พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863


    ตอนที่ ๘๖๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    ผู้ฟัง เวลาโลภะเกิด บางครั้งก็จะทราบว่ามีโลภะ

    ท่านอาจารย์ แต่ใครรู้

    ผู้ฟัง เป็นเรารู้

    ท่านอาจารย์ เป็นเรารู้ ไม่ใช่กำลังมีโลภะ เป็นธรรมที่ปรากฏว่าไม่ใช่เรา จึงจะชื่อว่ามีโลภะเป็นอารมณ์ ฉันใด โมหะ ก็ฉันนั้น

    ผู้ฟัง ดังนั้นจริงๆ แล้วโมหะมีตลอดเวลา ก็ไม่สามารถที่จะรู้โมหะ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจคำว่า อารมณ์ หมายความว่าธาตุรู้เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งเดียวที่ธาตุรู้นั้นรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ จิตเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่กำลังถูกจิตรู้ เฉพาะสิ่งนั้นสิ่งเดียวเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ กำลังเห็น อย่างอื่นจะเป็นอารมณ์ของจิตเห็นไม่ได้เลย ขณะที่ได้ยิน เสียงเท่านั้นเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน แม้เสียงอื่นๆ ก็เป็นอารมณ์ของจิตได้ยินขณะนั้นไม่ได้ ต้องเฉพาะเสียงที่จิตนั้นได้ยินเท่านั้น ที่เป็นอารมณ์ของจิตนั้น

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ใครมีโลภะเป็นอารมณ์บ้าง ใครมีโทสะเป็นอารมณ์บ้าง หรือว่าแค่คิดเรื่องนั้นเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่มีลักษณะที่เป็นธรรม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์เลย แต่ลักษณะนั้นปรากฏ โดยความเป็นธรรม ขณะนั้นจึงจะเป็นอารมณ์ของจิตนั้นได้ ถ้าจะกล่าวว่าโลภะเป็นอารมณ์ โทสะเป็นอารมณ์ ขณะนั้นต้องไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น นอกจากเฉพาะธาตุนั้นที่กำลังปรากฏ ให้จิตกำลังเข้าใจถูก ว่าเป็นธาตุนั้น ไม่ใช่ธาตุ อื่น ขณะนั้นจึงจะกล่าวได้ว่าเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ มีโลภะเป็นอารมณ์บ้างหรือเปล่า หรือเพียงคิดเรื่อง คิดชื่อของโลภะ

    ผู้ฟัง เพียงคิด

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ มีแข็งเป็นอารมณ์ได้บ้างหรือไม่ บ้างไหม บ่อยหรือไม่ คำถามเป็นคำตอบไปในตัว ได้หรือไม่คือได้ บ้างไหมคือบ้าง บ่อยหรือไม่ก็แล้วแต่ ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็ต้องแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าขณะนั้นอะไรจริงๆ ที่เป็นอารมณ์ แข็งเป็นอารมณ์ ถูกต้องหรือไม่ แล้วรู้ความจริงของแข็ง ว่ากำลังมีแข็งเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังโต๊ะแข็ง ช้อนส้อมแข็ง นี่ต่างกันแล้ว ใช่หรือไม่

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ที่จะกล่าวว่ามีสิ่งใดเป็นอารมณ์ ตามปกติธรรมดาใครบ้างที่ไม่รู้แข็ง เพราะฉะนั้นขณะนั้น แข็งเป็นอารมณ์ของจิต ซึ่งอาศัยกายปสาทะเกิดขึ้น จึงรู้สิ่งที่กระทบกายปสาทะได้ และดับไปเร็วมากเลย จะกล่าวว่าเรารู้แข็งจริงๆ ขณะไหน ขณะที่แข็งกำลังปรากฏสั้นมากขณะเดียว กายวิญญาณขณะเดียว แล้วก็มีจิตเกิดสืบต่อ จนกว่าแข็ง ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ ดับไป ซึ่งก็เร็วมาก จะกล่าวว่าขณะนั้นมีแข็งเป็นอารมณ์ หรือว่าผ่านไปโดยเข้าใจว่า แข็งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่แม้กระนั้นเมื่อแข็งเป็นสิ่งที่มีจริง และสภาพธรรมที่จะรู้แข็งได้ ก็มี คือกายวิญญาณ แต่ไม่มีความเห็นถูก ที่จะรู้ว่าแข็งเป็นเพียงธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องเป็นความละเอียด ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สภาพธรรมมีปรากฏกับจิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าเกิดกับปัญญาหรือเปล่า เกิดกับสติหรือเปล่า แข็งเป็นอารมณ์ของสติหรือเปล่า เป็นอารมณ์ของปัญญาหรือเปล่า

