พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
ตอนที่ ๘๗๐
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖
อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ ในชีวิตประจำวัน อารมณ์นั้นคืออะไร แล้วก็เป็นธรรมอย่างไร แล้วตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์คืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการฟัง สำคัญที่สุด ไม่ใช่ฟังชื่อ ไม่ใช่ฟังเรื่อง ไม่ใช่ใครบอกว่าอะไร แต่ว่าฟัง เพราะรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าไม่รู้จักสิ่งนั้นตามความเป็นจริง ตั้งแต่เกิดมามีทุกสิ่งที่ปรากฏในแต่ละวัน ซึ่งถ้าไม่คิดก็จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นธรรม พอได้ยินธรรม ทุกคนก็ไปหาธรรม แต่ไม่ได้เข้าใจเลยว่า ในภาษามคธี ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง ผู้ฟังธรรม คือเพราะรู้ว่าไม่เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงเลย แล้วก็มีผู้ที่ตรัสรู้ความจริงทุกอย่างของสิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้นจึงฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจขึ้นในภาษาของตนๆ
เพราะฉะนั้นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เป็นภาษาที่ชาวเมืองนั้นใช้คือภาษามคธี ของเราไม่ใช่รู้จักภาษานั้นเลย ถ้าพูดก็ไม่เข้าใจเลย แต่ว่ามีสิ่งที่สามารถที่จะเข้าใจได้ในภาษาไทย เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า การฟังธรรมเพื่อเข้าใจความจริงในชีวิตทุกขณะ ซึ่งมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ด้วย
เพราะฉะนั้นเป็นความคิด การไตร่ตรองของผู้ฟัง ไม่ใช่ฟังตาม คำนี้แปลว่าอย่างนั้น คำนั้นแปลว่าอย่างนี้ แต่ให้ทราบว่าเดี๋ยวนี้ ทำไมฟัง สิ่งที่มีขณะนี้ เช่นเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้าง ก็เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะไปปฏิบัติ ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะได้บรรลุมรรคผล แต่ฟังเพราะไม่รู้เลย ในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้
เมื่อวานนี้ก็มีการสนทนาธรรมกับชาวต่างประเทศ มีผู้ขอให้เริ่มต้นธรรมตั้งแต่ต้น เป็นความจริง มีเห็นเดี๋ยวนี้ และเราก็พูดถึงเห็นเมื่อวันก่อน เมื่อเดือนก่อน ปีก่อน แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจเห็น อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะขาดการไตร่ตรองพิจารณา มุ่งแต่เพื่อที่จะได้ยินคำ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าอะไร สูตรนี้หมายความว่าอะไร เกี่ยวข้องกับอะไร แต่ไม่ได้รู้ความประสงค์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นพระธรรมที่ทรงแสดงที่ไหน เมื่อไร ก็เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มี โดยที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน
เพราะฉะนั้นทุกคนก็ดีใจ ที่จะได้ตั้งต้นอีก เพราะรู้ว่าพูดไปหนึ่งปี แต่ยังไม่ได้ตั้งต้นที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏจริงๆ จนกว่ามีปัจจัยพอ ที่จะรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง แต่ไม่ได้แสดงเรื่องอื่นให้ไปจำ ให้คิด แสดงให้เข้าใจความจริงที่กำลังมีจริงในขณะนี้ ซึ่งทุกคนก็รู้ตัวเอง ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ว่าคนอื่นมาบอกเรา ว่าเรารู้แค่นั้น เรารู้แค่นี้ แต่ความเป็นผู้ตรง เห็นขณะนี้ ได้ฟังว่า เห็นเกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีก เป็นเราหรือ
ทุกอย่างจะนำไปสู่ความจริงที่ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรียกชื่อว่าธรรม หรือว่าเป็นธรรม แต่ลักษณะที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงที่ยังไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้นฟังเพื่อเข้าใจขึ้น แล้วก็จะรู้ความต่างของการฟัง ว่าฟังครั้งแรกไม่ได้เข้าใจเท่าไรหรอก บางคนก็บอกว่าตั้ง ๑๐ ปี กว่าจะรู้ว่าเดี๋ยวนี้ ขณะนี้เป็นธรรม ไปหาธรรม เมื่อไม่รู้จักธรรม แต่ถ้ารู้จักธรรม อยู่ไหน เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้นี่เอง ที่นี้เอง ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย
เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็คือเข้าใจธรรมในภาษาของตน ขณะนี้ถ้าไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีได้กลิ่น ไม่มีคิดนึก ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย จะมีเราหรือไม่ มั่นคงไหม สำคัญอยู่ที่ความมั่นคง ว่าฟังก็เข้าใจหรอก แต่ว่าความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จะไม่รู้เลยว่ากำลังค่อยๆ มั่นคงขึ้น ที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ศึกษาธรรมคืออะไร ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ แล้ววันหนึ่ง ขณะที่ฟังไม่ได้คิดถึงเรื่องราวหรือเรื่องอื่น แต่พูดถึงคำไหนก็รู้ ว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่กำลังกล่าวถึง เช่นพูดถึงเห็น คิดถึงอะไร ยังไม่ถึงเห็น แต่พูดถึงเห็น แล้วก็ไม่ไปไหน วิตกเจตสิกหรือจะใช้คำอะไรก็ตามแต่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปรู้ก่อน แต่รู้เท่าที่จะรู้ได้ ว่าทั้งๆ ที่พูดเรื่องเห็น แล้วเห็นต้องเกิด ถ้าเห็นไม่เกิดไม่มีเห็น
เพราะฉะนั้นพูดให้เข้าใจความจริงว่า เห็นขณะนี้เกิดแล้ว โดยที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เป็นธรรม ซึ่งยังไม่รู้ จึงต้องฟัง จนกว่าจะรู้ความจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงความจริงว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มั่นคงหรือยัง กำลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในห้องนี้ หรือว่าไปที่ไหนก็ตามแต่ ไม่เคยขาดสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย
ที่เวียดนาม ก็มีเด็กอายุ ๕ ขวบ เขาก็ตามคุณแม่ คุณพ่อไปฟังธรรม แต่วิธีฟังของเขาไม่ใช่มานั่งที่เก้าอี้ เขาก็เดินไปเดินมา แล้วก็ตามประสาเด็ก แต่ทุกคำตอบของเขา มาจากความเข้าใจ แม่อยากให้ไปโรงเรียน เขาตอบว่า ที่นี่ก็มีเห็น ที่โรงเรียนก็มีเห็น ที่นี่ก็มีได้ยิน ที่โรงเรียนก็ได้ยิน เหมือนกันหมดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นี่คือความเข้าใจ และพอมีคำถามตอบได้เลยตามความเข้าใจ ไม่ต้องไปพลิกหนังสือ อาศัยตำรา แต่บอกว่า ที่นี่ก็มีเห็น ที่โรงเรียนก็มีเห็น ที่ไหนๆ ก็มีได้ยิน ที่นี่ก็มีได้ยิน ก็เหมือนกัน
นี่คือคำตอบของเด็กห้าขวบ ซึ่งไม่ต้องให้พ่อแม่สอนเลย แล้วเขาก็เอาดอกไม้มาให้ดิฉันหนึ่งดอก แล้วเขาก็บอกพ่อแม่ ถ้าเขามีดอกไม้สามดอก ตอนนี้เขามีดอกเดียว ใช่ไหม เขาก็จะให้แม่หนึ่งดอก พ่อหนึ่งดอก แล้วก็ดิฉันหนึ่งดอก แล้วแม่ก็ถามว่า ถ้ามีดอกเดียวจะให้ใคร ให้อาจารย์ เพราะอาจารย์สอนธรรม มีเหตุผล ไม่ใช่ว่าให้เพราะชอบ หรือให้เพราะคุ้นเคยดิฉันหรืออะไร แต่เหตุผลเขาจะมีกับคำตอบที่ถูกถามทันที ไม่ต้องคิดด้วย และก็รู้เหตุผลด้วย อย่างให้ดิฉันเพราะอาจารย์สอนธรรม และชื่อของเขาถ้าแปลเป็นภาษาไทย หมายความว่ารัตนจิต เขาเห็นคุณตาตบยุง แล้วก็ดื่มเบียร์ เขาบอกคุณตาว่า คุณตาไม่ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า บอกคุณตา แล้วก็คุณลุงป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล เขาคิดถึงคุณลุงที่ป่วย ถ้าคุณลุงได้มาฟังธรรมก็ดี เห็นหรือไม่ นี่คือความคิดของเด็ก ที่รู้ว่าธรรมมีประโยชน์ และคนป่วย ซึ่งไม่ได้ฟังธรรมเลย ถ้าได้มีโอกาสได้ฟังธรรมก็ดี
นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้เกี่ยวกับชื่อ แต่เกี่ยวกับความจริงที่เข้าใจ เบื้องต้นคือในเหตุ และในผล ไม่ใช่ว่าพูดโดยไม่มีเหตุผลเลย หรือทำโดยไม่มีเหตุผล แต่ไม่ว่าคำพูดนั้นจะพูดว่าอย่างไร ก็มีเหตุผลด้วย
เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ ก็มีเห็น มีได้ยิน เห็น ได้ยิน คิดนึก นานแสนนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ แต่โอกาสที่จะค่อยๆ เข้าใจ เพราะธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง เช่นขณะนี้เห็นเกิดจึงมีเห็น แล้วเห็นก็ดับไป จึงมีได้ยิน หรือมีคิดนึก หรือมีอย่างอื่นด้วย ก็แสดงว่าตลอดมาในสังสารวัฏฏ์ แม้มีเห็น แม้มีได้ยิน ก็ไม่ได้เข้าใจ เพราะฉะนั้นทางที่ถูกต้อง คือ ให้เข้าใจธรรมที่ปรากฏ ไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงชื่อต่างๆ เลย เช่นเดียวนี้ พูดถึงเห็น ใครเขาจะเห็นแค่ไหน ฟังมาแล้วตั้งนาน แต่ตั้งนานในสังสารวัฏฏ์ ไม่ได้เข้าใจเห็น เพราะฉะนั้นอีกนานหรือไม่ กว่าจะค่อยๆ เข้าใจ
เพราะเหตุว่าทำไมไม่เข้าใจเห็น เพราะไม่รู้มานานมาก ต่อให้ได้ยิน เห็นเกิดแล้วเห็นดับ และเห็นก็เป็นเห็น ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้น ก็ต้องอาศัยที่เข้าใจเดี๋ยวนี้แล้วไม่ลืม ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยที่จะมั่นคง และโดยเฉพาะคือว่า ความเป็นอนัตตาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจคำนี้จริงๆ จะไปหวังหรือไม่ ว่าฟังธรรมเพื่ออย่างนั้น หรือฟังธรรมเพื่ออย่างนี้ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด ไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยได้ฟังนานมาก แล้วก็เวลาเข้าใจนิดๆ หน่อยๆ แล้วเข้าใจว่า เราไม่ได้เข้าใจ แต่ธาตุชนิดหนึ่ง ธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับความไม่รู้ เพราะไม่เคยฟัง แต่เมื่อได้ยิน ได้ฟังคำวาจาสัจจะของผู้ที่ทรงตรัสรู้ ก็มีความเข้าใจขึ้น แต่ก็ลืมบ่อย เพราะว่าฟังน้อยมาก ถ้าเทียบกับสังสารวัฏฏ์ เกินกว่าสี่อสงไขยแสนกัปป์ ถ้าจะนับชั่วโมงของการฟังในชาตินี้ ก็น้อยกว่าเยอะ แต่ว่าไม่สำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าสะสมมามากเท่าไร เห็นประโยชน์ที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าถ้ามีความเข้าใจ ขณะนั้นไม่ติดข้อง ต้องรู้เลย
เพราะฉะนั้นทุกวันๆ ที่ไม่มีความเข้าใจ แล้วจะเอาความติดข้องไปทิ้งที่ไหน ทั้งหมดมาจากเพราะไม่รู้ และไม่รู้ก็คืออวิชชา เพราะฉะนั้นหน้าที่ของอวิชชามี ธรรมกำลังปรากฏก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปหาอวิชชาที่ไหนเลย และขณะที่กำลังเข้าใจขึ้น เพราะอาศัยการฟัง และถ้าฟังน้อย แล้วไม่ฟังต่อไป จะเข้าใจอีกหรือไม่ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้
ด้วยเหตุนี้ ประโยชน์ที่แท้จริงของการฟังคือ ไม่หวังที่จะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ไม่หวังแม้แต่จะเป็นคนดีขึ้น เพราะยังเป็นเรา แต่ความจริงแล้วนึกหวังที่จะศึกษาธรรมเมื่อไรก็ตาม ประโยชน์ก็คือว่า เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็เป็นหน้าที่ของปัญญาที่เข้าใจ ก็จะทำหน้าที่ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเป็นเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นขณะนี้ได้ยินคำว่า จิต เป็นสิ่งที่กำลังมีขณะนี้หรือเปล่า ได้ยินคำว่า จิต รู้ว่าจิตเป็นสภาพธรรม เป็นธาตุรู้ เดี๋ยวนี้หรือเปล่า เข้าใจหมด ไม่ลืมเลย ใครถามว่า จิตคืออะไร ตอบได้ จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นนามธาตุ เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นรู้ ก็ตอบได้หมด แต่ว่าเดี๋ยวนี้ จิตอะไร กำลังมีลักษณะอย่างไร เช่นจิตเห็นเดี๋ยวนี้ รู้จักแล้ว แต่ก่อนได้ยินคำว่า จิต ก็ไม่รู้ว่าความละเอียดของจิต ซึ่งไม่ใช่เราเลย มีมากมายหลายประเภทตามสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน เพราะว่าเฉพาะจิต เป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง ไม่ทำอื่นเลย ไม่โกรธ ไม่รัก ไม่ชัง
เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ จิตอะไร เยอะ หลายประเภท ใช่หรือไม่ ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เข้าใจว่า จิตคืออย่างนี้ ไม่ใช่สภาพธรรม ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดพร้อมจิต ธรรมใดๆ ก็ตามที่ปรากฏ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดได้ ไม่ใช่เกิดได้เพราะความปรารถนา เพราะความหวัง เพราะความต้องการ จะได้มั่นคงในความหมายของคำว่า อนัตตา เริ่มจากอนัตตาคือไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา แต่มีจริงๆ นานมาแล้วก็มี เกิดขึ้นได้ เพราะเหตุปัจจัย เมื่อเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เข้าใจก่อน ใช่หรือไม่ แน่นอนใช่ไหม ธาตุรู้เกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ตอนนี้ชื่อก็จะตามมา เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงอะไร
เพราะเหตุว่าธรรมทั้งวัน ธรรมตั้งแต่เกิดจนตายมากมาย แล้วจะรู้ธรรมไหน ต้องทีละเล็กทีละน้อย โดยการรู้ว่า ถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้นรู้ ไม่มีโลก ไม่มีอะไรปรากฏเลย ไม่เดือดร้อน ไม่มีปัญหา ไม่รัก ไม่ชัง ดีหรือไม่ แต่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ธาตุรู้ต้องเกิด เมื่อมีปัจจัย และกำลังเกิดดับด้วยในขณะนี้ เมื่อเป็นธาตุรู้ ที่อาศัยกัน และกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะว่าสภาพธรรมจะเกิดขึ้นเพียงลำพังอย่างเดียวไม่ได้ สภาพธรรมที่เป็นนามธาตุ ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย และเป็นธาตุรู้ด้วยที่เกิดขึ้น ธาตุรู้ที่เกิดพร้อมกัน ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานคือจิต ส่วนธาตุที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นพร้อมจิต และจิตก็ต้องอาศัยธาตุนั้นด้วย ธาตุนั้นก็ต้องอาศัยธาตุนั้นด้วย เกิดพร้อมกัน ภาษาบาลีก็คือสหชาตะ เป็นปัจจัย ใครไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ให้ไม่พร้อมกันได้หรือไม่
เพราะฉะนั้นนามธาตุสองอย่าง อย่างหนึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน คือจิต อย่างอื่นที่ไม่ใช่ที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน เรียกว่าเจตสิก ภาษาบาลีก็คือเจตสิกะ จิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัน อาศัยกัน และกัน ขาดกันไม่ได้เลย รู้สิ่งเดียวกัน เพราะเป็นธาตุรู้ด้วยกัน เพราะเกิดพร้อมกันเป็นธาตุรู้ จะให้ไปรู้ต่างกันได้หรือไม่ นี่คือเหตุผล ใช่หรือไม่ จิตธาตุรู้ เจตสิกธาตุรู้ อาศัยกัน และกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่รู้ ก็ต้องรู้สิ่งเดียวกัน ทั้งจิต และเจตสิก แต่ต่างกันเพราะว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ส่วนโลภะ เกิดกับจิตบางครั้งบางคราว ก็เป็นเจตสิก โทสะเกิดบางครั้งบางคราว เมื่อไรที่เกิดก็ต้องเกิดกับจิต ธรรมอื่นนอกจากจิตที่เกิดพร้อมกัน เป็นนามธาตุด้วย ก็คือเจตสิก
พอพูดถึงโกรธ ภาษาไทยรู้เลย ใช่หรือไม่ ไม่เห็นอะไร ไม่รู้อะไร แล้วโกรธได้หรือไม่ แม้แต่คิด ขณะนั้นก็ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้เรื่องที่คิด มิฉะนั้นเรื่องก็ไม่มี เมื่อจิตไม่คิด เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ และรู้ในสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จึงเป็นปัจจัยให้เจตสิกซึ่งไม่พอใจเกิดร่วมด้วย นี่คือชีวิตประจำวัน ศึกษาเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มี จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงว่า ไม่ใช่เรา สภาพธรรม เปลี่ยนไม่ได้ จิตจะเป็นเจตสิกไม่ได้ ความติดข้องจะเป็นความไม่พอใจ ไม่ได้ ปัญญาจะเป็นอวิชชาไม่ได้ จิตเป็นสภาพที่เป็นบัณฑระ จิตเท่านั้นไม่ได้ผ่องใสแบบที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือว่าไม่ได้เป็นอกุศล เพราะมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้นตัวจิตจริงๆ เท่านั้น ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่ดีชั่วเพราะเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน และเมื่อใดก็ตาม ซึ่งธาตุรู้เกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เข้าใจสิ่งนี้ก่อน แล้วก็จะได้รู้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสภาษามคธีว่า สิ่งที่จิตรู้ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น เป็นอารมณ์ของจิต เป็นภาษาบาลีก็เป็น อารัมมณะ เมื่อมีจิตต้องมีอารมณ์ เมื่อมีธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้
