พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
ตอนที่ ๘๖๖
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ขณะนี้มีเสียงปรากฏ แล้วมีธาตุที่กำลังได้ยินเสียง ที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า ได้ยิน เราไม่รู้เลยว่า ที่ได้ยินต้องไม่ใช่เราแน่นอน อยู่ดีๆ จะมีเรา แล้วจะมีได้ยินเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ที่ได้ยินมี กำลังมี ได้ยินกำลังมี เสียงกำลังมี เพราะฉะนั้นในขณะที่เสียงปรากฏ ต้องมีได้ยิน ซึ่งได้ยินก็คือธรรม หรือสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คิด ไม่ใช่เห็น แต่กำลังรู้เสียง เฉพาะเสียงที่ปรากฏขณะนั้น มีเสียงปรากฏหรือไม่ เข้าใจได้เลย ใช่หรือไม่ ว่ามีได้ยิน และได้ยินก็คือสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดได้ยิน
นี่คือการฟังสิ่งที่มีจริง ที่เราใช้คำว่า จะศึกษาธรรม ต้องรู้ว่าธรรมมีจริงๆ ยากและลึกซึ้งที่จะเข้าใจความจริงว่า กำลังศึกษาสิ่งที่มีจริงให้ละเอียดขึ้น ว่าขณะนี้มีธาตุที่สามารถกำลังได้ยินเสียง เราหายไปหรือยัง ยัง เพียงแต่เริ่มรู้ว่า แท้ที่จริงในขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ยินเสียง ยากจริงๆ แม้แต่จะพูดถึงสิ่งที่มีจริง ก็ให้รู้ว่า เริ่มจากการที่รู้ว่า ไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงที่ได้ยิน กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เป็นเราหรือไม่ ธรรมต้องคิด ต้องไตร่ตรอง ได้ยินขณะนี้ เกิดขึ้นได้ยิน เป็นสภาพที่เกิดขึ้น ทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น นอกจากเกิดขึ้นแล้วได้ยินเท่านั้น เดี๋ยวนี้ที่กำลังได้ยิน เป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วได้ยินเท่านั้น ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่คิด ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก่อน ไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมเลย ไม่มีทางที่รู้จักธรรมเลย เพราะแม้แต่เริ่มต้น ก็เป็นสิ่งซึ่งเราไม่คิดว่า ศึกษาธรรมก็คือ ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงขณะนี้ให้เข้าใจขึ้น ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง แค่นี้เริ่มต้น
อ.คำปั่น เริ่มต้นฟังในสิ่งที่มีจริง ในชีวิตประจำวัน ธรรมไม่พ้นจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ก็เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น ก็คือสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมด ถ้าใส่ชื่อก็คือเป็นธรรม แต่ว่าแม้จะไม่ใส่ชื่อ ความเป็นจริงของธรรม ก็ไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ตอนนี้รู้แล้ว ว่า เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง เห็นแล้วชอบสิ่งที่เห็นหรือไม่ เห็นแล้วไม่ชอบสิ่งที่ปรากฏบ้างหรือไม่ มีจริงอีกแล้ว ใช่หรือไม่ ชอบก็มีจริง ไม่ชอบก็มีจริง ไม่ใช่มีแต่เห็น เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่ชอบ เห็นเป็นเห็น ไม่ใช่ไม่ชอบ และชอบก็ไม่ใช่ไม่ชอบด้วย แต่ชอบก็มีจริง ไม่ชอบก็มีจริง เพราะฉะนั้นชอบ ไม่ชอบ ไม่ใช่เห็น แล้วชอบ ไม่ชอบก็ไม่ใช่ได้ยิน แต่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วจึงชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏ แม้ในขณะนี้เอง เพราะฉะนั้นให้เห็นความหลากหลายของสิ่งที่มีจริงว่า เห็นไม่ใช่ชอบ และเห็นก็ไม่ใช่ไม่ชอบ เห็นเป็นเห็น เท่านั้น เพราะฉะนั้นความต่างกันก็คือว่า บางครั้งเห็นแล้วชอบ แต่เห็นเป็นเห็น บางครั้งเห็นแล้วไม่ชอบ เพราะฉะนั้นชอบและไม่ชอบ ต้องไม่ใช่เห็น ชอบไม่ชอบก็คือสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดกับจิต ถ้าจิตไม่เกิด ธาตุรู้ไม่เกิด จะชอบอะไรได้
