จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 094


    เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา แท้ที่จริงแล้วเป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งเกิดกับมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

    เอาสีออกจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้ไหม เพราะที่ใดก็ตามที่มีมหาภูตรูป ๔ ที่นั้นต้องมีสี คือ วัณณะ และมีกลิ่น รส โอชา รวมอยู่ด้วย ซึ่งอย่างน้อยที่สุดต้องมีรูป ๘ รูปรวมอยู่ในกลุ่มหนึ่งๆ ของรูป เพราะฉะนั้น เมื่อไม่สามารถเอาสีออกจากมหาภูตรูปได้ สีจึงปรากฏให้เห็นเป็นสิ่งซึ่งบัญญัติให้รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนั้นคืออะไร

    ทางตาที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีสีเลย เอาสีออกให้หมดจากมหาภูตรูป สามารถที่จะเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ได้ไหม ก็เห็นไม่ได้ แต่เมื่อมี สีสันวัณณะต่างๆ ซึ่งเกิดกับมหาภูตรูป จึงปรากฏให้เห็น ทำให้บัญญัติสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้ความหมายโดยอาการใดๆ นั่นคือบัญญัติ ทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีบัญญัติเป็นอารมณ์ไหม

    ต้องมี การฟังพระธรรมต้องพิจารณาถึงเหตุผลประกอบไปเรื่อยๆ

    อารมณ์มี ๒ อย่าง คือ ปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง บัญญัติธรรมอย่างหนึ่ง ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ลืมไม่ได้เลย การที่กล่าวถึงเรื่องนี้บ่อยๆ เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องว่า ทางตาในขณะที่สิ่งที่กำลังปรากฏเป็น สีสันวัณณะต่างๆ เพราะเอาสีออกจากมหาภูตรูปไม่ได้ จึงปรากฏให้เห็นสีของ มหาภูตรูป ทำให้เห็นเป็นบัญญัติต่างๆ ขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติระลึก จะต้องแยกระลึกให้ถูกต้องว่า ทางตาที่กำลังปรากฏ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีสันต่างๆ เท่านั้น ส่วนในขณะที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิต

    เมื่อได้ศึกษาอย่างนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ชีวิตประจำวันของทุกคน ทุกชีวิต ตามความเป็นจริง ต้องมีขณะที่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง และมีขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง สืบต่อกัน เช่น ทางตาที่เห็น ไม่ได้เห็นแต่ปรมัตถอารมณ์ทาง จักขุทวารวิถี เมื่อจักขุทวารวิถีดับหมดแล้วถึงมโนทวารวิถี มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่ว่าใครทั้งนั้น มิฉะนั้นจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่รู้บัญญัติว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอาหาร เป็นถ้วย เป็นจาน เป็นช้อน เป็นส้อม จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏ เป็นสีซึ่งติดอยู่กับมหาภูตรูป จะเอาสีนั้นออกจาก มหาภูตรูปไม่ได้ จึงปรากฏว่าบัญญัติเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องมีบัญญัติ เป็นอารมณ์ สัตว์ดิรัจฉานก็ต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์เหมือนกัน มีใครบ้างที่ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่มีเลย

    นี่เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์อื่นๆ พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน และปุถุชน ต่างก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง แต่ต่างกันอย่างไร หรือว่าไม่ต่างกันเลย ระหว่างพระอริยเจ้ากับปุถุชนซึ่งต่าง ก็มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง ต่างกันไหม

    ต่างกันที่ปัญญา เพราะปุถุชนไม่เคยรู้เรื่องปรมัตถธรรมเลย จึงมีการยึดถือบัญญัตินั้นว่าเป็นสิ่งที่จริง แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่เที่ยง และบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นแต่เพียงการหมายรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้น บัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก ถ้าจิตเจตสิกไม่มี บัญญัติจะ มีได้ไหม ก็ไม่ได้

    ถ้ามีแต่รูปธรรมเท่านั้น ไม่มีนามธรรม ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก จะมีบัญญัติไหม ก็ไม่มี เพราะรูปไม่ใช่สภาพที่รู้อารมณ์ จิตและเจตสิกเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น บัญญัติเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก ถ้าจิตเจตสิกไม่เกิด ก็ไม่มีการ รู้บัญญัติ ถ้ามีแต่รูปธรรมอย่างเดียวเท่านั้นจะไม่มีบัญญัติเลย แต่เพราะจิตเจตสิกเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวารแล้ว วาระต่อไปยังรู้บัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น การที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล กับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลจึงต่างกัน เพราะผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลยึดถือบัญญัติว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลรู้ว่า สภาพธรรมขณะใดเป็นปรมัตถธรรม และขณะใดเป็นบัญญัติอารมณ์

