พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๗๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม แม้แต่คำว่า เป็นธรรม ถึงหรือยัง ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ ถึงความเข้าใจ ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏนี้ เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นจริงๆ นั่นคือรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่บอกได้ นี่ก็เป็นธรรม นั่นก็เป็นธรรม แต่ว่ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นธรรม หรือว่ายังไม่ถึงความเป็นธรรมตามที่ได้เข้าใจ

    ด้วยเหตุนี้ จากการที่เป็นอุปนิสสยโคจร และก็สามารถที่จะอารักขา ไม่ให้อกุศลจิตเกิดบางครั้งบางคราว จนกระทั่งในขณะที่ฟังนี้ แล้วก็มีความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งไม่ว่ากาลไหน มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เข้าใจตามที่ได้ฟัง เป็นอุปนิพันธโคจร ถ้าจะใช้อีกชื่อหนึ่ง สติปัฏฐาน แต่ไม่จำเป็นต้องไปติดที่ชื่อ ชื่อจะทำให้บังสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าบอกว่าพระผู้มีพระภาคตรัสรู้อะไร ตรัสรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ผิดหรือถูก ใช่หรือไม่

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะที่ตรัสรู้ความจริง ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งนั้น และเมื่อทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงว่าสิ่งที่ดับไปแล้ว ใครจะไปรู้ความจริง ได้หรือไม่ และสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ใครจะรู้ความจริง ได้หรือไม่ แล้วจะไปไหน ในเมื่อสิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ แล้วไม่รู้ แต่คิดว่าจะไปรู้อย่างอื่น ก็เรียกว่าไม่ตรงตามพระธรรมที่ทรงแสดง

    ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรมทั้งหมด เพื่อมีความเข้าใจที่มั่นคง ที่ถูกต้อง จนกระทั่งวันหนึ่ง สามารถที่จะเริ่มเข้าใจเห็น ในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งขณะนั้นไม่มีอย่างอื่นเลย เพราะว่าขณะเห็นต้องมีแต่เห็น และสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ขณะนั้นก็เป็นอุปนิพันธโคจร อารมณ์นั้นทำให้ไม่พลาดไปจากขณะที่กำลังปรากฏ เพราะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าขณะนั้นเท่าที่ได้ฟังมาทั้งหมด ก็เพื่อให้รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ใช่ลักษณะนั้น ก็เป็นแต่เพียงขั้นคิด หรือขั้นเข้าใจ แต่ว่าลักษณะที่มี และก็มีความเข้าใจในลักษณะนั้นแค่ไหน ถึงความเป็นอุปนิพันธะหรือยัง

    เพราะเหตุว่าเพียงบางครั้งบางคราว อาจจะมีปัจจัยที่แข็งปรากฏ อย่าลืม ลักษณะแข็งปรากฏ ซึ่งแข็งก็เป็นแข็งตลอดเวลา แต่ว่าลักษณะแข็งปรากฏจริงๆ ด้วยดีหรือเปล่า ด้วยดีคือตามความเป็นจริง ว่าเป็นเพียงแข็ง เพราะเหตุว่าปกติธรรมดา แข็งเป็นสมุด แข็งเป็นโต๊ะ แข็งเป็นรองเท้า ไม่ได้คิดถึงลักษณะแข็งจริงๆ ซึ่งเพียงปรากฏนิดเดียว นิดเดียวจริงๆ แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตาม ที่ลักษณะของธรรมปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นผู้ที่จะรู้ตามความเป็นจริง โดยความเข้าใจที่ได้สะสมมาว่า ขณะนั้นเข้าใจหรือไม่ ว่านี่คือสิ่งที่มีจริง ที่กำลังปรากฏให้รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะแข็ง เสียง กลิ่น รส หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ โดยนัยเดียวกัน เป็นแต่เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ กว่าจะถึงอุปนิพันธโคจร คือไม่ว่าจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ตามที่เข้าใจ ตามที่ได้สะสมมา ไม่หวั่นไหว ไม่มีการเดือดร้อนว่า จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มี เพราะเหตุว่าชำนาญหรือว่าคุ้นเคย หรือว่าเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ ในลักษณะที่เป็นธรรม พอที่สติเกิด หรือว่าลักษณะนั้นปรากฏเมื่อไร ก็รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรม ไม่ต้องพูดด้วยว่าเป็นธรรม แต่ว่าลักษณะนั้นมีจริง ตามที่ได้ทรงแสดงไว้