เพราะฉะนั้นที่จะใช้คำว่า จิต ไม่ใช่รีบร้อนที่จะพูดเรื่องจิตว่าเป็นจิต หรือเจตสิกว่าเป็นเจตสิก แต่ชีวิตประจำวันไม่ต้องเรียกชื่อเลย มีเห็น และหลังจากเห็นแล้ว ก็ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง รับประทานอาหารมีรสต่างๆ และก็ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง อร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง ทั้งหมดเป็นธรรม ซึ่งหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นธรรมประเภทที่เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ไม่เหมือนกับสิ่งที่ไม่รู้อะไร ก็มี ๒ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว อย่างหนึ่ง เป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ลักษณะ รู้แจ้ง เพียงเกิดขึ้น อย่างได้ยินขณะนี้ เสียงเป็นอย่างไร ไม่สงสัยเลย เพราะเหตุว่าขณะนั้นกำลังได้ยินเสียงนั้น ไม่ใช่เสียงอื่น
เพราะฉะนั้นเวลาเห็นอะไรก็ตาม ไม่สงสัยว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่ากำลังเห็นสิ่งนั้นชัดเจน ด้วยเหตุนี้สภาพที่เห็น สภาพที่ได้ยิน คือสภาพที่กำลังรู้แจ้ง ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้นเป็นจิตเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ขณะเห็นเดี๋ยวนี้เป็นจิต ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อย่างอื่น แต่เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น แล้วรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
นอกจากนั้นแล้ว สภาพรู้อื่นๆ เป็นเจตสิกทั้งหมด ไม่ยากแล้ว ใช่หรือไม่ ขณะใดก็ตามที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ เพราะมีธาตุที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งนั้น เฉพาะสิ่งนั้นเท่านั้น นั่นคือจิต แต่ลักษณะอื่นทั้งหมด ความขยัน ความง่วงนอน หรืออะไรในชีวิตประจำวันที่เรากล่าวถึงเป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต โดยจิตเกิดขึ้น แล้วรู้แจ้งลักษณะที่ปรากฏเท่านั้น แต่ว่าเจตสิกทั้งหลายในชีวิตประจำวัน เกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต เพราะเหตุว่าไม่ใช่ธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง
อ.คำปั่น ท่านอาจารย์กำลังกล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกในชีวิตประจำวัน โดยไม่ได้เรียงตามตัว แต่มุ่งให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างในเรื่องของ ความชอบหรือไม่ชอบ เป็นธรรมที่มีจริงๆ เมื่อวานถ้าใครได้ฟังการสนทนาพระสูตร ก็จะมีข้อความหนึ่งที่ได้ฟังจากท่านอาจารย์ว่า โลภะเกิดก็ชอบโน่นชอบนี่ โทสะเกิดก็โกรธโน่นโกรธนี่ และขณะที่อกุศลเกิด ก็จะมีอวิชชาตามมาด้วย ก็เป็นการกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน
ทั้งหมดเป็นธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีเราเลย มีแต่ธรรมเท่านั้น ก็ขออนุญาตกราบเรียนท่านอาจารย์อีกต่อไปครับ เพราะว่าจริงๆ แล้วในการฟัง ในการศึกษาพระธรรม ส่วนใหญ่ก็จะไม่พ้นไปจากการมีชื่อ มีคำขึ้นมา แล้วศึกษาธรรมที่จะไม่เป็นการเพลิดเพลินไปกับชื่อ ไปกับเรื่องราว จะเป็นในลักษณะอย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ากำลังฟัง เรื่องสิ่งที่มีจริง โดยไม่มีชื่อ แต่ว่าใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงสิ่งไหนที่มีจริงๆ เพราะว่าสิ่งที่มีจริงหลากหลายมาก อย่างโกรธไม่ได้หมายความถึงเห็น จำเป็นต้องใช้ชื่อ ให้รู้ว่าคำนี้หมายถึงลักษณะใด ถ้าพูดถึงเห็น ก็ไม่ใช่ขยัน ใช่หรือไม่ เห็นก็เป็นเห็น เพราะฉะนั้นใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่าในชีวิตประจำวันจริงๆ อะไรบ้างมีจริงๆ และสิ่งที่มีจริงก็เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ต้นไม้ใบหญ้า ซึ่งไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึกเลย
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่รู้ ก็มีสองอย่างคือ จิตและเจตสิก ใช้คำบางทีก็รวบรัด บางทีก็พูดถึงเรื่องอื่นให้เข้าใจจริงๆ ว่าที่ใช้จิต ต้องเข้าใจเดี๋ยวนี้ ว่าจิตคือกำลังเห็นจริงๆ ธาตุที่เห็นเท่านั้น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น และรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่เห็น ธาตุนั้นคือที่เราใช้คำว่า มโน มนัส หทยะ อะไรก็ได้ แต่หมายความถึง ธาตุที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ เพราะมีธาตุที่กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏ เสียงกำลังปรากฏ เพราะมีธาตุที่กำลังรู้เฉพาะเสียงนั้นที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เสียงอื่น
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ อะไรปรากฏบ้าง มากมาย แต่มีใครรู้บ้างว่า อะไรที่ทำให้สิ่งนั้นปรากฏ ถ้าไม่มีจิต อะไรก็ปรากฏไม่ได้เลย แต่ที่ทุกอย่างปรากฏ ลืมจิต ซึ่งเป็นธาตุที่กำลังรู้เฉพาะแต่ละอย่างที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ มีโลกภายนอก กับโลกภายใน โลกภายนอกกำลังเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ โลกภายในคือจิต เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แล้วก็สภาพธรรมที่จำก็มีจริงๆ ถ้าไม่จำก็จะไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ธรรมละเอียดมาก ละเอียดยิบ ไม่มีใครมองเห็นเลย เห็นแต่สิ่งที่เป็นผล ผลงานก็ได้ ผลผลิตก็ได้ของจิตและเจตสิก แล้วแต่ว่าอะไรจะปรากฏ เพราะถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่มี ไม่ปรากฏว่ามี เพราะจิตเห็นไม่ได้เกิดขึ้น ขณะนี้ ถ้าเสียงไม่ปรากฏ ก็แสดงว่าจิตไม่ได้ยิน เสียงนั้นจึงไม่ได้ปรากฏ แต่ขณะใดที่เสียงปรากฏโลกภายนอก เพราะจิตเป็นธาตุที่กำลังได้ยินเฉพาะเสียงนั้น นี่คือ ธรรมเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ซึ่งฟังแล้วก็จะเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เราแน่นอน เพราะจิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินแล้วดับ จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เพียงเกิดขึ้นและดับไป เป็นอะไร เป็นเราหรือ ไม่กลับมาอีกเลย กลับมาไม่ได้ จะย้อนกลับไปสักหนึ่งขณะก็ไม่ได้ จะย้อนกลับไปถึงชาติก่อนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าแต่ละหนึ่งขณะเกิดจริง ดับและก็ไม่กลับมาอีกเลย นี่คือความจริงของชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่เกิดมาแล้วก็ตาย แต่แม้เกิดมายังไม่ตาย สภาพธรรมก็เกิดดับสืบต่อ เปลี่ยนแปลงทุกวัน และทุกขณะ เสียงเมื่อสักครู่นี้ ไม่มีแล้ว เกิดอีกแล้ว หมดไปอีกแล้ว เปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ นี่คือความจริง
เพราะฉะนั้นก็จะเริ่มเข้าใจได้ ก็คือที่เราเรียกว่า ชีวิตก็เกิดแล้วก็ดับสืบต่อ ไม่มีระหว่างคั่นเลย แม้จากโลกนี้ไปแล้ว ก็เกิด เพราะว่าไม่ใช่เรา แต่ธาตุนี้เกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตซึ่งเกิดแล้วอีกประเภทหนึ่ง อีกขณะหนึ่ง ไม่ใช่ซ้ำกัน เกิดขึ้นและดับไปสืบต่อ
อ.คำปั่น ไม่พ้นจากขณะนี้เลย ธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ไม่ขาดสายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ คือจิตกับเจตสิก
ท่านอาจารย์ บางคนก็บอกว่า ทำไมต้องพูดบ่อยๆ ซ้ำไปทุกวันเลย ก็เพื่อให้รู้จักจิต ไม่ใช่เพียงแค่ให้ฟังคำว่า จิต แต่เพื่อให้รู้จักจิตเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น จิตเดี๋ยวนี้ที่ได้ยิน จิตเดี๋ยวนี้ที่รู้แข็ง แข็งจึงปรากฏ เวลาแข็งปรากฏ ลืมอีกแล้ว ว่ามีธาตุรู้เกิดขึ้นรู้แข็ง ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นพูดบ่อยๆ เพื่อที่จะให้รู้จักจิตในขณะที่กำลังมีในขณะนี้ มิฉะนั้น ไม่มีหนทางเลย อ่านเรื่องจิตไปตั้งหลายเล่ม จบไปแล้วจิตประเภทต่างๆ แต่ก็ไม่ได้เกิดความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นจิต ซึ่งกำลังรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏ รู้แจ้งลักษณะนั้นทีละหนึ่ง
