พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๗๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ ปริยัติไม่ใช่ปัญญาเดช ใช่หรือไม่ เพราะว่าได้ฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ถ้าขณะใดที่มีกำลัง จนถึงสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ก็เป็นปัญญาเดช นำไปสู่ปุญญเดช สภาพธรรมที่ขัดเกลาอกุศล คือดับกิเลสด้วยอริยมรรค ทั้งหมดเพราะธรรมเตชะ คือธรรมเดช

    เพราะฉะนั้นก็คงจะสอดคล้องกันในเรื่องของธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ใครจะดับกิเลส ใคร เป็นไปไม่ได้เลย ต้องเป็นปัญญาที่มีกำลังตามลำดับขั้นด้วย

    อ.อรรณพ เมื่อวานท่านอาจารย์ได้กล่าวประทับใจมาก เดชของความไม่รู้ โมหะ แค่ว่าฟังธรรมนี่ฟังไม่รู้เรื่อง

    ท่านอาจารย์ เหมือนคนฟังไม่รู้เรื่อง ใช่หรือไม่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นธรรม เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้เป็นธรรม เหมือนคนฟังไม่รู้เรื่อง ใช่หรือไม่ เดี๋ยวนี้สภาพธรรมเกิดดับ ก็เหมือนคนฟังไม่รู้เรื่อง แค่ได้ยิน และก็จำ แต่สามารถที่จะรู้เรื่อง คือเข้าถึงความจริง ไม่หวั่นไหวเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำ จากปฐมวาจา จนถึงคำสุดท้ายคือปัจฉิมวาจา ระหว่างนั้นเป็นมัชฌิมาวาจา ทั้งหมดทุกคำเลย ๔๕ พรรษา มีค่าอย่างยิ่ง เช่นคำว่า อารมณ์ของบิดา หาบิดาเจอหรือไม่ ผู้ให้กำเนิดพระธรรม ไม่มีใครอื่นเลย เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้น ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมณะ หรือภาษาไทยก็เรียกสั้นๆ ว่า อารมณ์ เดี๋ยวนี้ก็มี แต่อารมณ์ของใคร ของอวิชชา ใช่หรือไม่ ไม่ใช่ของบิดา ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อารมณ์อย่างนี้ ตามปกติอย่างนี้ แต่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นกว่าจะถึง ปัญญาเดช ก็จะต้องมีการเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ ว่าไม่ใช่จะถึงได้โดยง่าย ทำไมทรงแสดงให้เห็นความละเอียดอย่างนี้ เพื่อจะได้ไม่หลงเข้าใจผิดว่า สามารถที่จะละกิเลสได้โดยเร็ว โดยไม่รู้อะไรทั้งสิ้น โดยไม่มีอุปนิสัย โดยไม่มีอารักขะ โดยไม่มีอุปนิพันธะ ทบทวนชื่อเท่านั้นเอง เพราะได้กล่าวแล้วว่าทั้ง ๓ คำนี้หมายความถึงอะไร

    เพราะฉะนั้นก็จะแสดงให้เห็นแม้แต่คำว่า อารมณ์ของบิดา ก็คือธรรมดาปกติ แต่ว่าเมื่อเป็นอารมณ์ของบิดา ก็สามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนี้ อารมณ์ของใคร แล้วก็จะเป็นอารมณ์ของบิดาเมื่อไร เมื่อมีความเข้าใจถูก จนเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่นเดียวกับที่บิดาได้มีอารมณ์นั้นมาก่อน ไม่ต้องไปหาบิดาอื่น หรือไม่รู้ว่าเป็นบิดา และอารมณ์ของบิดานี้จะเป็นอย่างไร อารมณ์ของบิดาก็คือปัญญานั่นเอง ประการเดียว พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ

