จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 095


    เมื่อจักขุทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ทางตาดับไป ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตรู้รูปารมณ์สืบต่อจากจักขุทวารวิถีจิต เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ อารมณ์

    จิตรู้รูปารมณ์ได้กี่ทวาร

    ๒ ทวาร คือ ทางจักขุทวาร และทางมโนทวารด้วย คือ เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับไป ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตรู้รูปารมณ์นั้นต่อ เพราะฉะนั้น จิตรู้ รูปารมณ์ได้ ๒ ทวาร

    จิตรู้สัททารมณ์ได้กี่ทวาร ๒ ทวาร

    จิตรู้คันธารมณ์ได้กี่ทวาร ๒ ทวาร

    จิตรู้รสารมณ์ได้กี่ทวาร ๒ ทวาร

    จิตรู้โผฏฐัพพารมณ์ได้กี่ทวาร ๒ ทวาร

    จิตรู้ธัมมารมณ์ได้กี่ทวาร ทวารเดียว คือ เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น

    มโนทวารวิถีจิตรู้อารมณ์ได้กี่อารมณ์ ๖ อารมณ์

    ธัมมารมณ์รู้ได้กี่ทวาร ทวารเดียว

    ที่กล่าวถึงอารมณ์ทั้ง ๖ ทางทวารทั้ง ๖ จุดประสงค์ คือ เพื่อให้สติระลึกได้ถูกต้อง แยกสภาพของปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติเท่านั้นเอง ในการศึกษาเรื่องของอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สำหรับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะเห็นได้ว่า สภาพที่มีความติด ความพอใจในอารมณ์ทุกอย่างทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ว่าจะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ไม่มีทิฏฐิเจตสิก ไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็จริง แต่ยังเป็นปัจจัยให้อกุศลเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง เกิดร่วมด้วยได้ อกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ได้ คือ มานเจตสิก

    ทุกคนมี ไม่ทราบว่าเห็นมานะที่มีอยู่ละเอียดแค่ไหน หรืออาจจะไม่ได้พิจารณาเลย หรือบางท่านอาจจะคิดว่ามีมานะแล้วดี แต่ความจริงมานะเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม ผู้ที่ไม่มีมานะเลย คือ พระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์ประเภทเดียว

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ถึงแม้ว่ายังมีมานะอยู่ก็จริง แต่การเข้าใจเรื่องของมานะ และเห็นความน่ารังเกียจของมานะ จะเป็นปัจจัยทำให้สะสมกุศลเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะลด คลายการสะสมของมานะให้เบาบางลงบ้าง

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียข้อ ๔๐๐ แสดงลักษณะของมานะว่า

    ที่ชื่อว่ามานะ ด้วยอรรถว่าถือตน สำคัญตน

    ในวันหนึ่งๆ มีบ้างไหม มีแน่ๆ มากบ้าง น้อยบ้าง บ่อยบ้าง ไม่บ่อยบ้าง แรงบ้าง อ่อนบ้างเท่านั้นเอง แต่ยังต้องมีอยู่

    มานะนั้น

    อุณณติลักขโณ มีการทะนงตนเป็นลักษณะ

    สัมปัคคหรโส มีการยกย่องสัมปยุตตธรรมเป็นรสะ คือ เห็นว่าตนสำคัญ

    เกตุกัมยตาปัจจุปัฏฐาโน มีความต้องการเป็นเหมือนธงเป็นอาการปรากฏ

    ทิฏฐิวิปปยุตตโลภปทัฏฐาโน มีโลภวิปปยุตต์จากทิฏฐิ คือ ไม่ประกอบด้วย ทิฏฐิเจตสิก เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    มานะนั้นพึงเห็นเหมือนความบ้าแล

    นี่คือข้อความใน อัฏฐสาลินี

    ทำไมในอัฏฐสาลินีจึงแสดงว่า มานะนั้นพึงเห็นเหมือนความบ้าแล เพราะสภาพธรรมทุกขณะไม่มีอะไรเลยที่ยั่งยืน อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะที่สั้นที่สุดและดับไป แต่ยังสามารถที่จะสำคัญในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตน หรือ มีความทะนง มีความสำคัญตนได้ในสภาพของสัมปยุตตธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น จะไม่พึงเห็นเหมือนความบ้าได้ไหม

