จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 076
เพราะโดยมากชินกับการพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นรูปธรรม เช่น มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ ปรากฏให้รู้ได้ทางตา หรือเป็นเสียงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู เป็นกลิ่นที่สามารถรู้ได้ทางจมูก เป็นรสต่างๆ ไม่ว่าจะวิจิตรอย่างไร ก็ยังสามารถที่จะลิ้มได้ทางลิ้น
แต่นามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ตลอดพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั้งหมด ลักษณะของจิต คือ สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืม การที่จะเข้าใจในลักษณะของจิต ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ก็ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า ขณะที่รู้อารมณ์ต่างๆ นั้น มีจริง และเป็นจิต
เช่น ขณะที่นอนหลับสนิทเป็นภวังค์ ไม่มีการเห็นเลย จะรู้ได้ไหมว่า จิตขณะไหน เพราะขณะนั้นไม่เห็น ขณะที่เป็นภวังค์ก็ไม่ได้ยินอะไร จะรู้ลักษณะของจิตได้ไหมในขณะที่ไม่ได้ยินอะไรเลย หรือในขณะที่ไม่ได้คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ในขณะที่เป็นภวังค์ นอนหลับสนิท จะรู้ได้ไหมว่า จิตเป็นสภาพที่คิดนึก
แต่เมื่อใดที่จิตไม่เป็นภวังคจิต จิตเป็นวิถีจิต เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏ เช่น เป็นรูปธรรมปรากฏทางตา เป็นนามธรรมที่กำลังรู้คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ จะฟังอย่างนี้ในฐานะที่เป็นสาวกไปอีกสักกี่กัปก็ตามแต่ จนกว่าความเข้าใจจะมั่นคง ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น คือรู้ว่า ธาตุรู้ อาการรู้ ไม่มีรูปร่างลักษณะ เป็นแต่เพียงอาการหรือเป็นสภาพที่กำลังเห็น หรือว่ากำลังได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ
ถ้าระลึกได้อย่างนี้ ขณะนั้นก็จะน้อมพิจารณาลักษณะของสภาพรู้ ซึ่งต่างกับรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ผู้ฟัง ที่ผมถาม ผมหมายถึงผู้ที่ปฏิบัติ ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว แต่สติปัฏฐานเกิดขึ้นไม่สามารถที่จะรู้ชัดว่า ขณะนี้จิตเป็นโลภะ หรือเป็นโมหะ หรือเป็นมหากุศล เพราะโดยเวทนา โลภะก็ดี โมหะก็ดี มหากุศลก็ดี เวทนาเป็นอุเบกขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติ เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นพิจารณาจิตของตัวเองในขณะนั้น ยังมีความเห็นผิด เข้าใจผิดได้ เช่น หลายท่านบอกว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพลักษณะจิตที่กำลังง่วง ท่านบอกว่าเป็นโมหมูลจิต แต่โดยการศึกษารู้ว่า ขณะที่ง่วงเป็นโมหมูลจิตไม่ได้ ต้องเป็นโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริกดวงหนึ่งใน ๔ ดวง หรือ เป็นโทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริกจิต ๑ ดวง คือ ดวงใดดวงหนึ่งใน ๕ ดวง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจแล้ว ปฏิบัติถูกแล้ว แต่ก็ยังเห็นผิดว่า โลภะ โทสะ เป็นโมหะได้
ท่านอาจารย์ อย่าลืม ปฏิบัติถูก หมายความว่า ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นระลึกลักษณะสภาพปรมัตถธรรม ไม่ใช่นึกถึงชื่อ
ขณะที่ปฏิบัติถูก ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ไม่ใช่ขณะที่กำลังพยายามนึกถึงชื่อว่า ขณะนี้จิตชื่อว่าอะไร
ต้องเข้าใจว่า ความรู้ที่เกิดจากการฟัง เพื่อให้เข้าใจว่ามีจิตหลายประเภท เพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้ว่าไม่ใช่อัตตา จิตแต่ละประเภทที่เกิดต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสติไม่เกิดระลึก ก็จะเพียงแต่เดาว่า วันนี้ทั้งวันเป็นโลภะ
