จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 096
ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง ไว้โดยละเอียด การที่แต่ละคนจะมีกายวาจาอย่างไรในวันหนึ่งๆ เห็นสิ่งใด คิดอย่างไร มีมานะเกิดขึ้น หรือไม่มีมานะเกิดร่วมด้วย ในขณะนั้นก็จะไม่เป็นปัจจัย ให้สติเกิดระลึกได้ แต่เพราะได้ทรงแสดงอาการต่างๆ ของสภาพธรรมโดยวิจิตรจริงๆ ทั้งทางกาย ทางวาจา จึงทำให้สามารถเห็นความวิจิตรของแม้โลภมูลจิตซึ่งมีเพียง ๘ ดวง แต่ว่ามีความวิจิตรอย่างมาก
เมื่อสักครู่นี้ ทุกท่านคงจะได้พบปะมิตรสหาย และได้สนทนากันเรื่องนั้น เรื่องนี้บ้าง ถ้าหลงลืมสติจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นจิตประเภทใดกำลังแสดงกายและวาจาอย่างไร ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มี ที่ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้สติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อจะได้เห็นความวิจิตรของจิตประเภทต่างๆ
เรื่องของโลภะมีมากในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็ไม่เห็นว่า เป็นโลภะทั้งนั้น แต่ขณะใดที่สติเกิด ย่อมสามารถเห็นโลภะทั้งนั้นได้ และก็เป็นโลภะทั้งนั้นจริงๆ ถ้าสติเกิด
การพูดมีหลายอย่างตามที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว หรือแม้แต่เพียงขณะที่โลภะเกิดขึ้นและมีคำพูดที่เกียดกัน ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะความปรารถนาที่จะได้สิ่ง อันประณีตยิ่งขึ้นไป จึงพูดหรือแสดงอาการเกียดกัน ด้วยสามารถแห่งกิเลสทั้งปวง ซึ่งเป็นด้วยริษยาก็ได้ หรือมัจฉริยะ ความตระหนี่ก็ได้ หรือโลภะ ความต้องการที่จะได้สิ่งที่ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้ ซึ่งใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา ขุททกวัตถุวิภังคนิทเทส ตินติณนิทเทส อธิบายการพูดเกียดกัน มีข้อความว่า
โดยหมายเอาว่า วัตถุของผู้อื่นเป็นราวกับว่าเป็นของตน เช่นกับการเห่าของสุนัขที่กำลังกินน้ำข้าวที่รางน้ำข้าว เพราะเห็นสุนัขอื่นมา ดังนี้
คงจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินได้ฟังคำพูดเกียดกัน หรือบางครั้งที่อกุศลจิตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจจะเป็นปัจจัยทำให้มีวาจาที่เกียดกันเกิดขึ้นก่อนที่สติจะเกิดก็ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอยู่เสมอ สามารถรู้กิเลสของตนเองได้ เพราะสติมีความไวที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และสติสามารถเกิดระลึกลักษณะของ สภาพจิตซึ่งเป็นเหตุให้กายวาจาเป็นไปโดยอาการต่างๆ ย่อมสามารถรู้อาการของกิเลสของคนอื่นได้ด้วย เพราะเป็นผู้ที่สติไวที่จะระลึกลักษณะสภาพธรรมที่เกิดปรากฏในขณะนั้นว่าเกิดเพราะจิตประเภทใด เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ไม่หลอกตัวเอง และเป็นผู้ที่ผู้อื่นก็หลอกไม่ได้ด้วย สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ที่ข้อความในพระสูตรแสดงไว้มากในเรื่องของโลภะ ในเรื่องของกิเลสต่างๆ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้องก็จะรู้ว่า เพื่อให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า แต่ละท่านยังจะต้อง ขัดเกลากิเลสมากเพียงใด