    ไม่มีอะไรเลย ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับหมดสิ้น สูญไปเลยจริงๆ ทุกอย่าง แต่ก็ยังเป็นเหตุให้เกิดความสำคัญตนได้

    ข้อความใน โมหวิจเฉทนี ข้อ ๑๖ กล่าวถึงเรื่องอายตนะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ประชุมกันทำให้เกิดสภาพรู้ คือ จิต เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ทางทวารทั้ง ๖

    ข้อความมีว่า

    ก็ธรรมทั้งหมดนั้น คือ อายตนะ พึงเห็นโดยความเป็นธรรม ไม่มีภพเป็นที่มา และภพเป็นที่ออกไป

    คือ ไม่ได้มาจากภพหนึ่งภพใด และไม่ได้ไปสู่ภพหนึ่งภพใดเลย

    แท้จริงอายตนะเหล่านั้น มิได้มาแต่ที่ไหนๆ ในกาลก่อนแต่ความตั้งขึ้น แม้เบื้องหน้าแต่ความเสื่อมไปก็ไม่ไปในที่ไหนๆ เป็นธรรมชาติมีสภาวะอันใครๆ ไม่ได้แล้วในกาลก่อนแต่ความตั้งขึ้น เป็นธรรมชาติมีสภาวะอันแตกรอบแล้วเบื้องหน้าแต่ความเสื่อมไป เป็นธรรมชาติชื่อว่าไม่มีอำนาจเป็นไปอยู่ เพราะมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย

    นี่คือข้อความใน โมหวิจเฉทนี ซึ่งควรที่จะได้พิจารณาตามความเป็นจริงที่ว่า แท้จริงอายตนะเหล่านั้น มิได้มาแต่ที่ไหนๆ

    โสตปสาทรูป เป็นปัจจัยให้การได้ยินเกิดขึ้นเพราะเสียงกระทบกับโสตปสาทรูป เสียงเกิดขึ้นเป็นอายตนะหนึ่ง คือ สัททายตนะ ไม่ได้มาแต่ที่ไหนๆ ในกาลก่อน แต่ความตั้งขึ้น

    ก่อนที่เสียงจะเกิดขึ้น เสียงไม่ได้อยู่ที่หนึ่งที่ใดแล้วมา แต่ว่ามีปัจจัยปรุงแต่งเสียงจึงเกิดขึ้น โสตปสาทก็ไม่ได้มาจากภพหนึ่งภพใด หรือที่หนึ่งที่ใด แต่มีเหตุ คือกรรมเป็นปัจจัยทำให้โสตปสาทรูปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เพียงการประชุมซึ่งเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณที่ได้ยิน มีโสตปสาทรูป และสัททารมณ์ คือ เสียง ซึ่งเพียงแต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยกระทบกันและดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น แม้เบื้องหน้าแต่ความเสื่อมไปก็ไม่ไปในที่ไหนๆ คือ เวลาที่โสตปสาทดับ เสียงดับ ก็ไม่ได้ไปสู่ที่ไหนๆ เลย

    เป็นธรรมชาติมีสภาวะอันใครๆ ไม่ได้แล้วในกาลก่อนแต่ความตั้งขึ้น

    ก่อนที่เสียงจะเกิดขึ้น ก่อนที่โสตปสาทจะเกิดขึ้น ก่อนที่จิตได้ยินในขณะนั้นจะเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้อยู่ที่ไหน ไม่มีเลย และทันทีที่ดับไปแล้ว เป็นธรรมชาติมีสภาวะอันแตกรอบแล้วเบื้องหน้าแต่ความเสื่อมไป และไม่ไปสู่ภพไหนทั้งสิ้น

    และ เป็นธรรมชาติที่ชื่อว่าไม่มีอำนาจเป็นไปอยู่ เพราะมีความเป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย

    เสียงไม่มีอำนาจที่จะเกิดขึ้นตามความต้องการ หรือโสตปสาทก็ไม่มีอำนาจ ที่จะให้ไม่ดับไป เพราะสภาวธรรมทั้งหมด ชื่อว่าไม่มีอำนาจเป็นไปอยู่ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นไปเนื่องด้วยปัจจัย

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า คนที่มีมานะไม่ดี ไม่ถูกต้อง และในอรรถกถากล่าวว่า เป็นบ้า ที่ว่าความถือตน มีมานะ เป็นสิ่งที่ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ พึงเห็นเหมือนความบ้า