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเบื้องต้น เป็นที่พึ่ง ตั้งแต่อุปนิสสยโคจร มีหรือยัง ตามลำดับ จะไปถึงลำดับสุดท้ายไม่ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง อุปนิสสยโคจร อารมณ์ธรรมดาอย่างนี้ แต่เริ่มฟัง แล้วเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ใครตอบไม่ได้เลย นอกจากตัวเอง เป็นผู้ที่ตรง สัจจบารมี ไม่รู้คือไม่รู้ หรือรู้คือรู้ แล้วรู้บ่อยไหม อารักขาหรือเปล่า ขณะนี้จิตเป็นอกุศล จะมีอารักขา ธรรมที่เกิดขึ้นหรือเปล่าว่า ไม่ใช่กุศล และก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรสะสม เพราะว่าถ้าสะสมไป ก็ไม่ใช่ที่พึ่ง เกิดมาแล้วภัยมากมายหรือไม่ เรื่องที่ไม่น่าพอใจก็เป็นภัย ถ้าทำให้จิตนี้ไม่สงบ แล้วก็หวั่นไหว

    เพราะฉะนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า อกุศลทุกประเภทไม่ใช่ที่พึ่ง เพราะฉะนั้นที่พึ่งต้องไม่ใช่อกุศล และกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี จะมีแต่เพียงกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เป็นที่พึ่งหรือเปล่า เช่นทาน การให้ ผลก็คือว่าเมื่อเป็นการเสียสละวัตถุ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น จิตใจขณะนั้น เป็นจิตใจที่ไม่ได้ทำร้ายใครเลย สามารถที่จะไม่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นผลก็คือว่า มีสิ่งที่ปรากฏที่ดี น่าพอใจ แต่ว่าเท่านั้นหรือ เพียงแต่ว่าทำกุศลทั้งหลาย ไม่ประกอบด้วยปัญญา ผลก็คือว่าได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้อะไรก็แล้วแต่ เท่านั้นหรือ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีความเข้าใจในความต่างของแม้แต่สิ่งที่ปรากฏ จากอุปนิสสย ก็ระลึกเสีย รู้ตัวเสีย ว่าขณะนี้มีที่พึ่งจากอกุศลหรือเปล่า เวลาที่อกุศลกำลังจะเกิด หรือเกิดแล้ว มีที่พึ่งหรือไม่ ที่จะไม่เป็นอกุศลในขณะนั้น ไม่ใช่ใครเลือกได้ แต่จากการเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีว่า แท้ที่จริงแล้วเพียงเกิด และก็ดับ เป็นธาตุที่เป็นอย่างนี้มานานแสนนาน ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น จนกว่าจะถึงอุปนิพันธโคจร ก็เป็นที่พึ่งตลอดตามลำดับ ตั้งแต่อุปนิสสยโคจร อารักขโคจร อุปนิพันธโคจร

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์กล่าวถึง อุปนิสสยโคจร เป็นประการแรก ก็พูดถึงอารมณ์ท่านอาจารย์แสดงว่า จิตเกิดขึ้นก็ต้องมีอารมณ์ บางครั้งก็เป็นอกุศล บางครั้งก็เป็นกุศล ท่านอาจารย์ครับ สำคัญที่อารมณ์ หรือสำคัญที่การสะสมมา อารมณ์กับอุปนิสัย

