จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 069


    เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ชิวหาวิญญาณธาตุนั้นเป็นสภาพธรรมที่ลิ้มรส ที่กระทบกับชิวหาปสาท

    สำหรับทางกาย ก็เช่นเดียวกัน ทุกคนกำลังมีกายะ คือ รูปธรรมซึ่งประชุมรวมกันหลายรูป แต่กายปสาทรูปเป็นรูปที่กระทบกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นปัจจัยให้กายวิญญาณธาตุซึ่งเป็นจิตเกิดขึ้น รู้สิ่งที่กระทบทางกาย ที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวได้

    สำหรับวิญญาณธาตุอีก ๒ คือ มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ

    มโนธาตุ เป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้ถึง ๕ อารมณ์ และสามารถเกิดได้โดยอาศัย ๕ ทวาร ซึ่งต่างกับจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ที่รู้อารมณ์ได้เพียงอย่างละ ๑ อารมณ์ แต่จิตหรือวิญญาณธาตุที่เป็นมโนธาตุนั้น สามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่เกิดก่อนทวิปัญจวิญญาณ คือ เกิดก่อนจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส สามารถรำพึงถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่กระทบ ทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเป็นมโนธาตุ เพราะสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทวาร

    เช่นเดียวกับสัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือโสตวิญญาณซึ่งกำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ สัมปฏิจฉันนจิตสามารถที่จะเกิดต่อจาก จักขุวิญญาณก็ได้ เกิดต่อจากโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณก็ได้ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตทั้ง ๒ คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จึงเป็นมโนธาตุ

    สำหรับมโนวิญญาณธาตุ ได้แก่ จิตอื่นทั้งหมด เช่น โลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี โมหมูลจิตก็ดี มหากุศลจิตก็ดี หรือจิตอื่นทั้งหมด เป็นมโนวิญญาณธาตุ

    ผู้ฟัง วิบากเป็นปัจจัย หมายถึงเป็นปัจจัยให้แก่วิบาก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยเป็นวิปากปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นวิบากนั้นเอง เป็นปัจจัยให้ วิบากอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย

    ผู้ฟัง เช่น จักขุวิญญาณเป็นวิบาก เป็นปัจจัยให้เกิดสัมปฏิจฉันนะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ต้องในจิตดวงเดียวกัน เช่น จักขุวิญญาณเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น อะไรเกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ เจตสิกซึ่งเป็นวิบากที่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นวิปากปัจจัยแก่วิปากเจตสิก ๗ ประเภทที่เกิดร่วมด้วย คือ ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ และเจตสิกทั้ง ๗ ซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยนี้ ก็เป็นวิปากปัจจัยแก่จักขุวิญญาณด้วย หมายความว่า วิบากจิตเป็นปัจจัยให้วิบากเจตสิกเกิดขึ้นร่วมกัน และวิบากเจตสิกก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดร่วมกัน โดยเป็นวิปากปัจจัย

    ท่านผู้ฟังถามว่า จักขุวิญญาณเป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดได้ไหม เนื่องจากว่าจักขุวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่อก็เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นวิปากปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดได้ไหม

    ตอบว่า ไม่ได้ แต่จักขุวิญญาณเป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดได้ โดยอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ไม่ใช่โดยวิปากปัจจัย

    เพราะฉะนั้น คำว่า วิปากปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นวิบาก เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นที่เป็นวิบากเกิดร่วมด้วย เช่น ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เป็นวิบากจิต เกิดพร้อมกับวิบากเจตสิก ๗ ประเภท ผัสสเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณเป็นวิบาก ถ้ายกผัสสเจตสิกซึ่งเป็นวิบากขึ้นเป็นปัจจัย เจตสิกอื่นอีก ๖ ซึ่งเกิดร่วมด้วย และจักขุวิญญาณที่เกิดในขณะนั้น เป็นปัจจยุปบัน

    ถ้ายกเวทนาซึ่งเป็นวิบากที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณเป็นปัจจัย ผัสสะ สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการ และจักขุวิญญาณที่เกิดในขณะนั้น ก็เป็น ปัจจยุปบัน

    เพราะฉะนั้น วิปากปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นวิบากเป็นปัจจัยแก่สภาพธรรมที่เป็นวิบากที่เกิดร่วมกัน เมื่อยกสภาพธรรมหนึ่งเป็นวิปากปัจจัย สภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิปากปัจจยุปบัน

    ในขณะนี้ ไม่มีใครที่จะสร้างผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ มนสิการเจตสิกให้เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณได้ แต่เพราะจักขุวิญญาณนั่นเองเป็นวิปากปัจจัยให้เจตสิกอีก ๗ ประเภท ซึ่งเป็นวิบากเกิดร่วมด้วย และโดย นัยเดียวกัน วิบากเจตสิกแต่ละดวงก็เป็นปัจจัยให้วิบากเจตสิกอื่นและจักขุวิญญาณเกิดพร้อมกันในขณะนั้นโดยวิปากปัจจัย คือ ต่างก็เป็นวิปากปัจจัยซึ่งกันและกัน ต้องเกิดร่วมกัน

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน อเหตุกจิตเกิดอยู่ตลอดเวลา ทั้งการเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เราจะทราบได้อย่างไรว่า อย่างไหนเป็นวิบากของกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่ทราบเลย แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็เริ่มเห็นความต่างกันว่า ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ไม่แช่มชื่น ขุ่นเคืองใจ เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพที่ขุ่นเคืองใจไม่พอใจในขณะนั้น ต่างกับขณะที่เห็น นี่เป็นทางที่จะทำให้รู้ว่า จิตที่ขุ่นเคืองใจเป็นอกุศล แต่จิตที่เห็นไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น ก็เริ่มรู้ลักษณะที่ต่างกันของจิตประเภทที่เป็นวิบาก กับจิตที่เป็นกุศลและอกุศล

    ผู้ฟัง จะรู้ได้จากการเจริญสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ สำหรับการศึกษาปริยัติ โดยอาศัยการฟังว่า จิตที่เป็นกุศล อกุศลมีเท่าไร จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลมีเท่าไร แต่การที่จะรู้จริงๆ ได้ ต้องในขณะที่ สติระลึก และจะรู้ในลักษณะประเภทของจิตซึ่งต่างกันกว้างๆ เช่น วิบากจิตกับ กุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่เหมือนกันเลย

    ผู้ฟัง ในขณะที่ยืนอยู่อย่างนี้ หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน ถ้าเราจะพิจารณารูปยืน รูปนั่ง รูปนอน จะเป็นการพิจารณาที่ถูกต้องไหม ได้ฟังจากบางแห่งที่แสดงไว้ มีความสงสัยว่า ขณะที่รูปยืนอยู่ จะโยนิโสอย่างไร โยนิโสทั้งก้อนทั้งแท่งอย่างนี้หรือ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องของการใช้พยัญชนะ คือ โยนิโส พยายามจะโยนิโส แต่ ต้องเข้าใจว่า ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดบอกให้พิจารณาอย่างนั้น ก็เป็นโยนิโสมนสิการที่จะพิจารณาว่า คำบอกเล่านั้นถูกหรือผิด ถ้าเป็นผู้ที่สะสมความเห็นผิดมามาก ฟังแล้วเชื่อทันที

    ขณะนั้นแม้จะมีผู้กล่าวว่า เป็นโยนิโสมนสิการ แต่สภาพจริงๆ ในขณะนั้น เมื่อเป็นอกุศล เพราะเป็นความเห็นผิด ขณะนั้นแม้จะใช้คำว่า โยนิโสมนสิการ แต่ลักษณะที่แท้จริง คือ อโยนิโสมนสิการ เพราะเป็นการเข้าใจผิด ไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและดับไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจริงๆ

    ผู้ฟัง การพิจารณารูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน จะพิจารณาได้ไหม ขณะที่ยืนก็พิจารณารูปยืน หรือในขณะที่นั่งก็พิจารณารูปนั่ง

    ท่านอาจารย์ พิจารณาเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อละกิเลส จะถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเพียงการคิดนึก แต่ไม่ใช่หนทางที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับ

    ทางตาเห็น ดับแล้วในขณะที่ทางหูได้ยิน ขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น ลักษณะของปริตตธรรม คือ อารมณ์ที่เล็กน้อย เพราะถูกบั่นทอนรอบด้าน ทางตาเห็นนิดเดียว ยังไม่ทันไรเลย ทางหูได้ยินแล้ว จะห้าม ไม่ให้ได้ยินไม่ได้ ใครเป็นคนทำให้ได้ยินเกิดขึ้น ใครเป็นคนทำให้เห็นนิดเดียวและก็ดับ และจึงมีการได้ยิน นี่เป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่ง เกิดดับ ถ้าไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่สามารถเห็นไตรลักษณะทั้ง ๓ ของสังขารธรรมได้ เพราะสภาพธรรมที่ปิดบังไตรลักษณ์ ได้แก่ สันตติ การเกิดดับสืบต่อกัน ปิดบังอนิจจัง สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับสืบต่อกัน ทำให้ไม่เห็นว่า สภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นและดับไป สภาพธรรมอื่นจึงเกิดต่อ

    อิริยาบถปิดบังทุกข์ ถ้ายังคงมีรูปร่างกายที่ยึดถือควบคุมประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่ในท่าทางอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด ย่อมไม่เห็นการเกิดดับซึ่งเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เพราะไตรลักษณะ เป็นลักษณะทั้ง ๓ ของสังขารธรรม ฉันใด การที่จะประจักษ์ลักษณะที่เป็นไตรลักษณ์ของสังขารธรรม ต้องไม่มีสิ่งที่ปิดบังทั้ง ๓ นี้ เพราะฉะนั้น ต้องเพิกอิริยาบถ โดยเห็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นฆนสัญญา

    เนื่องจากฆนสัญญาปิดบังอนัตตา ทำให้ไม่เห็นว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะรวมกันอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ายังรวมกันอยู่ อิริยาบถยังไม่เพิก ฆนสัญญายังไม่ทำลาย การเกิดดับก็ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง การฟังธรรมจากผู้ที่มีความเห็นผิด และประพฤติปฏิบัติผิด และนำไปสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติผิดตาม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไหมว่า ความผิดนี้จะรุนแรงขนาดไหน

    ท่านอาจารย์ เป็นโทษมาก เพราะไม่ใช่เป็นความเห็นผิดเฉพาะตน แต่ยังทำให้ความเห็นผิดนั้นกว้างขวางไปถึงบุคคลอื่นด้วย

    ผู้ฟัง ที่ว่าเป็นโทษหนักกว่าอนันตริยกรรม นิยตมิจฉาทิฏฐิที่ประพฤติปฏิบัติผิด และแนะนำให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติผิดตามไปด้วย จะหนักกว่าไหม

    ท่านอาจารย์ ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงว่า มีโทษมาก

    อนันตริยกรรม หมายความว่าเมื่อจุติจิตของชาตินี้ดับไปแล้ว ต้องไปสู่อบายภูมิทันที แม้ว่าจะได้กระทำกุศลมากมายสักเท่าไรก็ตาม ก็ไม่สามารถกั้นไม่ให้ไปสู่อบายภูมิได้ นั่นคือความหมายของอนันตริยกรรม

    ท่านอาจารย์ การศึกษาเรื่องของจิต ต้องมีพื้นฐานที่มั่นคง โดยจะต้องรู้ว่า จิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งดวงหนึ่งนั้น เป็นจิตชาติอะไร เป็นจิตภูมิไหน เป็นจิตที่เป็นวิถีจิต หรือว่าไม่ใช่วิถีจิต เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารใด รู้อารมณ์ใด และอาศัยวัตถุใด จึงจะรู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของจิตแต่ละประเภท

    สำหรับเรื่องของกิจต่างๆ ของจิต ถ้ากล่าวถึงในชีวิตประจำวันจริงๆ พร้อมทั้งตัวอย่างด้วย จะทำให้เข้าใจเรื่องของอเหตุกะ เช่น การเกิด มีอยู่เป็นปกติทุกวัน แต่ถ้าไม่ศึกษาเรื่องจิต ก็เป็นคนเกิด สัตว์เกิด สัตว์ดิรัจฉานเกิด แต่ถ้าศึกษา ปรมัตถธรรมแล้ว ต้องมีปฏิสนธิจิต ซึ่งปฏิสนธิจิตที่เกิดเป็นมนุษย์และเกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน จะเป็นจิตประเภทเดียวกันได้ไหม นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคิดพิจารณา

    เมื่อการเกิดต่างกัน เป็นมนุษย์เกิด กับสัตว์ดิรัจฉานเกิด ในภูมิที่เห็นได้ คือ ภูมิมนุษย์กับภูมิดิรัจฉาน แม้อยู่ในโลกนี้ด้วยกัน ปฏิสนธิจิตก็ต้องต่างกัน อกุศลจิต ทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ กุศลจิตทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ กิริยาจิตทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีจิตเพียงชาติเดียวเท่านั้นที่ทำปฏิสนธิกิจ คือ ชาติวิบาก

    การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา เป็นอบายภูมิ เป็นภูมิซึ่งไม่สามารถจะอบรมเจริญกุศล จะฟังธรรมให้เข้าใจรู้เรื่อง อบรมความสงบของจิต หรือว่าอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็กระทำไม่ได้ในภูมิหรือในชาติซึ่งเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แม้ม้ากัณฐกะ จุติจากชาติที่เป็นม้ากัณฐกะแล้วเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน แต่ไม่ใช่ในชาติที่เป็นม้ากัณฐกะ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นม้ากัณฐกะ เป็นสุนัข เป็นแมว เป็นมด เป็นไก่ เป็นสัตว์ดิรัจฉานประเภทหนึ่งประเภทใดก็ตาม การเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกายในอบายภูมิ ๔ ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม

    อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว อาจจะเป็นปาณาติบาต หรืออทินนาทาน หรือกาเมสุมิจฉาจารก็แล้วแต่ที่ได้กระทำไปในสังสารวัฏฏ์ สามารถเป็นปัจจัยทำให้ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นภพไหนก็ได้ ชาติไหนก็ได้ในอบายภูมิ ตราบใดที่ยังไม่เป็น พระโสดาบันบุคคล อกุศลกรรมนั้นก็ยังเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดในอบายภูมิได้

    เพราะฉะนั้น การเกิดในอบายภูมิ ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งในสังสารวัฏฏ์

    จิตทั้งหมด มี ๘๙ ดวง หรือ ๘๙ ประเภท ที่เป็นอกุศลวิบาก คือ เป็นผลของอกุศลกรรม มีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น และเป็นอเหตุกจิต คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ในอเหตุกวิบากจิต ๑๕ ดวง

    สำหรับอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ควรจะทราบว่า ดวงไหนทำกิจปฏิสนธิ

    อกุศลวิบากจิต ๗ ดวง คือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ กายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้

    รวมอกุศลวิบากจิต ซึ่งเป็นปัญจวิญญาณ ๕ ดวง ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้

    เหลืออกุศลวิบากจิตอีกเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบาก ๑ และสันตีรณอกุศลวิบาก ๑

    สำหรับสัมปฏิจฉันนะ เป็นมโนธาตุ สามารถรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณได้ เกิดขึ้นทำกิจ สัมปฏิจฉันนะกิจเดียว ทำกิจอื่นไม่ได้เลย และดับไป เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิต ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้

    เหลืออกุศลวิบากจิตอีกประเภทเดียว คือ สันตีรณอกุศลวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใดที่เกิดขึ้น ช้างตัวใหญ่ มดตัวเล็ก จิตขณะแรกของสัตว์ดิรัจฉานทั้งหมดเป็นสันตีรณอกุศลวิบาก ที่ทำปฏิสนธิกิจ

    เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเท่านั้น กรรมนั้นยังทำให้จิตขณะต่อไปเป็นวิบากจิตเกิดสืบต่อ คงความเป็นสัตว์ประเภทนั้นๆ ต่อไป โดยเป็นภวังคจิต เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น ภวังคจิตก็คือ สันตีรณอกุศลวิบาก ในขณะที่สัตว์ดิรัจฉานนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรสอะไรเลย เมื่อปฏิสนธิจิตที่เป็นสันตีรณอกุศลวิบากดับไปแล้ว ภวังคจิตของสัตว์ดิรัจฉานก็เป็นสันตีรณอกุศลวิบากเกิดสืบต่อ จนกว่าจะมีรูปกระทบทางตา เสียงกระทบทางหู กลิ่นกระทบทางจมูก รสกระทบทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสกระทบทางกาย

    สำหรับสัตว์ดิรัจฉาน จะมีกุศลวิบากเกิดได้ไหม

    เสียงที่เราได้ยิน สัตว์ดิรัจฉานได้ยินด้วยหรือเปล่า ในโลกอันเดียวกัน หรือว่าปิดกั้นไม่ให้สัตว์ได้ยินเสียงที่เราได้ยิน ที่มนุษย์ได้ยิน สัตว์ดิรัจฉานได้ยินเสียงอย่างที่เราได้ยิน ได้ไหม เพราะฉะนั้น สัตว์ดิรัจฉานจะมีโสตวิญญาณกุศลวิบากได้ไหม ได้ แต่หลังจากนั้นแล้ว มหากุศลจะเกิดเหมือนอย่างมนุษย์ที่ฟังรู้เรื่อง รู้ความหมาย และก็อบรมเจริญความเข้าใจต่อไปได้ไหม ก็ไม่ได้

    นี่เป็นการแสดงประเภทว่า ปฏิสนธิจิตของแต่ละบุคคล ย่อมประมวลกรรมที่จะให้ผลข้างหน้าโดยไม่สูญหายไปเลย เพราะฉะนั้น ทุกชีวิตต่างกันตามการสะสม ตามเหตุปัจจัยที่จะให้กรรมที่ได้สะสมมาแล้วมีโอกาส มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ทำให้ วิบากจิตต่างๆ เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายต่างกัน รวมทั้งการสะสมของกุศลและอกุศล ก็ต่างกันด้วย

    ผู้ฟัง ที่ว่าสัตว์ดิรัจฉานไม่สามารถอบรมปัญญาได้ แต่ทำไมในชาดกมี สัตว์ดิรัจฉานที่แสดงธรรมได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ถึงกับจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อคนอื่นเขาทำความดี จิตเราเกิดอกุศล อกุศลที่คิดไม่ดีจะเกิดวิบากได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นการสะสม ถ้าไม่ถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง เราคิดในทางอิจฉาริษยา เป็นอกุศลหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรม เป็นเพียงอกุศลจิต ก็เป็นการสะสมอุปนิสัยที่จะเป็นผู้ที่ริษยาแม้ผู้ที่ทำความดี ซึ่งอกุศลจิตก็มีกำลังตามลำดับขั้นด้วย

    ผู้ฟัง จะส่งผลให้เรามีความทุกข์ทางกาย ทางใจได้ไหม คือ เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิบาก จำกัดประเภทว่าต้องได้แก่ ถ้าเป็นอเหตุกวิบาก ก็มี จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ คือ ขณะใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะนั้นเป็นวิบาก ถ้าไม่ใช่ขณะนั้น คือ หลังจากที่วิบากจิตดับไปแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตไม่ใช่วิบาก แต่จะเป็นเหตุใหม่ที่สะสมสืบต่อไปทำให้เกิดอุปนิสัยต่างๆ กัน และเกิดการกระทำกรรมต่างๆ กันด้วย ตามอุปนิสัยที่สะสมมา

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น กรรมที่เป็นทางใจ ที่จะส่งผลให้เกิดทุกข์ทางกาย หรือทางใจ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องถึงขั้นอกุศลกรรมบถ การคิดฆ่าเป็นพยาบาท ไม่ใช่เพียงแต่ ขุ่นเคืองใจเฉยๆ ใช่ไหม ทุกท่านจะมีความขุ่นใจ จะมีความโกรธที่แรงขึ้น แต่ยังไม่ถึงกับกระทำกรรมหนึ่งกรรมใดก็ได้ หรือถึงกับเตรียมแผนการที่จะกระทำกรรม ซึ่ง ต่างกับขณะที่เพียงโกรธ เพราะฉะนั้น ก็เห็นกำลังของอกุศลที่เพิ่มขึ้นจนกระทั่งสำเร็จเป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลทำให้วิบากจิตเกิดได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่เป็นอกุศลกรรมบถ ก็สะสมเป็นอุปนิสัย

    ผู้ฟัง ก่อนที่ผมจะขึ้นมาถามอาจารย์ จิตมีความกลัว ความหวาดหวั่น หวั่นไหว เป็นอกุศลใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นโทสมูลจิต

    ผู้ฟัง มีวิธีแก้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง อย่างเราๆ ท่านๆ มีคนที่เขาไม่กลัว ถ้ามีสติ จะหาย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง ที่เราอิจฉาริษยาคนที่ทำความดี ถ้าเรามีสติ ก็ไม่เป็นกรรม …

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล นี่เป็นความต่างกันของ กุศลจิตกับอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่จักขุวิญญาณเกิด เป็นสภาพธรรมนามธรรมที่รู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