จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 077


    แต่ไม่มีที่ไหนที่จะปลอดภัยเท่ากับที่ที่เก็บกรรม ปลอดภัยที่สุด เพราะเก็บอยู่ที่จิตทุกๆ ดวง ใครจะเอาไปไม่ได้เลย ลมไม่กระทบสัมผัส แดดไม่แผดเผา ไม่มีที่ไหนที่ปลอดภัยที่จะเก็บสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เท่ากับที่เก็บของกรรม

    น่ากลัวไหม หรือว่าดีใจที่มีที่เก็บซึ่งปลอดภัยมาก อกุศลกรรมทั้งหมดที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีทางหายสูญไปได้ หรือว่ากุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน เก็บไว้อย่างปลอดภัยที่สุดในจิตทุกๆ ขณะ แต่ละขณะ

    ผู้ฟัง อย่างมีความเพียร พยายามศึกษาธรรม พยายามเจริญสติ เรามีวิริยะมาศึกษาที่นี่ ซึ่งปกติเวลาทำการงานไม่มีสติเลย เพราะไม่มีความเข้าใจ อยู่ที่นี่รู้สึกว่าสติเกิดมากกว่า

    ท่านอาจารย์ และจะทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ศึกษา

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนา

    ผู้ฟัง สงสัยเรื่องมหาวิบากและมหากุศล อย่างเราให้ทานและเกิดปีติ เช่น ตักบาตรและให้เป็นสังฆทาน เมื่อเราศึกษารู้เรื่องสังฆทานก็พยายามทำสังฆทาน ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทุกอย่าง จากการศึกษา ชาตินี้เรามีปัญญามากกว่าชาติก่อน ตามความเข้าใจของผม เพราะผมศึกษาเพิ่มมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะไปเกิดในนรก ยังมีมากหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ควรที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมจริงๆ เพราะท่านผู้ฟังอาจจะคิดถึงเฉพาะกรรมในชาตินี้ว่า ท่านพยายามขวนขวายหาทางที่จะปิดประตูอบาย ไม่ให้ไปสู่อบายภูมิภูมิหนึ่งภูมิใด แต่อย่าลืมว่า สังสารวัฏฏ์ยืดยาว ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง อริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล ย่อมมีกรรมหนึ่งกรรมใดที่ได้กระทำแล้วพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้เกิดในอบายภูมิเมื่อไรก็ได้

    สิ่งที่ควรจะคิด คือ ม้ากัณฐกะ ในชาติที่เป็นม้ากัณฐกะปฏิสนธิจิตเป็น อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก แต่กรรมที่ได้สะสมมาที่จะได้เป็นพระอริยบุคคล ต้องหลังจากที่ตายแล้วไปเกิดเป็นกัณฐกเทพบุตร และได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม กัณฐกเทพบุตรจึงรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ไม่มีใครรับรองในเรื่องของกรรมที่จะให้ผล ต้องแล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมใด

    แต่อาจิณณกรรม หรือกรรมที่ได้กระทำบ่อยๆ มากๆ เนืองๆ มีโอกาสที่จะให้ผลมากกว่ากรรมอื่น แต่ก็ต้องจัดลำดับของกรรมอีกว่า มีกรรมประเภทไหนที่จะให้ผลก่อน

    ท่านอาจารย์ เรื่องปฏิสนธิเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเป็นการประมวลกรรมเท่าที่สามารถจะเกิดได้ในกาลที่ปฏิสนธิ เช่น การเกิดในกาลสมบัติ กับการเกิดในกาลวิบัติ

    การเกิดในกาลสมบัติ ต้องประมวลกรรมที่ทำให้ได้รับผลในกาลสมบัตินั้น หรือถ้าเป็นในกาลวิบัติ ก็ประมวลกรรมที่ทำให้ได้รับผลในยุคที่เป็นกาลวิบัติ ซึ่งไม่มีใครสามารถฝืนได้ เพราะกาลก็ดี หรืออุปธิก็ดี หรือปโยคะก็ดีนั้น เป็นฐานะของวิบาก ส่วนกรรมเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก

