พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๕๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    อ.อรรณพ ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นที่อาศัย ฉันทะจะเกิดได้หรือไม่ วิริยะจะเกิดได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัย พึ่งพิงให้เจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ท่านจึงแสดงว่าขันธ์ ๔ ก็คือนามธรรม จิต เจตสิก ที่เป็นอิทธิปาทะก็รวมขันธ์ทั้ง ๔ แต่ที่ท่านยกสิ่งหลักมาทรงแสดงเฉพาะชัดเจนก็คือ ฉันทะ วิริยะ ซึ่งเป็นเจตสิก และปัญญาด้วย แต่ยังไม่ได้สนทนา แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน จึงเป็นที่อาศัย จึงเป็นบาท ถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ สิ่งนี้กล่าวโดยนัยของการเกิดขึ้นพร้อมกันว่า จิตนี้เป็นอิทธิปาทะอย่างไร

    เพราะฉะนั้นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา มีฉันทะ มีวิริยะ จิต ในขณะนั้นเป็นที่อาศัยให้เจตสิกธรรมเกิดขึ้นด้วย และจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมีความตั้งมั่น มั่นคงเป็นสมาธิธิบาทที่จะทำให้มีการสะสมอบรมสิ่งต่างๆ ไว้ ซึ่งจะสะสมไว้ในจิตด้วย เพราะฉะนั้น ความมั่นคงของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หลักที่เป็นใหญ่เป็นประธานจึงเป็น "อิทธิปาทะ" คือเป็นที่อาศัยที่จะทำให้เกิดการสะสมอบรมเจริญขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ ที่กล่าวเป็นเพียงตามตำรา แต่ถ้าเมื่อใดรู้ลักษณะของจิต ก็จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ท่านแสดงมาตามนัยต่างๆ แม้แต่นัยของจิตที่เป็นใหญ่เป็นประธาน และเป็นอิทธิบาท ขณะนั้นมีความสงบ มั่นคง ซึ่งหมายรวมถึงจิตตุปปาทะต่างๆ เข้าด้วย แต่เมื่อทรงแสดงเรื่องของจิต ก็ให้เห็นถึงความเป็นใหญ่เป็นประธาน

    เพราะฉะนั้นเมื่อกุศลจิตเกิด และประกอบด้วยปัญญา กุศลจิตนี้จะเป็นที่อาศัยให้เจตสิกเกิดด้วย พร้อมทั้งสะสม อบรม เจริญสิ่งต่างๆ ไว้ในจิต เพราะฉะนั้นถ้าขาดจิตที่เป็นกุศล และจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะไม่มีทางที่จะเกิดการอบรมเจริญสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ท่านก็ต้องกล่าวถึงนามธรรมหลักในขณะที่กุศลจิตเกิด มีปัญญาเกิดด้วย ว่าในขณะนั้นจึงจะเป็นที่อาศัยสู่ความสำเร็จ เพราะฉะนั้นขณะนี้จิตเป็นที่อาศัยสู่ความสำเร็จหรือยัง ถ้าจิตนั้นไม่ได้เป็นกุศล ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีฉันทะ ไม่มีวิริยะ ไม่มีปัญญาเกิด จิตนั้นก็ไม่เป็นอิทธิปาทะ เป็นแต่อกุศล แต่เป็นใหญ่ได้หรือไม่

