ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1395
ตอนที่ ๑๓๙๕
สนทนาธรรม ที่ สมาคมแม่บ้านตำรวจ
วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑
ท่านอาจารย์ แต่เมื่อไม่ถึงเวลาไม่ได้ฟังธรรมะนะคะ ก็เหมือนแสงไฟที่ถูกครอบแก้วบังไว้ ไม่มีใครรู้เลยค่ะว่าเขาสว่างไสวแค่ไหน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ว่าถ้าเขาได้ฟังธรรมะนะคะ ปัญญาที่เขาสะสมมาเนี่ยสามารถที่จะเข้าใจธรรมะได้ เพราะฉะนั้นการสะสมความเข้าใจธรรมะเนี่ยนะคะ ก็จะอยู่ในจิต ตามกาลว่าชาติไหนมีโอกาสได้ฟังเพิ่มขึ้นเข้าใจเพิ่มขึ้น ความรู้ความเข้าใจแค่ไหนแต่ด้วยความเป็นอนัตตาไม่ใช่ด้วยการที่เป็นเราจงใจที่จะทำ
เพราะฉะนั้นแต่ละชีวิตของพระสาวก ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านแสดงอดีตชาติของท่านในสมัยที่ท่านเกิดเป็นโน่นเป็นนี่มากมายนะคะ แล้วเราก็กำลังเป็นอย่างนั้นแหละนะคะ เพราะฉะนั้นโพธิสัตว์มี ๓ พระมหาโพธิสัตว์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บำเพ็ญบารมีเพื่อรู้แจ้งความจริงที่สามารถที่จะเหนือบุคคลอื่นทั้งสิ้นนะคะ
และประกอบด้วยพระญานที่มหาศาลไม่มีใครเทียบได้ทั้งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ จึงได้ทรงแสดงธรรมะ ๔๕ พรรษา โดยนัยหลากหลายอีกมากทั้งหมดไม่พ้นจาก จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่ว่าขณะนี้ไม่มีก็กล่าวถึงเฉพาะสิ่งที่รู้ได้นะคะ และผู้ที่ได้สะสมบารมีที่จะรู้ความจริงในกาลที่ไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาไม่เท่ากัน บารมีไม่เท่ากัน
เพราะฉะนั้นท่านก็อยู่ในสมัยซึ่งนะคะ คนยากที่จะได้ฟังพระธรรมเข้าใจ แต่ท่านสะสมมาที่จะแม้เพียงสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นปรากฏ ปัญญาที่ได้สะสมมาแล้วเนี่ยสามารถที่จะคิด รู้ประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมได้ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่ได้สอนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ และสำหรับผู้ที่กำลังฟังธรรมะเดี๋ยวนี้นะคะ ด้วยความมั่นคง ว่าทั้งหมดที่ได้ฟังนี่รู้ได้เป็นความจริงนะคะ ไม่ใช่เรา สามารถที่จะรู้ความจริงในระดับของสาวกนะคะ
เป็นสาวกโพธิสัตว์ต้องอาศัยคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นท่านพระสารีบุตรไม่ใช่ปัจเจกพุทธเจ้า แต่เป็นสาวกโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้นใครก็ตามนะคะ ที่ไม่ได้บำเพ็ญบารมีที่จะถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เป็นสาวกโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้นกรรมที่ทำแล้วนี่คะ เราไม่รู้เลยนะคะ ในแสนโกฏกัป
กรรมใดจะให้ผล แต่ถ้าสิ่งที่ดีเกิดขึ้น เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี ก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าไม่ดีเมื่อไหร่ไม่ใช่ใครทำนะคะ กรรมที่ได้ทำแล้วถึงเวลาพร้อมที่จะให้ผลเกิดได้ จึงเกิด เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายไม่ดี แค่นี้ค่ะที่เป็นที่ปรารถนาที่ติดข้องของทุกคนที่ไม่รู้ อยากเห็นดีใช่ไหมคะ เพชรนิลจินดา อยากได้ยินเสียงดีใช่ไหม อยากได้กลิ่นหอมๆ อยากได้รสอร่อย อยากกระทบสัมผัส สิ่งที่ดีเท่านี้เองค่ะ
