จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 089
เพราะฉะนั้น แม้พิจารณาธรรมอยู่บ้าง พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสเรียกเพื่อที่จะให้เกิดสติ ในขณะที่ฟังธรรม
ข้อความต่อไปที่ว่า บางท่านในขณะนั้น ใส่ใจกัมมัฏฐานอยู่บ้าง
แม้ในขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่พระธรรมที่ได้ฟังจากพระโอษฐ์จะทำให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏชัดเจนถูกต้อง เพิ่มขึ้น เพื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ใช่ว่าปล่อยไป ให้ไปนั่งอยู่ที่ไหนคนเดียว และไม่มีพระธรรมที่จะเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงแสดงพระธรรมเป็นเนืองนิตย์ เมื่อผู้ใดอบรม เจริญปัญญามาแล้วในอดีตที่จะเข้าใจ สะสมอบรมความเข้าใจมามาก ก็เป็น สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้ในขณะที่ไม่ได้เฝ้า ไม่ได้ฟังพระธรรมเฉพาะพระพักตร์ แต่แม้ขณะที่กำลังเฝ้าฟังพระธรรม และใส่ใจกัมมัฏฐานอยู่ พระธรรมที่ทรงแสดงในขณะนั้น ย่อมเกื้อกูลที่จะทำให้ฟังไป พิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น เกื้อกูลต่อการที่ปัญญาจะคมพอที่จะละการยึดถือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกภิกษุ เพื่อให้เกิดสติ
เพราะฉะนั้น ไม่มีเลยที่เมื่อไม่ตรัสเรียกแล้วทรงแสดงธรรม
นี่คือความเป็นผู้ละเอียด ซึ่งทุกท่านจะต้องสังเกตสภาพของจิต และเหตุผลที่มีปรากฏในพระไตรปิฎก และจะเห็นได้ว่า แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยที่ต่างกัน แม้ในเรื่องของความละเอียด บางคนละเอียดมาก บางคนละเอียดน้อย เพราะฉะนั้น แต่ละขณะจิตที่เกิดและดับไป ย่อมสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทำให้เป็นผู้มีจริตอัธยาศัยต่างๆ กันอย่างละเอียดที่สุด ที่จะสังเกต พิจารณาแม้โทษของกุศลที่เป็นไปในวัฏฏะ เพราะโดยมากทุกคนเห็นโทษของอกุศล แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดกว่านั้นอีกในการที่จะเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะจะต้องเป็นผู้ที่สังเกต พิจารณาเห็นโทษแม้ของกุศลที่เป็นไปในวัฏฏะ เพื่อการไม่ติดในผลของกุศล ซึ่งใน มโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาวรรคที่ ๓ สูตรที่ ๓ มีข้อความว่า
บัณฑิตพึงทราบจิตที่บังเกิดขึ้นด้วยสามารถวัฏฏะนั่นเทียว ข้อว่าจิตย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศมากดังนี้ ความว่า จิตใดเมื่อให้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ความเป็นใหญ่ในมารและพรหมก็ดี เมื่อให้ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความเศร้าโศก ความปริเทวนา ความทุกข์ ความโทมนัส ความแห้งผากแห่งใจบ่อยๆ และ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และวัฏฏะในปฏิจสมุปปาทะ ชื่อว่าย่อมให้กองทุกข์ทั้งสิ้น เพราะเหตุนั้นจิตนั้นชื่อว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์อันใหญ่
เพราะฉะนั้น กุศลย่อมให้ผลที่ดี แต่เมื่อยังเป็นกุศลในวัฏฏะ ก็ต้องเห็นแม้โทษด้วยว่า ถ้ามีความติด ความเพลิดเพลิน ความพอใจในผลของกุศลนั้นๆ ย่อมเป็นการยากที่จะบรรลุอริยธรรม แม้เพียงจะฟังก็ยังไม่ค่อยมีเวลา หรือว่ายังไม่สามารถที่จะพิจารณาธรรมได้บ่อยๆ ในวันหนึ่งๆ เพราะเป็นไปในเรื่องของความสนุก ความเพลิดเพลินต่างๆ
ขอกล่าวถึงโทษของมิจฉาทิฏฐิ ก่อนที่จะกล่าวถึงโลภมูลจิตดวงที่ ๓ ซึ่งไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ข้อความใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๑๙๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร คือ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากสัทธรรมแล้วให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ
แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เป็นโทษเฉพาะตนคนเดียวเท่านั้น แต่ยังเผยแพร่ความเห็นผิดออกไปสู่บุคคลเป็นจำนวนมากด้วย
