พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
ตอนที่ ๘๖๔
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ท่านอาจารย์ การฟังธรรมก็คือ ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องกิจก็ได้หลายกิจ แล้วก็ไม่ใช่เราด้วย แต่เป็นกิจของจิต
อ.วิชัย จิตที่เกิดขึ้นก็มีกิจ ไม่ใช่เพียงกิจเดียว แต่มีถึง ๑๔ กิจ ซึ่งเราก็ได้สนทนาเกี่ยวกับเรื่องของปฏิสนธิกิจ และภวังคกิจ ซึ่งจิตไม่ใช่เป็นจิตดวงเดียว หรือประเภทเดียวที่เกิดขึ้น แล้วก็ทำกิจหลายอย่างเพียงจิตเดียว เพราะเหตุว่าจิตเมื่อเกิดแล้วก็ดับทันที เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง อย่างเช่นปฏิสนธิจิต ก็เกิดเพราะปัจจัยหนึ่ง คือกรรมในอดีต ที่กระทำไว้แล้ว ทำให้ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นในภูมิต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า จิตมีหลายประเภท และจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ มีประเภทอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างให้เห็นว่าบุคคลแต่ละบุคคลก็มีการเกิด และก็มีความแตกต่างกัน เกิดเป็นมนุษย์ก็มี เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรกต่างๆ ด้วยจิตประเภทใดบ้างที่ทำกิจปฏิสนธิ
อ.ธิดารัตน์ จิตที่จะทำกิจปฏิสนธิได้ จะต้องเป็นจิตชาติวิบาก เพราะปฏิสนธิเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นผลของกรรมก็คือวิบากจิต และวิบากจิตใดที่สามารถจะทำกิจปฏิสนธิได้ ความจริงนี้ท่านก็แสดงไว้ ก็คือจิต ๑๙ ประเภท โดยชื่อ โดยจำนวน เพราะถึงแม้กรรมที่เป็นมหัคต ก็มี ๙ ประเภทที่จะให้ผล แต่ถ้าโดยภูมิที่มีขันธ์ ๕ หรือว่าปกติที่จะทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ผู้ที่ปฏิสนธิ จะต้องเป็นผลของกุศลกรรม ใช่หรือไม่ กุศลกรรมที่จะทำให้มาเกิดเป็นคน หรือในสุคติภูมิ ยกตัวอย่างพวกเรา ต้องเป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใด เพราะไม่ได้พิการ ถ้าผู้ที่มีความพิการ เช่น หูหนวก ตาบอด เป็นต้น ซึ่งต้องพิการแต่กำเนิดด้วย ก็ยังเป็นผลของกุศลกรรม แต่กุศลกรรมนั้นมีกำลังอ่อน เพราะฉะนั้นขณะหลังจากปฏิสนธิแล้ว จึงถูกเบียดเบียนได้ จิตที่มีกำลังอ่อนขนาดนี้ ที่ทำกิจปฏิสนธิก็คือ อุเบกขาสันติรณกุศลวิบาก ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย และอย่างผู้ที่ปฏิสนธิครบหมด ก็จะมี ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุ ก็คือ เป็นมหาวิบาก มี ๒ ประเภทที่ประกอบด้วยปัญญา กับไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นกุศลกรรมที่กระทำมีกำลังมาก ประกอบด้วยความเข้าใจถูก ผลก็ทำให้เมื่อสามารถที่จะทำกิจปฏิสนธิได้ ก็ปฏิสนธิเป็นมหาวิบากที่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่ามีปัญญามาตั้งแต่เกิด เพราะว่าเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิต หรือแม้เป็นกุศลที่มีกำลังเหมือนกัน แต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ก็เกิดเป็นมนุษย์ได้ ในภูมินี้ แต่ก็ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา มหาวิบากก็ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะกรรมที่จะเป็นปัจจัยให้มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ตามกำลังของกรรมนั้นๆ จริงๆ เป็นปัจจัยใหญ่ปัจจัยหนึ่งเลย