ปรารถนาอยู่เพียงเท่านี้แต่จะได้หรือไม่ได้แค่ไหน มากน้อยตามกรรมที่ได้กระทำไว้ เพราะฉะนั้นเกิดมาเป็นมนุษย์จึงหลากหลายมากนะคะ และสภาพรู้ที่เป็นจิตนี่คะ เกิดขึ้นทำกิจการงานโดยเราไม่รู้เลย ว่าเห็นเนี่ยเป็นกิจหนึ่งของจิต ที่ต้องเกิดขึ้นเห็น เห็นไหมคะ ทำหน้าที่เห็น พอได้ยินเนี่ยทำไมละ จิตนี้ก็ต้องเกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยินเป็นผลของกรรมที่ต้องได้ยิน
เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดเป็นผลของกรรม ขณะเห็นเป็นผลของกรรม ขณะได้ยินเป็นผลของกรรมขณะได้กลิ่นเป็นผลของกรรม ขณะลิ้มรสเป็นผลของกรรม ขณะรู้สิ่งที่กระทบกายเป็นผลของกรรม นอกจากนั้นทั้งหมดนะคะ เป็นกิเลสหรือกุศลแล้วแต่ที่สะสมมา เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้เลยนะคะ ว่าเราสะสมมาทั้งกุศล และอกุศลกรรมนี่มากน้อยประการใด จนกว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น
อย่างคนถูกสลากกินแบ่งใช่ไหมคะ ได้ผลของกุศลกรรมที่ทำมา คนที่ทรัพย์สมบัติสูญหายถูกขโมย ไฟไหม้ ก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ถึงเวลา ถ้ารู้อย่างนี้เราจะเสียใจไหม ไม่มีใครทำมีเหตุมีผลก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ แล้วก็ดับไปแล้วด้วย เพราะฉะนั้นเหตุใหม่ต่างหากที่สำคัญว่าควรจะเป็นเหตุที่ดี เพื่อผลที่ดีจะเกิดขึ้น แม้แต่เกิดเป็นสุนัขยังต่างกันเลยใช่ไหมคะกลางถนน บางตัวคนไปเห็น เอามาเลี้ยง
เพราะกุศลกรรมถึงคราวที่จะให้ผล เขาก็มีเจ้าของ มีคนเลี้ยงดูก็เป็นสิ่งที่ปรากฏนะคะ เพราะฉะนั้นจึงมีข้อความในพระไตรปิฏก สัตว์โลกเป็นที่ดูบุญ และบาป และผลของบุญ และปาป เกิดมานี่เป็นผลของบุญหรือปาป รู้ได้เลยใช่มั้ยคะ และก็ขณะที่กำลังได้รับผลบุญหรือปาป เราก็รู้ ขณะที่กำลังทำบุญ และบาปเราก็รู้ ฆ่าเขาหรือว่าช่วยเขาก็ต่างกันแหละ เพราะฉะนั้นก็เป็นที่ดูบุญ และบาป และผลของบุญ และปาป ทุกวัน ไม่ใช่ว่าไม่มีนะคะ มี ไม่รู้ กับ มี แล้วเข้าใจถูกต้อง ก็ต่างกันมาก
และใครละที่จะทำให้ความไม่รู้เนี่ยค่อยๆ หายไป ลดลง และรู้ขึ้น ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่พึ่งนะคะ ไม่ใช่พึ่งให้เราหายโรค ไม่ใช่พึ่งให้เราไปถูกสลากกินแบ่ง พึ่งให้เราพ้นทุกข์ ไม่ใช่เลยค่ะ พึ่งให้เราเข้าใจความจริง ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะให้ความจริงถึงที่สุดโดยประการทั้งปวง แต่ทุกอย่างที่เป็นคำถามนะคะ มีคำตอบ ในพระธรรมที่พระสัมมาส้มพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแล้ว ตามกำลังความเข้าใจ
ตอนนี้เราก็รู้เรื่องกรรม และผลของกรรม แล้วก็ไม่ใช่ลอยๆ ด้วยนะคะ ผลของกรรมก็ตอนเกิด ตอนเห็น ตอนได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นอกจากนั้นเป็นกิเลส และกุศลแล้วแต่สะสมอะไรมา อย่างบางคนนะคะ เขาเห็นคนยากจนนะคะ เขาทนไม่ได้ที่จะให้ อีกคนก็เฉยๆ ใช่มั้ยคะ ถูกไหม ก็ไม่ได้สะสมมาที่จะช่วยแบบนี้ใช่ไหมค่ะ แต่ต่างคน ต่างอัธยาศัยบางคนก็สะสมมาที่จะฟังพระธรรม เข้าใจธรรมะ ช่วยให้คนอื่นเข้าใจ ก็ต่างอัธยาศัย
บางคนก็ วิชาความรู้อื่นก็ไม่เอานะคะ ทำกับข้าวดีกว่า ไปเรียนทำกับข้าว เห็นไหมคะก็แล้วแต่อัธยาศัย บางคนก็ชอบดนตรี ต่างคนก็ต่างเป็นค่ะ เป็นแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่งซึ่งไปแลกกันไม่ได้ มอบหมายให้ใครก็ไม่ได้ แต่เป็นธรรมะซึ่งจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมไว้ เพราะฉะนั้นต้องการเป็นอย่างไรนะคะ ก็สะสมเสียเดี๋ยวนี้ ต้องการที่จะเข้าใจธรรมะ รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความเข้าใจ ตั้งแต่มีชีวิตอยู่ในชาตินี้นะคะ แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้นอีกได้