    ผู้ฟัง ที่ตัวเองประสบมา ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพส่วนตัว ทุกคนก็บอกว่า ทำไม่ได้หรอกอาชีพนี้ ไม่ควรทำ ให้ระงับเสีย พร้อมทั้งพูดจาสบประมาท เมื่อมีคน มาสบประมาทว่า ทำไม่ได้หรอกอาชีพนี้ จึงเกิดมีมานะว่า ต้องทำขึ้นมาเพื่อลบล้าง คำสบประมาท ดังนั้นจึงมีมานะ พยายามลบล้างคำสบประมาทให้ได้ ซึ่งบัดนี้ก็ทำได้สำเร็จ ข้อนี้ไม่ทราบว่าจะถูกหรือผิดประการใด

    ท่านอาจารย์ มีความขยันไหม หรือมีแต่มานะ

    ผู้ฟัง มีความขยันด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะที่มีมานะ นั่นตอนหนึ่ง แต่ในขณะที่พากเพียรขยันที่จะทำการงานให้สำเร็จ ก็เป็นอีกตอนหนึ่ง แต่แสดงให้เห็นได้ว่า มานะยังไม่ได้ดับ แม้ในขณะที่กำลังเพียรประกอบกิจการงาน ก็ยังมีมานะเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่มีแต่มานะอย่างเดียว ต้องมีความขยันหมั่นเพียรด้วย ต้องมีความสามารถด้วย

    ผู้ฟัง จึงไม่สามารถที่จะกล่าวว่า เราได้ดีเพราะมานะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อกุศลธรรมทั้งหมด ไม่เป็นเหตุให้เกิดความสุข ต้องแยกกัน

    ผู้ฟัง หมายความว่า มีมานะจริง แต่ก็มีความพากเพียรด้วย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน สิ่งที่สำเร็จ สำเร็จเพราะความพากเพียร สำเร็จเพราะความสามารถ

    ผู้ฟัง แต่มานะ เป็นตัวกระตุ้นได้ไหม

    ท่านอาจารย์ มานะเกิดและดับ ขณะที่มานะเกิดขึ้นก็เป็นขณะหนึ่ง ขณะที่พากเพียรทำการงาน ตลอดเวลาที่ได้รับความสำเร็จ เป็นมานะตลอด หรือว่าบางขณะก็ไม่มีมานะเหมือนกัน

    ผู้ฟัง แต่คิดว่า ขณะที่ทำงานทุกครั้ง ทำด้วยความมานะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ทำงานเพลิน ลืมมานะบ้างไหม

    ผู้ฟัง ลืม

    ท่านอาจารย์ แสดงว่ามานะไม่ได้เกิดตลอดเวลา ถ้าเอามานะออกไป มีแต่เพียงความพากเพียรและความสามารถ จะดีกว่าเราเก่งไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้คิดว่าเราเก่ง เป็นแต่เพียงคิดว่า ...

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เก่งหรือยัง ได้รับความสำเร็จอย่างนี้ เก่งหรือยัง ตามความ เป็นจริง ถ้าไม่เก่งจะได้รับความสำเร็จอย่างนี้ไหม เราด้วยที่เก่ง

    ผู้ฟัง แต่ตอนที่ทำไม่ได้คิดว่าเราเก่ง แต่คิดว่า ทำอย่างไรจึงจะลบล้าง คำปรามาส ต้องมีมานะทำให้ได้ จึงคิดว่า ที่ได้ดีเพราะมีมานะ

    ท่านอาจารย์ แต่ถึงแม้ไม่มีมานะในเรื่องนั้น เราก็ต้องมีมานะในเรื่องอื่นแน่ๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ที่ประสบความสำเร็จมานี้ มีทั้งมานะและความเพียร ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ ยังอยากจะมีมานะ หรือยังอยากจะให้ใครกล่าวอย่างนั้นเพื่อที่มานะจะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือว่าพอแล้ว ไม่ต้องกล่าวอย่างนั้นอีก เพราะถึงแม้ไม่มีใครมาส่งเสริมมานะ มานะของตนเองก็มีมากจริงๆ ถ้าสังเกตจะรู้ได้ว่า ลักษณะของการ ถือตัว หรือความสำคัญตน ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเวลาคนอื่นสบประมาท แต่มีอยู่เป็นประจำ เมื่อมีขันธ์ทั้ง ๕ เกิดขึ้น และมีบัญญัติสมมติต่างๆ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดมานะต่างๆ ด้วย

    อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ ทุกนิกเขปกถา พระบาลีนิทเทสมานสัญโยชน์ ข้อ ๑๑๒๑ มีข้อความที่กล่าวถึงมานสัญโยชน์

    สัญโยชน์ คือ สภาพธรรมที่ผูกร้อย ดึงไว้ ถึงแม้ว่าจะไปสู่ภพอื่นภูมิอื่นแล้ว ก็ยังนำกลับมาสู่ภพนี้อีก ถ้าเป็นกามราคสัญโยชน์ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท และมานะก็เป็นสัญโยชน์ อย่างหนึ่ง

    ข้อความใน มานสัญโยชน์ มีว่า

    มานสัญโยชน์ เป็นไฉน

    การถือตัวว่าเราดีกว่าเขา เสยยมานะ

    การถือตัวว่าเราเสมอกับเขา สทิสมานะ

    การถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา หีนมานะ

    สำหรับคนหนึ่งๆ ย่อมเกิดมานะได้ ๓ อย่าง

    เสยยมานะ คือ มานะว่าเราดีกว่าเขา เลิศกว่าเขา สำหรับคนที่ดีกว่าจริงๆ ก็เป็นการถือตัวตามความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นคนที่เลิศ และถือตัวว่าเสมอกับคนอื่น ก็เป็นการถือตัวที่ไม่ใช่ตามความเป็นจริง สำหรับคนที่เลิศ แต่ถือตัวว่าด้อยหรือต่ำกว่าคนอื่น ก็เป็นการถือตัวไม่ใช่ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น มานะมีมากมายหลายอย่าง ถ้ามีการเป็นเราและเขา หรือว่ามีการเปรียบเทียบในวัตถุของมานะ ซึ่งได้แก่ ชาติสกุล หรือว่ารูปร่างหน้าตา หรือว่าฐานะความเป็นอยู่ หรือว่าความรู้ หรือว่าหน้าที่การงาน หรือว่าทรัพย์สมบัติ

    สัมโมหวิโนทนี ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส มีข้อความที่แสดงตัวอย่างของ ผู้เลิศซึ่งมีมานะ มีความสำคัญตนว่าเลิศกว่าคนอื่น แสดงตัวอย่างของพระราชา และบรรพชิต

    สำหรับพระราชานั้น ก็มีความสำคัญตนว่าเลิศกว่าคนอื่นๆ โดยแว่นแคว้น โดยสมบัติ เป็นต้น และแม้บรรพชิตซึ่งเป็นบรรพชิตแล้ว แต่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็มีความสำคัญตนว่าเลิศโดยศีลก็ได้ โดยธุดงค์ก็ได้ โดยความเป็น พหูสูตก็ได้ โดยความเป็นธรรมกถึกผู้แสดงธรรมก็ได้ หรือโดยลาภสักการะก็ได้ นี่ เป็นเหตุทำให้มีมานะ โดยสำคัญตนว่าเลิศกว่าโดยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง

    สำหรับผู้ที่เลิศ ก็ยังมีความสำคัญตนว่าเสมอกับบุคคลอื่นโดยวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ตัวอย่างเช่น พระราชาที่เปรียบเทียบพระองค์เองกับพระราชาแว่นแคว้นอื่นๆ ว่าเสมอกันหรือต่างกัน หรือบรรพชิตก็เปรียบเทียบตัวเองกับภิกษุรูปอื่นๆ ในขณะนั้นก็เป็นผู้เลิศ ซึ่งสำคัญตนว่าเสมอกับบุคคลอื่นที่เลิศ

    สำหรับผู้ที่เลิศ ยังมีสำคัญตนว่าด้อยกว่าหรือต่ำกว่าได้ เช่น พระราชาเมื่อเทียบเคียงสมบัติของพระองค์ หรือแว่นแคว้นของพระองค์กับพระราชาองค์อื่นๆ ก็เห็นว่า พระราชาองค์อื่นๆ นั้นมีแว่นแคว้นใหญ่โต มีสมบัติมาก หรือแว่นแคว้นสมบูรณ์กว่าแว่นแคว้นของพระองค์ หรือแม้แต่บรรพชิตที่เป็นธรรมกถึก เป็นพหูสูต แม้ว่าจะเป็นผู้ที่เลิศก็ยังสำคัญตนว่าด้อยกว่าบรรพชิตรูปอื่น โดยบรรพชิตรูปอื่นมี ลาภมากกว่า มีสักการะมากกว่าก็ได้

