จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 067


    เพราะฉะนั้น อกุศลจิต โดยชาติเป็นอกุศล ไม่ใช่ชาติวิบาก ไม่ใช่ชาติกุศล และไม่ใช่ชาติกิริยา

    ถ้าโดยชาติ มีเพียง ๔ ชาติ

    ชาติ หมายถึงการเกิดขึ้นของจิต จิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศล จึงเป็นชาติกุศล จิต ที่เกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็เป็นชาติอกุศล จิตที่เกิดขึ้นเป็นวิบาก ก็เป็นชาติวิบาก ตามการเกิดขึ้น จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ก็เป็นกิริยา สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิต ๒ ประเภทเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดก่อน จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ มโนทวาราวัชชนจิต เกิดก่อนชวนจิต

    ผู้ฟัง ถ้าจำแนกโดยภูมิ ได้แก่ภูมิอะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวโดยภูมิ มี ๔ ภูมิ คือ ระดับขั้นของจิต ขั้นต่ำสุด คือ กามภูมิ สูงขึ้นไปเป็นรูปาวจรภูมิ พวกรูปฌาน สูงขึ้นไปอีก คือ อรูปาวจรภูมิ พวกอรูปฌาน และสูงที่สุด คือ โลกุตตรภูมิ

    เพราะฉะนั้น สำหรับโลภมูลจิต หรืออกุศลทั้งหมด เป็นกามภูมิ ไม่ว่าจะเกิดในสวรรค์ หรือในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ โดยชาติ โลภมูลจิตต้องเป็นกามาวจรภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตประเภทนี้ต้องเป็นขั้นกาม

    ผู้ฟัง จำแนกเป็นโสภณะและอโสภณะ โลภมูลจิตเป็นโสภณะหรืออโสภณะ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอโสภณะแน่นอน เพราะไม่ประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นโสภณะ ด้วยเหตุนี้จิต ๘๙ ประเภท จึงเป็นอโสภณะ ๓๐ เพราะไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

    ผู้ฟัง จำแนกโดยโลกียะและโลกุตตระ โลภมูลจิตเป็นโลกียะหรือโลกุตตระ

    ท่านอาจารย์ เป็นโลกุตตระไม่ได้แน่ ต้องเป็นโลกียะ เมื่อได้ศึกษาธรรมละเอียดขึ้นๆ เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลขึ้นทีละน้อย จะทำให้ตอบปัญหาได้ด้วยตนเอง

    ผู้ฟัง จำแนกโดยเหตุ โลภมูลจิตเป็นสเหตุกะหรืออเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ จำแนกโดยเหตุ ชื่อบอกแล้ว โลภมูล เพราะฉะนั้น ต้องประกอบด้วยโลภเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ และโมหเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ

    เพราะฉะนั้น โลภมูลจิต โดยเหตุ เป็นสเหตุกะ คือ ประกอบด้วยเหตุ และ เป็นทวิเหตุกะ เพราะประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ จะมีแต่โลภเจตสิกเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งในบางแห่งเมื่อกล่าวถึงเหตุจะแสดงว่า โลภมูลจิตเป็น ทวิเหตุกะ หรือบางแห่งจะใช้คำว่า ทุเหตุ ทุ คือ ๒

    ผู้ฟัง จำแนกโดยเวทนา โลภมูลจิตประกอบด้วยเวทนาเท่าไร อะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ โลภมูลจิต ๘ โลภมูลจิต ๔ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา โลภมูลจิตอีก ๔ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

    ผู้ฟัง จำแนกโดยสัมปยุตต์ โลภมูลจิตเป็นสัมปยุตต์หรือวิปปยุตต์

    ท่านอาจารย์ โลภมูลจิตที่เป็นสัมปยุตต์มี ๔ เป็นวิปปยุตต์มี ๔ โดยความหมายที่ว่า ถ้าโลภมูลจิตเกิดร่วมกับทิฏฐิ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ถ้าโลภมูลจิตนั้นไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ก็เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    ผู้ฟัง จำแนกโดยสังขาร โลภมูลจิตเป็นอสังขารหรือเป็นสสังขาร

