พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๖๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ บุญที่ได้สะสมไว้แต่ปางก่อน ทำให้มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง และได้เข้าใจต่อไป ว่าจากที่เคยไม่รู้เลย ว่าเห็นกับได้ยินพร้อมกันไม่ได้ สภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเห็น จะไปได้ยินไม่ได้ สภาพธรรมอย่างหนึ่งอาศัยเหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นได้ยิน เพราะฉะนั้นเสียงจึงปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ เสียงกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ได้ปรากฏพร้อมกันเลย ต้องค่อยๆ เข้าใจ กว่าจะละความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะต้องรู้เลย การฟังต้องฟังจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ยากแสนยาก เพราะเหตุว่าสภาพรูปไม่มีรูปร่าง ถ้าพูดถึงเสียง คนพอตอบได้ ใช่หรือไม่ ว่าเสียงนี่ไง กำลังได้ยิน เสียงเป็นอย่างนี้ เสียงสูงตอบได้ เสียงต่ำตอบได้ เสียงแหลมตอบได้ เสียงทุ้มตอบได้ เพราะเสียงมีลักษณะอย่างนั้นที่พอปรากฏให้รู้ได้

    แต่ธาตุรู้น่าอัศจรรย์ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น แต่เกิดขึ้นรู้ ไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้อย่างหนึ่งอย่างใด เช่นขณะที่กำลังเห็น รู้อะไร ไม่ใช่รู้อย่างที่เราคิดว่าต้องไปรู้เรื่องราวอะไร แต่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่นเลย นี่คือเห็น กับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ยังไม่ได้มีการคิดถึงรูปร่างสัณฐานว่าเห็นอะไร แต่ว่าต้องมีสิ่งหนึ่งซึ่งปรากฎให้เห็นจริงๆ เดี๋ยวนี้

    การฟังซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้ ก็เหมือนกับการย่ำเท้า ไม่รู้ตัวว่า ขณะที่กำลังย่ำเท้าแต่ละครั้ง ค่อยๆ กระเถิบไปทีละน้อย แต่ว่ากระเถิบยาก เพราะว่าเหนียวแน่นมาก ตรึงไว้มาก จนกว่าจะจะรู้เองว่า กว่าจะค่อยๆ เข้าใจ แล้วจะเข้าใจความหมายของคำว่า ค่อยๆ เข้าใจก็คือว่า ถ้าเข้าใจแล้ว อุปมาเหมือนคนที่มีความชำนาญในเสียงกลอง ในเสียงพิณ ถึงแม้ว่าไม่ได้ยินนานแสนนาน แต่เพราะความชำนาญมาก เสียงกลองปรากฏ ไม่สงสัยเลย นี่กลอง เสียงพิณปรากฏไม่สงสัยเลย นี่พิณ แต่ถ้าคนไม่รู้จักทั้งสองเสียง เอ๊ะ นี่เสียงอะไร ใช่หรือไม่ ก็ปะปนกัน หรือเสียงบางเสียงอาจจะคล้ายกันมาก เครื่องดนตรีบางอย่างก็คล้ายกัน ก็แยกไม่ได้ แต่ผู้ที่ชำนาญสามารถจะแยกได้ เพราะความรู้ ความเข้าใจ ความละเอียดของความจริงแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมขณะนี้ เหมือนซ้ำ ไม่พูดเรื่องอื่น แต่ถ้าเข้าใจขึ้นๆ ก็จะต่อไปถึงเรื่องอื่น ทีละเล็กทีละน้อย และก็จะมีคำใหม่ คำยาก ในภาษาบาลี ซึ่งเข้าใจแล้วในภาษาไทย เพียงแต่ไม่ได้ยกบาลีขึ้นมาบอกว่า นี่คือคำนี้ในภาษาบาลี หรือภาษามคธีเท่านั้นเอง อย่างเมื่อสักครู่นี้พูดถึงเห็น ต้องในขณะที่สิ่งที่กระทบตายังไม่ดับ จึงจะเห็นได้ ถ้าดับไปแล้ว เห็นได้หรือไม่ ไม่ได้