อ.วิชัย คนที่ได้มีโอกาสฟังพระธรรม ก็รู้ว่ามีชาติของจิตด้วย ก็คือชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบากและชาติกิริยา แต่เหตุใดปฏิสนธิจึงเป็นเฉพาะจิตชาติวิบาก ซึ่งจิตชาติอื่นทำกิจนี้ไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ ศึกษาธรรมทีละคำ แต่ก็เข้าใจคำนั้นชัดเจน ส่วนใหญ่เราได้ยินคำว่ากรรม ภาษาไทยก็ใช้ แต่ว่าไม่ตรง เวลาที่ใครได้รับอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นกรรมของเขา ใช่หรือไม่ ไม่มีคำว่า วิบากในภาษาไทย มีแต่คำเดียว พูดได้คำเดียว คือกรรม โน่นก็กรรม นี่ก็กรรม แต่ว่าตามความเป็นจริงเลย กรรมหมายความถึง การกระทำที่จงใจ มีภาษาไทยเรียกว่า เจด -ตะ - นา แต่ภาษาบาลีจะใช้คำว่า เจตนา เป็นสภาพธรรมที่จงใจตั้งใจ ทำสิ่งที่เป็นอกุศล ไม่ดีไม่งาม กุศลดีงาม เป็นประโยชน์ แต่อกุศลก็ตรงกันข้าม
เพราะฉะนั้นขณะใดที่เบียดเบียนใคร ดีหรือไม่ เจตนาหรือเปล่า หรือจะบอกว่าไม่เจตนา พูดเอง แต่ตามความเป็นจริง เจตนาเกิดกับจิตทุกขณะ นี่คือการศึกษาธรรมโดยละเอียด แม้ว่าจะทีละคำ แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจความเกี่ยวเนื่องกันได้ ว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตนาเจตสิกเกิด ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดก็ตามที่จะเกิด ต้องอาศัยปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น
ภาษาบาลีนี้ก็ต่างกับภาษาไทย ถ้าใช้คำว่า ปัจจัย เป็นเหตุที่จะให้สนับสนุน ส่งเสริมอุปการะให้สภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมใดที่เกิดเพราะปัจจัย เรียกว่าปัจจยุบบัน ปัดจะยุปันนะ ขอเชิญคุณคำปั่นให้คำแปลด้วย
อ.คำปั่น มาจากคำสองคำ คือคำว่า ปัจจะยะกับอุปันนะ ความหมายของปัจจัย ก็คือสภาพธรรมที่อุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไป นี้คือความหมายของปัจจัยหรือว่าปัจจยะ ธรรมที่เกิดขึ้นอันเป็นผลของปัจจัย ชื่อว่าปัจจยุบบัน มีคำว่า อุปันนะ ซึ่งก็หมายถึงเกิดขึ้น เวลาแปลภาษาบาลี ก็แปลจากข้างหลังมาข้างหน้า ปัจจยุบปันนะหรือปัจจยุบบัน จึงหมายถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงผลของกรรม โดยไม่พูดถึงกรรม ได้หรือไม่
อ.วิชัย ไม่ได้ ต้องมีเหตุ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ถึงจะเป็นเรื่องยาวไปหน่อย ก็ไม่เป็นไร ถ้าสามารถที่จะเข้าใจ แต่ละคำเพิ่มขึ้น ตอนนี้ก็มีคำว่า เจตนา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ใครบ้าง ทำอะไรโดยไม่จงใจจะทำสิ่งนั้น เริ่มตั้งแต่ความดี ความชั่ว เจตนาที่จะทำทุจริต เจตนาที่จะละเว้นทุจริต ก็มีทั้ง ๒ อย่าง เป็นเจตนาที่ต่างกัน นั่นก็เป็นสิ่งที่เราเห็นจากการกระทำ แต่แม้เพียงเอื้อมมือไปหยิบแก้ว มีเจตนาหรือไม่ จงใจ ตั้งใจที่จะให้มีการเคลื่อนไหวไปที่จะให้สิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นพระธรรมละเอียดมาก ก่อนอื่นถ้าจะศึกษาธรรม ต้องรู้ว่า ธรรมคืออะไร คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนเรื่องอะไร สอนให้เข้าใจความจริงถึงที่สุดของสิ่งที่มีจริงๆ ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นต้องเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งมาก ไม่ใช่ว่าเราฟังเผินๆ เพียงชื่อ เพียงจำนวน แล้วก็จะเข้าใจได้ แต่ว่าควรที่จะต้องเข้าใจจริงๆ เพื่อรู้จริงๆ เพื่อละความไม่รู้จริงๆ ด้วย
ด้วยเหตุนี้ภาษาไทยใช้คำว่า เจตนาหรือจงใจ เจตนาถ้าจะพูดภาษาบาลี เจตนาจงใจที่จะกระทำ เกิดกับจิตทุกประเภทและทุกขณะ คือขยายออกไปอีกว่า จิตหลากหลายกันไป แล้วจิตหนึ่งเกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีก จะเป็นจิตนั้นกลับมาไม่ได้เลย แม้เจตนา เกิดกับจิตใด จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกันดับไปแล้ว เจตนานั้นจะกลับมา เกิดอีก ได้หรือไม่
อ.วิชัย ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ฟังธรรมต้องเข้าใจโดยตลอดจริงๆ ทุกคำไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นกุศลเจตนาเกิดขึ้นและก็ดับไป อกุศลเจตนาเกิดขึ้นและดับไป และที่เราใช้คำว่า กรรมก็คือเจตนา สภาพที่จงใจที่จะกระทำ เพราะเหตุว่าจะมีการกระทำใดๆ โดยไม่จงใจ ไม่มีเลย ต้องมีเจตนาเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะฉะนั้นอกุศลเจตนาวันนี้ มีมากหรือไม่ กำลังหลับอยู่ ลืมตาขึ้นมา มีอกุศลเจตนาหรือไม่
ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อเราอยากจะไปรู้อะไรมากๆ แต่พอได้ยินคำว่าเจตนา และได้เข้าใจบ้าง ลืมตาขึ้นมามีอกุศลเจตนาหรือไม่ มีแน่นอน เพราะไม่ว่าจิตหรือเจตสิก ต้องเกิดเป็นหนึ่งใน๔ ชาติ คือเกิดเป็นกุศล หรือเกิดเป็นอกุศล หรือเกิดเป็นผลของกุศลและอกุศล ซึ่งใช้คำว่า วิปากะ คำนี้คนไทยจะไม่ค่อยได้ยิน แต่ถ้าได้ยิน ก็เข้าใจผิด เช่นวิบาก วิ่งวิบาก เหมือนกับลำบาก ใช่หรือไม่ แต่ความจริง วิปากะ หมายความถึงจิตและเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว กุศลเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นวิปากะเป็นผล แต่เราไม่รู้ว่าผลของใคร ก็ต้องบอกให้เต็มอกุศลวิปากะหรืออกุศลวิบาก ส่วนตัวกรรมคือกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมเป็นเหตุ เมื่อกุศลกรรมเป็นเหตุดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบาก ซึ่งเป็นจิตที่เป็นผลเกิดขึ้น
จิตมี ๑๔ กิจ ฟังวันนี้ไม่ครบก็ไม่เป็นไร ใช่หรือไม่ ขอให้เข้าใจแต่ละกิจก็แล้วกัน ดีกว่าว่าเราไปจำชื่อไว้ครบหมด แต่ว่าเราก็ยังไม่ได้เข้าใจความละเอียด เพราะฉะนั้นแต่ละกิจ มีความเข้าใจที่ถูกต้องมั่นคงหรือยัง ว่าปฏิสนธิจิตคือจิตที่ทำปฏิสนธิกิจเท่านั้นอย่างเดียว ไม่ทำกิจอื่นเลย แล้วกิจนี้ไม่ใช่เหตุ คือไม่ใช่กรรม แต่ว่าเป็นผลของกรรม จึงเป็นวิบาก ในเมื่อกรรมมี ๒ อย่าง กุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นผลของกรรมจะมีเพียง๑ ได้หรือไม่ กรรมมี ๒ ที่ต่างกัน กุศลกรรม๑ อกุศลกรรม๑ เพราะฉะนั้นเวลาที่กรรมให้ผล จะให้ผลเพียงอย่างเดียว เป็นอย่างเดียวไม่เป็น๒ ได้หรือไม่ กุศลกรรมให้ผลไม่ดี ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วอกุศลกรรมเป็นเหตุ จะให้ผลที่ดีเกิดขึ้น ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุมี ๒ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม ผลจะมี ๒ หรือมี๑ กุศลกรรมให้ผลเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นกุศลวิบาก
ท่านอาจารย์ กุศลวิบาก อกุศลกรรมให้ผลเป็นอะไร
ผู้ฟัง ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก
ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นกุศลกรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุมี ๒ ผลก็ต้องมี ๒ เพราะฉะนั้นการเกิด เป็นมนุษย์ เป็นผลของกรรมดี ทำให้เราสามารถได้ยินเสียง ที่สามารถจะทำให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ได้ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดในภูมิที่ไม่เจริญเลย ได้แก่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย แต่ความละเอียดมากมายหลากหลาย แม้แต่เปรตก็หลากหลายมาก เหมือนมนุษย์ที่เกิดมา ผิวพรรณวัณณะก็ต่างกัน สูงต่ำก็ต่างกันในเพียงเรื่องของรูปร่าง ใช่หรือไม่ ฟันต่างกันหรือไม่ ทุกอย่างหมดเลย อย่างละเอียด นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรรมละเอียดหรือไม่ ไม่มีใครทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น นอกจากกรรม
เพราะฉะนั้นจะกล่าวได้หรือไม่ว่า กรรมเป็นมือที่มองไม่เห็น ตกลงไปใต้รางรถไฟไม่ตาย เป็นเรื่องจริง เด็กตัวเล็กๆ พลัดตกลงไปอยู่ข้างใต้เลย ก็ไม่ตาย ใครทำให้ตายหรือไม่ตาย ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการได้ยินได้ฟังเรื่องเหตุ และผล ก็จะทำให้สามารถเข้าใจความจริงที่เป็นเหตุและเป็นผลด้วย ถ้าเข้าใจความจริง ซึ่งเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ว่าสิ่งที่ไม่ดี อกุศลกรรม โลภะ โทสะ โมหะ ทุจริตกรรมต่างๆ ต้องให้ผลที่ไม่ดีแน่นอน ตั้งแต่เกิดด้วย แล้วยังจะทำอกุศลกรรมหรือไม่ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ
เพราะฉะนั้นการที่เราจะรู้ว่า แม้แต่การเกิดก็เลือกไม่ได้ กรรมทำไว้มากมายในสังสารวัฏฏ์ ไม่ได้ทำชาตินี้ชาติเดียว เพราะฉะนั้นแม้แต่ม้ากัณฐกะ อีกชาติเดียวก็จะได้เป็นพระโสดาบัน แต่ก็ยังเกิดเป็นม้า เพราะผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประชวร ก่อนที่จะปรินิพพานประชวรหนัก เพราะอะไร ใครทำ ใครทำได้หรือไม่ ไม่ได้ แต่กรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตนานแสนนานมาแล้ว ก็ยังสามารถที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นได้ ซึ่งทรงแสดงไว้ด้วยพระองค์เอง ถึงแม้ว่าผลดีซึ่งเกิดขึ้น ใครๆ ก็คิดว่าเพราะอย่างนั้นเพราะอย่างนี้ แต่เพราะเหตุที่ได้ทำไว้นานแล้ว คือเหตุนั้นๆ ที่กระทำ
เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถที่จะรู้ถึงกรรมที่ทำให้วิบากในชาตินี้เกิด แต่ก็มีการที่จะรู้ได้ว่า เป็นผลของกรรมประเภทใด เป็นผลของอกุศลกรรมหรือว่าเป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งคนอื่นทำไม่ได้เลย ทำไม่ได้แน่นอน ตั้งแต่เกิดเห็นหรือไม่ ทำไม่ได้จริงๆ ตั้งแต่เกิด และเกิดแล้วก็ยังทำไม่ได้อีก นอกจากเหตุที่ได้กระทำแล้ว สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิตหลากหลายประเภทต่างๆ เกิดขึ้น ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง แม้ใจบ้าง แต่ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งการศึกษาธรรม ศึกษาครึ่งๆ กลางๆ ทำให้เข้าใจผิด
เพราะฉะนั้นบางคน ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา โดยถ่องแท้ โดยมั่นคง ก็คิดว่าตนเองสามารถจะทำได้ แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย ที่จะทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิด ก็จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และปัญญาแม้เพียงการรู้เรื่องกรรม ก็ยังสามารถที่จะทำให้ละทุจริตกรรมได้ด้วย
ด้วยเหตุนี้ ถึงจะกล่าวเรื่องกิจของจิต แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ คือการเกิดของจิต ว่าจิตเกิดแล้วต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใด คือเป็นกุศล เกิดเป็นกุศล หรือว่าเกิดเป็นอกุศล หรือว่าเป็นผลของอกุศลที่เกิด เพราะฉะนั้นจิตนั้นไม่ใช่ตัวเหตุ แต่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นจิตนั้นเป็นกุศลวิบาก ซึ่งเราก็รู้ ขณะแรกที่เกิดไม่ได้ทำบุญ ทำบาปอะไรขณะที่เกิดเลย จะเป็นเหตุได้อย่างไร แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วต่างหาก ที่ทำให้จิตขณะแรกเกิดขึ้นในโลกนี้ รู้ก่อนหรือไม่ ก่อนเกิดรู้หรือไม่ ว่าจะเกิดในโลกนี้ ไม่รู้แน่เลย ใช่หรือไม่ ใครๆ ก็ไม่รู้ แต่น่าอัศจรรย์หรือไม่ ถ้าคิดแล้ว กรรมอะไรทำแล้ว สำเร็จไปนานแล้ว ก็ยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดที่นี่ ซึ่งที่เกิดมีมากกว่านี้ นรกก็มี เปรตก็มี อสูรกายก็มี สัตว์เดรัจฉานก็มี แต่นี่เกิดที่นี่ เป็นอย่างนี้ โดยที่ว่าไม่รู้เลยว่าเป็นเพราะอะไร แล้วโลกอื่นก็มี แต่ว่ายังสงสัย ใช่หรือไม่ นรกสงสัย เปรตสงสัย แต่ผู้ที่ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงเหตุและผลไว้โดยละเอียดด้วย แม้แต่ว่าจิตที่เกิดในที่นั้นๆ หลากหลายต่างกันเพราะอะไร เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกรรมอะไร และเกิดที่อื่นเป็นผลของกรรมอะไร และแสดงถึงความละเอียดของจิตที่ทำกิจปฏิสนธิด้วย
เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่เกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีใครพิการ ใช่หรือไม่ ทีนี่สมบูรณ์ แขนขาอยู่ครบ เป็นผลของกุศลกรรมแน่นอน ที่ไม่ทำให้พิการ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน เราก็เห็นคนที่เกิดมาพิการ แต่ว่าความจริงทางธรรม ใช้คำว่า พิการตั้งแต่กำเนิด คือตั้งแต่เกิด หมายความว่าปฏิสนธิจิตนั้น เป็นเหตุที่จะไม่ทำให้เป็นผู้ที่มีร่างกายตามปกติ เพราะว่าอกุศลกรรมเบียดเบียนได้ เพราะว่าเป็นกุศลกรรมอย่างอ่อน
ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครมีญาติพี่น้อง หรือว่าบุตรหลาน หรือเห็นใครก็ตามที่พิการ หรือว่าบ้าใบ้บอดหนวกอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามแต่ ก็รู้ถึงว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วของตนเอง นี่ก็จะทำให้เข้าใจเหตุและผลตรง ที่จะรู้ว่าขณะนี้ ที่ทุกคนไม่พิการเป็นผลของกุศลกรรม จะเป็นผลของทาน หรือศีล หรือการฟังธรรม หรือการช่วยเหลือใครก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดแล้ว แต่ถึงกระนั้นมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า นี่ก็จำแนกบุคคลให้ต่างกันไป แม้ว่าเป็นผลของกรรมที่ดีมากเลย ทำด้วยจิตโสมนัส วัตถุก็ดี ถ้าเป็นทาน ก็ทำให้เกิดเป็นผู้ที่มั่งคั่ง เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือเป็นพระราชา หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่กุศลนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจะให้ปัญญาเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตไม่ได้ เพราะว่าเหตุไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นผลจะประกอบด้วยปัญญาไม่ได้
เพราะฉะนั้นแม้เกิดมาแล้ว เราก็จะเห็นคนที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา สามารถที่จะเรียนเก่ง ทำอะไรเก่ง จบมหาวิทยาลัย ประดิษฐ์อะไรๆ ก็ได้ทั้งหมด แต่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เพราะฉะนั้นจะชื่อว่าปัญญาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นความหลากหลายของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วก็ให้ผล ก็ทำให้ผลนั้นหลากหลายต่างกันไป และข้อสำคัญก็คือว่า สภาพธรรมใดเกิดแล้วดับแล้วไม่กลับมาอีก เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้องว่าไม่มีเรา แล้วก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมปรุงแต่งไปยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละขณะก็จะมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตทุกดวง ซึ่งถ้าเราทำอะไรไปแล้วก็จะพูดว่าขอโทษ ไม่ได้เจตนา อย่างนี้ก็ไม่เป็นผู้ตรง ใช่หรือไม่ เพราะศึกษาธรรมแล้ว จะทราบว่าเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง
ท่านอาจารย์ ที่เข้าใจว่าเป็นเรา ถูกหรือผิด
ผู้ฟัง ผิดแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมต้องเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ไม่ใช่ฟังแล้วมีสถานการณ์ที่เราจะมาคิดประมวลเอาง่ายๆ แต่ต้องเข้าใจถึงความเป็นธรรมแต่ละอย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ดังนั้นการกระทำไป แล้วมากล่าวว่า ไม่มีเจตนา
ท่านอาจารย์ พูดอะไรก็พูดได้ แต่จิต เจตสิกเกิดดับสืบต่อทำกิจการงานอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ตรงด้วย กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล บางคนเข้าใจว่าอกุศลดี ใช่หรือไม่ แต่ความจริงอกุศลจะดีไม่ได้ เพราะเป็นอกุศล แต่ใครจะคิดอย่างไร จะเข้าใจอย่างไรก็แล้วแต่ความคิด แต่ธรรมเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้นถึงจะเจตนา แต่บอกว่าไม่เจตนา สภาพจริงๆ คืออะไร
อ.วิชัย ได้ยินคำว่า วิถีจิต วิถีมุตตจิต คือจิตที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นไปอยู่ ทั้งเป็นวิถีจิตก็มี และวิถีมุตตจิตก็มี กรุณาให้ความหมายสองคำนี้ด้วย
