พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
ตอนที่ ๘๖๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
อ.คำปั่น ยิ่งฟังก็ยิ่งละเอียด สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม่มีจริง เพราะว่ามีจริงทุกขณะ แล้วทุกขณะที่ว่านี้ ก็คือทุกขณะในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยปราศจากธรรมเลย ก็ขอต่อเนื่องอีกสักประเด็นหนึ่ง
อาจารย์ธิดารัตน์ครับ วันนี้ก็เริ่มต้นกับคำว่า เจตสิก แต่ก็มีการกล่าวถึงธรรม ละเอียด ทั้งจิตบ้าง ทั้งรูปบ้าง ได้ฟังท่านอาจารย์ยกตัวอย่าง เรื่องของเจตสิก อย่างเช่นความชอบ ความไม่ชอบ ความขยัน ความรู้สึก เป็นต้น ก็อยากจะให้อาจารย์ธิดารัตน์ ได้ยกตัวอย่างสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกในชีวิตประจำวัน เพราะว่าบางคนอาจจะไม่คุ้นกับคำว่า เจตสิก ดูเหมือนจะเป็นคำใหม่ แต่จริงๆ เมื่อกล่าวถึงสภาพธรรมต่างๆ ก็จะตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แม้จะไม่ใช้ชื่อว่า เจตสิก ก็ตาม
อ.ธิดารัตน์ พูดถึงความรู้สึก ใช่หรือไม่ ส่วนใหญ่เราก็จะคิดว่าความรู้สึกเป็นเรา แต่จริงๆ ความรู้สึกที่จะใช้คำว่า ความรู้สึก ภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนา ใช่หรือไม่ แล้วก็มีหลากหลาย ขณะที่ชอบเป็นลักษณะของเจตสิกเหมือนกันที่ชอบ ชอบมาก ชอบน้อย หรือชอบเฉยๆ เพราะแม้ความชอบ ก็จะมีความรู้สึกที่สุขใจ ถ้าเราได้สิ่งที่น่าพอใจมากๆ ก็จะมีความสุขใจ ความสุขใจตรงนั้นคือ ความรู้สึก หรือว่าโสมนัสนั่นเอง หรือถ้าชอบธรรมดา ความรู้สึกก็เฉยๆ แต่ก็ยังเป็นความพอใจ ซึ่งเกิดกับความรู้สึก ซึ่งเป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งที่ใช้คำว่า เวทนาเจตสิก แล้วก็ที่มีประจำเลย คือ ความรู้สึกทุกข์กาย ไม่สบายกาย เรียกว่า ทุกข์กาย หรือว่าสบายๆ กายดี ก็สุขกาย ก็เป็นลักษณะของเวทนา
จำแนกเวทนาละเอียดก็มี ความรู้สึกดีใจ เสียใจ เสียใจแม้ความรู้สึกไม่สบายใจเพียงเล็กน้อย รู้สึกเหมือนกับประทุษร้ายใจโดยสภาพ ก็จะเป็นลักษณะของความรู้สึกที่ไม่สบายใจ ไม่สบายใจเป็นลักษณะที่ใช้ชื่อก็คือ โทมนัสเวทนา แล้วก็จะเกิดกับโทสะ เวลาโกรธจะไม่รู้สึกเลยว่า มีสภาพของความไม่สบายใจเกิดร่วมด้วย ก็จะรู้สึกโกรธ แต่จริงๆ แล้ว ขณะที่เดือดร้อนใจ หรือไม่สบายใจ นั่นก็คือลักษณะของความรู้สึก โทสะก็คือเจตสิก ความขัดเคือง ความขุ่นใจ จะเกิดร่วมกับความรู้สึกที่ไม่สบายใจ
อ.คำปั่น ก็ตรงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำใด ก็ไม่พ้นจากขณะนี้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็คือ ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายที่จะรู้ตามความเป็นจริง ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงของการสนทนาธรรม สนทนาธรรมก็คือการกล่าวตรงกัน การกล่าวในสิ่งที่มีจริง ให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน จึงจะเป็นการสนทนาธรรม เป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกยิ่งขึ้น จากที่ไม่เคยเข้าใจก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพิ่มพูนความเข้าใจ มั่นคงยิ่งขึ้น นี่คือประโยชน์ ของการสนทนาธรรม
ผู้ฟัง อะไรที่ทำให้ไปที่อื่น ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์ก็ย้ำตลอดเวลาว่า เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ เป็นอนัตตา แต่อยากทราบว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ที่อื่น เพราะท่านอาจารย์กล่าวถึงเดี๋ยวนี้ๆ ย้ำสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตลอด
ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณลองพูดคำว่า แข็ง
ผู้ฟัง แข็ง
ท่านอาจารย์ แล้วอยู่ที่ไหน กำลังพูดคำว่าแข็ง
ผู้ฟัง ถ้าใส่ใจแข็งก็กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้อยู่ที่แข็ง ในขณะที่พูดคำว่า แข็ง ใครก็ได้ลองพูดคำว่า แข็ง รู้อยู่ที่แข็งหรือเปล่า ขณะที่พูดคำว่า แข็ง
ผู้ฟัง ถ้าพูดคำว่า แข็ง ก็ต้องนึกคำว่า แข็ง
ท่านอาจารย์ มีแข็งปรากฏแน่ๆ ใช่หรือไม่ แล้วคุณอรวรรณก็พูดว่าแข็ง
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ แต่ขณะนั้น รู้ อยู่ที่แข็งหรือเปล่า
ผู้ฟัง บางทีก็นึกถึงบ้าง บางทีก็ไม่
ท่านอาจารย์ ปกติธรรมดา พูดคำว่าแข็ง พูดคำว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา พูดคำว่าเสียง พูดคำว่าเย็น รู้อยู่ที่ตรงนั้นหรือเปล่า
ผู้ฟัง ยัง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า การจะรู้ที่แข็ง ต้องเป็นความเข้าใจถูก ต้องเป็นความเห็นถูก ไม่ใช่อยากจะรู้ที่แข็ง ก็ไปรู้ที่แข็ง พอใครเขาบอกว่าแข็ง ก็จับแข็ง และก็ไปรู้ตรงแข็ง นั่นไม่ใช่ความเข้าใจถูก แต่ว่าเมื่อได้ยินได้ฟังว่า แข็ง มีแน่นอน ปรากฏด้วย แต่ปรากฏเมื่อไร เมื่อมีธาตุรู้ ที่ใช้คำว่าจิต เป็นใหญ่เป็นประธาน รู้ลักษณะตรงแข็ง ประการหนึ่ง เป็นธรรมดา ถามว่าแข็งหรือไม่ ก็ตอบว่าแข็ง ใครที่กระทบสัมผัสตรงแข็ง ก็บอกว่าแข็ง ความเข้าใจอยู่ที่ไหน ที่จะทำให้ไม่ไปที่อื่น แต่กำลังเข้าใจลักษณะนั้น เพราะได้ยินว่ามีจริงๆ ก็มีจริงๆ มีจริงๆ แล้วต้องไม่มีอย่างอื่นในขณะนั้นด้วย เพราะสิ่งนั้นเท่านั้นที่กำลังมีจริง
นี่คือการฟังพระธรรม ต้องไม่เผิน จึงสามารถที่จะเข้าถึงว่า นี่เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ คนอื่นก็รู้แข็ง แต่ในขณะที่คนอื่นกำลังรู้แข็ง ก็มีเห็น แล้วก็มีคิดอย่างอื่น ใช่หรือไม่ แต่ในขณะที่กล่าวคำว่าแข็ง แล้วก็มีแข็งกำลังปรากฏ ขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะที่แข็งหรือเปล่า ก็เปล่า แล้วทำไมถึงจะเข้าใจถูกในลักษณะของแข็งว่า เป็นเพียงแข็งที่ปรากฏ ก็ต่อเมื่อมีการฟังพระธรรมเข้าใจว่า ตลอดชาติก็มีแต่เพียงธรรมแต่ละหนึ่งๆ หลากหลายมากเกิดขึ้น และปรากฏชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็หมดไป เพราะในขณะที่แข็งปรากฏ เห็นก็มี ได้ยินก็มี คิดก็มี เพราะฉะนั้นปัญญาไม่ใช่เริ่มเข้าใจแข็ง ในขณะที่อย่างอื่นไม่ได้ปรากฏ
เพราะฉะนั้นความรู้ต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับของความเข้าใจด้วย แล้วก็ไม่ได้กะเกณฑ์ แต่ก็รู้ว่าถ้าจะรู้แข็งจริงๆ ต้องในขณะที่แข็งอย่างเดียวเท่านั้นที่ปรากฏ และก็มีความเข้าใจแข็งด้วย ว่าแข็งนั้นเป็นอื่นไม่ได้ เป็นแต่เพียงแข็ง เมื่อเป็นแต่เพียงแข็ง เป็นเราหรือ ทุกวันนี้มีเราแข็งตรงนั้นตรงนี้ทั้งนั้นเลย ใช่หรือไม่ แขนก็แข็ง นิ้วก็แข็ง ผมก็แข็ง เท้าก็แข็ง แข็งเป็นเราหมด แต่ความจริงกว่าจะรู้ว่า แข็งเป็นเพียงสิ่งที่มีจริง ซึ่งปรากฏแล้วก็หมดไป เหมือนอย่างอื่นทุกอย่าง เห็นก็เป็นอย่างนั้นคือ เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป เหมือนแข็งปรากฏความแข็งแล้วก็ดับไป แต่สืบต่อเร็วจนไม่ปรากฏแต่ละหนึ่งขณะ ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งนั้นสิ่งเดียวในขณะนั้น จิตหนึ่งขณะเกิดขึ้นจะรู้หลายๆ อย่างพร้อมกันไม่ได้ จิตเกิดขึ้นหนึ่ง ก็มีสิ่งที่ถูกจิตรู้หนึ่งในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตกำลังรู้แข็ง เฉพาะแข็งปรากฏ แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อเร็วมาก และไม่มีความเข้าใจว่า