จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 060
ไม่ใช่การพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแต่ละลักษณะ และไม่ใช่การรู้ว่า ลักษณะนี้เป็นเพียงสภาพของนามธรรม ชนิดหนึ่ง หรือว่าลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ละลักษณะนั้นเป็นเพียงรูปธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่คนชรา แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งปรากฏ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและศึกษา คือ น้อมพิจารณาที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว ไม่ใช่วิปัสสนา ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เห็นความชราและความทุกข์ของความชรา และเกิดสลดใจ เสียใจ ร้องไห้ จะถือว่าขณะนั้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา
ซึ่งท่านผู้นั้นที่ได้ฟังก็คิดว่า ท่านที่บอกนี้ ท่านหลงไปหรือเปล่า หรือว่าท่านเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และท่านก็พิจารณาคำพูดของอาจารย์ธรรมท่านนั้นต่อไปที่บอกว่า แม้แต่คนชราบางคนก็ไม่เกิดความรู้สึกอย่างนี้
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังคำพูดอย่างนี้ ท่านผู้นั้นก็ถือว่าท่านผู้ที่กล่าว คืออาจารย์ผู้ที่สอนธรรมท่านนั้น เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
แต่ว่าเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ไม่ว่าท่านจะได้ยินได้ฟังว่า อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องการประพฤติปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ตาม ขอให้ทราบว่า ไม่ว่าจะเป็นปริยัติที่ท่านสนใจจะศึกษา หรือไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นไปที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้หรือเปล่า ถ้าการศึกษาและการปฏิบัตินั้นสามารถที่จะให้ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้อง การศึกษานั้นก็เป็น นิสสรณัตถา คือ การเรียนปริยัติมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย จากโทษ คือ กิเลสทั้งหลาย
สำหรับ ภัณฑาคาริกปริยัติ คือ การเรียนปริยัติของพระอรหันต์นั้น เป็นเพราะท่านเป็นผู้ที่ละกิเลสได้แล้ว มีมรรคอันอบรมแล้ว มีพระอรหัตตผลอันแทงตลอดแล้ว มีนิโรธอันทำให้แจ้งแล้ว ย่อมเรียนซึ่งปริยัติใดเพื่อประโยชน์แก่การรักษาไว้ซึ่งประเพณี คือ ความสืบสันตติของพระธรรม และเพื่อประโยชน์แก่การรักษาไว้ซึ่งพุทธวงศ์โดยเฉพาะ การเรียนปริยัตินี้ชื่อว่าภัณฑาคาริกปริยัติ การเรียนปริยัติของพระอรหันต์ ผู้เหมือนคนรักษาเรือนคลัง
เพราะฉะนั้น สำหรับท่านผู้ฟังที่ยังไม่หมดกิเลส การศึกษาของท่านควรจะเป็น นิสสรณัตถะ คือ เป็นการศึกษาเพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติถูกต้องตรงตามที่ได้ศึกษาจริงๆ
การศึกษาแม้เรื่องของจิตดวงเดียว โดยที่เข้าใจเรื่องลักษณะของจิตนั้นชัดเจนขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์ที่จะทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของจิตดวงอื่นๆ ได้
ขอกล่าวถึงการจำแนกอกุศลจิตดวงที่ ๑ เพื่อให้ท่านผู้ฟังมีปัจจัยที่จะให้เกิดการคิดพิจารณาเรื่องของปริยัติธรรมที่ได้ศึกษา เพราะว่าเรื่องของความคิดย่อมเป็นไปตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าได้ยินได้ฟังเรื่องของปริยัติ คือ เรื่องของจิต เจตสิก และรูปมาก ก็เป็นปัจจัยให้เกิดคิดนึก พิจารณา ตรึกตรอง เพื่อที่จะได้ความเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น เพราะทุกคนยับยั้งความคิดไม่ได้
และวันหนึ่งๆ ถ้าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คิดถึงสิ่งนั้นทันที ได้ยินเสียงอะไร ก็คิดถึงเรื่องของเสียงนั้นทันที ได้กลิ่นอะไร ก็คิดถึงเรื่องของกลิ่นนั้นทันที ลิ้มรสอะไร ก็คิดถึงเรื่องของรสนั้นทันที เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อจากปัญจทวารวิถีจิต ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใดก็คิดถึงสิ่งนั้น ได้ยินเสียงใดก็คิดถึงเรื่องนั้น ซึ่งแทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่นที่เปล่าประโยชน์หรือว่าไม่เป็นสาระ ถ้าท่านพยายามพิจารณาเรื่องของสภาพธรรมที่ได้ศึกษาแล้วโดยนัยต่างๆ จะทำให้การคิดนั้นเป็น มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญาที่ตรึกนึกถึงสภาพธรรมที่ได้ศึกษา
สำหรับอกุศลจิตดวงที่ ๑ คือ โลภมูลจิต ซึ่งเกิดพร้อมโสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับความเห็นผิด และเป็นอสังขาริก คือ เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง และจำแนกออกได้โดยนัยต่างๆ ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ
โดยชาติ ๔ ชาติ เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา
