จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 088
เพราะว่าโสภณเจตสิกจะเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้ และอัญญสมานาเจตสิกก็เกิดครบแล้วทั้ง ๑๓ ดวง เพราะฉะนั้น เจตสิกอีก ๒ ดวงซึ่งจะเกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๒ นี้ได้ คือ ถีนเจตสิก ๑ และมิทธเจตสิก ๑
สำหรับลักษณะของถีนเจตสิก คือ สภาพที่หดหู่ ท้อถอย ไม่อาจหาญ ลักษณะของมิทธเจตสิก คือ สภาพที่ง่วงงุน หรือว่าเคลิบเคลิ้ม เป็นสภาพที่ ไม่สามารถ และเป็นความทำลาย ซึ่งใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ มีข้อความว่า
ถีนเจตสิก มีความไม่อุตสาหะ มีลักษณะที่ท้อแท้ ไม่อาจหาญ เซาซึม เป็นลักษณะ
ทุกคนเคยมีไหม เป็นนามธรรม เป็นอกุศล
มีความบรรเทาความเพียรเป็นรสะ คือ เป็นกิจ
ถ้าถีนะเกิดแล้ว ที่คิดว่าจะเพียรทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนั้นก็ไม่อาจหาญและไม่อุตสาหะ
มีความซบเซา ท้อถอยเป็นปัจจุปัฏฐานะ คือ เป็นอาการปรากฏ
สำหรับลักษณะของมิทธเจตสิก มีข้อความว่า
มิทธเจตสิก มีความไม่ควรแก่การงาน คือ มีความไม่สามารถในการงาน เป็นลักษณะ
มีความลัดลง หรือมีความดิ่งลง ด้วยอำนาจความไม่ขะมักเขม้น เป็นลักษณะที่จมลง มีความตั้งลง เป็นรสะ
ไม่ใช่ตั้งขึ้น แต่ตั้งลง
มีความง่วงงุน หรือมีความหดหู่ หรือโงกง่วง เป็นปัจจุปัฏฐานะ คือ เป็นอาการที่ปรากฏ
ถีนมิทธะแม้ทั้งสอง มีอโยนิโสมนสิการในเพราะความไม่ใยดีและความ เกียจคร้าน ความหาวนอน เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
ผู้ฟัง พระธรรมที่กล่าวมานี้ คำที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ความท้อถอย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ได้ ความเซาซึม ความโงกง่วง
ผู้ฟัง คือ หมดกำลังใจที่จะปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ความท้อแท้ เวลาที่ถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะทำให้จิตดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๒๑ ดวง คือ เพิ่มอีก ๒ ดวง
ผู้ฟัง เวลาที่ถีนมิทธเจตสิกเกิด มีความอยากนอน ง่วงนอน อยากนอนมาก ในขณะนั้นถีนมิทธเจตสิกเกิดกับโลภะ สสังขาริกจิต ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่ ถีนมิทธะจะเกิดกับจิตประเภทอสังขาริกไม่ได้เลย ถีนมิทธะเป็นอกุศลเจตสิก และต้องเกิดกับอกุศลจิตที่เป็นสสังขาริก ทั้งที่เป็นโลภมูลจิต และ โทสมูลจิต
ผู้ฟัง ในขณะที่มีความง่วงนอน อยากนอนมากๆ ในขณะนั้นก็อยากนอนเอง ไม่มีใครมาชักจูงว่า จงมานอน คือ มีความอยากนอนเกิดขึ้นมาเอง ก็น่าจะเป็นโลภะ อสังขาริก
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเป็นคนมาชักจูง เวลาที่ไม่มีกำลัง เช่น อยากจะไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่ไม่มีใครพาไป ก็ไม่ไป ไม่ใช่ความอยากที่มีกำลังถึงขนาดที่ว่าใครไม่ไปก็จะไป ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม สภาพของจิตที่มีกำลัง กับสภาพของจิตที่ไม่มีกำลัง มีลักษณะที่ต่างกัน ไม่ใช่ว่าไม่อยาก อยาก แต่ความอยากนั้นเป็นความอยากที่ไม่มีกำลัง
ผู้ฟัง อยากนอนมากๆ ก็เป็นความอยากที่มีกำลังมากในการอยากจะนอน
ท่านอาจารย์ เวลาจะทำงาน ความอยากทำงานมีกำลังมากกว่าอยากนอนหรือเปล่า
ผู้ฟัง มีมากกว่า
ท่านอาจารย์ เวลาที่อยากนอน แสดงว่าไม่อยากจะทำอะไรแล้ว ใช่ไหม เคยอยากได้อะไรก็เอาไว้ก่อน เก็บไว้ก่อน นอนเสียก่อน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น แสดงว่าขณะนั้นเป็นโลภะที่ไม่มีกำลัง ถ้ามีกำลังจะไม่นอน จะต้องทำให้เสร็จทันที เพราะเป็นโลภะที่มีกำลัง แต่เวลาที่อยากจะนอนขึ้นมา ทำลายวิริยะ ความเพียร
