พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๕๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ อิสสา คือ ริษยา ขอเชิญคุณอรรณพทบทวนอีกครั้ง

    อ.อรรณพ กำลังสนทนาถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ของผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ๒ อย่างคือ สภาพที่ริษยาซึ่งภาษบาลีใช้คำว่า "อิสสา" และสภาพที่ตระหนี่ภาษาบาลีใช้คำว่า "มัจฉริยะ" เป็นสิ่งที่เกิดกับจิตเป็นเจตสิกที่ไม่ดี ท่านแสดงไว้ชัดเจนว่า อิสสามัจฉริยะเกิดขึ้นต้องมีเหตุ เหตุที่เกิดพร้อมกันคือ โทสะเป็นเหตุเป็นมูล แต่โทสะไม่ได้มีอิสสามัจฉริยะเกิดขึ้นตลอด เช่น ไม่ได้มีความริษยาตระหนี่อะไร แต่มีความหงุดหงิด อากาศร้อนไม่ได้มีความริษยา หรือตระหนี่อะไรเลยคือ โทสะที่ไม่ได้มีความริษยา หรือตระหนี่เกิดร่วมด้วยก็มี แต่บางครั้งบางคราวก็มีริษยา หรือตระหนี่เกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งกับจิตซึ่งประกอบด้วยโทสเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ ต้องมีเหตุขณะนั้นคือ โทสะเหตุกับโมหเหตุต้องมีแต่ริษยากับตระหนี่ต้องต่างกัน

    สรุปก่อนว่า ทั้งริษยา และตระหนี่ต้องเกิดกับโทสะ แต่โทสะเกิดขึ้นโดยไม่มีริษยา และตระหนี่ได้ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีริษยา หรือตระหนี่อยู่ตลอด แต่มีโทสะอยู่บ่อยๆ ความรู้สึกในขณะนั้นต้องไม่สบายเพราะเมื่อริษยา หรือตระหนี่เกิดแล้วความรู้สึกขณะนั้นเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจเป็น "โทมนัสเวทนา" แต่เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ริษยา หรือตระหนี่เกิดคือ "โลภะ" เพราะเรามีความยึดติดในสิ่งนั้นมากเหลือเกิน ยึดถือยึดติดในสภาวะต่างๆ ใดๆ มากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นถ้าใครจะมาได้อย่างนี้บ้างทนไม่ได้ หวงสภาพนั้นไว้ หวงที่ หวงคน หวงของ หวงทั้งนั้น ขณะที่หวงเดือดร้อนใจใครอย่ามายุ่ง ขณะนั้นแม้จะมีโลภะเป็นปัจจัยแต่ตอนที่เกิดต้องมีโทสะเกิดร่วมด้วย นั่นคือความที่จะต้องเกิดกับอกุศลประเภทที่เป็นโทสะ แต่มีปัจจัยมาจากโลภะเป็นคนละขณะกัน เพราะขณะนั้นเดือดร้อนใจ ต้องมีโทสะ