ข้อ ๑๙๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่งซึ่งจะมีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง ฯ
ซึ่งใน ข้อ ๑๙๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นบุคคลอื่นแม้คนเดียวที่ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เหมือนกับโมฆบุรุษชื่อว่า มักขลินี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลพึงทิ้งลอบไปที่ปากอ่าว เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก แม้ฉันใด โมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิก็ฉันนั้นเหมือนกันแล เป็นดังลอบสำหรับดักมนุษย์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก ฯ
ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา เอกนิบาต มีว่า
ก็ในคำนี้ว่า เอกปุคคโล บัณฑิตพึงทราบ พระเทวทัตและพร้อมกับครู ๖ คน และชนเหล่าอื่นเห็นปานนั้น
ไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะท่านพระเทวทัตหรือครูทั้ง ๖ แต่ ชนเหล่าอื่นเห็นปานนั้น คือ ผู้ที่มีความเห็นผิด ปฏิบัติผิดทั้งหมด
ข้อความต่อไป อธิบายโทษของมิจฉาทิฏฐิว่า
จริงอยู่ อนันตริยกรรมทั้งหลาย ชื่อว่ามีโทษมาก มิจฉาทิฏฐินั่นเทียวยังมีโทษมากกว่าอนันตริยกรรมเหล่านั้น
ถามว่า เพราะเหตุไร
แก้ว่า การกำหนดอนันตริยกรรมเหล่านั้นมีอยู่ จริงอยู่ อนันตริยกรรม ๔ อย่างท่านกล่าวว่า ย่อมยังสัตว์ให้เกิดในนรก แม้กรรม คือ สังฆเภท เป็นของตั้งอยู่ตลอดกัปในนรก การกำหนดของอนันตริยกรรมเหล่านั้นมีอยู่ ที่สุดก็ยังปรากฏ แต่การกำหนดนิยตมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไม่มี
จริงอยู่ นิยตมิจฉาทิฏฐินั้นเป็นมูลของวัฏฏะ การออกจากจากภพของสัตว์ผู้ประกอบด้วยนิยตมิจฉาทิฏฐิย่อมไม่มี สัตว์เหล่าใดย่อมสำคัญคำที่ตนพึงฟังของ นิยตมิจฉาทิฏฐิกบุคคล สัตว์เหล่านั้นย่อมให้ถึงความพินาศนั่นเทียว ก็สำหรับสัตว์ผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐินั้น ไม่มีสวรรค์ ไม่มีมรรค
กรรมใดๆ ที่ทำแล้ว เมื่อมีปัจจัยที่จะให้ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น แม้อกุศลกรรมที่เป็นอนันตริยกรรม ที่เป็นกรรมหนัก ที่จะต้องให้ผลในชาติหน้าสืบต่อจากจุติจิตของชาตินี้ที่ดับลง ซึ่งอกุศลวิบากที่ทำให้เกิดในอบายก็ยังมีกาลที่จะหมดสิ้น แต่สำหรับความเห็นผิด ตราบใดที่ยังไม่ละทิ้งให้หมดสิ้น ยังไม่อบรมเจริญความเห็นถูกขึ้น ผู้นั้นย่อมต้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์โดยไม่มีการกำหนดได้ว่า เมื่อไรจึงจะพ้น เพราะยังมีความเห็นผิดอยู่
สำหรับโทษของอนันตริยกรรม ซึ่งเป็นครุกรรมทางฝ่ายอกุศล จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิชาติต่อไปทันทีที่จุติจิตของชาตินี้ดับลง สำหรับอนันตริยกรรมซึ่งโทษหนักที่สุด คือ สังฆเภท
สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ผู้ที่จะดับได้จริงๆ ผู้นั้นต้องเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ยังเป็นผู้ที่เริ่มสนใจและเจริญสติปัฏฐานอยู่ ยังไม่ได้ดับมิจฉาทิฏฐิเป็นสมุจเฉท ก็จะต้องพากเพียรประพฤติปฏิบัติเพื่อให้มีความเห็นถูกเพิ่มขึ้นจนกว่าจะดับความเห็นผิดได้ มิฉะนั้นแล้ว ไม่มีใครรับประกันได้ว่า แต่ละท่านที่มีความเห็นถูกบ้าง ต่อไปจะค่อยๆ เอียงเป็นความเห็นผิดบ้างหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ และพร้อมที่จะทิ้งความเห็นผิดทันที เพราะความเห็นผิดมีโทษมากจริงๆ แม้ว่าจะได้พบพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างพวกอัญญเดียรถีย์ ก็ยังไม่สามารถพิจารณาพระธรรมที่ทรงแสดงได้ ยังคงยึดถือความเห็นผิดต่อไป