    ผู้ฟัง ผู้ที่ตามฟังท่านอาจารย์ สามารถฟังเข้าใจได้ว่า เป็นแค่ธรรมแต่ละลักษณะ ไม่ใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็มาฟังว่าเป็นอย่างนี้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่คืออุปนิสสยโคจร ใช่หรือไม่ ได้ยิน ได้ฟัง สะสมมาที่จะพูดตามก่อน ว่าทุกอย่างที่มีจริงขณะนี้เป็นธรรม แต่ทุกอย่างไม่พอ ต้องละเอียดจนกระทั่งเห็นเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม คือไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะที่ใครไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เริ่มเข้าใจ ได้ยินก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ต้องเข้าใจตามลำดับด้วย ไม่ใช่ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วโกรธเป็นธรรมหรือเปล่า หิวเป็นธรรมหรือเปล่า ใช่หรือไม่ บางคนก็ตอบว่าหิวก็เป็นธรรมมีจริงๆ แต่ก็ยังสงสัยว่าหิวเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม จะให้คนอื่นบอก หรือว่าขณะที่หิวเกิด ลักษณะของหิว เป็นความรู้สึก ใช่หรือไม่ เพราะเหตุว่ารูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น รูปไม่เจ็บ รูปไม่หิว รูปไม่โกรธ รูปไม่รัก ไม่ชัง ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นลักษณะอื่นจากนี้ทั้งหมด ก็คือลักษณะของนามธรรม ไม่ต้องเรียกว่านามธรรม เพราะเหตุว่าเดี๋ยวก็จะไปติดที่คำว่า นามธรรมอีก พออะไรเกิดขึ้น แทนที่จะรู้ลักษณะนั้น ก็นามธรรม โผล่มาแล้ว หรือไม่ก็นี่รูปธรรม ก็ละเลยการที่จะเข้าใจลักษณะจริงๆ ว่า สิ่งนั้นแม้ไม่ต้องเรียกชื่อ สิ่งนั้นก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปรู้ก่อน ว่านามธรรม และรูปธรรม โดยชื่อ จะได้ไปหาว่านี่นามธรรมหรือรูปธรรม เหมือนหิวเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    บางคนก็สงสัยว่าง่วง เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม บางคนก็คิดอย่างนั้น ใช่หรือไม่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ไปจำชื่อ ไปกังวลเรื่องชื่อ แต่ตามความเป็นจริง ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะซึ่งเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าไม่คำนึงถึงชื่อ ไม่มีชื่อเป็นเครื่องกั้น ลักษณะนั้นก็ปรากฏชัดเจน ไม่ต้องเรียกว่าหิว และก็ไม่ใช่แข็ง และก็ไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้นหิวเป็นหิว เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ การที่บอกว่าเข้าใจ หรือไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม เป็นธาตุ แล้วฟัง ว่าฟังแล้วจำชื่อเรื่องหรือเป็นความเข้าใจจริงๆ และเป็นปริยัติ เป็นสัจจญาณ ตรงนี้จะเป็นขั้นที่ยากจริงๆ ขอความกรุณาท่านอาจารย์ย้ำตรงนี้เพิ่มสักนิด

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ธรรมยากแน่ ธรรมลึกซึ้งแน่ กว่าจะเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้นตาม ลำดับขั้น ก็ต้องรู้ว่ากำลังเข้าใจระดับไหน ใช่หรือไม่ โกรธ ธรรมหายไปแล้ว ลืมเลยว่าทุกอย่างเป็นธรรม ใช่หรือไม่ ขณะนั้นเรา เพราะฉะนั้นแม้แต่การเข้าใจจากการฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่เวลาที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ปรากฏเป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมหรือยัง ก็ต้องอาศัยอุปนิสสยโคจร การฟัง การไตร่ตรอง เป็นความมั่นคง ก็จะทำให้ค่อยๆ เกิด อารักขโคจร ขณะนั้นสามารถที่จะระลึกได้ ไม่โกรธ เพราะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลก็ได้ แต่ก็ยังไม่พอ จนกว่าจะถึงเป็นธรรม ซึ่งเป็นอุปนิพันธะ จากระดับขั้น ซึ่งโกรธเสมอหรือว่าอาจจะหิวเสมอ หรือจะอะไรก็แล้วแต่ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นธรรม จากการที่สะสม การเข้าใจ ก็จะทำให้มีการระลึกได้ ว่าขณะนั้นอาจจะคิดถึงคำเป็นธรรม แต่คิดไปเท่าไร ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของธรรม จนกว่าไม่คิด ลักษณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น ความเข้าใจก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นว่าไม่ต้องคิด แต่ในขณะนั้น ลักษณะนั้นก็ปรากฏสั้น และก็น้อย เพราะเหตุว่าปัญญาแค่นั้นเหมือนกับว่าเข้าใจแค่ไหน แข็งกำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้ทุกคนพิสูจน์ได้ เข้าใจแค่ไหน เห็นหรือไม่ ต้องมานั่งเทียบหรือไม่ ว่าเป็นความเข้าใจขั้นปริยัติ หรือขั้นอารักขะ หรือขั้นอะไร ไม่ต้องเลย เพียงแต่เป็นผู้ที่ตรงว่า ขณะนั้นมีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งปกติไม่ได้ปรากฏอย่างนั้น