    อ.วิชัย กล่าวถึงการเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งการกำเนิดก็มีหลายอย่าง ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงไว้ แต่สำหรับการเกิดเป็นมนุษย์แน่นอน คือต้องมีอาศัยบิดามารดา ซึ่งมีอุปการคุณมากต่อบุตร แต่ก็ทรงแสดงว่า การเกิดกล่าวถึงโดยปรมัตถธรรม เป็นจิตที่เกิดขึ้น รวมถึงปรมัตถธรรมอื่นๆ ด้วย ที่จะใช้คำว่า สัมปยุตตธรรม รวมถึงรูปที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ไม่รู้ขณะแรกที่เกิดแน่นอน แต่เมื่อจิตเกิดแล้ว จิตเป็นสภาพที่ทันทีที่ดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นทุกคนก็ทราบว่า ที่อยู่ตรงนี้ต้องมีปฏิสนธิจิต แต่ถึงแม้ว่าเกิดมาเป็นเด็กเล็กๆ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เพราะว่ายังไม่รู้เรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้ที่รู้เรื่อง ก็รู้ว่าเรามีการเกิด แต่เข้าใจว่าเป็นเรา แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เกิดคืออะไร ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมลักษณะที่เกิด เพราะว่าตอนนั้น ใครๆ ก็รู้ไม่ได้หรือ ถึงแม้เวลาผ่านมานานแสนนาน ก็ยังไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่ทำกิจแรก ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ทำให้มีสภาพของธรรมคือ จิตและเจตสิก ซึ่งบางท่านที่เคยฟังธรรมแล้ว ก็ทราบว่าสภาพธรรมทั้งหมด จะเกิดตามลำพังไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นแม้แต่เพียงพูดธรรมคำเดียว ก็จะแสดงถึงสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย แต่ว่าขณะนั้น ที่จิตเกิดขึ้น ที่คุณวิชัยเพิ่งกล่าว ไม่ได้มีแต่จิต มีเจตสิกและมีรูปเกิดด้วย แต่เราก็จะกล่าวเฉพาะแต่ละอย่าง ถ้ากล่าวถึงเรื่องจิต เพราะมีปฏิสนธิจิต จึงทำให้จิตขณะนี้เกิด เพราะเกิดสืบต่อมาจากปฏิสนธิจิตนั่นเอง ถ้าขณะนี้ไม่มีจิตสักขณะเดียวเท่านั้น มีชีวิตหรือไม่ ไม่มี เพราะฉะนั้นตราบใดที่จิตเกิด ก็แสดงว่ายังมีชีวิตอยู่ แต่ขณะใดก็ตาม ซึ่งจิตไม่ได้เกิดในโลกนี้ หยุดเกิด ก็แสดงว่าบุคคลนั้นสิ้นชีวิตหรือตายไป