    ท่านอาจารย์ อารมณ์เป็นสิ่งที่ปรากฏเวลาที่จิตรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นรูปารมณ์ ถ้าใช้ภาษาบาลี เป็นรูปารมณ์ แล้วรูปารมณ์ บางคนก็บอกว่าไม่ได้มีอิทธิพลอะไร เพราะไม่สามารถจะรู้อะไร เพราะฉะนั้นอะไรทำให้ติดข้องในอารมณ์ที่น่าพอใจ ก็ต้องเป็นความไม่รู้ ใช่หรือไม่

    เพราะฉะนั้นอารมณ์ของความไม่รู้ กับอารมณ์ของความเข้าใจถูก นี่ก็ต้องต่างกัน เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงอารมณ์ธรรมดา กับโคจร ที่เป็นอุปนิสสยโคจร หรืออารมณ์ของบิดา คืออารมณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เป็นอารมณ์เดียวกัน อารมณ์ไม่ได้เปลี่ยน แต่ทำไมมีชื่อว่า อุปนิสสยโคจร เพราะเหตุว่าเมื่อมีการคุ้นเคยกับอารมณ์นั้นบ่อยๆ ก็เป็นการที่จะมีอุปนิสัยในการที่แสวงหาอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นอารมณ์นั้นก็เป็นที่แสวงหาของโลภะ ของความติดข้อง แต่เวลาที่ฟังธรรมเข้าใจแล้ว อารมณ์นั้นถ้าไม่ปรากฏ ปัญญาจะรู้อะไร อย่างขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริง เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วก็กำลังปรากฏในขณะที่เห็นด้วยในขณะนี้ แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจถูกในสิ่งนั้น ใช่หรือไม่ อารมณ์นั้นก็เป็นอารมณ์ของโลภะ ไม่ใช่เป็นอุปนิสสยโคจร ซึ่งเป็นที่พึ่ง

    เพราะฉะนั้นการที่เราจะกล่าวถึงว่า อารมณ์ทั้งหลาย มี แต่เพราะไม่รู้จึงติดข้อง แต่อารมณ์ทั้งหลายก็เป็นอารมณ์ของความรู้ ความเข้าใจได้ เมื่อมีความเข้าใจ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะพูดถึงอารมณ์ แต่จิตอะไรที่กำลังรู้อารมณ์นั้น

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหลาย เกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่เกิดโดยลอยๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นอารมณ์ของอะไร เป็นอารมณ์ของความไม่รู้ หรือว่าเป็นอารมณ์ของความเข้าใจถูก ตัวอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น แต่อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และติดข้อง หรือเป็นอารมณ์ของความเข้าใจที่มีในอารมณ์นั้น

    อ.อรรณพ อย่างผู้ที่แม้จะสะสมอุปนิสัยในการสนใจธรรม เข้าใจธรรมมา แต่เกิดในยุคสมัยที่ไม่มีคำสอน คือไม่มีอารมณ์ที่เป็นพระธรรมคำสอน ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้สะสมความเข้าใจ หรือระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ หรือแม้ยังมีคำสอน แต่ไม่ได้ยินได้ฟัง

    อ.อรรณพ หรือมีคำสอน แล้วก็ไม่ได้ยินได้ฟัง หรือถ้าตรงข้าม แม้เกิดในสมัยที่มีคำสอนสมบูรณ์ แต่ไม่ได้สะสมมา ก็เลยเหมือนกับเป็นทางอารมณ์ แล้วเป็นทั้งอุปนิสัยที่สะสมมา

    ท่านอาจารย์ ก็ตามการสะสม ว่าสะสมความไม่รู้ หรือว่าความรู้ ความติดข้องหรือความไม่ติดข้อง

    อ.อรรณพ ใช่ โคจร ๓ โคจรที่เป็นเบื้องต้นคืออุปนิสสยโคจร เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวขยายมานิดหนึ่งก็พอเข้าใจว่า ถ้าพูดถึงคำว่า อารัมมณะ ก็คือจิตเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์ แต่ท่านใช้คำว่า โคจร นี่คือเป็นอารมณ์ที่เป็นที่แสวงหา เป็นที่ๆ สะสมมาที่จะสนใจ อย่างเช่นสนใจพระธรรม ก็ใฝ่หาพระธรรมที่ถูกต้อง และสะสมความเข้าใจไป