    เพราะเหตุว่าเรากระทบแข็งทั้งวัน ตั้งแต่เช้า แต่ลักษณะแข็งผ่านไปเลย เหมือนไม่ได้ปรากฏ ใช่หรือไม่ แต่กับขณะที่แข็งกำลังปรากฏ เพราะอะไร เพราะเคยฟังรู้ว่านี่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นจะไปเป็นธรรมตอนไหน ก็ต้องเป็นตอนที่ลักษณะของสภาพธรรมปรากฏจริงๆ และก็มีความเข้าใจจริงๆ ในขณะนั้นทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างเรื่องโกรธ เรื่องเห็น แต่จะขอยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นกันมากคือ ง่วง เวลาฟังธรรมจะง่วง แทนที่จะเข้าใจ ลืมไปแล้วว่าง่วงเป็นธรรม มีเหตุปัจจัยก็เกิด ก็จะไปคิดต่อว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่ง่วง ซึ่งตรงนี้ก็แสดงว่าฟังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อีกนานไหม แม้กำลังคิดว่า ทำอย่างไรจะไม่ง่วงก็เป็นธรรม ไม่เหลือเลยสักขณะเดียวที่จะสงสัย

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า ธรรมปรากฏตลอดเวลา แต่ว่าลืมหรือไม่ ว่าเป็นธรรมทุกขณะ ถ้าฟังเข้าใจก็จะค่อยๆ ไม่ลืม

    ท่านอาจารย์ แม้จะถามกัน เตือนกันว่า วันนี้ลืมอะไรหรือเปล่า ก็ตอบไปอย่างนั้นใช่หรือไม่ เร็วมาก หมดแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้นรู้เพื่อ ละความไม่รู้ ถ้ายังคงต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นเครื่องกั้น แล้วอย่างนี้จะเอาทรัพย์สมบัติ เงินทองใดใด มาแลกให้กลายเป็นไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรม เอาหรือไม่ ใครจะตอบว่าเอา

    ผู้ฟัง สองอย่าง คือเข้าใจธรรมด้วย แล้วก็สะดวกสบายกับชีวิตอะไรด้วย แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็จะรู้ว่าไม่มีอะไรมีค่า เกินกว่าปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเอาสองอย่าง ก็ไม่ต้องเลือก แต่นี่ให้เลือกอย่างเดียว ถ้าสองอย่าง แสดงว่าไม่มีค่า แต่เมื่อเป็นเพียงอย่างเดียว นั่นแหละมีค่า เพราะสามารถที่จะทิ้งอีกอย่างหนึ่งได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ลาภานุตตริยะ ลาภที่ประเสริฐที่สุดก็คือการได้ฟังพระธรรม ถ้าฟังเข้าใจก็จะคล้อยตามว่า เป็นเช่นนั้นจริงๆ และสะสมไป