    เพราะฉะนั้นระหว่างเกิดกับตาย ก็จะมีจิตที่เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ แล้วก็ทำกิจของจิต เพราะว่าจิตเกิด และจิตก็เกิดดับสืบต่อทำกิจ จนกระทั่งถึงขณะสุดท้าย ไม่หยุดทำงานเลย แม้ขณะนี้ก็เป็นจิตที่กำลังเกิดดับสืบต่อ การที่กล่าวถึงเรื่องนี้ก็เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อวิชชาความไม่รู้ ปกปิดความจริงตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีทางที่ใครเกิดมาแล้ว จะรู้ความจริงได้ ว่าขณะนี้ไม่มีเรา แต่เป็นธรรมทั้งหมด แต่ละอย่างๆ สภาพรู้ก็มีหลายหลาก สภาพที่ไม่รู้ก็มีหลายหลาก แต่ว่าทั้งหมด ทั้งสภาพรู้และที่ไม่ใช่สภาพรู้ ก็ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ กว่าจะรู้ความจริง ทั้งๆ ที่เกิดมานาน ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเลย สภาพธรรมอย่างเดี๋ยวนี้ ก็ถูกปกปิดไว้ด้วยความไม่รู้ หรือแม้ว่ากำลังเริ่มได้ยิน ได้ฟัง ก็ยังไม่มีการประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ละเอียดยิ่ง จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจเมื่อไร เมื่อนั้นสิ่งที่อยู่ใต้ความมืดสนิท เพราะอวิชชาปกปิดไว้ ก็มีปัญญาที่ทำให้เริ่มเข้าใจความจริง ของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ตามความเป็นจริง นี่แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้ ความมืดสนิทของอวิชชา ไม่สามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้แต่จิต ซึ่งมี ใครรู้จิตขณะนี้บ้าง ไม่มีทางเลย ได้ยินชื่อ แต่ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อว่า เมื่อมีความเห็นถูกมากขึ้น เมื่อไรที่มีอะไรปรากฏ ก็ยังสามารถที่จะระลึกได้ และเข้าใจได้ว่าขณะนั้น เพราะมีธาตุรู้ซึ่งเป็นจิต ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงาน ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้แต่คำว่า จิต คำเดียว ให้เข้าใจจริงๆ ว่ามี แต่ทำไมไม่รู้ ฟังแล้วก็ยังไม่รู้ หรือใครรู้แล้ว รู้แต่ชื่อ ใช่หรือไม่ แต่เมื่อสิ่งนั้นมีจริง สามารถรู้ได้

    เพราะฉะนั้นก็มีความอดทนที่จะรู้ได้ ต่อเมื่อเข้าใจยิ่งกว่านี้ เพียงได้เริ่มฟังนิดๆ หน่อยๆ แล้วจิตก็กำลังมี ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของจิตได้ จนกว่าจะฟังทุกเรื่องที่เกี่ยวกับจิต เช่นหน้าที่การงานของจิต จิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราเกิด จิตทำกิจการงาน ไม่ใช่เราทำ เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตามที่ไม่รู้ความจริง ก็เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่เห็นขณะนี้ ก็เป็นเราเห็น ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน คิดก็เป็นเราคิด เพราะฉะนั้นทุกอย่าง เพราะไม่รู้ความจริงก็ถูกปิดกั้นไว้ จนกว่าอาศัยการฟัง ซึ่งเป็นปริยัติ พระธรรม พระพุทธพจน์ที่ทรงแสดงถึงสภาพธรรมในขณะนี้โดยละเอียดยิ่ง จนกระทั่งมีความมั่นคง เข้าใจว่าขณะนี้ไม่มีเรา ขั้นการฟังในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ก่อน แต่ว่าความเป็นเราก็ยังไม่หมดไป แต่ก็ฟังอีกเรื่องความไม่มีเรา มีแต่สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป และขณะนี้เราก็กำลังจะกล่าวถึง กิจของจิต