แต่วันนี้ทั้งวัน ขณะนี้เป็นอะไร ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ นั่นคือขณะที่ศึกษาชื่อต่างๆ และเรื่องของปรมัตถธรรม แต่ไม่ใช่ขณะที่สติปัฏฐานเกิด
ถ้าเป็นขณะที่ปฏิบัติถูก เป็นสัมมามรรค เป็นสติปัฏฐาน สติจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ใช่นึกถึงชื่อ และในขณะที่กำลังระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพธรรมนั้นที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏ ถ้านามธรรมไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของรูปธรรมนั้น รูปธรรมนั้นปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในขั้นต้น ยังไม่มีใครสามารถแยกขาดลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมโดยการประจักษ์ แต่สามารถจะเข้าใจลักษณะของรูปธรรมได้ด้วยการฟัง สามารถเข้าใจลักษณะของนามธรรมได้จากการฟัง แต่ว่ายังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟัง เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งขณะที่สติระลึก น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของรูปหรือนามซึ่งต่างกัน ทีละอย่าง และทีละขณะ แต่ไม่ใช่พยายามไปใส่ชื่อว่า ขณะนี้เป็นโมหมูลจิต หรือว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เพราะถ้าเรียกชื่อ ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะว่า จิตเป็นสภาพรู้ที่ไม่ใช่ตัวตน
ลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ กัน ในวันหนึ่งๆ และจะไม่ย้อนกลับมาอีก อย่าลืม สภาพธรรมทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อย และดับไป และจะไม่ย้อนกลับมาอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะไหนได้ทั้งสิ้น เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเป็นห่วงว่า เมื่อกี้หมดไปแล้ว หรืออะไรจะเกิดต่อ เป็นจิตชื่ออะไร ไม่จำเป็นต้องนึกถึงชื่อ แต่ให้ทราบว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น สภาพรู้เป็นอย่างไร สภาพรู้ อาการรู้จริงๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงชื่อเป็นอย่างไร นั่นคือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ถ้าสามารถน้อมพิจารณารู้ลักษณะของสภาพรู้ และรู้ในอาการรู้ว่า เป็นสภาพรู้ แต่ละขณะ เช่น ขณะที่เห็น เป็นสภาพรู้ขณะหนึ่ง ขณะที่ได้ยิน เสียงปรากฏ เป็นสภาพรู้อีกขณะหนึ่ง ถ้ารู้ในลักษณะของสภาพรู้ ขณะนั้นไม่ใช่ชื่อ และจะละการยึดถือสภาพรู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะรู้เพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพรู้ และในลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ แต่ถ้าจะใส่ชื่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ความเข้าใจขั้นการฟังอย่างหนึ่ง ความเข้าใจขั้นพิจารณาเหตุผลอย่างหนึ่ง ความเข้าใจในขณะที่สติเกิดและเริ่มศึกษาอีกอย่างหนึ่ง และความรู้ชัดประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่สติระลึกนั้น ก็อีกอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐาน วันหนึ่งๆ ขณะที่ระลึกรู้ในปรมัตถธรรมนั้น เมื่อระลึกรู้ในปรมัตถธรรม เราจะทำเป็นบันทึกได้ไหม
ท่านอาจารย์ เพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อเปรียบเทียบว่า พรุ่งนี้จะมากกว่าไหม หรือจะน้อยกว่า หรือจะไม่มี
ท่านอาจารย์ ต้องระลึกอยู่เสมอว่า เพื่ออะไร เพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อว่าวันต่อไปควรจะมากกว่า
ท่านอาจารย์ ถ้าน้อยกว่า
ผู้ฟัง น้อยกว่า ก็จะได้ใช้วิริยะต่อไป
ท่านอาจารย์ และระลึกรู้กี่ขณะ
ผู้ฟัง นั่นซิ กำลังจะถามอาจารย์ว่า ในขณะที่ระลึกรู้แล้ว ผมขีดไว้ ๑ ขณะ ต่อไปจะนับอีกหนึ่งขณะ
ท่านอาจารย์ ในขณะที่กำลังขีด ก็หลงลืมสติแล้ว แทนที่จะขีด ระลึกต่อไปจะดีกว่าไหม