    จักขุปสาทะ รูปพิเศษ เฉพาะที่อยู่ตรงกลางตา ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน สามารถกระทบเฉพาะสิ่งที่ปรากฏ ถ้ารูปนั้นดับไปแล้ว จะทำให้เห็นเกิดขึ้นได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ สิ่งที่กระทบจักขุปสาทะยังไม่ดับ ตัวจักขุปสาทะก็ยังไม่ดับ ธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นที่ใช้คำว่า จิตกับเจตสิก คือนามธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดพร้อมจิต เป็นปัจจัยอาศัยกัน และกันให้จิตเกิดขึ้น ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันทุกครั้ง ในขณะนั้นก็ยังไม่ดับ จึงเป็นจิตที่กำลังเห็น แล้วดับ ทั้งหมดนี้ใช้คำว่า อายตนะ หมายความว่าที่ประชุม ที่รวมของสภาพธรรมที่ยังไม่ดับไป ทำให้เกิดการปรากฏเป็นเห็นหนึ่งขณะแล้วดับ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน

    นี่คือถ้าเราเข้าใจเบื้องต้นแล้ว เราค่อยๆ ต่อไปทีละเล็กทีละน้อย ด้วยความเข้าใจจริงๆ ในความละเอียดในความลึกซึ้ง ซึ่งต้องเป็นผู้ตรง ว่ากว่าจะเข้าใจ แม้แต่ธาตุรู้ ซึ่งกำลังเห็น แต่เคยเป็นเราเห็นมานานมาก แล้วอย่างไร แล้วเมื่อไร ถึงจะรู้ว่าเกิดขึ้นเห็นแล้วดับ เพราะฉะนั้นเป็นขณะนี้เอง ตรงเลย ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องคิดอะไร ตรงเห็นที่เห็นนี่แหล่ะ คือธาตุรู้ กว่าจะไม่มีตัวตนไปพยายามทำโน่นทำนี่ พยายามอย่างนั้นอย่างนี้ ให้รู้จักธาตุรู้ ก็เสียเวลา เพราะว่าจริงๆ แล้วจะไม่รู้จักธาตุรู้ โดยการพยายามไปทำอะไรขึ้นมารู้ แต่ความเข้าใจจากการฟัง รู้ว่าไม่ต้องทำ แต่ไม่คุ้นเคยกับธาตุรู้ จึงไม่รู้ว่าธาตุรู้เป็นอย่างไร แต่เวลานี้ที่กำลังเห็น ถ้าสามารถเข้าใจได้ ในการที่กำลังเห็น ขณะนั้นก็จะรู้ว่า เป็นลักษณะของนามธาตุหรือธาตุรู้

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ธาตุรู้มหัศจรรย์ ทำไมถึงกล่าวว่า ธาตุรู้มหัศจรรย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีธาตุรู้ อะไรจะปรากฏหรือไม่

    อ.อรรณพ ไม่มีอะไรปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นวุ่นวายกันทั้งโลก ไม่ว่าจะกี่โลก ทั้งในนรก บนสวรรค์ หรือที่ไหนที่ใดๆ ก็ตาม เพราะมีธาตุรู้ ไม่มีธาตุรู้เสียเลย ดีหรือไม่

    อ.อรรณพ ยังอยากจะมีธาตุรู้อยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็มีต่อไป แล้วก็จะไม่รู้จักคำว่า นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องรู้ใดๆ เลย ไม่มีอะไรปรากฏ ให้กระทบกระเทือน ให้หวั่นไหว ให้เดือดร้อน ให้เกิดแล้วเกิดเล่า สุขบ้าง ทุกข์บ้างไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ข้อสำคัญคือหยุดยั้งไม่ได้เลย เมื่อเหตุยังมีก็ต้องไปต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

    เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ประโยชน์อะไร แต่พอคิดว่าเป็นเรา เป็นเขา ประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าเป็นเพียงสิ่งที่มีจริง เป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงาน และดับไป แล้วไม่กลับมาอีก และก็ไม่ใช่ใคร แล้วก็ไม่ใช่ของใคร เกิดมาทำไม ใช่หรือไม่ กว่าปัญญาจะถึงระดับที่รู้จริง ก็จะรู้ว่า ถ้าไม่ได้เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ได้ยินแต่ชื่อ ได้ยินแต่เรื่อง ได้ยินแต่คำพระอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พูดแต่ว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ แต่พึ่งเมื่อไร ไม่ได้พึ่งเลย เพราะพุทธะเป็นปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีความเห็นถูก ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น ไม่ใช่พระธรรมที่ทรงแสดง

    อ.คำปั่น คำว่า อารมณ์ ก็เป็นคำไทยแล้ว บาลีก็มีใช้อยู่สองคำ คือคำว่า อารัมมณะกับอารัมพนะ ขณะผู้ที่ได้ฟังก็ทำก็จะคุ้นกับคำนี้อยู่ตลอด เวลาที่มีการกล่าวถึงคำๆ นี้ ซึ่งก็มีความหมายว่า หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ สิ่งใดก็ตามที่ถูกจิตรู้ สิ่งนั้นเรียกว่า อารมณ์ อย่างเช่นขณะที่เห็น สิ่งที่ถูกเห็นก็คือสี สีนั่นแหละเป็นอารมณ์ของจิตเห็น นี่คือเป็นตัวอย่างที่กล่าวถึงคำว่าอารมณ์ ซึ่งเมื่อจิตเกิดขึ้น จะไม่ไปที่อื่นเลย นอกจากไปสู่สิ่งที่จิตรู้ ก็คือมีความหมายว่า อารมณ์ นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้เราก็ได้ฟังธรรม ค่อนข้างจะตามลำดับพอสมควร ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะเกิดโดยไม่อาศัยสิ่งที่ทำให้เกิดไม่ได้ เกิดลอยๆ ตามลำพังไม่ได้เลย ไม่ว่าอะไรที่กำลังปรากฏทั้งนั้น จะต้องมีสภาพธรรมที่อาศัย สนับสนุน เกื้อกูลทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ที่กล่าวแล้วก็คือว่า เห็น ต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิดเห็นหลายอย่าง ใช่หรือไม่ เช่นจักขุปสาทะ และก็สิ่งที่สามารถกระทบตา จิต และเจตสิต (นาทีที่ ๙.๑๒ เจตสิก) ในขณะนี้เกิดขึ้น

    พอได้ยินอย่างนี้ ก็รู้ว่าทุกอย่างต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ที่จะไม่อาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำว่าอารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ เพราะเหตุว่าจิตเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ใช่หรือไม่ เกิดมารู้แล้วไม่มีสิ่งที่ถูกรู้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามที่จิตกำลังรู้ ไม่เลือกเลย แม้นิพพานหรือแม้อะไรก็ตามแต่ที่จิตรู้ ขณะนั้นจิตมีสิ่งนั้น เฉพาะสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ พูดอย่างนี้แล้ว ใช่หรือไม่ เติมคำว่าปัจจัยลงไปได้เลย ถ้าไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ จิตเกิดได้หรือไม่ ไม่มีสิ่งที่กระทบตาให้เห็น จิตเห็นเกิดได้หรือไม่ ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจิตเห็นจะปราศจากสิ่งซึ่งกระทบตา ปรากฏให้เห็นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จิตรู้ ใช้คำว่า อารมณ์ เติมคำว่าปัจจัยลงไป ก็เป็นอารัมมณปัจจัย เดี๋ยวนี้ทางตา ทางตาอะไรเป็นอารัมมณปัจจัย ก็สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ใช่หรือไม่ แต่ว่าอีกภาษาหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจภาษาไทย ภาษาของเราที่คุ้นหูตั้งแต่เกิด จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็ทำให้ไม่มีอะไรมาขัดขวาง แต่ถ้าใช้คำภาษาอื่นทันที เอ๊ะ อะไร หมายความว่าอะไร