    ท่านอาจารย์ เป็นสังขาริก ๔ เป็นอสังขาริก ๔

    ท่านอาจารย์ เรื่องของอกุศลจิตไม่ยากเท่ากับเรื่องของอเหตุกจิต โดยชื่อ บางท่านก็สงสัยว่า ทำไมชื่ออเหตุกะ ฟังดูเหมือนกับว่าจิตทุกดวงที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบด้วยเหตุ เพราะเราใช้คำว่า สังขารธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย เหตุปัจจัย แต่อย่าลืมว่า คำว่า เหตุ และคำว่า ปัจจัย เป็นคำที่กว้าง

    ถ้ากล่าวโดยเจาะจง โดยนัยของพระอภิธรรม เหตุ ต้องได้แก่ เจตสิกเพียง ๖ ประเภทเท่านั้น คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเหตุ และอโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ เป็นโสภณเหตุ

    ชื่อก็ผิดกันแล้ว ตามความสมบูรณ์ของพยัญชนะ ที่ไม่ใช้คำว่า กุศลเหตุ แต่ใช้คำว่า โสภณเหตุ เพราะคำว่า โสภณะ กว้างกว่าคำว่า กุศล

    กุศล หมายความถึงสภาพธรรมที่ต้องเป็นเหตุ ที่ทำให้เกิดวิบากได้ แต่สภาพของวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลไม่ใช่ตัวกุศล แต่เป็นผล จึงเป็นวิบาก เป็นผลของกุศลนั้น ก็ประกอบด้วยโสภณเหตุ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เพราะฉะนั้น สำหรับ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จึงใช้คำว่า โสภณเหตุ ไม่ใช้คำแคบว่า กุศลเหตุ เพราะทั้งอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก สามารถเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ และเวลาที่อกุศลวิบากเกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลใช้คำว่าอกุศลวิบากเท่านั้น

    อเหตุกวิบาก มีทั้งที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก ถ้าพูดกว้างๆ ว่า อเหตุกวิบาก จะหมายความถึงอกุศลวิบาก ๗ และกุศลวิบาก ๘ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้คำว่า อเหตุกกุศลวิบาก แต่ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า อเหตุกอกุศลวิบาก เพราะว่า อกุศลจิต ๑๒ เป็นเหตุทำให้เกิดอกุศลวิบากจิตเพียง ๗ เท่านั้น ไม่ว่าจะใน ภูมิมนุษย์ หรือในอบายภูมิ ในนรก หรือเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือถ้าเกิดในสวรรค์และมีอกุศลวิบาก อกุศลวิบากทั้งหมดนั้นจะไม่เกิน ๗ เพราะฉะนั้น สำหรับอกุศลวิบากจึงใช้คำว่า อกุศลวิบาก เท่านั้น

    ผู้ฟัง ผมฟังอาจารย์บรรยายไม่ทัน ที่ว่าปุถุชนมีอเหตุกจิต ๑๕

    ท่านอาจารย์ อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ เป็นอกุศลวิบาก ๗ เป็นกุศลวิบาก ๘ เป็นกิริยา ๓ สำหรับปุถุชนมีอกุศลวิบากครบ ๗ มีกุศลวิบากครบ ๘ สำหรับกิริยา มีเพียง ๒ เท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต ไม่มีหสิตุปปาทจิตซึ่งเป็นจิตเฉพาะของพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ปกติปุถุชนเวลานอนหลับสนิท ก็ไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ เวลาหลับสนิท ไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางทวารหนึ่งทวารใด เป็นภวังคจิต เพราะจิตเกิดขึ้นทำกิจภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้น ถ้าจะแยกอย่างใหญ่ ก็แยกจิตได้อีกนัยหนึ่ง คือ โดยเป็นวิถีจิต กับวิถีมุตตจิต