    วันนี้ตั้งแต่เช้ามาทุกคนทำอะไรบ้าง เห็นหรือไม่ ถึงจำไม่ได้ก็ทำ ถูกต้องหรือไม่ แต่ว่ากิจของจิตมีเพียง ๑๔ กิจ ไม่ใช่มีใครเลย เหมือนกับว่าเรามีหน้าที่มากมาย ทำอะไรตั้งมากมาย แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ก็เพราะจิตเกิดแล้วก็ทำหน้าที่ของจิตแต่ละหนึ่งจิตตลอดเวลา จนถึงในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นจึงควรอย่างยิ่งที่จะรู้ว่า จิตมีกิจอะไรบ้าง แล้วก็จิตใดทำกิจใดบ้าง เพราะไม่ใช่ว่าจิตหนึ่ง จะทำทั้ง ๑๔ กิจ แต่บางจิตทำได้หลายกิจ บางจิตทำได้เฉพาะกิจเดียว นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าไม่มีการฟัง เราไม่สามารถที่จะเข้าใจ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับอย่างเร็วมาก แต่ว่าในขณะนี้ พอจะรู้กิจของจิตด้วยตัวเองได้ ใช่หรือไม่ ขณะนี้จิตทำกิจอะไร ภาษาไทยก็ได้ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นขณะนี้จิตทำกิจอะไร ทำกิจเห็น

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะบอกสักเท่าไรว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา แต่จิตเกิดขึ้นทำกิจเห็น มีคำที่แสดงให้รู้ว่า ถ้าจิตไม่เกิด ไม่มีเห็น กว่าจะค่อยๆ ลอกความยึดมั่นว่าเป็นเรา ในขณะที่เห็นออกได้ ไม่ต้องทำอะไรเลยทั้งสิ้น นอกจากเข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจ และไม่สะสมความเข้าใจ ก็เพียงพูดตาม ขณะนี้จิตเกิดขึ้นเห็น แต่ทุกคำมีความหมาย ในขณะที่กำลังเห็น เริ่มเข้าใจเห็นขณะนี้ มีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น ค่อยๆ สะสมความเข้าใจอย่างนี้ นี่หนึ่งกิจแล้ว ใช่หรือไม่ ทั้งหมด ๑๔ กิจ ไม่มาก หนึ่งกิจนี้กำลังทำและทำอยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้มีกิจอะไรอีก

    อ.วิชัย ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ได้ยิน ใครได้ยิน ไม่มีใครอีกต่อไปแล้ว ใช่หรือไม่ ถ้าศึกษา ก็คือจิตนั่นแหละเกิดขึ้นได้ยิน เพราะฉะนั้นถ้ามีการไม่ลืม เพียงแค่ไม่ลืม ในขณะที่กำลังได้ยิน ว่าขณะนี้ก็เป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป ก็จะค่อยๆ รู้ว่า แล้วไหนเป็นคน ไหนเป็นเรา ในเมื่อได้เข้าใจสภาพธรรมละเอียดขึ้นทีละหนึ่ง ก็จะไม่มีเราเลย ๒ กิจแล้วจาก ๑๔ กิจ แล้วอะไรอีก จิตเห็น จะใช้คำว่าจิตเกิดขึ้นทำทัสสนกิจในภาษาบาลีก็ได้ ทัศนะ ทัศนาจร ไปเห็นโน่นเห็นนี่ ก็คือจิตเกิดขึ้นทำทัศนกิจเดี๋ยวนี้ แล้วก็ขณะใดที่ได้ยิน ขณะนั้นก็คือ จิตเกิดขึ้นทำสวนกิจ เป็นภาษาบาลี ไม่ต้องจำก็ได้ แต่ให้รู้ว่าภาษาบาลีใช้คำอะไร แล้วเราก็ใช้ภาษาบาลีมาก แต่ไม่ค่อยจะรู้ความหมาย แล้วก็อาจจะใช้คลาดเคลื่อนไป ทัสสนะก็คือเห็น สวนะก็คือได้ยิน เพราะฉะนั้นขณะนี้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง ตั้งหลายคำ เอาเฉพาะตรงได้ยิน ได้ยินคือจิตเกิดขึ้นได้ยิน ทำสวนกิจ