    อย่างบางคนธรรมคืออะไร ก็เพราะไม่รู้ว่า ธรรมคือเดี๋ยวนี้เอง สิ่งที่กำลังมีจริงๆ นี่แหละ แต่พอได้ยินแล้ว ได้ยินคำนี้ไม่รู้จัก ก็ถามว่าธรรมคืออะไร พอได้ยินอย่างนี้ เราก็จะเข้าใจได้ว่า ทุกอย่างอะไรที่เป็นปัจจัย ทำให้ธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นเองเป็นปัจจัย ปราศจากสิ่งนั้นไม่ได้ โกรธมีหรือไม่ เกิดเองได้ไหม ถ้าไม่มีจิต โกรธได้ไหม และถ้าไม่มีอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โกรธได้หรือไม่ ไม่ได้ ใช่หรือไม่ โกรธเป็นเหตุหนึ่ง ซึ่งทำให้จิตปกติไม่โกรธ เกิดเป็นจิตที่ประกอบด้วยความโกรธ

    เพราะฉะนั้นโกรธนี้ เป็นเหตุปัจจัย เป็นโทสเหตุ เพราะเหตุจริงๆ จะมี เหตุทางฝ่ายอกุศล โลภเจตสิกหนึ่ง โทสเจตสิกหนึ่ง โมหเจตสิกหนึ่ง คุ้นหูใช่หรือไม่ เอาสิ่งที่เราคุ้นแล้วมาพูดให้เข้าใจเท่านั้นเอง โดยความละเอียดขึ้น โดยความเป็นธรรม นี่เป็นเหตุทางฝ่ายไม่ดี ถ้าเหตุทางฝ่ายดีก็เป็นเจตสิก สภาพธรรมซึ่งปรุงแต่งจิต ทำให้จิตเปลี่ยนสภาพจากประเภทหนึ่งเป็นอีกประเภทหนึ่ง ถ้าขณะนั้นเจตสิกที่ไม่โลภ คืออโลภเจตสิก ขณะนั้นไม่โกรธ คืออโทสเจตสิกเกิด ขณะนั้นปัญญาคืออโมหเจตสิกเกิด เป็นเหตุให้จิตประกอบด้วย สภาพที่เป็นเหตุหนึ่งเหตุใด หรือว่าสองเหตุ หรือว่าสามเหตุ ก็แล้วแต่ประเภทของจิต เพราะฉะนั้นก็เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ว่าเป็นเหตุปัจจัย

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วทั้งหมด การฟังธรรมคือเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นก็สามารถจะมีความละเอียดที่เข้าใจว่าเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นจิตประเภทต่างๆ จิตโกรธ หรือเราโกรธ ความจริงจิตประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุโกรธ ไม่ใช่เหตุอื่น ใช่หรือไม่ ก็คือการฟังธรรมเข้าใจ แล้วคิดเอง แล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วค่อยๆ คลายความไม่รู้ ว่าไม่มีเรา ตรงกับที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ใครเปลี่ยนแปลงความจริงนี้ได้

    ต้องเข้าใจว่า อนัตตาก็คือไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง เป็นแต่ละหนึ่งที่ละเอียดยิบ ที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ เวลานี้เห็นดอกไม้ทั้งดอก แยกออกให้ละเอียดยิบได้ เพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกอยู่ ที่ละเอียดถึงที่สุดก็คือ ไม่ใช่รูปเดียวต้องอาศัยกันเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คือธาตุเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ซึมซาบหรือเกาะกุม จริงๆ แล้วก็คุ้นหูกันทั้งนั้น เกือบจะไม่ต้องพูดอะไร แต่ก็พูดประกอบ เพื่อให้เห็นความลึกซึ้งว่า ถ้าอยากจะเข้าใจธรรมลึกซึ้ง ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังมี ที่กำลังปรากฏ และเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยๆ ในภาษาของตนก่อน แล้วถึงจะรู้ว่า ถ้าเป็นอีกภาษาหนึ่งก็ตรงกัน เช่นถ้าลักษณะใดก็ตามที่อ่อนหรือแข็ง ซึ่งเป็นภาษาไทย ภาษาบาลีก็เป็นปฐวี แล้วก็เป็นธาตุ ก็คือว่าอยากรู้ละเอียดก็ฟังต่อไป ก็จะละเอียดขึ้น และก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจ และกว่าจะละ ดับการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ซึ่งเพียงเกิดขึ้น และดับไป ก็จะทำให้มีธรรมเป็นสรณะ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ มิฉะนั้นแล้วพูดแล้วก็ไม่ได้อาศัยเลย ไม่ได้พึ่งเลย เพียงแต่พึ่งว่าอาศัย แต่ความจริงถ้าไม่มีปัญญา ไม่ใช่พระพุทธศาสนา