ผู้ฟัง ระลึกต่อไป ก็ถือว่าได้อีกหนึ่งขณะหรือ
ท่านอาจารย์ ในขณะที่ถือว่าได้อีกหนึ่งขณะ นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน แทนที่จะถือว่า ได้อีกหนึ่งขณะ ก็เป็นสติที่ระลึกต่อไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง แต่ละครั้งในวันหนึ่งๆ ที่เราระลึกรู้ในปรมัตถธรรมแล้ว ระลึกรู้แล้ว จะต่อไปอีกว่า วันนี้สติระลึกตอนนี้ และเราก็ระลึกต่อไป เราไม่ยอมหยุด
ท่านอาจารย์ เก่ง เราไม่ยอมหยุดนี่เก่งจริงๆ
ผู้ฟัง เห็นทางตา วันนี้ตั้งแต่เช้าไม่เห็นเลย เวลาเห็น ได้มอง ได้อะไร
ท่านอาจารย์ นั่นหรือสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ทีแรกนั้นใช่ ต่อไปคงจะไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ใช่ ในขณะไหน และไม่ใช่ในขณะไหน
ผู้ฟัง ใช่ ในขณะแรก
ท่านอาจารย์ ขณะแรกคือขณะไหน
ผู้ฟัง ขณะที่ระลึกรู้
ท่านอาจารย์ ขณะที่สติเป็นอนัตตาเกิดขึ้น จึงเป็นสัมมาสติ
ผู้ฟัง คราวนี้ทำให้คิดต่อไป
ท่านอาจารย์ คิดต่อไป ก็เป็นตัวตน
ผู้ฟัง เวลาเจริญสติ ไม่ต้องคำนึงถึงชื่อ และไม่ต้องคำนึงถึงว่า จิตนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล และทำอย่างไรจึงจะละอกุศล เจริญกุศลได้
ท่านอาจารย์ ลักษณะสภาพของอกุศลเป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะสภาพของกุศลเป็น อีกอย่างหนึ่ง แม้ไม่ใช้ชื่อ ไม่ต้องมีการบัญญัติเรียกอกุศล สภาพที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศลโดยลักษณะของธาตุนั้นๆ เอง โดยไม่ใส่ชื่อ สภาพที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล
แต่ที่จะรู้ว่า สภาพใดเป็นกุศล สภาพใดเป็นอกุศล ต้องเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีกล่าวไว้ในตำรา แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางรู้ได้เลยว่า โสมนัสใน โลภะต่างกับโสมนัสที่เป็นกุศลเพียงไร
เวลาที่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แท้ที่จริงในขณะนั้นถ้าสังเกตจะรู้ว่า เป็นความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่สงบ ในขณะที่กำลังพอใจ เมื่อเป็นความพอใจในรูป ขณะนั้นไม่สงบ ขณะที่กำลังพอใจ ในเสียงเพลง ยุคนี้สมัยนี้ก็มีวงดนตรีหลายวงเป็นที่ชอบใจของหลายวัย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังเสียงดนตรีเสียงหนึ่งเสียงใด และรู้สึกเพลิดเพลินพอใจมาก ถ้าขณะนั้นสติระลึกจะรู้ได้ว่า ความโสมนัสพอใจในขณะนั้น ประกอบด้วยความกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ไม่ว่าจะในรส ในกลิ่น หรือในโผฏฐัพพะ
ตรงกันข้ามกับขณะที่ฟังพระธรรมและเข้าใจขึ้น มีเหตุปัจจัยที่จะให้โสมนัส ความรู้สึกโสมนัสนั้น สงบ ขณะนั้นไม่มีความกระสับกระส่าย กระวนกระวายเหมือนขณะที่กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
เพราะฉะนั้น ลักษณะของอกุศลเป็นอกุศล โดยไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ลักษณะของกุศลก็เป็นกุศล ถ้าสติระลึก จึงสามารถรู้ความต่างกันได้ แต่ถ้าสติไม่ระลึก ก็เป็นสิ่งที่กล่าวไว้ในตำราว่า โสมนัสเวทนาเกิดกับอกุศลจิต คือ โลภมูลจิต ก็ได้ หรือว่าโสมนัสเวทนาเกิดกับกามาวจรกุศลจิตหรือมหากุศลจิตก็ได้ เท่านั้นเอง
แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่เกิดเมตตาช่วยให้คนอื่นเข้าใจถูก ละอกุศลได้ ขณะนั้นจิตผ่องใส โสมนัสที่สามารถช่วยให้คนอื่นพ้นจากความเห็นผิด ในขณะนั้นจะต่างกับขณะที่ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้โผฏฐัพพะที่พอใจ จะเห็นได้ชัดว่า แม้ว่าเวทนาจะเป็นโสมนัส แต่โสมนัสเวทนาที่เกิดกับอกุศล ต่างกับโสมนัสเวทนาที่เกิดกับกุศล
ผู้ฟัง ขอคำอธิบายที่ว่า ไม่ติดในอนุพยัญชนะ
ท่านอาจารย์ นิมิตด้วยหรือเปล่า
ผู้ฟัง ต้องมีนิมิตอนุพยัญชนะด้วย