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่สามารถรู้ได้ในขณะนั้นว่า เป็นความประพฤติที่ไม่สมควร เพราะถ้าโลภะเกิด หรือโทสะเกิด และจะให้กายวาจาเป็นกุศล ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะถึงแม้จะรู้ว่าเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ แต่ก็ไม่สามารถหมดโลภะและโทสะได้เพียงด้วยความต้องการที่จะให้หมด
อย่างในคราวก่อน มีท่านผู้ฟังบางท่านที่ได้สนทนาด้วย ท่านบอกว่า พระภิกษุขอให้ท่านเลิกกินหมาก ขอบิณฑบาตไม่ให้กินหมาก ซึ่งถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว การขอไม่ให้กินหมาก ก็เท่ากับขอให้ละสมุทัย เพราะโลภะเป็นสมุทัย เป็นเหตุที่จะให้เกิดอีกในภพต่อๆ ไป ซึ่งทุกคนที่ยังมีโลภะ ยังจะต้องเกิด และเมื่อมีโลภะก็ต้องมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามขั้นของบุคคล เพราะฉะนั้น ถ้าจะขอใครไม่ให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่าลืมว่า ขณะนั้นเท่ากับขอให้บุคคลนั้นละสมุทัยซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดภพ แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมไม่สามารถละสมุทัยได้ ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ว่า ขณะนี้ใครต้องการจะละโลภะอะไร และดูว่าสามารถที่จะละได้หรือไม่
สัมโมหวิโนทนี สัจจวิภังคนิทเทส นิทเทสสมุทยสัจจะ มีข้อความว่า
การกระทำภพใหม่เป็นปกติของตัณหานั้น เหตุนั้นตัณหานั้นชื่อว่า โปโนพฺภวิกา
ถ้าจะรู้ว่า ต้องมีชาติหน้า ก็เพราะชาตินี้ยังมีโลภะอยู่ คนที่ไม่มีโลภะเท่านั้น ที่จะไม่มีภพใหม่ เพราะ การกระทำภพใหม่เป็นปกติของตัณหานั้น เหตุนั้นตัณหานั้นชื่อว่า โปโนพฺภวิกา มีการกระทำภพใหม่เป็นปกติ
อีกประการหนึ่ง ชื่อว่าโปโนพฺภวิกา ด้วยอรรถว่า เป็นตัวให้ภพใหม่ เป็นตัวเป็นไปเพื่อภพใหม่ เป็นตัวให้เกิดในภพบ่อยๆ ก็ตัณหานี้นั้นย่อมเป็นตัวให้ภพใหม่ก็มี ไม่ใช่ตัวให้ภพใหม่ก็มี เป็นตัวเป็นไปเพื่อภพใหม่ก็มี ไม่ใช่เป็นไปเพื่อภพใหม่ก็มี เป็นเพียงตัวอำนวยอุปธิแก่ปฏิสนธิที่ตนให้ก็มี ตัณหานั้นแม้ที่ให้ภพใหม่ แม้ที่ไม่ให้ภพใหม่ แม้ที่เป็นไปเพื่อภพใหม่ แม้ที่ไม่เป็นไปเพื่อภพใหม่ แม้ที่อำนวยอุปธิแก่ปฏิสนธิที่ตนให้ ย่อมได้ชื่อว่าโปโนพฺภวิกา ทั้งนั้น
แสดงให้เห็นว่า ตัณหาในวันหนึ่งๆ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดภพใหม่ก็มี ที่ไม่เป็น เหตุให้เกิดภพใหม่ก็มี คือ ถ้าไม่เป็นอกุศลกรรมบถ ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดภพใหม่ แต่จะเป็นเพียงตัวอำนวยอุปธิแก่ปฏิสนธิที่ตนให้ก็มี คือ ทำให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเป็นไปในเรื่องของโลภะตามที่ได้สะสมมา และเป็นปัจจัยที่จะให้วิบากเกิดขึ้นตามปัจจัยนั้นๆ ด้วย
ที่ชื่อว่า นันทิราคสหคตา (ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี) ด้วยอรรถว่า ไปพร้อมกับนันทิราคะ กล่าวคือ ความยินดียิ่ง
ผู้ที่ชอบสนุกมากๆ และวันหนึ่งๆ ก็สนุกจริงๆ ด้วยอย่างที่ต้องการ ขณะนั้นให้ทราบว่า นันทิราคสหคตา ด้วยอรรถว่า ไปร่วมกับนันทิราคะ กล่าวคือ ความยินดียิ่ง
บทว่า ตัตรตัตราภินันทินี แปลว่า อันมีความยินดียิ่งในภพที่มีอัตภาพนั้นๆ หรือแปลว่า อันมีความยินดียิ่งในบรรดาอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นๆ อธิบายว่า ด้วยความยินดียิ่งในรูป มีความยินดียิ่งในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะและ ในธรรมารมณ์