    เป็นเรื่องละเอียดที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตของแต่ละบุคคลต่างกันเพราะ ปฏิสนธิจิต ผลของอกุศลกรรมทำให้เกิดในอบายภูมิ ถ้าดูในภูมิของสัตว์ดิรัจฉานจะเห็นได้ว่า ชีวิตของช้างก็ต้องอยู่อย่างช้าง ชีวิตของนกก็ต้องอยู่อย่างนก ชีวิตของปลาก็ต้องอยู่อย่างปลา ชีวิตของเสือ สัตว์ร้าย ก็ต้องอยู่อย่างสัตว์ร้าย เพราะปฏิสนธิด้วยอกุศลวิบาก และก็ต่างกันไปตามการสะสมของจิต ฉันใด ถ้าคิดถึงมนุษย์แต่ละคน แทนที่จะคิดถึงช้าง ถึงนก ถึงปลา และแต่ละคนจำแนกออกไปให้ละเอียดกว่านั้นอีก จะเห็นได้ว่า ปฏิสนธิของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นผลของกรรมที่ต่างกัน จะต่างกันโดย ทานบ้าง โดยศีลบ้าง โดยภาวนาบ้าง โดยอธิปติ หรือโดยกำลังของกรรมต่างๆ บ้าง ก็ตาม ทำให้ชีวิตของแต่ละคนประมวลมาซึ่งกรรมที่บุคคลนั้นได้สะสมแล้วที่จะเกิดขึ้นเป็นไป ทั้งในขณะที่เกิดและหลังจากที่เกิดแล้ว เพราะว่าการให้ผลของกรรม ให้ผลในขณะปฏิสนธิกาล คือ ในขณะที่เกิดขึ้นเป็นปฏิสนธิจิต เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้วก่อนที่จะจุติ ทั้งหมดนั้นชื่อว่าปวัตติกาล กรรมอื่นที่ได้สะสมประมวลไว้สามารถที่จะให้ผลในแต่ละวัน ในแต่ละช่วงขณะของชีวิตได้

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกถึงช้าง นึกถึงม้า นึกถึงปลา นึกถึงนก ก็เป็นแต่ละคนที่มีวิถีชีวิตเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งกรรมของแต่ละคนได้สะสมมาอย่างวิจิตรจริงๆ

    ขอกล่าวถึงเรื่องกิจของจิต ไม่ว่าจิตจะมีประเภทมากถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงโดยพิเศษ แต่กิจทั้งหมดของจิตมีเพียง ๑๔ กิจเท่านั้น แสดงให้เห็นได้ว่า จิตหลายประเภททำกิจเดียวกันได้

    ได้กล่าวถึงกิจที่ ๑ แล้ว คือ ปฏิสันธิกิจ ที่ทำกิจเกิดขึ้นสืบเนื่องจากจุติจิตของชาติก่อน ซึ่งแต่ละชีวิตจะมีการเกิดต่างกัน ไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะในมนุษย์ภูมิเท่านั้น แม้แต่ภูมิอื่นๆ เช่น ดิรัจฉานภูมิ ก็จะเห็นความวิจิตรของสัตว์ดิรัจฉานได้ ช้างก็ อยู่อย่างช้าง มีอาหารของช้าง งูก็อยู่อย่างงู มีอาหารของงู นกก็อยู่อย่างนก ที่อยู่ก็ต่างกัน แม้แต่การเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ย่อมแสดงให้เห็นความวิจิตรของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ต่างกันตั้งแต่เกิด เรื่อยไปจนกระทั่งถึงจุติ และตลอดไปจนถึงชาติต่อๆ ไป

    ซึ่งในแต่ละขณะไม่สามารถที่จะย้อนกลับมาเป็นบุคคลแม้เมื่อวานนี้ หรือ เมื่อวันก่อน หรือแม้ในชาติก่อน แสดงให้เห็นว่าทุกขณะเกิดขึ้นเพื่อที่จะไปเท่านั้น ไป สู่อารมณ์ต่างๆ โดยจิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมซึ่งเป็นเหตุทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษา น่าพิจารณามาก เพราะแสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิต

    กรรม คือ การกระทำ ได้แก่ เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ไม่มีจิตสักประเภทเดียวที่ขาดเจตนาเจตสิก เจตนาเจตสิกที่เกิดกับกุศล ก็เป็นกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลเจตนา เจตนาเจตสิกที่เกิดกับวิบากเป็นผลของกุศล ก็เป็นเจตนาที่เป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกุศลหรืออกุศลที่เป็นเหตุ เจตนาที่เกิดกับกิริยาจิต ก็ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ไม่ใช่ทั้งวิบาก แต่เป็นเพียงกิริยา

    ข้อความในอรรถกถา มีคำว่า กัมมสมาทาน แปลโดยศัพท์ หมายถึง การถือเอาซึ่งกรรม ทุกท่านเวลาที่จะทำกุศล มีเจตนา มีความตั้งใจที่จะถือเอา หรือที่จะกระทำแล้วซึ่งกุศลนั้นๆ