สำหรับอกุศลจิตดวงที่ ๑ โดยชาติ เป็นอกุศลชาติ เป็นจิตที่เป็นเหตุ ไม่ใช่จิตที่เป็นผล คือ ไม่ใช่วิบากจิต และไม่ใช่กิริยาจิต ไม่ใช่กุศลจิต
โดยภูมิ โลภมูลจิตเป็นกามาวจรจิต เป็นจิตขั้นกามภูมิ ถึงแม้จะเกิดใน รูปพรหม หรืออรูปพรหมภูมิ ไม่ว่าจิตนี้จะเกิดที่ใดก็ตาม โดยสภาพของจิตแล้ว เป็นจิตขั้นกามาวจร คือ เป็นจิตที่ยังท่องเที่ยวไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
โดยเวทนา โลภมูลจิตมี ๘ ดวง ๔ ดวงเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา อีก ๔ ดวง เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยเวทนา เป็นโสมนสฺสสหคตํ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา
โดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ คือ เกิดร่วมกับความเห็นผิด
โดยอสังขาริกและสสังขาริก โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอสังขาริก คือ เกิดโดย ไม่อาศัยการชักจูง
โดยเหตุ ๖ เป็นสภาพธรรมที่เป็นเหตุ และสภาพธรรมที่ไม่ใช่เหตุ คือ นเหตุ เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับเหตุ คือ สเหตุกะ และสภาพธรรมที่ไม่เกิดร่วมกับเหตุเจตสิก ๖ ดวง คือ อเหตุกะ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยนัยของเหตุและ นเหตุ โดยภาษาบาลี โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอะไร เป็นเหตุ หรือเป็นนเหตุ
นี่เป็นความละเอียดของธรรม ซึ่งเป็นเพียงขั้นต้น ต่อไปธรรมจะยิ่งละเอียด ขึ้นๆ ซึ่งการที่จะศึกษาธรรมและพิจารณาให้เข้าใจชัดเจน ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม จึงจะเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้อง
ปรมัตถธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเหตุ ๓ และอโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ เป็นโสภณเหตุ ๓ เพราะฉะนั้น เกิดกับกุศลวิบากก็ได้ เกิดกับกิริยาก็ได้ที่เป็นโสภณะ
โลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยนัยที่เป็นเหตุ และไม่ใช่เหตุ คือ นเหตุ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอะไร
เป็นนเหตุ
เพราะเหตุใด เพราะเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก โลภมูลจิตเป็นเหตุไม่ได้ เพราะว่า สภาพธรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูปก็ตาม ที่ไม่ใช่เจตสิก ๖ ดวงที่เป็นเหตุ ทั้งหมดเป็นนเหตุ
โดยนัยของอเหตุกะ คือ ไม่เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ และสเหตุกะ คือ เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ โลภมูลจิตเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ
เป็นสเหตุกะ
และต้องทราบด้วยว่า สำหรับจิตที่เกิดร่วมกับเหตุ ถ้าเกิดร่วมกับเหตุเดียว เป็นเอกเหตุ ถ้าเกิดร่วมกับ ๒ เหตุ เป็นทวิเหตุ ถ้าเกิดร่วมกับ ๓ เหตุ เป็นติเหตุ หรือติเหตุกะ
เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นนเหตุ ไม่ใช่เหตุ เป็นสเหตุกะ เพราะเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ และเมื่อเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุแล้ว เป็นเอกเหตุกะ หรือเป็นทวิเหตุกะ หรือเป็นติเหตุกะ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอะไร
เป็นทวิเหตุกะ เพราะเกิดร่วมกับโลภเจตสิกและโมหเจตสิก
อกุศลทุกดวงต้องเกิดร่วมกับโมหเจตสิก ถ้าเป็นโลภมูลจิตก็ประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โมหเจตสิกและโลภเจตสิก ถ้าเป็นโทสมูลจิตก็เกิดร่วมกับเหตุ ๒ คือ โมหเจตสิกและโทสเจตสิก
สำหรับอกุศลจิตไม่มีติเหตุกะ เพราะว่าโลภเจตสิกเกิดร่วมกับโทสเจตสิกไม่ได้
โดยโสภณะและอโสภณะ อกุศลจิตดวงที่ ๑ เป็นอะไร
เป็นอโสภณะ เพราะไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ต้องมีเหตุผลตลอด สำหรับการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ
โดยทวาร ๖ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดได้กี่ทวาร
เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร
ไม่มีใครที่จะพ้นไปจากโลภมูลจิต ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร หรือถ้าจะกล่าวถึงโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง ก็กล่าวได้ว่า โลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร
นั่งเฉยๆ ดิฉันเรียนถามท่านผู้หนึ่งว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ท่านตอบว่า เป็นกุศลเพราะท่านไม่ได้กระทำทุจริตกรรมอะไร แต่ถ้าขณะใดไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่ใช่ความสงบของจิต ไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิตประเภทใดประเภทหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พ้นจากโลภมูลจิต แม้แต่เพียงการคิด เพียงคิดว่า พรุ่งนี้วันจันทร์ ก็ต้องรู้ว่าจิตอะไรที่คิด เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ที่จะพ้นจากโลภะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด มีทางที่จะพ้นได้ไหม ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ถ้าสติไม่เกิดที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีอะไรที่จะกั้นกระแสของโลภะได้ เพราะว่าทางตาที่เห็น หลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว ถ้าขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ความรู้สึกไม่แช่มชื่น ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่ใช่กุศล
การอบรมเจริญปัญญาต้องตรงตามความเป็นจริงว่า โลภมูลจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดอยู่เป็นประจำ ควรรู้ จึงจะละการยึดถือโลภมูลจิตและสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้
เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะกลัวโลภะจนกระทั่งไม่ให้มีโลภะจึงจะเจริญปัญญา ถ้าเป็นอย่างนั้นปัญญาจะรู้ลักษณะของโลภะได้อย่างไร ปัญญาจะเห็นว่า โลภะไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลได้อย่างไร แต่ชีวิตปกติตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร สติก็ควรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงอย่างนั้น
ถ้าท่านผู้ฟังไปดูหนังที่โรงหนัง ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง บังคับได้ไหม ไปแล้ว ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า ไปแล้วสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ท่านผู้ฟังมาแล้ว สู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าท่านผู้ฟังมีธุระต้องเดินทางไปที่หนึ่งที่ใด จะเป็นจังหวัดหนึ่งจังหวัดใดก็ได้ ไปแล้วสู่ที่ใด ไม่ว่าจะในรถไฟ หรือว่าในเรือบิน ในเรือ หรือที่ไหนก็ตาม ไปแล้วสู่ที่นั้นตามความเป็นจริง สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที นั่นเป็นหนทางเดียวจริงๆ ที่สามารถจะกั้นกระแสของโลภะได้ แต่ถ้าขณะใดที่สติไม่เกิดขณะนั้นให้ทราบว่า กำลังติดตามโลภะไป ไม่ว่าจะเป็นทวารหนึ่งทวารใด ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นประจำ
โดยอารมณ์ ๖ โลภมูลจิตดวงที่ ๑ รู้อารมณ์ได้กี่อารมณ์
อารมณ์มี ๖ ทางตา สี คือ รูปารมณ์ ทางหู เสียง คือ สัททารมณ์ ทางจมูก กลิ่น คือ คันธารมณ์ ทางลิ้น รส คือ รสารมณ์ ทางกาย เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว คือ โผฏฐัพพารมณ์ ทางใจ แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไรที่จิตรู้ทางใจในขณะนั้น เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตมีอารมณ์ ๖ คือ สามารถที่จะยึด ติด พอใจในอารมณ์ทั้ง ๖ ได้
สำหรับทวาร ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร เป็นนามธรรม ๑ ทวาร คือ ตา จักขุทวาร เป็นรูป หู โสตทวารเป็นรูป จมูก ฆานทวารเป็นรูป ลิ้น ชิวหาทวารเป็นรูป กาย กายทวารเป็นรูป ส่วนทางใจไม่ใช่รูป แต่ว่าทางใจสามารถมีอารมณ์ต่างๆ คือนึกถึงอารมณ์ต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่ได้อาศัยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นก็เป็นการรู้อารมณ์ทางใจ
สำหรับอารมณ์ ๖ มีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม อารมณ์ ๕ เป็นรูป คือ ทางตา รูปารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป ทางหู สัททารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป ทางจมูก คันธารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป ทางลิ้น รสารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป ทางกาย โผฏฐัพพารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป สำหรับทางใจ ที่เป็นรูปก็มี ที่เป็นนามก็มี เพราะฉะนั้น อารมณ์ ๖ ๕ ทวารเป็นรูป สำหรับทางใจ เป็นรูปบ้าง เป็นนามบ้าง
โดยวัตถุ ๖ วัตถุ หมายความถึงที่เกิดของจิต ซึ่งได้แก่ รูป คือ
จักขุวัตถุ ได้แก่ จักขุปสาท เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ จิตเห็น ๒ ดวง
โสตวัตถุ ได้แก่ โสตปสาท เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ จิตได้ยิน ๒ ดวง ในขณะที่ได้ยิน จิตเกิดที่โสตปสาท และดับที่โสตปสาท
ฆานวัตถุ ได้แก่ ฆานปสาท เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ จิตที่ได้กลิ่น ๒ ดวง ชิวหาวัตถุ ได้แก่ ชิวหาปสาท เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ จิตที่ลิ้มรส ๒ ดวง
ในขณะที่กระทบเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งทุกท่านกระทบอยู่ในขณะนี้ ให้ทราบว่า กายวัตถุเป็นรูป เป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ในขณะที่กำลังปรากฏลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวที่กาย