ตัณหา ความทะยานอยากในกาม ชื่อว่ากามตัณหา บทนี้เป็นชื่อของราคะเป็นไปในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ความทะยานอยากในภพ ชื่อว่าภวตัณหา ความทะยานอยากในภพ บทนี้ เป็นชื่อของราคะในรูปภพและอรูปภพและความใคร่ในฌาน อันสหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจปรารถนาภพ
ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ชื่อว่าวิภวตัณหา ความทะยานอยากในความปราศจากภพ บทนี้เป็นชื่อของราคะ (คือ โลภะ) อันสหรคต (คือ เกิดร่วม) ด้วยอุจเฉททิฏฐิ
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเพื่อจะทรงแสดงวัตถุที่ตั้งของตัณหานั้นโดยพิสดาร จึงตรัสคำเป็นอาทิว่า สา โข ปเนสา (ก็ตัณหานี้นั้นแล)
ในคำนั้น บทว่า อุปปัชชติ แปลว่าย่อมเกิด
ตัณหานี้ย่อมเกิด ใครจะห้ามหรือยับยั้งไม่ได้เลย
บทว่า นิวีสติ (ย่อมตั้งอยู่) ด้วยอรรถว่า ย่อมตั้งมั่นด้วยอำนาจเป็นไปบ่อยๆ
ให้เห็นว่าตัณหาของแต่ละคนมั่นคง แข็งแรง ลึกจริงๆ ยากที่จะสั่นคลอน
คำว่า สิ่งใดเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ด้วยอรรถว่า สิ่งใดมีสภาพน่ารักและมีสภาพอ่อนหวานในโลก ในคำว่า จักขุง โลเก จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลกเป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
ก็สัตว์ทั้งหลายผู้ยึดมั่นในจักขุเป็นต้น โดยเป็นของเราในโลก ดำรงอยู่ในสมบัติแล้ว ย่อมสำคัญจักขุของตน (เป็นต้น) มีประสาท ๕ อันแจ่มใส โดยทำนองรับเงาในกระจกเงาเป็นต้น ดุจสีหบัญชรแก้วมณีที่เผยออกในวิมานทอง ฉะนั้น
ทุกคนมีตา และจะมีต่อไปอีกทุกภพทุกชาติ ซึ่งอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า ตาเป็นที่รัก เป็นสภาพที่น่ารัก เป็นสภาพที่น่าพอใจ เป็นสภาพที่น่ายินดีเพียงใด
ตาของทุกคนเป็นที่รักมาก และเป็นที่หวังว่าจะนำมาซึ่งประโยชน์ คือ การเห็นสิ่งต่างๆ มีความอยากที่จะเห็นแน่นอน ไม่มีใครอยากที่จะไม่เห็น หรือไม่อยากเห็น เพราะฉะนั้น ย่อมสำคัญจักษุ ดุจสีหบัญชรแก้วมณีที่เผยออกในวิมานทอง ฉะนั้น คือ เทียบคุณค่าของตาของแต่ละคนว่ามีความสำคัญ หรือมีความพอใจในประโยชน์ของตาที่จะเห็นถึงอย่างนั้น
ข้อความต่อไป
ย่อมสำคัญโสตดังหลอดเงินและดังสายสังวาล สำคัญฆานะอันได้โวหารว่า มีจมูกโด่งดุจงวงตาลสีเหลืองอันขดตั้งอยู่ สำคัญชิวหาอันอ่อนและให้รสหวานสนิท ดุจแผ่นผ้ากัมพลแดง สำคัญกายดุจไม้เท้าแก่นไม้และดุจเสาระเนียดทองคำ สำคัญมโนอันโอฬาร ไม่เหมือนใจของคนอื่นๆ
ทั้งตา ทั้งหู ทั้งจมูก ทั้งลิ้น ทั้งกาย ทั้งใจ ใจของท่านเหมือนของคนอื่นไหม นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนมีความสำคัญในใจของตน
ย่อมสำคัญรูป (ภายนอก) ดุจสีทองคำและสีดอกกรรณิการ์ เป็นต้น
ทุกคนชอบสี ไม่ว่าจะเป็นสีดอกไม้ สีเสื้อผ้า สีของอาหารต่างๆ จะเห็นได้ว่า เพราะเป็นสิ่งที่ตาเห็น และเป็นสิ่งที่ตาที่เห็นคือจักขุวิญญาณนำมาซึ่งความยินดี จึงสำคัญในรูปดุจสีทองคำ และสีดอกกรรณิการ์เป็นต้น
สำคัญเสียง ดุจเสียงขันของนกการเวกและนกดุเหว่าผู้ยินดี และเสียงกังวานของขลุ่ยแก้วมณีที่เขาเป่าแผ่วๆ สำคัญอารมณ์ คือ กลิ่นเป็นต้น อันเกิดแต่สมุฏฐานที่ตนได้เฉพาะว่า คนอื่นใครเล่าจะมีอารมณ์เช่นนี้