    จิตที่เป็นอกุศลมีความเป็นใหญ่ได้หรือไม่ ฉันทะที่เป็นอกุศลเป็นใหญ่ได้หรือไม่ คำตอบคือ "ได้" เช่น มีฉันทะมากที่จะไปดูหนังฟังเพลง มีฉันทะที่จะไปทำอกุศลทั้งหลาย มีวิริยะที่เป็นอกุศลแล้วเป็นใหญ่ได้หรือไม่ คำตอบคือ "เป็นใหญ่ได้" จิตที่เป็นอกุศลเป็นใหญ่ได้หรือไม่ บางคนกำลังทำอกุศลกรรมอยู่ หรือมีอกุศลจิตอย่างมีความใส่ใจ มีความมั่นคงในการทำสิ่งนั้นที่เป็นอกุศลกรรม หรือเป็นอกุศลจิตก็ตาม บางครั้งจิตก็เป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น ฉันทะ วิริยะ และจิต เป็นอกุศลก็ได้ หรือเป็นกุศลก็ได้ แต่ถ้าเป็นในทางกุศล และเป็นการสะสมปัญญาที่จะถึงความสำเร็จคือมรรคผลนิพพานนั้น ก็จะเป็นอิทธิปาทะ ๓ ประการนี้ แต่ถ้า ๓ ประการนี้เป็นไปในอกุศลก็ได้หรือกุศลก็ได้ ท่านก็ใช้คำกลางๆ ว่าเป็น "อธิบดี" หรือ "อธิปติ" ธรรมที่เป็นอธิบดีคือเป็นใหญ่ได้ ที่เป็นอกุศล มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ ที่เป็นโลภะก็ได้ โทสะก็ได้ เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธาน ท่านก็ต้องแสดงถึงว่า ถ้าจิตนั้นเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็เป็นบาทหรือเป็นที่อาศัยที่จะทำให้ไปสู่ความสำเร็จคือ มรรคผล นิพพาน

    อ.วิชัย ในขั้นเริ่มต้นของการศึกษาก็กล่าวถึงเรื่องของจิต ซึ่งโดยสภาพของจิต คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ และเป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่การที่ทรงแสดงในเรื่องของอิทธิบาท โดยกล่าวถึงเรื่องของจิตซึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งก็ต่างกับ "ฉันทะ" ความพอใจ กับ "วิริยะ" กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ว่าเพียงความเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งจะเป็นบาทให้เกิดความสำเร็จได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเป็นบาทให้เกิดความสำเร็จที่เป็นปัญญาได้หรือไม่

    อ.วิชัย ไม่เป็นแน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ทรงแสดงไว้ว่าจิตกี่ประเภทที่จะเป็นจิตติทธิบาท ไม่ใช่ทั้งหมด

    อ.วิชัย หมายถึงโดยลักษณะของเขาคือเป็นใหญ่ ...

    ท่านอาจารย์ เฉพาะในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฎ ไม่ได้เป็นใหญ่อย่างอื่น ถ้าพูดถึงเฉพาะจิต แต่ว่าจิตหลากหลายมากตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจิตใดที่สามารถเป็นอิทธิบาท หรือจิตใดไม่สามารถเป็นอิทธิบาท ไม่ใช่ว่าจิตทั้งหมดเป็นอิทธิบาท

    จิตใดบ้างที่เป็นอธิปติ

    อ.วิชัย ถ้าเป็นอธิบดีก็ต้องเป็นทั้งที่เป็นกุศลก็มี และอกุศลก็มี แต่ถ้าเป็นอิทธิบาทก็ต้องเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องแยกไปอีก

    ผู้ฟัง ตาม ที่ท่านอาจารย์สนทนากับอ.วิชัยว่า จิตอะไรที่เป็นอธิบดี และจิตอะไรที่เป็นอิทธิบาท ก็ดูเหมือนว่ายังไม่กระจ่างชัด แต่ตามความเข้าใจ หรือเข้าใจแบบจำได้ก็คือ จิตที่เป็นอธิบดี ก็คือจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ แต่ถ้าความเข้าใจส่วนนี้ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก็หมายถึงกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ถึงจะเป็นอิทธิบาทได้ เพราะว่าถ้ากุศลธรรมดาทั่วไปก็ไม่สามารถเป็นบาทให้สำเร็จ เพราะจริงๆ แล้ว อิทธิบาท ๔ นี้ทำให้เป็นถึงโพธิปักขิยธรรม ก็ใกล้จะตรัสรู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาเลย จะเป็นอิทธิบาทได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แล้วถ้าไม่เป็นสติปัฏฐานจะเป็นอิทธิบาทหรือไม่ ไม่มีทางที่จะสำเร็จ ถ้าฝ่ายการตรัสรู้อริยสัจธรรม "โพธิปักขิยธรรม"

