พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
ตอนที่ ๘๗๙
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปริยัติ ไม่มีปฏิบัติ ไม่มีปฏิเวธ จะมีปฏิเวธโดยไม่มีปริยัติไม่ได้ จะมีปฏิบัติโดยไม่มีปริยัติไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรม ก็คือปริยัติ เรื่องสิ่งที่มีจริงให้เกิดความเข้าใจขั้นฟังก่อน เมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคงเป็นสัจจญาณ ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ขณะนี้มีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏ นี่เริ่มใกล้ชั่วขณะที่เห็นจริงๆ ว่าในขณะนั้น มีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจลักษณะของเห็น จากการที่ได้ฟังมานานมาก มั่นคงขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แต่กำลังเห็น ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้เข้าใจได้ นอกจากฟังบ่อยๆ จนกระทั่งสามารถที่จะละความติดข้อง ความอยากรู้ การแสวงหาทางอื่น ซึ่งไม่ใช่ปัญญา และละคลายความติดข้องลงไปเรื่อยๆ สภาพธรรมก็จะปรากฏตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงสติ สติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ แค่ชื่อ ถ้าไม่มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีทางที่จะเข้าถึงลักษณะของสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานได้ เพราะว่ายังไม่เกิดขึ้น แต่เกิดเมื่อใด จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ แต่กำลังรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และขณะนั้นไม่มีสิ่งอื่นด้วย ต้องรู้ที่ละอย่าง
ผู้ฟัง ที่รู้ รู้โดยปัญญา ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ อวิชชาไม่รู้
ผู้ฟัง ถ้ามีอวิชชาเมื่อไร
ท่านอาจารย์ ไม่เรียกว่า วิชชา ก็รู้ใช่หรือไม่ ไม่ต้องเรียกว่าเข้าใจ ขณะนั้นกำลังเข้าใจ
ผู้ฟัง ตามที่ศึกษามาในปฏิจจสมุปบาท พระองค์ตรัสว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร แสดงว่าในขณะนั้น ปัญญาที่ระลึกรู้ก็เป็นเหตุของอวิชชา ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เวลาพูดถึงปฏิจจสมุปบาท หมายความถึง พูดถึงธรรม ซึ่งเป็นองค์ของการที่จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ พ้นจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้เลย อวิชชาไม่รู้แล้วจะไปไหน ไม่รู้ในอะไร ไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ไม่รู้ไป เห็นอีกก็ไม่รู้ไป เพราะเป็นอวิชชาไปไหนไม่ได้ พ้นจากความไม่รู้ไม่ได้ เพราะเป็นอวิชชา
เพราะฉะนั้นทั้งหมดของปฏิจจสมุปบาทก็คือ องค์ธรรมที่จะทำให้อยู่ในสังสารวัฏฏ์ต่อไป เพราะฉะนั้นไม่มีโลกุตตรจิตในปฏิจจสมุปบาท
ผู้ฟัง แล้วเพียงสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ กิเลสมากเลย
ท่านอาจารย์ เพราะว่ากิเลสมีกำลัง เตชะ มีเดช มีฤทธิ์ที่จะปกปิด ไม่ให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ กำลังของอกุศล กำลังของอวิชชา จนกว่ามีกำลังของความเข้าใจเพิ่มขึ้น ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นความไม่เข้าใจก็มีไม่ได้ นี่ก็คือกำลังเล็กๆ น้อยๆ จนกว่าจะมีกำลังมากขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะดับอวิชชาได้หมด ไม่เหลือเลย
ผู้ฟัง ก็ต้องอาศัยสุตมยญาณ ใช่หรือไม่ ในขณะที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ โดยอาศัยการไม่ยึดถือสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เข้าใจ ไม่ใช่ไปทำเฉย ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ว่าเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ คิดดู มีจริงๆ เป็นเพียงสิ่งที่กำลังเห็น เป็นแต่เพียงสิ่งที่กำลังเห็นเท่านั้นเอง