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ต้องจากโลกนี้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ แต่จากไปด้วยการสามารถมีความเข้าใจสะสมไปที่จะไม่เป็นทุกข์ เพราะยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเที่ยง ซึ่งความจริงไม่เที่ยงเลย หลงอยู่ตลอดเวลา หลงอะไร หลงสิ่งที่ไม่มี เพราะเหตุว่ามีชั่วคราวแล้วดับ แล้วไม่มีอีกเลย เดี๋ยวนี้ ทุกอย่างที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ คือจากไม่มี แล้วมี คือเกิดขึ้นแล้วดับ คือหมดจริงๆ เพราะฉะนั้นหลงอะไร หลงสิ่งที่ไม่มี เข้าใจว่ายังมี ยิ่งแย่ใช่หรือไม่ หลงสิ่งที่ไม่มี

    ผู้ฟัง พระบิดามอบมรดกให้พวกเราคือปัญญา แต่พวกเราจะเป็นลูกที่ไม่ดี ยังไม่สามารถจะรับมรดกได้ นอกจากได้ศึกษาพระธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเปรียบเทียบกับชีวิตประจำวันชาวบ้านๆ ฟังไม่รู้เรื่อง บอกแล้วก็ไม่รู้ ใช่หรือไม่ บอกกี่ทีก็ไม่จำ ก็อย่างชาวบ้านที่พูดกัน ใช่หรือไม่ สอนลูก ลูกก็ไม่จำ บอกเท่าไรๆ ก็ไม่จำ ฟังเท่าไรก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง แต่ตอนนี้อย่างน้อยก็ได้มาฟังพระสัทธรรม ที่อาจารย์ได้สั่งสอน หรือได้กล่าวเตือนบ่อยๆ ก็ได้ฟัง ได้เข้าใจบ้างเล็กน้อย อาจจะได้รับมรดกวันใดวันหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสอนก็ไม่จำ สอนเท่าไรๆ ก็ไม่จำ ใครกัน ลูกหลานเด็กเล็ก หรือใคร

    ผู้ฟัง ผู้ที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่รู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ แต่อย่าลืมความเป็นธาตุ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะมีธาตุที่เป็นฝ่ายกุศล ที่เป็นความเห็นถูกค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะไปสอนใครให้เขาจำ แต่ถ้าเข้าใจ ต้องให้เขาได้พิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น

    อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ ธรรม อภิธรรม ปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ ถ้าจะเข้าใจในความเป็นจริง ที่เป็นพื้นฐานว่า ปรมัตถธรรมกับขันธ์ ๕ อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอนุเคราะห์

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงสนใจคำ ปรมัตถธรรม แล้วก็ขันธ์ ๕ สนใจที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ หรือเปล่า หรือไปสนใจคำที่ยังไม่รู้เลยว่าอะไร อย่างขันธ์ ๕ ก็ไม่รู้อะไร บางคนได้ยินคำว่า ปรมัตถธรรม ก็บอกว่าไม่รู้ว่าอะไร

    เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นการไปสนใจในคำ เพียงที่จะรู้ว่าคำนั้นคืออะไร ในสิ่งที่มีจริงๆ ดีกว่าหรือไม่ ก่อนอื่นต้องรู้ความจริงว่า จะสนใจอะไร ถ้าคำนั้นไม่ได้กล่าวให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ มีประโยชน์หรือไม่ ไม่ว่าจะได้ยินคำแปล หรือว่าคำอีกมากมายก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่าพระธรรมที่ทรงแสดง ไม่ได้ทรงแสดงเป็นภาษาไทย แน่นอน เพราะว่าชาวมคธก็ต้องพูดภาษามคธีเป็นชีวิตประจำวันที่เขาเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ใครเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในภาษาไหน ก็ต้องใช้คำในภาษานั้น เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏว่ามีจริงๆ หรือเปล่า แค่นี้ เพราะถ้าไม่คิดเลย ได้แต่ฟัง แล้วจะเอาความเข้าใจมาจากไหน เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินได้ฟังอะไรแล้ว ต้องไตร่ตรอง ต้องเข้าใจ เพื่อที่จะได้รู้ด้วยตัวเองว่า ถูกหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นคำถามธรรมดา ขณะนี้มีอะไรบ้างที่มีจริงๆ เริ่มคิด เพื่อที่จะได้เข้าใจด้วยตัวเองว่า คำที่ได้ยิน ถูกต้องหรือไม่ อะไรมีจริงเดี๋ยวนี้ แข็งมีจริง แข็งมีจริงต้องเรียกแข็งหรือไม่

