พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
ตอนที่ ๘๗๒
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖
ท่านอาจารย์ เข้าใจในสภาพนั้นว่าไม่ใช่เรา ในขณะที่สิ่งนั้นปรากฏ
ผู้ฟัง ถ้ามั่นคงว่าไม่มีเรา แต่ตอนต้นชั่วโมงท่านอาจารย์กล่าวว่า ยังผูกโกรธคนอยู่ คนนั้นเขาไม่ได้ตามไปแน่ แต่ความโกรธตามไปแน่นอน ถ้าเข้าใจตรงนี้ ความเข้าใจเช่นนั้นจริงๆ ก็จะเหมือนกับละอกุศลเพียงเล็กน้อย แล้วก็เจริญกุศลเล็กน้อยเหมือนกัน ความเข้าใจจริงๆ ตรงนี้ก็จะเป็นเช่นนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่วิรัติ หรือเว้นทุจริตกรรม ด้วยความเข้าใจหรือเพราะคิดว่าต้องเว้น ต้องละ เพื่อเราจะไม่ได้รับผล
ผู้ฟัง ตรงนี้จะต่างกันมาก ถ้าเป็นเพราะความเข้าใจ ก็ไม่ต้องแบกดี ถ้าเป็นเราก็เหมือนต้องแบกดี ต้องดีให้คนรู้ว่าดี แต่ถ้าความเข้าใจก็เป็นธรรมชาติ
ท่านอาจารย์ ยังไม่พ้นความเป็นเรา จะได้ผลของการเว้นทุจริต ใช่หรือไม่
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ แต่ถ้ามีความเข้าใจว่า แม้ขณะนั้นไม่ใช่เราที่คิดอย่างนั้น ไม่ใช่เราที่เว้น ทั้งหมดก็คือ จิต และเจตสิก
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็จะตั้งต้นอยู่ทุกวันว่า ไม่มีเรา ขณะนี้เป็นธรรมแต่ละลักษณะ เพียงแต่ผู้ฟังก็สะสมความเข้าใจแค่ไหน
ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นโทษของอกุศล ว่านำมาซึ่งผลที่ไม่ดี อกุศลวิบาก แล้วก็ตั้งใจที่จะละเว้น ถูกหรือผิด
ผู้ฟัง ก็ลืมอนัตตา ต้องสะสมความเข้าใจ แล้วความตั้งใจจะทำกิจ
ท่านอาจารย์ แม้ความเข้าใจที่จะทำนั้น ก็เป็นอนัตตา ใช่หรือไม่ แต่ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้งว่า ไม่ใช่เรา
อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ ความเข้าใจก็เหมือนกับทุกคนฟัง แล้วก็คิดว่าเข้าใจ แต่จะทราบได้อย่างไรว่า ความเข้าใจ จะเป็นความเข้าใจที่เข้าใจจริงๆ
ท่านอาจารย์ คุณธิดารัตน์เห็นใคร
อ.ธิดารัตน์ ตามการศึกษาคือเห็นสิ่งที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ก็แสดงว่า เพียงตามการศึกษา นี้ก็ต่างกันแล้ว ใช่หรือไม่
อ.ธิดารัตน์ ใช่ แล้วเมื่อสักครู่นี้คำถามของคุณวิชัยก็เหมือนกับว่า ขณะที่สภาพธรรมปรากฏโดยไม่ได้คิด กับการคิดถึงสภาพธรรมปรากฏ ต้องต่างกันแน่ๆ อยากให้ท่านอาจารย์กรุณายกตัวอย่าง
ท่านอาจารย์ ได้ยินว่า ทั้งหมดเป็นธรรม แล้วอะไรปรากฏ
อ.ธิดารัตน์ ก็ต้องเป็นลักษณะของธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ แล้วขณะนั้นเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือว่ากำลังต้องการที่จะรู้ และเข้าใจอย่างนั้น พยายามที่จะให้เห็น บางคนถ้าฟังเทป จะมีท่านผู้หนึ่ง ท่านก็จะมองหน้าต่างไม่ให้เป็นหน้าต่างอยู่เรื่อยๆ ใช่หรือไม่ แล้วถูกไหม เป็นตัวที่พยายาม แต่ไม่ได้เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่เห็นเป็นอะไรไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็เกิดดับเร็วมาก และจิตที่รู้สึกนั้น ก็เกิดดับเร็วยิ่งกว่าสิ่งที่ปรากฏอีก แล้วใครที่จะไปพยายามมองหน้าต่างไม่ให้เป็นหน้าต่าง ซึ่งไม่ใช่ความเข้าใจ