ผู้ฟัง เป็นกำลังของความอยากที่จะนอน
ท่านอาจารย์ แต่ความอยากนั้น เมื่อเทียบกับความอยากอื่นแล้ว ก็เท่ากับไม่มีกำลัง ลองเปรียบเทียบดู ขณะที่กำลังอยากนอน แต่อยากจะทำอย่างอื่นให้เสร็จมากกว่า และไม่นอน อยากไหนจะมีกำลังมากกว่ากัน
ผู้ฟัง อยากจะทำงานมีกำลังมากกว่า แต่ขณะที่ไม่อยากทำงาน อยากจะนอนอย่างเดียว ความอยากที่จะนอนก็มีกำลัง
ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นแล้วว่า ในขณะนั้นจิตเป็นโลภมูลจิต เพราะมีความอยาก แต่ว่าความอยากนั้นเกิดร่วมกับถีนมิทธะ จึงทำให้ลักษณะของความอยากนั้นเป็นความอยากที่ซบเซา โงกง่วง ไม่ต้องการที่จะทำอย่างอื่น อยากจะพัก คือ ไม่ทำอะไร อยากไม่ทำอะไร ก็เป็นความอยาก แต่อยากไม่ทำอะไร ก็ต้องมีกำลังน้อยกว่า
ผู้ฟัง ก็เป็นโลภมูลจิตสสังขาริก แต่โดยอะไรชักจูง
ท่านอาจารย์ สำหรับโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ก่อนอื่นควรทราบว่า ต่างกับอสังขาริกโดยมีกำลังอ่อน ที่มีกำลังอ่อนเป็นเพราะไม่ได้สะสมมาที่จะมีกำลังกล้าในขณะนั้น
ที่ว่าอาศัยการชักจูง ไม่จำเป็นต้องมีคนอื่นมาพูด มาชักจูง แต่อาจจะเป็นความคิดที่ลังเลและภายหลังก็ทำ ไม่เหมือนกับความตั้งใจที่มั่นคงแน่วแน่ที่มีกำลังตั้งแต่แรก เช่น คิดว่าจะไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง และก็คิดอยู่นั่นแหละว่า จะไปดีหรือ ไม่ไปดี ถ้าไปก็หมายความว่า ไม่มีกำลังกล้าเท่ากับในขณะที่ไม่ลังเล เป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นสสังขาริก เป็นประเภทของจิตที่มีกำลังอ่อน โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการ ชักจูงของคนอื่นก็ได้ แต่เป็นเพราะขณะนั้นมีกำลังอ่อน จึงต้องอาศัยการคิดไปคิดมา คิดแล้วคิดอีก ลังเลไปลังเลมาก็ได้ แต่ควรจะถือหลักว่า เป็นสภาพของจิตที่มีกำลังอ่อนกว่าจิตที่เป็นอสังขาริก
ผู้ฟัง โลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีมานเจตสิกร่วมด้วย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่มีมานเจตสิก
ผู้ฟัง เพราะเหตุใด
ท่านอาจารย์ เพราะกำลังมีทิฏฐิ คนละขณะกับขณะที่มีมานะ ขณะนั้นเป็นเรื่องของความเห็น กำลังหมกมุ่น กำลังยุ่งอยู่กับเรื่องของความเห็น กำลังมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง หมายความว่า ขณะที่มีทิฏฐิ มานเจตสิกก็ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ จะไม่เกิดร่วมกันเลย มานเจตสิกจะเกิดร่วมกับทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ในขณะที่ไม่มีทิฏฐิ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดว่า เป็นคนละขณะจิต
ผู้ฟัง ถีนมิทธะ ๒ ดวงนี้ เกิดกับโมหมูลจิตได้ไหม
ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตประเภทสสังขาริก ซึ่งมีทั้งหมด ๕ ดวง คือ โลภมูลจิต สสังขาริก ๔ และโทสมูลจิตสสังขาริก ๑ เพราะฉะนั้น ถีนมิทธเจตสิกจะเกิดกับจิตเพียง ๕ ดวงเท่านั้น
ผู้ฟัง หมายความว่า ในโมหมูลจิตไม่มีถีนมิทธะประกอบเลย
ท่านอาจารย์ ไม่มี
ผู้ฟัง ขณะที่โมหมูลจิตเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีความง่วงเลย
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่
ผู้ฟัง ก็น่าคิด มีผู้ปฏิบัติบางท่านบอกว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น และพิจารณาในขณะที่ง่วง ขณะนั้นท่านบอกว่าเป็นโมหะ ในเมื่อรู้อย่างนี้ พูดอย่างนี้ ข้อปฏิบัตินั้นจะถูกหรือผิด
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้าขาดการศึกษาปริยัติ สภาพธรรมเกิดดับสลับกันอย่างเร็ว ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ บางครั้งจะถือกุศลเป็นอกุศล หรือจะถืออกุศลเป็นกุศลก็ได้