    อ.อรรณพ ถ้ามีจริงๆ ก็ไม่ต้องเรียกชื่อ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องมีชื่อก็แข็ง ใช่หรือไม่ เปลี่ยนชื่อได้ไหม เรียกหวานได้หรือไม่

    อ.อรรณพ ได้

    ท่านอาจารย์ จากแข็งไปเป็นหวาน แต่ว่าเปลี่ยนความหมายหรือลักษณะของแข็งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นในแต่ละภาษา จะมีคำที่ซ้ำกัน ภาษาหนึ่ง ดำ หมายความถึงแดง และแดงหมายความถึงดำ ภาษาเวียดนาม ถ้าจะไปซื้อเสื้อผ้าก็ต้องใช้คำให้ตรง เพราะว่าความหมายเป็นอย่างนั้น

    ด้วยเหตุนี้ต้องเข้าใจก่อน ว่าสิ่งที่มีจริง ใครรู้ว่าเป็นอะไร แม้ว่ามีก็ไม่รู้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้ามีผู้ที่รู้ และก็สามารถที่จะแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริง ให้ได้ฟัง ให้ได้เข้าใจ จะฟังหรือไม่ เท่านั้นเอง ไม่ต้องไปกังวลเรื่องคำ เพราะเหตุว่าเป็นสองภาษา ภาษาบาลีไม่มีคำว่า สิ่งที่มีจริง แต่มีคำว่า ธรรม ความหมายตรงกัน ต้องเป็นสิ่งที่มีจริงๆ จึงสมควรที่จะฟัง ไปฟังสิ่งที่ไม่มี ไม่จริง จะมีประโยชน์อะไร แต่ว่าฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ได้ประโยชน์เพราะเหตุว่าผู้ที่จะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง เป็นผู้รู้ ถ้าไม่รู้กล่าวไม่ได้เลย ถึงความจริงของสิ่งที่มี

    เพราะฉะนั้นภาษาบาลี สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมทั้งหมด แต่ภาษาไทยก็คือว่าสิ่งที่มีจริง ก็ต้องมีจริงๆ เห็นมีจริงๆ ได้ยินมีจริงๆ คิดมีจริงๆ ชอบมีจริงๆ หวานมีจริงๆ เสียงมีจริงๆ ทุกอย่างที่มีจริง เป็นจริง เปลี่ยนเป็นภาษาบาลีก็คือว่า เป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริง ใครสามารถเปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ให้เป็นอย่างอื่น ได้หรือไม่ ไม่ได้

    นี่คืออธิบายความหมายของสิ่งที่มีจริงว่า เพราะสิ่งนั้นไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้เลย จึงเป็นปรมะ+อรรถะ เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีลักษณะ มีอรรถะที่เป็นใหญ่ ที่ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเปลี่ยนเสียงให้เป็นแข็งก็ไม่ได้ ใช่หรือไม่ แต่ทรงรู้แจ้งตามความจริงของสิ่งที่มี ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะสิ่งนั้น ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ก็เรียกว่า หรือใช้คำว่า ปรมัตถธรรม คือสิ่งนั้น ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้เลย เป็นสิ่งนั้นเท่านั้นจริงๆ