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ถ้าเริ่มต้นสติปัฏฐานเกิด เพราะว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นการเริ่มต้นของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาเริ่มโดยที่ยังไม่มีอิทธิบาท

    ท่านอาจารย์ แต่สภาพธรรมที่เป็นอิทธิบาทก็เกิดร่วมด้วย ขณะที่มีสติ เจตสิกเกิด มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มีเลยจะถึงการที่จะสำเร็จได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างมีแต่ค่อยๆ เจริญเติบโตจนปรากฎ จนสามารถที่จะรู้ว่าถ้าไม่อาศัยธรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมซึ่งนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ปัญญาระดับที่สามารถเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ก็มีไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ตามที่ศึกษาว่า ปัญญามีหลายระดับขั้น ซึ่งก็ต้องเริ่มต้นที่ฟัง และเข้าใจ กว่าจะเป็นสัจญาณหรือเป็นปริยัติ ต้องเข้าใจ ไม่ใช่ทราบแต่ชื่อเรื่อง เพราะชื่อเรื่องส่องให้เห็นถึงลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฎขณะนี้ ซึ่งจริงที่สุด แล้วเมื่อปัญญา และสัญญาที่มั่นคงขั้นนี้เกิดระลึกตรงลักษณะ ก็จะเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิด ระลึกตรงลักษณะคือขั้นปฏิปัตติ แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าเมื่อมีขั้นนี้แล้ว อิทธิบาท ๔ เกิดขึ้นหรือยัง เพราะว่าเป็นการเริ่มต้นของสติปัฏฐาน ๔ คือไม่เข้าใจ และไม่แน่ใจว่าตนเองศึกษาแบบพุทธศาสน์แบบรายวิชา และชื่อเรื่องหรือไม่ ขอความกรุณาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เราต้องศึกษาเพื่อเข้าใจ และก็เป็นความเข้าใจของเราเอง ไม่ใช่ของคนอื่นหรืออยู่ในตำรา เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่ได้ฟังแล้ว ได้มีเวลาทบทวนไตร่ตรองให้เข้าใจขึ้นหรือไม่ หรือว่าเพียงเท่าที่ได้ฟังเท่านั้น ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้น ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นคำว่า "ช่วยชาติพ้นภัย" ได้ยินแล้ว แต่ก่อนได้ยินไม่ได้คิดถึงธรรม ว่า "ชาติ" คือ ชา-ติ และภัยคืออะไรบ้าง แต่ถ้าคิดต่อไปอีก ภัยมีหลายประเภท และใครจะไปช่วยใครให้จนกระทั่งถึงกับไม่ไปสู่อบายภูมิ ไม่ไปนรก ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสูรกาย ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ใช่หรือไม่ ช่วยอย่างไร ไหวไหม คนเป็นจำนวนมาก ชา-ติ นี้มีมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นแคบลงมาอีกนิด คือช่วยให้เขาไม่เดือดร้อน ซึ่งก็เป็นภัยด้วย พอจะได้หรือไม่ เท่าที่สามารถจะทำได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าเพียงฟังแล้ว อาจจะเข้าใจเพียงความหมายหนึ่ง แต่ถ้าคิดย่อยให้ละเอียดขึ้นมาอีก ภัยมีตั้งหลายประเภท เช่น ภัยจากความเดือดร้อน ภัยจากการป่วยไข้ ภัยจากการทุกข์ทรมาน อดอยาก หรือเดือนร้อนต่างๆ ช่วยได้ไหม หรือจะคอยไปช่วยเขาไม่ให้ไปนรกอย่างเดียว ซึ่งยากมากๆ ที่จะช่วยให้ใครไม่ไปเกิดในอบายภูมิ เพราะเหตุว่าถ้าไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลซึ่งเป็นเหตุให้ผล คือเกิดในอบายภูมิได้ แล้วถ้าเกิดเป็นมนุษย์ พ้นจากอบายแล้ว อกุศลกรรมที่เคยได้กระทำไว้ก็ยังเป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่แต่ละคำก็มีทั้งใหญ่ ย่อย และปลีกออกไปอีก เช่นเราศึกษาเรื่อง"ธรรม" แค่ทุกอย่างเป็นธรรม สามารถที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ ทุกอย่างจริงๆ แต่ก่อนจะจริงทุกอย่าง คืออะไรก่อน ความเห็นผิดก็เป็นสิ่งหนึ่งในทุกอย่าง เพราะฉะนั้นจะดับทุกอย่างทีเดียวไม่ได้ แต่ก็ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่ความเข้าใจธรรมซึ่งทุกอย่างก็เป็นธรรม แต่ว่าความละเอียดของธรรมแต่ละอย่างก็มีมาก ตั้งแต่ที่เป็นอิทธิบาท และไม่ใช่เป็นอิทธิบาท