    ท่านอาจารย์ เป็นอารมณ์ของบิดา ใครเป็นบิดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีมรดกเยอะ แต่ว่าใครจะรับหรือไม่รับมรดก เพราะฉะนั้นแม้แต่ปัญญาก็ต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้ ไม่อย่างนั้นปัญญาจะไปรู้อะไร จะไปเข้าใจอะไร ถ้าไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ก็มีเห็น เป็นอารมณ์ของบิดา หรือว่าเป็นอารมณ์ของอวิชชา ใช่หรือไม่ แม้แต่การที่จะสะสมอุปนิสัยในอารมณ์นั้น อุปนิสัยในอารมณ์นั้น อารักขาก็อารักขาในอารมณ์นั้น ไม่ใช่ขณะอื่น หรือแม้แต่อุปนิพันธะก็ในอารมณ์นั้นที่ปรากฏ ไม่ใช่อารมณ์อื่น

    อ.อรรณพ การที่จะค่อยๆ มีพระธรรมคำสอนเป็นโคจร หรือเป็นอารมณ์ให้สะสมอุปนิสัย จุดเริ่มต้นคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้ คุณอรรณพบอกว่า ถ้าไม่ฟังเลย หรือว่าพระธรรมอันตรธาน แล้วจะมีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นจุดเริ่มคือเข้าใจ จากไหน

    อ.อรรณพ จากความศรัทธา และความเห็นประโยชน์ เป็นเบื้องต้น

    ท่านอาจารย์ คิดเองไม่ได้เลย ใช่หรือไม่ แล้วใครที่เป็นผู้กล่าวคำว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    อ.อรรณพ เมื่อสักครู่ก่อนที่จะมีการสนทนา ผมเปิดข้อความบรรยายธรรมฟัง ก็ตรงกับเมื่อสักครู่ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า กำลังฟังคำของใคร คำที่กำลังฟัง ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไร แต่เป็นจากคำของใคร ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุดในสากลจักรวาล ท่านอาจารย์ใช้คำนี้ ผมก็กล่าวจากที่ได้ฟังเมื่อสักครู่ ก็เหมือนเป็นจุดเริ่ม เมื่อผู้ที่มีความศรัทธา แล้วก็มีความเห็นประโยชน์ว่า ไม่ใช่ไปฟังคำของนักปราชญ์อะไรทั่วๆ ไป

    ท่านอาจารย์ แล้วบุคคลในครั้งโน้น จะกล่าวอริยสาวิตรีก็ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว จึงกล่าวคำว่า ขอถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง และก็ขอถึงพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง เมื่อฟังแล้วรู้ว่าพึ่งได้ ใช่หรือไม่ เพราะว่าเข้าใจสิ่งที่มี โดยที่ไม่สามารถที่จะคิดเอง เข้าใจเองได้ แต่ถ้าเป็นคำคนอื่น พึ่งได้หรือไม่ ให้ไปทำอย่างนั้น ให้ไปทำอย่างนี้ และก็ให้รู้การเกิดดับของสภาพธรรม แต่ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย ไม่เข้าใจแม้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นคำนั้นเป็นที่พึ่งหรือเปล่า ก็ต้องเป็นผู้ที่สามารถที่จะพิจารณาได้ ว่าคำจริงต้องเป็นคำที่พูดถึงสิ่งที่มีทุกขณะ ไม่ว่าขณะไหน เช้าสายบ่ายค่ำก็แล้วแต่ และคำจริงนั่นก็คือ กำลังกล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น เพื่อให้เข้าใจถูก เห็นถูกความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าอย่างนี้จะไม่จริงได้อย่างไร แต่ถ้าให้ไปทำอย่างอื่นจะจริงได้อย่างไร เพราะว่าเขาไม่ได้เข้าใจความสำคัญของคำว่า ความเข้าใจถูกหรือปัญญานั่นเอง

