พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๕๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    อ.คำปั่น ธรรมที่มีจริงๆ และมีกับทุกคน ทุกขณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ก็คือคำว่า "จิต" กราบเรียนท่านอาจารย์สนทนาถึงความสำคัญของจิตนั้นว่าจิตนั้นสำคัญอย่างไร และประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการได้ฟังเรื่องจิตตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ พูดกันทุกวัน เพราะว่าจิตมีทุกวัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่พูดเรื่องจิตก็คงไม่มีอะไรจะพูด แต่ว่าจิตเป็นสิ่งที่แม้มี ก็ไม่เห็นมีใครรู้จักจิต ถ้าไม่ได้มีการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ตั้งแต่เกิดจนตายโลกปรากฎเพราะมีจิต เราอยู่ในโลก เราเกิดมามีชีวิต ถ้าไม่มีจิตเลยก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าวันนี้มีอะไร ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฎ มีเห็น และก็คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฎ และก็มีเสียงต่างๆ ตื่นมาแล้วทุกคนก็เริ่มฟังเสียงแล้วใช่หรือไม่ ฟังวิทยุตั้งแต่ ๕:๓๐ น. บ้าง หรือ ๖ น.บ้าง พอจบวิทยุก็เปิดโทรทัศน์ก็เสียงอีก มีภาพอีกใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นชีวิตจริงๆ ทุกวันก็เพราะมีจิต ถ้าไม่มีจิตอะไรๆ ก็ไม่ปรากฎเลย แต่ว่าถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้จักจิตได้ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีธาตุรู้ ที่ใช้คำว่า "ธาตุรู้" หมายความว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฎเพราะมีธาตุซึ่งกำลังรู้สิ่งนั้น เช่น ขณะนี้เราใช้คำว่า "เห็น" ต้องมีสิ่งที่ปรากฎให้เห็น และสิ่งที่กำลังปรากฎให้เห็น เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือฟังสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ที่กำลังปรากฎ เพื่อจะได้เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฎให้เห็นแน่นอน เพราะมีธาตุรู้คือเห็นเกิดขึ้นเห็น นี้คือฟังจนกว่าไม่ลืม จนกระทั่งเมื่อใดก็ตามสะสมความเข้าใจถูกว่า ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นที่เป็นเรื่องราวมากมาย ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น เรื่องต่างๆ ไม่มี แม้ว่าสิ่งที่ปรากฎให้เห็นว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็มีไม่ได้ และสิ่งที่สำคัญก็คือทราบว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ทุกสิ่งเป็นไปตามอำนาจของจิต ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น ใครจะทำให้มีสิ่งที่ปรากฎขณะนี้ก็ไม่ได้ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยิน แม้เสียงมีแล้วดับไปก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่าเสียงแต่ละเสียงหลากหลายมาก เกิด ปรากฎแล้วหมดไป

