พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
ตอนที่ ๘๗๕
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖
ผู้ฟัง เจริญพร พูดถึงเรื่องธาตุไม่รู้ สนทนากับธาตุไม่รู้ แต่เพราะอาศัยธาตุรู้ จึงจะสามารถสนทนากันรู้เรื่องได้
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นธาตุอยู่แล้วเจ้าค่ะ
ผู้ฟัง แต่ก็อาศัยธาตุไม่รู้ สนทนากับธาตุไม่รู้ หมายถึง โดยสภาวะก็ไม่มีบรรพชิตกับฆราวาส ไม่มีอาจารย์กับลูกศิษย์ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นแต่เพียง สิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป และเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้เลยเจ้าค่ะ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร แล้วก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย
ผู้ฟัง อาตมาไม่ค่อยเข้าใจว่า จะตรงประเด็นกับพระพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสว่า รูปธาตุ โผฏฐัพพธาตุ อาศัยสองอย่างนี้กระทบกันแล้ว เป็นปัจจัยให้กายวิญญาณธาตุ ธาตุในที่นี้หมายถึงสภาพที่ทรงไว้ ซึ่งกิจหน้าที่ของตนๆ อย่างเช่น รูปธาตุนี้หมายถึงธาตุไม่รู้ ใช่หรือไม่ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งอาการไม่รู้
ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ
ผู้ฟัง แล้วโผฏฐัพพธาตุ ทรงไว้ซึ่งลักษณะการกระทบกัน ก็เป็นปัจจัยให้กายวิญญาณธาตุ อย่างเช่นในขณะนี้ ก็มีสภาพอาการแข็ง ตึง ไหว อ่อน อย่างนี้
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช้คำที่เราไม่เข้าใจ แต่ใช้คำธรรมดา ที่ขณะนี้สามารถที่พอได้ยินแล้วเข้าใจทันที เช่น แข็ง หรือร้อน หรือไหว แล้วแต่ว่าขณะนี้อะไรปรากฏ เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็เป็นธาตุ ซึ่งแข็งต้องเป็นแข็ง ไม่ใช่ไหว ไม่ใช่ร้อน เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งก็มีลักษณะของธาตุนั้นๆ ปรากฏ จึงรวมเรียกสามธาตุ ที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบกาย แล้วแต่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใดจะปรากฏว่า โผฏฐัพพธาตุ คือธาตุที่สามารถที่จะกระทบกับกายปสาทรูป
เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า รูป ก็ความหมายความว่า สิ่งนั้นเกิดปรากฏเป็นลักษณะนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เช่น กายปสาท ไม่ใช่แข็ง แข็งไม่สามารถที่จะกระทบกับแข็ง แล้วก็ทำให้เกิดการรู้ขึ้นได้ แต่แข็งต้องกระทบกับกายปสาท ที่สามารถกระทบกับเย็นหรือร้อนขณะหนึ่ง อ่อนขณะหนึ่ง แข็งขณะหนึ่ง ตึงขณะหนึ่ง ไหวขณะหนึ่ง เป็นสิ่งที่สามารถปรากฏเมื่อมีการกระทบกับกาย และก็มีธาตุรู้เกิดขึ้น รู้ความอ่อนหรือความแข็งนั้น ใช้ภาษาธรรมดา แต่จะเห็นว่าทางตามีหนึ่งรูปเท่านั้น ที่ปรากฏได้ คือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นในขณะนี้ ทางหูก็มีเพียงรูปเดียว ที่ปรากฏให้รู้ได้ว่ามี คือเสียงกำลังมี กำลังปรากฏความเป็นธาตุเสียง เพราะเหตุว่ามีการได้ยินเสียง ซึ่งสภาพที่ได้ยินมีจริงๆ แต่ไม่ใช่เสียง
เพราะฉะนั้นธาตุรู้เป็นอย่างหนึ่ง และธาตุที่ไม่รู้เป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นทางตา หู จมูก ลิ้น ก็มีแต่ละหนึ่งที่ปรากฏได้เฉพาะทางนั้น เช่นสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ต้องอาศัยตา กระทบกับตา และมีธาตุเห็นเกิดขึ้น สิ่งนี้จึงปรากฏได้ ทางหู เสียงมีต้องกระทบกับรูป ที่เป็นโสตปสาทรูป ก็เป็นรูปนั้นเองที่สามารถกระทบกัน เป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นอีกธาตุหนึ่ง คือธาตุรู้