เพราะแม้แต่คำว่าธรรมะนี่คะ ลองถามคนที่นับถือพระพุทธศาสนาว่าคืออะไร ถ้าเขาไม่ได้ฟังเขาก็ตอบไม่ได้ หรือตอบไปตามความที่เขาคิดคนละอย่าง แต่ตรงไหมกับความเป็นจริง ว่าสิ่งที่มีจริงทุกอย่างไม่เว้นเลย ภาษาบาลีใช้คำว่าธรรมะ แข็งก็จริง เห็นก็จริง หวานก็จริง โกรธก็จริง ชอบก็จริง ทุกอย่างเป็นธรรมะ ธรรมะคือไม่ใช่ใครไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใครมีเกิดขึ้นได้ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นลองคิดค่ะ เรานะที่เข้าใจว่าเป็นเรา จะทำให้อะไรเกิดขึ้นมาได้ไหม ลองคิดค่ะทำได้ไหม
ผู้ฟัง ทุกอย่างมันเป็นปรากฏการณ์ตามความจริงที่เกิดขึ้น เราไม่ได้ทำ เราทำไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าเราบอกว่าเราทำกับข้าวได้ ไม่มีมือทำได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แค่นี้ก็รู้แล้วใช่มั้ยคะ ไม่คิดทำได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงแยกละเอียดมากค่ะ เห็นเกิดมาทำกิจเดียวคือเห็น ได้ยินก็เกิดขึ้นทำกิจเดียวคือได้ยิน ต่างจิตก็ต่างกิจ กุศลเกิดขึ้นทำกิจของอกุศลได้ไหม ไม่ได้ อกุศลไปทำกิจของกุศลได้ไหม อกุศลก็ต้องทำกิจของอกุศล จะไปทำกิจของกุศลไม่ได้ ทำคิดได้ไหมคะ ก็ได้หรอคะ คิดแล้วค่ะทำตรงไหนละ เห็นไหมคะคิดแล้วต่างหาก เราไปคิดว่าเราทำได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลยค่ะ
ทุกครั้งที่ว่าทำได้ นั่นคือเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่คิด บอกว่าทำคิด คิดต่างหากกำลังคิด นี่แหละคิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นก็ศึกษาคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนะคะ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง และจิตที่เกิดก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทรงแสดงไว้ว่านะคะ จิตมีมากมายหลายประเภท แต่มีจิต ๑๐ ประเภท ซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย น้อยที่สุดคือ ๗ ประเภท
ต้องรู้นะคะ ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แค่เห็น แค่ได้ยิน ชอบไม่ชอบ เจตสิก คิดดีคิดชั่วอะไรทั้งหมดเป็นเจตสิกหมด เพราะแค่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นจิต เราฟังแค่นี้นะคะ จิตเห็นหนึ่ง ผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรม จึงเป็นสอง เป็นจิตเห็นที่เป็นกุศลวิบาก วิบากเป็นคำใหม่นะคะ หมายความว่าผลของกรรม
ถ้าใช้คำว่าวิบากก็จะเป็นอื่นไม่ได้เลยทั้งสิ้น ต้องเป็นผลของกรรม และก็ผลของกรรมที่เป็นวิบาก ต้องเป็นธาตุรู้ด้วย เพราะถ้าเป็นผลของกรรมที่ไม่รู้อะไร ก็ไม่เดือดร้อนใช่ไหมคะ จะเดือดร้อนอะไร เมื่อไม่รู้อะไรเลย แต่เมื่อเป็นวิบากเป็นผลของกรรมป็นธาตุรู้ อย่างหนึ่งนะคะ และผลของกรรมที่ไม่รู้คือรูป กรรมทำให้เกิดรูป แต่รูปไม่รู้อะไร ด้วยเหตุนี้นะคะ กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดทั้งจิตเจตสิก และรูป ซึ่งเป็นผลของกรรม
เราเลือกรูปร่างของเราตอนเกิดก็ไม่ได้ เกิดแล้วค่อยๆ โตมาเปลี่ยนแปลงไปนะคะ ไม่มีใครซ้ำกันเลยกี่คน ตามกรรม ทั้งๆ ที่ตาก็มีสองตาก็ยังไม่ซ้ำกันใช่ไหมค่ะ มองไปมองมาแต่ละคนเนี่ยก็เป็นแต่ละหนึ่ง เขียวบ้าง ดำบ้าง น้ำตาลบ้างใช่ไหมคะ ก็แล้วแต่ ทั้งหมดนี้ค่ะก็เป็นสิ่งซึ่งแสดงเหตุ และผล ที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยไม่ใช่เรา แต่เป็นเพราะสิ่งนั้นๆ เป็นปัจจัย ทราบไหมค่ะว่าสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเนี่ย มีรูปกี่รูป ไม่รู้ใช่ไหมคะ