การรู้แข็งก็เพื่อรู้ว่า แข็งไม่ใช่เรา แล้วแข็งไม่ใช่ของเราด้วย แข็งจะเป็นอะไรไม่ได้เลย นอกจากเป็นแข็ง ความจริงเป็นแข็ง จิตกำลังรู้แข็ง แต่ปรากฏว่าปรุงแต่งจนเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ โดยไม่รู้หน้าที่การงานของจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ไม่หยุดเลย ก็ปรากฏเป็นทุกสิ่งทุกอย่างภายนอก เป็นโลกภายนอก แต่ว่าโลกภายในจริงๆ ก็คือ จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นจึงปรากฏได้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า พูดซ้ำ ฟังซ้ำ เพราะว่าความจริงก็คือ การรับรู้ ๖ ทาง ท่านอาจารย์จะย้ำมากว่า แล้วอยู่ตรงเห็นหรือยัง เพราะเห็นกำลังเกิด อยู่ตรงเสียง เสียงกำลังปรากฏ ตรงนี้เหมือนกับว่า ความจำที่จำไว้มั่นคงว่า ไม่ใช่แต่ละหนึ่งของสิ่งที่ปรากฏ ก็ทำให้ยังไม่น้อมตามที่ท่านอาจารย์ย้ำ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษาโดยละเอียดยิ่ง แข็งเป็นธาตุ แข็งเกิดดับเป็นขันธ์ ใช่หรือไม่ ถ้าไม่มีแข็ง รูปอื่นๆ ก็มีไม่ได้ กลิ่นอยู่ที่ไหน ก็อยู่ตรงแข็ง รสอยู่ตรงไหน ก็อยู่ตรงแข็ง ไม่มีแข็ง รสอยู่ไหน ก็ไม่มี กลิ่นก็ไม่มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีทั้งหมดนี้ อยู่ในความมืดสนิท เพราะความไม่รู้เลย ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟังความจริงของสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับไปอีกเลย ไม่เป็นของใคร ไม่เป็นใคร แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย
เพราะฉะนั้นสะสมความเห็นถูกว่า ก่อนเกิดมาในโลกนี้ จะรู้ไหม ว่าโลกนี้เป็นอย่างนี้ ถามสักคำหนึ่งว่าใครรู้ก่อน แล้วมาได้อย่างไร ใครพามาเกิดในโลกนี้ มาสู่โลกนี้ ไม่ไปสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ ไม่เกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ไปอยู่ในอบายภูมิ ไม่เกิดในนรก แล้วอะไรทำให้เป็นอย่างนี้ สู่โลกนี้ ซึ่งมองดูเหมือนธรรมดา พอใครเกิดมาก็เกิด แต่อะไรที่ทำให้เกิดในโลกนี้ ไม่เป็นที่อื่น และก็ไม่เป็นอย่างอื่นด้วย
เพราะฉะนั้นทุกอย่างเลย เป็นธรรมที่ละเอียดมาก แล้วทรงแสดงความจริงไว้ทุกอย่าง เพื่อให้เห็นความจริง จนกว่าจะรู้ว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม ทั้งหมดนี้เป็นธรรม คุณอรวรรณกำลังรู้สึกอย่างไรตอนนี้ เห็นหรือไม่ มีความรู้สึกก็บอกไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่ความรู้สึก
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นลองคิดดูว่า เดี๋ยวนี้ต้องมีความรู้สึกแน่ๆ ทุกครั้งที่มีจิตเห็น ธาตุรู้เกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตไม่ได้รู้สึก จิตเพียงรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ แล้วเจตสิกคือสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งก็รู้สึก เกิดขึ้นรู้สึกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเจตสิกกับจิตเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เป็นธาตุรู้ รู้สิ่งเดียวกัน ในภูมิที่มีรูป ก็เกิดที่รูปเดียวกัน ไม่ใช่แยกกันเกิด เพราะฉะนั้นธาตุที่กลมกลืนกันที่สุดก็คือจิตและเจตสิก อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ทำกิจการงานแล้วก็ดับไป จิตรู้จักเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่รู้จัก
ท่านอาจารย์ เจตสิกรู้จักจิตที่เกิดร่วมด้วยหรือไม่
ผู้ฟัง ก็ไม่รู้จัก
ท่านอาจารย์ แล้วเจตสิกรู้จักเจตสิกที่เกิดร่วมกันหรือไม่