    ลักษณะของริษยาที่ท่านอาจารย์ได้ให้สนทนา ริษยามีสมบัติของผู้อิ่นเป็นที่ตั้งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวเองเลย เช่น ทนไม่ได้เมื่อคนอื่นได้ดีมีสุข อย่างการทำงานเราก็ไม่เดือดร้อน ถ้าใครจะได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เขาไม่ได้มาลดขั้นเราใช่ไหม แต่ทนไม่ได้ที่คนอื่นเขาได้ จิตขณะนั้นต้องหยาบกระด้างมาก ซึ่งพระโสดาบันไม่มี เพราะพระโสดาบันแมัยังมีโลภะ แต่โลภะของพระโสดาบันไม่หนักหนามากมายจนเป็นปัจจัยให้ริษยา หรือตระหนี่เกิดภายหลัง แม้จะมีโลภะก็ตาม แต่ปุถุชนมีความติดข้องอย่างมากมายจนทนไม่ได้ที่คนอื่นจะได้ดีมีสุข ก็แย่ที่เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น นี่คือลักษณะของเจตสิกที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดการผูกใจเอาไว้ เพราะจิตขณะนั้นถูกความริษยาผูกเอาไว้ ร้อยเอาไว้ ท่านถึงแสดงว่าเป็น "สัญโญชน์" เครื่องผูกเครื่องร้อยใจเอาไว้ ขณะนั้นอย่างไรก็ไม่พ้นจากความริษยาเมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีสุข จิตขณะนั้นมีโทสะ และบวกด้วยความริษยาเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ เป็นความเคยชินที่จะมีความริษยา แววตาก็สังเกตได้ คนที่มีความริษยารูปที่เกิดจากจิต แววตาออกมาเลยที่ทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นเขาได้ดีมีสุข ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพของเจตสิกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต และปรุงแต่งให้จิตขณะนั้นเป็นความเดือดร้อนใจที่ออกมาในลักษณะที่ทนไม่ได้ในอารมณ์ที่ผู้อื่นได้ดีมีสุข เพราะฉะนั้นก็จะต่างกับโทสะธรรมดาที่ไม่มีริษยาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เป็นธรรมที่ไม่ใช่เราเป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิตที่ไม่ดี ปรุงแต่งเพิ่มเติมร่วมไปกับโทสะ เป็น "สังขารขันธ์" คือเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตที่ไม่ดี แม้พระโสดาบันยังมีโลภะ แสดงว่า คนที่ไม่ได้ขัดเกลาโลภะเลยก็ยังมีความริษยาบ้าง และยังมีความตระหนี่สมบัติของตัวเองเป็นที่ตั้งเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ คุณพัชวัฒน์มีอิสสากับมัจฉริยะไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก่อนฟังธรรมมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมแล้วมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วต่างกันอย่างไร

    ผู้ฟัง ก่อนฟังมีโดยไม่รู้

    ท่านอาจารย์ อิสสาเป็นอิสสาตลอดไม่ว่าจะเมื่อไหร่ ก่อนฟัง หรือหลังฟังก็ยังคงเป็นอิสสา มัจฉริยะก็ยังเป็นมัจฉริยะ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องในขณะนั้น จะเข้าใจได้ไหมว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่เรา เห็นไหม นี่คือประโยชน์ของการฟังจนกว่าจะรู้อย่างนี้ ไม่ใช่เพียงเราพูดถึงว่าเรามี มัจฉริยะก็มี อิสสาก็มี ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็บอกได้ใช่ไหม เล่าได้เป็นเรื่องๆ ว่า เมื่อไหร่ขณะไหน แค่อย่างนั้นก็ยังไม่ใช่การเข้าใจว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้น การฟังประโยชน์จริงๆ คือว่า ในขณะนี้ได้ยินบ่อยๆ ได้ยินเสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงในภาษาไทย ภาษาบาลีใช้คำว่า "ธรรม" ซึ่งสามารถจะรู้ได้เข้าใจได้ในความเป็นจริงของสิ่งนั้นคือ ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าอาจจะริษยาก็มีการรู้สึกตัว หรือว่าเข้าใจได้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็เป็นหนทางที่จะรู้ว่า "ไม่ใช่เรา" มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็น "เรารู้" และ "เราจะแก้ไข" ยังคงเป็นเราอยู่นั่นเองก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะทำดีก็ยังต้องศึกษาให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมด้วย โลกไหนสำคัญ โลกภายนอกวุ่นวาย โลกภายในวุ่นวาย หรือไม่

    ผู้ฟัง ถัายังมีกิเลสก็วุ่นวาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าโลกภายนอกวุ่นวาย โลกภายในไม่วุ่นวาย ต้องมีปัญญาที่สามารถที่จะรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า ถ้าขณะนั้นเป็นกุศลจะไม่มีความวุ่นวายใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล ภายนอกก็วุ่นวายด้วยเพราะเหตุว่าภายในวุ่นวาย แต่ว่าถ้ามีปัญญาสามารถที่จะรู้จักโลกภายในแต่โลกภายนอกวุ่นวาย แต่ขณะนั้นเพราะเข้าใจถูกเห็นถูกว่า "เป็นธรรม" ที่จะต้องขัดเกลาด้วยการรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่เราเป็นแต่เพียงธรรมจึงสามารถที่จะดับความวุ่นวายได้ เพราะฉะนั้นตอนนี้อยู่ฝ่ายไหนที่สำคัญ อะไรสำคัญ