    อ.อรรณพ ถ้าถามว่าที่พึ่งคืออะไร จะตอบสูงสุดโดยที่จำจากพระสูตรเมื่อวานนี้ ก็คือที่พึ่งสูงสุด คือพระนิพพาน หรือจะบอกว่า ชาวพุทธก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เป็นพระรัตนตรัย เมื่อวานก็คุยกันว่า ปัญญาเป็นที่พึ่ง ดูเหมือนว่าจะตอบอะไรก็ได้

    ท่านอาจารย์ ข้อแรกมีนิพพานเป็นที่พึ่ง ใช่หรือไม่ หมายความว่า ใครก็ตาม พูดตามคำที่ได้ยิน มีพระนิพพานเป็นที่พึ่ง นิพพานคืออะไร จะพึ่งแท้ๆ รู้ไหมว่าคืออะไร ยังไม่รู้ แล้วไปพึ่งได้อย่างไร

    อ.อรรณพ ถ้ายังไม่ถึงนิพพาน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็กล่าวกันอยู่ตลอด ผู้ที่กล่าวว่าเป็นชาวพุทธก็กล่าวว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ก็กล่าวกันอยู่ แต่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำแรก พึ่งใคร

    อ.อรรณพ พระพุทธ

    ท่านอาจารย์ แล้วพระพุทธ เป็นใคร ต้องเข้าใจ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ได้ยินก็พึ่ง แล้วพึ่งอะไรก็ไม่รู้

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นปัญญาที่เข้าใจ ในความเป็นพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ตัวปัญญานั้น จึงจะเป็นที่พึ่ง

    ท่านอาจารย์ มรดก ที่มอบให้

    อ.อรรณพ มรดก คือปัญญา

    ท่านอาจารย์ ให้อะไร ไปให้อวิชชาหรือ หรือไปให้โลภะ หรือไปให้โทสะ

    อ.คำปั่น จริงทุกคำที่ได้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อสักครู่ กล่าวถึงว่าจุดเริ่มต้นคือความเข้าใจถูก เห็นถูก แล้วความเข้าใจถูก เห็นถูก จะเกิดขึ้นเป็นไปได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยการฟังความจริง ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง การที่จะเข้าใจธรรมได้ ต้องมีองค์ประกอบหลายประการทีเดียว

    พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ผู้นั้นได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งมีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษา และก็ไม่ใช่เพียงแค่ฟังครั้งเดียว ก็ต้องสะสมต่อไปบ่อยๆ เนืองๆ จนเป็นที่พึ่งที่อาศัยที่มีกำลัง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ คนที่จะรู้ว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ก็ต้องเริ่มต้นจากรู้ว่า ภัยคืออะไร และพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คืออะไร จึงจะเป็นที่พึ่งได้ ก็จะขอความกรุณาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ ภัยคืออะไร

    ผู้ฟัง เห็นแล้วติดข้อง เห็นแล้วไม่รู้ ได้ยินแล้วไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ภัยจริงๆ คือเกิดขึ้น และดับไป

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า ถึงแม้จะเป็นกุศล แต่เกิดแล้วดับก็เป็นภัย

