จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 059


    ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ เปรียบเหมือนนมสดเกิดจากโค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส หัวเนยใสชาวโลกย่อมกล่าวว่าเป็นยอด ในจำพวกโครส ๕ เหล่านั้น ฉันใด บรรดาภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ เป็นเลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด และดีกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวกนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

    จบ สูตรที่ ๑

    ผู้ที่ไปอยู่ป่า หรือคิดจะไป หรือต้องการที่จะไป ควรจะพิจารณาพระสูตรนี้ว่า ท่านไปเพราะเหตุใด เพราะว่าผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มี ๕ จำพวก

    จำพวกที่ ๑ เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย

    จะรู้ได้อย่างไรว่าอยู่ในจำพวกนี้หรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสติ เรื่องสติปัฏฐาน คือ อารมณ์ที่สติจะระลึกรู้ เรื่องการที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า ขณะใดสติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ ขณะใดสติระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่ศึกษา ไม่พิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ให้เห็นประโยชน์อย่างถ่องแท้ เพียงแต่คิดว่าอยากจะไป ต้องการที่จะไป จะเป็นจำพวกที่ ๑ ไหม ที่เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะโง่เขลา เพราะหลงงมงาย

    บางท่านก็ไม่ฟัง ไม่พิจารณาในข้อปฏิบัติ ไปก่อนโดยที่ไม่รู้ว่าไปทำไม และเมื่อไปแล้ว ก็อาจจะปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ย่อมไม่เกิดปัญญาที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง โดยถูกต้อง

    ที่ถูกต้องแล้วควรจะพิจารณาว่า ไปเพราะอะไร มีความเข้าใจพอหรือยังที่จะไป บางท่านอาจจะได้ฟังธรรมพอประมาณ และก็อยากจะไป เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยที่จะต้องการผล เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังธรรมพอประมาณแล้วก็ไป อย่าลืม บุคคลจำพวกที่ ๒ คือ

    มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากครอบงำ จึงถืออยู่ป่าเป็นวัตร

    สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน บางท่านเห็นคฤหัสถ์สรรเสริญผู้ที่อยู่ป่า เพราะฉะนั้น ก็มีความปรารถนาที่จะได้รับการสรรเสริญ หรือบางท่านเห็นว่า ผู้ที่อยู่ป่าเป็นผู้ที่ได้ลาภ จึงไปสู่ป่าเพื่อต้องการได้ลาภ นั่นเป็นเรื่องของความปรารถนาลามก คือ ความปรารถนาในลาภ ในยศ ในชื่อเสียง ในสักการะ เป็นเหตุให้อยู่ป่าจำพวกหนึ่ง

    สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมพอประมาณ และต้องการผลโดยรวดเร็ว พิจารณาบ้างหรือเปล่าว่า มีความอยากอะไรหรือเปล่า อาจจะไม่ใช่อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ แต่ต้องการผล ต้องการสติมากๆ คิดว่าถ้าไม่ได้อยู่ในที่สงัดเช่นนั้น สติย่อมเกิดน้อย ซึ่งท่านผู้ฟังบางท่านอาจจะประสบด้วยตนเองว่า ดูเหมือนว่าจะเป็นจริง เพราะวันใดที่ไม่มีกิจธุระมาก หรือว่าขณะใดที่ไม่มีแขกไปมาหาสู่มาก หรือว่าวันใดบังเอิญอยู่ในห้องเพียงคนเดียว หรือว่าบังเอิญตื่นขึ้นกลางดึก สติดูเหมือนจะเกิดมากกว่าขณะอื่น แต่อย่าลืม สัมมาสติ ต่างกับสมาธิ หรือว่าความต้องการ

