู้ที่เป็นชาวพุทธ ชาวพุทธคือผู้ที่เลื่อมใสและเคารพสักการะ และก็มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้นแม้จะบอกว่าชาวพุทธก็ต้องรู้ ชาวพุทธรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารึเปล่า ชาวพุทธมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งหรือเปล่า และเป็นที่พึ่งยังไงบอกหน่อยสิ ไปกราบไหว้ ขอให้หายป่วยไข้ หรือให้ได้ประโยชน์อย่างนั้นหรือ นั่นคือผู้ที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนา คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยุคนี้สมัยนี้ เป็นพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธไม่รู้จัก ชาวพุทธรู้จักแต่เวียนเทียนใช่ไหม วันสำคัญทำอะไรและไหนพึ่งพระพุทธเจ้า และไหนคำของพระองค์ ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้นจึงมีการศึกษาธรรม ทุกวิชาแม้แต่วิชาที่ง่ายที่สุดยังต้องศึกษา จะทอดไข่ต้องศึกษาไหม ทำยังไงจะตุ๋น จะเจียว จะทำอะไรก็ต่างๆ ทุกอย่างจะตัดเสื้อ จะเย็บผ้า จะปลูกต้นไม้ จะทำอะไรต้องศึกษาทั้งหมด

    เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจะศึกษาอะไร เพื่อที่จะเป็นชาวพุทธ ไม่ใช่ชาวพุทธที่ไม่รู้อะไร แล้วก็เป็นชาวพุทธ แต่ชาวพุทธจะศึกษาอะไรเพื่อที่จะเป็นชาวพุทธ ก็คือศึกษาคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ทุกคำเป็นที่พึ่งให้เกิดความเข้าใจถูกต้องของสิ่งที่มีจริง ที่เป็นโลกทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายรู้อะไรบ้าง เพราะฉะนั้นพึ่งพระองค์ ก็คือว่ามีความเคารพในคำที่พระองค์ตรัส เพื่อให้คนที่ได้ฟัง มีความเข้าใจที่ถูกต้องทุกคำถึงที่สุดจึงจะเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องไม่ลืม ฟังเรื่องที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว ถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง แม้ในขณะนี้นั่นคือธรรม ฟังแล้วต่างคนต่างฟัง ฟังแล้วต่างคนต่างคิด ไม่มีการที่จะสนทนาให้รู้ว่าอะไรชัดเจนถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราจะอ่านคนเดียว คิดคนเดียว หรือว่าจะอาศัยความคิดของคนอื่น มาประกอบ เพื่อที่จะได้พิจารณาว่า ความจริงที่ถูกต้องที่สุดนั้นคืออะไร ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการสนทนาธรรม ไม่ใช่มานั่งเฉยๆ แล้วก็ไม่ใช่มานั่งฟังแต่มีการสนทนา เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องชัดเจน และการฟังธรรมเป็นมงคลในมงคล ๓๘ การสนทนาธรรมก็เป็นมงคลในมงคล ๓๘ แล้วชาวพุทธสงสัยว่าเอ๊ะทำไมจะต้องมาฟังธรรม ทำไมจะต้องมาสนทนาธรรม ก็คือว่าไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นมงคล ที่ตรัสไว้ทั้งๆ ที่ในยุคนั้น ทุกคนก็พูดกันแต่เรื่องมงคลว่า เกิดมาทุกวันนี่วันไหนอะไรเป็นมงคล แม้เทวดาทั่วหมด ก็ไม่มีใครตอบได้ ต้องไปฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและตรัสมงคล ๓๘