ธาตุรู้ ถ้าไม่มีใครบอก ถ้าไม่ฟังพระธรรม จะรู้หรือไม่ ว่าธาตุรู้เกิดขึ้นขณะแรกต่างกับขณะหลังๆ ไม่ใช่จิตเดียวกันเลย เพราะว่าจิตมีอายุที่สั้นมาก เร็วสุดที่จะประมาณได้ จิตเท่าไรที่เห็นดอกไม้ เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ก็แสดงว่าจิตเกิดดับเร็ว ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงได้เลยว่า ขณะแรกเป็นใคร รู้หรือเปล่า แต่ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะจิตต้องรู้ แม้ว่าขณะนั้นเป็นจิตขณะแรกก็ไม่รู้ ว่าจิตรู้อะไร แต่จิตเกิดแล้วเป็นธาตุรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้
ถ้าจะมีคนบอกว่า เกิดขึ้นขณะแรกไม่รู้อะไร ใช่หรือไม่ แต่มีจิต เพราะฉะนั้นไม่รู้อะไร ก็เพราะเหตุว่าสิ่งที่จิตรู้ไม่ได้ปรากฏ แต่มีจิต เพราะฉะนั้นจิตมีมากมายหลายประเภท ซึ่งถ้าศึกษาแล้วก็จะต้องเข้าใจโดยไม่เปลี่ยนแปลง ว่าจิตไม่ว่าขณะไหนเมื่อไร ขณะแรกหรือขณะที่จากโลกนี้ไป คือขณะสุดท้าย จิตก็ต้องเป็นสภาพรู้ แต่รู้อะไรเป็นเรื่องละเอียด ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง
เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงความจริงที่ไม่เปลี่ยน เมื่อธาตุรู้เกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แต่ถ้าขณะนั้นไม่ใช่เห็น ไม่ได้อาศัยตา ตายังไม่มี ขณะแรกที่เกิดในครรภ์ ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกด้วย ยังมีจิตหรือไม่ เพราะยังไม่ตาย เพราะฉะนั้นมีจิต ซึ่งอารมณ์ของจิตนั้นไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สิ่งที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์นั้นไม่ปรากฏ เช่นขณะที่นอนหลับสนิท ไม่มีใครรู้ เหมือนขณะแรก ไม่รู้เลยว่าเป็นใคร เกิดมา จะทันรู้ไหมว่าคนเกิด หรือสัตว์เกิด หรืออะไรเกิด ไม่สามารถจะรู้ได้เลย เช่นเดียวกับขณะที่หลับสนิท จิตยังเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ยังไม่จากโลกนี้ไป
เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ต้องมีอารมณ์ที่จิตรู้ เพราะจิตเกิดขึ้นต้องรู้ อารมณ์ของจิตขณะนั้นเหมือนกับปฏิสนธิขณะแรก เพราะอารมณ์ไม่ปรากฏ แต่พอตื่นขึ้น มาแล้ว เห็นหรือได้ยิน จึงรู้ว่าไม่ได้ตาย ยังอยู่ แต่ถ้าจะตายระหว่างหลับ แน่นอนเกิดใหม่แล้ว เป็นบุคคลใหม่โดยสิ้นเชิง จะรู้หรือไม่ ว่าก่อนนั้น ก่อนขณะแรกของปฏิสนธิของชาติหน้า เป็นอะไรมาทั้งหมดในชาตินั้น หายไปหมด เพราะเหตุว่าขณะนั้น จากบุคคลนี้เป็นบุคคลอื่นทันที
เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะทรงแสดงเรื่องของจิต แต่ก็ยังมีจิต มากมายหลายประเภท ซึ่งถ้าไม่ทรงแสดง จะไม่คลายกันยึดถือว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป และก็ไม่มีทางที่จะยุติการเกิดขึ้นเป็นไป เกิด และดับของจิต จนกว่าจะถึงจิตสุดท้ายของพระอรหันต์เท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วง ตายแล้วเกิด ใครก็ตาม ที่จากโลกนี้ไปแล้ว เกิดแล้ว แต่เป็นอะไร
เราก็เหมือนกันทุกคน ใช่หรือไม่ มีปัญญาระดับไหน ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน เกิดแล้วไปอบายภูมิก็ได้ นรก เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ แม้ชาติก่อนๆ ปฏิสนธิของชาติหน้า ก็ประมวลไว้ซึ่งกรรมที่สามารถจะเป็นปัจจัย ให้ผลของกรรมเกิดขึ้นในชาติใดชาติหนึ่ง นี่คือไม่ใช่เรา เมื่อไรจะมั่นใจ มั่นคงว่าเป็นธรรม ก็คือว่าต้องฟังต่อไป