อ.ธิดารัตน์ ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์เพิ่มเติม โลภะที่แอบแฝงมา แม้ขณะในการฟังธรรม ละเอียดมาก จะค่อยๆ เข้าใจได้ ท่านอาจารย์จะแนะนำอย่างไรดี
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะโลภะ ที่ไม่ปรากฏ เยอะแยะเลย ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา สารพัด ก็ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นขณะใดมีความจงใจจะรู้ โลภะอยู่ไหน
อ.ธิดารัตน์ อยู่ตรงที่ความจงใจ
ท่านอาจารย์ หนีไม่พ้น ใช่หรือไม่ จนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่พูดว่าเป็นธรรม แต่ลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงชั่วคราว
อ.ธิดารัตน์ อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะสืบเนื่องจากเมื่อวาน ได้มี เรื่องสนทนาเรื่องของศีล โดยลักษณะของศีล ซึ่งเป็นการวิรัติหรือว่าวิรตีเจตสิก ซึ่งในชีวิตประจำวัน วิรตีเจตสิกก็มีเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งเรื่องของสัมมาวาจา อย่างไร ขณะใดที่เราจะเข้าใจได้ว่า ขณะนั้นมีการเว้น
ท่านอาจารย์ คงจะไม่มุ่งหน้าที่จะเข้าใจชื่อ แต่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็เข้าใจแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่จะไม่ลืมว่า ทุกชื่อในพระไตรปิฎก หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ก็ไม่ได้รู้เลย ว่าแต่ละคำกล่าวถึง ชีวิตประจำวันจริงๆ ได้ยินคำว่า ศีล ก่อนอื่นก็ควรจะทราบว่า ศีลคืออะไร อย่าลืม ทุกคำที่ได้ยิน จะเข้าใจชัดเจนต่อเมื่อรู้ว่าคืออะไร
อ.ธิดารัตน์ อย่างในสีลนิเทศ ท่านก็ได้กล่าวว่า ศีล เจตนาเจตสิกก็เป็นศีล นอกจากวิรตีเจตสิกแล้ว ก็จะมีเจตนาเจตสิกที่เป็นศีลอีก
ท่านอาจารย์ มีคำแปลคำว่า สีละ หรือไม่คุณคำปั่น ตั้งแต่คำที่เราได้ยิน และก็รู้ว่าคำนั้นไม่ใช่ภาษาไทยแน่ แล้วความหมายของคำนั้นคืออะไร
อ.คำปั่น โดยความหมายของคำว่า ศีล ความหมายหนึ่ง หมายถึงว่า เป็นเครื่องรวบรวมกาย วาจา จากที่ไม่เป็นปกติ ให้เป็นปกติ เรียบร้อยดีงาม นี้คือความหมายหนึ่ง อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง เป็นที่รองรับคุณธรรมเบื้องสูงขึ้นไป อีกความหมายหนึ่ง ที่ได้ฟังจากรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ซึ่งท่านอาจารย์ก็ยกข้อความจากพระไตรปิฎกมา ที่กล่าวถึงคำว่า ศีล หมายถึงความเป็นปกติ ซึ่งคำว่าความเป็นปกติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามความประพฤติเป็นไปของสัตว์โลก
เพราะว่าปกติ เป็นกุศลก็เป็นกุศลศีล ปกติเป็นอกุศล คือมีความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรมประการต่างๆ ก็เป็นอกุศลศีล สำหรับอัพยากตศีล มุ่งหมายถึงความประพฤติเป็นไป ของบุคคลผู้ที่ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว เป็นพระอรหันต์ ความประพฤติเป็นไปของท่าน ที่เป็นความประพฤติที่ดีงามประการต่างๆ เช่นการแสดงธรรม เกื้อกูลแก่พุทธบริษัท มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น อย่างนี้เป็นอัพยากตศีล กราบเรียนท่านอาจารย์ในความละเอียดของพระธรรม
ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่รู้ ท่านจะกล่าวถึงคำเดียว โดยนัยประการต่างๆ ฟังแล้วอาจจะสับสน สำหรับผู้ที่รู้น้อย ใช่หรือไม่ จะต้องมาจำศีลโดยนัยนี้ โดยนัยนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจสำคัญที่สุดว่า เมื่อได้ยินคำไหนแล้ว อย่างน้อยที่สุด ให้เข้าใจถูกว่า คำนั้นหมายความถึงอะไร คำว่าศีลหรือสีละ เป็นสิ่งที่มีจริง และส่วนใหญ่เมื่อมีทั้งกาย ทั้งใจ กายจะประพฤติอย่างไร ต้องเป็นไปตามใจ ใจเป็นอกุศล แล้วก็ให้ประพฤติเป็นกุศล ได้หรือไม่ ไม่ได้ ถ้าใจเป็นกุศลก็ให้ไปทำอกุศลด้วยกาย ด้วยวาจา ได้หรือไม่ ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่าสภาพธรรมที่มีจริง สภาพรู้เป็นอย่างหนึ่ง และสภาพที่ไม่รู้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง สภาพที่ไม่รู้ใช้คำว่า รูปธรรม ไม่มีทางที่จะรู้ว่า นามธรรมเป็นอย่างไรเลย ไม่มีทางที่จะรู้อะไรเลยทั้งสิ้น ไม่รู้จริงๆ อย่างลักษณะที่แข็ง แข็งจะไปรู้ว่าอะไร เป็นศีลก็ไม่ได้ ไม่คิด ไม่จำ ไม่อะไรทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นสภาพของนามธรรม คือจิต และเจตสิก ก็หลากหลายมาก แล้วก็อาศัยกัน และกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน เพราะเป็นธาตุรู้ แล้วก็ดับไปพร้อมกันด้วย แล้วมีความสำคัญอย่างไร ระหว่างใจกับกาย เพราะเหตุว่าถ้ามีแต่กาย ไม่มีใจเกิดที่กายนั้น ทำอะไรไม่ได้เลย ซากศพ ต้นไม้ อะไรก็แล้วแต่ เคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย แต่ที่ใดก็ตาม ที่รูปนั้นมีจิต ธาตุรู้เกิดที่นั่น ก็จะเป็นปัจจัยให้กายเป็นไปตามจิตในขณะนั้น
ด้วยเหตุนี้แม้แต่คำว่า ศีล จริงๆ แล้วก็ต้องหมายความถึง ความประพฤติของกาย วาจา ซึ่งเป็นไปเพราะจิต แต่ถ้าศึกษาต่อไป ความละเอียดของศีล ไม่เกี่ยวกับกาย วาจา ก็ยังมี นี่เป็นความละเอียดยิ่ง ซึ่งใครก็คิดเองไม่ได้ นอกจากจะอาศัยการฟัง ไตร่ตรอง ให้เข้าใจว่า ประโยชน์คือให้รู้ความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพื่อรู้ความจริง ว่าไม่ใช่เรา นี่คือจุดประสงค์ มิฉะนั้นแล้วฟังไปๆ ก็ยังคงเป็นเรา ทั้งๆ ที่เข้าใจได้ว่า เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม แต่ก็ไม่ถึงการที่จะรู้ลักษณะที่เป็นธรรมของเห็น และได้ยิน เพราะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างละเอียดมาก ที่จะทำให้แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น หรือว่าคิดเอง ก็มาเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็สามารถที่จะเริ่มเข้าถึงความจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน
แม้แต่เรื่องของศีล เราฟังทำไม ใช่หรือไม่ ใครบ้างจะรู้ใจใคร ถ้าไม่ทำ และไม่พูด เวลานี้นั่งเฉยๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คนอื่นบอกไม่ได้แน่นอน แม้แต่บุคคลนั้นเอง ถ้าไม่มีความเข้าใจก็บอกไม่ได้ ไม่รู้ว่ากุศลเป็นอย่างไร อกุศลเป็นอย่างไร เห็นเป็นกุศลหรือเปล่า ได้ยินเป็นกุศลหรือเปล่า ต้องอาศัยการฟังพระธรรมจริงๆ จึงสามารถจะรู้ ธรรมละเอียดมาก แล้วก็เกิดดับอย่างเร็วหลากหลายมาก จนแม้แต่จะพูดคำเดียวว่า ศีลก็ควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ความประพฤติทางกาย ทางวาจา เป็นเบื้องแรก
ด้วยเหตุนี้อกุศลศีลมีแน่ ถ้าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล กุศลศีลก็มีแน่ เมื่อจิตขณะนั้นเป็นกุศล กาย วาจาก็เป็นไปทางกุศล เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นการศึกษาตามลำดับจริงๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ว่าศีล เมื่อมีกาย และใจ ก็มีความประพฤติทางกาย และใจ และวาจา ตามจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงฝ่ายดี กุศลศีลมี ถ้าฝ่ายไม่ดี อกุศลศีลก็มี ซึ่งควรที่จะละเว้น แต่แม้การละเว้นก็ไม่ใช่เรา ทุกคนรู้แน่ อะไรไม่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดีทางกาย ทางวาจา แต่ทำหรือไม่ ทำหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอย่างนั้น ใช่หรือไม่ ยับยั้งไม่ได้ แต่จากการฟัง คุณของพระธรรม ธรรมเตชะ ก็ทำให้สามารถเข้าใจได้ในขณะนั้นว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี ด้วยเหตุนี้ต้องทราบว่า แม้เข้าใจธรรม แต่บางคนก็บอกว่าไม่เห็นเปลี่ยน ก็ยังเหมือนเดิม ก็จะเปลี่ยนอย่างไร เพียงฟังเข้าใจโดยชื่อ ว่าขณะนี้เป็นจิตเห็น แต่ก็ยังไม่เห็นลักษณะของจิตเลย ขณะนี้ได้ยิน เป็นธาตุรู้ ก็ยังไม่รู้ว่า ที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เรา เป็นธาตุรู้