ผู้ฟัง ก็ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ แต่ละหนึ่งเกิดขึ้นเป็นหนึ่ง แต่ว่าเกิดร่วมกัน เกิดดับพร้อมกัน เป็นธาตุ ซึ่งใครก็แยกออกจากกันไม่ได้ และขณะนี้รู้สึกอย่างไร ต้องมีความรู้สึกแน่ๆ แต่ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ ยากที่จะบอกได้ แต่ถ้าเป็นความรู้สึกสบายใจ หรือว่าความรู้สึกทุกข์ ไม่สบายใจ เห็นความเป็นสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เกิดจึงเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แม้ขณะนี้ก็คือความรู้สึกเฉยๆ ก็เกิดขึ้นเป็นเฉยๆ จะเป็นสุขไม่ได้ เป็นทุกข์ไม่ได้ แต่มี
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิด ไม่ใช่มีสภาพธรรมเดียว ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม รูปธรรมที่เกิดไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ทั้งสิ้น ก็ต้องมีธาตุที่เกิดร่วมกัน ที่เป็นใหญ่คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้าปราศจากธาตุทั้ง๔ นี่แล้ว อะไรๆ ที่เป็นสีสันวรรณะ เป็นเสียง เป็นกลิ่น พวกนี้ ก็มีไม่ได้เลย นั่นเป็นฝ่ายรูป
ทางฝ่ายนามธาตุ ธาตุรู้ ไม่มีใครไปบังคับให้มีธาตุรู้ชนิดนี้เกิดขึ้นกับจิตชนิดนั้น แต่ปัจจัยที่สะสมมา ที่จะทำให้จิตนั้นเกิด หรือเจตสิกนั้นๆ เกิดกับจิตนั้นๆ ก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งขาดไม่ได้เลยคือ ทุกครั้งที่มีธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิตเกิดขึ้น รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องมีความรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏนั้น เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ ไม่ใช่เราเลย แต่ต้องเกิด ต้องมีพร้อมจิตและก็ดับไปพร้อมจิต ภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนา ภาษาไทยก็สงสารมาก แต่ความจริงไม่ถูก เวทนาไม่ใช่ความสงสาร แต่เป็นความรู้สึก แล้วแต่ว่าจะรู้สึกเฉยๆ อย่างเดี๋ยวนี้บอกไม่ได้เลยว่ารู้สึกอะไร เพราะเฉยๆ แต่ถ้าสุขเกิดขึ้นบอกได้ ทุกข์เกิดขึ้นบอกได้ เจ็บเกิดขึ้นบอกได้ เพราะเจ็บคือทุกข์กาย ตรงข้ามกับสบาย ซึ่งก็เป็นสุขกาย เพราะฉะนั้นก็แยกเป็นกายและใจ แต่ต้องเป็นความรู้สึก ทั้งหมดนี้คือชีวิตประจำวัน ใครรู้หรือไม่รู้ จิต เจตสิกก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก
เพราะฉะนั้นการที่ได้พูดถึง สภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ในขั้นต้นเพื่อเข้าใจ การฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ต้องทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงก็คือ สิ่งที่มีจริงที่คนไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม ไม่เคยรู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ แล้วก็ดับไปแล้วก็ไม่กลับมาอีก เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ทรงแสดงให้คนอื่นเกิดความเห็นถูก เกิดความเข้าใจถูกว่า ที่ว่าเป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะไม่พ้นจากจิต เจตสิก รูป นิพพานยังไม่ถึง แต่มีจริงๆ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่า ธรรมลึกซึ้งและยาก ต้องหมั่นศึกษา
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ตรง ต้องจริงใจ และก็รู้ว่าเดี๋ยวนี้ ผู้ที่รู้ความจริงก็คือว่า สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรเลย ในขณะที่เห็น ต้องเป็นเพียงธาตุที่เกิดขึ้นเห็นแล้วดับ นั่นคือความจริง เพราะฉะนั้นปฏิปัตติ การเข้าถึงความจริงของสภาพธรรม ต้องอาศัยการฟัง จนกระทั่งเข้าใจอย่างมั่นคง ไม่ไปทำอย่างอื่นเลย นอกจากรู้ว่าขณะนี้ ทุกคนกำลังประพฤติตามที่เป็นไป เดี๋ยวนี้เลย ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องขยับเขยื้อนไปไหนด้วย จะเอื้อมมือไป ก็เอื้อมแล้ว จะทำอะไร จะพยักหน้าก็พยักแล้ว ก็ประพฤติตามที่เป็นไปตามที่สะสม