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมบ่อยๆ ก็เพื่อย้ำให้รู้ความจริงว่า เราเข้าใจว่ามีสิ่งที่เที่ยง มั่นคง เป็นเราเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด สุข ทุกข์ต่างๆ มากมาย แต่ว่าตามความจริงแล้วคือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นจริงๆ ปรากฎว่ามีจริงๆ ชั่วคราวแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีก ซึ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เตือนเสมอว่า ไม่ว่าอะไรก็ตามทั้งหมด ปรากฎแต่ไม่รู้ความจริงว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่สิ่งนั้นที่เกิดก็เกิด แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ความสำคัญในทุกอย่างที่เคยเป็นสาระจะลดน้อยลง เป็นไม่มีสาระ เพราะเหตุว่าจะมีสาระได้อย่างไร เกิดขึ้นชั่วคราวจริงๆ เล็กน้อยจริงๆ ดับไปหมดไป แล้วก็ไม่กลับไปมาอีกเลย แล้วสาระอยู่ที่ไหนกับการที่มีปรากฎ แต่เพราะความไม่รู้ก็ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งเดือดร้อน ทั้งวุ่นวายกับสิ่งที่มีโดยไม่รู้เลยว่า เมื่อวานนี้ก็ไม่มีเหลือเลย เพราะฉะนั้นก็สั้นเข้ามาทุกที ไม่ใช่แค่เมื่อวานนี้ แต่เมื่อสักครู่นี้ถ้าฟังจริงๆ เข้าใจจริงๆ สิ่งที่ปรากฎก็ปรากฎจริงๆ แล้วก็ดับไปจริงๆ แต่กว่าจะรู้อย่างนี้ ต้องเริ่มจากการมีศรัทธาที่มั่นคงว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้น ถูกต้องหรือไม่ สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้หรือไม่ แต่จะเริ่มก็เมื่อเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ก็ไม่สามารถที่จะถึงการที่จะละคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฎว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าเคยชินกับการที่จำสิ่งที่ปรากฎที่มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ เพราะว่าเกิดดับสืบต่อว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นแต่สิ่งที่มีจริง ปรากฎชั่วคราวแล้วก็ดับไป ในขณะที่ฟังนี้เริ่มละคลายความติดข้องบ้างหรือไม่ แม้เพียงเล็กน้อยนิดหน่อย ซึ่งจะต้องละจนดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเที่ยงหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่เหลือเลยสักอย่างที่ปรากฎ นั่นถึงจะเป็นปัญญาที่มั่นคง และก็รู้ความจริงตามที่เข้าใจตั้งแต่ต้น ไม่ต้องทำอะไรเลยเพียงแค่ฟังให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ฟังว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังฟังมีจริงๆ แต่กว่าจะรู้ตามความเป็นจริงก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เพียงขั้นได้ยินได้ฟังบ้างเล็กน้อยไม่เพียงพอที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่าเป็นเราได้ จนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น

    อ.คำปั่น ทุกคำที่ได้ยินได้ฟังก็เพื่อย้ำเตือนว่าไม่ให้ลืมว่าเป็นธรรม แม้สิ่งที่มีจริงทุกขณะก็คือจิต เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย แต่ก่อนก็อาจจะมีการพูดคำว่า "จิต" โดยนัยต่างๆ มากมาย เช่น จิตดี จิตไม่ดี ใจดี เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นการพูดคำที่ไม่รู้จักจนกว่าจะได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ว่า จิตคืออะไร มีจริงๆ ในขณะนี้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ไม่เคยขาดจิตเลยตั้งแต่เกิดจนตาย

    อ.วิชัย ที่กล่าวว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจของจิต" ซึ่งโดยธรรมชาติของจิตแล้ว เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว หมายถึงว่าจะมีอำนาจที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า อำนาจไม่ได้หมายความว่าจิตมีอำนาจ แต่ว่าจิตเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฎได้ ถ้าไม่มีธาตุรู้ แม้สิ่งนั้นมีก็ไม่ปรากฎว่ามี จากโลกนี้ไปแล้ว สิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้สำหรับจิตที่เห็นในโลกนี้ แต่เมื่อไม่มีจิตที่รูปที่เคยมีจิตเกิดขึ้น สิ่งที่ปรากฎในโลกนี้ก็ไม่ได้ปรากฎอีกต่อไป เพราะฉะนั้นคำว่า "อำนาจ" ไม่ใช่ว่าจิตมีอำนาจบันดาล แต่เพราะจิตเป็นธาตุรู้ จึงทำให้มีสิ่งที่ปรากฎให้รู้ และก็จิตเกิดขึ้นแล้วจะยังยืนย่อมไม่มีเลย ดับไปเร็วมาก แต่การดับของจิต ขณะก่อนก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันทีไม่มีระหว่างขั้นอย่างรวดเร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่าเพียงไม่มีจิต ไม่มีเห็นแล้วจะมีคิดสิ่งที่เห็นหรือไม่ แล้วจะมีสุขทุกข์จากสิ่งที่ปรากฎให้เห็นไหม ก็ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฎเท่านั้น เพราะฉะนั้นจิตไม่ใช่ปัญญา จิตไม่ใช่สติ จิตไม่ใช่การเห็นถูก แต่เป็นธาตุซึ่งมี เหมือนแข็งมี แข็งเกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นแข็ง ธาตุชนิดนี้ก็เกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ซึ่งเพียงรู้ ใช้คำว่า "เพียงรู้สิ่งที่ปรากฎว่ามีเท่านั้นเอง" อย่างขณะนี้เสียงมี เพราะจิตเกิดขึ้นรู้เสียง จึงปรากฎว่ามีเสียง ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฎทางตา แต่เราลืม ก็เป็นดอกไม้ ต้นไม้ เป็นอะไรหลายอย่าง แต่ลืมว่าเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฎให้เห็นได้