เพราะฉะนั้นทางจมูก ถ้ามีกลิ่นปรากฏก็เพราะว่า กลิ่นสามารถกระทบกับรูปที่กระทบกับกลิ่นได้ เป็นปัจจัยให้ธาตุชนิดหนึ่ง คือธาตุรู้เกิดขึ้นได้กลิ่น ทางลิ้น เวลาที่รสต่างๆ ปรากฏ ก็เพราะเหตุว่า มีรูปที่สามารถกระทบรส เป็นรูปพิเศษที่ใช้คำว่า ชิวหาปสาทรูป เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รส รสจึงปรากฏได้ แต่ละหนึ่งๆ ใน ๔ ทาง ทางตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ แต่ทางกาย สามารถจะกระทบกับแข็งก็ได้ เย็นก็ได้ ร้อนก็ได้ ตึงก็ได้ ไหวก็ได้ อ่อนก็ได้ ก็เลยรวมเรียกว่า โผฏฐัพพธาตุ แต่ก็หมายความถึงขณะนี้อะไรปรากฏ ถ้าอ่อนปรากฏขณะนี้ ไม่ต้องใช้คำว่า โผฏฐัพพะ ได้หรือไม่ ไม่ต้องใช้คำว่าอะไรเลย แต่ว่าขณะนี้ก็มีธาตุที่เกิดขึ้นรู้ลักษณะที่อ่อน อ่อนปรากฏแล้วก็หมดไป และก็ไม่มีใครไปบังคับบัญชาได้
เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นธาตุ เยอะแยะมากเลย แต่ทั้งหมดก็ประมวลไว้เป็น ๑๘ ธาตุ แล้วถ้ากล่าวโดยเฉพาะธาตุรู้ ก็ประมวลไว้เป็นวิญญาณธาตุ ๗ ใน ๑๘ ธาตุ ก็คือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้องว่า เป็นแต่ละหนึ่งซึ่งมีจริง และสิ่งนั้นเกิดขึ้น จึงปรากฏว่ามี เมื่อปรากฏแล้วก็ดับไป ก็ไม่ใช่ใครเลย เป็นแต่เพียงสิ่งที่มี เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป
ผู้ฟัง แสดงว่าจุดประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธาตุนี้ เพื่อจะให้บริษัทฟัง เพื่อจะถอนอัตตา ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เพื่อสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มี เพื่อที่จะได้รู้ความจริงว่า หลงเข้าใจว่าเป็นเรา และเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ตามความจริงก็คือ เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น และก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย แล้วจะเป็นใคร หรือจะเป็นของใครได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมดที่มีลักษณะจริงๆ ก็เป็นธาตุแต่ละหนึ่ง เสียงปรากฏแล้วมีจริง เปลี่ยนเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นธาตุหมายความถึง สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน เปลี่ยนไม่ได้
อ.อรรณพ ท่านอาจารย์สนทนากับพระคุณเจ้า เรื่องธาตุก็เป็นประโยชน์มากเลย เพราะไม่น่าเชื่อว่ามีแต่ธาตุทั้งนั้น แต่เรามีความสำคัญมั่นหมายว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องราวต่างๆ แต่ที่แท้แล้ว มีแต่ธาตุเท่านั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟัง คือฟังแล้วพิจารณาว่า จริงหรือไม่ ถูกต้องไหม ไม่ใช่เป็นการบังคับให้เชื่อ เพราะฉะนั้นแต่ละคนฟัง ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า แม้จะได้ยินคำว่า ธาตุ แม้จะมีเห็น มีได้ยิน แต่รู้ในความเป็นธาตุแต่ละหนึ่งหรือเปล่า เพียงแต่ว่ากำลังฟัง แม้แต่จะได้ฟัง ก็ยากที่จะได้ฟัง ฟังแล้วก็ยากที่จะเข้าใจ พอฟังแล้ว ยากที่จะเข้าใจ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป บางคนก็อยากจะไปทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ไปโน้นมานี่ ให้เข้าใจธาตุที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่เหตุที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าในขณะนี้สิ่งนี้เกิดแล้วดับ
เพราะฉะนั้นหนทางเดียวจริงๆ คือได้ยิน ได้ฟังความความจริง เห็นประโยชน์ของการที่ไม่หลง คือไม่รู้อยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดจนตายทุกชาติ อยากจะเป็นคนหลงหรือไม่ อยากจะไม่รู้ความจริงหรือไม่ ในเมื่อเกิดแล้วก็ต้องตายไป เพราะฉะนั้นก่อนที่จะตาย สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มี โดยความถูกต้อง จะดีกว่าที่กี่ชาติก็ไม่ได้รู้ความจริงเลย เพียงแต่เกิดมาเห็น และก็ได้ยิน แล้วคิดนึกไปต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ ใครต้องการรู้ความจริง เข้าใจความจริง หรือว่าไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร ในการที่จะเข้าใจความจริง นี่ก็แล้วแต่อัธยาศัย ห้ามไม่ได้เลย แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง มีสิ่งที่จริง กำลังปรากฏ สามารถรู้ได้ด้วย จะรู้หรือไม่ เท่านั้นเอง มีสิ่งที่มีจริงๆ แต่ไม่รู้ว่าความจริงนั่นคืออะไร ตลอดเวลา เกิดก็ไม่รู้ เจ็บก็ไม่รู้ ตายก็ไม่รู้ ทุกข์ก็ไม่รู้ สุขก็ไม่รู้ ทุกอย่างที่มีไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าพอใจที่จะไม่รู้ก็ไม่มีใครไปช่วยให้คนนั้นสนใจที่จะรู้ขึ้นได้