    จิตใดซึ่งไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตนั้นเป็นภวังคจิต เป็นวิถีมุตตจิต คือ ไม่ใช่วิถีจิต จิตใดก็ตามที่รู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตเหล่านั้นเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้น ขณะที่นอนหลับสนิท หมายถึงขณะที่ไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางทวารหนึ่งทวารใด เป็นวิถีมุตตจิต ไม่ใช่วิถีจิต

    แต่อย่าลืม แม้ในขณะนี้เอง เห็น อาศัยทวารตา ไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ดวง กี่ประเภท ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต ดับไปแล้ว ทางหู โสตวิญญาณยังเกิดต่อทันทีไม่ได้ ต้องเป็นภวังค์คั่นอยู่ เพราะฉะนั้น ก็แยกเป็นจิตซึ่งเป็นวิถีจิต และจิตซึ่งไม่ใช่ วิถีจิต

    และอเหตุกจิตที่เป็นกิริยา คือ เมื่อเป็นวิถีจิต รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใด ต้องมีกิริยาที่เป็นอเหตุกกิริยาจิตเกิดก่อน คือ ถ้าเป็นทางตา ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน ถ้าเป็นทางใจ มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อนกุศลหรืออกุศลทุกครั้ง

    เพราะฉะนั้น เป็นจิตประเภทที่ไม่มีการรู้มาก่อนเลยถ้าไม่ได้ศึกษา แม้แต่ที่กำลังเห็น ก็ยากที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นจิต เมื่อฟังแล้วก็เข้าใจโดยชื่อว่า เป็นจิตขณะหนึ่งที่ทำทัสสนกิจ คือ ทำกิจเห็น แต่ยังไม่เข้าถึงสภาพที่เป็นอนัตตา คือ เป็นเพียงนามธรรม ธาตุรู้ทางตาในขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องละเอียดขึ้นจนกระทั่งสามารถพิสูจน์พระธรรมได้ โดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าไม่อาจจะรู้ปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตก็ตาม แต่โดยการศึกษาก็ยังเห็นความเป็นอนัตตาว่า แต่ละขณะต้อง เกิดดับอย่างรวดเร็วมาก

    เช่นในขณะนี้ ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต แต่ใครจะบอกได้ ถึงแม้ว่าสติระลึก จะบอกได้ไหมว่า ขณะไหนเป็น ปัญจทวาราวัชชนะ ขณะไหนเป็นจักขุวิญญาณ ขณะไหนเป็นสัมปฏิจฉันนะ ขณะไหนเป็นสันตีรณะ ขณะไหนเป็นโวฏฐัพพนะ แต่ขณะที่เป็นกุศลหรืออกุศลพอจะ รู้ได้ เพราะว่าเกิดดับสืบต่อกันถึง ๗ ขณะ จึงปรากฏให้รู้ลักษณะของอกุศลแต่ละประเภทได้

    ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิดแล้ว รู้สภาพธรรมคลาดเคลื่อนได้ไหม

    ท่านอาจารย์ คลาดเคลื่อน หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้ผิด

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง คิดว่า โลภะเป็นโทสะ โลภะเป็นโมหะ เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ คำตอบก็บอกแล้ว คิด ไม่ใช่รู้ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง ถ้าสติระลึก มีลักษณะของสภาพธรรมแน่นอนที่ปรากฏ แต่เมื่อยังไม่ได้ศึกษา ก็ยังไม่สามารถรู้ในลักษณะนั้น เพราะรูปธรรมเกิดดับเร็วมาก นามธรรมยิ่งเกิดดับเร็วกว่ารูปธรรม เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยระลึกบ่อยๆ จนกว่าจะชิน ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ไม่ใช่การคิด ซึ่งผิดได้ สติไม่ใช่คิด แต่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ผู้ปฏิบัติเขาบอกว่า เขารู้ คิดนี่ผมพูดเอง คือ ผมถามผู้เจริญ สติปัฏฐานบางท่านว่า ขณะที่ง่วง ขณะนั้นจิตเป็นอะไร ท่านผู้นั้นตอบว่า เมื่อเจริญสติปัฏฐาน พิจารณาว่าขณะที่ง่วงเป็นโมหะ แต่ตามปริยัติ ถีทุกะ ๒ นี้ เกิดกับ โมหมูลจิตไม่ได้ จึงสงสัยว่า ขณะที่มีสติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้สภาพธรรมที่ผิดได้ไหม