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฎเพราะจิตเกิดขึ้น แล้วก็เห็นสิ่งที่กำลังปรากฎ สิ่งนั้นจึงปรากฎได้ ด้วยเหตุนี้แม้แข็งก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแข็ง ธาตุรู้คือจิต ก็เกิดขึ้นเป็นธาตุที่ต้องรู้ คือเพียงรู้สิ่งที่ปรากฎให้รู้เท่านั้น แต่ในขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดก็จะต้องมีปัจจัยสนับสนุนเกื้อกูลอาศัยกัน และกัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใครสามารถที่จะคิดได้ว่า ในขณะนี้ที่จิตเกิดขึ้นเห็นต้องอาศัยจักขุประสาท คือรูปที่ตัวที่ร่างกายที่เรายึดถือว่าเป็นเรา มีรูปพิเศษซึ่งมองไม่เห็นเลย แต่รูปนี้สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฎ ซึ่งขณะนี้กำลังกระทบอยู่ไม่ได้หายไปเลย จักขุปสาทก็ยังไม่ดับ และสิ่งที่ปรากฎสั้นๆ ไม่ใช่อย่างนี้เลย ก็กระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัย ต้องอาศัยปัจจัย ธาตุรู้จึงเกิดขึ้น "เห็น" คือรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฎอย่างนี้ แม้จิตซึ่งเป็นธาตุรู้จะเกิดขึ้นตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยนามธาตุซึ่งไม่ใช่จิต แต่เกิดพร้อมจิต ซึ่งใช้คำว่า "เจตสิก" ที่เกิดพร้อมกันทันทีในขณะที่กำลังเห็น

    ถ้ารู้ความละเอียดอย่างยิ่ง เล็กน้อยอย่างยิ่งของสภาพธรรมจริงๆ ก็จะไม่ยึดถือว่าเป็นเรา แต่เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก และก็ไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยฟังมาก่อน แม้แต่การฟังก็กำลังฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ เมื่อวานนี้ ตั้งแต่เกิดนานแสนนานหลายกัลป์ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เพียงมีปัจจัยเกิด แล้วก็ดับแล้วไม่กลับมาอีก ไม่ว่าเมื่อไหร่ แม้แต่เห็นขณะนี้ก็มีปัจจัยที่ทำให้เห็นเกิดขึ้นแล้วดับ กำลังเกิดดับสืบต่อสลับกับธาตุรู้ซึ่งเป็นจิต ที่เกิดพร้อมกับเจตสิก แต่เจตสิกมีหลากหลายมากถึง ๕๒ ประเภท เพราะฉะนั้นเจตสิกใดเกิดกับจิตใดก็ทำให้จิตนั้นเป็นอย่างนั้น ซึ่งต่างๆ กันไป ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกันทั้งหมด