เพราะฉะนั้นแต่ละคน ก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งเห็นประโยชน์ของการที่ได้รู้ กับการที่ไม่รู้ แต่จริงๆ ประโยชน์มีมาก เพราะไม่รู้จึงติดข้อง เมื่อติดข้องแล้ว และก็ต้องกังวล ใช่หรือไม่ กังวลแล้วทำอะไรบ้าง ขวนขวาย แสวงหา ลำบากหรือไม่ ขวนขวาย แสวงหาก็ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นจะมีอยู่ตลอดไป สักวันหนึ่งก็พลัดพรากจากไปหมด และก็มีความทุกข์เกิดขึ้น โดยไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงก็คือว่า เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละหนึ่ง สุขก็เป็นธาตุสุข ทุกข์ก็เป็นธาตุทุกข์ เห็นเป็นธาตุเห็น ได้ยินก็เป็นธาตุได้ยิน ไม่มีใครเลย แต่เพราะความไม่รู้ ก็ยึดถือสิ่งที่มีว่าเป็นเรา เหนียวแน่น มั่นคง ลึกมาก ยากที่จะไถ่ถอน ต่อเมื่อไรได้ฟังคำที่แสดงความจริงของสิ่งที่มี ก็เป็นโอกาสที่จะไตร่ตรอง ว่าสมควรที่จะฟังให้เข้าใจต่อไปหรือไม่
เพราะแม้จะได้ยินคำว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นจึงปรากฏ เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไปจริงๆ ไม่เหลือเลย นี่เป็นความจริง แต่ยังรู้ไม่ได้เพียงฟังเท่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าได้ฟังอีก พิจารณาอีก เข้าใจอีก จนกระทั่งเป็นอุปนิสสย ที่เราใช้คำว่า อุปนิสัย สิ่งที่สะสมจนเคยชิน จนมีกำลัง เพราะฉะนั้นขณะนี้ วันนี้ใครทำอะไรบ้าง มีจิตเกิดขึ้น ธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ รู้อะไรบ้างตามอัธยาศัย แต่ก็ยังมีการรู้ว่า มีสิ่งที่มีจริง ที่ฟังแล้วเข้าใจได้ ก็มีการฟังเพื่อที่จะได้เข้าใจต่อไปเป็นอุปนิสัย ซึ่งเราได้กล่าวถึงแล้ว อุปนิสสยโคจร โคจรเป็นอีกคำหนึ่งของคำว่า สิ่งที่ปรากฏที่จิตรู้
เพราะฉะนั้นจิตต้องรู้ เกิดมาแล้วต้องรู้ รู้ทุกอย่าง แต่ว่ารู้อะไรมากน้อยต่างกัน ก็สะสมจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย เพราะฉะนั้นมีอุปนิสัยของการฟังธรรม กับอุปนิสัยของการไม่ฟังธรรม ก็แล้วแต่
อ.คำปั่น ซึ่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ แม้คำว่าธาตุคำเดียว ก็มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะเป็นการแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แสดงให้เข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพราะเมื่อกล่าวถึงธาตุแล้ว ก็คือสภาพธรรมที่ทรงไว้ ซึ่งลักษณะของตนไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แล้วก็ธาตุ ก็ครอบคลุมสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็เป็นธาตุทั้งหมด
เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็ได้สนทนากับพระคุณเจ้า และท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวถึงว่าประโยชน์ก็คือการได้สะสม ความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงว่า มีแต่ธรรม มีแต่ธาตุเท่านั้น ก็จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์เพิ่มเติมว่า เมื่อเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมว่า เป็นแต่เพียงธาตุ เป็นเพียงธรรมเท่านั้น ความเข้าใจในส่วนนี้จะเป็นเครื่องเกื้อกูล ต่อการดำรงชีวิต หรือว่าต่อความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวันอย่างไร เมื่อเข้าใจถึงความเป็นจริงของธรรมว่า เป็นแต่เพียงธาตุ เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ที่คุณคำปั่นพูดจะเกี่ยวกับคำว่า เดชหรือเตชะ หรือเปล่า ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจละเอียดทุกอย่าง ก็จะค่อยๆ เข้าใจธรรม ซึ่งเป็นธาตุได้ เตชะกับเตโช เป็นศัพท์คำเดียวกันหรือไม่ หรือคนละคำ