    ขณะใดที่จิตรู้บัญญัติ ขณะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า ไม่เป็น เพราะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์ จะมีมิจฉาทิฏฐิได้อย่างไร

    ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ กับโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ จะแยกกันได้อย่างไร

    ขณะที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มีความพอใจในอารมณ์ทุกอย่างได้ พอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตาและในบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏทางตา พอใจในเสียงที่ได้ยินทางหูและบัญญัติของเสียงที่ได้ยินทางหูด้วย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน เป็นปกติ ไม่ได้มีความเห็นใดๆ เกิดขึ้น

    นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์เกิดบ่อย เป็นประจำ ขณะนั้นไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖

    พระอรหันต์มีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ไม่มีโลภมูลจิต แม้ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ก็ไม่มี เพราะพระอรหันต์ดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ถึงแม้จะรู้ลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็น ปรมัตถธรรม ขณะใดเป็นบัญญัติธรรม แม้อย่างนั้นก็ยังมีปัจจัยที่จะให้เป็นสุข เป็นทุกข์ ยินดียินร้ายไปตามปรมัตถอารมณ์และบัญญัติอารมณ์

    เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ขณะใดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ขณะที่ ยึดมั่นในบัญญัติต่างๆ มีความเห็นผิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง ในขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิ ในเมื่อบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ยึดถือว่าบัญญัตินั้นเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น นั่นต้องเป็นความเห็นผิด เป็นสักกายทิฏฐิ

    เมื่อสักกายทิฏฐิยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท จะเป็นปัจจัยทำให้มีความเห็นผิดต่างๆ เกิดขึ้น เช่น เห็นว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี และยังมีความเห็นผิดอื่นๆ ต่อไปอีก เห็นว่ามีผู้สร้าง ต่างๆ เหล่านี้ นั่นเป็นเรื่องของความเห็นผิดต่างๆ แต่ให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามที่จิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    มิจฉาทิฏฐิต้องเป็นการยึดมั่น เป็นความเห็นผิดที่ถือว่าบัญญัติมีจริง ซึ่ง ความจริงแล้วบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่มีจริง

    บัญญัติเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ไหม ได้ เป็นอยู่เป็นประจำ

    โลภมูลจิตเกิด พอใจในบัญญัติ โทสมูลจิตเกิด ไม่พอใจในบัญญัติ ไม่พอใจคนนี้ ไม่พอใจคนนั้น ในขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น บัญญัติเป็นอารมณ์ของอกุศลจิตได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอกุศลอะไรก็ตาม ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้

    บัญญัติเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ไหม

    ชีวิตตามความเป็นจริง บัญญัติเป็นอารมณ์ของกุศลจิตได้ ในขณะที่ให้ทาน ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่จะให้นั้นเป็นอะไรกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ ในขณะที่วิรัติทุจริต รักษาศีล ถ้า ไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไรจะมีการวิรัติทุจริตไม่ได้

    ในขณะที่อบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นสมถภาวนา มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ไหม

    ถ้าไม่ลืมหลักที่ว่า ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็จะรู้ได้ว่า แม้สมถภาวนาก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ด้วย เว้นสติปัฏฐานอย่างเดียวที่ไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ ก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้ แต่การที่จะรู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรม ต้องอาศัยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น จึงจะรู้ได้

    ถ้าขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นไม่มีการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แต่จะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง มีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ฉะนั้น ที่กล่าวว่า เจริญสติปัฏฐานไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถูกหรือผิด คำตอบ คือ ถูก

    แต่ที่กล่าวว่า เจริญสติปัฏฐานโดยไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ ถูกหรือผิด คำตอบ คือ ผิด เพราะไม่ใช่ชีวิตตามความเป็นจริง ใครจะยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติอารมณ์ได้ แต่ปัญญาจะต้องอบรมจนเจริญจนสามารถรู้ได้ว่า ขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติในขณะนั้น มิฉะนั้นบัญญัติจะเป็นอารมณ์ในขณะนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ยับยั้งไม่ให้คิดอะไรเลย หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยเห็นที่เคยรู้ตามปกตินั้นไม่ให้รู้ ถ้าเป็น อย่างนั้น จะไม่สามารถรู้ลักษณะของนามธรรมจริงๆ เนื่องจากในขณะที่กำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เป็นเพราะจิตและเจตสิกเกิดขึ้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ รู้ว่าขณะใดที่จิตคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือนึกถึงคำ หรือความหมายของเสียงที่กำลังได้ยิน หรือนึกถึงเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นเป็นจิต ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ยับยั้งจิตไม่ให้เกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ ปัญญาต้องรู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมที่มี อารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงจะหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมได้