อ.ธิดารัตน์ ตรงนี้น่าจะเป็นความยาก เพราะว่าหลายๆ ท่านที่ศึกษา ก็คือไม่รู้ตัวว่าจดจ้อง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาไม่ละความจดจ้องว่าเป็นเรา จนกว่าเข้าใจทันทีว่าในขณะนั้นเป็นสภาพนั้น ด้วยเหตุนี้ ยิ่งปัญญาละเอียด ยิ่งเห็นโลภะละเอียด จดจ้องทำไม ต้องการผล ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ก็ไม่สามารถที่จะไปละได้ ด้วยเหตุนี้ ชื่อทั้งหมดที่เราได้ยิน เป็นเพียงชื่อของสิ่งที่มีจริง แล้วก็ได้ฟังเรื่องของสิ่งนั้น แต่ยังไม่ได้เข้าใจสิ่งนั้นตามความเป็นจริง อย่างทิฏฐิ ความเห็นผิด บอกได้เลย ใช่หรือไม่ มีตั้งหลายอย่าง สัสตทิฏฐิ เห็นว่าเที่ยง อุจเฉททิฏฐิ เห็นว่าสูญ สักกายทิฏฐิ เห็นว่าเป็นเรา ชื่อทั้งนั้นเลย มีมากกว่านี้อีก เป็นชื่อที่เข้าใจได้ แต่ว่าเวลาที่ทิฏฐิไม่ได้เกิดปรากฏลักษณะของทิฏฐิ จะไม่รู้ความจริง มีแต่ชื่อ
เพราะฉะนั้นปัญญาคือขณะใดก็ตาม ที่ฟังแล้ว ความความเข้าใจมั่นคงจนไม่ลืม ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นอนัตตา ที่เกิดความคิดถูกต้อง ว่าขณะนั้น มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า ร่างกายของเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นของเราหรือเปล่า ถ้าคนที่เคยมีการยึดถือมา อย่างไรๆ ก็เป็นเรา ตาเราไม่ใช่ตาเขา แขนเราไม่ใช่แขนเขา เพราะฉะนั้นยังเป็นของเราอยู่ ใช่หรือไม่ แต่เวลาที่เมื่อธรรมปรากฏ ขณะนั้นมีความยึดถือแข็งนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นแขน หรือเป็นขาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าความเห็นผิดที่มีมาก สะสมมามาก ก็เมื่อปรากฏจึงจะรู้ได้ ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น ถ้าโกรธเกิดขึ้นปรากฏ จะไปรู้โลภะ ได้หรือไม่ ไม่ได้ ถ้าทิฏฐิไม่เกิด และไม่ปรากฏ จะไปละทิฏฐิ ได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ที่สภาพธรรมปรากฏ ผู้นั้นจะเป็นผู้รู้ว่า ยังมีการยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นเราหรือเปล่า และจะคลายการยึดถือสภาพนั้น ด้วยความเข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ใช่ขณะอื่น
อ.กุลวิไล ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่รู้ว่าทั้งหมดเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นชีวิตประจำวันจะเห็นได้ว่า เต็มไปด้วยความประมาท อยากรู้อยากเห็น ในสิ่งที่จิตรู้นั่นเอง ข้อความท่านจึงกล่าวถึง ตัณหาซ่านไปในอารมณ์ ชีวิตประจำวันดูเหมือนตั้งอยู่บนความประมาท
ท่านอาจารย์ ปลูกต้นไม้ ต้องมีดินด้วย ใช่หรือไม่ และก็ต้องมีน้ำด้วย เพราะฉะนั้นตัณหาซ่านไปตั้งแต่ราก เพราะอาศัยน้ำ อาศัยดิน จนกระทั่งเติบโตขึ้น ก็ด้วยตัณหา ซ่านไปหมด ที่ใบไม้มีรสของดิน รสของน้ำหรือไม่ มาจากไหน มาจากราก มาจากน้ำ มาจากปัจจัยหลายอย่าง ที่ดอกมีรสหรือไม่ รสของดิน ของน้ำ ที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นดอก
เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ต้องเป็นไปตามเหตุ ถ้าเหตุดี ผลก็ต้องดี ปัญญาก็เช่นเดียวกัน การฟังธรรมเพื่อไม่ใช่เพียงตัดกิ่งก้านใบดอก แต่ต้องขุดรากทิ้งไป ท่านอุปมาเหมือนกับว่า ยังต้องเอาไปเผาอีก
อ.กุลวิไล เวลาบริโภคอาหาร ยังชอบ ไม่ใช่แต่รสอย่างเดียว ทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหูด้วย
ท่านอาจารย์ ทั้ง ๕ ทวาร ได้หรือไม่
อ.กุลวิไล แน่นอน แม้แต่สัมผัสทางกาย