    อ.อรรณพ ความตรง ก็คือความเป็นเหตุเป็นผล ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวมานานแล้ว แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ เมื่อมีความพิจารณาว่า ถ้าไม่เป็นผู้ตรง จะไม่ได้รับสาระอะไรจากพระธรรม

    ท่านอาจารย์ มีสองคำ ไม่ใช่คำเดียว คือเหตุคำหนึ่ง แล้วก็ผลคำหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงเหตุ ก็หมายความว่า นำมาซึ่งผล หรือสามารถที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นได้ ส่วนผลไม่ใช่เหตุ เกิดเป็นผลแล้วก็ไม่ได้เป็นเหตุที่จะให้เกิดอะไรต่อไป ด้วยเหตุนี้ ธรรมไม่ลืม ศึกษาให้เข้าใจเดี๋ยวนี้ มิฉะนั้นแล้วก็ชื่อทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นชื่อกรรม หรือชื่ออะไรก็ตามแต่ เราใช้คำว่า กรรม รู้จักกรรมหรือไม่ พูดแล้ว แต่กรรมคืออะไร เพราะฉะนั้นความละเอียดก็คือว่า กรรมมีจริงๆ กรรมเป็นธรรม เพราะฉะนั้นกรรมจะเป็นเราได้หรือไม่ เป็นเขาได้หรือไม่ เป็นใครได้ไหม ไม่ได้ ใช่หรือไม่

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เราใช้คำว่า กรรม ก็คือสภาพธรรมที่จงใจ ตั้งใจ เท่าที่เราสามารถจะเข้าใจได้ แต่ว่าความละเอียดยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ที่เราใช้คำว่า จงใจ ตั้งใจ ขวนขวายกระทำกิจ เพิ่มขึ้นมาอีกหลายคำ แสดงให้เห็นความละเอียดว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะจงใจเท่านั้น แต่เราจะรู้หรือไม่ว่า ขณะนี้สภาพธรรมหนึ่ง ภาษาบาลีใช้คำว่าเจตนา ภาษาไทยใช้คำว่า จงใจ ตั้งใจ แต่ภาษาบาลีใช้คำว่า เจตนา หมายความถึงสิ่งที่มีจริงประเภทหนึ่ง ไม่ใช่จิต เป็นสภาพรู้ ต้องเกิดกับจิต สภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่เกิดกับจิต เกิดในจิตแล้ว เป็นเจตสิก ภาษาบาลีก็เป็นเจตสิกะ ออกเสียงต่างกันนิดหน่อยคือต้องออกเสียงคำสุดท้ายด้วย เพราะฉะนั้นเจตนา ความจงใจ ตั้งใจ ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะ และทุกประเภท นี่ละเอียดแล้ว เราไม่รู้เลย ว่าในขณะที่เห็นเพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับ มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว

    นี่เป็นความละเอียดอย่างยิ่ง และเพื่อที่จะให้เห็นว่าไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมได้เลย เพราะฉะนั้นที่สามารถจะรู้ได้ ก็คือความตั้งใจหรือความจงใจที่ดี ภาษาบาลีใช้คำว่า กุศล กุสละ กุศลเจตนา ถ้าเป็นฝ่ายความจงใจ ตั้งใจ ที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นอกุศลเจตนา เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ มีกรรมหรือไม่ เพราะเจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท แต่กรรมที่พอจะรู้ได้ เข้าใจได้ คือฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี เดี๋ยวนี้กรรมอะไรที่บอกว่ามี ก็ต้องบอกถูก ใช่หรือไม่ ไม่ใช่กรรมลอยๆ หรือกรรมเฉยๆ กรรมอะไร นั่งอยู่อย่างนี้ ไม่เห็นไปไหน ทำอะไร