อ.คำปั่น เป็นคำที่มาจากคำภาษาบาลีเดียวกัน รากศัพท์จริงๆ ก็คือมาจาก เตชะ โดยศัพท์หมายถึงร้อน เป็นธรรมที่เผาผลาญธรรมที่ตรงข้ามกัน เมื่อกล่าวโดยอรรถ
ท่านอาจารย์ จะเห็นได้ ถ้าเพียงไม่มีร้อน ไม่มีอุ่น จะมีชีวิตได้หรือไม่ นี่ก็คือกำลังหรือพลังที่เราใช้ เราจะใช้คำว่าพลัง เราจะใช้คำว่ากำลัง แต่แท้ที่จริงแล้วต้องมีสภาพธรรมนั้น แล้วสภาพธรรมนั้นในภาษาบาลี ใช้คำว่า เตชะ สภาพที่ร้อน มีพลังหรือไม่ความร้อน ความเย็น ความร้อน ความอุ่นที่เหมาะสม ทำให้เกิดพืชพรรณต่างๆ ได้ เห็นหรือไม่ นี่ก็เป็นพลังหรืออำนาจเตชะอันหนึ่ง ของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุที่สำคัญด้วย
เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวแต่เพียงรูปธาตุ และเราก็ยังเห็นความสำคัญของธาตุชนิดนี้ ว่าที่ใช้กัน พระอาทิตย์ร้อน ร้อนมากเลย ไม่มีได้หรือไม่ ไม่ได้เลย เห็นหรือไม่ ทุกชีวิตหรือสัตว์โลกหรือแม้แต่พื้นดินอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญก็คืออุตุ หรือเตโช หรือเตชะ ความร้อน ซึ่งเป็นพลังอย่างหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะกล่าวถึงพลังของกุศล และพลังของอกุศล ก็ต้องมี ใช่หรือไม่ เพราะว่าที่มีการประพฤติทางกาย ทางวาจา ในทางทุจริต ก็เพราะเหตุว่าอกุศลมีกำลัง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อกุศลก็ยังถูกกุศลดับได้ ใครมีกำลังมากกว่ากัน ใช่หรือไม่ แต่กำลังนี้ก็ต้องตามธาตุ หรือตามสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ใครจะไปหาสิ่งใดที่จะเทียบเท่าความร้อนของพระอาทิตย์ มีหรือไม่ ก็ไม่ได้ ใช่หรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะไปทำ บันดาลให้เกิดได้ แต่มีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นทั้งกุศล และอกุศล ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปบันดาลให้มีกำลังถึงอย่างนั้น นอกจากสภาพธรรมนั้นเอง ที่มีกำลังเพิ่มขึ้นๆ ด้วยเหตุนี้ถ้าเราได้ทราบความหมายของคำว่า เผา หรือผลาญ หรือร้อน ก็จะรู้ว่าเมื่อมีธรรมสองฝ่ายคือกุศล และอกุศล ถ้าขณะใดที่อกุศลมีกำลัง ขณะนั้นกุศลเกิดไม่ได้ แต่ขณะใดที่กุศลมีกำลัง ขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ แต่กำลังก็ต้องค่อยๆ สะสมเพิ่มขึ้น แม้แต่กำลังที่จะมาฟังธรรม มีแล้วใช่หรือไม่ มากหรือน้อย ใครรู้ ใช่หรือไม่
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าขณะใด ที่ไม่ได้มาฟังธรรมหรือไม่ได้ฟังธรรม อะไรมีกำลัง ใช่หรือไม่ ก็คืออกุศลมีกำลัง ทั้งกุศล และอกุศล มาจากไหน ก็ต้องมาจากการที่ค่อยๆ เกิด ค่อยๆ มีเพิ่มมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นแม้แต่ที่จะกล่าวว่า การที่จะเข้าใจความเป็นธาตุ ก็มีทั้งรูปธาตุ และนามธาตุ ซึ่งหลากหลายมาก แล้วแต่ละอย่าง ก็มีกำลังตามสภาพของธรรมนั้นๆ เช่นอกุศลมีกำลัง สามารถที่จะทำลาย ทำร้ายได้ แม้แต่คิดที่จะปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลองคิดดู มีกำลังที่จะทำให้คิดอย่างนั้น แล้วทำด้วย แต่ทางฝ่ายกุศลที่ค่อยๆ สะสมไป ก็มีกำลังสามารถที่จะดับอกุศลได้ แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจความละเอียด ว่าขณะนี้มีอกุศล แล้วก็มีกุศล และต้องเป็นผู้ที่ตรงด้วย ว่าขณะนี้กำลังเป็นอะไร อย่างน้อยที่สุดการได้ยินได้ฟังธรรมบ่อยๆ การเห็นประโยชน์หรือว่า ไม่มีใครอีกแล้วในสากลโลก ในจักรวาลทั้งหมด ในแสนกัปหรือเท่าไร กว่าจะมีผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีจริงๆ กำลังปรากฏ ให้มีความเห็นถูก ให้มีความเข้าใจ เพราะขณะไม่เข้าใจ จะกล่าวว่าเป็นกุศลได้หรือไม่ ไม่เข้าใจ แต่ขณะที่เข้าใจ ก็เป็นกุศล เพราะเหตุว่าขณะนั้นเข้าใจ ไม่ใช่ไม่เข้าใจ
ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรม ก็ต้องรู้ว่า ปฐมวาจาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วก็คือว่า ได้พบนายช่างผู้สร้างเรือน ยากหรือไม่ที่จะพบ พบตัวใหญ่ๆ ตัวเล็กๆ มองไม่เห็น ไม่รู้ด้วยว่ามี แต่ว่าการที่จะดับกิเลสได้ทั้งหมด เพราะปัญญาสามารถที่จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความติดข้อง ที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ทุกชาติทุกวัน ก็เพราะว่ายังมีความติดข้อง เพราะความไม่รู้
ด้วยเหตุนี้ก็จะเห็นได้ว่า การที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ใช้คำว่า ลาภานุตตริยะ เหนือลาภอื่นใดทั้งสิ้น บางคนคิดว่า ลาภได้แก่ เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง ทรัพย์สมบัติ แต่นั้นไม่ใช่ลาภที่แท้จริง ไม่ได้ประเสริฐเลย แต่ลาภที่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น ก็คือการมีโอกาสได้ฟัง แล้วมีศรัทธา มีความมั่นคงที่จะเห็นว่า นี่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งของแต่ละชาติ ซึ่งเกิดมา เกิดมาเพียงเห็น ได้ยิน สุข ทุกข์ สนุกสนาน แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือเลย แม้ขณะเมื่อสักครู่นี้ก็ไม่เหลือ ไม่ต้องไปพูดถึงยาวไกลเลย แต่ละขณะนี้ไม่เหลือเลย
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะได้สิ่งใดมา เป็นสุขชั่วคราว หรือได้มาเข้าใจว่าเป็นของเรา ความจริงก็คือว่าไม่ใช่ แล้วก็หมดไป แต่การสะสมศรัทธา การเห็นประโยชน์ ค่าของการที่ได้ยิน ได้ฟังพระธรรม แล้วเข้าใจ จะค่อยๆ สะสมไป เป็นอุปนิสสยโคจร จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นอารักขโคจร สามารถคุ้มครองป้องกันไม่ให้อกุศลเกิดในขณะนั้นได้ แต่ต้องตามความเป็นจริง ขณะใดที่อกุศลเกิด คุ้มครองหรือเปล่า ไม่
เพราะฉะนั้นพอหรือไม่ การเข้าใจธรรมเล็กๆ น้อยๆ ไม่พอ เพราะว่าตราบใดที่ยังมีอกุศลเล็กน้อย ก็จะมากขึ้นๆ ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจถูกต้อง แล้วก็มั่นคงจนกระทั่งกุศลอารักขา ไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นได้ แม้ในบางครั้งบางคราวก็ยังดี ที่ยังมีเครื่องป้องกัน แต่ก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่าอกุศลก็ยังคงมีอยู่ เป็นรากที่ลึกมาก ยากที่จะถอนขึ้น ไม่ให้เกิดอีกต่อไปได้
ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมเท่าไรก็ไม่พอ ต้องเป็นผู้ที่ตรง ว่าสามารถที่จะเป็นอกุศลน้อยลงหรือเปล่า เพราะกุศลอารักขาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่าที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่งจริงๆ ไม่ใช่เพียงไม่ให้อกุศลเกิด และให้กุศลเกิด แต่ต้องถึงการที่จะดับอกุศล ไม่ให้เกิดอีกเลยต่อไป
เพราะฉะนั้นก็จะต้องถึงขั้นที่ได้ฟังพระธรรมเข้าใจ ปริยติ ฟังพระพุทธพจน์ ไม่ใช่เพียงได้ยิน ฟังเข้าใจขึ้นๆ ยิ่งเข้าใจ ยิ่งรู้ว่าห่างไกลต่อการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ แต่ก็มีวิริยะ มีความเพียร มีความอดทน ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นกุศล เพื่อที่ว่าจะได้เพิ่มความมั่นคงขึ้น จนกระทั่งสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยปรกติ แล้วโดยที่เมื่อไร เมื่อนั้นก็คือว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เกิดจากการเข้าใจ จะใช้ชื่อก็ใช้คำว่า สติสัมปชัญญะ แต่ก็ไม่จำเป็น ขณะนี้มีหรือเปล่า ถ้าไม่มี ก็ยังไม่ใช่ แต่ถ้าขณะใดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น จะใช้ชื่อไหนก็คือว่าหมายความถึงขณะนั้น ที่สามารถจะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นธาตุหรือไม่ คุณคำปั่น มีกำลังขึ้นหรือเปล่า เห็นหรือไม่ ไม่ใช่ว่ากำลังแค่ฟังพอแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย แต่กว่าจะรู้ถึงกำลังจริงๆ ซึ่งเป็นธรรมเตชะ ซึ่งจะทำให้มีสรณเดช ความประพฤติในชีวิตประจำวัน จรณะ หรือจริยา หมายความถึงความประพฤติความเป็นไป ที่ไม่เบียดเบียนคนอื่นเลย ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เริ่มสละความเห็นแก่ตัว