    ผู้ฟัง ภายในสำคัญ แต่บางทีก็ชอบแวะออกไปภายนอก

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะว่ายังมีความเป็นเรา

    อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังอาจยังไม่ชัดเจนว่า อะไรคือโลกภายใน อะไรคือโลกภายนอก

    ท่านอาจารย์ อะไรอยู่ในที่สุด ไม่มีอะไรยิ่งกว่านั้น

    อ.อรรณพ จิต

    ท่านอาจารย์ จิต สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นสัตว์บุคคลต่างๆ เป็นภายใน หรือเปล่า

    อ.อรรณพ ไม่ใช่ภายใน

    ท่านอาจารย์ เป็นภายนอก เพราะฉะนั้นจะรู้ได้ว่า ถ้าไม่มี "ธาตุรู้" เกิดขึ้นรู้สิ่งนี้ปรากฏไม่ได้ ในบรรดาสิ่งที่เป็นภายในทั้งหมด ภายในที่สุดคือ จิต เพราะจะมีคำว่าภายในหลายความหมายด้วย เช่นคนอื่น ไม่ใช่เราใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เป็นภายนอก อย่างที่เมื่อวันก่อนได้สนทนากันในเรื่องของสิ่งที่ปรากฎทางตา ถ้ายังเป็นเรา จะละความเป็นตัวตนได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม นั่นโลกภายนอกเป็นเขา เป็นสีสันวรรณะต่างๆ เพราะฉะนั้น สีสรร วรรณะต่างๆ ที่ตัว ถ้ายังคงเป็นเรา โน่นเขา นี่เรา ก็ยังไม่สามารถจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นปัญญาจะต้องเจริญขึ้น จนกระทั่งว่า ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฎทางตาจะปรากฎที่ไหน ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฎให้เห็นได้จึงไม่ใช่เรา แต่ว่าที่ทรงแสดงแม้แต่ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน หรือว่าพาหิระภายนอก และที่ไม่ใช่พาหิระก็คือภายใน เพราะฉะนั้นข้างนอกเป็นคนอื่น แต่ตรงนี้เป็นเรา แต่ที่ในที่สุดคือจิต เพราะฉะนั้นโลกภายในคือ จิต เจตสิกที่เกิดร่วมกัน แม้ ๒ อย่าง จิต กับเจตสิก จิตเป็นภายใน เจตสิกเป็นภายนอก เพราะเกิดกับจิต และเจตสิกก็เกิดกับจิตประเภทนี้บ้าง ประเภทนี้บ้าง แต่ตัวจิตนี้เป็นภายในจริงๆ จึงใช้คำว่า "หทย"

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น ก็เป็นประโยชน์มาก พื้นฐานการเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรมจริงๆ ที่ละเอียด พื้นฐานพระอภิธรรมที่ว่าภายในจริงๆ คือจิต แต่ถ้าจะพูดถึงโดยรวมก็คือจิต เจตสิก เป็นธาตุรู้ และจิตอยู่ภายในจริงๆ แต่ถ้าจะพูดถึงโดยรวมนั่นก็คือ จิต เจตสิก เป็นธาตุรู้ จิตอยู่ในจริงๆ เจตสิกเกิดกับจิต ถ้าจะเทียบกับจิตก็ต้องเป็นภายนอกสำหรับเจตสิก แต่จิต เจตสิกก็ยังเป็นภายในโดยรวม เพราะว่าภายนอกที่เป็นสิ่งที่จิต เจตสิกรู้เป็นภายนอก