    อ.อรรณพ จงใจที่จะฟังธรรม และเข้าใจธรรม

    ท่านอาจารย์ มีความตั้งใจที่จะมา ที่จะฟัง ที่ยังไม่ออกไปข้างนอก ยังนั่งอยู่ เพื่อที่จะฟังต่อไป เพราะฉะนั้นเจตนาก็เป็นสภาพที่มีจริงๆ แต่ว่ารู้ยาก ที่รู้ได้ พอจะเข้าใจ ก็กุศลเจตนา หรืออกุศลเจตนา แต่ก็ยังละเอียดมาก เพราะเหตุว่าสภาพของจิต เกิดดับสืบต่อเร็วมาก เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เข้าใจอย่างหยาบก่อน แล้วจึงจะเข้าใจละเอียดขึ้นๆ การฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูก เป็นสิ่งที่ดี ที่เป็นประโยชน์ ไม่ต้องใช้คำว่า กุศลเจตนา ได้หรือไม่ ไม่ได้เบียดเบียนใครเลย แต่กำลังชำระความไม่ดีของจิต ซึ่งเกิดจากความไม่รู้

    เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะเป็นอกุศลไม่ได้เลย บางคนแม้เป็นกุศล ก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศล ถามว่าเป็นกุศลหรือไม่ ทำอย่างนี้เป็นกุศลหรือไม่ หรือว่าทำอย่างนั้นเป็นกุศลหรือไม่ หมายความว่าไม่รู้อะไรเลย เพียงอยากจะได้กุศล หรืออยากจะเป็นกุศล ก็ถามเพื่อที่จะได้ เพื่อที่จะเป็น โดยไม่มีความเข้าใจ ขณะนั้นเป็นอกุศลเจตนา ที่ว่าไม่ได้เข้าใจ แต่ต้องการผล โดยการไม่รู้เหตุ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ให้รู้ว่ากรรมนี้จะให้ผลหรือไม่ ในเมื่อเป็นเหตุ กรรมเป็นเหตุ และผลของกรรม ภาษาบาลีใช้คำว่าวิปากะ ภาษาไทยก็วิบาก เราก็ได้ยินคำนี้บ่อยๆ และก็เข้าใจว่าลำบาก ได้ยินทีไรลืมภาษาบาลี วิบากก็กลายเป็นลำบากไปทุกทีเลย แต่ว่าพอเข้าใจภาษาบาลีแล้ว ก็แบ่งได้ ภาษาไทยลำบาก ไม่ใช่คำว่าวิบาก แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นผลของกรรม เป็นวิปากะ

    เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุมีสอง กุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดผลของกรรมที่ดี คือกุศลวิปากะหรือกุศลวิบาก ถ้าเป็นกรรมที่ไม่ดี ก็ทำให้เกิดอกุศลวิบาก ได้รับบ้างหรือเปล่า ผลของกรรม ถ้าไม่รู้ ไม่เห็นให้ผลสักที ทำไปแล้วก็ไม่เห็นให้ผลสักที ก็คิดอยู่อย่างนั้น หารู้ไม่ว่าตั้งแต่เกิดมา ไม่มีใคร ไม่มีขณะไหนเลย ที่วันนี้จะไม่มีผลของกรรม แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ครึ่งหนึ่งตั้งแต่เกิดจนตายเป็นผลของกรรม แต่อีกครึ่งหนึ่ง เป็นกรรม ที่จะให้ผลข้างหน้า

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องรู้ชัดว่า ขณะไหนเป็นกรรม ขณะไหนเป็นผลของกรรม มิฉะนั้นก็สับสน ขณะนี้คนที่ศึกษาแล้วตอบได้เลยว่า อะไรเป็นผลของกรรม แต่ถ้ามาฟังเป็นครั้งแรก กรรมให้ผลเมื่อไร กรรมให้ผลตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด ถ้าเป็นผลของอกุศล ไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ไม่ได้เกิดเป็นเทพ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่เห็นนรก แต่เหตุมี ไม่เห็นเปรต แต่เหตุมี เห็นแต่สัตว์เดรัจฉาน ก็ยังดี พอที่จะให้รู้ ให้เข้าใจถูกต้องว่า ต้องมาจากเหตุที่ต่างกัน คือถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน จะต้องเป็นผลของกุศลกรรม และถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม ทำไม เพราะอะไร