เพราะฉะนั้นการฟังจึงต้องละเอียด และรู้ว่าแต่ละคน แม้ในขณะนี้ ก็ประพฤติตามที่เป็นไป ตามที่ได้สะสม แม้แต่การฟังธรรม เพื่อเข้าใจ หรือว่าฟังธรรมเพื่ออยากรู้คำนั้น อยากเข้าใจคำโน้น ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า ข้อความในสีลมยญาณ ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวถึงศีล ปัญญาระดับไหน ที่ท่านจะกล่าวถึงศีล และสีลมยญาณ ปัญญาซึ่งสำเร็จจากศีล ท่านต้องรู้จักศีลอย่างดี และศีลก็จะเกิดขึ้นมาได้ เป็นไปเจริญขึ้นด้วยความเข้าใจถูก คือปัญญา เพราะฉะนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา การฟังธรรม เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม นี่คือประโยชน์สูงสุด แม้แต่ศีลก็เป็นธรรมด้วย
ด้วยเหตุนี้ทุกคนอยากเป็นคนดีนี้แน่นอน คงไม่มีใครอยากไม่ดี แต่วันนี้ดีหรือยัง ถ้าไม่ฟังธรรม ไม่รู้เลย และก็ดีขณะไหน เมื่อไร ก็ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ควรจะได้เข้าใจธรรม จริงๆ ว่า ศีลมีจริง ไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ได้ และมีทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล และถ้าละเอียดกว่านั้น ที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ก็ยังมี แต่ปัญญาของเราก็คงจะไม่ต้องตามไปทุกถ้อยคำที่ผู้รู้ ที่ท่านรู้ความจริงแล้วได้กล่าว อย่างท่านพระสารีบุตร เป็นต้น ก็ฟังเพียงให้รู้ว่า ชีวิตประจำวัน วันนี้ทำอกุศลอะไรบ้างหรือเปล่า หรือว่าไม่อยากฟังเรื่องตัวเองทำอกุศล ใช่หรือไม่ แต่เป็นการระลึกได้ ดีหรือไม่ เพื่อจะรู้ว่าขณะนั้นสะสมแล้วอกุศล แล้วฟังเรื่องศีลไปทำไม ฟังเพื่อละเว้นอกุศล
เพราะฉะนั้นฟังแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่า ถ้าไม่มีการฟัง ยังเหมือนเดิม แน่นอน แต่พอฟังแล้ว ดีขึ้นนิดหน่อย เมื่อระลึกได้ แต่ถ้าระลึกไม่ได้ ก็เหมือนก่อนๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่าการฟังมีประโยชน์ ที่จะรู้ว่าทางกายที่ไม่ดีคืออะไรบ้าง และที่ดีคืออะไร คงจะไม่ต้องกล่าวโดยละเอียดกว่านี้มากมาย แต่ให้ทราบว่า แม้แต่ทางกายวันนี้ ที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลศีลคืออะไรบ้าง หรืออยากฟังศีลอื่น วันนี้พูดบ้างหรือเปล่า พูดอะไร
อ.ธิดารัตน์ เชิญอาจารย์อรรณพค่ะ
อ.อรรณพ จิตเป็นอกุศล ก็พูดด้วยอกุศลจิต
ท่านอาจารย์ เยอะเลย ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นควรเว้นไหม
อ.อรรณพ ควรเว้น
ท่านอาจารย์ ควร แต่ยังเว้นได้หรือเปล่า ขึ้นอยู่กับปัญญาหรือความเข้าใจถูก ทางกาย มีหรือไม่ อย่างละเอียด ไม่ใช่อย่างหยาบๆ ที่กล่าวถึงว่า ฆ่าสัตว์ หรือว่าถือเอาสิ่งของๆ คนอื่น เป็นต้น แต่อย่างละเอียดๆ มีหรือไม่
อ.อรรณพ ถ้ามีการไหวไปทางกาย หรือการพูดเป็นทางวาจาก็ตาม ถ้าเกิดจากอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลศีลทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่สำคัญคือจิต ลืมไม่ได้เลย ถ้าจิตดี กาย วาจาดี ถ้าจิตไม่ดี กาย วาจาไม่ดี แล้วจะรู้ได้อย่างไร ถ้าไม่ศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียดให้เข้าใจก่อน
อ.อรรณพ จริงๆ ก็พอจะเข้าใจได้ เป็นพื้นฐานว่า ศีลที่อาจารย์คำปั่นแปลว่าปกติ เราก็หมายถึงจิต แล้วก็รวมถึงเจตสิกด้วย ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ไม่อะไร ก็มีอกุศลเกิดบ่อยๆ มาก เพราะฉะนั้นก็มีการไหวไปของกาย หรือการกล่าววาจา จากอกุศล เพราะฉะนั้นก็เป็นกาย วาจาที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลศีล แต่ถ้าฟังธรรม เพิ่มขึ้นบ้าง ก็มีโอกาสที่จะมีกุศลศีลเกิดเพิ่มขึ้น จนกระทั่งอบรมเจริญปัญญาสูงสุด ซึ่งเรายังไม่ถึง ถึงเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีทั้งอกุศล และกุศลอะไรเลย ก็เป็นอัพยากตศีล