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ลึกซึ้งหรือไม่ ลึกซึ้ง ละเอียดหรือไม่ ก็เป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรม และไม่สงสัยเลย ธรรมก็คือปรมัตถธรรม และอภิธรรมนั่นเอง แล้วอย่างไร แค่นี้พอหรือไม่ ไม่พอ แต่ความเข้าใจเพิ่มขึ้น สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดจะปรากฏว่ามีได้หรือไม่ ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นก็แสดงว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ใครจะไปทำให้เกิดก็ไม่ได้ แต่ว่าสิ่งนั้นเกิด เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดเท่านั้น อย่างแข็งก็ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดเป็นแข็ง แต่ไม่รู้ แต่ว่ามีผู้รู้ ก็นั่งบอก พูดถึงสิ่งที่มีจริงทุกประการ ให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นได้ จากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง เพราะทรงตรัสรู้ ก็คือฟังเรื่องความจริงของสิ่งซึ่งมีจริง ซึ่งเป็นธรรม ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นอภิธรรม ละเอียดขึ้น ว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีก ว่างเปล่า ตรงกับภาษาบาลี ซึ่งคุณคำปั่นก็คงจะให้ความหมายของคำว่า ขันธ์

    อ.คำปั่น รายละเอียดของความเป็นจริงของธรรม ท่านอาจารย์ก็ได้กล่าวไปหมดแล้ว ที่แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ สภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นจริงแต่ละขณะๆ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป นี่แหละคือความหมายของขันธ์ หรือว่าขัน-ดะ ในความหมายของภาษาบาลี ก็คือสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า เพราะว่าเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มีอะไรเหลือเลย นี่คือความเป็นจริงของธรรมที่เป็นขันธ์

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีว่างเปล่าเหมือนอากาศหรือไม่ มีแล้วก็หมด แล้วไม่กลับมาอีกเลย ว่างจริงๆ ไม่สามารถที่จะยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้อีกต่อไป ฟังอย่างนี้เริ่มเข้าใจความจริงของชีวิตแต่ละขณะ ตั้งแต่เกิดจนตาย โยงไปถึงแม้แต่ว่า ขณะเกิดก็มีสิ่งที่มีจริงนั้นเกิด เป็นสภาพรู้ ถ้าไม่รู้อะไร ก็ไม่กล่าวว่ามีชีวิต แล้วก็ยังมีสภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมกันด้วย ก็มีลักษณะที่ต่างกันไป

    เพราะฉะนั้นธรรมมีสองอย่างแน่ๆ คืออย่างอื่นปรากฏให้รู้ได้ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ อย่างเสียง เมื่อสักครู่ก็ถามแล้ว มีจริงหรือไม่ มีจริง เป็นธรรมหรือไม่ เป็น แต่เสียงไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ก็เป็นธรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งมีจริง แต่ไม่รู้อะไรเลย เรียกชื่อดีหรือไม่ จะได้เข้าใจง่ายๆ เพราะมีเยอะ เรียกว่ารูปธรรม รู-ปะ-ทำ-มะ หรือเมื่อรูปต้องเกิด ถึงจะเป็นรูปนั้นๆ ได้ และรูปนั้นก็ต้องดับ เพราะฉะนั้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม ซึ่งเกิด และดับ เป็นธรรมที่เกิด และดับ ก็เป็นประเภทของธรรมที่เป็นขันธ์ แต่เมื่อเป็นรูปธรรม ไม่สามารถจะรู้อะไรทุกรูป ก็เป็นรูปขันธ์ เท่านี้เอง ไม่ได้หมายความว่า ไปยากอะไรเลย แต่ว่าเข้าใจขึ้นๆ ว่าธรรมนี้เกิด เกิดแล้วก็ดับ ความหมายของสิ่งที่เกิดดับแล้วไม่กลับมาอีก ก็คือความว่างเปล่า จากการที่จะไปยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีจริงๆ ตลอดเวลาที่เที่ยง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

    เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า ขันธะ เมื่อไร ให้รู้ว่าสิ่งนั้นมีชั่วคราว เพียงเกิดขึ้นปรากฏ แล้วหมดไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้นเสียงไม่เกิด ไม่มี ไม่ปรากฏ แล้วเสียงก็เกิด แล้วก็ปรากฏ แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้นเสียงก็เป็นขันธ์ แต่ว่าเสียงไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นเสียงก็เป็นรูปที่เกิด และดับ ก็เป็นรูปขันธ์ทั้งนั้นเลย กลิ่นก็เป็นรูปขันธ์ รสก็เป็นรูปขันธ์ สภาพธรรมใดๆ ที่ไม่รู้ ก็เป็นรูปขันธ์