    แต่ความจริง กิจที่ได้กล่าวถึงแล้วคือปฏิสนธิกิจ ภาษาบาลีต้องออกเสียงว่า ปฏิสันธิกิจ จิตขณะแรก ขณะเดียวในหนึ่งชาติ จะไม่มีจิตที่เกิดขึ้นทำปฏิสนธิในชาตินั้นอีก เกิดมาแล้ว ปฏิสนธิกิจ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เราจะกล่าวถึงเรื่องของกิจ ไม่จำเป็นที่จะกล่าวตามลำดับที่เขาเรียงมาก็ได้ ใช่หรือไม่ แต่ให้เข้าใจสิ่งที่เราสามารถที่จะเข้าใจได้ สลับกันไปสลับกันมา ก็คงไม่เป็นไร เป็นการทดสอบว่า สามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแต่ละหนึ่ง โดยชัดเจนหรือเปล่า เช่นปฏิสนธิกิจ จิตนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าได้ฟังที่ชินหูก็คือว่า ต้องมีกรรมเป็นปัจจัย ทำให้จิตนี้เกิดขึ้น เป็นผลของกรรม

    เพราะเหตุว่าใครจะรู้ว่าจิตไหนทำปฏิสนธิกิจ แต่เกิดแล้ว ทั้งๆ ที่เกิดแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจิตประเภทไหน แต่ตามความเป็นจริง ขณะนั้นไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการรู้รส ไม่มีการคิดนึกใดๆ สุข ทุกข์ขณะนั้นก็ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสุขปรากฏทางกาย ทุกข์ก็ปรากฏทางกาย แต่ขณะที่เกิดขณะแรกจริงๆ ลองคิดถึงหนึ่งขณะจิต สั้นและเล็กน้อยสักแค่ไหน แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะปรากฎทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะเหตุว่าขณะนั้น มีแต่จิตขณะหนึ่ง ซึ่งเพิ่งเกิดเป็นบุคคลนี้ ในชาตินี้

    เพราะฉะนั้นการเกิดเท่าที่เราเห็นก็หลากหลายมาก ที่เกิดเป็นคนก็มี เป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี เป็นคนพิการก็มี ใช่หรือไม่ แต่ว่าขณะที่เกิด ยังไม่มีการพิการที่จะปรากฏได้ เพราะคิดถึงจิตหนึ่งขณะทำปฏิสนธิกิจ นี่คือการที่จะเข้าใจเรื่องกิจของจิตจริงๆ สภาพธรรมเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่ง ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าเกิดเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ไม่เป็นมนุษย์ ตามที่เราเห็น เป็นสัตว์เดรัจฉานประเภทต่างๆ

    เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นขณะแรกดับไป กรรมก็ยังให้ผลต่อไปอีก คือไม่เพียงแต่ทำให้จิตเกิดขึ้น ทำปฏิสนธิกิจ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน หนึ่งขณะ หนึ่งกิจดับไป และกรรมก็ทำให้ขณะต่อไป ผลของกรรมจะคงมีต่อไปในชาตินั้น โดยเมื่อจิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิตดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ทำภวังคกิจ มาจากคำว่า ภวะกับอังคะ รวมกันก็เป็นภวังคกิจ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรสใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้คิดถึงธาตุรู้ ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว เกิดขึ้นหนึ่งขณะแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้ผลของกรรม ซึ่งยังจะต้องให้ผลอีกมากในระหว่างที่ยังไม่ตาย เกิดสืบต่อ แต่ว่าไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ เพราะเหตุว่าปฏิสนธิกิจ ต้องหลังจากที่จุติจิตของชาติก่อนดับไป และปฏิสนธิจึงเกิดได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตขณะแรก ซึ่งเป็นผลของกรรมขณะแรกดับ เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไป ยังคงเป็นผลของกรรมเดียวกันนั่นเอง เกิดขึ้น แต่ว่าไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ แต่ทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้น๒ กิจนี่ต่อกัน หลังจากที่ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำปฏิสนธิกิจดับ ก็จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปทำภวังคกิจ สืบต่อทันที ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยินหรือคิดนึกใดๆ แทรกคั่นได้เลย