    ขณะนี้เราสนทนาเรื่องริษยา ตระหนี่ ท่านผู้ร่วมสนทนาพอจะร่วมพิจารณาได้ไหมว่าผู้ที่มากไปด้วยความริษยา ตระหนี่ โลกภายนอก หรือโลกภายในสำคัญสำหรับเขา "โลกภายนอก" ใช่ไหม เพราะไม่ได้เห็นความสำคัญของโลกภายในซึ่งเต็มไปด้วยอกุศลก็ถูกสภาพอกุศลเหล่านี้เกิดขึ้น ผูกพันจิตเอาไว้ ร้อยจิตเอาไว้ ที่ท่านแสดงว่าเป็นสังโยชน์ แต่ไม่ได้ออกมาเป็นคำเช่นนั้น แต่ว่าขณะนั้นเจตสิกเหล่านี้เกิดกับจิต ใช่ไหม เพราะฉะนั้นภายในแย่แล้วก็คือริษยา ตระหนี่ เกิดกับจิต จิตก็เป็นโลกภายในที่ต้องเป็นอกุศลที่ประกอบด้วยโทษะ ริษยาบ้าง ตระหนี่บ้าง ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจ ถ้ายึดว่ามีเขาที่ได้ดีมีสุข ทำไมไม่เป็นเรา ริษยาเกิด คือให้ความสำคัญกับโลกภายนอก ตระหนี่ ทำไมเขาต้องมาใช้ของของเรา หรือต้องมารู้จักกับคนที่เราคุ้นเคย เพราะฉะนั้นจึงสมกับที่สนทนาในพระสูตรก่อนที่ว่า โลกไม่ปรากฎเพราะความตระหนี่ เพราะจะปรากฎได้อย่างไร จะรู้โลกภายในตามความเป็นจริง รู้โลกภายนอกตามความเป็นจริงได้อย่างไรในสิ่งที่ปรากฎ ก็รู้ไม่ได้เพราะเต็มไปด้วยกิเลส อกุศลมากมาย โลภะก็ต้องมากจึงเป็นปัจจัยให้โทสะนั้นมีตระหนี่บวกเข้าไปบ้าง มีริษยาบวกเข้าไปบ้าง และขณะนั้นมีความเป็นเขาเป็นเรา ยึดถือในความเป็นเขาเป็นเราอย่างมาก จึงไม่รู้ว่าไม่มีเขา ไม่มีเราเพราะมีธรรม

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ก็เป็นละอองของปัญญา ตามธรรมดาเวลามีการเห็น ได้ยินแต่ละครั้งจะไม่รู้เลยว่าอกุศลเกิดแล้ว แต่อกุศลประเภทละอองโปรยธุลีลงในจิต ไม่ไปไหนเลย อยู่ในจิตสะสมไว้ เพราะฉะนั้นขณะนี้เมื่อเห็นแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริงก็เป็นอกุศลที่เปรียบเหมือนละอองยังไม่ปรากฎว่าเป็นริษยา หรือเป็นความตระหนี่ที่เห็นได้ชัดว่ามีกำลังเพราะเกิดจากการสะสมความติดข้องแต่ในขณะที่ฟัง หวังอะไรจะไปรู้แจ้งอริยสัจโดยเร็ว หรือว่าเพียงกำลังโปรยละอองของปัญญาเพื่อที่จะสะสมจนกว่าจะมีความมั่นคงขึ้น แต่ว่าถึงไม่ริษยา เพียงโกรธไม่พอใจก็ได้ใช่ไหม เพราะว่าโกรธจริงขุ่นเคืองใจในการกระทำของคนอื่นที่ไม่ดี เกิดแล้วเป็นโกรธ แต่ว่าริษยาก็ไม่ยินดีในทรัพย์สมบัติ หรือสิ่งของที่ผู้อื่นได้ ที่เป็นของคนอื่น เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างกันอย่างละเอียด ตราบได้ที่ยังมีกิเลสก็จะเห็นได้ว่ากิเลสมีมาก เพียงความโกรธก็ยังไม่พอใช่ไหม ยังริษยาด้วย แต่ว่าถ้าจะเป็นเพียงความโกรธในการกระทำที่ไม่ถูกต้องแต่ไม่ได้ไปริษยาอะไร นั่นก็เป็นลักษณะของความโกรธที่ยังมี เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดก็เกิด เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ตรงว่าไม่ว่าจะเป็นริษยาซึ่งยังมีอยู่ยังไม่ได้ดับไป อิสสา เกิดขึ้นเป็นอย่างไรความจริงก็เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ปะปนกัน ลักษณะนี้คือการศึกษาธรรมด้วยความตรง