ผู้ฟัง คำว่า บัญญัติ อยากทราบความหมาย ลักษณะ และขอบเขตว่า เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติ คือ ไม่ทรงแสดง ย่อมไม่มีใครสามารถเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ทุกคนมีจิต มีเจตสิก แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติสภาพธรรมทั้งหลายด้วย พระสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นบัญญัติที่ถูกต้องตรงกับลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่มีอยู่ได้
ผู้ฟัง หมายความว่า เป็นตัวแทนอีกที ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ต้องการให้รู้อรรถหรือความหมายของสิ่งที่มีจริงด้วยคำพูด
ต่อไปเป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๓ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง ได้แก่ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด และมีกำลังกล้า เพราะเป็นอสังขาริก ผู้ที่จะดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ได้หมดสิ้น ต้องเป็นพระอรหันต์
โลภมูลจิตมี ๘ ดวง ให้ทราบว่า โลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด พระโสดาบันบุคคล พระอริยะขั้นต้น ดับมิจฉาทิฏฐิทั้งหมดได้ แต่ดับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไม่ได้ ซึ่งผู้ที่จะดับได้หมดสิ้นต้องเป็นพระอรหันต์
แสดงให้เห็นถึงความลึกของความติดของโลภะ ซึ่งเป็นรากที่ลึกมาก ที่แผ่ไป จนกระทั่งความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เจริญเติบโต ทุกภพชาติ แม้ว่าในขณะนั้นไม่ได้เกิดร่วมกับความเห็นผิด เพราะว่าในชีวิตวันหนึ่งๆ ทุกคนยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ บางคนไม่คิดถึงเรื่องความเห็นผิดเลย ไม่มีความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าคุยกัน ก็เป็นแต่เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์เกิดบ่อยๆ ย่อมมีกำลัง แม้ว่าพระโสดาบันจะดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์หมด แต่ก็ดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไม่ได้
ผู้ที่จะดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ได้หมดสิ้น ต้องเป็นพระอรหันต์ แต่ผู้ที่จะดับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น พระอนาคามีบุคคลไม่มีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงดับโทสมูลจิตด้วย สำหรับพระสกทาคามีสามารถคลายโลภะที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างหยาบได้
เพราะฉะนั้น ท่านที่สนใจธรรม และคนอื่นกล่าวว่า ไม่เห็นจะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็แสดงว่าคนที่กล่าวไม่เข้าใจถึงสภาพของจิตตามความเป็นจริงว่า พระโสดาบันไม่ใช่พระอรหันต์ การที่จะดับโลภะแม้ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องเป็นไปตามขั้น คือ พระโสดาบันยังดับไม่ได้ พระสกทาคามีคลายอย่างหยาบได้ พระอนาคามีดับความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ แต่ยังมีโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ซึ่งยินดีพอใจในภพ ท่านไม่มี ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะก็จริง แต่ท่านยังไม่ใช่ พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ยังเหลือความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ที่มีอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นกุศล เป็นความสงบ
ขอกล่าวถึงลักษณะของโลภะเพิ่มเติมจากที่เคยกล่าวถึงแล้ว
ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต มีข้อความที่แสดงถึงลักษณะของโลภะว่า มีเป็นประเภทต่างๆ คือ
ความโลภมากชื่อว่า มหิจฉตา อัตริจฉตาความปรารถนารุนแรง ปาปิจฉตาความปรารถนาลามก
เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละคน ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้จะไม่ได้พิจารณาว่า โลภะขั้นไหนเกิดขึ้นแล้วกับท่าน
ข้อความอธิบายว่า
เมื่อลาภของตนเป็นไปอยู่ ความปรารถนาในลาภของบุคคลอื่น ชื่อว่า อัตริจฉตา