เพราะฉะนั้นปัญญาก็สามารถที่จะไม่ไปที่อื่น แต่ก็เริ่มรู้ว่า จะรู้ความจริงก็คือว่าตรงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดแล้ว ทันทีที่สติเกิดระลึกได้ ไม่ใช่เรา พยายามแล้วพยายามอีก จะไปนั่งอยู่ในที่มืดกี่วัน กี่เดือน ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจตั้งแต่ต้นอย่างมั่นคง ว่าขณะนี้มีสิ่งที่มีจริง ซึ่งเกิดเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น แต่ละหนึ่งๆ เกิดแล้วก็ดับไป แต่สืบต่อเร็วมาก เพราะไม่รู้ความจริง จึงยึดถือแต่ละหนึ่งนั้นว่าเป็นเรา เวลาเห็นก็ยึดว่าเราเห็น แต่เวลาไม่เห็นจะมายึดว่าเป็นเราเห็น ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เวลาได้ยิน ขณะที่ได้ยิน เราจริงๆ เลย ไม่ใช่คนอื่นได้ยิน จะไปยึดถือเห็นว่าเป็นเรา ได้หรือไม่ ในขณะที่กำลังได้ยิน
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นยึดถือในสิ่งที่มี ว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะนี้ที่กำลังปรากฏแล้วไม่รู้ ก็ไปยึดถือมานานเลย ว่าเป็นเราทั้งนั้นเลย เราจำได้ คนนี้ชื่ออะไร เราคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ตามที่เราคิดในขณะนั้น โดยที่ไม่รู้ว่า แม้คิดก็บังคับบัญชาไม่ได้ บังคับตัวเองให้คิดก็ไม่ได้ บังคับให้คนอื่นคิดก็ไม่ได้ แต่คิดเกิดตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป ยังไม่ต้องทำอะไรเลยทั้งสิ้น ประพฤติตามที่เป็นไป
เพราะฉะนั้นขณะนั้น ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคง ความเข้าใจที่มั่นคง ละความเป็นตัวตนในระดับหนึ่ง ซึ่งรู้ด้วยการเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ยังไม่ถึงระดับที่สามารถที่จะเห็นจริงๆ ว่า เห็นขณะนี้เพียงเห็นเท่านั้นที่มี อย่างอื่นไม่มีเลย ต้องทีละหนึ่ง
ผู้ฟัง ถามว่า แข็ง เป็นหนทาง ได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ เป็นหนทาง หมายความว่าอย่างไร
ผู้ฟัง เป็นทางที่จะระลึกสติปัฏฐาน ๔
ท่านอาจารย์ แข็งไม่รู้อะไรเลย แล้วจะเป็นทางได้อย่างไร
ผู้ฟัง จิตระลึกรู้ว่าแข็ง
ท่านอาจารย์ จิตรู้แข็ง เป็นกายวิญญาณ รู้อื่นไม่ได้ เกิดแล้วดับไปแล้ว ถ้าไม่มีใครรู้เลย ปัญญาไม่รู้แข็งเลย จะรู้หรือไม่ว่า แข็งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ตัวแข็งไม่ได้ทำอะไรเลย เกิดแล้วก็ดับ
ผู้ฟัง เริ่มต้นจากแข็ง แล้วก็ตึง ไหว ธาตุลม
ท่านอาจารย์ ความสงสัยมีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นอกุศล วิจิกิจฉา
ท่านอาจารย์ เรียกชื่อถูก ความสงสัยมีจริง แล้วคุณรักกำลังเข้าใจความสงสัย ในขณะที่กำลังสงสัยหรือเปล่า นี่คือยังไม่เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นเพียงคำถามนี้ก็แสดงว่า ยังไม่ได้เข้าใจธรรมว่า ในขณะที่ความสงสัยมีจริง กำลังเข้าใจลักษณะที่สงสัยหรือเปล่า เพราะเมื่อสักครู่บอกว่ามีจริง เมื่อมีจริง สิ่งนั้นเป็นอะไร นี่คือความลึกซึ้งของธรรม ที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจตามลำดับ ไม่ว่าจะพูดถึงชื่ออะไร พูดถึงสิ่งที่มีจริง แต่ใช้ชื่อ เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงอะไร เช่นกำลังสงสัย ความสงสัยมีจริง ความสงสัยเป็นอะไร