    เพราะฉะนั้นเราไม่ควรประมาทเลย ว่าพระพุทธศาสนา หรือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องฟัง ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องสนทนาธรรมนั่นผิด นั่นคือชาวพุทธที่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้เป็นชาวพุทธก็คือว่า ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็รู้ว่าในสังสารวัฎฏ์ที่ผ่านมา ไม่เคยมีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุผลหรือยังที่เราต้องมาฟังคำ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใครแล้วเราเป็นใคร เพราะฉะนั้นแต่ละคำของพระองค์ และพอได้ยินและเข้าใจหรือ หรือว่าต้องไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความจริงถึงที่สุด ผู้นั้นและเป็นชาวพุทธ แม้แต่คำว่าธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง หมายความว่าก่อนนั้น ไม่มีใครรู้ความจริงของธรรม ต่อเมื่อใดพระองค์ตรัสเรื่องความจริงของสิ่งนั้น จึงมีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ละคำนี่กว่าจะถึงความมั่นคงในความจริงที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นก็ยาก เช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แค่คำเดียวอนัตตาหมายความว่าอะไร เห็นไหม แล้วอย่างนี้ชาวพุทธไม่ต้องฟังธรรมหรือ รู้จักอนัตตาหรือยัง รู้จักธรรมหรือยัง เพราะฉะนั้นก็ถามคนที่มีปัญหาว่า เป็นชาวพุทธทำไมยังต้องฟังธรรม ก็คือว่าเป็นชาวพุทธสิจึงต้องฟังธรรม ถ้าไม่ใช่ชาวพุทธก็ไม่ฟัง แต่เพราะเป็นชาวพุทธ ก็จะต้องรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมอะไร เพื่อประโยชน์แก่เราทุกยุคทุกสมัยทุกคำ เพราะฉะนั้นต้องศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ด้วยการไตร่ตรอง จนกระทั่งเข้าใจอย่างมั่นคง จึงรู้ว่านั่นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หายสงสัยหรือยัง ทำไมเรามานั่งที่นี่แล้วก็มาฟัง แต่ละคำที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว เพราะว่าเราไม่ได้เข้าใจโดยถ่องแท้

    ผู้ฟัง ที่วัดเวลามีงานหรือมีเทศกาล หนูก็ได้ฟังพระท่านเทศน์ แล้วทำไมหนูต้องมานั่งฟังการสนทนาธรรม

    ท่านอาจารย์ เอาอย่างนี้ก่อนนะไปวัด รู้จักวัดไหม เห็นไหม แต่ละคำต้องเข้าใจจริงๆ รู้จักวัดไหม ไปวัดแลัวไม่รู้จักวัดได้ยังไง ถ้าไปวัดก็ต้องรู้จักว่าวัดคืออะไร เพราะฉะนั้นวัดคืออะไรก่อนที่จะไปวัด ทำไมเรามีบ้านเราอยู่บ้าน เราไม่ได้อยู่วัดใช่ไหม แค่วัดคืออะไร ตอบให้ชัดเจนสิ วัดคืออะไรวัดมีทั่วประเทศไทยใช่ไหม แล้ววัดคืออะไรแค่นี้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ถูกต้อง ต้องเริ่มตั้งแต่คืออะไรสำหรับทุกคำ ถ้าเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธคือใคร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือใคร ธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นไปวัด ต้องรู้ว่าวัดคืออะไร จะได้รู้ว่าถูกต้องหรือเปล่า ไม่ใช่เอห็วัดก็บอกว่าวัด แต่ไม่รู้ว่าวัดคืออะไร นี่คือความเผิน แล้วก็ไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจริงๆ จึงต้องฟังทุกคำที่พระองค์ตรัสไว้ แม้แต่วัดเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีใช้คำว่าอาราม เพราะเหตุว่านำมาซึ่งความปิติยินดีในความสงบ รื่นรมย์กว่าอย่างอื่น ทุกคนอยากสงบใช่ไหม บ่นกันวุ่นวายว่าวุ่นจริงๆ วุ่นวายหนอ แล้วสงบคืออะไร อยากสงบแต่ไม่รู้ว่าสงบคืออะไร และจะไปสงบกันที่ไหน เพราะฉะนั้นความปิติยินดี เมื่อสงบต้อง ต่างกับความรื่นเริงสนุกสนาน ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่รู้ ด้วยเหตุนี้อารามเป็นสถานที่ที่นำมาซึ่งความยินดี ในความสงบจากกิเลส ใช่ไหม วัดไม่ใช่บ้าน บ้านเต็มไปด้วยกิเลสหมดเลย สนุกสนานก็เป็นกิเลส ไม่ชอบก็เป็นกิเลส วุ่นวายก็เป็นกิเลส ทำงานก็เป็นกิเลส ถ้ารู้จริงๆ แค่เห็นดับไปหมดไปกิเลสก็เกิดละ เร็วถึงปานนั้น นี่คำของใครถ้าไม่ฟังจะรู้ไหม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ความจริงให้เห็นว่าความไม่รู้มีมากแค่ไหน เพราะฉะนั้นที่เป็นทุกข์กันก็เพราะไม่รู้ ทุกข์มีมากเยอะแยะเลย ทั้งหมดมาจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะแก้ทุกข์ได้ก็ต้องรู้ความจริงของแต่ละ ๑ อย่างละเอียดแม้แต่คำว่าวัด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 188
    15 มี.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