    แต่ถ้าไปกั้นไว้ ไม่ให้จิตที่รู้บัญญัติเกิดขึ้น ใครจะห้ามได้ ในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ความไม่รู้ทำให้เข้าใจว่า จะไม่ให้จิตคิดนึก หรือว่าไม่ให้มีการรู้บัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น จะพิจารณาจากข้อปฏิบัติได้ว่า ถ้าข้อปฏิบัติใดไม่ใช่การอบรมให้ปัญญาเจริญที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ แต่ให้เห็นสิ่งต่างๆ ผิดปกติไป ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่การอบรมเจริญวิปัสสนา

    ผู้ฟัง สงสัยเรื่องสักกายทิฏฐิ เพื่อนคนหนึ่งถามว่า ปากกาที่ผมใช้ของใคร ผมบอกว่า ของผม เขาบอกว่า ใช่หรือ ผมบอกว่า มีชื่อผมติดอยู่ ขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ยึดมั่นว่าบัญญัติเป็นสิ่งที่มีจริง

    ผู้ฟัง ที่ว่า ของผม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เป็นบัญญัติหรือ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ เป็นของผม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีความยึดมั่นจริงๆ มีความเห็นผิดว่า ต้องมีปากกาจริงๆ และต้องมีของผมจริงๆ ขณะนั้นเป็นความเห็นถูกหรือ เป็นความเห็นผิด

    ผู้ฟัง เห็นผิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นสักกายทิฏฐิ ถ้ามีความเห็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าระลึกได้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุแข็งที่กระทบสัมผัส และเป็นเพียงสีสันที่ปรากฏ เพราะเอาสีออกจากปากกาไม่ได้จึงเรียกสิ่งที่เห็นนี้ว่า ปากกา แต่ถ้าสามารถเอาสีออกจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้หมดเลย จะมีบัญญัติอะไรไหมในสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่มี

    ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ ทั้งๆ ที่ศึกษาแล้ว เข้าใจเรื่องปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรมแล้ว แต่ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ จนกว่ารู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะดับสักกายทิฏฐิ และทิฏฐิทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นโดยสักกายทิฏฐิได้

    ทิฏฐิต่างๆ ที่จะมีได้ ก็เพราะสักกายทิฏฐิยังไม่ได้ดับ แต่ถ้าดับสักกายทิฏฐิแล้ว ทิฏฐิอื่นก็ดับทั้งหมด

    ที่กล่าวว่า ทำวิปัสสนาแล้วเห็นนรก สวรรค์ ถูกต้องไหม

    ไม่ถูก เพราะสติปัฏฐานต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และต้องรู้ชัดในลักษณะของปรมัตถธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    พระอริยบุคคลที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังเป็นสุข เป็นทุกข์ ตามบัญญัติอารมณ์ ได้ไหม และถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังเป็นสุข เป็นทุกข์ ตามบัญญัติอารมณ์ได้ไหม

    วิปลาส ความคลาดเคลื่อนมี ๓ คือ สัญญาวิปลาส ๑ ความจำที่วิปลาส เพราะเห็นสิ่งซึ่งเกิดดับไม่เที่ยงว่าเที่ยง นี่คือ สัญญาวิปลาส

    จิตตวิปลาสโดยนัยเดียวกัน เพราะว่าสัญญาต้องเกิดกับจิต

    ทิฏฐิวิปลาส คือ ผู้ที่เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงและมีความเห็นผิดยึดมั่นว่าเที่ยง และเห็นว่าเป็นสุขแทนที่จะเห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยงก็ต้องเห็นว่า เป็นสุข และต้องเห็นว่าเป็นตัวตนเพราะไม่ประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เมื่อ เห็นว่าเป็นตัวตนก็ย่อมเห็นว่างาม