เพราะฉะนั้นก็มีผู้ที่จำได้ รูปร่างสัณฐาน และตอบว่า เห็นอะไร เพราะว่ารู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าไม่ใช่จิตเท่านั้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะจิตไม่จำ จิตไม่ชอบ จิตไม่ชัง จิตเกิดขึ้นรู้เท่านั้นเอง จำได้เลย จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ทั้งหมดเป็นเจตสิกที่เกิดพร้อมจิต เดี๋ยวนี้ คราวหน้าพูดอีก ได้หรือไม่ จนกว่าจะรู้จักจิต ซึ่งกำลังเห็นบ้าง กำลังได้ยินบ้าง กำลังรู้แข็งบ้าง กำลังคิดนึกบ้าง ไม่ขาดจิตเลยตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ชาติก่อนนานมาแล้ว จิตเกิดและดับไป
ถ้าจะกล่าวถึงจิตโดยละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสถึง ๓ อนุขณะ คือขณะย่อย ว่าจิต แม้เกิดดับอย่างเร็วสุดที่จะประมาณได้ แต่ขณะเกิดก็ไม่ใช่ขณะดับ นี่คือความละเอียดอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นขณะเกิด ภาษาบาลีใช้คำว่า อุปปาทขณะ ขณะดับก็เป็นภังคขณะ แล้วระหว่างที่เกิดกับดับ ยังมีขณะซึ่งไม่ใช่เกิด ไม่ใช่ดับด้วย ขณะนั้นก็เป็นฐิติขณะ นี่คือหนึ่งขณะของจิต ซึ่งเกิดดับอย่างเร็ว แต่ก็ยังสามารถที่จะกล่าวถึงความต่างกันของขณะเกิด ขณะดับ และขณะที่ไม่ใช่เกิด ไม่ใช่ดับ เพราะทรงแสดงความละเอียดยิ่ง ว่ารูปซึ่งเกิดเพราะจิต เกิดในขณะไหน หรือรูปขณะนี้ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเราแต่ละประเภทเกิดขณะไหน
นี่ก็เป็นเรื่องที่รู้ได้ เข้าใจได้ เมื่อมีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่ง ก็คือว่าทุกคนอ่านได้ ทุกคนฟังได้ แต่ทำไมเข้าใจไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันและก็ต่างกัน เพราะเหตุว่าแต่ละคำ บางคนไม่พิจารณา ผ่านไปเลย จิตเข้าใจแล้ว เป็นธาตุรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูก ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ เข้าใจแล้ว ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีการไตร่ตรอง พิจารณา แต่ละคำให้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ถึงความเป็นสภาพธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยทั้งสิ้น เพียงมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก
เพราะฉะนั้นความเข้าใจลักษณะของจิต จะมีมากและกว้างขวาง เช่นแสดงโดยความเป็นอายตนะ แสดงให้เห็นว่าจิตเกิดเองไม่ได้ แต่ต้องมีปัจจัย และต้องมีสภาพธรรมอื่น ในขณะที่จิตหนึ่งเกิดขึ้น เช่นจิตเห็น เพราะขณะนี้กำลังเห็น ก็กล่าวถึงเห็น เพื่อที่จะให้ค่อยๆ สะสมความมั่นคง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไปเรื่อยๆ มั่นคงขึ้น เพราะว่าจะเป็นที่จะสละการยึดถือสภาพเห็นว่าเป็นเรา ยากมาก ทั้งๆ ที่มีเห็นอยู่ตลอดเวลา แต่ความรู้ความเข้าใจไม่พอ
เพราะฉะนั้นต้องฟังแล้ว ฟังอีก แล้วก็เข้าใจค่อยๆ เพิ่มขึ้นโดยไม่ลืม และเข้าใจมั่นคงขึ้น เช่นเห็นขณะนี้เกิด แต่ถ้าไม่มีตา จักขุปสาทะ ไม่มีสิ่งที่กระทบตาได้ จิตจะเกิดขึ้นเห็นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นตาต้องมี ยังไม่ดับ สิ่งที่กระทบตาได้ คือที่กำลังปรากฏขณะนี้ ต้องยังไม่ดับ จิตที่เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ยังไม่ดับพร้อมเจตสิก ต้องมีในขณะนั้น ที่ยังไม่ดับ นี่คือความหมายของอายตนะ สืบต่ออย่างไร ทันทีที่ดับไป ก็มีอายตนะใหม่ เกิดดับสืบต่อทุกขณะไม่ขาดเลย ฟังไปเรื่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ สะสมความเห็นถูกไปเรื่อยๆ เพื่อค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า การที่จะรู้ความจริง สามารถที่แทงตลอดเมื่อปัญญาหรือความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ถ้ายังไม่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ฟังแต่ชื่อ จำแต่ชื่อ คิดแต่ชื่อ แต่สิ่งที่กำลังปรากฏ ยังไม่ได้เริ่มเข้าใจเลย นั่นก็คือว่ายังไม่ถึงกาลที่สามารถจะรู้ว่า สิ่งที่กำลังกล่าวถึงเวลานี้ อยู่ที่ไหน
