จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 083


    กายวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น น้อยที่สุด เพราะฉะนั้น อเหตุกจิตที่เหลืออีก ๘ ดวง ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ ดวง

    สำหรับมโนทวาราวัชชนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๑ ดวง คือ นอกจาก สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ แล้ว มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีวิจารเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ คือ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง และสันตีรณจิตซึ่งเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิตก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๑๐ ดวง คือ นอกจากสัพพจิตตสาธารณเจตสิกแล้ว ก็มี วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก และอธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อนจักขุวิญญาณก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๐ ดวง เช่นเดียวกับสัมปฏิจฉันนจิตและสันตีรณจิต แต่มโนทวาราวัชชนจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยถึง ๑๑ ดวง มากกว่าปัญจทวาราวัชชนะ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เพราะต้องมี วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อ วิถีจิตแรกเป็นมโนทวาราวัชชนจิต ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่จะมีการรู้สึกตัว รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิตจึงต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะจักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเพราะการกระทบของจักขุปสาทและ รูปารมณ์เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เวลาใดก็ตามที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกก่อนที่กุศลจิตและอกุศลจิตจะเกิด อย่าลืม วิถีจิตแรกทางมโนทวาร คือ มโนทวาราวัชชนจิต ควรจะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ในการที่จะคิดถึงอารมณ์แต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตจึงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๑ ดวง คือ นอกจากสัพพจิตตสาธารณเจตสิกแล้ว ก็มีวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก และวิริยเจตสิก

    สำหรับอเหตุกจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมมากที่สุด คือ ๑๒ ดวง ได้แก่ หสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำให้เกิดการแย้มหรือการยิ้มของพระอรหันต์

    อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง ท่านผู้ฟังมีอเหตุกจิตกี่ดวง

    มี ๑๗ ดวง อย่าลืม เดี๋ยวจะคิดว่ามีอเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง ซึ่งคนที่มีครบ ๑๘ ดวง คือ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ นอกจากนั้นมีอเหตุกจิตเพียง ๑๗ ดวง เพราะไม่มี หสิตุปปาทจิต

    จิตที่มีกำลังทำให้เกิดการแย้มหรือการยิ้มของพระอรหันต์ ต้องเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น หสิตุปปาทจิตต้องประกอบด้วยปีติเจตสิกด้วย ทำให้ หสิตุปปาทจิตเป็นอเหตุกจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากที่สุด คือ ๑๒ ดวง

    ผู้ที่สนใจเรื่องเจตสิก จะศึกษาได้จากอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมมสังคณีปกรณ์ หรือในอภิธัมมัตถสังคหะ และควรทราบถึงเหตุผลประกอบด้วยเพื่อจะได้ไม่ลืม

    สำหรับมโนทวาราวัชชนจิตเป็นจิตที่รู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง เพราะสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ ทวาร ใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอัพยากฤต อันเป็นกิริยา อธิบายมโนวิญญาณธาตุที่เกิดกับอุเบกขา ซึ่งเป็นข้อความโดยตรงจากอัฏฐสาลินี ที่ทำให้ท่านผู้ฟังต้องคิด เพราะไม่ได้บอกตรงๆ ว่า กำลังจะพูดเรื่อง มโนทวาราวัชชนจิต แต่ใช้คำว่า พรรณนาอัพยากฤตอันเป็นกิริยา

    ซึ่งอัพยากตธรรม ได้แก่ วิบากจิต กิริยาจิต และรูป

    คำว่า อัพยากตะ หมายความถึงธรรมใดๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล ซึ่งวิบากจิตไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล กิริยาจิตไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล รูปไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้น วิบากจิต กิริยาจิต และรูปเป็นอัพยากตธรรม ซึ่งในบางแห่งใช้คำว่า อัพยากฤต