    นั่นคือ วิปลาส ๔ โดยสัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑

    พระโสดาบันบุคคล โสตาปัตติมรรคจิตดับทิฏฐิวิปลาสในอารมณ์ทั้ง ๔ คือ เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ตามความเป็นจริง รู้ว่าสภาพที่เป็นทุกข์ไม่เที่ยงนั้นเป็นอนัตตาและไม่งามตามความเป็นจริง แต่ยังมี จิตตวิปลาสและสัญญาวิปลาส

    สำหรับพระอนาคามีบุคคล อนาคามิมรรคจิตดับสัญญาวิปลาสและ จิตตวิปลาสที่เห็นว่างามในสิ่งที่ไม่งาม เพราะสัญญาวิปลาสกับจิตตวิปลาสนี้ต้องดับพร้อมกัน เพราะฉะนั้น อนาคามิมรรคจึงดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสที่เห็นว่างามในสิ่งที่ไม่งาม ทำให้ดับความพอใจในกามอารมณ์ คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้เป็นสมุจเฉท

    แต่สำหรับพระอรหันต์นั้น อรหัตตมรรคจิตดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ที่เห็นว่าสุขในธรรมที่เป็นทุกข์ เพราะถึงแม้จะไม่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ยังพอใจในภพ ในขันธ์ ในความสงบที่เป็นกุศลได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ หรือในความสงบ ขณะนั้น เป็นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ซึ่งผู้ที่จะดับได้ คือ อรหัตตมรรคจิต

    เพราะฉะนั้น จะเห็นกำลังของกิเลสได้ว่ามากมาย และกว่าจะดับได้หมดจริงๆ ต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งในขั้นของการฟังและการอบรม โดยสติจะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงจนกว่าปัญญาจะสามารถดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น

    อีกนาน หรือว่าเร็ว กว่าจะดับกิเลสได้ ตามความเป็นจริง วันหนึ่งๆ ที่จะรู้ว่านานหรือเร็ว คือ สติปัฏฐานเกิดบ่อยไหม และเมื่อเกิดแล้ว รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้าเป็นความรู้โดยที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาจะเจริญขึ้นได้จริงๆ ต้องในขณะที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น

    ในขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ในขณะที่ฟังนี่เอง สติระลึก ถ้ามีปัจจัยที่สติจะเกิดระลึก สติย่อมระลึกได้ในลักษณะที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือ ทางกาย หรือทางใจก็ได้ และผู้นั้นเองจะเป็นผู้ที่รู้ว่าปัญญาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อปัญญายังน้อย ความรู้จริงก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นรู้น้อย ถ้าปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพราะมีการศึกษา สังเกต สำเหนียกในขณะที่สติระลึก ผู้นั้นก็จะรู้ได้ว่ากำลังศึกษา กำลังน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะมีความรู้เพิ่มขึ้นจริงๆ จนถึงขั้นการรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามลำดับขั้น

    แต่ไม่ต้องท้อถอย หรือไม่ต้องคิดหวังว่า จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไร เพราะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมล้อมรอบอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าสติจะระลึกเมื่อไรเท่านั้นเอง และปัญญาจะเพิ่มเมื่อไร ก็เป็นเรื่องของการอบรมให้ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ท่านยังมีโสมนัสเวทนา อุเบกขาเวทนา ทุกขเวทนา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ และไม่เดือดร้อนเลย

    ผู้ฟัง สุขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่ยินดี ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่เสียใจ และ พระอรหันต์ก็มีมหากิริยาจิตทั้งญาณสัมปยุตต์ และญาณวิปปยุตต์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นท่านผู้ฟัง ก็อยากจะมีมหากุศลญาณสัมปยุตต์มากๆ แต่ผู้ที่ รู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกุศลจิต และไม่มีอกุศลจิต จิตที่เคยเป็นเหตุคือเป็นกุศล ก็เป็นเพียงกิริยาจิต แทนที่จะเป็นมหากุศลก็เป็นมหากิริยา และบางขณะก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ บางขณะก็เป็นมหากิริยาญาณวิปปยุตต์ ซึ่งท่านก็ไม่เดือดร้อน

    อารมณ์มี ๖ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์

    ทวาร คือ ทางที่จะรู้อารมณ์ มี ๖ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวาร

    มโนทวารวิถีจิต รู้อารมณ์ได้กี่อารมณ์

    มโนทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ได้ ๖ อารมณ์ คือ รู้ได้ทั้งรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ด้วย เพราะเมื่อจักขุทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ทางตาดับไป ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตรู้รูปารมณ์สืบต่อจากจักขุทวารวิถีจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