    อ.ธิดารัตน์ เรียนถามอ.กุลวิไลว่า มัจฉริยะก็จะมีอาวาสมัจฉริยะด้วย ในชีวิตประจำวันจะให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างว่าในขณะไหนที่เรามีมัจฉริยะในที่อยู่อาศัย ที่นั่งที่นอนเหล่านี้บ้าง

    อ.กุลวิไล ความหวงแหนสมบัติของตน สำหรับผู้ที่ยังติดข้อง และก็ไม่ยินดี หรือปกปิดที่จะไม่ให้สมบัติของตนเป็นสาธารณะของผู้อื่น ซึ่งจริงๆ แม้แต่ที่อยู่อาศัยไม่สามารถจะแบ่งปันให้ผู้อื่นใช้สอยได้ ที่จริงไม่ต้องเป็นเพียงที่อยู่อาศัย แม้แต่ที่นั่ง เราคุ้นเคยกับที่ที่เรานั่งอยู่ประจำ ดูเหมือนว่าคนอื่นมานั่ง มีความเดือดร้อนใจไปแน่นอนทั้งๆ ที่เป็นที่สาธารณะ จะเห็นได้ว่าสภาพธรรมมีจริง รู้สึกอย่างไรถ้าหากว่ามีผู้อื่นมานั่งในที่ที่เรานั่งประจำอยู่ เพราะฉะนั้นความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจเป็นโทษะที่เกิดขึ้นเพราะว่าไม่พอใจที่มีผู้อื่นมาใช้สอยในสิ่งที่เราใช้สอยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง อกุศลธรรมมีมาก และที่สำคัญคือไม่รู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นแม้แต่สภาพธรรมที่เป็นความหวงแหน ความตระหนี่ซึ่งทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่บางครั้งให้ไม่ได้ แต่นี่ก็คือความเป็นธรรม เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพราะว่ามีปัจจัยจึงเกิดขึ้นก็เพราะว่าเราสะสมความติดข้องในสิ่งนั้นมาก ถ้ายิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งหวงแหนมากไม่สามารถที่จะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ ดังนั้นการที่จะเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง และรู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรานั้น ก็จะเป็นการละคลายความติดข้อง และความยึดถือสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นของเรา

    อ.ธิดารัตน์ เรียน อ.ธีระพันธ์ สนทนา ตระหนี่ตระกูล "กุลมัจฉริยะ"