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอัพยากฤต กล่าวรวม ยังไม่แยกประเภทว่า อัพยากฤตเป็นวิบากจิต เป็นกิริยาจิต หรือเป็นรูป แต่ใช้คำว่า พรรณนาอัพยากฤต แต่ข้อความต่อไปบอกว่า อันเป็นกิริยา เพราะฉะนั้น ต้องไม่ใช่รูป ข้อความต่อไป อธิบายมโนวิญญาณธาตุที่เกิดกับอุเบกขา ก็ต้องคิด อะไรเป็น มโนวิญญาณธาตุที่เกิดกับอุเบกขา ก็คือ มโนทวาราวัชชนจิต

    ข้อ ๕๗๔ อธิบายว่า

    จิตดวงนี้เกิดกับสัตว์ที่มีจิตทุกจำพวกในไตรภพ และเมื่อเกิดขึ้นย่อมเป็นโวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร เป็นอาวัชชนะทางมโนทวาร

    จิตดวงนี้ชื่อว่าใหญ่ ดุจช้างใหญ่ ฉะนั้น ชื่อว่าธรรมชาติที่มิใช่อารมณ์ ย่อมไม่มีแก่จิตดวงนี้

    หมายความว่า มีอารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่เว้นเลย

    ข้อความต่อไป

    เมื่อถามว่า จิตที่มิใช่สัพพัญญุตญาณ ที่ชื่อว่ามีคติดังสัพพัญญุตญาณ ได้แก่จิตดวงไหน ก็พึงตอบได้ว่า ได้แก่จิตดวงนี้ คือ มโนทวาราวัชชนจิต

    แสดงให้เห็นว่า ไม่เว้นเลย เพราะเป็นวิถีจิตแรกที่เกิดทางมโนทวาร ไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ข้อความในอรรถกถาจึงมีว่า จิตดวงนี้เกิดกับสัตว์ที่มีจิตทุกจำพวกในไตรภพ คือ ไม่ว่าจะเป็นกามภูมิ รูปภูมิ หรืออรูปภูมิ ก็มี มโนทวาราวัชชนจิตเกิด

    และเมื่อเกิดขึ้นย่อมเป็นโวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร เป็นอาวัชชนะทาง มโนทวาร จิตดวงนี้ชื่อว่าใหญ่ ดุจช้างใหญ่ ฉะนั้น ใหญ่จริงๆ เพราะไม่มีอารมณ์อะไรที่มโนทวาราวัชชนจิตไม่รู้ หรือว่าไม่เป็นอารมณ์ของมโนทวาราวัชชนจิต

    นิพพานเป็นอารมณ์ของมโนทวาราวัชชนจิตได้ไหม สูงสุด เป็นโลกุตตรธรรม เป็นธรรมที่ดับกิเลสได้ ธรรมอื่นไม่สามารถจะดับกิเลสได้เลยนอกจากพระนิพพานเท่านั้น เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ไหม เหตุผลต้องเป็นเหตุผล ได้หรือไม่ได้ มโนทวาราวัชชนจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ข้อความในอรรถสาลินีจะไม่มีว่า ชื่อว่าธรรมชาติที่มิใช่อารมณ์ ย่อมไม่มีแก่จิตดวงนี้

    คือ ธรรมชาติใดที่เป็นอารมณ์ต้องมีแก่จิตดวงนี้ หมายความว่า จิตดวงนี้สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิด ดับไป โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อ ดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิด โดย มโนทวาราวัชชนจิตต้องเป็นวิถีจิตแรกทุกครั้งที่เป็นมโนทวารวิถี ซึ่งผู้ที่เป็น พระอริยบุคคลจะมีการพิจารณามรรคจิตวาระหนึ่ง ผลจิตวาระหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า แม้โสตาปัตติมรรคจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ต่างกับโสตาปัตติผลจิตซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ปัจจเวกขณวิถีต้องเกิดกับพระอริยบุคคลทุกประเภท เมื่อ มรรควิถีเกิดและดับไปแล้ว

