จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 064


    ถ้าจิตเป็นวิบากเกิดขึ้น เจตสิกที่เกิดร่วมกันต้องเป็นวิบากด้วย เวลาที่กุศลจิตเกิด เจตสิกทั้งหมดต้องเป็นกุศล อโลภะ อโมหะ ต้องเป็นกุศล แต่เวลาที่เป็น อัพยากตะ คือ วิบากจิตรึกิริยาจิต เจตสิกที่เกิดกับวิบากจิตก็เป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดกับกิริยาจิตก็เป็นกิริยา เพราะฉะนั้น ทั้งจิตและเจตสิก เมื่อเป็นวิบากก็เป็นวิบากด้วยกัน เมื่อเป็นกุศลก็เป็นกุศลด้วยกัน เมื่อเป็นอกุศลก็เป็นอกุศลด้วยกัน เมื่อเป็นกิริยาก็เป็นกิริยาด้วยกัน กุศลเจตสิกจะไปเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้ กุศลเจตสิกจะไปเกิดกับวิบากจิตไม่ได้ กุศลเจตสิกจะไปเกิดกับกิริยาจิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า โสภณเจตสิก เพราะเกิดกับกุศลวิบากก็ได้ เกิดกับกิริยาก็ได้ เกิดกับกุศลก็ได้

    อกุศลธรรมได้แก่ปรมัตถธรรมอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ได้แก่ จิต เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เวทนาขันธ์เป็นชาติอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง เวทนาขันธ์ เป็นทั้ง ๔ ชาติ

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา ได้ทั้ง ๔ ชาติ เพราะ เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง กุศลจิตก็มีเวทนาเจตสิกเกิดด้วย อกุศลจิตก็มี เวทนาเจตสิกเกิดด้วย วิบากจิตก็มีเวทนาเจตสิกเกิดด้วย กิริยาจิตก็มีเวทนาเจตสิก เกิดด้วย เพราะฉะนั้น เวทนาขันธ์ก็เป็นชาติกุศลบ้าง เป็นชาติอกุศลบ้าง เป็น ชาติวิบากบ้าง เป็นชาติกิริยาบ้าง

    อกุศลธรรมมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง มีนามขันธ์ทั้ง ๔

    ท่านอาจารย์ อัพยากตธรรมมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง มีนามขันธ์ทั้ง ๔

    ท่านอาจารย์ โดยหมวด ๓ กุสลา ธมฺมา ได้แก่ กุศลจิตและกุศลเจตสิก อกุสลา ธมฺมา ได้แก่ อกุศลจิตและอกุศลเจตสิก อัพยากตา ธมฺมา ได้แก่ธรรมอื่นทั้งหมด ที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดเป็นอัพยากตะ รูปไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่มีเจตนาเป็นกุศล หรือทำกุศลกรรมใดๆ ไม่ได้เลย นิพพานก็เป็นอัพยากตะ เพราะฉะนั้น ถามว่า อัพยากตธรรมมีกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง มีทั้ง ๕ ขันธ์

    ท่านอาจารย์ ขันธ์อะไรเป็นอัพยากตะ

    ผู้ฟัง ได้แก่ ขันธ์ทั้ง ๕

    ท่านอาจารย์ ต้องจำแนกให้ละเอียดว่า รูปขันธ์ ๑ นามขันธ์ ๔ ที่เป็นวิบากและกิริยาจึงจะเป็นอัพยากตะ

    ขันธ์ที่ไม่ใช่อัพยากตธรรมมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ต้องคิด เรื่องของการศึกษาพระอภิธรรม หรือปรมัตถธรรม ต้องคิดๆ พิจารณา จะหลับจะนอน จะตื่นขึ้นมาก็ยังคิดอีก พิจารณาอีกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังมา จนกว่าจะแจ่มแจ้งจริงๆ นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ท่านผู้ฟังซึ่งเห็น ได้ยิน แทนที่จะเป็นอกุศล ก็เป็นกุศล โดยการคิดถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เนืองๆ และพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้ง มิฉะนั้น เห็น อกุศลจิตก็เกิด คิดตามสิ่งที่เห็น แต่เมื่อได้ยินได้ฟังธรรม แทนที่จะคิดเรื่องอื่น ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้คิดพิจารณาในความละเอียดของธรรมว่า ขันธ์ที่ไม่ใช่อัพยากตธรรมมีไหม

    ผู้ฟัง มี ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต และเจตสิกที่ประกอบด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ตอบตรงกับคำถาม คือ กุศลขันธ์และอกุศลขันธ์ ซึ่งได้แก่ กุศลจิต และอกุศลจิต และเจตสิกที่ประกอบนั่นเอง

    อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์มีไหม

    ผู้ฟัง มี คือ นิพพาน

    ท่านอาจารย์ อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์ คือ นิพพาน เพราะปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งจิต เจตสิก รูป เป็นขันธ์ นิพพานเท่านั้นที่ไม่ใช่ขันธ์ แต่เป็นอัพยากตธรรม

    อัพยากตธรรมเป็นสังขารธรรม หรือวิสังขารธรรม

    ผู้ฟัง อัพยากตธรรมเป็นสังขารธรรมก็มี เป็นวิสังขารธรรมก็มี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ข้อนี้ท่านผู้ฟังก็คิดรายละเอียดเองได้ รูปทั้งหมดเป็น สังขารธรรม วิบากจิต วิบากเจตสิก กิริยาจิต กิริยาเจตสิกเป็นสังขารธรรม เฉพาะนิพพานซึ่งเป็นอัพยากตะเท่านั้นที่เป็นวิสังขารธรรม

    เสียง ทุกท่านกำลังได้ยินเสียง ตามธรรมดา เสียงเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม หรืออัพยากตธรรม

    ผู้ฟัง เป็นอัพยากตธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นรูปธรรม

    สังขารธรรมเป็นอัพยากตธรรมใช่ไหม

    ผู้ฟัง เป็นอัพยากตธรรมก็มี ไม่เป็นก็มี

    ท่านอาจารย์ คือ รูปทั้งหมดเป็นอัพยากตธรรม วิบากจิตและวิบากเจตสิกเป็น อัพยากตธรรม กิริยาจิตและกิริยาเจตสิกเป็นอัพยากตธรรม

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเป็นเหตุ หรือนเหตุ

    ผู้ฟัง นเหตุ

    ท่านอาจารย์ เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ

    ผู้ฟัง สเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตต้องมีเหตุที่เป็นอกุศล จิตนั้นจึงจะเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น อกุศลจิตจึงเป็นสเหตุกะ

    ถ้าเป็นโมหมูลจิตก็มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหเจตสิกเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น โมหมูลจิตก็เป็นสเหตุกจิต

    ถ้าเป็นโทสมูลจิตก็ต้องมีเหตุ ๒ คือ โมหเจตสิกกับโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โทสมูลจิตก็เป็นสเหตุกจิต

    ถ้าเป็นโลภมูลจิตก็ต้องมีเหตุ ๒ คือ โมหเจตสิกกับโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตก็เป็นสเหตุกจิต

    เพราะฉะนั้น อกุศลจิตต้องเป็นสเหตุกจิต ประกอบด้วยเหตุที่ไม่ดี เป็นอกุศล ที่จะทำให้เกิดผล คือ วิบากข้างหน้า

    จิตภูมิไหนมี ๒ ชาติ

    ผู้ฟัง โลกุตตรจิตมี ๒ ชาติ คือ กุศลและวิบาก

    ท่านอาจารย์ มรรคจิต ๔ เป็นโลกุตตรกุศล ๔ ผลจิต ๔ เป็นโลกุตตรวิบาก ๔

    จิตภูมิไหนมี ๓ ชาติ

    ผู้ฟัง รูปาวจรภูมิและอรูปาวจรภูมิ เพราะมีรูปาวจรกุศลจิต รูปาวจรวิบากจิต ซึ่งเป็นผล และรูปาวจรกิริยาจิตซึ่งไม่เป็นเหตุและไม่เป็นผล เป็นฌานจิตของ พระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์มีฌานจิตได้ แต่ไม่ใช่กุศล เพราะไม่เป็นเหตุให้เกิดผล คือ รูปาวจรวิบาก

    สำหรับอรูปาวจรภูมิก็เช่นเดียวกัน มี ๓ ชาติ คือ อรูปาวจรกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นเหตุให้เกิดอรูปาวจรวิบาก และสำหรับพระอรหันต์มีอรูปาวจรจิตซึ่งเป็นกิริยา เพราะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก

    ท่านอาจารย์ จิตภูมิไหน มี ๑ ชาติ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เหตุเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิกปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ เหตุเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ นิพพานเป็นเหตุ หรือนเหตุ

    ผู้ฟัง นิพพานเป็นนเหตุ

    ท่านอาจารย์ นิพพานเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ

    ผู้ฟัง อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ อเหตุกจิตเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง วิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ นเหตุที่ไม่ใช่สังขารขันธ์ได้แก่อะไรบ้าง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    15 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