ผู้ฟัง ความสงสัยเป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ อกุศลเป็นอะไร นี่ก็คือว่าต้องตั้งต้นใหม่เลย ต้องให้มั่นคงจริงๆ ว่าสิ่งที่มี เป็นสภาพที่รู้อะไรหรือเปล่า หรือไม่ใช่สภาพที่รู้อะไร ดอกไม้สงสัยอะไร ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ โต๊ะสงสัย ได้หรือไม่
ผู้ฟัง สงสัยไม่ได้
ท่านอาจารย์ เก้าอี้สงสัย ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ปลาสงสัย ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ปลามีธาตุรู้
ท่านอาจารย์ มีทั้ง ๒ อย่าง นามธรรมก็มี รูปธรรมก็มี แต่ปนกันจนกระทั่งไม่ได้รู้ความจริงของแต่ละอย่าง จึงเกิดความสงสัย คนที่ไม่ฟังธรรมเลย หิวหรือไม่ หิว หิวเป็นสภาพรู้หรือไม่ใช่สภาพรู้ ต้องคิดกันแล้ว ใช่หรือไม่ เพราะว่ายังไม่ได้เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ไม่ประมาทแม้แต่เพียงคำเดียวที่ได้ยิน เมื่อสิ่งนั้นมีจริง ต้องพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เวลานี้มีธรรม ๒ ประเภทใหญ่ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นมีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ใช้คำว่า รูปธรรม รวมไปหมดเลย กลิ่นก็ไม่รู้ รสก็ไม่รู้ แข็งก็ไม่รู้ ทั้งหมดเป็นรูปธรรม นอกจากนั้นที่เกิดขึ้นก็ต้องเป็นนามธรรมต้องเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นหิวเป็นอะไร
ผู้ฟัง หิวก็เป็นสภาพรู้
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ท้องหิว เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจแต่ละคำ ไม่จำเป็นต้องมีใครมาบอกเราให้คิด แต่พอได้ยินและรู้ว่า ธรรมมี ๒ อย่างคือ นามธรรมหรือรูปธรรม ก็ไตร่ตรองด้วยตัวเอง ในลักษณะที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นว่าเป็นอะไร แล้วจะค่อยๆ เข้าใจว่า เราไม่ได้เรียกแต่ชื่อ แต่มีลักษณะจริงๆ ให้เข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมประเภทไหน หรือแม้ว่าไม่ต้องเอ่ยคำว่า นามธรรม รูปธรรมเลยเพียงรู้ว่ามีจริง เริ่มจากการว่าไม่ใช่เรา อย่างนี้ถูกต้อง
อ.คำปั่น สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แม้จะไม่ใส่ชื่อ สภาพธรรมเหล่านั้นก็มีจริงๆ คือสภาพรู้ ได้แก่ จิตและเจตสิก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า จิตเท่านั้นที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ ส่วนเจตสิกแม้จะเกิดร่วมกับจิต ก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้อารมณ์เหมือนอย่างจิต กราบเรียนอาจารย์ ได้กล่าวถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม เพื่อความเข้าใจธรรมถูกต้อง มั่นคงยิ่งขึ้น
อ.อรรณพ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานเท่านั้น เจตสิกก็เป็นสภาพรู้ที่เกิดกับจิต เกิดด้วยกัน ประกอบพร้อมเข้ากัน เราก็ต้องรู้สิ่งเดียวกัน จิตเห็นก็ต้องรู้สี เจตสิกที่เกิดกับจิตเห็น ก็ต้องรู้สี แต่เจตสิกแต่ละอย่างก็ทำหน้าที่แต่ละอย่าง ไม่ได้มาทำหน้าที่เป็นประธาน อย่างเช่นสภาพที่กระทบสี พร้อมกับที่จิตนั้นรู้ได้ ก็คือสภาพที่กระทบอารมณ์ ที่เกิดกับจิตแต่ละขณะ คือผัสสะ แม้คำว่า ผัสสะ ไม่มีใครจะมาบัญญัติ เพราะพระองค์ท่านทรงแทงตลอดในลักษณะสภาพธรรม อย่างเช่นผัสสะ ก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏกับพระญาณของพระองค์ท่าน ประดุจกับว่าผัสสะ ซึ่งมีอยู่ตลอด ทุกคนก็มีผัสสะ แต่ไม่มีใครรู้จักลักษณะผัสสะ แต่พระองค์ท่านทรงประจักษ์สภาพธรรมนี้ แล้วก็ตั้งชื่อ ที่ไม่มีใครจะมาตั้งได้ เพราะไม่มีใครรู้จักตัวผัสสะ แล้วจะไปตั้งชื่อผัสสะได้อย่างไร เวทนา ความจำอะไรต่ออะไรอีกมากมาย
เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพแต่ละอย่าง ซึ่งขณะนี้มี แต่ไม่รู้ แต่เท่าที่พอจะฟัง แล้วก็พอจะรู้ได้ ก็คือตามเหตุตามผล เป็นปริยัติ แต่ต้องเป็นจริงตามนั้น เพราะฉะนั้นธรรมไม่ใช่มีอยู่ในตำรา แต่ธรรมก็ไม่ใช่นอกตำรา เพราะธรรมเป็นความจริงตามตำรา คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพื้นฐานความเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก เป็นพื้นฐานอภิธรรม ที่จะทำให้เข้าใจในความเป็นจริงของความจริงที่กำลังปรากฏ และจะเป็นการที่ปรุงแต่งให้รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เรา เป็นใครที่จำ เป็นเรา แต่ความจำเป็นเจตสิก ไม่ใช่เรา เกิดกับจิต จิตไม่ได้จำ แต่สัญญาเจตสิกจำ ความรู้สึก อะไรอีกหลากหลายในชีวิต เป็นเจตสิกทั้งนั้น แต่วันนี้เราไม่ได้มาว่า จะศึกษาเจตสิก ๕๒ กัน เรียงกันมา แต่เป็นความเข้าใจพื้นฐานในธรรมที่มีจริงอย่างละเอียด ก็คือพื้นฐานอภิธรรม ในเรื่องของสภาพรู้หลัก และสภาพรู้ที่เกิดกับจิต
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 841
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 842
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 843
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 847
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 849
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 850
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 851
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 852
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 853
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 854
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 856
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 857
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 860
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 861
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 862
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 865
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 868
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 871
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 874
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 877
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 878
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 880
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 881
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 882
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 883
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 884
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 885
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 888
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 890
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 892
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 893
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 894
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 895
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 896
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 897
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 898
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 900