แค่เห็นต้องมีสีสันวรรณะแน่ เห็นเมื่อไหร่ต้องปรากฏ เป็นสิ่งที่เหมือนสีหนึ่งสีใด หรือว่าหลากหลายมากก็ได้ หลายๆ สีแต่ต้องเป็นสิ่งที่กระทบตา อยู่ตั้งไกลใช่ไหมคะ อยู่ตรงนั้นน่ะ แต่พอลืมตากระทบ จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น แต่ไม่รู้ว่าที่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีอะไรอยู่ตรงนั้นบ้าง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงละเอียดอย่างยิ่ง คิดไม่ออกแน่เหลือเชื่อใช่ไหมคะเพราะปรากฏเพียงแค่สีสันวรรณะที่เป็นรูปร่างสัณฐานแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเห็นอะไร ถ้าตอบตรง ไม่ผิดเลยก็เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ รูปเดียวสิ่งเดียวเท่านั้นในโลกทุกรูป แข็งหลับตาก็ปรากฏได้ เสียงหลับตาก็ปรากฏได้ กลิ่นหลับตาก็ปรากฏได้ แต่เห็นนะคะ ต้องมีสิ่งที่กระทบตา ที่เห็นได้ เห็นแข็งได้ไหมคะ ถ้าเข้าใจแล้วเห็นไม่ได้เลย แต่พอไม่รู้ เห็นได้ว่านี้โต๊ะแข็ง เลยคิดว่าเห็นแข็ง แต่ความจริงไม่ใช่ค่ะ ไม่มีทางเห็นแข็ง เพราะแข็งกระทบตาไม่ได้
กระทบกายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัวได้ เป็นรูปอีกชนิดหนึ่งในรูป ๒๘ แต่รูป แต่ละรูปนะคะ มีจริงๆ แยกออกเป็นแต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานต่างกัน เราไม่รู้นะคะ ว่ารูปนี้เกิดจากอะไร รูปนี้ก็เป็นสิ่งที่กระทบตาได้เหมือนกัน แต่เกิดจากอะไรต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็นร้อนก็มี รูปที่เกิดจากอาหารที่บริโภคเข้าไปก็มี เพราะฉะนั้นรูปทั้งหลายเนี่ยนะคะ จึงต้องอาศัยอาหาร
เพียงแค่รูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ ไม่สามารถที่จะดำรงรูปนี้ต่อไปได้ ต้องอาศัยรูปที่เกิดจากอาหารอุปถัมภ์ให้รูปนี้สืบต่อดำรงไปได้ ทุกอย่างหมดนี่คะ ก็คือชีวิตทั้งหมดเลยนะคะ ซึ่งเป็นธรรมะทั้งหมด รู้ได้จริงๆ ว่าเกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครจะบันดาลได้เลยทั้งสิ้น เริ่มเข้าใจธรรมะแล้วใช่ไหมคะ สิ่งที่มีจริงเป็นอนัตตา แต่ละหนึ่งไม่ปะปนกัน
จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป แต่รูปก็หลากหลายเป็น ๒๘ ประเภท จิตก็หลากหลายทั้งๆ ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้นะคะ แต่ประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ ทำให้จิตหลากหลายเป็น ๘๙ ประเภท เจตสิกมี ๕๒ และก็ต้องเกิดกับจิต เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกเนี่ยอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นแยกกันไม่ได้เลย ต้องเกิดพร้อมกัน ภาษาบาลีใช้คำว่าสหชาตปัจจัย ปัจจัยคือธรรมะที่อาศัยกันเกิดขึ้นนะคะ แล้วก็ต้องเกิดพร้อมกันด้วย
สิ่งนี้อาศัยสิ่งนี้เกิด แต่ต้องเกิดพร้อมกันกับสิ่งที่อาศัยให้เกิด เพราะฉะนั้นจิตเจตสิกเกิดพร้อมกัน เวลาโกรธเนี่ยมีจิตไหม โกรธเป็นเจตสิกต้องเกิดกับจิต ถ้าไม่มีจิตโกรธไม่ได้เลยคะ ไม่มีจิต ไม่มีสภาพรู้ จะไปโกรธอะไร เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกเนี่ย ทุกครั้งที่เกิดนะคะ จิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกต้องเกิดจิตทุกครั้ง โดยสหชาตปัจจัย