    อ.วิชัย บุคคลที่มีการกระทำทางกายทางวาจาต่างๆ กัน เพราะมีจิตที่ต่างกันใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้น และดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นขณะนี้ใครจะทราบว่าจิตเห็นดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จิตขณะต่อไปทำอะไร ทุกจิตเกิดขึ้นทำกิจการงานไม่มีเราทำเลย แต่ว่าจิตนั่นแหละที่เกิดแล้วต้องทำกิจหนึ่งกิจใด เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเห็นดับ จิตอื่นจะเกิดขึ้นเห็นทำทัศนกิจอย่างจิตเห็นไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตเห็นเพียงเกิดขึ้นแล้วดับ แต่การที่จิตเห็นดับไปเป็นปัจจัยให้จิตต่อไปเกิดขึ้น ซึ่งรูปยังไม่ดับ การกระทบกันของจักขุปสาทกับรูปทั้ง ๒ อย่างยังไม่ดับ แล้วกรรมก็เป็นปัจจัยทำให้จิตที่เกิดต่อจากจิตเห็นเป็นกรรมเดียวกับกรรมที่ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น เพราะเห็นรูปเดียวกันซึ่งยังไม่ดับไป เพราะฉะนั้นจิตขณะต่อไปไม่เห็น ไม่ได้ทำทัศนกิจ แต่รับรู้สิ่งที่จิตเห็น เห็น เร็วมากขนาดนี้แล้วใครจะรู้ ไม่มีความต่างกันเลย เพราะว่ารูปก็ยังเป็นรูปนั้นที่ยังไม่ดับ และเมื่อจิตเห็นดับไปแล้ว จิตต่อไปจะทำหน้าที่เห็นอีกไม่ได้ คนละหน้าที่ เพราะฉะนั้นจิตขณะต่อไปก็รับรู้สิ่งที่จิตเห็นเห็นแล้ว ภาษาบาลีใช้คำว่า "สัมปฏิฉันนจิต" ภาษาไทยก็คือ จิตที่รับรู้สิ่งที่จิตเห็น เห็นแล้ว รู้ต่อแล้วก็ดับซึ่งสั้นมาก แล้วต่อจากนั้นก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ทำกิจเดียวกันกับจิตก่อน ต้องทำกิจอื่นต่อไป ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า "สันติรณจิต" เพราะฉะนั้นมีจักขุวิญญาณ จิตเห็นดับไปแล้ว ต่อไปก็เป็นสัมปฏิฉันน จิตที่เกิดขึ้นรับรู้ต่อ ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดสืบต่อ จะใช้คำว่าพิจารณาก็ได้ แต่หมายความว่ากำลังรู้สิ่งนั้นต่อจากที่รับด้วย จึงเป็นสันติรณจิต ดับไป แล้วต่อจากนั้นก็หมดหน้าที่ของกรรม กรรมไม่ได้ทำให้วิบากเกิดต่อไปเลย กรรมเพียงแต่ทำให้จักขุวิญญาณเกิดเห็น สัมปฏิฉันนรับรู้ต่อ และสันติรณก็รู้ต่อจากสัมปฏิฉันนหมดเรื่องของกรรม ต่อจากนั้นยังเป็นจิตหมดเลยหรือไม่ ไม่มีอีกหรือไม่ ไม่เคยเลยแม้ขณะเดียวที่จะขาดจิต เกิดดับสืบต่อมานานแสนนานแม้ในขณะนี้ แต่จิตในขณะต่อไปไม่ใช่ผลของกรรม แต่ก็มีปัจจัยทำให้จิตนั้นเกิดขึ้น ใช้คำว่า "โวฏฐัพนจิต" โดยศัพท์ของเชิญคุณคำปั่น