    สำหรับมรรควิถี คือ เมื่อได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณเกิดสมบูรณ์ตามลำดับขั้นจนถึงวิถีที่บุคคลนั้นจะเป็นพระอริยบุคคล คือ สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งต้องเป็นทางมโนทวารวิถี โดยมโนทวาราวัชชนจิตเกิดและ ดับไป มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดทำกิจบริกรรม ๑ ขณะ ทำกิจอุปจาระ ๑ ขณะ ทำกิจอนุโลม ๑ ขณะ ทำกิจโคตรภู ๑ ขณะ ต่อจากนั้นจะเป็นมรรควิถี คือ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ ดับไป โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อ ซึ่งโสตาปัตติผลจิตจะเกิด ๒ ขณะ หรือ ๓ ขณะ แล้วแต่ว่าจะมีบริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู หรือจะมีแต่อุปจาระ อนุโลม โคตรภู โดยไม่มีบริกรรม หมายความว่า ผู้ที่รู้นิพพานเร็ว จะไม่มีขณะที่เป็นบริกรรม แต่จะเพิ่มผลจิตเป็น ๓ ขณะ สำหรับผู้ที่รู้ช้าจะมี มหากุศลจิตญาณสัมปยุตต์ที่เป็นบริกรรมด้วย อุปจาระด้วย อนุโลมด้วย โคตรภูด้วย ก่อนที่จะถึงมรรคจิต และผลจิตจะเกิดเพียง ๒ ขณะ

    ก็เป็นเรื่องของมรรควิถี ซึ่งที่จริงแล้วยังไม่ควรจะกล่าวถึง แต่ให้ทราบว่า สำหรับพระอริยบุคคลทุกประเภท เมื่อโสตาปัตติผลจิตดับแล้ว เป็นภวังค์แล้ว จะต้องพิจารณาโลกุตตรธรรมที่เพิ่งเกิดและดับไป โดยพิจารณามรรคจิตวาระหนึ่ง พิจารณาผลจิตวาระหนึ่ง พิจารณานิพพานวาระหนึ่ง และพิจารณากิเลสที่ดับแล้ววาระหนึ่ง พิจารณากิเลสที่ยังเหลืออีกวาระหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ไหม หลังจากที่มรรควิถีดับไปแล้ว

    มโนทวาราวัชชนจิตเป็นจิตที่มีอารมณ์ได้ทุกอย่าง แม้นิพพาน หรือ โลกุตตรธรรม ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถากัณฑ์ มีข้อความว่า

    ในขณะที่มโนทวาราวัชชนจิตมีโลกุตตรธรรมเป็นอารมณ์ เพราะสภาพที่ตนเป็นอเหตุกะ เพราะความที่ตนเป็นธรรมชาติเลว (เพราะเหตุว่าเป็นกามภูมิ) เพราะความที่ตนเซ่อ

    อุปมาเหมือนอย่างพระราชาที่ชาวโลกทั้งมวลพากันเคารพ แต่เด็กรับใช้ ค่อมเตี้ยเป็นต้น ผู้เป็นผู้รับใช้ของพระองค์ ก็ไม่ได้เคารพยิ่งเหมือนอย่างคนผู้เป็นบัณฑิต เพราะเหตุที่ตนเป็นคนโง่เขลา ข้อนี้ฉันใด แม้จิตดวงนั้นก็ฉันนั้น ย่อมไม่กระทำโลกุตตรธรรมให้หนักหน่วง เพราะความที่ตนเป็นอเหตุกะ เพราะความที่ตนเลว เพราะความที่ตนเซ่อ

    มโนทวาราวัชชนจิต ก็ยังคงเป็นมโนทวาราวัชชนจิต แม้ว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ มโนทวาราวัชชนจิตก็ไม่ใช่โลกุตตรจิต เป็นสภาพที่ต่างกัน เพราะว่า มโนทวาราวัชชนจิตเป็นอเหตุกจิต