ลักษณะสภาพที่ง่วงมี ใช่ไหม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะเป็นเราที่กำลังง่วง แต่ลักษณะที่ง่วงก็เป็นสภาพของอกุศลเจตสิกซึ่งเกิดในขณะนั้น ไม่ใช่เรา ซึ่งสติปัฏฐานเมื่อระลึกแล้วจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ข้อสำคัญ คือ ต้องรู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม
สำหรับเรื่องของถีนมิทธะก็น่าสนใจ ซึ่งต้องทราบว่าเป็นอกุศล และในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่พิจารณาจิตจะไม่ทราบเลยว่า ในขณะที่กำลังเกียจคร้าน หรือกำลัง ซบเซา หดหู่ ง่วงเหงา โงกง่วงต่างๆ เหล่านั้น ก็เป็นสภาพของอกุศลซึ่งเป็น นิวรณธรรม
ผู้ฟัง ขณะที่ง่วงนอน เป็นโลภมูลจิต โสมนัสทำไมเกิดในขณะนั้น น่าจะเป็นอุเบกขา
ท่านอาจารย์ ความรู้สึกของคนเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย แต่ละคนจะเกิดโสมนัสหรือจะเกิดอุเบกขา โสมนัสที่นี่ไม่จำเป็นต้องเป็นโสมนัสอย่างแรงก็ได้ บางคนสภาพของจิตเป็นคนที่มีจิตใจแช่มชื่น รื่นเริง สนุกสนานอยู่เสมอ หัวเราะแล้วก็หลับ ได้ไหม แล้วแต่บุคคลจริงๆ
อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ พระบาลีนิทเทส ถีนมิทธนิวรณ์ ข้อ ๑๑๖๒ มีข้อความว่า
ใน ๒ อย่างนั้น ถีนะ เป็นไฉน
คือ ความเป็นธรรมชาติไม่สามารถแห่งจิต ความเป็นธรรมชาติไม่สำเร็จประโยชน์ในการงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ กิริยาที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความกระด้าง กิริยาที่กระด้าง ภาวะที่กระด้างแห่งจิตอันใด นี้เรียกว่า ถีนะ
มิทธะ เป็นไฉน
คือ ความเป็นธรรมชาติไม่สามารถแห่งกาย (กายที่นี่หมายความถึงเจตสิก) ความเป็นธรรมชาติไม่สำเร็จประโยชน์ในการงานแห่งกาย ความปกคลุม ความหุ้มห่อ ความปิดบังไว้ภายใน ความง่วงเหงา ความโงกง่วง ความหาวนอน กิริยาที่หาวนอน ภาวะที่หาวนอนอันใด นี้เรียกว่า มิทธะ
สำหรับเจตสิก ๒ ดวงนี้ ไม่แยกกัน เวลาที่ถีนะเกิด มิทธะก็เกิดร่วมด้วย ถ้าจะกล่าวถึงถีนะ ย่อมหมายความว่า ในขณะนั้นมีมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เป็นอย่างนี้บ่อยไหม หรือไม่เคยเลย หดหู่ ท้อแท้ ถดถอย ทำไม่ไหวแล้วเลิกที นี่เป็นลักษณะของถีนมิทธะ ไม่ว่าจะกำลังทำอะไร ถ้ามีความรู้สึกที่เป็นภาวะของจิต ซึ่งไม่สำเร็จประโยชน์ในการงาน หรือท้อแท้ เป็นจิตประเภทที่มีกำลังอ่อน
สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๒ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง ถ้าถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกไม่เกิดร่วมด้วย เพราะไม่จำเป็นที่ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกจะเกิดกับ โลภมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นสสังขาริกเสมอไป แต่ถ้าขณะใดที่ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกจะเกิด จะไม่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ แต่จะเกิดกับโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก
น่าสงสัยไหมว่า โลภมูลจิตดวงที่ ๒ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างไร เพราะเป็นโสมนัส และประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดด้วย แต่แม้กระนั้นถีนมิทธเจตสิกก็ยังเกิดได้ เพราะผู้ที่มีความเห็นผิด ตราบใดที่ยังยึดถือในความเห็นผิดนั้นอยู่ ความเห็นผิดย่อมมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าในเวลาไหน กำลังง่วง จะไม่ให้มีความเห็นผิดได้ไหม สำหรับคนที่สะสมความเห็นผิดมา และยึดถือในความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิดนั้น