สำหรับสัตว์เหล่านั้นผู้สำคัญอยู่อย่างนี้ ย่อมมีจักขุเป็นต้นนั้นเป็นปิยรูปและสาตรูป ต่อนั้นสัตว์เหล่านั้นจะมีตัณหาที่ยังไม่เกิดนั่นแล เกิดขึ้นในปิยรูปและสาตรูปนั้น และที่เกิดแล้วจะตั้งลงด้วยอำนาจที่เป็นไปบ่อยๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดย่อมเกิดขึ้นในจักขุนี้
บทว่า เมื่อเกิด ในพระดำรัสนั้นมีความว่า จะเกิดเมื่อใด ย่อมเกิดขึ้นในจักขุนี้เมื่อนั้น นัยแม้ในบททั้งปวงก็เช่นนี้แล
กถาแสดงนิทเทสสมุทยสัจจะ จบ
สมุทัย คือ โลภะ ซึ่งเกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นประจำ ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า ไม่เห็นมีอะไร นอกจากเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ จะมีอะไรได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตของทุกคนก็มีแต่โลภะ โทสะ โมหะนั่นเอง ถ้าทุกคนไม่มีโลภะ โทสะ โมหะแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะเลย แต่เพราะทุกคนมีโลภะ โทสะ มากเหลือเกิน เป็นประจำ เพราะฉะนั้น จึงต้องกล่าวถึงเรื่องของอกุศลธรรม คือ โลภะ โทสะ โมหะ มากๆ เพื่อให้ระลึกได้
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ วรรคที่ ๒ ติตถิยสูตรที่ ๘ มีข้อความที่แสดงเรื่องโทษของโลภะ โทสะ โมหะ ว่า
บทว่า ราโค โข ความว่า ราคะอันเป็นไปแล้ว ด้วยสามารถแห่งความยินดี
ถ้าพูดเพียงแค่นี้แล้วสติเกิด แล้วพิจารณาจริงๆ ย่อมรู้ชัดในลักษณะของโลภะว่า ยินดี พอใจจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขาด
บทว่า อัปปสาวัชโช ความว่า ราคะชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะโทษ ๒ ประการ
สำหรับโลภะหรือราคะเป็นสภาพธรรมที่มีโทษน้อย แต่คลายช้า สำหรับโทสะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีโทษมาก แต่คลายเร็ว และสำหรับโมหะนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีโทษมาก และคลายช้า
สำหรับโทษของโลภะที่กล่าวว่า มีโทษน้อย เพราะโทษ ๒ ประการ คือ
ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็นโลกวัชชะ และด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็น วิปากวัชชะ อธิบายว่า เป็นเครื่องประทุษร้ายน้อย
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ทุกคนตั้งแต่เกิดมามีโลภะมาก แต่ว่าโลภะนั้นถึงแม้ว่าเป็นสมุทัย เป็นธรรมที่จะทำให้ก่อเกิดภพข้างหน้าก็จริง แต่ลักษณะของโลภะนั้นมีโทษน้อย แต่คลายช้า ด้วยสามารถโทษที่เป็นโลกวัชชะ และด้วยสามารถโทษที่เป็น วิปากวัชชะ
ถามว่า อย่างไร
แก้ว่า ก็มารดาและบิดาทั้งหลายยังชนทั้งหลาย มีพี่ชายและพี่สาว น้องชายและน้องสาว เป็นต้น ให้กระทำซึ่งอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแก่บุตรและ พี่น้องชาย เป็นต้น ราคะชื่อว่ามีโทษน้อย ด้วยสามารถโลกวัชชะอย่างนี้ก่อน
นี่เป็นชีวิตประจำวันของมนุษย์ตั้งแต่เกิดมา บิดามารดาทั้งหลายก็ให้บุตรธิดากระทำอาวาหมงคล วิวาหมงคล เป็นต้น ซึ่งราคะประเภทนี้ ชื่อว่ามีโทษน้อย ด้วยสามารถโลกวัชชะอย่างนี้ก่อน
ชาวโลกไม่ได้ติเตียนในสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หรือแม้แต่การทำมาหาเลี้ยงชีพซึ่งเป็นโลภะแต่กระทำโดยสุจริต ขณะนั้นก็ไม่มีโทษซึ่งเกิดจากการติเตียนของโลก นั่นคือโลกวัชชะ