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่เข้าใจอรรถของการไม่ยึดมั่น หรือไม่ยินดี ไม่ติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะเมื่อเห็น สติไม่เกิด ย่อมเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ จะไม่ให้ยินดีในนิมิตและ อนุพยัญชนะได้อย่างไร ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน
ถ้ามีใครมาบอกว่า อย่ายินดีในนิมิตอนุพยัญชนะ
สภาพธรรมไม่ใช่อัตตา ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครที่จะทำตามคำสั่งได้ว่า อย่ายินดี อย่าติดข้องในนิมิต ในอนุพยัญชนะ แต่ในขณะใดที่สติระลึก กำลังศึกษา เริ่มเข้าใจว่า ในขณะที่เห็น แท้ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ถ้าปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จะปรากฏไม่ได้
เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปเป็นรูปใหญ่ เป็นรูปที่มีอยู่ทั่วไปในรูปทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสอาหารที่ปรากฏทางลิ้นก็ตาม หรือสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย จะปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้
ถ้าสติระลึกทางกาย รู้ว่าธาตุนี้มีจริง แต่สีไม่ปรากฏในขณะที่กระทบแข็งเพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็น และรู้ว่าถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สีต่างๆ ก็ ไม่ปรากฏ จะทำให้ละคลายการติดในนิมิตอนุพยัญชนะลงทีละเล็กทีละน้อย เพราะมีความรู้ขึ้น แต่ไม่ใช่ด้วยการตั้งอกตั้งใจหลับหูหลับตา หรือว่าไม่มอง หรือว่ามองแล้ว ก็ทำไม่เห็น เป็นเรื่องการเสแสร้ง ไม่ใช่เรื่องของปัญญาที่เจริญจนกระทั่งสามารถที่จะไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมสามารถเข้าใจอรรถนี้ หรือผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานก็เริ่มที่จะเข้าใจ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ละทางเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เราจะระลึกรู้ จะต้องเป็นสภาพธรรมที่เราต้องศึกษา มาก่อนหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มี เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้และไม่ทรงแสดง บุคคลอื่นย่อมไม่สามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย
ทุกคนเกิดมามีขันธ์ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ หรือจะกล่าวว่า มีร่างกาย มีจิตใจ และก็ยึดถือรูปร่างกายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าและจิตใจ รวมทั้งความรู้สึกแต่ละขณะว่าเป็นเรา แต่สิ่งนั้นไม่ใช่เรา มี แต่ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง สมมติว่าเราศึกษา ...
ท่านอาจารย์ ให้รู้ว่าไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง เราก็รู้ว่า สภาพต่างๆ เช่น โลภะ โทสะ โมหะ แยกไปคนละอย่างๆ และเราไม่เคยเรียนรู้เลยว่า ง่วงนอนเป็นสภาพอย่างไร อยู่มาวันหนึ่ง เราเกิดมีสติระลึกสภาพง่วงนอน และเราแยกออกไปว่า เป็นสภาพอีกอย่างหนึ่ง โดยที่เราไม่ได้ศึกษาและฟังมาก่อน จะเป็นไปได้ไหม อย่างผมเคยฟังธรรมมาว่า จะต้องระลึกว่า จิตเรามีโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ก็ลองทำดู ตามระลึกรู้โลภะ โทสะ โมหะ มีอยู่ครั้งหนึ่งระลึกที่ตา ที่หู นึกขึ้นมาว่า ตาเราก็รับรู้รูป ซึ่งแยกต่างหากจากโลภะ โทสะ โมหะ ทำไมพวกนี้เขาไม่จับมารู้ด้วย ทั้งที่ผมไม่เคยฟังมาก่อน จะถือว่าเป็นการรู้โดยที่ไม่ได้ศึกษามาก่อนหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ วิธีที่กล่าวนี้ ง่ายหรือยาก ที่ทำนี่
ผู้ฟัง หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่ท่านผู้ฟังปฏิบัติ จนกระทั่งได้ผลอย่างนี้ เป็นวิธีที่ยากหรือง่าย
ผู้ฟัง ตอนที่ทำ ตอนแรกยาก นาน แต่ตอนที่จะรู้นี่ ...