    ผู้ฟัง เคือยังพอศึกษา และคิดตามว่า จิตที่จะเป็นอิทธิบาทก็คือกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะคิดรวบยอดไปต่อว่า ดังนั้นฉันทะอื่นก็ไม่เป็นอิทธิบาท เพราะเป็นฉันทะที่เกิดกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา หรือวิริยะก็เช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะนี้เป็นธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะนี้ทุกอย่างก็เป็นธรรม แต่ยังไม่รู้ตรง

    ท่านอาจารย์ ก็ไปคิดถึงชื่อ เพราะฉะนั้นวิตกเจตสิกก็จะเป็นเท้าของโลกที่พาไปสู่ที่อื่นหมดเลย แต่ว่าไม่พามาที่ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ ซึ่งกำลังเกิด และดับในขณะนี้ เพราะฉะนั้นทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เห็นประโยชน์ว่า การที่จะเข้าใจสิ่งที่เรากำลังกล่าวถึง ก็ต้องเฉพาะในขณะที่สภาพธรรมนั้นจริงๆ และการศึกษาก็จะทำให้เริ่มเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ถ้าเราไปจำเพียงเรื่องราว เราก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และการที่จะกล่าวถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดก็ต้องโดยละเอียด ไม่ใช่โดยเรากล่าวเอง ซึ่งก็จะต้องศึกษาตามลำดับ เช่น จิตใดเป็นอิทธิบาท จิตใดไม่เป็นอิทธิบาท ก็ต้องรู้ด้วย แล้วจะรู้วันนี้หรือเมื่อไหร่ หรือถ้ารู้วันนี้ก็รู้แต่ชื่อ แต่ก็ยังดีกว่าไม่รู้ใช่หรือไม่ ก็แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่ฉันทะ

    ผู้ฟัง การที่คิดว่าอะไรเป็นอิทธิบาทหรือไม่เป็น ก็เป็นการเรียนชื่อ แต่จริงๆ แล้วการศึกษาต้องใส่ใจ สนใจ ธรรมที่กำลังปรากฎ แต่ก็เพราะปัญญาในขั้นนั้นยังไม่เกิด จึงเหมือนกับจะเพลินไปกับชื่อเรื่องก่อนที่จะทำให้เข้าใจตรงนี้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แล้วหากเกิดชาติหน้าไม่ได้พูดภาษาไทยแล้ว ที่จำๆ ไว้เป็นภาษาไทยจะนึกออกหรือไม่ และสภาพธรรมก็มีเหมือนกับขณะที่เรากำลังพูดถึงชื่อ แต่ว่ายังไม่เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ผู้ศึกษาเหมือนยังมีปัญญาน้อยมาก ฟังก็ยังไม่พอ ก็สนใจชื่อ อิทธิบาท ๔ แต่ท่านอาจารย์ก็จะย้ำเตือนว่า ต้องสนใจธรรมขณะนี้ ขอเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ว่า ศึกษาอิทธิบาท ๔ อย่างไรให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฎขณะนี้ ไม่ทราบว่าจะเป็นวิธีการหรือไม่ ก็เหมือนว่าจะไม่สามารถเข้าใจตรงนี้ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่มีเรา สังขารขันธ์ อยู่ไหน เวลานี้ จิต เจตสิก เกิด และดับ เจตสิกเป็นสังขารขันธ์ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจะหวังไม่ได้เลยว่าเมื่อใดเราจะเข้าใจขึ้นในสิ่งที่เราได้ฟัง เพราะฉะนั้นก็สะสมความเห็นถูก ไม่ละเลยการฟัง และการพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีเรื่องอีกมากที่จะต้องกล่าวถึง เป็นเรื่องธรรมทั้งนั้น แต่ความละเอียดก็ต้องมี แสดงให้รู้ว่าเราฟังแล้วเราผิวเผิน เรารู้บางส่วน แต่ยังไม่ได้รู้จริงๆ เช่นฟังเรื่องจิต และได้ฟังเรื่องอิทธิบาท และก็จิตเป็นอิทธิบาทเท่านี้ และกับการที่เราได้ยินได้ฟังอะไรมาแล้วเราเข้าใจ จนสามารถที่จะเข้าใจขึ้น ในคำธรรมดาที่ไม่ใช่อิทธิบาท เช่นคำว่า "โลกภายใน" กับ "โลกภายนอก" ได้ยินแล้วใช่หรือไม่ เข้าใจแล้ว หรือเข้าใจบ้างแล้วหรือไม่