    อ.ธีรพันธ์ ก็อย่างเช่นภิกษุที่ท่านมีญาติโยมคอยอุปัฎฐาก ไม่ว่าจะเป็นด้านปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น อาหารบิณฑบาตก็นิมนต์ไปฉันประจำ ภิกษุนั้นก็ยินดีต่อปัจจัยที่ญาติโยมที่ชอบพอ และยินดีในบิณฑบาตนั้น แต่พอญาติโยมผู้นั้นเห็นภิกษุรูปหนึ่งที่อาจจะมาที่อาวาสเดียวกัน เห็นว่าท่านมีศีลาจารวัตรที่ดีงาม ท่านก็หันไปอุปัฎฐาก หรือถวายจีวร หรือว่าบิณฑบาตที่ดีประณีตกว่าภิกษุรูปเดิม ภิกษุรูปเดิมก็ตระหนี่ว่าไม่น่าเลยที่ตระกูลอุปัฏฐากของเราไปอุปัฏฐากภิกษุอื่น แทนที่จะยินดีด้วยว่าภิกษุรูปนั้นเป็นผู้ที่มีศีล มีคุณธรรม แต่จิตใจในขณะนั้นก็เป็นไปกับโทสะ เพราะว่าไม่อยากให้ตระกูลของเราซึ่งเคยอุปัฏฐากเรามาก่อนไปยินดี ไปนับถือ ไปเคารพ ไปสักการะภิกษุรูปอื่น ซึ่งนี้คือเป็นการตระหนี่ตระกูลในลักษณะของเพศบรรพชิต แต่ถ้าเป็นฆารวาสด้วยกัน ถ้าเป็นเพื่อนสนิทเคยคบกันมาก็อยากจะให้ผู้นั้นคบแต่ตนผู้เดียว ไม่อยากให้ไปคบกับผู้อื่นเลย เพราะว่าถ้าเห็นมีคนอื่นมาชอบพอ หรือยินดีคุ้นเคยกับเพื่อนของเราที่สนิทกันมาก่อนก็รู้สึกไม่พอใจ ซึ่งลักษณะนี้คือการตระหนี่ตระกูล หรือตระหนี่บุคคลอีกรูปแบบหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ตรง แม้แต่จะได้ยินคำว่า "ตระหนี่อาวาส" ที่นั่ง ที่นอน ที่อยู่ ที่อาศัย ก็ต้องละเอียดด้วย บางคนก็บอกถ้าเช่นนั้นก็ไม่ตระหนี่ ใครๆ ก็มานั่งมานอนอยู่ที่บ้านได้ หรืออะไรอย่างนั้น ก็คือเป็นผู้ที่ไม่ได้เข้าใจความจริง ไม่เข้าใจความถูกต้อง ไม่เข้าใจสภาพจิตซึ่งเป็นกุศล และที่เป็นอกุศลว่าต่างกัน อันนี้ก็คงจะพูดถึงได้ในระหว่างผู้ที่มาที่มูลนิธิ เพราะว่าไม่ทราบว่ารู้สึกตัวบ้างไหมสำหรับผู้ที่ตระหนี่ที่นั่ง เพราะเหตุว่าถึงแม้ไม่ตระหนี่สำหรับตนเองก็ยังตระหนี่สำหรับบุคคลอื่น คนนี้นั่งที่นี่ คนนั้นนั่งที่นั่น ซึ่งใครก็นั่งตรงไหนก็ได้ใช่ หรือไม่ เพราะเราก็มานั่งฟังธรรม และเราก็มีความคุ้นเคยกับทุกคน มีความเป็นมิตรกับทุกคนเสมอกัน เพราะฉะนั้นใครจะนั่งที่ไหนก็ย่อมได้ ไม่ต้องจัดการ แต่ผู้จัดการก็มากหมายความว่าอดไม่ได้ จนกว่าจะได้รู้ความจริงว่าสมควร หรือไม่

    อ.อรรณพ ผมจะขอแทรกถามตรงนี้ คั่นเล็กน้อยว่าผู้ที่มาจัดการที่นั่งนั้น เขาอาจจะอยากมาจัดการให้เรียบร้อย

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็กำลังจะพูดถึงต่อไปถึงความละเอียดว่า มองดู เราก็จะรู้ได้ไหมว่าขณะนั้นเป็นความตระหนี่ หรือไม่ แต่ว่าถ้าเราคิดว่าทุกที่นั่งสำหรับทุกคนได้ไม่ผิด แต่ถ้าเรามีน้ำใจเพิ่มขึ้น คิดถึงอาวุโส คิดถึงความควรไม่ควร ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะจัดการ หรือว่าหวง หรืออะไรแต่ว่าด้วยความเคารพ เพราะว่าทุกคนจะมีความคาระวะในหลายอย่างเป็นอุดมมงคลด้วย การที่มีความอ่อนน้อมมีความคาระวะต่อบุคคลที่สมควร หรือที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่รู้จักคุณของใครเลย หรือว่าความเป็นอาวุโส หรือความควรไม่ควรใดๆ เลย แต่ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพจิตที่ดี แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดการว่า คนนี้จะต้องอยู่ตรงนั้น หรือคนนั้นต้องมานั่งตรงนี้ ขณะนั้นก็ลืมไปแล้วว่าอะไรเป็นภายในที่สุดที่ทำให้ภายนอกออกมาเป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นเรื่องธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดด้วย ไม่ทราบว่าตรงกับที่คุณอรรณพคิด หรือไม่