อ.กุลวิไล เราอาจจะเสียใจ เวลาคนที่รักตาย หรือสูญสิ้นจากการเป็นบุคคลนี้ แต่ถ้าเราศึกษาธรรมต้องเข้าใจ ตามความเป็นจริง ทันทีที่ตายไป ปฏิสนธิเป็นบุคคลใหม่ จุติจิตดับ ปฏิสนธิเป็นคนใหม่ เพราะฉะนั้นเขาเกิดแล้ว แต่ที่สำคัญคือเกิดเป็นอะไร เราก็ไม่รู้ ถึงตัวเราเองก็ตาม มาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วจะไปไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้ายังเป็นผู้ที่มีความไม่รู้ ก็ย่อมไม่รู้เป็นธรรมดา
ท่านอาจารย์ แลกกรรม ได้หรือไม่ เอากรรมของเราไปให้คนที่เราเคารพนับถือ เพื่อเขาจะได้เกิดดีๆ ไม่มีทางเลย ใช่หรือไม่ นี่คือเข้าใจความเป็นอนัตตา ต้องมั่นคงจริงๆ แต่ว่าธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย
เพราะฉะนั้นชาตินี้ทำอะไรกันดี ทำดีแล้วก็ศึกษาพระธรรม เพราะเหตุว่าถึงจะทำดีสักเท่าไร แต่ไม่เข้าใจธรรม ก็ยังคงเป็นเรา และเวลาที่เป็นเรา เห็นผิดหรือเห็นถูก ไม่ใช่เราสักหน่อย ก็เป็นเราไปหมด ก็แสดงถึงความเห็นผิดแล้ว และก็มีความติดข้องด้วยในความเห็นนั้น ใครบอกเท่าไรก็ไม่เชื่อ เพราะเหตุว่ามีความยึดมั่นในความเห็นนั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ที่ชีวิตดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบตราบใดที่ยังมีความติดข้อง ซึ่งภาษาบาลีก็ใช้คำว่า โลภะ
อ.กุลวิไล จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม ไม่ว่าในพระสูตร ในพระอภิธรรม ก็ไม่พ้นชีวิตประจำวัน แล้วก็มีจริงในขณะนี้
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 841
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 842
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 843
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 847
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 849
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 850
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 851
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 852
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 853
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 854
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 856
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 857
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 860
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 861
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 862
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 865
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 868
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 871
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 874
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 877
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 878
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 880
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 881
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 882
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 883
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 884
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 885
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 888
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 890
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 892
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 893
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 894
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 895
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 896
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 897
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 898
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 900