    สำหรับบางท่านซึ่งมีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และยังเป็นผู้ที่สังเกตว่า ยามใดสติเกิดมาก เป็นสัมมาสติจริงๆ เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่มีความตั้งใจ และขณะนั้นก็ระลึกถูก คือ ระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย แต่อย่าลืมที่จะสังเกตต่อไปว่า มีความติดหรือมีความพอใจในขณะนั้น ในยามนั้นบ้างหรือเปล่าว่า ถ้าเป็นยามนั้นแล้วสติมักจะเกิด

    เรื่องของความต้องการนี้ละเอียดมาก แม้ว่าสติจะเกิดมาก และปัญญาจะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่อย่าลืมว่า ต้องมีธรรมที่กั้นความปรารถนา หรือความต้องการที่จะให้มีสติมากๆ อย่างนั้นอีก สมมติว่ามีท่านที่สติปัฏฐานเกิดมากในขณะที่กราบพระ เพราะฉะนั้น อาจจะอยากกราบอีก หรือพอเริ่มจะกราบก็รู้สึกว่า เดี๋ยวสติคงจะเกิดอีกมากๆ บางท่านก็อาจจะเป็นช่วงอื่น ขณะอื่น ระยะอื่น เหตุการณ์อื่นก็ได้ และเป็นผู้ที่มีความสังเกตว่า ถ้าเป็นในขณะนั้นสติจะเกิดมาก แต่ความติดหรือความต้องการในขณะนั้นมีบ้างหรือเปล่า หรือว่าเป็นเรื่องละ

    นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องสังเกต

    และอะไรจะเป็นเครื่องทำลายความต้องการสติที่จะให้เกิดมาก เพราะในขณะนั้นเป็นลักษณะของความติดชนิดหนึ่ง แต่เป็นความติดอย่างละเอียด ธรรมประการเดียวซึ่งจะละความปรารถนา ความติด หรือความพอใจ แม้ในขณะที่เวลานั้น เหตุการณ์นั้น เป็นเวลาที่สติจะเกิดมาก ก็คือ แม้ในขณะอื่นสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทันที มิฉะนั้นแล้วจะมีความพอใจใคร่ที่จะทำสิ่งนั้นบ่อยๆ เพื่อจูงใจให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้นานๆ ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ก็มีเครื่องกั้นอย่างละเอียดที่ไม่สามารถละทิ้งความพอใจ หรือว่าความต้องการสติและปัญญาได้

    การที่จะละคลายได้จริงๆ คือ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม สติระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อให้สติมีกำลังขึ้นที่จะรู้จริงๆ ว่า นามธรรมไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่แต่เฉพาะนามธรรมในที่บางแห่ง หรือว่าในบางเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมต้องละเอียดจริงๆ แม้แต่ข้อความในบางพระสูตรที่ว่า เมื่อภิกษุอยู่ในสถานที่ใด ในเสนาสนะใด และกุศลธรรมเกิดมาก อกุศลเกิดน้อย ก็ควรจะอยู่ในที่นั้น

    ถ้าเพียงผิวเผิน ก็คงจะติด อยากจะอยู่ด้วยความต้องการ ต่อเมื่อใดเป็น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ โดยละเอียด โดยทั่ว จะรู้ว่า เพราะการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานโดยละเอียดโดยทั่วเท่านั้น จึงจะละความติด หรือความพอใจ แม้ ในสถานที่ซึ่งเข้าใจว่าเมื่ออยู่ที่นั่นแล้วสติจะเกิดมาก หรือว่ากุศลธรรมจะเจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณาโดยละเอียด ถ้าใครตอบว่า ไปเพราะว่าสติจะเกิดมาก หมายความว่าเป็นผู้ที่ถูกความปรารถนา หรือว่าถูกความอยากครอบงำ เพราะหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หวังลาภ ยศ สรรเสริญ ก็หวังผล คือ รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ว่าผล คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะเกิดได้ต่อเมื่อปัญญา คมกล้าจริงๆ ที่จะรู้ว่า ขณะใดที่เห็น เป็นเพียงนามธรรม เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่ง และ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่สามารถจะปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่สติเกิด