เคยไปฟังพระสวดศพแล้วได้ยินแต่ปัจจัยใช่ไหมคะ เหตุปัจจโย อารัมมณปัจจโย ตอนนี้รู้แล้วเรียกว่าอารัมมณคืออะไร คือสิ่งที่จิตรู้ แต่เหตุปัจจโยเป็นเจตสิก ๖ ประเภท ถ้าเป็นอกุศลเจตสิกก็เป็นเหตุที่ไม่ดี ได้แก่โลภะ โทสะ โมหะเจตสิก โลภะความชอบเป็นเจตสิกหนึ่งค่ะ บังคับให้เกิดก็ไม่ได้ถ้าสิ่งนั้นไม่น่าพอใจ โทสะเจตสิกก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง โมหะเจตสิกไม่รักไม่ชังแต่ไม่รู้ ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เนี่ยโมหะเกิดกับจิตมากไหมคะ
เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงละเอียดยิ่งกว่านั้นอีกว่า หลังจากที่เห็นขณะนี้ดับไป จิตที่เกิดต่อ ๓ ขณะ อกุศลเกิดแล้ว ไม่รู้เลยค่ะบางมากเท่าที่จะไหลไป ทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าไม่รู้อย่างนี้ละกิเลส ดับกิเลสไม่ได้เลยค่ะ นี่คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งรู้ทุกอย่าง จึงสามารถที่จะดับเหตุที่จะให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพราะรู้เหตุ เราดับเองไม่ได้ใช่ไหมคะ ไม่อยากโกรธ ก็โกรธ ถึงเวลาก็โกรธ ไม่ถึงเวลาก็ไม่โกรธ
บังคับบัญชาไม่ได้ อนัตตา จะรู้ไหมคะว่าจะจากโลกนี้ไปเมื่อใด เดี๋ยวนี้ได้ไหม ได้ ไม่มีใครรู้เลยค่ะ ประมาทไม่ได้เลย พระปัจฉิมวาจาก่อนปรินิพพานครั้งสุดท้าย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม แม้การฟังก็ไม่ประมาท จึงจะชื่อว่าถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทในทุกอย่าง ถ้าฟังเผินๆ รู้แล้วเข้าใจแล้ว ประมาทแล้วค่ะ ผิดแล้ว หนทางผิดง่ายมาก เพราะไม่รู้ไงคะ ก่อนฟังธรรมะรู้หรือเปล่า ว่าอะไรเป็นธรรมะ เห็นไหมคะ
ก่อนฟังธรรมะรู้หรือเปล่าว่าธรรมะมีสองอย่าง คือสภาพที่ไม่รู้ก็มี สภาพรู้ก็มี และก่อนฟังธรรมะรู้ไหมว่าสภาพรู้ก็ยังต่างกันเป็น ๒ อย่างคือจิตกับเจตสิก จิตแค่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ อยู่ที่ฝั่งมหาสมุทรเนี่ย รู้ไหมว่าฟ้ากับน้ำ ไม่ใช่มีแต่ฟ้า และไม่ใช่มีแต่น้ำ เพราะจิตรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ คนที่เขาชำนาญนะคะ เพชรแท้เพชรเทียมเข้ารู้เลย หยกเขาคลำดู จับดูเขาก็รู้เลย
เพราะจิตรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ ถ้าถามว่าหวานไหม และคนนั้นตอบว่าหวาน เรารู้มั้ยว่าหวานแค่ไหน ค่ะ หวานแบบน้ำตาล หรือว่าหวานแบบน้ำผึ้งใช่ไหมคะ รู้ไหม จนกว่าจะลิ้มรสไม่ต้องบอกเลยสักคำ ชัดเจน เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง คำไหนก็บรรยายไม่เท่ากับสภาพขณะนั้นที่กำลังรู้แจ้ง เพราะฉะนั้นถามใครว่าอร่อยไหม แล้วเขาตอบแล้วเราจะรู้ไหมว่าอร่อยนั้นนะแค่ไหน ใช่ไหมค่ะ หรือเค็มเนี่ยจะเค็มแค่ไหนก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นนะคะ รู้แจ้งอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ โดยไม่ต้องพูดแต่รู้แจ้ง อย่างเจ็บเนี่ย หมอถามว่าเจ็บมั้ย บอกว่าเจ็บแล้วหมอจะรู้ไหมว่าเจ็บแค่ไหน ใช่ไหมค่ะ แต่คนที่กำลังเจ็บเนี่ยไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเจ็บอย่างเนี้ย แค่เนี้ย ตรงนี้เจ็บ หมอยังต้องถาม ว่าตรงนี้เจ็บไหม ตรงนั้นเจ็บไหม ทั้งๆ ที่กระทบสัมผัสใช่ไหมคะ แต่คนเจ็บเท่านั้นที่จะบอกได้
เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง ที่รู้ว่าเจ็บตรงนั้นนะคือจิต เพราะฉะนั้นจิตนะคะ เป็นสภาพที่รู้ได้ทุกอย่างไม่เว้นเลย เพียงแต่ว่าจะรู้หรือไม่รู้เท่านั้นนะคะ แต่จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งได้ ด้วยเหตุนี้จึงหลากหลายเป็น ๘๙ ประเภทเป็นอกุศลจิต เป็นโสภณจิต จิตที่ดีงาม แยกออกเยอะเลยค่ะ เห็นก็เป็นหนึ่งละ แต่เห็นไม่ใช่กุศล และอกุศล แม้เป็นจิตนะคะ ก็เป็นวิบากจิตคือเป็นผลของกรรม