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่จะต้องศึกษาพระธรรม มิฉะนั้น ใครจะบอกขณะจิตซึ่งเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วได้ เช่น ในขณะนี้ท่านหนึ่งอาจจะบอกว่า เป็นสัมปฏิจฉันนะ อีกท่านบอกว่า เป็นสันตีรณะ และอีกท่านบอกว่า ไม่ใช่ ต้องเป็นสัมปฏิจฉันนะ

    ก็เป็นเรื่องของชื่อ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการรู้ลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้น แม้แต่สภาพธรรมที่ปรากฏมีลักษณะอย่างนั้น แต่จะบอกได้ไหมว่าชื่ออะไร แต่ว่าลักษณะนั้นปรากฏ

    ทุกท่าน รู้สึกสภาพที่ง่วง เพราะว่าทุกคนง่วง ลักษณะที่ง่วงมีจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรม ก่อนที่จะรู้ชื่อว่าชื่ออะไร ก่อนที่จะกล่าวว่า เป็นเจตสิกดวงไหนหรือว่าเป็นจิตประเภทไหน ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือ เป็นรูปธรรม แม้แต่ลักษณะที่ง่วง ก็ยังต้องอาศัยสติระลึกในสภาพง่วง มิฉะนั้น ก็คงจะเถียงกันว่า คนหนึ่งบอกว่าง่วงต้องเป็นรูป อีกคนหนึ่งบอกว่าง่วงต้องเป็นนาม

    แต่ถ้าศึกษาปริยัติ ตอบได้ว่า สภาพง่วงเป็นนามธรรม เพราะว่าโต๊ะเก้าอี้ ไม่มีสภาพง่วงแน่ๆ แต่ในขณะที่ง่วงเกิดขึ้น และสติระลึก ระลึกตรงลักษณะที่ง่วง หรือเปล่า หรือว่าระลึกในลักษณะที่กำลังรำคาญใจ ไม่ชอบเลยง่วงๆ อย่างนี้ จะทำอะไรก็ไม่ได้ ได้แต่ง่วง ขณะนั้นอาจจะเป็นไม่อยากง่วงก็ได้

    เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมากที่สติจะต้องระลึก และไม่ใช่เป็นการบอกชื่อ แต่เป็นการรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นสภาพของนามธรรมและรูปธรรม

    สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ทราบแล้วว่า มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมกับอเหตุกกิริยาจิต ๒ ประเภทเท่านั้น คือ มโนทวาราวัชชนจิตกับหสิตุปปาทจิต ซึ่งมโนทวาราวัชชนจิตต้องอาศัยวิริยเจตสิก เพราะไม่ได้อาศัยทวารและอารมณ์ที่กระทบกัน

    อกุศลจิต ๑๒ เป็นอโสภณจิต มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย อเหตุกจิต ๑๘ เป็น อโสภณจิต มีวิริยเจตสิกเกิดกับอเหตุกจิตเพียง ๒ เว้นไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖

    เพราะฉะนั้น เพียงพอใจขณะหนึ่งซึ่งเกิด ยังไม่ได้กระทำอะไรเลย วิริยเจตสิก ก็เกิดร่วมกับโลภมูลจิตในขณะนั้นแล้ว

    วันหนึ่งๆ ระดับของจิต ขั้นของจิต กิจการงานของจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างขณะกัน ไม่ใช่เป็นจิตประเภทเดียวกันเลย อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าสังเกตต่อไป จะเห็นลักษณะของวิริยเจตสิกเวลาที่ลักษณะของวิริยะกำลังปรากฏ ในขณะที่เพียงโลภะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ยังไม่ได้แสวงหาอะไร เพียงแต่นั่งเฉยๆ และรู้สึกต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ในขณะนั้นวิริยเจตสิกก็เกิดกับจิตแล้ว