    นี่เป็นการตรวจสอบการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะทำให้ละความติดหรือความพอใจในผล ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้หวังผล แต่เจริญเหตุ คือ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจนกว่าปัญญาจะรู้ทั่ว

    สำหรับบุคคลจำพวกที่ ๓ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน อยู่บ้านไม่ได้ เพราะจิตใจผิดปกติ ก็ออกจากบ้านเร่ร่อนไปสู่ป่า

    จำพวกที่ ๔ ถืออยู่ป่าเป็นวัตรเพราะรู้ว่า เป็นวัตรอันพระพุทธเจ้าและสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ

    นี่เป็นผู้ที่อยากจะปฏิบัติ อยากจะทำดี แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ว่า อยู่ป่าเพื่ออะไร อยู่แล้วได้อะไร เป็นข้อปฏิบัติที่ถูก หรือข้อปฏิบัติที่ผิด ถ้าอยู่แล้วปฏิบัติผิด ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่อยู่ป่า แต่มีการศึกษาให้เข้าใจโดยละเอียดจนกระทั่งสามารถอบรมเจริญปัญญาโดยถูกต้อง ย่อมดีกว่าผู้ที่ไปสู่ป่าแล้วปฏิบัติผิด

    สำหรับประการสุดท้าย คือ ผู้ที่ถือว่าอยู่ป่าเป็นวัตร เพราะอาศัยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามเช่นนี้ นี่เป็นผู้ที่เลิศ ประเสริฐ เป็นประธาน สูงสุด ของภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรทั้ง ๕ จำพวก

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พิจารณา อย่าลืมข้อ ๕ ที่จะพิจารณาว่า เพราะความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความสงัด ความเป็นผู้มีความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงาม คือ ข้อปฏิบัติเช่นท่านพระมหากัสสปะผู้เลิศ ในธุดงคคุณ

    ท่านเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าไม่เป็นแล้วจะไปสู่ป่า ถ้าไม่ใช่ข้อที่ ๕ ก็ต้องเป็นข้อหนึ่งข้อใดในอีก ๔ ข้อ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    . เรื่องของการติดที่อาจารย์ได้กล่าวมา ฟังแล้วดูวกวนไม่ค่อยเข้าใจ ในเมื่อรู้ว่าสถานที่หนึ่งที่ใดไปแล้วกุศลจิตเกิดขึ้นบ่อย หรือเกิดมาก ก็ควรที่จะไป จะถือว่าติดได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ควรจะอยู่ในสถานที่นั้น และอบรมเจริญปัญญา พร้อมกันนั้นต้องเป็น ผู้ละเอียดที่จะรู้ว่า เป็นผู้ที่ติดในสถานที่นั้นหรือเปล่า การศึกษาธรรมต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ แม้แต่การที่สถานที่นั้นเป็นที่ที่เหมาะ ที่ควร ที่อยู่แล้วกุศลจิตเจริญ ก็ยังต้องเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า มีความติด มีความพอใจในสถานที่นั้นหรือเปล่า มีความเข้าใจผิด หรือว่าเป็นอัธยาศัยจริงๆ

    . อย่างนี้จะเรียกว่า ติด หรือว่าสมควรก็ได้

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ยังไม่ต้องไปสู่สถานที่นั้น เช่น ท่านผู้ฟังซึ่งอยู่ที่บ้านตามปกติ มีชีวิตประจำวันตามปกติ และวันหนึ่งวันใดสติปัฏฐานเกิดมาก ท่านอาจจะพิจารณาและรู้สึกว่าเป็นเพราะท่านอยู่คนเดียว หรือเป็นเพราะไม่ค่อยมีกิจธุระการงาน หรือเป็นเพราะเป็นเวลาดึกสงัดไม่มีเสียงวุ่นวายจอแจ และสติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ทางตา ทางหู แล้วแต่ในขณะนั้นจะเป็นสภาพธรรมใด แม้อย่างนั้นก็ตาม สติปัฏฐาน คือ การพิจารณาที่จะต้องรู้ว่า มีความติด มีความอยาก มีความพอใจที่จะให้เหตุการณ์อย่างนั้นๆ เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า

    เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละ เป็นเรื่องขัดเกลา และเป็นเรื่องรู้ อย่าลืม ขณะใดที่ติด มีความอยากนิดหน่อย ต้องการผลบ้าง ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นเครื่องกั้นโดยไม่รู้ตัวเลย และที่จะละเครื่องกั้นนั้นได้ ก็ต่อเมื่อไม่สนใจว่าจะต้องเป็นเหตุการณ์อย่างนั้น เป็นเวลานั้น หรือเป็นเรื่องนั้น เป็นจิตนั้น แต่เป็นเดี๋ยวนี้เองที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือกำลังคิดนึก เพราะฉะนั้น ที่จะไม่ติดในเหตุการณ์ ในสถานที่ หรือว่าในบางโอกาส ก็โดยการที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทันที นี่คือการละความติด

    แต่จะมีความติด ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมจึงไม่ผิวเผิน และมัชฌิมาปฏิปทา คือ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาด้วยความเป็นผู้ตรง มิฉะนั้นแล้ว ถ้าพบข้อความที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความสันโดษ หรือว่าความสงัด แต่ว่าอัธยาศัยของท่านจริงๆ เป็นอย่างไร ทำได้ หรือพยายามฝืนที่จะทำโดยคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ แต่ว่าอัธยาศัยจริงๆ ของท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้น ซึ่งอัธยาศัยจริงๆ ของบุคคลที่จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้วในอดีตพอสมควร พร้อมทั้งอัธยาศัยที่ชอบความสงัดด้วย

    . สถานที่แห่งหนึ่งแห่งใด บางแห่งไปอยู่แล้วสติเกิดมาก บางแห่งไปอยู่แล้วสติเกิดน้อย เมื่อรู้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ก็ไปสู่สถานที่ที่สติเกิดบ่อยๆ ย่อมเป็นการสมควร จะถือว่าเป็นการติดได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ อยากไป ใช่ไหม ก่อนอื่น ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมขณะนี้ เดี๋ยวนี้ อยากไปใช่ไหม

    . ก็ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ บางทีสติไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แทนที่จะอบรมโดยการระลึกเพื่อต่อไปสติจะได้เกิด แม้ในขณะนี้ ก็กลับเปล่า ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นผู้ที่พร้อมที่จะให้ปัญญารู้ทั่วจริงๆ ก็ต้องไม่ว่านามใด รูปใด

    เวลาโกรธ เวลาขัดใจ เวลาตระหนี่ เวลาริษยา เวลาคิดเรื่องธุรกิจการงาน เวลาหนึ่งเวลาใดก็ตาม ถ้าปัญญายังไม่สามารถจะรู้ทั่วจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งๆ เพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้นและดับไปๆ ก็ ไม่สามารถที่จะเป็นพระอริยสาวก เป็นพระโสดาบันได้เลย

    ท่านผู้ฟังกำลังกระทบสิ่งที่แข็ง ชั่วในขณะที่แข็งปรากฏขณะเดียวและดับ ท่านผู้ฟังกำลังเห็น ชั่วขณะที่กำลังเห็นเป็นขณะเดียวและก็ดับ ชั่วในขณะที่กำลังได้ยิน ท่านผู้ฟังกำลังได้ยินเพียงขณะเดียวและดับ ต้องรู้ทั่วอย่างนี้จริงๆ ในชีวิตจริงๆ ของแต่ละบุคคล จึงจะสามารถดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงสติปัฏฐานไว้โดยละเอียด เพื่อเป็นหนทางที่จะละอภิชฌาและโทมนัส