    เพราะฉะนั้นหลังจากปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ก็เป็นเพราะภวังคกิจ ไม่ยากเลย ใช่หรือไม่ ถึงไม่รู้ก็เป็นอย่างนี้ เวลางูเกิด มีปฏิสนธิจิตหรือไม่ ดับไปแล้ว ต่อไปเป็นอะไร ภวังคกิจ เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเกิดระหว่างอะไร ระหว่างจุติจิตของชาติก่อน กับภวังคจิต ซึ่งเป็นปฐมภวังค์แรกของชาตินี้ ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ไม่ว่าจะไปอ่านตำราไหนหรือพระไตรปิฎก หรืออรรถกถา ถ้ากล่าวถึงว่า ปฏิสนธิจิตอยู่ระหว่างจิตอะไร ก็ตอบได้เลย ระหว่างจุติจิตกับภวังคจิต ภวังค์ไม่ได้มีขณะเดียวเลย แม้เดี๋ยวนี้ก็มีภวังค์คั่น ระหว่างที่ไม่มีจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้ที่กระทบสัมผัสหรือคิดนึกใดๆ เลยทั้งสิ้น ต้องมีสภาพของจิต ที่กรรมทำให้ดำรงภพชาติ เกิดขึ้นทำภวังคกิจ สืบต่อไว้

    เพราะฉะนั้นจากเห็นจะเป็นได้ยิน ก็มีภวังคกิจคั่น เพราะว่าจะเห็นและได้ยินทันทีไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ก็คือกระแสของภวังค์ ซึ่งเป็นผลของกรรม เกิดสืบต่อ เกิดดับๆ สืบต่อดำรงภพชาติยังไม่สิ้นสุด ตราบใดที่กรรมยังไม่หมด และระหว่างภวังค์นั่นเอง ก็มีการเห็นคั่นแล้วก็เป็นภวังค์ แล้วก็มีการได้ยินคั่น แล้วก็เป็นภวังค์ แล้วก็มีจิตที่คิดนึกคั่น สั้นมากแต่ละขณะ อย่างทางตาที่เห็นไม่นานเลยดับ ภวังค์คั่น แล้วก็ถึงวาระที่จะได้ยินก็ไม่นาน แล้วก็มีภวังค์คั่น

    เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เรารู้อะไร เราเข้าใจอะไร ถ้าไม่ได้ฟังธรรม แต่พอฟังธรรมแล้ว เริ่มเห็นว่าไม่มีเรา แต่เป็นเรื่องของธาตุรู้ ซึ่งเป็นธรรม ซึ่งเกิดกับดับสืบต่อทำให้เข้าใจว่ามีเรา แต่ตามความจริงก็คือ กระแสของภวังค์ซึ่งเป็นผลของกรรม ที่จะต้องดำรงความเป็นบุคคลนี้ไว้ ยังไม่จากโลกนี้ไปเป็นบุคคลอื่น แต่จะต้องเป็นบุคคลนี้ เพราะภวังค์เกิดดับสืบต่อ แล้วก็มีการเห็นคั่นภวังค์ และก็มีการได้ยินคั่นภวังค์ มีการคิดนึกคั่นภวังค์ ขณะที่เป็นภวังค์ โลกไม่ปรากฏ ชื่อไม่มี ความคิดใดๆ ไม่มี เหมือนขณะที่นอนหลับสนิทจริงๆ ไม่มีใครรู้เลยว่ากำลังหลับสนิทเป็นใคร มีสมบัติ มีญาติพี่น้อง มีเรื่องราววุ่นวายทั้งวัน ที่ผ่านไปแล้วแค่ไหนก็ไม่รู้เลย เพราะไม่มี ใช่หรือไม่ หมดคือหมด ดับคือดับ ไม่เหลือ