    ต่อไปนี้คงไม่ลืมมโนทวาราวัชชนจิต ถ้าได้ยินชื่อนี้ ทราบได้ทันทีว่า เป็นจิตที่เป็นอเหตุกกิริยาจิต ๑ ดวง ในอเหตุกกิริยาจิต ๓ ดวง ทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร สามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง และเป็นวิถีจิตดวงแรกที่เกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งต่อจากปฏิสนธิและภวังค์

    ผู้ฟัง ในขณะที่ได้ยิน หูทั้งสองข้างได้ยินทีละข้าง หรือได้ยินพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันไม่ได้

    ผู้ฟัง หมายความว่า ต้องได้ยินทีละข้าง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ารูปเกิดดับตามอายุของจิต ซึ่งทยอยกันเกิดและทยอยกันดับ ทำไมจะให้ได้ยินทั้ง ๒ ข้าง อยู่ตั้งห่างกัน

    ผู้ฟัง และทางตา

    ท่านอาจารย์ ทางตาก็เหมือนกัน จักขุปสาททยอยกันเกิด ทยอยกันดับ และมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ

    ผู้ฟัง หมายความว่า เห็นทั้ง ๒ ข้าง พร้อมๆ กัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้

    ผู้ฟัง ทีละหนึ่งข้าง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาท จักขุวิญญาณ ๑ ดวง จะเกิดที่ จักขุปสาทกี่จักขุปสาท

    ผู้ฟัง ๑ จักขุปสาท

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเกิดที่ ๑ จักขุปสาทเท่านั้น

    ผู้ฟัง หมายความว่า เห็นทีละข้าง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เร็วจนกระทั่งเหมือนกับพร้อมกัน ทั้งได้ยินและเห็นด้วย เพราะฉะนั้น คนที่มีตาข้างเดียว หายสงสัยไหมว่า จักขุวิญญาณของเขาจะเกิดทีละข้างอย่างไร ในเมื่อเขามีจักขุปสาทข้างเดียว ก็ไม่สงสัย แต่ ๒ ข้างสงสัย

    ข้างเดียวก็ยังเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทนั้นและก็ดับเร็วมาก ทั้งจักขุปสาทด้วย และจักขุวิญญาณยิ่งดับเร็วกว่าจักขุปสาท เพราะจักขุปสาท ๑ รูป มีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ

    ผู้ฟัง มโนทวารวิถีแรกต้องเป็นโลภะเท่านั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ใช่ ใครจะทราบหรือไม่ทราบก็ตาม เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็น วิถีจิตขณะแรกเกิดและดับไปแล้ว วิถีจิตต่อไป คือ โลภมูลจิต ทำชวนกิจสืบต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตทันที ไม่ว่าจะเป็นในนรก ในมนุษย์ ในสวรรค์ ในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิก็ตาม ยังไม่ทันจะได้รับความเจ็บปวดทรมานเลยในนรก เมื่อ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดและดับไป โลภมูลจิตต้องเกิดสืบต่อทันที โดย ปกตูปนิสสยปัจจัย

    อกุศลที่สะสมมาในวันหนึ่งๆ ในชาติหนึ่งๆ ที่ผ่านไปแล้วไม่นับก็ได้ เฉพาะ ในชาตินี้ โลภะมากไหม และโลภะมากๆ ที่เก็บสะสมไว้ทุกๆ วัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะให้ไปทิ้งที่ไหน ก็ยังเก็บสะสมสืบต่อ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นปัจจัยที่มีกำลังแรงที่เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับ โลภมูลจิตเป็นชวนวิถีจิตที่ ๒ เกิดดับสืบต่อ ๗ ขณะ ทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิตต้องอาศัยทวาร ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ไม่อย่างนั้น รู้อารมณ์ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ผู้ที่ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ ไม่ต้องอาศัยทวารไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องอาศัยมโนทวาร จิตใดที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ต้องอาศัยทวาร หูทิพย์ ตาทิพย์ คือ การเห็น การได้ยิน ทางมโนทวารนั่นเอง