บางคนเข้าใจว่า ที่โงก เป็นวิปัสสนาญาณ
เป็น โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ที่มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย แสดงให้เห็นว่า กำลังง่วง ความเห็นผิดย่อมเกิดได้ เพราะว่ากำลังโงกอยู่ ก็เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งความจริงถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ต้องโงกหรือเปล่า
ขณะนี้เอง ปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ผิดปกติ จึงจะเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะว่าเป็นปัญญาที่ศึกษาลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งมีกำลัง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล หรือแม้ถีนมิทธะที่กำลังเกิดอยู่ สติปัฏฐานก็สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้
เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือว่ากำลังประกอบกิจการงาน หรือที่ไหนก็ได้ เพราะทันทีที่สติระลึก ซึ่งทุกท่านในขณะนี้พิสูจน์ได้ อาจจะมีปัจจัยที่เมื่อฟังแล้วสติระลึก ตรวจสอบได้ว่า ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏหรือเปล่า ถ้ายัง ก็หมายความว่า ต้องอบรมเจริญไปจนกว่าปัญญาจะสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ
การเป็นผู้ที่สังเกตละเอียดขึ้น การพิจารณาให้เข้าใจในเหตุผลจริงๆ และความเป็นผู้ตรง จะทำให้ไม่หลอกตัวเอง ไม่หลอกคนอื่น และไม่ถูกคนอื่นหลอกด้วย เพราะเป็นผู้ที่สามารถจะรู้ว่า คำพูดที่ได้ยินเกิดจากจิตประเภทใด ซึ่งในวันหนึ่งๆ มีมาก ทุกคนได้ยินได้ฟังเรื่องต่างๆ แต่ขาดการสังเกตแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เป็นผู้ที่ไม่ละเอียด เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมจะต้องพิจารณาจริงๆ และละเอียดขึ้น
ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ แสดงเหตุเกิดแห่งทิฏฐิ ทุกคนไม่อยากจะมีความเห็นผิด แต่ไม่รู้ตัวว่า ถ้าขาดความละเอียดและความเป็นผู้สังเกต จะเป็นปัจจัยทำให้โน้มเอียงไปสู่ความเห็นผิดทีละเล็ก ทีละน้อยได้ เพราะเหตุเกิดแห่งทิฏฐิที่แสดงไว้ใน อัฏฐสาลินี มีว่า
อสัทธัมมสวนัง การฟังแต่อสัทธรรม
อกัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว
อริยานัง อทัสสนกามตาทีนิ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น
อโยนิโสมนสิการ การไม่พิจารณาโดยแยบคาย
ถ้าได้พิจารณาแต่ละข้อจริงๆ จะเป็นการเกื้อกูลต่อการให้ไม่โน้มเอียงไปสู่การเป็นผู้เห็นผิด เพราะวันนี้อาจจะไม่เห็นผิด แต่ต่อไปข้างหน้าถ้าเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด จะเห็นผิดได้ไหม ถ้าฟังแต่อสัทธรรม ก็ย่อมเป็นได้ แม้แต่พระสัทธรรมก็ยังต้องฟังโดยความละเอียดรอบคอบที่จะต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นเป็นความจริงที่สามารถจะพิสูจน์ได้หรือเปล่า นี่คือโยนิโสมนสิการ
บางทีทุกท่านได้ยินคำว่า โยนิโสมนสิการ การพิจารณาโดยแยบคาย ก็ถามถึงวิธีทำทันทีว่า ทำอย่างไรพิจารณาโดยแยบคาย ต้องการที่จะทำ คือ ต้องการที่จะโยนิโสมนสิการ แต่ตามความจริง ชีวิตประจำวันนี่เอง พิจารณาได้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ ว่าเป็นผู้ที่โยนิโสมนสิการหรือเปล่า คือ เป็นผู้ที่ทำความเห็นให้ตรง
ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า
ไม่พิจารณาโดยแยบคาย อโยนิโสมนสิการ ได้แก่ เป็นผู้ที่ถือมงคลตื่นข่าว
และชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าไม่สังเกตจะไม่ทราบเลยว่า โน้มเอียงไปหรือเปล่า
ข้อความใน มังคลัตถทีปนี อธิบายว่า
บางคนถือว่า เห็นโคแดงเป็นต้นเป็นทิฏฐมงคล บางคนถือว่า ได้ยินเสียงหรือคำต้อนรับอวยชัยให้พรเป็นต้นเป็นสุตมงคล บางคนก็ถือว่า เมื่อได้สัมผัส เช่น นุ่งผ้าขาว หรือโพกผ้าขาว หรือว่าลูบไล้ด้วยดินสอพองโดยถูกต้องตามวิธีเป็นต้น หรือได้กลิ่นดอกบัวเป็นต้น หรือได้ลิ้มรสอาหารบางรสเป็นต้น เหล่านี้เป็นมุตมงคล
ถ้าถืออย่างนั้น เป็นอโยนิโสมนสิการ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องพิจารณาโดยละเอียด แม้แต่การนุ่งห่มผ้าขาว หรือโพกผ้าขาว เป็นมงคลหรือเปล่า ถ้าถือว่าเป็นมงคล เป็นอโยนิโสมนสิการ คือ ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า มงคลจริงๆ คืออะไร
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ อย่าเป็นผู้ที่ขาดการสังเกต ขาดการพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้าจะไม่เป็นผู้ที่มีความเห็นผิด เพราะโน้มเอียงไปที่จะไม่พิจารณาในเหตุในผล ซึ่งการที่จะเป็นผู้ตรงต่อพระธรรมวินัย ตรงต่อความเห็นถูก ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและสังเกตจริงๆ
คำอธิบายเหตุเกิดแห่งทิฏฐิมีว่า
จริงอยู่ ความเห็นผิดนั้นพึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยการฟังอันเว้นจากการเข้าไปพิจารณาเห็นอย่างรอบคอบ ก้าวล่วงความเป็นกลางเสีย มุ่งที่จะนับถือเป็นอย่างมากซึ่งอสัทธรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยวาทะ คือ ทิฏฐิเหล่านี้
เรื่องที่ได้ยินได้ฟังบางเรื่องไม่น่าเชื่อเลย แต่ยังมีคนเชื่อได้ แสดงว่าอะไร จริงอยู่ ความเห็นผิดนั้นพึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นด้วยการฟัง อันเว้นจากการเข้าไปพิจารณาเห็นอย่างรอบคอบ ก้าวล่วงความเป็นกลางเสีย มุ่งที่จะนับถือเป็นอย่างมาก ซึ่งอสัทธรรมทั้งหลายอันประกอบด้วยวาทะ คือ ทิฏฐิเหล่านี้
ในวันหนึ่งๆ แม้ทุกท่านจะไม่คุยกันถึงเรื่องทิฏฐิเลย วันนี้มีใครคุยกันเรื่องทิฏฐิบ้างตั้งแต่เช้ามา ก็ไม่มี คุยเรื่องคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง เหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้บ้าง แต่แม้อย่างนั้น ไม่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากผู้ใกล้ชิดบ้าง มิตรสหายบ้าง วงศาคณาญาติบ้าง เป็นผู้ตรงแม้ในการฟังเรื่องอย่างนั้นๆ หรือเปล่า เป็นผู้ที่สังเกตวาจาของผู้กล่าวหรือเปล่าว่า เกิดจากจิตประเภทใด ซึ่งผู้ฟังสามารถรู้ได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้พูดเท่านั้นที่รู้ แต่ผู้ฟังก็ยังสามารถที่จะรู้ได้ว่า วาจาอย่างนี้เกิดจากอกุศลจิตประเภทใด เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าเริ่มสังเกตแม้ในเรื่องที่ไม่ใช่เกี่ยวกับทิฏฐิหรือความเห็นผิด ก็ยังจะเห็นได้ว่า เกื้อกูลต่อการเป็นผู้ที่ทำความเห็นให้ตรง ต้องเป็นผู้ที่สะสมความตรงไปทุกชาติ เพราะทุกคนยังมีกุศลและยังมีอกุศล ไม่ใช่มีแต่อกุศลอย่างเดียว หรือมีกุศลอย่างเดียว ไม่ว่าใครทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น แต่ละคนย่อมมีเวลาที่อกุศลจิตจะเกิด และก็กล่าววาจาที่เป็นอกุศล แต่รู้สึกตัวได้ไหม และในขณะเดียวกัน อย่าลืม ผู้ฟังที่สังเกต ย่อมสามารถที่จะรู้ได้ เพราะถ้าไม่เป็นผู้ตรง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่ได้ทรงแสดงลักษณะของ อกุศลธรรมไว้โดยละเอียดทุกประการ แม้แต่ผู้ที่มีอกุศลเองก็ย่อมไม่รู้จักตัวเองว่า อกุศลลึกและมีเล่ห์กลแค่ไหน
