จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 100
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความหวังร้ายของคนที่เป็นข้าศึกศัตรูกัน ๗ ประการ ให้พิจารณาว่า เคยคิดอย่างนั้นบ้างไหม ถ้าเคย ต่อไปจะได้ลดน้อยลง ไม่ควรที่จะคิดเป็นไปในอกุศลที่หวังร้ายต่อคนที่ท่านไม่ชอบ คือ
ประการที่ ๑ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูมีผิวพรรณทราม
ตามความเป็นจริงแล้ว คนโกรธเอง ทันทีที่โกรธผิวพรรณทราม ไม่ต้องรอเลย เพราะฉะนั้น เพียงคิดหวังร้ายต่อใคร ในขณะที่อกุศลจิตนั้นเกิด ผู้หวังร้ายหรือคิดร้ายนั้นได้รับผลทันที
ประการที่ ๒ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูนอนเป็นทุกข์
ผู้ที่หวังร้าย แม้จะนอนบนที่นอนที่น่าจะสบายสักเท่าไร ขณะนั้นก็เป็นทุกข์แล้วเพราะความโกรธ เวลาโกรธนี่นอนหลับไหม รู้บ้างไหมว่าที่นอนสบาย ขณะที่กำลังโกรธไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย ทั้งๆ ที่ควรจะสบายถ้าไม่โกรธ ก็ยังไม่สามารถที่จะไม่ให้ความโกรธเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่พิจารณาโดยแยบคาย
ประการที่ ๓ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูอย่ามีความเจริญ
แต่คนที่หวังร้ายอย่างนั้น ย่อมไม่เจริญ เพราะในขณะที่กำลังขัดขวางคนอื่นไม่ให้เจริญ ขณะนั้น เข้าถึงความเสียแห่งจิต เป็นเหตุให้ถึงความพินาศ ยังวินัย อาจาระ (คือ ความประพฤติ) รวมทั้งรูปสมบัติ และประโยชน์สุขเป็นต้น ให้ถึงความพินาศ
ประการที่ ๔ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูอย่ามีโภคะ
แต่ตนเองย่อมจะได้รับผลนั้น
ประการที่ ๕ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูอย่ามียศ
แต่ตัวผู้ปรารถนาให้คนอื่นไม่มียศนั้นเอง ย่อมเสื่อมยศ แม้ยศที่ได้มาแล้ว
ประการที่ ๖ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูอย่ามีมิตร
แต่คนที่หวังร้ายต่อใครๆ คนอื่นจะคบคนนั้นไหม เพียงได้ยินความคิดหรือความมุ่งร้ายของคนนั้นต่อคนอื่น ก็ทำให้ไม่มีใครคบค้าสมาคมกับคนนั้น
ประการที่ ๗ ย่อมปรารถนาให้คนผู้เป็นศัตรูตายไปแล้ว ตกนรกบ้าง หรือว่าเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
ตอนเด็กๆ คงเคยแช่งกันบ่อยๆ ลองคิดดู แช่งอย่างเด็ก ก็คงไม่พ้นจาก ๗ ประการนี้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์
เวลาที่ยังไม่โกรธ ก็รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่เมื่อความโกรธเกิดขึ้น กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์
ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมเข้าถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตร และสหาย ย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล คนผู้โกรธย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำ นรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น คนผู้โกรธย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้
คนผู้โกรธย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือนไฟแสดงควันก่อน ในกาลใด ความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่มีความเคารพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำ ย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อยเลย กรรมใดยังห่างไกลจากธรรม อันให้เกิดความเดือดร้อน เราจักบอกกรรมเหล่านั้น เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้นไปตามลำดับ
คนโกรธฆ่าบิดาก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้นกิเลสหยาบช้า โกรธขึ้นมาย่อมฆ่า แม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ได้
จริงอยู่ สัตว์เหล่านั้นมีตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เพราะตนเป็นที่รักอย่างยิ่ง คนโกรธหมกมุ่นในรูปต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองได้เพราะเหตุต่างๆ ย่อมฆ่าตัวเองด้วยดาบบ้าง กินยาพิษบ้าง เอาเชือกผูกคอตายบ้าง โดดเขาตายบ้าง คนเหล่านั้นเมื่อกระทำกรรมอันมีความเสื่อมและทำลายตนก็ไม่รู้สึก