เห็นแก่คนอื่น เราไม่ทำให้เขาเดือดร้อน แม้ด้วยกาย แม้ด้วยวาจา แม้ด้วยใจ พอหรือไม่ ไม่พอ อะไรๆ ก็ไม่พอ พลังหรือเตชะ ยังมีกำลังที่น้อยมาก แต่ก็สะสมเพิ่มขึ้นได้ จนกระทั่งรู้ว่า ขณะนั้นแม้ว่าไม่มีการที่จะกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ใจขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อน สงบ เพราะขณะนั้นไม่มีกิเลส ในขณะที่เป็นกุศล ก็เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ และเรื่องของปัญญา ปัญญาก็คือขณะที่สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยความไม่ใช่ตัวตน อีกไกลหรือไม่ เตชเดช กว่าจะถึงจรณเดช คุณเดช ซึ่งเป็นความสงบ แล้วก็ถึงปัญญาเดช ศีล สมาธิ ปัญญา คือสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนี้เดชน้อยมาก หรือว่าเทียบไม่ได้ เหมือนก้านไม้ขีดไฟ จะไปเผาบ้าน ได้หรือไม่ ปราสาท ราชวัง เป็นไปไม่ได้เลย มหึมาสร้างเอาไว้ใหญ่โต แล้วก็จะเอาความไม่รู้ทั้งหมดออกไปได้ทันที เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องมีความเป็นผู้ตรงๆ คือเข้าใจตามความเป็นจริงว่า แค่นี้ไม่พอ แค่ฟังเข้าใจ แล้วความประพฤติทางกาย ทางวาจา ก็เป็นไปตามที่ได้เข้าใจ แล้วก็สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เป็นวิปัสสนาญาณเมื่อไร เป็นปัญญาเดช แสดงให้เห็นว่าปริยัติไม่ใช่ปัญญาเดช
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 841
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 842
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 843
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 847
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 849
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 850
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 851
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 852
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 853
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 854
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 856
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 857
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 860
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 861
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 862
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 865
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 868
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 871
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 874
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 877
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 878
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 880
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 881
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 882
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 883
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 884
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 885
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 888
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 890
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 892
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 893
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 894
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 895
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 896
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 897
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 898
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 900