    ผู้ฟัง พอเข้าใจบ้างว่าโลกภายในก็เหมือนว่าจิต เจตสิกที่เกิด และโลกภายนอกก็คือสิ่งที่เราไปรู้ ที่จิตไปรู้

    ท่านอาจารย์ กล่าวเช่นนี้ก็ไม่ผิดเลยใช่หรือไม่ แต่ว่าขณะนี้มีโลกไหน

    ผู้ฟัง ก็ ๖ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ ภายในหรือภายนอก

    ผู้ฟัง ก็มีทั้ง ๒ อย่าง แต่ว่าจะสนใจโลกภายนอกมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่กำลังเห็นสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นภายในหรือภายนอก

    ผู้ฟัง เป็นภายนอก

    ท่านอาจารย์ แล้วภายในอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ภายในก็คือจิตที่ไปรู้สิ่งต่างๆ

    ท่านอาจารย์ กำลังรู้สิ่งนั้น ไม่ได้แยกห่างไกลกันอย่างที่เราคิดเลยว่าภายในอยู่ตรงนี้ ภายนอกเป็นเหตุการณ์ต่างๆ แต่ในขณะนั้นเองถ้าเป็นปัญญาจริงๆ โลกจริงๆ คือสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ได้เป็นใครเลยทั้งสิ้น แต่เป็นสภาพธรรม ถ้าทุกคนในขณะนี้มีปัญญาที่สามารถจะรู้จักโลกภายใน แม้ในขณะนี้ที่ปรากฎเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ก็จะสามารถจะรู้ได้ว่าแท้ที่จริงแแล้วในขณะนั้น เห็นเป็นเห็น นี้คือโลกภายใน แต่ถ้าเห็นแล้วเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นเป็นโลกภายนอก เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ สติสัมปชัญญะ สติปัฎฐานที่กล่าวว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะมีแข็ง มีเสียง มีคิด มีกลิ่น ทุกอย่างเฉพาะที่เป็นโลกนั้นจริงๆ นั่นคือโลกภายใน แต่เมื่อหลงลืมก็เป็นภายนอกทันที เพราะฉะนั้นไม่ได้ห่างไกลกันเลย อยู่ด้วยกันในขณะนั้น เพียงแต่ว่าถ้าจิตไม่เกิดขึ้น อะไรๆ ก็ไม่ปรากฎ แต่จิตอะไรเกิดในขณะนั้น และขณะใดเป็นอิทธิบาท ขณะใดไม่เป็นอิทธิบาท ทั้งหมดก็ต้องมาจากความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งชัดเจนขึ้นในแต่ละคำ