เพราะฉะนั้น สำหรับโลภะซึ่งทุกคนมีและทำให้ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ดำเนินชีวิตไปทุกวันด้วยโลภะนี้ ก็เพราะโลภะมีโทษน้อย ด้วยสามารถโทษที่เป็นโลกวัชชะ เพราะชาวโลกก็ไม่ได้ติเตียน ถ้าไม่ผิดทำนองคลองธรรม
ส่วนราคะนั้น ชื่อว่าที่มีโทษน้อย ด้วยสามารถวิปากวัชชะอย่างนี้ว่า ชื่อว่าปฏิสนธิในอบาย อันมีสทารสันโดษ ความยินดีในภรรยาของตนเป็นมูล ย่อมไม่มี
เป็นการมีชีวิตด้วยโลภะตามทำนองคลองธรรม ซึ่งไม่ใช่ทุจริตกรรม คือ ยังไม่ถึงอกุศลกรรมบถ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ทุกคนมีโลภะ มีอย่างปกติน้อยๆ และที่เข้าใจว่าน้อย คือ ไม่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่ใช่ทุจริตกรรม ไม่ใช่อกุศลกรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่มีโทษมากเหมือนอย่างโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีโทษมาก แต่คลายเร็ว
บทว่า ทันธวิราคี ความว่า ก็ราคะนั้นเมื่อคลาย ย่อมค่อยๆ คลาย คือ ไม่พ้นไปอย่างรวดเร็ว ย่อมติดตามไปตลอดกาลนานดุจสีที่เจือด้วยน้ำมันและเขม่า แม้ไปแล้วย่อมไม่กลับมา เหตุนั้นจึงชื่อว่าคลายช้า
มโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ติตถิยสูตร มีข้อความที่กล่าวถึงโทษของโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีโทษมากแต่คลายเร็ว ด้วยสามารถ โทษที่เป็นโลกวัชชะ และด้วยสามารถโทษที่เป็นวิปากวัชชะ
ถามว่า อย่างไร
แก้ว่า บุคคลนั้นผู้อันโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมประพฤติผิดในมารดาบ้าง ในบิดาบ้าง ในชนผู้เป็นที่รักทั้งหลาย มีพี่ชายพี่สาวเป็นต้นบ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง และบุคคลนั้นย่อมได้การติเตียนอย่างมากในที่แห่งบุคคลนั้นไปแล้วๆ ว่า บุคคลนี้ย่อมประพฤติผิดในมารดาและบิดาทั้งหลายบ้าง ประพฤติผิดในชนเป็นที่รักทั้งหลาย มีพี่ชายพี่สาวเป็นต้นบ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง ดังนี้ โทสะนั้นชื่อว่า เป็นของมีโทษมาก ด้วยสามารถที่เป็นโลกวัชชะก่อน
คนที่มีความโกรธมากๆ จนกระทั่งมีความประพฤติที่ไม่สมควร มีการประทุษร้ายมารดาบิดา หรือว่าพี่ชาย พี่สาว บรรพชิต เป็นต้น ทุกคนย่อมติเตียน นี่คือโลกวัชชะ โทสะนั้นชื่อว่าเป็นของมีโทษมาก ด้วยสามารถโทษที่เป็นโลกวัชชะก่อน
เขาอันไฟย่อมไหม้ในนรกตลอดกัป ด้วยอนันตริยกรรมอันตนกระทำแล้ว ด้วยสามารถโทสะ โทสะนั้นชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยสามารถโทษอันเป็นวิปากวัชชะอย่างนี้
เมื่อได้กระทำกรรมด้วยโทสะแล้ว เป็นเหตุให้ได้รับผลของกรรมอย่างที่ ต้องไหม้ในนรกตลอดกัปถ้าเป็นอนันตริยกรรม นี่แสดงให้เห็นถึงโทษมากของโทสะ
บทว่า ขิปปวิราคี ความว่า โทสะย่อมคลายเร็ว จริงอยู่ บุคคลผู้อันโทสะประทุษร้ายแล้ว ประพฤติผิดแล้วในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง ในเจดีย์บ้าง ในต้นโพธิ์บ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง ย่อมแสดงความผิดว่า ท่านทั้งหลายจงอดโทษแก่เราเถิด ดังนี้ กรรมนั้นของเขาย่อมเป็นสภาพปกตินั่นเทียว พร้อมกับการให้อดโทษ
เรื่องของโทสะแสดงให้เห็นว่า มีโทษมาก มีการประทุษร้าย มีการทำลาย แต่ว่าคลายเร็ว เพราะสักครู่หนึ่งจะมีโลภะเกิดสืบต่อ ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า โลภะไม่คลาย เพราะจะเกิดหลังจากที่โทสะเกิดแล้ว โดยที่ไม่นานเลย