ท่านอาจารย์ ที่ว่ายากนั้น ยากอย่างไร
ผู้ฟัง ยาก เพราะตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่า เราจะจับดูอะไร ตรงไหน อีกอย่างเราไปฝืนความรู้สึกว่า เราจะต้องดูโลภะ โทสะ โมหะ อย่างเดียว คือ เราก็ฝืนๆ บังคับ แต่เวลาที่จะรู้สิ่งที่เกิดง่ายๆ ก็รู้ขึ้นมา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าตอนต้นจะยาก ตอนหลังจะง่าย ก็คือเรา ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่หนทางที่จะเจริญปัญญา ที่จะรู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่ใช่เรา นี่คือความต่างกันของการที่ทำตามคำสั่งหรือคำบอกเล่า กับการอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นอนัตตา ซึ่งสัมมาสติจะต่างกับขณะที่เราทำอยู่ตลอดเวลา คือ เมื่อได้รับคำบอกเล่าให้ทำอย่างนี้ เราก็ทำตามที่ถูกบอก และก็ทำตามไปอีก ทำตามไปอีก ก็เป็นเรื่องของการทำตาม เวลาที่ผลเกิดขึ้นก็คิดว่า นี่คือผล แต่ทั้งหมดนั้นคือเรา ไม่ใช่สัมมาสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ
สามารถแยกข้อปฏิบัติที่ต่างกันได้ไหม ข้อปฏิบัติซึ่งทำ กับข้อปฏิบัติซึ่งเข้าใจและสติเกิดทำกิจของสติ ไม่ใช่เราทำ
ท่านผู้ฟังมีความรู้สึกว่า ท่านผู้ฟังต้องทำ ใช่ไหม บางครั้งตอนแรกๆ ใหม่ๆ ทำยาก ต้องบังคับบ้าง อะไรบ้าง ก็เราทั้งนั้น ใช่ไหม ที่กำลังบังคับ ที่กำลังทำ
นี่คือความต่างกันของข้อปฏิบัติซึ่งเป็นการทำ กับข้อปฏิบัติซึ่งเป็นมรรคมี องค์ ๘ ซึ่งตามปกติเมื่อไม่ใช่โลกุตตรจิต ก็เป็นมรรคมีองค์ ๕ เกิดขึ้นกระทำกิจของมรรคนั้นๆ เช่น สัมมาสติ เกิดขึ้นกระทำกิจระลึกรู้ ไม่ใช่เรา เวลาที่สัมมาสติเกิดขึ้นกระทำกิจระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ในขณะนั้นไม่ใช่เรากำลังทำตามที่มีคนบอกให้เราทำ
ผู้ฟัง ระยะหลัง เข้าใจครั้งหนึ่งแล้ว ตอนหลังไม่ต้องไปนั่งคอยพะวงให้เกิด เพียงแต่ว่าผมศึกษา พยายามอ่านธรรมมากๆ บางอย่างก็ตรงกับสภาพที่ระลึกรู้ขึ้นมา แค่นั้นเอง
ท่านอาจารย์ ระลึกที่ไหน
ผู้ฟัง อย่างได้ยินเสียง ก็ระลึกรู้ว่าได้ยิน ขณะนั้นไม่ได้ไปสนใจว่าคืออะไรเพียงระลึกขึ้นมาและรู้ว่า ขณะที่ได้ยินเป็นขณะที่แยกต่างหากไปจากขณะที่เรากำลังคิดนึก
ท่านอาจารย์ ความเป็นตัวตนยังแอบแฝงอยู่หรือเปล่าในขณะนั้น
ผู้ฟัง ตามความรู้สึกของผม ขณะนั้นช่วงที่ได้ยิน ความเป็นตัวตนไม่มี
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มี หมายความว่าจะต้องเริ่มศึกษา ค่อยๆ รู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่ปล่อยไปเฉยๆ เพราะเวลาที่รู้ว่าจิตเป็นสภาพรู้ โดยตำราที่อ่าน รู้ในขณะที่กำลังอ่าน แต่ในขณะที่ได้ยินเกิดขึ้น ขณะนั้นมีอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าไม่ใช่ให้ปล่อยไป แต่จะต้องมีอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คือ ศึกษาในขณะที่สติกำลังระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมเพื่อความรู้จะได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าปล่อยไปและคิดว่ารู้แล้วจากการศึกษา ถ้าเป็นอย่างนั้น จะเอาความรู้จากการฟังและการอ่านมารวมกับขณะที่สติเกิด แต่ไม่ใช่ความรู้พร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง การเจริญสติ คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สติกระทำกิจของสติ คือ ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง โดยไม่ต้องรู้ว่าเป็นรูปอะไร เป็นนาม เป็นจิตเจตสิกประเภทไหน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องนึกถึงชื่อ เพราะลักษณะของสภาพนั้นกำลังปรากฏ เช่น กลิ่นกำลังปรากฏ ต้องบอกว่านี่ชื่อกลิ่นหรือเปล่า ในเมื่อเป็นกลิ่น และสติระลึกที่กลิ่น หรือสติระลึกที่สภาพที่กำลังรู้กลิ่น