    สัตว์ก็เห็น มนุษย์ก็เห็น แล้วทำไมว่าเกิดเป็นสัตว์เป็นผลของอกุศลกรรม จริง จิตขณะแรกต้องเป็นผลของอกุศลกรรม แต่เห็นไม่ดีขณะไหน ไม่ว่ามนุษย์ หรือสัตว์ หรือเทพ หรือใครก็ตาม หรือพรหมก็ตาม ขณะนั้นต้องเป็นผลของอกุศลกรรม พรหมที่มาโลกมนุษย์ มาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาทูลถามปัญหาต่างๆ จะมีโอกาสหรือไม่ ที่อกุศลกรรมจะทำให้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เพราะเหตุว่าไม่ใช่พรหมจริงๆ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นธาตุ หรือเป็นจิต ซึ่งเป็นเหตุ และเป็นผล

    เพราะฉะนั้นที่เราเข้าใจเป็นบัญญัติ สมมติตามรูปร่าง เป็นคน เป็นนก เป็นงู เป็นเทพ เป็นพรหม ก็ตามแต่ รูปส่วนรูป แต่ธรรมเป็นธรรม เห็นเป็นเห็น ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน เปลี่ยนไม่ได้เลย ปลาเห็น ในน้ำเห็นได้หรือไม่ บนบกเห็นได้ บนอากาศก็มีเห็นเหมือนกัน นี่แสดงความตรงว่า ธรรมเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย แต่ต้องเข้าใจถูก

    การให้ผลของกรรมเริ่มตั้งแต่ขณะแรก พอจะรู้ใช่หรือไม่ ต่างกันเป็นผลของกุศล และผลของอกุศล แม้กุศลเช่นเดี๋ยวนี้ ต้องกลับมาสู่เดี๋ยวนี้ ความเข้าใจจากการฟัง มากหรือไม่ อกุศลที่เกิดสลับ มีไหม มากหรือไม่ แล้วจะให้ชาติต่อไป ให้ผลอย่างเดียวกัน เท่ากันได้ไหม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแม้แต่เกิดแล้ว เป็นผลของกุศลกรรม ก็ยังเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้นจะมีคนส่วนมาก มีทรัพย์สินเงินทองมาก มีทุกอย่างเพียบพร้อมสุขสำราญ แต่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่บางคนก็เพราะผลของกรรม ทำให้ทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน แต่ก็สามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูก รู้ความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะอะไร เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าเป็นอกุศล แม้ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถึงเวลาที่อกุศลจะให้ผล ก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดศีรษะ ท้องเสีย เป็นลม ถูกมีดบาดหรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นใครทำให้ เขาทำให้เราหรือเปล่า ศัตรูตัวร้ายมาทำร้ายเราหรือเปล่า เปล่าเลย ไม่มีใครสามารถจะทำได้ ถ้าขณะนั้นไม่ถึงวาระที่อกุศลกรรมจะให้ผล แคล้วคลาดไปหมด ภัยทั้งหลาย แต่เวลาที่กุศลกรรมให้ผล แม้ว่าจะมีชีวิตที่ลำบากทุกข์ยาก แต่กรรมที่ได้กระทำแล้วฝ่ายดี ก็ยังสามารถเป็นวาระที่จะให้ผลก็เกิดได้ เปลี่ยนแปลงชีวิตได้

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่านอกจากเกิดแล้ว ต้องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ให้ทราบว่าขณะนั้นๆ เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นก็พอจะรู้ พอรู้ว่าขณะไหนเป็นผลของกรรมแล้วที่เหลือเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ส่วนใหญ่ไม่พูดถึงกิริยาจิต ก็เป็นเรื่องที่ศึกษาได้เข้าใจได้ ละเอียดเพิ่มเติมขึ้น ได้รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งจริงๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    17 ก.พ. 2568

    ซีดีแนะนำ