เพราะฉะนั้นจิต โดยการเกิดขึ้นต่างกันเป็น ๔ อย่าง คือ ๑ นะคะ เป็นกุศลซึ่งเป็นเหตุ อีก ๑ คือเป็นอกุศล ต่างกันมาก ๒ อย่างนี้ ก็เป็นเหตุ แต่เมื่อได้กระทำเหตุคือกรรมสำเร็จลงนะคะ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดจิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้นเริ่มรู้ว่าผลของกรรมที่เราทำมานั้น ก็คือขณะเกิดขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีใครทำให้นอกจากกรรมที่ทำแล้ว ทำให้เห็น ทำให้ได้ยินเป็นต้น
เพราะฉะนั้นก็มีกุศล๑ อกุศล๑ และผลของกรรมภาษาบาลีใช้คำว่าวิปากะ แต่คนไทยออกเสียงว่าวิบาก ก็มีกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิตนะคะ เหตุ และผล และก็มีจิตอีกประเภทหนึ่งไม่ใช่ทั้งกุศล และอกุศล และวิบาก จิตนั้นเป็นกิริยาสำหรับพระอรหันต์นะคะ ท่านไม่มีอกุศลเลย ดับหมด และไม่มีกุศลด้วย เพราะตราบใดที่เป็นเหตุคือกุศล เป็นปัจจัยให้ผลเกิด แต่พระอรหันต์ดับเหตุที่จะให้เกิด
เพราะฉะนั้นทันทีที่ปรินิพพาน จิตที่เราเรียกว่าตาย ขณะสุดท้ายพ้นความเป็นบุคคลนี้ดับ ไม่มีการเกิดอีกเลย แต่คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์นะคะ ทันทีที่จุติจิตขณะสุดท้ายดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดโดยกรรมหนึ่ง ซึ่งทำให้จิตนั้นเป็นประเภทไหน เป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เกิดมาเป็นใคร เป็นนก เป็นงู สีเหลือง สีเขียวอะไรก็แล้วแต่ ไม่มีใครทำได้เลยนอกจากกรรม
เพราะฉะนั้นจิตมี ๔ ชาติ ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า ชา ติ นะคะ กุศล๑ อกุศล๑ วิบาก๑ กิริยา๑ กิริยาจิตส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์เพราะไม่เป็นกุศล และอกุศลนะคะ ความดีทั้งหมดแม้แต่จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีเพียง ๒ คือไม่มีกุศล และอกุศลอีกต่อไป แต่มีวิบากจิตผลของกรรมในอดีตที่ได้ทำไว้ เพราะฉะนั้นบางครั้งพระองค์ก็ประชวร อยู่ในโรงช่างหม้อ เพื่อที่จะไปอนุเคราะห์คนที่เขาสะสมมาที่จะได้เข้าใจธรรมะ แต่ก็เห็นสิ่งที่ไม่ดีได้ใช่ไหมคะ
เพราะฉะนั้นก็มีวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์จะไม่มีกุศลจิตไม่มีอกุศลจิตแต่มีวิบากจิตกับกิริยาจิต คิดดีก็เป็นกิริยาไม่เป็นเหตุให้เกิดผลแต่ถ้าคนที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์นะคะ คิดดีให้ผลทำให้เกิดดีเห็นดีได้ยินดีเพราะเหตุดี เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกจิตให้ชัดเจนว่าจิตที่เป็นเหตุกับจิตที่เป็นผล และจิตที่ไม่ใช่ทั้งเหตุ และผลคือกิริยาแต่เรามีกิริยาจิตด้วย แต่ไม่ใช่แบบเดียวอย่างเดียวกับพระอรหันต์
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1381
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1382
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1383
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1384
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1385
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1386
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1387
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1388
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1389
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1390
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1391
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1392
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1393
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1394
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1395
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1396
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1397
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1398
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1399
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1400
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1401
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1402
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1403
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1404
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1405
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1406
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1407
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1408
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1409
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1410
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1411
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1412
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1413
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1414
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1415
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1416
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1417
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1418
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1419
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1420
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1421
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1422
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1423
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1424
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1425
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1426
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1427
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1428
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1429
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1430
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1431
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1432
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1433
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1434
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1435
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1436
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1437
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1438
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1439
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1440