ความเสื่อมเกิดแต่ความโกรธตามที่กล่าวมานี้ เป็นบ่วงของมัจจุราช มีถ้ำเป็น ที่อาศัย บุคคลผู้มักโกรธ มีการฝึกตน คือ มีปัญญา ความเพียรและสัมมาทิฏฐิ พึงตัดความโกรธนั้นขาดได้
บัณฑิตพึงตัดอกุศลธรรมแต่ละอย่างเสียให้ขาด พึงศึกษาในธรรมเหมือนอย่างนั้น เธอทั้งหลายปรารถนาอยู่ว่า ขอความเป็นผู้เก้อยากอย่าได้มีแก่เราทั้งหลายเลย เธอทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากความโกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ ปราศจากความโลภ ไม่มีความริษยา ฝึกฝนตนแล้ว ละความโกรธได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน ฯ
จบ สูตรที่ ๑๑
จบ อัพยากตวรรคที่ ๑
ยังอยู่อีกไกลไหม หรือถึงแม้ว่าจะไกลอย่างไร ก็ค่อยๆ อบรมเจริญหนทางที่ถูก ข้อสำคัญที่สุด คือ อบรมเจริญหนทางที่ถูก เพราะข้อความในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องให้ระลึกรู้ลักษณะของความโกรธทุกขั้น เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง ส่วนใหญ่โทสะมีผลเป็นโทษทั้งสิ้น มีผลเป็นความดีบ้างไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มี
ผู้ฟัง ในกรณีที่บุคคลทำหน้าที่ป้องกันประเทศ มีการต่อสู้ข้าศึก ต้องมีการฆ่าการฟันแทงกัน จากระดับขั้นของความโกรธ ก็มีการจับไม้ การเงื้อ การฟันกัน ให้แหลก ถ้าเช่นนั้นพวกทหารจะมีความโกรธเป็นพื้นของจิตใจไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความพยาบาท หน้าที่ของทหาร คือ ป้องกันประเทศชาติเพื่อให้ทุกคนอยู่อย่างมีความสุขสงบ เพราะฉะนั้น ถ้ามีจุดประสงค์อย่างนี้ และทำทุกอย่างเพื่อป้องกันความเดือดร้อนที่จะตามมาจากสงคราม หรือความเบียดเบียนกันของอกุศลต่างๆ เท่ากับว่ากำจัดไฟตั้งแต่ต้นลมก็ได้ และทหารเอง ถ้าเข้าใจธรรม ทหารผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ผูกโกรธ หรือไม่มีความอาฆาตพยาบาท แต่จะกระทำตามหน้าที่ เพราะทุกคนมีหน้าที่
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น หน้าที่เป็นเครื่องชี้ว่า เราจะทำอะไรก็ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทหารก็ต้องทำสิ่งที่ควร ไม่ใช่ไปเที่ยวยิงฆ่าฟันคนอื่นโดยไร้เหตุผล
ผู้ฟัง ฉะนั้น ถือว่าไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นความโกรธ
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่ตรง ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังไม่ใช่พระอนาคามี เป็นทหาร ก็ต้องมีโทสมูลจิต แต่ไม่ถึงขั้นพยาบาท เพราะไม่มีความโกรธเป็นส่วนตัว หรือคิดที่จะปองร้ายเป็นส่วนตัว แต่ทุกคนมีหน้าที่ที่จะกระทำ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าบุคคลที่เกิดมายังไม่เป็นพระอริยบุคคลจะมีการสะสมที่จะทำหน้าที่ใด อาจจะทำหน้าที่เป็นทหาร อาจจะทำหน้าที่เป็นตำรวจ อาจจะทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ หรือเป็นหมอก็ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ว่ายังมีอกุศลอยู่ และทางที่จะดับอกุศลได้ คือ โดยการเจริญปัญญา ก็อบรมเจริญปัญญา
ผู้ฟัง ทหารฆ่าศัตรู และศัตรูนั้นตายไป ไม่ต้องรับวิบากหรือ
ท่านอาจารย์ ปาณาติบาตเกิดขึ้นแล้ว เป็นเหตุ เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดวิบาก เพราะฉะนั้น วิบากต้องเกิด ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ อกุศลกรรมใดๆ ที่ได้กระทำแล้วมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นให้ผล ก็เกิดขึ้นให้ผล ต่อเมื่อใดปรินิพพานแล้ว กรรมใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดวิบากอีกต่อไปได้ หลังจากจุติจิตของพระอรหันต์
ผู้ฟัง แสดงว่าต้องได้รับผล ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน ช่วยไม่ได้ ใช่ไหม และคนที่ฆ่าสัตว์ ฆ่าปลา ฆ่าหมู ก็เหมือนกัน ต้องได้รับอกุศลวิบาก ฆ่าปลา ฆ่าหมู กับทำหน้าที่ช่วยประเทศชาติ เพื่อคนอื่น ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์และยังไม่จุติ ก็ต้องมีปัจจัยที่จะให้ได้รับผลของ อดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว
โดยมากคิดถึงทหาร มด และยุงล่ะ ก็ลืม เป็นเรื่องที่จะต้องงดเว้นทั้งนั้น และเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญกุศลกรรม เช่น เมตตา เพิ่มขึ้น
ทุกคนมีโทสมูลจิต วันนี้กี่ครั้ง เป็นสิ่งที่ไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่จะพิจารณาได้ว่า ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรม สติควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่น โทสมูลจิต ซึ่งไม่ใช่เป็นแต่เพียงลักษณะโกรธ แต่มีลักษณะขุ่นมัว ไม่แจ่มใส เกิดขึ้นขณะใด ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ร้อน ความเดือดร้อน ความกังวล ความเป็นห่วง ความ เศร้าโศก ความเสียใจ ความไม่แช่มชื่น ความไม่พอใจ ทั้งหมดนั้น เป็นลักษณะของโทสเจตสิก
เรื่องของโทสะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะทุกคนปรารถนาแต่สุข ไม่มีใครปรารถนาทุกข์ โทมนัส หรือโทสะเลย
คนที่กำลังมีความทุกข์ ก็ปรารถนาที่จะให้ทุกข์นั้นหมดไปเร็วๆ ส่วนคนที่มีความสุขอยู่แล้ว หรือว่ากำลังมีความสุขอยู่ ก็ปรารถนาที่จะสุขยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น เรื่องของความสุขเป็นเรื่องที่ทุกคนปรารถนา แต่เรื่องของความทุกข์ ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนหนีไม่พ้น หรือบางท่านอาจจะเข้าใจว่า ตัวท่านตั้งแต่เกิดมาไม่มีทุกข์เลย หรือเป็นผู้ที่มีความทุกข์น้อยกว่าคนอื่นมากจนกระทั่งรู้สึกเหมือนกับว่า ท่านไม่ได้เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไรเลย เกิดมาก็เกือบจะกล่าวได้ว่า สบายตลอดทั้งชาติ แต่ความจริงนั้นไม่ทราบเลยว่า เป็นทุกข์อยู่ทุกขณะ
เพราะฉะนั้น แม้แต่ผู้ที่เป็นทุกข์ ก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะความทุกข์หรือสภาพที่เป็นทุกข์นั้นมีหลายขั้น ตั้งแต่ทุกข์ที่ปรากฏ เป็นทุกข์อย่างหยาบๆ ไปจนกระทั่งถึงทุกข์ที่มองไม่เห็น คือ ทุกข์ของสังขารธรรม ขณะนี้ที่ชื่อว่าสังขารธรรม เป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นและดับไป
ความทุกข์ที่มองไม่เห็น แต่ว่าเกิดอยู่ทุกขณะ คือ สภาพธรรมที่เป็น สังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดขึ้นและดับไป ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ กำลังได้ยินอย่างนี้ กำลังคิดนึกอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ทุกข์ ต้องเป็นปัญญาที่ละเอียดขึ้นจึงจะสามารถพิจารณาเห็นสภาพที่เป็นทุกข์ของสังขารธรรม หรือของขันธ์ หรือของสิ่งที่ทุกท่านยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา หรือว่าเป็นของเราได้
ถ้าจะกล่าวโดยประเภท ทุกข์ที่มีอยู่ทั่วๆ ไป มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ทุกข์กาย ๑ กับทุกข์ใจ ๑
ทุกข์ทางกาย ได้แก่ อกุศลวิบากจิต ๑ ดวงเท่านั้น ซึ่งเป็นอเหตุกจิต คือ ทุกขสหคตัง กายวิญญาณัง ถ้าเป็นเรื่องของทุกข์กาย ไม่ว่าจะปวดหัว ตัวร้อน เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นฝี เป็นทุกข์ทางกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บประการใดทั้งสิ้น
ขณะที่ลักษณะอาการของทุกข์ทางกายเกิดขึ้นปรากฏ ในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยกายปสาทเป็นทวาร คือ เป็นทางที่รู้รูปที่กำลังกระทบสัมผัสกายซึ่งไม่น่าพอใจ เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น บางท่านขณะใดที่มีทุกข์ทางกายเกิดขึ้น พิจารณารู้ลักษณะสภาพของนามธรรมที่กำลังประกอบด้วยความรู้สึกไม่สบายทางกาย ในขณะนั้นจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงชั่วขณะที่ต่างกับเห็น ต่างกับได้ยิน ต่างกับคิดนึก บางท่านแม้ว่ากายเป็นทุกข์จริง แต่ใจไม่ได้เป็นทุกข์ด้วย ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัญญาจริงๆ จึงสามารถมีความแช่มชื่นได้ แม้ในขณะที่กายเป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ต้องแยกระหว่างทุกขเวทนาทางกายกับโทมนัสเวทนาทางใจ แต่โดยวิสัยของผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ใจที่จะไม่เดือดร้อน กระสับกระส่ายเป็นทุกข์กระวนกระวายด้วย ย่อมไม่มี