    อย่างเช่น ท่านที่ตั้งใจจะถวายทาน มีการถือเอาซึ่งกรรม คือ กระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะกระทำกรรมนั้น ต้องการที่จะถือกรรมนั้น ต้องการจะเอาซึ่งกรรมนั้น ต้องการจะกระทำกรรมนั้นนั่นเอง หรือขณะที่จะกระทำอกุศลกรรมชนิดหนึ่งชนิดใด

    กัมมสมาทาน การถือเอาซึ่งกรรม ได้แก่ การตั้งใจยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เป็นลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏได้ ตั้งใจจะกระทำซึ่งกรรมใด ก็คือ การถือเอาซึ่งกรรมนั้นด้วยความตั้งใจ จงใจ ยึดถือที่จะกระทำกรรมนั้น เพราะฉะนั้น กรรมของ แต่ละท่านก็ต้องต่างกันไปตามกัมมสมาทาน การตั้งใจที่จะถือเอาซึ่งกรรมนั้นๆ

    บางท่านสนใจที่จะถอดเทป ท่านก็มีกัมมสมาทาน คือ การถือเอาซึ่งกรรมนั้น ตั้งใจที่จะกระทำกรรมนั้น กรรมนั้นบุคคลนั้นย่อมถือเอาแล้ว เพราะว่าสมาทาน คือ ถือเอาซึ่งกรรมนั้น

    นี่เป็นสำนวนที่แปลโดยศัพท์ แต่ตามความเป็นจริง คือ ความจงใจ ความตั้งใจเกิดขึ้นที่จะกระทำสิ่งใด บุคคลนั้นก็ย่อมถือเอาแล้วซึ่งกรรมนั้น หมายความว่าย่อมกระทำกรรมนั้นนั่นเอง นี่คือกรรมที่ต่างๆ กันไปของแต่ละบุคคล

    และโดยมากเวลาที่พูดถึงเรื่องของกรรม ทุกคนจะนึกถึงกรรมใหญ่ๆ เช่น กุศลกรรม ได้แก่ การถวายทาน หรือการทอดกฐิน แต่ชีวิตประจำวันของท่าน อยู่ใกล้ชิดกับบุคคลใด กรรมที่ท่านกระทำต่อบุคคลนั้น เคยพิจารณาบ้างไหมว่า เป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม ไม่ต้องคิดถึงกรรมใหญ่ๆ แต่กรรมที่กระทำกับบุคคลใกล้ชิดเป็นประจำวัน ถ้าได้พิจารณาว่าขณะนั้นเป็นกุศลกรรมหรือเป็นอกุศลกรรม ย่อมทำให้ละอกุศลกรรมและเจริญกุศลกรรมมากขึ้น เพราะท่านคงจะไม่กระทำกรรมกับคนที่ท่านไม่รู้จัก เดินผ่านกันไปสวนกันมาตามถนนหนทาง จะมีการกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมกับบุคคลเหล่านั้นไหม แต่กับผู้ที่ใกล้ชิด ในบ้าน ในครอบครัว ระหว่างมิตรสหาย วงศาคณาญาติ เคยพิจารณากรรมของท่าน ต่อบุคคลเหล่านั้นบ้างหรือเปล่า

    บางท่านอาจจะไม่ชอบคนใกล้ชิด หรือคนที่พบกันบ่อยๆ บางทีความรู้สึกไม่พอใจเกิดขึ้นแล้วในจิต ยังไม่ถึงกับแสดงออกทางกายหรือวาจา แต่ปรากฏบ้าง ได้ไหม ลองคิดดู และถ้ามีกำลังมากขึ้น ทางกาย กระทำสิ่งใดบ้างแล้วซึ่ง เป็นกายกรรม ทางวาจา กระทำคำพูดสิ่งใดบ้างแล้วซึ่งเป็นวจีกรรม ทำไมไม่คิดถึงผู้ที่อยู่ใกล้ หรือว่ามิตรสหายซึ่งเป็นผู้ที่ท่านมักจะทำกรรมเกี่ยวข้องกันอยู่เสมอมากกว่าบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาจริงๆ

    ข้อความในอรรถกถา เช่น มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๔ นิทานสูตร ข้อ ๔๗๓ ได้แสดงเรื่องของกรรมไว้ครบถ้วน ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะอ่านเองก็จะมีข้อความที่สมบูรณ์น่าพิจารณา