พูดถึงเห็น คิดเรื่องอื่น เห็นอยู่ไหน ไม่ได้อยู่ที่เห็นเลย ความเข้าใจไม่ได้อยู่ที่เห็นเลย พูดถึงความสงสัย ความสงสัยอยู่ที่ไหน ไม่ได้รู้ตรงความสงสัย ซึ่งอยู่ที่ขณะที่กำลังสงสัย เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะพูดถึงอะไร ไม่ได้รู้เฉพาะตรงที่ๆ กำลังพูดถึง อย่างพูดถึงได้ยิน กำลังคิดเรื่องอื่น ใช่หรือไม่ ไม่ได้รู้ตรงได้ยินที่ได้ยิน แล้วจะรู้จักได้ยินได้อย่างไร นอกจากรู้ว่า มี มีจริงๆ ได้ยินจริงๆ เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ว่า อยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ตรงไหน พูดถึงเห็น เห็นอยู่ตรงนี้ คือตรงเห็น ได้ยินอยู่ไหน หาไป ได้ยินก็อยู่ตรงนี้ ที่กำลังได้ยิน เมื่อไรจะเป็นอยู่ตรงนี้ทั้งหมด นั่นคือกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่กล่าวถึง เพราะอยู่ตรงนั้นเท่านั้นจริงๆ นี่คือการที่จะฟังธรรม แล้วก็ไม่เบื่อที่จะรู้ว่า ยังไม่รู้ ถึงจะฟังซ้ำแต่ความคิดเพิ่มขึ้น การไตร่ตรองเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นเหตุที่ทำให้ฟังด้วยกัน แต่คนหนึ่งเข้าใจน้อย อีกคนหนึ่งเข้าใจมาก ก็เพราะเหตุว่าคนที่เข้าใจน้อย ไม่ได้คิดถึงธรรมที่กำลังปรากฏ ที่กำลังมีจริงๆ ในขณะที่กำลังฟัง เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ความเข้าใจทั้งหมดที่เกิดจากการฟัง ก็ต้องรู้ด้วยว่า ไม่ได้ฟังถึงสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แต่กำลังมีจริงๆ แต่ฟังแล้วก็ยังไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่มี เพราะไม่ได้รู้ตรงที่มี แต่ถ้าเข้าใจแล้ว อยู่ที่นี่ๆ ๆ ทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ตอนนี้อยู่ที่นี่หรือไม่ แต่ละหนึ่ง ไม่ใช่เราทั้งตัวอยู่ที่นี่ แต่ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เห็นก็ต้องอยู่ตรงเห็น ได้ยินก็ต้องอยู่ตรงได้ยิน จะไปอยู่ที่อื่นได้อย่างไร
อ.คำปั่น กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างยิ่งที่ได้กล่าวถึงความละเอียดลึกซึ้งของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เพราะเวลาฟังพระธรรม ฟังความจริง ก็ฟังสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาพระธรรม ก็จะไม่พ้นไปจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจเลย ไม่พ้น ๖ ทางนี้เลย เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็ฟังซ้ำๆ ๆ ๆ เพื่อประโยชน์ก็คือความมั่นคงในความเป็นจริงของธรรม ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
จากที่ได้เริ่มศึกษาพระธรรมก็เข้าใจว่า ธรรมไม่ได้อยู่ในตำราเลย ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่มีจริงๆ ในขณะนี้ ธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่ง่ายและก็ไม่สั้นด้วย เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมากทีเดียว จุดประสงค์ทั้งหมดที่พระองค์ทรงแสดงธรรมก็คือ เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้สัตว์โลก ได้เข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจธรรมนั้นก็คือ ค่อยๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