    แต่เพราะเหตุว่าไม่ได้ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ว่าดับคือดับแล้ว ไม่กลับมาอีก ไม่เหลือ มีการสืบต่อจนกระทั่งเหมือนยังมีอยู่ ตั้งแต่เกิดและวันไหนเห็นบ้าง มีเรื่องราวต่างๆ บ้าง อีกวันเป็นอย่างไรบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ก็กลายเป็นเรื่องราวของตัวเอง และบุคคลอื่น แต่ความจริงทั้งหมดก็คือ เป็นธาตุหรือธรรม ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอด เพราะฉะนั้นกิจที่สำคัญที่สุด ต่อจากปฏิสนธิกิจ ก็คือภวังคกิจ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจดับแล้ว จุติจิตเกิดเลย ได้หรือไม่ น่าคิดหรือไม่ ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิด ขณะแรกของชาตินี้ทำปฏิสนธิ ไม่มีขณะอื่นเลย ต้องเป็นขณะแรกจริงๆ ที่เกิด และขณะนั้นทำกิจสืบต่อจากจุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อนพูดง่ายๆ ก็คือ ตายแล้วเกิดทันที ไม่มีระหว่างคั่น

    เพราะฉะนั้นคำถามว่า เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว จุติจิตเกิดต่อปฏิสนธิจิต ได้หรือไม่ ยืนยันว่าไม่ได้ กรรมอะไรจะให้ผลประหลาดอย่างนั้น อยู่ดีๆ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดปุ๊บตายปั๊บ กรรมอะไรเป็นไปไม่ได้เลย ใช่หรือไม่ เพราะกว่ากรรมหนึ่งกรรมใดจะสำเร็จ จะต้องมีจิตเกิดดับ ถ้าเป็นกุศลกรรม ก็มีกุศลจิตหลายขณะ ไม่ใช่กุศลจิตขณะเดียว จะทำให้กรรมสำเร็จลงไปได้

    เพราะฉะนั้นที่กรรมจะให้ผลคือ ปฏิสนธิจิตเกิดปุ๊บดับปั๊บแล้วก็ตายทันที และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องดำรงภพชาติ ตามเหตุที่ได้กระทำแล้ว เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำ ไม่ได้ทำด้วยจิตหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติเป็นภวังคจิต ถ้าใช้คำว่า ภวังค์ ถ้าจะคิดก็คือ เหมือนขณะที่หลับสนิทเลย ไม่มีการรู้ใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็ไม่ใช่ตายด้วย เพราะเหตุว่าตายคือขณะนั้น ไม่มีจิตเกิดในชาตินี้อีก ในโลกนี้อีก แต่ว่าเมื่อไม่ตายก็จะต้องมีจิต ซึ่งดำรงภพชาติเกิดสืบต่อ จนกว่าจะถึงกาลที่กรรมจะให้ผลทางตาเห็น ต้องเห็น หรือว่ากรรมให้ผลทางหู ต้องได้ยินเหมือนขณะนี้เลย ขณะใดที่ได้ยิน ขณะนั้นเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ขณะที่เห็นก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่กรรมมีหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นก็เห็นสิ่งที่หลากหลาย ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง และเสียงก็หลากหลาย กรรมที่ทำให้ได้ยินเสียง ก็เป็นเสียงที่ต่างๆ กันหลากหลายไปด้วย

    นี่คือชีวิต ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเรา ไปจำผิด สัญญาวิปลาส เข้าใจสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เข้าใจสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน แล้วแต่ว่าจะมีทิฏฐิวิปลาสเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ถ้าไม่มี ขณะใดที่จิตไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เป็นอกุศล เพราะอวิชชา ความไม่รู้ ขณะนั้นจำก็จำคลาดเคลื่อน ว่าเป็นเรา เริ่มตั้งแต่ต้น เริ่มผิดตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้นความผิดที่เข้าใจผิดในเรื่องราวต่างๆ ในความเป็นไป ในสัตว์บุคคล ในเหตุการณ์ต่างๆ จะมากมายสักแค่ไหน ด้วยเหตุนี้การฟังธรรม ก็คือฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องกิจ ก็ได้หลายกิจแล้ว และก็ไม่ใช่เราด้วย แต่เป็นกิจของจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    11 มี.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