เพราะฉะนั้น สำหรับทางทวาร ๕ ปสาทรูป ๕ เป็นวัตถุ ๕ คือ เป็นที่เกิดของจิต ๑๐ ดวง ได้แก่ จิตเห็น ๒ ดวง จิตได้ยิน ๒ ดวง จิตได้กลิ่น ๒ ดวง จิตลิ้มรส ๒ ดวง และจิตที่รู้โผฏฐัพพะทางกาย ๒ ดวง
สำหรับวัตถุที่ ๖ คือ หทยวัตถุ ได้แก่ ที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕
เพราะฉะนั้น ถ้าโดยวัตถุ ๖ หมายเฉพาะรูปเท่านั้น ไม่มีนามธรรมเลย เพราะว่าวัตถุ คือ รูป ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต
ขณะนี้เองสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา เห็น จักขุปสาทเป็นจักขุทวาร สำหรับจิตซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุสำหรับจักขุวิญญาณซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจเห็น ๒ ดวง เพราะฉะนั้น ที่จักขุปสาท ซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นที่ประชุม เป็นอายตนะ เป็นที่ต่อให้เกิดจักขุวิญญาณ สภาพที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ และดับไปทันทีที่จักขุวัตถุนั่นเอง
เพราะฉะนั้น การแทงตลอดโดยประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นลักษณะของนามธรรม หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม
ทางหู สภาพธรรมกำลังปรากฏให้พิสูจน์ตามความเป็นจริง เสียงเป็นรูป เป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทวาร แต่โสตทวารเป็นทวาร เป็นทางให้เกิดจิตที่รู้เสียง และโสตทวารนั้นเองเป็นโสตวัตถุ เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณที่กำลังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น จิตที่ได้ยินเสียงเกิดที่โสตวัตถุ คือ โสตปสาท และดับที่โสตปสาทซึ่งเป็นโสตวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิตได้ยินนั่นเอง
เมื่อไรจะประจักษ์แจ้งความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินในขณะนี้ ใช่ไหม นี่คือจุดประสงค์ หรือประโยชน์ของการเรียน เพื่อที่จะได้รู้ถูก รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แต่ในขั้นต้นไม่ใช่พากเพียรที่จะไปรู้โสตปสาท เพียงแต่ว่า ขณะใดที่สภาพธรรมทางหนึ่งทางใดกำลังปรากฏ การศึกษาธรรมจะเป็นสังขารขันธ์ ที่จะทำให้สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น เช่น รูปธรรมไม่สามารถรู้อะไร เพราะฉะนั้น เสียงที่กำลังปรากฏ เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏแก่โสตวิญญาณที่กำลังรู้เสียงนั้น แต่การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่ระลึกเพียงลักษณะของรูปธรรม จะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่กำลังรู้เสียง คือ กำลังได้ยินเสียงด้วยว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นี่คืออนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้ยาก แต่อบรมได้ โดยพิจารณารู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏจริงๆ ให้รู้ได้ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง
โดยขันธ์ ขันธ์มี ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ และวิญญาณขันธ์ ๑ โลภมูลจิตเป็นขันธ์อะไร
เป็นวิญญาณขันธ์
โลภเจตสิกเป็นขันธ์อะไร
เป็นสังขารขันธ์
โสมนัสเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นขันธ์อะไร
เป็นเวทนาขันธ์
นี่ก็ครบ ในขณะที่จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง นามขันธ์เกิดขึ้นร่วมกันทั้ง ๔ ขันธ์ และดับไปพร้อมกัน คือ โลภมูลจิตประกอบด้วยเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ และประกอบด้วยโลภเจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ และมีสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัญญาขันธ์เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ ก็คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกตินั่นเอง
พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบขันธ์ ๕ ใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เผณปิณฑสูตร ข้อ ๒๔๒ –ข้อ ๒๔๗ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้อยุชฌบุรี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลุ่มฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในกลุ่มฟองน้ำ พึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย รูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในรูปพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน
ทรงเปรียบเทียบลักษณะของรูปขันธ์ว่า เหมือนกับกลุ่มฟองน้ำใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปโดยรวดเร็ว แต่ถ้าไม่เพ่ง ไม่พิจารณา จะปรากฏไหม