อ.กุลวิไล พระธรรมที่ทรงแสดง แสดงความจริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริง ก็ไม่พ้นธรรมที่มีในขณะนี้ สภาพธรรมทั้งหมด ไม่ได้อยู่ในตำราแน่นอน คือชีวิตจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเราเรียนรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ จนกว่าที่เราจะรู้ตามความเป็นจริงได้ แต่ขั้นสะสมความเห็นถูกนี้สำคัญมาก เพราะว่าขั้นฟัง ก็ไถ่ถอนความเห็นผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็สะสมไป เพื่อความมั่นคงในความเป็นธรรม เพราะว่าตัวจริงของธรรมมีแน่นอน แม้แต่แข็ง แข็งก็มีจริง ถ้าไม่พูดถึงแข็ง ทุกท่านคงไม่คิดถึงแข็งแน่นอน ทั้งๆ ที่แข็งก็มีจริง ที่กายเราก็ต้องมีรูปที่ปรากฏได้ ไม่พ้นรูป ๓ รูปคือ ธาตุดิน อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟ เย็นหรือร้อน ธาตุลม ตึงหรือไหว นี่คือความจริง แล้วแข็งนี่หรือคือเรา แข็งเป็นแข็ง แข็งที่ตัวก็มี แข็งที่รูปภายนอกก็มี เพราะฉะนั้นนี่คือการสะสมความเห็นถูกนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราก็ยึดถือธรรมที่มีในขณะนี้ ว่าเป็นเรา แต่พระธรรมที่ทรงแสดง จริงถึงที่สุด ถ้าจริงถึงที่สุดแล้ว จะมีเราตรงไหน ก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทีละหนึ่ง
อ.คำปั่น ยิ่งฟังก็ยิ่งละเอียด สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม่มีจริง
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 841
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 842
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 843
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 847
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 849
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 850
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 851
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 852
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 853
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 854
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 856
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 857
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 860
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 861
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 862
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 865
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 868
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 871
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 874
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 877
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 878
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 880
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 881
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 882
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 883
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 884
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 885
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 888
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 890
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 892
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 893
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 894
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 895
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 896
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 897
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 898
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 900