ขอกล่าวถึงประโยชน์ของการเป็นผู้ละเอียดและเป็นผู้ที่สังเกต จากตัวอย่างของพระผู้มีพระภาคใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๑
มีคำถามว่า
ก็พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรม ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อน เพราะเหตุใด
เท่านี้เอง แสดงถึงความเป็นผู้ละเอียด ในพระไตรปิฎกไม่ว่าจะเป็นในสูตรไหนก็ตาม พระผู้มีพระภาคจะตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่ท่านผู้ฟังอาจจะข้ามไป ไม่พิจารณาเลยว่าเพราะเหตุใด ทำไมพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรมตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อน แต่ความเป็นผู้ละเอียด ความเป็นผู้สังเกต จึงมีคำถามนี้ที่ถามว่า
ก็พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรม ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อน เพราะเหตุใด เมื่อไม่ตรัสเรียก ไม่ทรงแสดงธรรมนั่นเทียว มิใช่หรือ
ตอบว่า เพื่อให้เกิดสติ
การที่จะฟังพระธรรม ต้องเป็นผู้ที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่จะพิจารณาเหตุผลที่ได้ฟังจึงจะได้ประโยชน์จริงๆ ประโยชน์ของพระธรรม คือ เข้าใจและประพฤติปฏิบัติตามด้วย อย่าเพียงแต่ศึกษามากๆ จนจบ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งนั่นไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระภิกษุทั้งหลาย เพื่อให้เกิดสติ
จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคิดถึงสิ่งอื่นอยู่ เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง พิจารณาธรรมอยู่บ้าง ใส่ใจกัมมัฏฐานอยู่บ้าง นั่งแล้ว เมื่อพระองค์ไม่ตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นแล้วแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลายไม่อาจเพื่อจะกำหนดว่า เทศนานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วด้วยการเกิดขึ้นแห่งเนื้อความเช่นไร ดังนี้ พึงเรียนเอาอย่างไม่ดี หรือไม่พึงเรียนเอา เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกก่อน แล้วทรงแสดงธรรมในภายหลัง ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็ทูลรับคำเรียกของ พระผู้มีพระภาค แสดงว่าเป็นผู้มีหน้าเฉพาะ ฟังแล้ว
นี่เป็นเหตุที่จะต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เห็นประโยชน์แม้แต่ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อนที่จะทรงแสดงธรรม
การที่จะฟังพระธรรม พิสูจน์ได้ตั้งแต่ ๒,๕๐๐ กว่าปีที่พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน พระวิหารต่างๆ จนกระทั่งถึงสมัยนี้ จิตไม่ได้อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาเลย เกิดดับอย่างรวดเร็ว ขณะนี้คิดถึงอะไรบ้าง กำลังว่างๆ เงียบๆ ชั่วขณะนี่ จิตเกิดขึ้นแล้ว คิดแล้ว นึกแล้ว เรื่องอื่นแล้ว เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีสติในขณะที่ฟัง เพราะ เมื่อคิดถึงสิ่งอื่นอยู่ เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านบ้าง พิจารณาธรรมอยู่บ้าง
การที่จะฟังพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระโอษฐ์ ณ พระวิหารเชตวัน เป็นต้น กับการที่จะพิจารณาธรรมเอง อย่างไหนจะเป็นประโยชน์กว่ากัน
บางคนอาจจะพิจารณาธรรมจริง แต่เมื่อมีโอกาสได้เฝ้าได้ฟังพระธรรมจาก พระโอษฐ์ ย่อมสามารถได้ฟังสิ่งซึ่งเกื้อกูลต่อบุคคลนั้นตามอัธยาศัยที่สะสมมา ซึ่ง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะทรงสามารถแสดงธรรมได้ตรงกับอัธยาศัยของผู้ฟังว่า ธรรมใดเหมาะควรกับอัธยาศัยของบุคคลใด
เพราะฉะนั้น แม้พิจารณาธรรมอยู่บ้าง พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสเรียกเพื่อที่จะให้เกิดสติ ในขณะที่ฟังธรรม
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 051
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 052
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 053
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 054
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 055
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 056
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 057
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 058
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 059
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 060
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 061
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 062
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 063
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 064
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 065
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 066
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 067
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 068
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 069
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 070
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 071
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 072
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 073
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 074
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 075
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 076
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 077
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 078
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 079
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 080
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 081
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 082
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 083
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 084
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 085
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 086
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 087
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 088
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 089
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 090
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 091
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 092
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 093
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 094
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 095
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 096
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 097
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 098
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 099
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 100