เคยอยากได้ของบุคคลอื่นบ้างไหม ของพี่ ของน้อง ของลุง ของป้า ของน้า ของอา หรือของเพื่อน สวยจริง อยากได้บ้างไหม สักนิดสักหน่อย เมื่อเป็นของคนอื่น บางทีเห็นว่าสวย ก็ชื่นชมยินดีในสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ที่คนอื่นมีโดยไม่อยากได้
แต่ในบางขณะ ลองพิจารณาดูว่า มีความรู้สึกอย่างนี้บ้างไหม
แม้เมื่อขนมอันสุกในภาชนะอันเดียวกัน สำหรับบุคคลผู้มีความปรารถนานั้น เมื่อเขาใส่ลงในบาตรของตน ย่อมปรากฏเหมือนขนมไม่สุก เป็นขนมเล็กน้อย ขนมอันเดียวกันนั้นนั่นเชียวอันเขาใส่ลงในบาตรของบุคคลอื่น ย่อมปรากฏเหมือนของสุกดีและเหมือนชิ้นใหญ่
รู้สึกอย่างนี้บ้างไหม ของสิ่งเดียวกัน ชิ้นเดียวกัน ถ้าเป็นของตนจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นของคนอื่นรู้สึกอย่างไร ท่านที่ไปรับประทานอาหารด้วยกันหลายๆ ท่าน บางท่านก็สั่งอาหารตามที่ท่านคิดว่าคงจะอร่อยดี แต่เวลาที่อาหารของคนอื่นมา รู้สึกน่าสนใจกว่าอาหารที่ท่านสั่งหรือเปล่า นี่คือลักษณะของโลภะในชีวิตประจำวัน จริงๆ ที่ให้รู้ว่า สิ่งใดซึ่งเป็นของตน สิ่งนั้นดูเสมือนไม่มีค่าสักเท่าไร ไม่น่ายินดีพอใจสักเท่าไร แต่เวลาเป็นของคนอื่นมีความรู้สึกว่า ดี ชิ้นใหญ่ หรือว่าสุกดี หรือว่าน่าจะอร่อย นี่เป็นลักษณะของโลภะที่มีมาก ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของการเป็นผู้ที่มีธรรมฝ่ายตรงกันข้ามกัน เช่น บางท่านเป็นผู้ที่มักมาก ต้องการมาก แต่บางท่านมักน้อย เป็นผู้ที่ไม่มีความต้องการอย่างท่านอื่น แม้ว่าท่านเป็นผู้ที่ทรงคุณก็ยังไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่นรู้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัธยาศัยที่ต่างกัน
มโนรถปูรณี อรรถกถา ได้กล่าวถึง ท่านพระมหากุมารกัสสปเถระ ผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร อยู่ในสุสานมาเป็นเวลา ๖๐ ปี ภิกษุอื่นแม้รูปเดียวก็ไม่ทราบเลย เพราะเหตุนั้นพระเถระจึงได้กล่าวแล้วว่า
เราอยู่ในป่าช้าอันไม่มีความพลุกพล่านเป็นเวลา ๖๐ ปี ภิกษุรูปที่ ๒ ไม่พึงรู้เราเลย โอ ภิกษุผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร เป็นสิ่งยอดเยี่ยม ดังนี้
นี่คือผู้มักน้อย ตรงกันข้ามกับมักมาก แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ทำความดี ก็ไม่ได้ปรารถนาให้คนอื่นรู้ เพราะอะไร จำเป็นไหมที่จะให้คนอื่นรู้ เพื่ออะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความมักมาก ก็อยากให้คนอื่นสรรเสริญ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ผมคิดว่า ถ้าเราเข้าไปในป่า ไปบำเพ็ญความดี ถ้าเราไม่ออกมาแสดงความดีให้คนที่ไม่สนใจศึกษาหาความรู้ได้รับรู้ ความดีที่เราปฏิบัติก็อาจจะได้เพียงเราคนเดียวเท่านั้น แต่ถ้าออกมาให้คนอื่นได้รับรู้เพื่อให้เขาศึกษาธรรมบ้าง ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์
ท่านอาจารย์ ท่านเหล่านั้นจะแสดงธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านต้องบอกว่า ท่านมีวัตรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้คนอื่นสรรเสริญ ท่านอยู่ป่าเป็นวัตร และท่านจะแสดงธรรมก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ป่าเป็นวัตรโดยเปิดเผย เพื่อให้คนอื่นสรรเสริญ นี่เป็นความต่างกัน
เพราะฉะนั้น ข้อความใน มโนรถปูรณี มีว่า
ก็พระภิกษุใดเป็นพระอริยบุคคลตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง มีพระโสดาบัน เป็นต้น ย่อมไม่ปรารถนาเพื่อจะให้บุคคลอื่นรู้ความที่ตนเป็นพระอริยบุคคล มี พระโสดาบัน เป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่ามีความปรารถนาน้อยในอธิคม
ความปรารถนาน้อย ต้องน้อยทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องให้มีการสรรเสริญ