แท้ที่จริงแล้ว เสียงปรากฏชัดว่าปรากฏและหมดไป แต่วันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่ลักษณะของเสียงก็เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อไม่ได้พิจารณา ก็ไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นและดับไป สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพที่ไม่เที่ยงจริงๆ ไม่ได้เย็นอยู่ตลอดเวลา หรือว่าไม่ได้ร้อนอยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะที่เย็นหมดไปก็ดี หรือร้อนหมดไปก็ดี เพราะขาดการพิจารณา จึงไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยง
สภาพธรรมที่ไม่เที่ยงนั้น เป็นปกติ ปัญญาจะต้องพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถประจักษ์ได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเวทนาว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดหยาบตกอยู่ในสรทสมัย ฟองน้ำในน้ำ ย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของ ว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย ฯลฯ เวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในเวทนาพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน
ความรู้สึกก็เกิดดับรวดเร็วเหลือเกิน ซึ่งหลายท่านกล่าวว่า ความรู้สึกที่พิจารณายากคือความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์ เวลาที่สุขเวทนาเกิดขึ้น ก็ยังปรากฏชัดพอที่จะให้พิจารณาได้
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 051
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 052
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 053
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 054
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 055
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 056
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 057
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 058
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 059
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 060
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 061
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 062
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 063
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 064
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 065
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 066
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 067
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 068
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 069
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 070
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 071
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 072
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 073
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 074
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 075
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 076
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 077
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 078
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 079
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 080
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 081
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 082
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 083
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 084
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 085
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 086
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 087
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 088
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 089
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 090
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 091
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 092
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 093
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 094
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 095
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 096
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 097
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 098
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 099
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 100