    ถ้าเป็นผู้ที่สังเกตจริงๆ จะค่อยๆ ชินขึ้นกับลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ

    ทุกท่าน ใช้คำที่ชินตั้งแต่เล็กแต่น้อย อย่างคำว่า ขยัน คนขยันก็มี คนขี้เกียจ ก็มี ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม เราบอกว่าคนนั้นขี้เกียจ แต่ความจริงวิริยเจตสิกกำลังเกิดกับคนที่เราใช้คำว่า ขี้เกียจ เพราะขณะใดที่ไม่ใช่อเหตุกจิต ๑๖ ขณะนั้นมีวิริยเจตสิก เกิดร่วมด้วย

    การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องรู้ตามขั้นที่สภาพธรรมแต่ละอย่างมีกำลังเกิดขึ้นปรากฏ และสำหรับแต่ละท่านที่เจริญสติปัฏฐาน ถ้าท่านกำลังเพียรทำอย่างหนึ่งอย่างใดและสติระลึกได้ ในขณะนั้นจะเห็นลักษณะของวิริยเจตสิกซึ่งเป็นความเพียร แม้แต่ขณะที่เป็นอกุศล เพียรทางอกุศล มีไหม วันหนึ่งๆ มีแน่ๆ เพราะฉะนั้น สติระลึก จะสามารถรู้ลักษณะของวิริยเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตในขณะนั้นได้

    ผู้ฟัง เรื่องของจุติจิตกับปฏิสนธิจิต ขณะที่จุติจิตเกิดขึ้นนั้น คือ ตาย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าจุติจิตยังไม่เกิด ยังไม่ตาย เพราะฉะนั้น ขณะที่ตาย คือ สภาพของจิตที่เป็นวิบากประเภทเดียวกับภวังค์เกิดขึ้นเป็นดวงสุดท้าย แต่ไม่ได้กระทำภวังคกิจอีกต่อไป ทำจุติกิจ คือ กิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จิตนั้นจึง ชื่อว่าจุติจิต เมื่อจิตนั้นดับ บุคคลนั้นก็ตาย

    ผู้ฟัง ขณะที่จุติจิตเกิดขึ้นนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานอยู่ จะกำหนดต่อไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง เพราะว่าเป็นดวงสุดท้ายแล้ว

    ผู้ฟัง ผมเคยทราบว่า ผู้ที่สะสมบารมีมากๆ ขนาด ๓๐ ทัศ ก่อนจะเข้าสู่ครรภ์มารดาก็รู้ ขณะที่อยู่ในครรภ์มารดาก็รู้ ออกจากครรภ์มารดาก็รู้ ผมเข้าใจว่าสภาพจิตอาจจะมีความพิเศษเกิดขึ้นกระมัง จึงมีสภาพรู้ไม่เหมือนคนธรรมดา

    ท่านอาจารย์ สติสัมปชัญญะเกิดขณะชวนจิต ก่อนจุติได้

    ผู้ฟัง แสดงว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นสามารถจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดก่อนจุติ แต่ไม่ใช่จุติแล้ว หรือไม่ใช่ในขณะที่จุติจิตเกิด เพราะจุติจิตเพียงขณะเดียว แต่ชวนจิต ๗ ขณะก่อนที่จุติจิตจะเกิด กุศลจิตหรืออกุศลจิตต้องเกิด สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ไม่มีกุศลหรืออกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ก่อนจุติจิตเกิด จิตของพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต จึงไม่มีปฏิสนธิจิตต่อจากจุติจิต แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก่อนจุติจะเกิดทุกครั้ง ต้องมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิด

    ผู้ฟัง หมายความว่า จุติจิตเกิดขึ้นแล้ว จึงตาย

    ท่านอาจารย์ จุติจิตเกิด และดับ ตายเลย จุติจิตเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อน พ้นเลย ดับเลย