    ผู้ฟัง อสัญญสัตตาพรหมมีมโนทวารไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะอสัญญสัตตาพรหมเป็นรูปปฏิสนธิอย่างเดียว ไม่มีนามขันธ์ ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีสักทวารหนึ่งทวารใด ไม่มีทั้ง ๖ ทวาร ไม่ใช่ไม่มีเฉพาะ มโนทวาร แต่ไม่มีทั้งจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก มีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่รู้อารมณ์ ตราบเท่าที่กำลังเป็น อสัญญสัตตาพรหม เพราะเห็นโทษของนามธรรมจึงสามารถละคลายความพอใจ ในการเห็น ในการได้ยิน ในการได้กลิ่น เป็นต้น แต่ไม่สามารถดับกิเลส ไม่มีการเกิดอีกอย่างพระอรหันต์ จึงมีปัจจัยทำให้รูปปฏิสนธิ โดยนามไม่ปฏิสนธิเลย

    ผู้ฟัง อเหตุกกิริยา ๓ ดวง หสิตุปปาทจิตเป็นผลของพระอรหันต์ที่ยิ้มหรือแย้ม อีก ๒ ดวงมาจากไหน

    ท่านอาจารย์ กิริยาจิตไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบาก ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบาก หสิตุปปาทจิตไม่ใช่วิบาก และไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลด้วย จึงเป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง กิริยาจิตของพระอรหันต์ มีพระอรหันต์เป็นปัจจัยจึงเกิดได้ แต่ทำไม อเหตุกกิริยา ไม่มีต้นสายปลายเหตุ เกิดมาลอยๆ หรือ ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นอเหตุกกิริยาจิต เกิดเพราะอารมณ์กระทบกับปัญจทวาร เช่น เสียงกระทบกับโสตทวาร

    . กระทำกิจเฉยๆ

    สุ. เกิดขึ้นกระทำกิจ เพราะไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็รู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบกับทวาร แต่สำหรับจิตที่เป็นวิบาก ถ้าเป็นอกุศลวิบาก อารมณ์ต้องเป็นอนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นกุศลวิบาก อารมณ์ต้องเป็นอิฏฐารมณ์ สับสนกันไม่ได้ แต่สำหรับจิตที่เป็นกิริยาจิต เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถมีอารมณ์ได้ทั้งอนิฏฐารมณ์หรืออิฏฐารมณ์ จึงเป็นกิริยาจิต

    ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์หรือเป็นปุถุชนก็ตาม ต้องมีอเหตุกกิริยาจิต ๒ ดวง ที่ทำอาวัชชนกิจ ทางปัญจทวาร ๑ ดวง และทางมโนทวาร ๑ ดวง และสำหรับ พระอรหันต์นอกจากจะมีปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิตแล้ว ยังมี หสิตุปปาทจิตอีก ๑ ดวง ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ จึงเป็นอเหตุกกิริยา

    สำหรับพระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติ คือ วิบากจิตและกิริยาจิต ไม่ใช่มีแต่วิบากอย่างเดียว ไม่ใช่มีแต่เห็น และแทนที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อดับกิเลสหมด กุศลหรืออกุศลก็เกิดไม่ได้ ซึ่งเมื่อเห็นแล้ววิถีจิตต้องเกิด จึงต้องมีชวนวิถีที่เป็น กิริยาจิต และกิริยาจิตที่เป็นชวนวิถี นอกจากหสิตุปปาทแล้ว ต้องเป็นสเหตุกะ

    เรื่องของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจจริงๆ และจะต้องจำให้ได้จริงๆ ก่อนที่จะศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อไป ซึ่งถ้าแบ่งออกเป็นหมวดๆ ก็ไม่ยากต่อการจำและเข้าใจ