ท่านอาจารย์ อาหารต้องจัดอย่างดี สวยงาม แหว่งไปนิดก็ไม่อยากทานแล้ว ใช่หรือไม่ ไม่สวยแล้ว ก็เป็นไปได้ ดนตรีก็ต้องมีให้ฟัง กลิ่นก็ต้องหอม ร้านไหนคนเข้ามากๆ ขายดีก็ต้องพร้อมหมด ทั้ง ๕ ทวารเลย รสก็ต้องประณีต การกระทบสัมผัส ที่นั่งก็ต้องสบายสะดวก ไม่ใช่นั่งแล้วเมื่อย และก็เรื่องที่คิดนึกก็แล้วแต่ ว่าขณะนั้นมีอะไรที่จะให้สนทนา ที่จะทำให้เพลิดเพลิน เพราะบางแห่งมีเฉพาะดนตรี บางแห่งเป็นเพลง ใช่หรือไม่ ถ้อยคำในเพลงก็ทำให้เกิดความยินดีเพิ่มขึ้นอีก ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินเสียง ยังมีคำในเพลงนั้น ซึ่งทำให้เพิ่มความติดข้องขึ้นมาด้วย
อ.คำปั่น การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมในแต่ละครั้ง เป็นไปเพื่อประโยชน์ก็คือ ได้สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง ที่กล่าวถึงที่พึ่ง ก็น่าพิจารณาทีเดียวว่า แต่ละคน แต่ละท่านที่เกิดมา ดูเหมือนว่าจะมีที่พึ่ง มีพ่อมีแม่ มีทรัพย์สินเงินทอง มีญาติสนิทมิตรสหาย แล้วสิ่งเหล่านี้บุคคลเหล่านี้จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าในที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะต้องละจากโลกนี้ไป คนต่างๆ ไม่สามารถติดตามไปได้ ทรัพย์สินเงินทองก็ไม่สามารถติดตามไปได้เช่นเดียวกัน
ในช่วงแรกก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงความเข้าใจเกี่ยวกับที่พึ่ง และที่พึ่งที่จะกล่าวถึงนี้ จะมีความเกี่ยวเนื่องกันกับโคจร ๓ อย่างไร ซึ่งท่านอาจารย์ก็กล่าวอยู่เสมอว่า ความเข้าใจมาก่อน ชื่อธรรมมาทีหลัง ว่าจะมีชื่อของโคจรด้วย แต่ก็คงต้องได้กราบเรียนท่านอาจารย์ ถึงความละเอียดลึกซึ้งของพระธรรมในช่วงแรกครับ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ คุณคำปั่นพูดถึงโคจร ๓ ต้องบอกด้วย ว่าคืออะไร
อ.คำปั่น โคจร หมายถึง อารมณ์ จำแนกเป็น ๓ อย่าง ตามข้อความที่ปรากฏในอรรถกถาอุทาน เมฆิยสูตร ก็คือหนึ่ง อุปนิสสยโคจร โดยความหมาย หมายถึงอารมณ์อันเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งจิต ทำให้มีที่อาศัยที่มีกำลัง ประการที่สองก็คือ อารักขโคจร อารมณ์อันเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งจิต เป็นเหตุทำให้มีการอารักขา คือการรักษาไม่ให้เป็นอกุศล แล้วก็ประการสุดท้ายก็คือ อุปนิพันธโคจร หมายถึง อารมณ์อันเป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งจิต เป็นเครื่องผูกพัน ไม่ให้ไปที่อื่น นี้ก็กล่าวถึงการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่เป็นสติปัฏฐาน ในความลึกซึ้งก็กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ ทุกคนรู้ว่ามีสภาพธรรมกำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ที่กำลังเห็นสิ่งต่างๆ ที่กำลังปรากฏ ก็ปรากฏไม่ได้ หรือแม้แต่เสียง ที่ปรากฏว่ามีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ เสียงก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิต ที่เป็นธาตุรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นสำหรับสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้ สภาพธรรมที่ถูกจิตรู้ ใช้คำว่า อารัมมณะ ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อะไรก็ตาม ฝันมีเรื่องราว ขณะที่จิตเกิด กำลังรู้อะไร สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต
เพราะฉะนั้นต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเหตุในผลตั้งแต่ต้น เช่นในขณะนี้ ถ้าไม่มีจิต สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ปรากฏไม่ได้ ไม่มีแน่นอน เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตแล้ว ซึ่งเป็นธาตุรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แต่ถ้าจะจำภาษาบาลีก็คือว่า อารัมมณะ หมายความถึงขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้ใจ ที่กำลังคิดถึงอะไร สิ่งที่กำลังคิดถึงนั้น เป็นอารมณ์ของจิต เพราะถ้าจิตไม่เกิด จะมีสิ่งนั้นที่กำลังคิดหรือไม่ มีบ้านหรือไม่ มีเมื่อไร ถ้าไม่คิด มีหรือไม่ ไม่มี
เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตาม ที่ตั้งแต่เกิดจนตาย ปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะจิตเกิดขึ้นรู้ สิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังคิด มีหรือไม่ คิดเรื่องอะไร สิ่งนั้นแหละเป็นอารมณ์ของจิตที่คิด
ด้วยเหตุนี้ เมื่อเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยเป็นธาตุรู้ จึงมีความคิด ความเข้าใจ ว่ามีสัตว์ มีบุคคล ถ้าไม่มีธาตุรู้อะไรเลย จะไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น และอะไรก็ปรากฏไม่ได้ นี่คือความจริง ซึ่งจะต้องเข้าใจ เข้าใจอย่างนี้ เป็นที่พึ่งหรือไม่ แม้แต่จะรู้ความหมายของคำว่า ที่พึ่ง ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะใดก็ตามที่เข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง ขณะนั้นจึงเป็นที่พึ่ง เพราะทุกคนเกิดมามีเห็น มีได้ยิน มีจิตมีเจตสิก มีรูป ถ้าศึกษาธรรมโดยละเอียด ก็จะทราบได้ว่า ไม่ขาดเลยสักขณะเดียว ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ เคยขาดจิต เจตสิก รูป หรือไม่ ไม่เคยเลย แต่ว่าที่ผ่านมาก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม เป็นที่พึ่งหรือเปล่า สิ่งต่างๆ ที่เห็นแล้ว เสียงต่างๆ ที่ได้ยินแล้ว เรื่องราวต่างๆ ที่คิดแล้ว เป็นที่พึ่งหรือเปล่า ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ที่พึ่ง
ด้วยเหตุนี้มีคำว่า อารมณ์ อารัมมณะ ภาษาไทยเรียกสั้นๆ ว่า อารมณ์ แล้วก็มีคำว่าโคจร แสดงให้เห็นว่า ต้องมีความต่าง แล้วแต่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงโดยนัยของธรรมอะไร เช่นขณะนี้มาที่มูลนิธิบ่อยๆ แล้วก็ฟังธรรม เรื่องราวของสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ ทำให้กลับไปบ้าน พอทราบว่ามีรายการวิทยุก็เปิดฟังอีก ใช่หรือไม่
เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีไม่ได้หายไปไหนเลย แม้แต่อารมณ์ที่ผ่านตา หู เรื่องราวต่างๆ ก็แล้วแต่ว่าสะสมอยู่ในจิต เป็นอุปนิสสยะ เป็นที่อาศัยที่มีกำลังว่า อารมณ์ใดเป็นอารมณ์ของจิตมาก จิตก็สามารถที่จะคิดถึงอารมณ์นั้น หรือว่ามีอารมณ์นั้นเป็นปัจจัยที่จะให้จิตนั้นเกิดขึ้นอีก
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เริ่มรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ตั้งแต่เกิดมาพบทุกอย่าง หลายอย่าง หลายเรื่อง ทุกวัน แล้วทำไมมีความสนใจในเฉพาะอย่าง ไม่เหมือนกันสักคนหนึ่ง ก็เป็นเพราะเหตุว่า ขณะใดก็ตามที่คุ้นเคยกับอารมณ์ใด ด้วยความพอใจก็จะมีการคิดถึงอารมณ์นั้นบ่อยๆ ไม่ใช่ว่าเราเลือกอารมณ์ แต่หมายความว่า แม้จิตจะคิดก็คิดตามสิ่งที่เคยผ่าน ไม่ว่าจะเคยมากน้อยสักเท่าไรก็ตาม รู้เรื่องนั้นถี่ถ้วนละเอียดละออ หรือว่าอีกเรื่องหนึ่งไม่สนใจเลย นั่นก็เป็นเพราะเหตุว่า แม้แต่ว่าอารมณ์นั้นเป็นที่พอใจมากน้อยแค่ไหน