    แสดงให้เห็นว่า การที่จะเปรียบเทียบและมีความสำคัญตน ทะนงตนอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งเลิศกว่า เสมอกัน หรือด้อยกว่า ก็มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน หรือถึงแม้ว่าจะไม่ใช่พระราชา ไม่ใช่บรรพชิต เป็นผู้ที่เสมอๆ กัน ก็ยังมีมานะได้ เช่น อำมาตย์ราชบุรุษคิดว่าตนเองดีกว่าอำมาตย์ราชบุรุษคนอื่นๆ คือ เปรียบเทียบกับผู้ที่เสมอกัน ก็ยังเห็นว่าตนเองนั้นดีกว่า หรือคิดว่าเสมอกันก็ได้ หรือคิดว่าด้อยกว่าบุคคลอื่น เช่น ถึงแม้ว่าเป็นอำมาตย์ราชบุรุษเหมือนกันก็จริง แต่อำมาตย์ราชบุรุษคนอื่นสามารถที่จะบริโภคอาหารรสเลิศต่างๆ ได้มากกว่าตน นี่ก็เป็นเหตุให้เกิดมานะได้ แม้แต่ในการบริโภคอาหาร เพียงการรับประทานอาหารก็ยังเป็นเหตุให้เกิดมานะได้

    หรือแม้แต่ผู้ที่ต่ำ เช่น พวกทาสกรรมกรทั้งหลาย ก็ยังมีมานะสำคัญตนว่า เลิศกว่าทาสกรรมกรอื่นๆ ด้วยกันก็ได้ หรือว่าเหมือนกันเท่าๆ กัน เสมอกันก็ได้ หรือว่าต่ำกว่า ก็เป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน

    นอกจากนั้น ข้อความที่แสดงถึงความสำคัญตนซึ่งเป็นลักษณะของมานะอาการอื่นๆ ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา มีว่า

    อติมานะ คือ ความดูหมิ่นบุคคลอื่นด้วยความสำคัญตนในชาติสกุล เป็นต้น

    ผู้ที่เกิดในสกุลสูง หรือมีทรัพย์สมบัติมาก หรือมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ความจริงก็เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว แต่แม้กระนั้นก็ยังมีความสำคัญตนที่ ยกตนสูงขึ้นไปอีกโดยการที่ดูหมิ่นคนอื่นก็ได้ หรือเห็นว่าคนอื่นไม่มีชาติสกุล สมบัติ รูปร่างหน้าตา ความรู้ หรือฐานะการงานเท่ากับตน ซึ่งความจริงแล้วถ้าเป็นผู้ที่ ขัดเกลากิเลสจริงๆ ย่อมเห็นว่า สภาพธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมในขณะใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะ เหมือนความบ้า คือ ไปยึด ไปติด หรือไปสำคัญ แม้ว่าจะเป็นผู้ได้รับผลของกุศล เป็นผู้ที่สูงด้วยสกุลหรือฐานะสมบัติก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะมีความสำคัญตน ที่จะทำให้ตนเองที่สูง ยกสูงขึ้นไปอีกด้วยมานะ

    มานะลักษณะอื่น คือ

    มานาติมานะ เป็นผู้ที่มีความเห็นว่า บุคคลใดเป็นผู้เช่นกับเรา แต่มาบัดนี้เราประเสริฐกว่า

    เป็นการเทียบตัวเองกับบุคคลอื่นในกาลก่อน คือ ในการกาลก่อนเป็นผู้ที่ เสมอกันจริง แต่ว่าในภายหลังตนเองดีกว่า เพราะฉะนั้น บุคคลที่เทียบอย่างนี้และ มีมานะอย่างนี้ บุคคลนี้ย่อมเป็นราวกับบุคคลมีภาระหนักยิ่งกว่าภาระหนัก เพราะว่าเทียบทั้งอดีตที่ผ่านไปแล้ว รวมทั้งมานะในปัจจุบันด้วย