    ผู้ฟัง ทางมโนทวารก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ มโนทวาราวัชชนจิตก็เหมือนกัน อย่างที่ว่า เวลาคิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู ไม่อาศัยจมูก ไม่อาศัยลิ้น ไม่อาศัยกาย จะอาศัยอะไร ก็ต้องอาศัยจิตจึงจะรู้อารมณ์ได้ โดยภวังคุปัจเฉทะ ที่เป็นมโนทวารดับไป มโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กำลังคิด แต่ก่อนที่กุศลชวนะหรืออกุศลชวนะจะเกิด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้กิจของมโนทวาราวัชชนะได้ เพราะตามปกติในขณะที่เห็นนี้ ที่จะรู้อารมณ์ ก็ตรงชวนวิถี ขณะที่ได้ยิน ก็รู้อารมณ์ตรงชวนวิถีอีก มีใครรู้โสตวิญญาณ ๑ ขณะ เพียงขณะเดียว สั้น เล็กน้อยที่สุด และดับไป สัมปฏิจฉันนะที่เกิดต่อก็ขณะเดียว สั้น เล็กน้อยที่สุด และก็ดับ สันตีรณะก็เพียงขณะเดียว สั้น เล็กน้อยที่สุด และก็ดับ โวฏฐัพพนะก็เพียงขณะเดียว แต่ว่า ชวนจิตเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด เป็นมโนทวารวิถีจิต เพราะไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย และลองคิดดูว่า ขณะที่นึก บางครั้งเป็นสุข บางครั้งเป็นทุกข์ บางครั้งนึกถึงเรื่องสนุกๆ บางครั้งนึกถึงเรื่องไม่สนุกเลย ชวนะในขณะนั้นก็จะเป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง หรือคิดไปในเรื่องกุศล ก็เป็นมหากุศลจิตบ้าง แต่ก่อนที่กุศลจิตจะเกิดได้ มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน รู้อารมณ์ที่กระทบ ชั่วขณะเดียว และกุศลหรืออกุศลก็เกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดนึกอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่ไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิตซึ่งมีมโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก

    การที่กล่าวถึงลำดับของวิถีจิต ก็เพื่อที่จะให้รู้ว่า วิถีจิตไหนเกิดก่อน

    กุศลจิตก็เป็นวิถีจิต อกุศลจิตก็เป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิถีจิต สันตีรณะก็เป็นวิถีจิต มโนทวาราวัชชนะก็เป็นวิถีจิต ปัญจทวาราวัชชนะก็เป็นวิถีจิต แต่วิถีจิตต้องเกิดดับสืบต่อกันตามลำดับ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า สำหรับทาง ปัญจทวารวิถี วิถีจิตใดเป็นวิถีจิตที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ และทาง มโนทวารวิถี วิถีจิตใดเป็นวิถีจิตที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เพราะปัญจทวารวิถีมีวิถีจิตถึง ๗ ได้ ส่วนทางมโนทวารวิถี มีวิถีจิตเพียง ๓ วิถีจิตเท่านั้น

    ผู้ฟัง หมายความว่า มโนทวารกับปัญจทวารกระทำกิจเฉยๆ เกิดขึ้นมากระทำกิจ เป็นหน้าที่เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า ปัญจทวารกับมโนทวารไม่ได้ เพราะถ้าเป็นปัญจทวาร หมายความถึงรูป มโนทวารหมายความถึงภวังคุปัจเฉทะ เพราะฉะนั้น ต้องใช้คำว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต เป็นอเหตุกกิริยาจิต ยังไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น เป็นจิตที่เพียงกระทำกิจอาวัชชนะ รู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร และเวลาจะคิดนึกเรื่องใด มโนทวาราวัชชนจิตก็รู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทวาร ต่อจากนั้นก็เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แล้วแต่ว่าจะคิดเรื่องกุศล หรือจะคิดเรื่องอกุศล แต่ให้ทราบว่า กุศลหรืออกุศลจะเกิดเป็นชวนวิถีแรกไม่ได้ ต้องมีวิถีจิตอื่นเกิดก่อน ถ้าเป็นทางใจ มโนทวาราวัชชนจิตต้องเป็นวิถีจิตที่ ๑

    ผู้ฟัง ประพฤติปฏิบัติอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงได้ไปเกิดในชั้น อสัญญสัตตาพรหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    22 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