    อ.อรรณพ เป็นอีกประการหนึ่ง ผมก็ขอแทรกตรงนี้ในเรื่องว่า ไม่รู้จิต ถ้าเป็นจิตที่เป็นกุศลตามควร และมีความเคารพการที่ผู้อาวุโสควรจะนั่งตรงนั้นตรงนี้

    ท่านอาจารย์ คนอื่นรู้ไม่ได้ มองดูเหมือนเป็นผู้ที่กีดกัน หรือไม่ก็หวงแหน แต่ว่าไม่รู้ใจของคนที่เป็นอย่างนั้นว่าด้วยความเคารพ ด้วยความอ่อนน้อมในคุณความดี ในตำแหน่งหน้าที่ หรือในอุปการะอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือในขณะนั้นจิตเป็นกุศล

    อ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ครับ แต่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งในทางตรงกันข้ามที่ท่านแสดงไว้ว่าเป็นธรรมที่หลอกลวงว่าอกุศลลวงว่าเป็นกุศล อย่างที่ท่านแสดงว่าอาวาสมัจฉริยะคือความตระหนี่สถานที่ย่อมลวงเสมอกับเป็นผู้ที่รักษาดูแลสถานที่ ถ้าเป็นพระภิกษุก็รักษาอาวาส

    ท่านอาจารย์ ที่จริงอาวาสที่อยู่ก็ต้องรักษาใช่ไหม ต้องดูแลด้วย เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลนั้นเห็นว่าผู้นั้นทำให้สถานที่นั้นเสื่อมเสียก็ต้องดูแล ไม่ใช่ว่าด้วยจิตอกุศลที่กีดกันไม่ให้คนนี้มานั่งตรงนี้ หรืออย่างไร แต่เพราะเหตุว่าการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสถานที่แล้วก็ช่วยกันบำรุงรักษาขณะนั้นด้วยกุศลจิตไม่ได้ด้วยอกุศลจิต เพราะฉะนั้นสภาพจิตเป็นสภาพที่ละเอียดมาก และเป็นผู้ที่ตรง นักรบยิงไวไม่ว่าอะไรจะเกิดขณะนั้นเป็นกุศล หรืออกุศลก็รู้ตามความเป็นจริงไม่พลาด เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าเมื่อฟังอย่างนี้แล้ว เราก็จะไม่เข้าใจ แล้วก็ทำตรงไปตามที่ได้ฟัง ขณะนั้นก็เพราะไม่เข้าใจ แต่ว่าตามความเป็นจริงแม้วัดวาอาราม ภิกษุที่ไม่เหมาะไม่ควรจะอยู่ในที่นั้น เพราะเหตุว่าทำความเสื่อมเสีย หรือว่าทำความเสียหายให้แก่ส่วนรวม แม้ผู้มีหน้าที่ดูแลก็ต้องไม่ให้บุคคลนั้นอยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นประโยชน์ไม่ใช่เป็นโทษ เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจด้วยว่า อาวาสมัจฉริยะไม่ใช่ว่าเป็นกุศลจิตที่ดูแล หรือป้องกันความเสียหาย

    อ.อรรณพ แต่ในทางกลับกันถ้าในใจเป็นความตระหนี่หวงสถานที่ไว้ให้ตัวเอง หรือคนที่ตัวเองคุ้นเคยแล้วก็ลวงเหมือนเป็นคนที่ว่าเรารักษาดูแลความเรียบร้อยของสถานที่แต่จริงๆ แล้วเป็นความตระหนี่ที่ก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอกุศลเป็นอกุศล ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ละไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    5 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