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด สภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ทุกคนไม่อยากให้ดับเลย อยากให้เป็นอย่างนี้ไปอีกนาน เกิดมาแล้วอยากจากโลกนี้ไปเร็วๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เย็นนี้ดีหรือไม่ พรุ่งนี้ดีหรือไม่ ยังอยากอยู่ ยังอยากเห็น ยังอยากได้ยิน แต่ใครยับยั้งได้ การเกิดขึ้น และดับไป ของสิ่งที่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่เห็นความจริงอย่างนี้ ไม่เห็นภัย ก็สบายดี เห็นแล้ว ก็ได้ยิน แล้วก็คิดนึกต่างๆ ใช่ไหม เรื่องราวมากมายเยอะแยะ แต่ถ้ารู้จริง ใช้คำว่า รู้จริง อะไรเป็นภัย เพียงเกิดแล้วดับ แล้วไม่มีใครเลยทั้งสิ้น ที่เคยเป็นเรามานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดแล้วดับ แล้วก็ไม่กลับมาอีกด้วย และก็เป็นอย่างนี้ไปทำไม มีประโยชน์อะไร แค่เกิดมานิดเดียว ปรากฏเล็กน้อยมาก มากที่สุดที่จะคิดไปว่าเล็กน้อยแค่ไหน แล้วก็ดับไปเลย ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ไม่ให้ดับก็ไม่ได้ ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหนื่อยไหม

    บางคนเขาก็บอกว่า เขาไปดูการเกิดดับเสียจนเหนื่อย ก็แสดงให้เห็นว่าดูอย่างไร ไม่ใช่ปัญญาแน่ๆ ดูจนเหนื่อย ก็ที่เวียดนาม ที่เวียดนามก็มีหลายความคิด หลายสำนักเหมือนกัน แต่ที่แบ่งแยกจริงๆ ก็คือปฏิบัติกับศึกษาให้เข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นคนที่ได้ฟังแล้ว ก็เริ่มความเห็นถูกก็มี แต่คนที่มั่นคงเหลือเกิน แม้แต่ก่อนที่จะกลับ ก็อุตส่าห์ไปหาถึงห้องนอน ก็คือคนที่ปฏิบัติ แต่ก็ยังดีที่ฟังธรรม

    เพราะฉะนั้นเราก็รู้ว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นธาตุ ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้เลยจริงๆ การที่เกิดมาได้พบกัน ได้เป็นเพื่อนหวังดี ก็คือว่าให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าเขาเต็มใจฟัง เพราะฉะนั้นคนนี้ก็เป็นคนที่มั่นคงในเรื่องปฏิบัติ เวลาที่ฟังเรื่องเหตุผล หน้าตาเขาจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่มีความสุขเลย และในที่สุดเขาก็บอกว่า เขาไปปฏิบัติ เขาไปดูเกิดดับจนเหนื่อย ไม่มีการเข้าใจถูกแม้แต่ว่า ปัญญาไม่ได้เหนื่อย ปัญญาเหนื่อยไม่ได้เลย ปัญญาจะเกิดร่วมกับอุเบกขา ความรู้สึกไม่สุข ไม่ทุกข์หรือโสมนัส จะไม่เหนื่อยเลย ใช่หรือไม่ เพราะขณะนั้นกำลังเห็นถูก

    เมื่อวานนี้ก็มีท่านผู้หนึ่ง ท่านบอกว่าปกติเวลาได้สิ่งของ เป็นลาภอะไรจากใครๆ ท่านก็พอใจ แต่พอเข้าใจธรรม เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งใดๆ ที่ท่านได้มาแล้ว และที่ท่านเคยปลื้มปิติ ไม่เหมือนความปลื้มปิติ ที่ได้เข้าใจความจริงที่กำลังปรากฏ นี่ก็แสดงเห็นว่าธรรมฝ่ายดี ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดทุกข์หรือเหนื่อย เพราะฉะนั้นผู้นี้ก็ยังดี คือยังฟัง เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะไตร่ตรองไป พิจารณาไป แต่ก็ไม่ทราบว่าอวิชชาที่หนาแน่น หนักมาก ลิ่มสลักที่ออกไปไม่ได้ ที่กั้นไว้ จะค่อยๆ คลาย และค่อยๆ ยกขึ้นได้เมื่อไร แต่ถ้าตราบใดที่ยังฟังอยู่ ก็ยังเป็นผู้ที่ยังพิจารณา ไตร่ตรองในเหตุผล