จะเห็นได้ถึงความสัมพันธ์กันว่า ขณะใดที่ทุกขเวทนาทางกายเกิด จะให้ใจ เป็นสุข นี่ยาก นอกจากเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ก็จะสังเกตได้ว่า บางครั้งทุกข์ทางกายนั้นก็พอทนได้ อาจจะเพียงเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เป็นทุกข์ นิดๆ หน่อยๆ ไม่มาก แต่ถ้าความทุกข์นั้นเพิ่มมากขึ้น ทวีขึ้น เช่น การปวดศีรษะอย่างรุนแรง ก็อาจจะทำให้ความรู้สึกที่แช่มชื่นหมดไป กลายเป็นทุกข์กังวล เดือดร้อน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย ตามทุกขเวทนาที่เกิด ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐาน สามารถรู้ลักษณะที่แยกขาดจากกันระหว่างทุกขเวทนาทางกายกับโทมนัสเวทนาทางใจ
สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมและได้ทราบว่า ขณะใดที่โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกไม่สบายใจ ขณะนั้นเป็นอกุศล ก็ไม่ควรที่จะให้มีมากๆ บ่อยๆ เพราะอกุศลทั้งหลายเป็นสิ่งที่ควรละ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่ทุกข์กายเกิด ก็ต้องหวั่นไหว
บางท่านบอกว่า เวลาที่ไม่สบาย รู้สึกหงุดหงิด
จะเห็นได้ว่า เวลาที่เป็นคนที่มีร่างกายปกติดี ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิด โทมนัสเวทนา ความไม่แช่มชื่น หรือความไม่พอใจ แต่ถ้าเกิดความทุกข์ทางกายขึ้น เช่น ป่วยไข้ได้เจ็บ นอกจากกายจะเป็นทุกข์แล้ว จิตใจก็ยังพลอยโทมนัส หงุดหงิดด้วย
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ทุกข์ต้องมี จะมากหรือน้อยแล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ถ้ายังแข็งแรงดีอยู่ ก็ยังไม่ค่อยจะรู้สึกว่ากายเป็นทุกข์เท่าไร แต่ว่าทางใจเดือดร้อนมากหรือเปล่า แม้ว่าทางกายไม่ได้เป็นทุกข์ และในระหว่างทุกข์กายกับ ทุกข์ใจ แต่ละท่านสามารถจะทนอย่างไหนได้มากกว่ากัน
บางคนอาจจะเป็นคนแข็งแรง ทุกข์กายทนได้ แต่เวลาถึงเรื่องทุกข์ใจ ทนไม่ได้เลย ก็ย่อมเป็นไปได้ หรือสำหรับบางคน เป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ค่อยจะหวั่นไหวเรื่องของทางใจ แต่ทางกาย เป็นผู้ที่ทนไม่ได้เลยต่อการเจ็บป่วยก็ได้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะสะสมมาอย่างไร
สำหรับทุกข์ทางกาย ได้แก่ อกุศลวิบากจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิตดวงเดียวเท่านั้น คือ ทุกขสหคตัง กายวิญญาณัง แม้แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดก่อนปรินิพพาน เพราะทุกคนได้กระทำกรรมมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นโอกาส หรือเป็นกาล หรือพร้อมด้วยปัจจัยที่กรรมใดจะให้ผล แม้พระอรหันต์ทั้งหลายก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น แต่สำหรับทุกข์ ทางใจนั้น เกิดขึ้นเพราะกิเลส ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรม และผู้ที่จะดับทุกข์ทางใจ คือ ไม่มีโทสมูลจิตเกิดอีกเลย ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล จึงจะดับโทมนัสเวทนาและโทสมูลจิตได้เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น การที่จะพ้นทุกข์ของสังสารวัฏฏ์ จะต้องพ้นทั้งทุกข์กายและ ทุกข์ใจ โดยการรู้แจ้งอริยสัจธรรมจนถึงขั้นที่จะไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย มิฉะนั้นแล้ว ถ้ามีการเกิดขึ้น ที่จะพ้นจากทุกข์กาย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกข์กายเกิดขึ้นจากอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ส่วนที่จะพ้นจากทุกข์ใจนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงจะไม่มี โทสมูลจิตเกิดขึ้นอีกเลย
ผู้ฟัง เจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตได้ มีโทสเจตสิก และอิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่
ผู้ฟัง โดยทั่วไปมักเข้าใจว่า มัจฉริยะเกิดกับโลภะ เพราะเป็นความตระหนี่หวงแหน แต่ทำไมถึงเกิดกับโทสมูลจิต