ท่านอาจารย์ เคยคิดบ้างหรือไม่ว่า ควรเป็นกุศลเพิ่มขึ้น
อ.อรรณพ ควรเป็นกุศลเพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ตรง เคยคิดหรือไม่ วันนี้คิดหรือเปล่า เมื่อวานคิดหรือเปล่า คิดบ่อยๆ ก็ดี
อ.อรรณพ คิด คิดบ่อยๆ
ท่านอาจารย์ แต่บางคนฟังแล้วก็ไม่ได้คิดว่า ควรเป็นกุศลเพิ่ม
อ.อรรณพ คิดบ่อยๆ เพราะรู้สึกว่าแย่ ที่มีกาย วาจา จากอกุศลจิตอยู่บ่อยๆ แต่ก็ดีมากครับท่านอาจารย์ เพราะได้เข้าใจว่า ควรที่จะเห็นโทษของอกุศล อกุศลศีล ที่เราสนทนากันว่า เป็นการแสดงออกทางกาย วาจา ซึ่งก็มาจากอกุศลจิต ก็เห็นโทษของสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า มีอำนาจจะบังคับบัญชา ไม่ให้เกิดอกุศลศีล ไม่ให้มีกาย วาจา จากกุศลเลย เป็นสิ่งที่ไกลมาก แค่ขยับมือ ขยับเท้า บางทีก็รำคาญ วางมือวางอะไรอย่างนี้ มันก็เป็นอกุศลจิตที่เป็นไป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังธรรม เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพที่มีจริง ที่กำลังมีในขณะนี้
อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ เมื่อกล่าวถึงเรื่องของศีล ก็กล่าวถึงจิตที่เป็นไป ที่จะให้กาย วาจา ออกมาโดยจิตเป็นปัจจัยให้กาย วาจา เป็นไปอย่างไร ก็เป็นไปตาม ถ้าจิตเป็นกุศล ก็เป็นกุศลศีล คือให้กาย วาจาเป็นไปตามจิตที่เป็นกุศล การที่จะรู้อย่างนี้แล้วมีความเข้าใจถูกว่า ควรที่จะประพฤติอบรมกุศล ที่เป็นคุณความดี แต่ความรู้ที่จะรู้ถึงความเข้าใจว่า แม้กุศลนั้นไม่ใช่เรา คืออย่างไร
ท่านอาจารย์ คือขณะนี้ที่ฟัง เพื่อที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ไม่มีทางอื่นเลยทั้งสิ้น นอกจากความเข้าใจถูก ความเห็นถูก แม้แต่ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ก็จะต้องมีความเข้าใจถูกว่า เป็นผู้ที่มากด้วยอกุศล ยอมรับหรือไม่ เพราะว่าจริงๆ แล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงกับคนที่มีอกุศลมากๆ ทรงแสดงให้เห็นโทษของอกุศล ยังไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องกุศล เพียงแต่ให้รู้เสียก่อนว่า เพราะอกุศลมากอย่างนี้ จึงควรที่จะละคลาย แต่จะละคลายด้วยความเป็นตัวตน ไม่มีทางสำเร็จได้ นอกจากฟังพระธรรม แล้วก็เข้าใจขึ้น ก็จะเป็นทางที่จะทำให้สามารถที่จะละอกุศล และเจริญกุศลขึ้น เช่นโอวาทปาติโมกข์ ใครบ้างไม่เคยได้ยิน ใช่หรือไม่ ละชั่วถูกต้องหรือไม่ แล้วละอย่างไร ไม่ใช่ตรัสแต่เพียงว่าละชั่ว โดยที่ไม่ได้แสดงความจริงของธรรมโดยละเอียดยิ่ง ว่าเป็นอนัตตา ที่จะละก็คือ ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก เพิ่มขึ้นว่า เห็นโทษของอกุศล ว่าอกุศลไม่ได้นำมาซึ่งความสงบ หรือความสุขเลย มีแต่ความกังวล ความเดือดร้อนทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพราะอกุศลทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้ แม้แต่ละชั่วก็ไม่ใช่ให้ใครละ คุณธิดารัตน์คิดว่า จะบอกผู้ที่ฟังขณะนี้ให้ละชั่ว ได้หรือไม่
อ.ธิดารัตน์ ทำไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย ไปบอกใคร บอกไปเถอะ ไม่มีทางสำเร็จ แต่ถ้าให้เขาเข้าใจขึ้น ถึงธรรมซึ่งเป็นอนัตตา เหตุกับผลต้องตรงกัน ขณะใดที่เหตุไม่ดี ย่อมนำมาซึ่งผลไม่ดี พอจะเห็นลางๆ ไม่อยากได้ผลไม่ดี ก็เลยจะไม่ทำไม่ดี
อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ ความรู้หรือปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น เป็นสิ่งที่ยาก และก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยวิริยะ และความอดทนมาก เพราะเหตุว่าการสะสมของบุคคลที่ยังมีความยึดถือ แม้จะกล่าวถึงเรื่องของศีล โดยที่ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม ก็ยังเป็นเพื่อเราได้ ดังนั้นการฟังธรรม แล้วความรู้ค่อยๆ เจริญขึ้น ที่จะรู้ว่านี้ก็คือธรรม คือต้องทีละนิดทีละหน่อย ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ นี่เป็นปัญญาที่เห็นถูกต้อง ว่าถูกรุมล้อม รุมล้อมด้วยอกุศลมากมายสักแค่ไหน ตั้งแต่เพียงแค่เห็น ก็เกิดแล้ว คิดดู แล้วใครจะมาบอกว่า นี่ยังมี ผู้ที่ไม่มีคือพระอรหันต์ แล้วจะเป็นพระอรหันต์ก็ต่อเมื่อมีปัญญา รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่เป็นอริยสัจธรรมตามลำดับด้วย กิเลสที่สะสมมามากมายจึงจะค่อยๆ ดับไป จนกว่าจะไม่มีเหลือเลยสักอย่างเดียว ถึงความเป็นพระอรหันต์ เห็นก็ไม่มีอกุศล
เพราะฉะนั้นอย่าลืม แค่เห็นก็เป็นอกุศลแล้ว ด้วยเหตุนี้ไม่ประมาทเลย ในการฟังพระธรรม ในการที่จะรู้ว่า ยังมีความไม่รู้มาก แม้แต่คำที่บอกว่า ให้ละชั่ว ก็ต้องฟังให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ ละไม่ได้ ถ้าเข้าใจนิดหน่อยก็เห็นโทษ แล้วก็เห็นประโยชน์ของกุศล ขวนขวายนิดหนึ่งที่จะทำกุศลแม้เพียงเล็กน้อย มิฉะนั้นแล้วขณะนั้นอกุศลก็เพิ่มอีก
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 841
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 842
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 843
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 847
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 849
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 850
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 851
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 852
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 853
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 854
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 856
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 857
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 860
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 861
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 862
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 865
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 868
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 871
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 874
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 877
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 878
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 880
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 881
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 882
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 883
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 884
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 885
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 888
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 890
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 892
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 893
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 894
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 895
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 896
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 897
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 898
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 900