    ดีไหม อยากจะให้คนอื่นเขาส่งเสริมให้เรามีมานะมากๆ ไหม ถ้าขณะใดที่ ไม่เห็นโทษของมานะ ให้เห็นกำลังของอหิริกะและอโนตตัปปะ ความไม่รังเกียจ ความไม่ละอาย ความไม่เห็นภัยของกิเลส แม้ความสำคัญตน ซึ่งทุกคนเคยเป็น ทุกอย่างมาแล้วในอดีต และต่อไปข้างหน้าในภพชาติต่อๆ ไป ก็จะเป็นทุกอย่าง

    นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ถึงความยาวนานของสังสารวัฏฏ์ และเหตุที่จะให้เกิดกุศลวิบากและอกุศลวิบากในภพชาติต่างๆ ซึ่งทุกคนสะสมทั้ง กุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเคยเป็นทุกอย่างมาแล้ว ทั้งต่ำที่สุดและสูงที่สุด และข้างหน้าก็ต้องเป็นทั้งต่ำที่สุดและสูงที่สุดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแต่ละครั้งๆ ก็ไม่ควรมีความสำคัญตน และ เมื่อมีความสำคัญตนเกิดขึ้นขณะใด ก็มีมานะโดยประการต่างๆ

    สำหรับมานะที่ถือว่าด้อยกว่าหรือต่ำกว่า คือ

    โอมานะ ผู้มีความสำคัญว่าเราเป็นคนเลว หรือว่าเราเป็นคนต่ำต้อย หรือว่าเราเป็นคนด้อย

    ก็ยังเทียบให้ตนเลว ต่ำ ด้อยลงไปอีก

    บางท่านอาจจะดูถูกดูหมิ่นบุคคลอื่นซึ่งเป็นคนที่ต่ำว่า

    ท่านมีชาติ แต่ชาติของท่านเหมือนชาติของกา ท่านมีโคตร แต่โคตรของท่านเหมือนโคตรของคนจัณฑาล เสียงของท่านมีอยู่ แต่เสียงของท่านเหมือนเสียงของกา

    ดูมานะว่าเป็นไปได้ทุกอย่าง เวลาที่มานะเกิดก็เทียบทั้งชาติ เทียบทั้งโคตร เทียบทั้งเสียง แม้แต่เสียงก็เป็นวัตถุที่จะให้เกิดมานะได้ เพราะลักษณะของเสียงที่แสดงไว้มี ๓ อย่าง คือ เสียงพรหม ๑ เสียงแมว ๑ เสียงกา ๑ เพราะฉะนั้น เสียงของใครจะเข้าข่ายในเขตของเสียงใดก็แล้วแต่ ก็ไม่ควรให้เกิดมานะขึ้นจนกระทั่งสามารถ ดูหมิ่นบุคคลอื่น และก็เทียบไปตั้งแต่ชาติ ตั้งแต่โคตร จนกระทั่งเสียง

    นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาพของอกุศลจิตที่เกิดขึ้นเวลาที่มีความสำคัญตน

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งมีท่านผู้ฟังบางท่านกล่าวว่า ท่าน ไม่ค่อยสนใจพระสูตรและอรรถกถา เพราะดูเป็นเรื่องธรรมดาๆ รู้สึกว่าไม่ได้มีประโยชน์มากเท่าไร แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นประโยชน์ของพระสูตรที่เกื้อกูล อย่างมาก เพราะน้อมนำจิตให้ประพฤติปฏิบัติตาม

    ถ้าเพียงศึกษาพระอภิธรรมว่า อกุศลจิตมี ๑๒ ดวง หรือ ๑๒ ประเภท เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง และโลภมูลจิต ๘ ดวงนั้นประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง ก็จบแล้ว แต่ยังไม่เห็นอาการโดยละเอียดของโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง ซึ่งปรากฏทางกาย ทางวาจา โดยอาการต่างๆ ที่วิจิตรมาก ซึ่งจะส่องให้เห็นถึงความวิจิตรของโลภมูลจิต ๘ ดวง ทั้งทางกาย ทางวาจา ที่เป็นสภาพของจิตที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรม แต่ในพระอภิธรรมนั้น แสดงเพียงจำนวน คือ สภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน ได้แก่ นามธรรมหรือนามขันธ์ ๔ คือ จิตเจตสิกแต่ละขณะ ที่อาศัยเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น

    แต่ชีวิตปกติประจำวัน ทุกขณะของทุกคน เป็นอาการต่างๆ ของจิตและเจตสิกที่วิจิตรมาก ซึ่งปรากฏในพระสูตรและในอรรถกถา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