    การที่จะไปอยู่ป่า เป็นผู้ที่อยาก ไม่ใช่ในลาภ ยศ สรรเสริญก็จริง แต่เป็นผู้ที่ต้องการผลอย่างหนึ่งอย่างใดหรือเปล่า แม้แต่ผลนั้นคือต้องการให้มีสติมาก ก็เป็นเครื่องกั้นไม่ให้ปัญญารู้นามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้เองซึ่งจะต้องรู้ และวิธีที่จะรู้ ถ้าสติไม่เจริญขึ้นในขณะนี้ เมื่อไรจะรู้ เพราะถ้าจะไปสู่ที่สงัด ในขณะนี้ก็ไม่รู้ แต่ที่จะรู้ในขณะนี้ได้ เพราะอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ก็จริงอยู่ ถ้าขณะนี้สติเกิดขึ้นได้ พิจารณาเดี๋ยวนี้ได้ แต่บางสถานที่อยู่แล้วสติไม่เกิด และก็รู้ว่า สถานที่บางแห่งไปอยู่แล้วสติเกิด

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าสถานที่บางแห่งสติไม่เกิด ใช่ไหม แต่ว่าขณะนั้นอยู่ที่นั่นเพราะ เหตุปัจจัย ใช่หรือไม่ใช่ เมื่ออยู่ที่นั่นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะไม่ให้อยู่ที่นั่นก็ไม่ได้ เพราะว่าอยู่แล้ว ใช่ไหม

    . แต่โอกาสที่จะปลีกไปจากที่นั้นได้ ก็ควรปลีกไป

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นอยู่แล้ว ใช่ไหม สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เป็นทางที่จะอบรมปัญญาให้รู้ทั่ว อย่าลืมคำว่า รู้ทั่ว

    ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาถึงความละเอียดของการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ที่ว่าแม้ว่าจะระลึกชาติได้ เห็นว่าตายจากชาตินี้แล้วก็ไปเกิดชาตินั้น มีสภาพเปลี่ยนไปๆ แต่ละภพ แต่ละชาติ ความรู้สึกว่าเป็นตัวตนยังเหนียวแน่น ยังอยู่เต็มบริบูรณ์ ยังไม่หมดไปแม้ว่าระลึกชาติได้ แต่การอบรมเจริญปัญญาที่จะละความเป็นตัวตน ต้องเป็นปัญญาที่คม ละเอียดจริงๆ จนสามารถที่จะดับความละเอียดของการที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ว่าจะระลึกชาติได้

    ให้เห็นความละเอียดของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งต้องอาศัยปัญญาที่ละเอียดจริงๆ เท่านั้น ที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนจนสนิท จนไม่เกิดอีกเลย ซึ่งเป็นหนทางเดียว คือ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั่วจริงๆ เมื่อทั่วจริงๆ แล้ว การเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ ไม่กั้นการเจริญขึ้นของปัญญา แต่การที่คิดว่าบางสถานที่สติเกิดมาก ปัญญาเกิดมาก ความคิดอย่างนี้จะกั้นการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และก็กั้นความเจริญขึ้นของปัญญา

    ยังจะเลือกสถานที่ที่จะกั้นการเจริญขึ้นของปัญญา หรือว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้ทั่ว จนสามารถที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ว่าจะระลึกชาติได้

    . เมื่อรู้อยู่แล้วว่า สถานที่บางแห่งอยู่แล้วสติปัฏฐานเกิดบ่อย จะว่ากั้นปัญญาได้อย่างไร เมื่อสติปัฏฐานเกิด ปัญญาก็เกิด จะกั้นปัญญาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าท่านผู้ฟังไปจริงๆ จะทราบว่าติดหรือเปล่า

    การขัดเกลากิเลส สำหรับทุกท่านก็คงมุ่งให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง ซึ่งจากการบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว กิเลสย่อมลดน้อยลงตามกำลังของปัญญา และเมื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล ก็จะต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง แต่ไม่ใช่เร็ว เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญ ปัญญามีหนทางเดียว คือ ศึกษาพระธรรมเพื่อที่จะได้เข้าใจในสภาพธรรม เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นอนัตตา