เมื่อเกิดโทสะ มีการประทุษร้ายแล้ว สักครู่หนึ่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เป็นความต้องการต่อไป เพราะฉะนั้น โลภะเป็นพื้น และสำหรับโทษของโทสะ ถ้ามีการระลึกได้และกระทำคืนเสียในขณะนั้น ก็ทำให้ความทุรนทุราย หรือความเดือดร้อนใจรำคาญใจหมดสิ้นไปได้
สำหรับโมหะ เป็นธรรมที่มีโทษมากและคลายช้า เพราะเหตุทั้ง ๒ ประการ นั่นเทียว
ถามว่า มีโทษมากอย่างไร
แก้ว่า เพราะว่าบุคคลผู้หลงแล้วเพราะโมหะ ประพฤติผิดแล้วในมารดาบิดาทั้งหลายบ้าง ในเจดีย์บ้าง ในต้นโพธิ์บ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง ย่อมได้ การติเตียนในที่ๆ ตนไปแล้วๆ โมหะเป็นของมีโทษมาก ด้วยสามารถแห่งโทษที่เป็น โลกวัชชะอย่างนี้ก่อน โมหะชื่อว่ามีโทษมาก ด้วยสามารถที่เป็นวิปากวัชชะอย่างนี้ว่า บุคคลนั้นย่อมถูกเผาไหม้ในนรกตลอดกัป ด้วยอนันตริยกรรมอันตนกระทำแล้ว ด้วยสามารถแห่งโมหะ
บทว่า ทันธวิราคี ความว่า โมหะย่อมค่อยๆ คลายไป ก็กรรมอันบุคคลผู้หลงแล้วเพราะโมหะกระทำแล้ว ย่อมค่อยๆ พ้นไป เหมือนอย่างว่า หนังหมีที่บุคคลฟอกล้างอยู่ตั้ง ๗ ครั้ง ย่อมไม่ขาว ฉันใด กรรมที่บุคคลผู้หลงแล้วเพราะโมหะกระทำแล้ว ย่อมไม่พ้นไปเร็วพลัน ค่อยๆ พ้นไป ฉะนั้น เหมือนกัน
แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เป็นโมหะ หรืออวิชชา หรือความไม่รู้ ไม่ใช่ว่า จะหมดสิ้นได้โดยง่าย และเมื่อโมหะเกิดร่วมกับโทสะทำอนันตริยกรรม ก็ย่อมเป็นเหตุ ที่จะให้ได้รับวิปากวัชชะที่เป็นการเผาไหม้ในนรกตลอดกัป
สำหรับโลภะทั้งหลายที่จะเจริญ ก็เพราะสุภนิมิต คือ เห็นสภาพที่น่ายินดี น่าพอใจของสิ่งทั้งหลาย โทสะที่จะเจริญ ก็เพราะเห็นปฏิฆนิมิต คือ ความกำหนดหมายว่ากระทบกระทั่ง โมหะที่จะเจริญขึ้น ก็เพราะอโยนิโสมนสิการ การไม่พิจารณาโดยแยบคาย
โลภมูลจิต ๘ ดวง ควรจะทราบว่า ประกอบด้วยเจตสิกกี่ดวงบ้าง
โลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และมีกำลังกล้า มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวง อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง โลภเจตสิก ๑ ดวง และทิฏฐิเจตสิก ๑ ดวง รวมเป็น เจตสิกทั้งหมด ๑๙ ดวง
โลภมูลจิตดวงที่ ๒ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง หรือ ๒๑ ดวง ถ้าขณะนั้นถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า โลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริกจะต้องเกิดร่วมกับถีนมิทธะทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่เกิดร่วมกับถีนมิทธะ ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง แต่ขณะใดที่มีถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๒๑ ดวง
โลภมูลจิตดวงที่ ๓ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง อสังขาริกัง เป็นโลภมูลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด แต่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และมีกำลังกล้า เป็นอสังขาริก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๘ ดวง หรือ ๑๙ ดวง
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 051
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 052
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 053
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 054
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 055
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 056
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 057
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 058
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 059
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 060
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 061
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 062
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 063
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 064
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 065
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 066
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 067
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 068
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 069
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 070
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 071
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 072
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 073
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 074
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 075
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 076
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 077
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 078
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 079
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 080
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 081
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 082
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 083
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 084
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 085
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 086
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 087
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 088
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 089
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 090
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 091
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 092
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 093
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 094
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 095
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 096
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 097
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 098
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 099
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 100