ด้วยเหตุนี้ เกิดมาพอใจอารมณ์ไหนมาก สิ่งที่ปรากฏทางตา แน่นอน ถูกต้องหรือไม่ คนไทยได้ชื่อว่า สำหรับชาวต่างประเทศเขาจะบอกว่า ไม่ได้พูดถึงความเก่งหรือความสามารถ แต่จะพูดว่าสวยหรือไม่ ทางตาอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แทนที่จะพูดถึงความสามารถ ความเก่ง ความฉลาด หรืออะไร คำถามแรกคือสวยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพี่เป็นน้อง เป็นใครก็ตามแต่ สวยหรือไม่ นี่ก็จะเป็นคำถามแรก สำหรับรูปร่างหน้าตา สำหรับเสื้อผ้า สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง แสดงให้เห็นว่าเป็นอุปนิสสยะ แต่ว่าสิ่งเดียวกันนี่แหละ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ถ้ามีความเข้าใจถูก เห็นหรือไม่ อารมณ์เดียวกัน สิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างเดียวกัน แต่ว่าเมื่อมีความไตร่ตรอง ได้ฟังธรรม ได้มีการเริ่มเข้าใจถูก ขณะนั้นก็เป็นที่พึ่ง จากการที่เห็นก็เห็นไป สวยก็สวยไป แต่ว่าเป็นที่พึ่งหรือเปล่า เป็นที่พึ่งจริงๆ หรือเปล่า แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในสิ่งที่ปรากฏ สิ่งเดียวกัน คนหนึ่งชอบ อีกคนหนึ่งกำลังเริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นมีคำว่า อารมณ์ของบิดา คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระบิดาของผู้ที่ฟัง และก็มีความเข้าใจ และก็อบรมเจริญปัญญา จนสามารถจะได้รับมรดก เพราะเหตุว่าลูกทั้งหลายก็ได้รับมรดกจากบิดามารดา เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ที่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็เริ่มที่จะรู้จักความหมายของ อารมณ์ของบิดา ต้องไม่ใช่อารมณ์ของคนไม่รู้ ปกติธรรมดา เห็นแล้วก็ไม่รู้ ได้ยินแล้วก็ไม่รู้ แต่พอได้ฟังพระธรรม ก็เริ่มรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คืออารมณ์ของบิดา ซึ่งจะเป็นที่พึ่ง ซึ่งจะเป็นอุปนิสสยโคจร ใช้อีกคำหนึ่งแล้ว ไม่ใช้คำว่าอารมณ์ แต่ใช้คำว่า โคจร อารมณ์ของบิดา
เพราะฉะนั้นขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏ และก็กำลังเริ่มฟัง เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสามารถที่มีการเห็นประโยชน์ของวาจาสัจจะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสทุกคำ ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้อารักขา ทำให้ขณะนั้นไม่เป็นอกุศลในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็เป็นอารักขโคจร
จากการที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง แล้วก็เริ่มจะรู้ว่าอะไรเป็นที่พึ่ง อะไรไม่ใช่เป็นที่พึ่งในสังสารวัฏฏ์ จนกระทั่งสามารถที่จะไม่ลืม สิ่งที่ได้ฟังที่เป็นประโยชน์ ทำให้แม้ขณะนี้ก็สามารถที่จะรู้ว่า ประโยชน์จริงๆ ของการเห็น ไม่ใช่เพียงเห็น ติดข้อง และดับไป แต่ประโยชน์จริงๆ ของการเห็น คือสามารถรู้ความจริง ว่าขณะที่เห็นเกิดขึ้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่ใช่ของใครเลย หลังจากที่เข้าใจว่า เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่แท้ที่จริงก็คือว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาแสนสั้น เพียงเกิดขึ้นปรากฏ และดับ แต่ซ้ำจนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตสัณฐาน ให้ไม่รู้ต่อไป ให้หลงยึดถือ ให้หลงเข้าใจต่อไป
เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น อารักขา เพราะเหตุว่าความเข้าใจ ทำให้ขณะที่คนอื่นเห็นแล้วเป็นอกุศล สำหรับคนนั้น เห็นแล้วเป็นกุศล เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการคิดนึกเรื่องใดๆ ก็ตาม หรือว่าเป็นการเห็น การได้ยินเมื่อไร วันไหนก็ตาม ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ฟังวันนี้แต่ไม่รู้ว่าจะอารักขาเมื่อไร ใช่หรือไม่ เพราะเหตุว่าอกุศลที่สะสมมามากมายมหาศาล อยู่ในความมืดสนิทมาแสนนาน กว่าที่จะเข้าใจความจริง ก็ต้องอาศัยพระธรรมเป็นแสงสว่าง เป็นที่พึ่งที่จะออกจากความมืด หรือว่าสิ่งที่ถูกพันธนาการ ผูกพันไว้ทั้งตัว ถูกผูกไว้แน่นหนา แล้วก็ยังมีอะไร มัดแน่นใส่กุญแจไว้อีก ขังไว้ในห้องอีก ประตูรั้วก็ปิดอีก แล้วจะออกไปอย่างไร
เพราะฉะนั้นเข้าใจความจริง ไม่ใช่รีบร้อนจะไปทำอะไร โดยที่ไม่เข้าใจ ด้วยเหตุนี้ ที่ใช้คำว่า ปัญญาในภาษาบาลี ก็คือความเข้าใจ ไม่ต้องไปใช้ภาษาอื่น กำลังเห็น เข้าใจหรือเปล่าตามที่ได้ฟัง เพียงแค่ว่า เป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นด้วย ตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจะต้องการทรัพย์สมบัติอื่นใด ชื่อเสียง เกียรติยศ หรืออะไรหรือไม่ ในเมื่อทุกอย่างเพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปหมดในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน ไม่เหลือเลย แม้แต่วันนี้ สิ่งที่เมื่อวานนี้เกิดขึ้นก็ไม่เหลือ
เพราะฉะนั้นพอถึงพรุ่งนี้ วันนี้จะไม่มีอะไรเหลือสำหรับพรุ่งนี้ นี่คือมีที่พึ่ง ที่จะไม่ยึดถือ ที่จะเริ่มเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริง แต่พระธรรมไม่ใช่เพียงเท่านี้ ทรงแสดงความจริงถึงที่สุด ที่จะทำให้รู้ความจริง จากความมืดสนิท มาสู่ความสว่าง แต่ว่ากว่าจะถึงความสว่าง ก็ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง และก็เริ่มเข้าใจว่า อะไรเป็นที่พึ่งเป็นแสงสว่างจริงๆ ที่จะนำไปสู่โคจรสุดท้าย อุปนิพันธโคจร ไม่อย่างนั้นจะทรงแสดงพระธรรมโดยนัยหลากหลายหรือไม่ โดยอารมณ์ โดยโคจร และก็ประมวลไว้เป็นถึง ๓ อย่าง ที่ตั้งแต่วันนี้ เริ่มเข้าใจหรือวันก่อนๆ ที่เริ่มเข้าใจ ก็เป็นอุปนิสสยะ ที่อาศัยที่มีกำลัง
เมื่อเช้าฟังวิทยุธรรมหรือเปล่า ตอนเย็นฟังหรือเปล่า ตอนกลางคืนฟังหรือเปล่า อุปนิสสยโคจรสะสมมา ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครสามารถจะบังคับ หรือดลบันดาลให้เกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ได้ฟังพระธรรมแล้ว มีอะไรเป็นที่พึ่ง เห็นมาแล้วมากมาย ได้ยินมาแล้วมากมาย เป็นที่พึ่งหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นถ้าไม่ฟังพระธรรม ข้อสำคัญคือ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง จึงจะสามารถเป็นอุปนิสสสยโคจร ซึ่งจะอารักขา เป็นอารักขโคจร ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ปรากฏ ร้ายที่สุด เลวที่สุด หรือดีที่สุด น่าพอใจที่สุด ธรรมที่ได้ฟังก็อารักขา ให้ไม่หวั่นไหวเลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะไม่มีเรา ไม่ใช่เรา แต่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เราอยู่ที่ไหนในสังสารวัฏฏ์มานานแสนนาน และเป็นอะไรแล้วเดี๋ยวนี้ อยู่ที่ไหน ยังคิดถึงอยู่หรือเปล่า ยังหวังจะรู้อยู่ทำไม ใช่หรือไม่ ในเมื่อทั้งหมดที่ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถที่จะให้ความจริงได้เลย
ด้วยเหตุนี้จึงสามารถจะมีความเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ที่สามารถจะทำให้เห็นถูก เข้าใจถูกในความจริงว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งหนึ่ง เช่นเห็นเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นสิ่งหนึ่ง เสียงเป็นสิ่งหนึ่ง ได้ยินเป็นสิ่งหนึ่ง เป็นชีวิตประจำวันทั้งหมด เพียงเกิดปรากฏแล้วหมดไป จะรีบร้อนไปทำอะไรให้รู้ความจริง ซึ่งเป็นอริยสัจจ์ ได้หรือไม่ ในเมื่อไม่มีความเข้าใจ เพราะฉะนั้นการฟัง สำคัญที่สุดคือเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม แม้แต่คำว่า เป็นธรรม ถึงหรือยัง
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 841
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 842
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 843
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 847
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 849
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 850
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 851
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 852
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 853
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 854
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 856
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 857
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 860
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 861
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 862
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 865
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 868
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 871
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 874
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 877
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 878
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 880
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 881
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 882
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 883
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 884
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 885
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 888
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 890
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 892
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 893
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 894
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 895
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 896
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 897
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 898
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 900