    นี่เป็นจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น เพราะว่าการศึกษาพระธรรมนั้นมี ๓ ลักษณะ ซึ่งข้อความใน สุมังคลวิลาสินี มีว่า

    จริงอยู่ การเรียนปริยัติ มี ๓ ประเภท คือ

    อลคัททูปมา การเรียนปริยัติเหมือนจับงูข้างหาง

    นิสสรณัตถา การเรียนปริยัติมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย

    ภัณฑาคาริกปริยัติ การเรียนปริยัติของพระอรหันต์ผู้เหมือนคนรักษาเรือนคลัง

    ท่านผู้ฟังหลายท่านสนใจที่จะศึกษาพระปริยัติ แต่อย่าลืมพิจารณาจุดประสงค์ของการศึกษาว่าเพื่ออะไร ถ้าเป็นการศึกษาที่ผิดทาง คือ เรียนเพราะต้องการข่ม คนอื่น เป็นต้น การเรียนปริยัติเช่นนี้ชื่อว่า อลคัททูปมา คือ เหมือนการจับงู ข้างหาง ซึ่งงูนั้นย่อมจะกัด เมื่อเรียนแล้วข่มคนอื่นว่าเป็นผู้ที่รู้ดี หรือเป็นผู้ที่รู้มาก ขณะนั้นไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย เพราะฉะนั้น ท่านที่กำลังจะศึกษา ก็ควรจะศึกษาเพียงเพื่อเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น เพื่อเกื้อกูลต่อการที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นอนัตตา ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาไม่ใช่สิ่งที่จะประจักษ์แจ้งได้โดยง่าย เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการเรียนและการพิจารณา เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏโดยความเป็นอนัตตาจริงๆ และนี่ควรจะเป็นจุดประสงค์ ไม่ใช่จุดประสงค์อื่น แต่ถ้าเป็นการเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อย่างอื่น คือ เพื่อให้เห็นว่าเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม และมีความรู้ดีกว่าบุคคลอื่น นั่นเป็นการศึกษาประเภท อลคัททูปมา คือ การเรียนปริยัติเหมือนจับงูข้างหาง

    สำหรับ นิสสรณัตถา การเรียนปริยัติมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัย คือ คนที่เรียนถูกทาง และไม่ได้เรียนเพื่อข่มคนอื่น แต่เรียนเพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมเหล่านั้น อันกุลบุตรเหล่านั้นเรียนถูกทางแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสวัสดิภาพ และเพื่อความสุขสิ้นกาลนาน หมายความว่าเมื่อเรียนแล้ว และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถจะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาโดยละเอียด

    ขอเล่าถึงท่านผู้หนึ่งซึ่งพยาบาลผู้ป่วยท่านหนึ่งที่ชราแล้ว วันหนึ่งท่านเกิดพิจารณาเห็นทุกข์ของความชราของผู้ป่วยนั้น เห็นว่าความชราช่างเป็นทุกข์เสียจริงๆ ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวโดยรวดเร็ว หรือไม่สามารถที่จะหยิบจับทุกสิ่งทุกอย่างได้ เหมือนกับเวลาที่ยังไม่ชรา และเห็นโทษ คือ ความปวด ความเจ็บของร่างกาย ส่วนนั้นบ้าง ส่วนนี้บ้าง ท่านมีความสลดใจจนกระทั่งไม่สามารถป้อนอาหารผู้นั้นต่อไปอีกได้ ถึงกับร้องไห้ใหญ่ ซึ่งท่านก็ได้ถามผู้เป็นอาจารย์ที่สอนธรรมว่า ที่เป็นอย่างนี้ คืออะไร อาจารย์ที่สอนธรรมท่านนั้นก็ตอบว่า นี่คืออารมณ์ของวิปัสสนา

    นี่ไม่ใช่การพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแต่ละลักษณะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    15 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