    อ.คำปั่น โดยศัพท์ที่แปล และเป็นข้อความที่พบก็คือ "ตัดสิน" แต่ไม่ใช่การตัดสินด้วยเรื่อง ด้วยอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการเกิดขึ้นของจิตที่เป็นสภาพธรรมที่กระทำทางให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลตามการสะสม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพียงคำไม่ทำให้เราเข้าใจไม่ว่าจะเป็นภาษาใด แม้ว่าภาษาที่แปลมาว่า "ตัดสิน" แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเหตุว่าหลังจากที่เห็นแล้ว รับรู้แล้ว ต่อมาจนถึงสันติรณดับไปแล้ว จิตนี้จึงเกิดขึ้นซึ่งมีอีกคำหนึ่งของจิตนี้ที่ไม่ใช้คำว่า โวฏฐัพนจิต คือ "ชวนปฏิปาทกมนสิการ" เป็นภาษาบาลีที่ยาว เพราะฉะนั้นการฟังธรรมที่จะให้เข้าใจต้องในภาษาของตน แต่ก็จะทิ้งคำเดิมไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าทิ้งคำเดิมไป ความหมายก็จะเคลื่อนไปที่ละเล็กทีละน้อย แต่ว่าการที่ได้ฟังบ่อยๆ และสามารถที่จะเข้าใจคำยาวๆ ก็ต้องประกอบด้วยหลายคำ ชวน-ปฏิปาทก-มนสิการ ซึ่งหมายความว่า จิตนี้ทำหน้าที่เป็นทางให้กุศล และอกุศลที่สะสมมาในจิตนานแสนนานมาแล้วสามารถเกิดขึ้น ซึ่งเร็วมาก จากเห็น แล้วก็เป็นสัมปฏิฉันน ๑ ขณะ เป็นสัณติรณ ๑ ขณะ เป็นโวฏฐัพน ๑ ขณะ อกุศล และกุศลก็เกิดได้แล้ว เพราะเหตุว่าสะสมมาในจิตเหมือนหมักดอง พร้อมที่จะไหลทันทีที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฎ มีใครยับยังได้หรือไม่ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นแล้วที่จะให้เกิดกุศลหรืออกุศลที่ได้สะสมมาเป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ จึงสามารถที่จะเข้าใจว่าธรรมที่เป็นที่เป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้นเมื่อโวฏฐัพนจิต หรือ ชวนปฏิปาทกมนสิการ ก็คือสภาพธรรมที่ใส่ใจ ต้องใส่ใจ และเป็นบาทที่จะให้กุศลหรืออกุศลเกิด ชวนจิตที่แล่นไปในอารมณ์เร็วมาก ซ้ำกันถึง ๗ ขณะ บางครั้ง ๖ ขณะ บางครั้ง ๕ ขณะ ไม่มีใครไปจัดสรร ไม่มีใครไปสั่งไปบอกว่าขณะนี้ ๕ ขณะ ขณะนั้น ๖ ขณะ ขณะนั้น ๗ ขณะ แล้วแต่ปัจจัย เพราะฉะนั้นปกติในขณะนี้ก็จะมีชวนจิต ซึ่งเป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งทำกิจ ไม่ต้องมีการเห็น ไม่ต้องมีการรับ ไม่ต้องมีการรู้ต่อ แต่สามารถที่จะแล่นไปในอารมณ์นั้นด้วยความติดข้องเป็นโลภะ ซ้ำกัน ๗ ขณะ หรือด้วยโทสะ เมื่อเกิดโกรธขึ้นมาก็ไม่ใช่สัมปฏิฉันน จักขุวิญญาณ ไม่ใช่สัณติรณ ไม่ใช่โวฏฐัพน แต่เป็นจิตที่เกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ จึงใช้คำว่าแล่นไป ใครยับยังได้หรือไม่ เห็นแล้วจะไม่ให้เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือกุศล ยับยั้งไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นไปตามการสะสม ด้วยเหตุนี้ธาตุซึ่งเกิดดับสะสมกุศล และอกุศลมานานแสนนาน จึงทำให้ปรากฎเป็นแต่ละบุคคลตามประเภทของจิต ถ้าสะสมกุศลมามาก คนนั้นเป็นคนดี ใจดี แต่ถ้าสะสมอกุศลมา คนนั้นก็จะเป็นคนขี้โกรธ และมีสารพัดอย่างที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เช่น ริษยา ตระหนี่ เห็นแก่ตัว จากกาย และวาจาซึ่งประพฤติตามที่เป็นไป ใครจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยตามการสะสม

    เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่ฟังขอให้เข้าใจด้วย แม้ว่าเป็นภาษาบาลี อย่าเพิ่งพูดตามโดยไม่เข้าใจ หรือว่าอย่าคิดว่ายากนัก ไม่ศึกษาดีกว่า เพราะเหตุว่า ไม่ต้องพูดก็ได้ แต่ให้เข้าใจจริงๆ ว่าจิตเกิดดับสืบต่อ และแต่ละจิตทำกิจการงานด้วย ไม่ใช่เกิดมาโดยไม่ทำอะไร และจิตใดทำกิจใด ทำกิจแล้วดับไปไม่มีใครสั่งให้เกิดมาทำกิจหน้าที่นั้นแล้วดับ แต่ธาตุนั้นๆ แต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งที่กล่าวถึงเป็นปัจจัยโดยย่อ เท่าที่สมควรที่จะเข้าใจได้ เช่นจิตเห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฎให้เห็น จิตได้ยินต้องมีสิ่งที่ปรากฎให้ได้ยิน ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำว่าเสียง แต่เสียงก็คือสิ่งที่ปรากฎให้ได้ยินว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ เพราะฉะนั้นภาษาไทยใช้คำว่าเสียง จิตเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จิตจะเกิดขึ้นรู้โดยไม่มีสิ่งที่จิตรู้ไม่ได้ ในเมื่อรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ถูกรู้ต้องมี และสิ่งนั้นในภาษาบาลีใช้คำว่า "อารัมณ" หรือ "อารัมพน" ก็แล้วแต่ แต่ส่วนใหญ่คนไทยจะใช้คำว่า "อารมณ์" ซึ่งเป็นปลายเหตุแล้ว อารมณ์ดีหรือไม่วันนี้ หรือว่าตื่นมาก็อารมณ์ไม่ดี เพราะอะไร เพราะเห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่อร่อย กายกระทบสิ่งที่ไม่สบาย และใจก็มีแต่เรื่องไม่ดี เพราะฉะนั้นก็จะให้เป็นจิตประเภทที่ดีไม่ได้ ทุกอย่างเป็นธรรม

    การฟังเพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง สิ่งที่มีแล้วไม่เคยรู้ในสังสารวัฎ แต่มีโอกาสที่ได้สะสมบุญไว้แต่ปางก่อนทำให้มีศรัทธาเห็นประโยชน์ว่า เมื่อผู้ที่ประเสิรฐที่สุดคือผู้ที่ไม่มีกิเลสทรงแสดงความจริง หรือธรรมจึงควรฟัง เพราะฉะนั้นศรัทธานี้ก็จะทำให้ได้มีการฟังพระธรรม และเมื่อฟังแล้วก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้เข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง เพราะเหตุว่าบางคนฟังแล้วไม่ไตร่ตรองเพียงแต่แค่จำคำเฉยๆ เช่น สติ เจริญสติ ก็จะไปทำสติ บอกให้ละชั่วก็จะไปละชั่ว แต่ไม่ได้มีความเข้าใจเลยว่า ขณะนั้นอะไร ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจากการที่ไม่เคยเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มีทั้งหมด ก็เริ่มได้ยินได้ฟัง แต่ต้องเป็นผู้ที่เคารพอย่างยิ่งในพระธรรม เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งแม้พูดเรื่องจิต จิตกำลังเกิดขึ้น ดับไป ทำกิจการงานแต่ละหนึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะประจักษ์จิตซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ทันที แต่ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้นจนละคลายความยึดถือว่าเป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่คิดนึก

    เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ได้เข้าใจเรื่องของจิต ซึ่งจริงๆ ละเอียดกว่านี้อีก เพราะว่าก่อนจิตเห็นมีจิตหรือไม่ "มี" แต่ไม่ใช่จิตเห็น ซึ่งนี้ก็ยิ่งละเอียดขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดให้เข้าใจว่าจิตเป็นธาตุรู้ ถ้าไม่มีธาตุรู้อะไรๆ จะปรากฎเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นสีสรร วรรณะ เป็นเสียงต่างๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่มีสิ่งใดปรากฎ หมายความว่ามีธาตุที่รู้สิ่งนั้น มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฎกับโต๊ะหรือไม่? "ไม่มีเลย" ปรากฏกับดอกไม้มีหรือไม่? "ก็ไม่มีเลย" แต่ขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฎ แสดงว่ามีธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะนั้นเสียงปรากฏก็ต้องมีธาตุที่เกิดขึ้นรู้เสียง คือได้ยิน ถ้าขณะนี้มีอะไรที่ปรากฏก็เพราะจิตเป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเห็น ได้กลิ่นบ้างหรือไม่ คนที่ทำอาหารหรือคนที่รับประทานอาหาร มีกลิ่น แล้วแต่ว่าเป็นกลิ่นอะไร "กลิ่นไข่เจียว" มีใครไม่เคยรู้บ้าง ธรรมดาๆ ที่รู้ทันทีว่ารู้กลิ่นนั้น แต่กลิ่นมีจริง เพราะธาตุรู้เกิดขึ้น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่กำลังรู้กลิ่นที่ปรากฏ นี้คือการเข้าใจว่าไม่มีเรา ทุกอย่างเป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง แต่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คืออย่างที่หนึ่งสิ่งที่มีจริงนั้นไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย ใช้คำว่า "รูปธรรม" และอีกอย่างเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น ไม่มีรูปร่างเลยทั้งสิ้น แต่ว่าเป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนี้มีธาตุนั้น รู้จักธาตุนั้นหรือยัง ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสรร ไม่มีกลิ่น มืดสนิท ถ้าจะรู้จักจิตต้องขณะที่ปรากฎในความมืดสนิท ถ้ายังมีอย่างอื่นปรากฎ สิ่งที่ปรากฎเป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส ไม่ใช่จิต ...


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    12 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