ผู้ฟัง ขณะที่แสดงธรรมนั้น จะไม่บอกอะไรที่เกี่ยวกับตัวเอง แต่พูดในลักษณะทั่วๆ ไป คือ จะไม่บอกเกี่ยวกับยศถาบรรดาศักดิ์หรือคุณวุฒิที่ตัวเองได้มา แต่จะแสดงธรรมทั่วๆ ไป โดยไม่เน้นเรื่องส่วนตัว ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่ แม้แต่พี่น้อง มีพระเถระผู้เป็นพี่น้องกัน ๒ รูป อยู่ในเจติยบรรพต ภิกษุผู้เป็นน้องชายถือเอาท่อนอ้อยอันอุปัฏฐากส่งไป ได้ไปสู่สำนักของพระพี่ชาย ด้วยกล่าวว่า ท่านขอรับ ท่านจงกระทำการบริโภคเถิด ก็กาลนั้นเป็นเวลาที่พระเถระกระทำภัตกิจแล้ว บ้วนปากแล้ว พระเถระจึงกล่าวว่า พอละ อาวุโส
ไม่บอกแม้แต่ว่าตนเป็นผู้รักษาศีลธุดงค์ข้อใด ทั้งๆ ที่เป็นพระน้องชาย
ผู้ฟัง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าใครทั้งนั้น ถือปฏิบัติด้วยอุดมคติโดยเฉพาะ ไม่เลือกชั้นวรรณะ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษแม้ในอธิคม คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ผู้ฟัง ที่อาจารย์อธิบายเกี่ยวกับเรื่องขนมที่ว่า ถ้าเป็นของคนอื่นรู้สึกว่า จะชิ้นใหญ่กว่า
ท่านอาจารย์ เวลาที่อยู่ในจานคนอื่น
ผู้ฟัง แต่บางทีไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่าไม่พอใจมากกว่า จะเป็นความอิจฉาได้ไหม ไม่ใช่โลภะ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่กาล คือ เวลาที่เป็นโลภะก็เป็นสภาพจิตอย่างหนึ่ง เวลาที่เป็นโทสะก็เป็นสภาพจิตอีกอย่างหนึ่ง แต่ในเรื่องของโลภะ จะเห็นความละเอียดของโลภะว่าเกิดขึ้นได้ลักษณะใดบ้าง เช่น บางท่านมีความยินดีพอใจในขันธ์ของตัวเอง ใช่ไหม รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทางของท่านเป็นที่ถูกใจพอใจไม่ว่าจะเป็นอาการอย่างไรก็ตาม และบางครั้งก็พอใจในขันธ์ของคนอื่น รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทางอย่างนั้น น่าดูน่าชม น่าพอใจ นี่เป็นความพอใจที่แตกออกไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความพอใจแม้แต่ในขันธ์ของตนเองและในขันธ์ของคนอื่น ฉันใด อาหารซึ่งอยู่ในจานของคนอื่นก็รู้สึกว่า ชิ้นโต สุกดี อร่อย แต่ถ้าเอาชิ้นนั้นแหละมาใส่ในจานของตนเอง ทีแรกนึกต้องการ แต่เมื่อมาอยู่ในจานจริงๆ อาจจะไม่ต้องการแล้วก็ได้ ดูไปดูมาแล้ว ก็อย่างนั้นแหละ ไม่เหมือนเมื่อกี้นี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะของจิตซึ่งมีประการต่างๆ ด้วยกำลังของโลภะ
สำหรับเรื่องของความเห็นผิดในเรื่องของสมาธิ มิจฉาสมาธิก็มีกล่าวไว้ เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า สมาธิทั้งหมดเป็นสัมมาสมาธิ
เรื่องของสมาธิเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า ถ้าเป็น อกุศลสมาธิ ก็จงอย่าได้ปฏิบัติเลย เพราะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร นอกจากจะมีความยึดถือในข้อปฏิบัตินั้น
ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี ญาณวิภังคนิทเทส นิทเทสแห่งญาณเป็นกำลังข้อที่ ๗ กล่าวถึงฌายี ผู้เข้าฌาน ๔ จำพวกว่า
๒ จำพวกเป็นผู้ที่ได้ฌานจริง โดยพวกที่ ๑ เป็นผู้ที่ได้ฌานที่มีคุณน้อย ไม่มีกำลัง และอีกพวกหนึ่ง คือ พวกที่ ๓ เป็นผู้ที่ได้ฌานคล่องแคล่ว ส่วนอีก ๒ จำพวก คือ พวกที่ ๒ กับพวกที่ ๔ เป็นผู้ที่ไม่ได้ฌาน แต่เข้าใจว่าได้ฌาน
ถ้าไม่มีความเข้าใจผิดอย่างนี้ ข้อความในอรรถกถาคงไม่ต้องแสดงไว้ แต่เพราะความเข้าใจผิดมีได้ง่ายๆ ถ้าขาดการศึกษาหรือขาดการพิจารณาโดยถูกต้อง ซึ่งข้อความในอรรถกถากล่าวถึงผู้ไม่ได้ฌานแต่เข้าใจว่าได้ฌานว่า
บุคคลที่ ๒ ไม่ได้สมาบัติเทียว ย่อมสำคัญว่าเราได้สมาบัติ คือ ไม่ใช่กัมมัฏฐานที่มีอยู่ สำคัญว่าเป็นกัมมัฏฐาน ดังนี้ บุคคลนี้พึงทราบว่า ชื่อว่า ผู้เข้าฌานหลับ (นิทฺทาฌายี) ครั้นหลับและตื่นขึ้นมา ก็สำคัญอย่างนั้นๆ
สมัยนี้มีไหม เข้าใจว่าได้ฌาน บางครั้งใช้คำที่สูงมากว่า เข้านิโรธสมาบัติ เข้าใจว่าในขณะนั้นดับจิตเจตสิก แต่ผู้ที่จะดับจิตเจตสิกเป็นนิโรธสมาบัติได้ต้องเป็น พระอนาคามีบุคคลหรือพระอรหันต์ ซึ่งได้ถึงอรูปฌานสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้ยังไม่สามารถรู้ลักษณะของจิตว่าขณะที่เป็นกุศลต่างกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างไร ไม่มีทางที่จะเป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ได้อ่านเรื่องของสมถภาวนา และรู้ว่าอารมณ์ที่จะให้เกิดความสงบที่เป็นสมถภาวนานั้นมีอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ศึกษาโดยละเอียด และไม่ใช่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพของกุศลจิตซึ่งสามารถเจริญขึ้นเพราะเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่ประกอบด้วยปัญญาจริงๆ
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 051
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 052
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 053
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 054
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 055
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 056
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 057
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 058
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 059
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 060
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 061
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 062
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 063
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 064
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 065
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 066
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 067
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 068
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 069
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 070
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 071
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 072
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 073
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 074
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 075
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 076
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 077
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 078
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 079
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 080
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 081
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 082
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 083
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 084
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 085
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 086
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 087
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 088
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 089
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 090
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 091
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 092
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 093
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 094
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 095
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 096
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 097
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 098
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 099
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 100