    ผู้ฟัง และปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นต่อ

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    เรื่องของอเหตุกจิต ถ้าท่านผู้ฟังจะคิดถึงชีวิตประจำวันจริงๆ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงตัวเลขซึ่งอาจจะรู้สึกว่าน่าเบื่อ ถ้าเป็นชีวิตหรือเหตุการณ์ต่างๆ และกล่าวถึง อเหตุกจิตประกอบด้วย จะทำให้เข้าใจอเหตุกจิตได้

    ผู้ฟัง ในขณะที่ฝัน

    ท่านอาจารย์ เป็นอเหตุกจิตหรือเปล่า ทุกครั้งที่จะมีการรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่ง ทวารใด ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิต เกิดก่อนทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ในขณะที่มโนทวารวิถีจิตเกิด นึกถึง หรือที่เราเรียกว่าฝัน ขณะนั้นต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิตเกิดก่อนทางมโนทวาร รู้อารมณ์ทาง มโนทวาร

    อยู่ดีๆ กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดทันทีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ได้ ต้องมีวิถีปฏิปาทกมนสิการ ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดก่อน ถ้าเป็นทางปัญจทวาร หรือถ้าเป็นทางมโนทวาร ก็ต้องมีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ๑ ขณะ ต่อจากนั้นจึงจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ผู้ฟัง บรรดาพระโพธิสัตว์หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาที่จะจุติ เคลื่อนย้ายจากภพชาติ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ หมายถึงมีในขณะมรณาสันนชวนะ ๕ ขณะนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนจุติจะเกิด ต้องมีชวนะเกิดก่อน และชวนะนั้นก็เป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ แม้แต่ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็เกิดได้ในขณะนั้น ขณะที่มีปรมัตถธรรม มีรูปเป็นอารมณ์ และมีการรู้ในลักษณะของรูป หรือมีการรู้ในลักษณะของนามธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และจุติจิตก็เกิดต่อได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ชวนะที่เกิด หมายถึงมรณาสันนชวนะ ๕ ขณะนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ที่จะเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง วิริยะที่เกิดในโลภะขณะครั้งแรก วิริยะในที่นั้นทำหน้าที่อะไร

    ท่านอาจารย์ ทำหน้าที่ของวิริยเจตสิก ประคอง ค้ำจุนสหชาตธรรม กิจของวิริยะ ต้องประคับประคองเจตสิกและจิตให้ดำเนินไป

    ผู้ฟัง เพียงแค่ประคองให้ดำเนินไป ให้ทำหน้าที่ของตน

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง เป็นแบบอินทริยปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และถ้ากล่าวโดยนัยของอินทริยปัจจัย ก็ต้องแล้วแต่ว่าสภาพที่มีลักษณะเป็นใหญ่ จะเป็นใหญ่ถึงขั้นไหน ยังไม่ถึงขั้นที่เป็นอินทรีย์ ๕ ในโพธิปักขิยธรรม แต่ถ้าจำแนกเจตสิกแต่ละประเภทออกแล้ว ลักษณะของเจตสิกประเภทใดเป็นอินทรีย์ สภาพของอินทรีย์นั้น ก็ต้องเป็นลักษณะประจำของเจตสิกนั้น เพียงแต่ว่ายังไม่ใช่โพธิปักขิยธรรม

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ยกตัวอย่างว่า วิริยะที่เกิดกับโลภะในขณะแรก เพียงแค่ จิตยินดี เป็นโลภมูลจิต มีวิริยะประกอบ วิริยะนั้นทำหน้าที่เพียงขวนขวายให้จิต ทำหน้าที่ คือ ทำให้จิตมีความโลภ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทำกิจของวิริยะ ชั่วขณะนิดเดียวที่เกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง สติสามารถระลึกรู้ตามหลังหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่กำลังของสติปัญญา ถ้าลักษณะของวิริยะไม่ปรากฏชัด ไม่ปรากฏมาก ที่จะรู้ว่าขณะนี้มีวิริยเจตสิกเกิดขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าใครกำลังเพียร กำลังทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความตั้งใจเหลือเกิน ทุกท่านต้องมีความขยันใน เรื่องหนึ่งเรื่องใด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