อ.คำปั่น คำแต่ละคำก็มีความหมาย มุ่งให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้แต่การที่จะกล่าวถึงจิต ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ถ้าจะกล่าวโดยประเภทใหญ่ๆ ก็มี ๒ ประเภท ก็เป็นการกล่าวทบทวน เพราะว่าหลายท่านก็ได้อ่านในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปบ้าง ได้ฟังรายการธรรม ที่เป็นรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาบ้าง ก็จะมีความคุ้นกับคำเหล่านี้ เมื่อได้ฟังบ่อยๆ ก็ยิ่งจะเพิ่มพูนความมั่นคงในความถูกต้อง ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น
การจำแนกจิตประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภทคือ วิถีจิตกับวิถีมุตตจิต คือกล่าวโดยคำก่อน วิถีจิต เป็นคำไทย บาลีก็คือ วีติจิตตะ ก็หมายถึงจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร คือทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในการรู้อารมณ์ นี้คือกล่าวถึงจิตที่เป็นวิถีจิต ส่วนจิตอีกประเภทหนึ่ง เป็นประเภทใหญ่ๆ คือจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารใดเลยในการรู้อารมณ์ เรียกว่า วิถีมุตตจิต
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 841
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 842
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 843
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 847
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 849
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 850
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 851
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 852
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 853
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 854
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 856
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 857
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 860
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 861
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 862
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 865
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 868
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 871
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 874
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 877
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 878
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 880
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 881
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 882
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 883
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 884
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 885
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 888
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 890
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 892
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 893
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 894
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 895
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 896
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 897
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 898
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 900