ท่านอาจารย์ ตระหนี่หวงแหนเฉพาะกับบุคคลที่ไม่ชอบ ถ้าเป็นคนที่ชอบ มีเท่าไรก็ให้ ไม่ตระหนี่หวงแหนเลย เพราะฉะนั้น เครื่องวัดว่าผู้ใดเป็นที่รัก สังเกตได้จากมัจฉริยะ ถ้าเป็นที่รักจริงๆ ไม่มีมัจฉริยะ
ผู้ฟัง แต่ขณะที่ไม่ชอบ กับขณะที่ตระหนี่ ก็คนละขณะ อาจจะเป็นโทสะขณะหนึ่ง และโลภะอีกขณะหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ความหวงของ ไม่ต้องการให้ของของตนสาธารณะทั่วไปแก่บุคคลอื่น แต่พิจารณาดูว่า หวงใคร ไม่ต้องการให้ใคร ก็ไม่ต้องการให้ผู้ที่ไม่ชอบ ถ้าเป็นผู้ที่ชอบหรือเป็นที่รักแล้วให้ได้ เพราะฉะนั้น มัจฉริยเจตสิกเป็นการหวงกันสมบัติของตนไม่ให้สาธารณะทั่วไปกับผู้ซึ่งไม่เป็นที่รัก
ผู้ฟัง กับผู้ที่เฉยๆ คือ ทั้งไม่ใช่รักหรือไม่รัก แต่ก็ไม่อยากจะให้ หรือตระหนี่ ไม่จำเป็นว่าต้องสำหรับผู้ไม่เป็นที่รักเสมอไป
ท่านอาจารย์ เรื่องของความตระหนี่ ต้องเป็นเรื่องของเหตุผล คือ ไม่ใช่มีทุกสิ่ง ทุกอย่างสำหรับทุกๆ คน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ไม่ได้เป็นไปเพราะอคติ ในการที่จะให้หรือในการที่จะไม่ให้ นั่นจึงจะเป็นกุศล แต่ถ้าเป็นโลภะ ไม่ตระหนี่ เพราะฉะนั้น มัจฉริยเจตสิกไม่เกิดกับโลภมูลจิต
ผู้ฟัง ในการที่จะไม่ให้ แต่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ จะเป็นอกุศลหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ไม่ได้หมายความว่า ท่านต้องให้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ท่านไม่ได้ให้เพราะอคติ สิ่งที่ควรให้ก็ให้ ไม่ว่าจะเป็นที่รักหรือไม่รักก็ตามแต่ เมื่อสมควรแก่การที่จะให้ เป็นการเกื้อกูล ท่านก็ให้ได้
เพราะฉะนั้น วันนี้ยังไม่ถึงเรื่องของมัจฉริยะ กำลังกล่าวถึงเรื่องของโทสะ โดยทั่วๆ ไปก่อน ภายหลังจึงจะกล่าวถึงว่าจะมีเจตสิกอะไรที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิตบ้าง แต่ควรที่จะทราบว่า มัจฉริยะ ซึ่งเป็นความตระหนี่ เป็นความหวงแหนนั้น ต้องมีเหตุผล เป็นสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ไม่ใช่ว่าจะต้องสละให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
ลองพิจารณาเรื่องของทุกข์กาย หรือทุกข์ใจในวันหนึ่งๆ เพื่อที่จะได้พิจารณาว่า มีทุกข์กายหรือทุกข์ใจแค่ไหน
ทุกข์กาย ต้องเกิดขึ้นเมื่อกายปสาทกระทบสัมผัสกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เช่น แข็งไป เย็นไป ร้อนไป ไม่สบายกาย เก้าอี้แข็งๆ หรือเย็นไป ร้อนไป แต่สิ่งที่แข็งที่กระทบสัมผัส ลองคิดดู ถ้าเป็นสิ่งที่ชอบก็ลืมว่าขณะนั้นเป็นทุกข์กาย เพราะ ขณะนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความทุกข์ทางใจขึ้น แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็ทำให้เกิดทั้ง ทุกข์กายและทุกข์ใจได้ เช่น เวลาที่เล่นกีฬา กับเวลาที่ทำงานบ้าน
ผู้ที่ทำงานบ้านไม่สนุกเท่ากับขณะที่เล่นกีฬาแน่นอน ไม่เพลิดเพลิน อาจจะรู้สึกรำคาญใจว่า ไม่มีใครช่วยทำกิจธุระในบ้าน ต้องทำเองเหนื่อยยากลำบากทุกอย่าง แต่ก็คือการที่กายกระทบสัมผัสกับสิ่งที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เหมือนกับขณะที่ไม่ได้ทำงานบ้านนั่นเอง หรือในขณะที่เล่นกีฬาสนุก ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ได้กระทบสัมผัสกับสิ่งที่แข็งที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการเล่นกีฬา และในขณะที่เพลิดเพลินยินดีก็ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงในขณะนั้นทางกายก็ได้กระทบสัมผัสกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ
ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมที่กาย ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรื่องราวต่างๆ เช่น เรื่องความทุกข์ยากลำบากภายในบ้านเรือนหรืออะไรต่างๆ ก็จะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางกายเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะกำลังเล่นเกมส์กีฬาสนุกสนาน หรือว่ากำลังทำงานบ้านก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ จะกันทุกข์ใจ คือ ความรำคาญใจ ความเดือดร้อนใจได้
แต่ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงกระทบ แข็งบ้าง อ่อนบ้าง ร้อนบ้าง เย็นบ้าง ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่คิดนึกต่างๆ ทำให้จิตใจหวั่นไหวเป็นทุกข์เดือดร้อน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ การนอนที่โคนไม้ในป่า หรือการนอน ในปราสาทราชวัง มีอะไรที่ต่างกันทางกาย
ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจนปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 051
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 052
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 053
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 054
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 055
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 056
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 057
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 058
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 059
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 060
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 061
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 062
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 063
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 064
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 065
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 066
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 067
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 068
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 069
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 070
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 071
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 072
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 073
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 074
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 075
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 076
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 077
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 078
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 079
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 080
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 081
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 082
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 083
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 084
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 085
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 086
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 087
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 088
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 089
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 090
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 091
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 092
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 093
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 094
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 095
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 096
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 097
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 098
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 099
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 100