ผู้ฟัง แต่ตามความเป็นจริงอดคิดไม่ได้ อย่างเวลามีมานะ ก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่มานะกำลังเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครห้ามว่า ไม่ให้คิด อย่าลืม การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ห้ามคิด ถ้าใครคิดจะห้าม ยับยั้งไม่ให้คิด นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ขณะที่กำลังคิดอยู่นั้น มีสติหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ สติสามารถระลึกได้ว่า ขณะคิด เป็นสภาพคิด ไม่ใช่เราที่คิด เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นรู้เรื่อง รู้คำที่คิด เพราะว่าจิตเห็นคิดไม่ได้ จิตได้ยินคิดไม่ได้ จิตคิดไม่เห็น จิตคิดไม่ได้ยิน แต่จิตคิดกำลังรู้คำ รู้เรื่องที่กำลังคิด
ผู้ฟัง รู้สึกว่าการเจริญสติคงไม่ยาก เพราะสิ่งต่างๆ ลักษณะน้อย เหมือนกัน อย่างรูปทั้งหมดมีลักษณะเหมือนกัน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ รูปที่ปรากฏทางตามีลักษณะเดียว คือ สามารถจะปรากฏทางตาได้
ผู้ฟัง รูปที่ปรากฏทางกาย ก็เหมือนกันหมด ไม่ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง คือ ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย
ท่านอาจารย์ ใช่ มีแค่ ๖ ใช่ไหม และไม่ยากด้วย เกิดบ่อยๆ นั่นแหละที่สำคัญที่สุด ต้องมีปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกได้บ่อยๆ เนืองๆ
ผู้ฟัง ปัญหาอยู่ตรงที่เรื่องคิด จะเลยไปถึงเรื่องที่เรียนรู้มา จะคิดเรื่อยเปื่อยไป สติก็หมดตอนนั้น
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่เราที่กำลังคิด จะไม่เดือดร้อน แต่เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมที่คิด ยังเป็นเราคิดต่างหากที่เดือดร้อน แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งนั้น คือ นามธรรมนั่นเองที่กำลังคิด ไม่ใช่นามธรรมที่เห็น ไม่ใช่นามธรรมที่ได้ยิน และประเดี๋ยวนามธรรมก็คิด ก็คือนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิด และก็ดับหมดไป
ถ้าละเยื่อใยการยึดถือนามธรรมที่คิดว่าเป็นตัวตนออกได้ ก็ไม่เดือดร้อน ไม่ว่านามธรรมหนึ่งนามธรรมใดจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็คือนามธรรมเท่านั้นเอง เกิดขึ้นและดับไป เหมือนกันหมด นี่เป็นเหตุที่จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ถ้ายังไม่ทั่ว ย่อมมีการยึดถือสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดว่าเป็นเรา
ผู้ฟัง การไม่ยึดถือสภาพธรรม นี่คือปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่ เป็นหนทางเดียว
ผู้ฟัง ถ้ายังไม่ถึงขั้นที่จะละจะคลาย เรียกว่ามีปัญญาหรือยัง
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ อบรมไป
ผู้ฟัง ไม่รู้สึกว่ามีปัญญาเกิด
ท่านอาจารย์ รู้สึกได้อย่างไร เวลาจับด้ามมีด ด้ามมีดวันหนึ่งต้องสึกแน่เพราะการจับ แต่ในขณะที่จับรู้ไหมว่าด้ามมีดกำลังสึก ฉันใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยชัดเจนว่า อาศัยสติเป็นหนทางเดียว ที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ เท่านั้น ไม่มีหนทางอื่นเลย
ก่อนบรรยายได้สนทนากับท่านผู้ฟัง มีท่านผู้ฟังบอกว่า ท่านจะใช้สติอย่างไร เมื่อไร จะใช้ปัญญาเมื่อไร อย่างไร ทำสมถะก่อนและจะใช้สติปัฏฐานตอนนั้นตอนนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าท่านมีแล้วจะใช้ ยังไม่มีอะไรทั้งนั้น และจะใช้ได้อย่างไร
ถ้าบอกให้ใช้สติ ใครมีสติแล้วมากๆ ที่จะใช้บ้าง บอกให้ใช้ปัญญา ใครมีปัญญาแล้วมากๆ ที่จะเอามาใช้บ้าง จะเอาสติที่ไหนมาใช้ จะเอาปัญญาที่ไหนมาใช้ในเมื่อไม่มี สติและปัญญาก็ต้องค่อยๆ อบรมจนเจริญขึ้น เกิดขึ้น จึงมี ไม่ใช่ว่า ทุกคนมีแล้วแต่ไม่เอามาใช้
คราวก่อนเป็นเรื่องของปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นจิตที่สำคัญ เพราะหลังจากจุติจิตของชาตินี้แล้ว ปฏิสนธิจิตจะต้องเกิดต่อ จึงควรจะเข้าใจในเรื่องของปฏิสนธิจิตว่า เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย
มหากุศลจิตมี ๘ ดวง ทำให้กุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิได้ ๙ ดวง ซึ่งความสมบูรณ์พรั่งพร้อมด้วยลาภ ยศ สกุล เกียรติ ชื่อเสียง บริวาร ก็ต่างกันไปตาม ผลของกรรม
อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์และสวรรค์ชั้นต่ำคือ ชั้นจาตุมหาราชิกาได้ แสดงว่าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน จึงไม่ประกอบด้วย โสมนัสเวทนา เพราะกุศลที่มีกำลังเท่านั้นที่จะประกอบด้วยโสมนัสเวทนา
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผลของกุศลที่มีกำลัง จิตที่ปฏิสนธิก็ต้องเป็นมหาวิบาก และเมื่ออุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากเป็นผลของกุศลอย่างอ่อนที่สุด อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจึงทำกิจปฏิสนธิ ไม่ใช่โสมนัสสันตีรณะ
ผู้ฟัง คนปัญญาอ่อนเกิดเพราะจิตดวงนี้ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่รู้เรื่องอะไร ใช่ไหม ก็ต้องเป็นปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก แม้ผู้ที่ไม่ได้ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก แต่ไม่ค่อยจะฉลาดก็มี ใช่ไหม ผู้ที่พรั่งพร้อมด้วยยศศักดิ์ บริวาร โภคสมบัติต่างๆ เป็นเศรษฐีมั่งมี แต่ว่าขาดปัญญา เพราะไม่ใช่ผลของกรรมซึ่งเนื่องกับปัญญา เพราะฉะนั้น เวลาที่มหาวิบากทำกิจปฏิสนธิ จึงเป็นมหาวิบากประเภทญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา
แม้แต่ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ ก็ยังปัญญาน้อย ไม่สามารถเข้าใจธรรมได้แจ่มแจ้ง ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่สามารถอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากซึ่งเป็นผลของกุศลที่อ่อนกว่านั้นอีก ก็จะต้องเป็นผู้ที่นอกจากเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ก็ ยังเป็นผู้ที่โง่เขลา ไม่ฉลาด หรือว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจเรื่องราวอะไรได้ที่ใช้คำว่า ปัญญาอ่อนก็ได้
ผู้ฟัง อย่างเราๆ ที่ปฏิสนธิมาจากมหากุศล จะทราบได้ไหมว่า เราปฏิสนธิมาจากมหาวิบากดวงไหน
ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง มหาวิบากมี ๘ ดวง ซึ่ง ๔ ดวงประกอบด้วยปัญญา อีก ๔ ดวงไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดในทางโลก เป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ก็ได้ที่ทำกิจปฏิสนธิ เพราะผู้ที่เฉลียวฉลาดในทางโลก อาจจะไม่เข้าใจพระธรรมเลย หรืออาจจะเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนไปก็ได้ แต่ผู้ที่สามารถเข้าใจพระธรรม เข้าใจสภาพธรรม เหตุผลถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ก็อาจจะสันนิษฐานหรือ ประมาณได้ว่า เป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญานสัมปยุตต์ดวงหนึ่งดวงใดใน ๔ ดวง แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นดวงไหนใน ๔ ดวง
ผู้ฟัง ถ้าเราศึกษาธรรมมากๆ และมีความรู้ในธรรมมากๆ ขณะที่กำลังจะจุติและปฏิสนธิ ถ้าเรามีปัญญามาก เราจะรู้ได้ทันทีไหมว่า เราจะปฏิสนธิด้วย มหากุศลดวงใด
ท่านอาจารย์ ดวงใด นี่ยาก ที่จะรู้ว่าปฏิสนธิด้วยจิตดวงหนึ่งดวงใดใน ๔ ดวง หรือใน ๘ ดวง
เวลาที่ใกล้จะจุติ คือ ก่อนจะตาย จะมีใครรู้ล่วงหน้าไหมว่า เป็นขณะไหน เพราะมักจะมีคำถามเสมอว่า ก่อนตายจะทำอย่างไรดี จะเตรียมตัวเฉพาะตอนจะตาย เข้าใจว่าสามารถจะทำได้ ถ้าสามารถจะทำตอนตายได้ ก็ทำเสียตอนนี้ไม่ดีหรือ ทำไมจะต้องคอย ตอนนี้ผลัดไป ไม่ทำๆ และจะไปทำตอนจะตาย ถ้าขณะนี้ทำไม่ได้ ตอนตายจะทำได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการให้กุศลประเภทไหนเกิด ต้องสะสมกุศลประเภทนั้นๆ ตั้งแต่ยังไม่ตาย เช่น ถ้าต้องการให้ปฏิสนธิจิตเป็นญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยปัญญา จะต้องอบรมเจริญกุศลซึ่งเป็นไปในการศึกษาธรรม ให้ประกอบด้วยปัญญา เป็นปัจจัยทำให้มหาวิบากญาณสัมปยุตต์สามารถจะเกิดได้ แต่ก็ต้องแล้วแต่กรรม ซึ่งเรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก
ท่านผู้ฟังที่นั่งอยู่ในที่นี้ ไม่มีโอกาสทราบเลยว่า การที่ท่านเกิดมาเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ เป็นผลของทานอะไร ในชาติไหน หรือเป็นผลของศีล หรือเป็นผลของการ ฟังธรรม การอบรมเจริญปัญญา และกุศลที่ได้ทำนั้นมีฉันทะเป็นอธิบดี หรือมีวิริยะเป็นอธิบดี หรือมีปัญญาเป็นอธิบดี ก็ไม่มีทางที่จะทราบได้ เพราะเป็นสิ่งที่หมดสิ้น ไปแล้ว
แต่อย่าลืม ท่านที่มีสมบัติ ท่านหาที่เก็บสมบัติอย่างปลอดภัยที่สุด คิดว่า สมบัติของท่านจะเก็บไว้อย่างไรจึงจะปลอดภัยที่สุด แต่ไม่มีที่ไหนที่จะปลอดภัยเท่ากับที่ที่เก็บกรรม ปลอดภัยที่สุด เพราะเก็บอยู่ที่จิตทุกๆ ดวง ใครจะเอาไปไม่ได้เลย ลมไม่กระทบสัมผัส แดดไม่แผดเผา
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 051
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 052
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 053
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 054
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 055
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 056
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 057
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 058
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 059
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 060
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 061
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 062
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 063
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 064
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 065
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 066
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 067
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 068
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 069
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 070
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 071
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 072
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 073
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 074
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 075
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 076
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 077
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 078
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 079
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 080
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 081
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 082
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 083
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 084
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 085
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 086
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 087
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 088
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 089
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 090
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 091
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 092
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 093
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 094
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 095
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 096
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 097
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 098
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 099
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 100