    แต่สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เกิดแล้วต้องรู้ เห็นขณะนี้ ตาเห็นหรือเปล่า ตาไม่เห็นแน่ แต่ธาตุเห็นกำลังเห็น ซึ่งยากมากที่จะรู้ว่า สภาพรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย เป็นอย่างไร บางคนก็ถามว่า เห็นเป็นอย่างไร กำลังเห็น แต่ถามว่าเป็นอย่างไร ไม่เป็นอื่นจากที่กำลังเห็น แต่ไม่รู้ว่า เห็นเกิดแล้วเห็นก็ดับ เพราะฉะนั้นเห็นก็เป็นขันธ์ด้วย แต่ไม่ใช่รูปขันธ์ เพราะเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นนามขันธ์ จากความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงๆ และก็เข้าใจคำที่ได้ยินด้วย แล้วก็เข้าใจขึ้นว่า แม้นามขันธ์ซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต่างกันไปมากมาย รูปขันธ์ก็ต่างกันไปหลายอย่าง แต่ทั้งหมดก็คือรูปขันธ์

    เพราะฉะนั้นแม้แต่นามขันธ์ ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันไป ก็เป็นนามขันธ์ แต่ก็ต่างกันไป และที่ทรงแสดงตามความยึดถือ แสดงสิ่งที่มีจริง ที่เป็นขันธ์ที่เกิดดับ แม้เกิดแล้วดับแล้ว ไม่กลับมาอีก โมหะ ความไม่รู้ ก็ยังยึดถือในสิ่งที่ว่างเปล่า เพียงเกิดขึ้นปรากฏเล็กน้อยมาก แล้วก็ไม่ปรากฏ ไม่มีอีกเลย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะความไม่รู้ จึงมีอุปาทาน การยึดถือสิ่งที่เกิดปรากฏ เพราะไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเที่ยง เพราะฉะนั้นก็ยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรา เป็นดอกไม้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นทุกอย่างตามความยึดถือ ว่าเป็นอย่างนั้นทั้งๆ ที่สิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เป็นแต่เพียงสิ่งหนึ่งซึ่งมีจริง เกิดขึ้น และดับไปแล้วไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้นทั้งนามขันธ์ และรูปขันธ์ก็ต่างกัน ที่ว่าหลากหลายมาก รูปขันธ์ทั้งหมดมี ๒๘ ประเภท แล้วนามขันธ์ก็มี เป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ใช้คำว่า จิต ส่วนสภาพธรรมอื่น ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เกิดกับจิต ปรุงแต่งจิต ทำให้จิตมีลักษณะต่างๆ กัน ใช้คำว่า เจตสิกหรือเจ-ตะ-สิก-กะ ค่อยๆ เข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจทีเดียววันนี้หมด แต่เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า ธรรม เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า ขันธ์ เริ่มเข้าใจความหมายของอุปทานขันธ์ ๕ เพราะส่วนใหญ่จะได้ยินคำว่าขันธ์ ๕ ถ้าได้ยินคำว่าขันธ์ ๓ ก็มีอีกนัยหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่จบเพียงคำเดียว แต่ว่าธรรมหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นก็มีคำมาก ที่จะแสดงถึงความหลากหลายของธรรมนั้นๆ ซึ่งต้องศึกษาโดยละเอียด แม้แต่รูป คือสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพรู้ ง่ายมาก เสียงไม่รู้อะไรเกิดขึ้นเป็นรูป เกิดดับเป็นขันธ์ แต่แม้กระนั้นก็มีคำว่ารูป ในความหมายอื่นอีก ซึ่งต้องศึกษาให้ละเอียดขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    7 ก.พ. 2568

    ซีดีแนะนำ