    อ.วิชัย ในเรื่องของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในหมวดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอินทรีย์ หรือพละต่างๆ ก็ต้องมีปัญญาอยู่ด้วยตลอด หรือแม้แต่ในโพชฌงค์ หรือในมรรคมีองค์ ๘ ก็จะมีปัญญา แต่ถ้าในส่วนเบื้องต้นของบุคคลที่เริ่มที่จะเข้าใจ เช่นการที่ฟังเรื่องของอิทธิบาท คือต้องมี "ฉันทะ" ความพอใจ หรือวิริยะ และจิต ซึ่งเป็นกุศลที่จะทำให้เกิดความเป็นไปเพื่อความรู้ความเข้าใจถูก แต่ความรู้คือปัญญาก็เป็นธรรม ที่ถ้ายังไม่มีปัจจัยก็ยังไม่เกิด ดังนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าความพอใจหรือวิริยะที่เป็นไปจะเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจคือปัญญา

    ท่านอาจารย์ จะไปรู้ความพอใจ หรือความเข้าใจถูกว่าขณะนี้เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

    อ.วิชัย ต้องเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ และเมื่อเข้าใจแล้วก็เพิ่มขึ้นๆ จนกว่าจะถึงความเป็นโพธิปักขิยธรรม แต่เพียงเท่านี้ แค่ฟัง จะเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗ สติปัฎฐาน สัมปทาน อิทธิบาทได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเพียงเริ่มที่จะได้ยินได้ฟัง และก็เริ่มเข้าใจ และเข้าใจด้วยว่าขณะนี้เพียงฟังเรื่องของธรรม ทั้งๆ ที่ธรรมจริงๆ มี และก็เกิดแล้วดับแล้ว แต่ว่าได้ยินแต่เพียงคำ และเรื่องราว เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ถึงสติปัฎฐาน

    อ.วิชัย ในขั้นของปริยัติ คือ การได้ยินได้ฟังใน แม้ในเรื่องของอิทธิบาท ก็ยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของธรรม เพียงเข้าใจเช่นนั้นไม่ได้เป็นอิทธิบาทที่จะรู้ในลักษณะ ...

    ท่านอาจารย์ เข้าใจอะไร เพียงจำคำใช่หรือไม่ เช่น อนัตตา เข้าใจอนัตตา ลักษณะที่เป็นอนัตตา หรือจำคำว่าอนัตตา

    อ.วิชัย ก็ขั้นแรกก็จำคำ

    ท่านอาจารย์ ขั้นแรกจำคำ แล้วเมื่อใดจะเป็นจำอนัตตสัญญา

    อ.วิชัย ก็เริ่มที่จะเข้าใจในลักษณะของธรรม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เข้าใจเรื่องราว เข้าใจชื่อ เห็นดอกไม้นี้เป็นสัญญาอะไร เห็นคนเป็นสัญญาอะไร จิตมีเท่าไหร่

    อ.วิชัย จิตมี ๘๙ ประเภท

    ท่านอาจารย์ สัญญาขณะนั้นเป็นสัญญาอะไร

    อ.วิชัย อัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ อัตตสัญญา อนัตตสัญญายังไม่ได้ปรากฎเลย แต่จำ และไม่ได้จำเพียงชื่อ แต่ความหมายต้องรู้ด้วย แม้แต่คำว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฎยังไม่ได้เป็นอนัตตาเลย เพราะฉะนั้นความเข้าใจก็ต้องตามลำดับขั้นว่านี่เป็นเพียงเรื่องราว และที่ใช้คำว่าปริยัติคือ รอบรู้ในพุทธพจน์ ไม่เข้าใจผิด แม้แต่คำเดียวก็เข้าใจขึ้นๆ ในความไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรม

    อ.อรรณพ สาระประโยชน์ก็คือ พื้นฐานความเข้าใจจิต และเจตสิก เพราะฉะนั้นอิทธิบาทคือ ที่อาศัยสู่ความสำเร็จ ก็คือจิต เจตสิกที่เป็นกุศล และประกอบด้วยปัญญา และสิ่งที่เกิดประกอบพร้อมกันเข้ากันสนิทเป็นสัมปยุตธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้น เจตสิกทั้งหลายก็เกิดขึ้นประกอบพร้อมกัน ดังนั้น แม้ท่านจะหยิบยกจิต และเจตสิกอีก ๓ คือ ฉันทะเจตสิก วิริยเจตสิก และปัญญาเจตสิก เพื่อแสดงว่าเป็นอิทธิปาทะก็ตาม แต่ก็กล่าวรวมถึงสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกต่างๆ ที่เกิดรวมในนั้นอยู่แล้ว ท่านถึงกล่าวว่าเป็นขันธ์ ๔ ก็คือนามขันธ์ ๔ แต่ความเด่นชัดของสภาพธรรมที่แสดงความเป็นอิทธิปาทะหรือความเป็นที่อาศัยสู่ความสำเร็จ พระองค์ท่านก็ทรงแสดง ๔ อย่างนี้ และในสมัยพุทธกาล เพราะเถระท่านก็มีอัธยาศัยที่ต่างกัน อย่างเช่นท่านพระรัฐปาล ก็เด่นในเรื่องของฉันทะ เพราะฉะนั้นเมื่อจะแสดงถึงเรื่องของฉันทิทธิบาท ท่านก็ยกตัวอย่างท่านพระรัฐปาลเถระ แต่ถ้าถึงการที่จะเกิดโลกุตรธรรม ที่เด่นชัดด้วยวิริยะ ท่านก็แสดงถึงท่านพระโสณเถระ หรือว่าจิตติทธิบาท หรือสมาธิทธิบาท ท่านก็แสดงถึงพระสัมพูตเถระ เป็นต้น หรือถ้ามีปัญญาที่เห็นเด่นชัด ท่านก็แสดงพระโมฆราชเถระ แต่ไม่ได้หมายความว่าแต่ละท่านจะอาศัยอย่างเดียว ไม่ว่าท่านพระรัฎฐปาลเถระจะมีแต่ฉันทะอย่างเดียว ไม่มีปัญญา ไม่ใช่แบบนั้น ก็ต้องมีทั้งหมด แต่เพียงแต่ว่าเริ่มต้น หรือว่าความมาก ความเด่นก็เป็นไปในเรื่องของฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ที่จะเป็นที่อาศัยตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่ามีอัธยาศัยมากอย่างไร

    เพราะฉะนั้นถ้าฟังธรรมขณะนี้ไม่เข้าใจ ไม่ต้องกล่าวถึงอิทธิบาท แต่เมื่อเริ่มเข้าใจขึ้น ปัญญาก็จะปรุงแต่งให้สภาพธรรมเหล่านี้เป็นที่อาศัยที่จะทำให้สู่ความสำเร็จคือ การได้รู้แจ้งประจักษ์แจ้งความเป็นจริง เพราะฉะนั้นท่านก็แสดงว่าปัญญาในขณะนี้ อาจจะยังไม่ถึงการที่จะเป็นโพธิปักขิยธรรม แต่ก็มีองค์ของฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาอยู่ ก็คือเจตสิก ๓ จิต ๑ แต่ยังไม่มีระดับถึงการที่จะเป็นโพธิปักขิยธรรม เพราะฉะนั้น ที่ท่านแสดงอิทธิบาทว่าเป็นโพธิปักขิยธรรม ก็จะต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรมที่ประกอบด้วยปัญญาในการที่จะถึงการดับกิเลส ไม่เช่นนั้นท่านก็ไม่แสดงว่าเป็นโพธิปักขิยธรรม แต่เมื่อมีความเจริญขึ้นของสภาพธรรมเหล่านี้ เช่น สติปัฎฐานเกิดก็จะมีสภาพธรรมทั้ง ๔ นี้ ซึ่งวิปัสนาท่านก็แสดงว่าเป็นอิทธิปาทะกับโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคก็เป็นอิทธิ เป็นความสำเร็จ เพราะฉะนั้นบาทสู่อิทธิก็คือสติปัฎฐาน วิปัสนา แต่ก็ต้องไม่ขาดการฟังด้วย ถ้าไม่มีการฟังก็ไม่มีสติปัฎฐาน ไม่มีวิปัสนา ซึ่งจะเป็นอิทธิปาทะ ต่ออิทธิก็คือ โสดาปัตติมรรค และก็ต่อๆ ไปอีก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