    ข้อความมีว่า

    จริงอยู่ โดยปริยายแห่งพระสุตตันตปิฎก กรรมทั้งหลาย ๑๑ อย่าง อันท่านจำแนกไว้แล้ว

    ถามว่า ท่านจำแนกไว้อย่างไร

    แก้ว่า ท่านจำแนกไว้ว่า

    ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันชาติ

    อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไป

    อปรปริยายเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไปอีกไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฏฏ์

    ครุกกรรม คือ กรรมหนัก

    พหุลกรรม คือ กรรมที่มีกำลัง

    อาสันนกรรม คือ กรรมที่ทำเมื่อใกล้จะจุติ คือ ใกล้จะสิ้นชีวิต

    กฏัตตาวาปนกรรม คือ กรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่ใช่ครุกกรรม พหุลกรรม และอาสันนกรรม

    ชนกกรรม คือ กรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น

    อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่อุปถัมภ์หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว

    อุปปีฬกกรรม คือ กรรมที่เบียดเบียนกรรมอื่นซึ่งกำลังให้ผลอยู่

    อุปฆาตกกรรม คือ กรรมที่ตัดรอนกรรมอื่นซึ่งกำลังให้ผลอยู่

    สำหรับทั่วๆ ไป ท่านผู้ฟังมักจะได้ยินคำว่า กรรม ๑๒ แต่สำหรับใน มโนรถปูรณี อรรถกถา นิทานสูตร แสดงถึงกรรม ๑๑

    โดยปริยายแห่งพระอภิธรรม จำแนกกรรมไว้ ๑๖ ประการ

    นี่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ

    ท่านอาจารย์ วิบากทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกรรมเป็นกัมมปัจจัย ถ้าไม่มีกรรม วิบากย่อมเกิดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณกุศลวิบาก หรือโสตวิญญาณกุศลวิบาก ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก กายวิญญาณกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก สันตีรณกุศลวิบาก หรือตทาลัมพนกุศลวิบากก็ตาม ต้องเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย

    เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นทำให้บุคคลต่างกันไป จิตที่ทำกิจปฏิสนธิบางประเภทมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางประเภทไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แสดงให้เห็นถึงกรรมที่ต่างกันว่า ถ้ากรรมใดไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก จะให้ผลทำให้วิบากที่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิกเกิดไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นกรรมที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก จะให้ผลเป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิกได้ไหม ลองคิดดู กรรมที่เป็นไปเกี่ยวเนื่องประกอบกับปัญญา จะทำให้เกิดวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาได้ไหม

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องอ่านมาก ฟังมาก ศึกษามาก พิจารณามาก ใคร่ครวญมากเพื่อที่จะได้ไม่ลืมว่า ได้ อย่าลืม กรรมที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นปัจจัยทำให้เกิดวิบากที่ประกอบด้วยปัญญาได้ นี่ตอนหนึ่ง และกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เกี่ยวเนื่องกับปัญญา ทำให้เกิดวิบากซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญาได้ด้วย

    มหากุศลมีทั้งหมด ๘ ดวง ทำให้เกิดกุศลวิบาก ๑๖ ดวง เป็นกุศลวิบากที่ประกอบด้วยปัญญากี่ดวง ไม่ประกอบกับปัญญากี่ดวง เพราะฉะนั้น คำตอบคือ ได้

    นี่คือการที่จะต้องศึกษาจริงๆ พิจารณาจริงๆ เป็นเรื่องของกรรมนั่นเอง แต่เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดที่ได้ทรงแสดงไว้จะต้องพิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง จนเป็นความเข้าใจในเหตุในผลจริงๆ

    เมื่อเป็นกุศลที่เกี่ยวเนื่องเป็นไปกับปัญญา ก็ทำให้เกิดวิบากที่เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาได้ นี่ไม่ผิด แต่ก็ทำให้เกิดกุศลวิบากที่ไม่ประกอบกับปัญญาด้วยได้ เพราะมหากุศลมี ๘ ดวง ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ซึ่งในมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวงนั้น ทำให้เกิดมหาวิบากได้ และทำให้เกิดกุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาได้

    ถ้าเป็นไปไม่ได้จะทรงแสดงไว้ไหมว่า ผลของมหากุศล ๘ ดวง ทำให้เกิด กุศลวิบาก ๑๖ ดวง เป็นมหาวิบาก ๘ ดวง เป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง

    ท่านผู้ฟังซึ่งเริ่มสนใจพระธรรม ก็เปิดวิทยุฟัง และก็บอกว่าไม่เข้าใจ มีไหม เป็นมหากุศลหรือเปล่าที่ฟัง เรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่ฟังเป็นมหากุศลหรือเปล่า ถามถึงขณะที่ฟัง ไม่ได้ถามถึงขณะที่กำลังฟังและเผลอสติ แต่ขณะที่กำลังฟังเป็นกุศลหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นจะฟังไหม ก็ย่อมไม่ฟัง แต่เมื่อฟังแล้วไม่เข้าใจ บอกเลยว่าฟังหลายครั้งก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจะประกอบด้วยปัญญาไหม ก็ยังไม่ประกอบ แต่เมื่อมีการฟังและเข้าใจบ้าง ยังไม่ใช่การชัดเจนจริงๆ ปัญญายังอ่อนหรือคมในขณะที่ฟังและเข้าใจบ้าง เพิ่งจะเข้าใจเงาๆ นิดๆ หน่อยๆ หลังจากที่บางท่านอาจจะฟังมาเป็นเวลานานทีเดียว

    เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลนั้นให้ผล จะทำให้เกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิกไหม นิดเดียวเท่านั้นเอง เพิ่งจะเริ่ม ยังไม่ได้เข้าใจอะไรมากมาย เช่น ได้ฟังว่านามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเดือนเป็นปี ก็พูดตามคิดตามว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ นั่นเป็นลักษณะของปัญญาที่พร้อมจะให้ผลเกิดขึ้นประกอบด้วยปัญญาหรือเปล่า

    ลองพิจารณาดู เพียงฟัง และน้อมไปนิดหนึ่งว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ จะสามารถเป็นปัจจัยทำให้มหาวิบากเกิดพร้อมกับ ปัญญาเจตสิกได้ไหม เพียงเท่านี้เองที่พูดตามหลังจากที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ พูดได้ แต่รู้อย่างนั้นหรือเปล่า

    ระดับขั้นของปัญญา จะเห็นได้ว่ามีหลายระดับขั้นจริงๆ ตั้งแต่เริ่มฟัง เป็นมหากุศลจริง แต่ยังไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์ เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นสักนิดสักหน่อย แต่ยังคงเป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ โดยที่ยังไม่ได้ประจักษ์ในลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ จะเป็นปัจจัยถึงกับทำให้มหาวิบากเกิดพร้อมกับปัญญาเจตสิกได้ไหม

    เพราะฉะนั้น มหากุศลญาณสัมปยุตต์เป็นปัจจัยให้มหาวิบากญาณสัมปยุตต์เกิดได้ และเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาเจตสิกเกิดด้วยได้

    นี่คือชีวิตประจำวัน กรรมที่แต่ละท่านกำลังทำอยู่ ซึ่งไม่ควรคิดถึงกรรมที่จะทำ แต่โดยมากท่านผู้ฟังคิดถึงกรรมที่จะทำ ปีนี้จะทำกุศลกรรมอะไร อาจจะคิดไว้ เตรียมไว้ว่า จะทำกุศลกรรมอะไรบ้าง เดือนหน้าจะถวายทาน อาทิตย์หน้าอาจจะถวายทาน หรืออะไรอย่างนั้น แต่กำลังทำกรรมอะไรเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ควรที่จะได้พิจารณากรรมที่กำลังกระทำว่าเป็นกุศลหรืออกุศล แทนที่จะพิจารณากรรมที่จะกระทำ

    ขณะนี้เป็นกุศลกรรมหรือเปล่า

    เดี๋ยวนี้ ธรรม คือ ขณะนี้เองที่จะต้องพิจารณา เรื่องของจิตทั้งหมด เรื่องของเจตสิกทั้งหมด เรื่องของรูปทั้งหมด เรื่องของธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไม่พ้นจาก ในขณะนี้เอง เพียงเพื่อที่จะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ละเอียด ที่สติจะระลึกและเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ศึกษาว่าตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ เพื่อให้ปัญญาเจริญขึ้นจริงๆ เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกจนกว่าจะเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง โดยอาศัยความเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะสภาพของแต่ละขณะจิต ซึ่งกำลังเกิดกับทุกท่านตามปกติ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เป็นกุศลหรือเปล่า เป็นญาณสัมปยุตต์หรือเปล่า เดี๋ยวนี้เอง ถ้าสติเกิด เป็นมหากุศล ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พิสูจน์อีก ว่าปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือยัง

    ผู้ฟัง มหากุศลญาณสัมปยุตต์ให้ผลเป็นมหาวิบาก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