    ด้วยความไม่รู้ กลัวทุกข์ยากลำบาก กลัวนั่นกลัวนี่สารพัด ใช่ไหม แต่ไม่รู้เลย ที่น่ากลัวที่สุดคือ สิ่งที่เพียงเกิดแล้วดับไป อย่างอื่นยังเยียวยาได้ ใช่หรือไม่ แก้ไขได้ ไม่สบายไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล กินยาก็พอบรรเทาไปได้ แต่ขณะนี้สภาพธรรม ถ้ารู้จริงๆ เกิดแล้วดับ ไม่มีเราเลย แต่มีสิ่งซึ่งเป็นอะไรก็แล้วแต่ เกิดแล้วก็ดับๆ อย่างนั้น เป็นภัยหรือไม่ คือไม่สามารถจะยับยั้งได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่จะรู้ว่าอะไรเป็นภัยจริงๆ ก็ยาก การเกิดเป็นภัย เพราะอะไร เกิดแล้วดับ นี่อีกยาวมากเลย เกิดแล้วมาพบอะไรไม่รู้ตั้งหลายอย่าง ล้วนแต่ไม่ดีๆ ก็มี ใช่ไหม เป็นทุกข์โน่นทุกข์นี่ แล้วก็ตายไป นี่คือไกลมาก จากการเกิดไปถึงการตาย แต่สิ่งที่เกิด และดับไปทันที เร็วอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ดูเหมือนว่า ถ้าไม่ฟังหรือไม่ศึกษา ก็จะไม่รู้จริงๆ ว่า ภัยก็คือสิ่งที่เกิดแล้วดับ

    ท่านอาจารย์ ภัยเห็นยาก ไม่ใช่เรากล่าวว่าเป็นภัย แต่ว่าต้องประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป จนเห็นว่าเป็นภัย

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า ในผู้เริ่มต้น ฟังให้เข้าใจว่า ความจริงที่ไม่เคยรู้เลยเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เดี๋ยวนี้บอกว่า เห็นเกิดดับ ก็ไม่เห็นเดือดร้อน ไม่เห็นว่าเป็นภัย ต้องเป็นปัญญาระดับนั้น จึงสามารถที่จะเห็นว่าทุกสิ่งที่เกิด และดับนั่นแหล่ะ คือภัยจริงๆ หนีไม่พ้น บังคับไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการฟังเข้าใจ ถ้าใส่ชื่อ อุปนิสสยโคจร ใส่ใจที่จะฟังในสิ่งที่อธิบายความจริง หรือวาจาสัจจะของพระพุทธองค์ แล้วจะเป็นปัจจัยให้รู้ขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ขึ้นมาถูกทางแล้ว คือ การฟัง

    ท่านอาจารย์ อย่างเกิดมาแล้วเจ็บไข้ เป็นภัย ใช่หรือไม่ ทุกข์ยากเดือดร้อนเป็นภัยแต่จริงๆ แล้ว ภัยแค่นั้นเล็กน้อยหรือไม่ เมื่อเทียบกับสภาพธรรมที่เกิด และดับไปเลย และไม่มีอีก ไม่กลับมาอีก ขณะที่กำลังเป็นทุกข์ ก็ยังมีเรา แก้ไขได้ ขณะเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยังเป็นเรา แก้ไขได้เหมือนกัน ทุกข์ยากก็เป็นเรา ก็แก้ไขได้ แต่ว่าภัยจริงๆ คือสิ่งซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้เลย ใครก็แก้ไขไม่ได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเปลี่ยนสิ่งที่เกิดดับ ไม่ให้เกิดดับได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ หมายความว่า ฟังให้เข้าใจอย่างนี้ ถ้าไม่ฟังก็จะไม่รู้จริงๆ ว่า ความจริงที่คิดว่า ดอกไม้สวยๆ หรือใครเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังใคร เห็นหรือไม่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ให้คนที่ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเอง เข้าใจความจริงได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    17 ก.พ. 2568

    ซีดีแนะนำ