พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
ตอนที่ ๘๔๔
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
อ.คำปั่น ประเด็นนี้คิดว่า น่าจะมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากคณะวิทยากร ขอเชิญอาจารย์อรรณพช่วยสนทนาในประเด็นนี้ด้วย
อ.อรรณพ ทุกคนเกิดในกามภูมิอันได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ และสวรรค์เป็นภพภูมิที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะซึ่งเป็นกาม และมียินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นประจำแต่ความต่างกันก็อย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไปแล้ว ทีนี้ผู้ที่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส มากๆ คือ เป็นผู้ที่มัวเมาในการบริโภคกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากๆ บางคนถึงขั้นแสวงหามาด้วยทุจริต แสวงหาโดยไม่ชอบ ให้มีการฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงมีการล่วงทุจริตกรรมเพราะต้องการได้ทรัพย์เร็วๆ ถ้าทำอย่างสุจริตจะช้า เพราะฉะนั้น ก็อยากได้เร็วๆ
ขณะนั้นคือ เป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยอกุศลกรรม และมีโลภะเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นคือ แสวงหาโดยไม่ชอบธรรม โดยผลุนผลันในข้อความท่านกล่าวว่า "ผลุนผลัน" คือ ต้องการรวยทางลัด ต้องการรวยเร็วได้เงินเยอะๆ ผู้บริโภคกามแบบนี้บัณฑิตย่อมติเตียนเพราะประกอบด้วยอกุศลกรรม แต่ถ้ายังมีความละอาย มีหิริโอตตัปปะก็จะเป็นผู้ที่แสวงหาโดยชอบก็มี แต่ความติดข้องในทรัพย์สมบัติก็มาก มากถึงขนาดขอให้ได้แต่ตัวเลข สะสมทรัพย์สมบัติไว้มากมายแต่ตัวเองก็ไม่รู้จัก ตระหนี่แม้แต่กับตัวเองที่จะมาดูแลสุขภาพ อะไรที่จะเหมาะสม ที่จะสัปปายะก็ไม่ดูแล ก็เป็นผู้ที่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะขนาดมากเหมือนกันด้วย แม้อาจจะไม่ทำทุจริตแต่ตัวเองก็ยังตระหนี่ ไม่ดูแลตัวเองเช่นนี้ก็ยังมีอยู่คือ เป็นผู้ที่ไม่เลี้ยงตัวให้สุขสบายตามสมควร เพราะว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้ให้อยู่อย่างลำบากลำบน ทุกข์ยาก เจ็บป่วย ไม่สะอาด ก็ให้ดูแลสิ่งที่เหมาะควรที่ท่านใช้คำว่า "สัปปายะ" ด้วย นี่ ๒ ประการแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าแม้แสวงหาโดยชอบ และรู้จักดูแลตัวเองแต่ไม่แบ่งปันเลยมีไหม ผู้ที่บริโภคกามที่แม้มีความละอายที่จะไม่เบียนเบียนคนอื่น แต่เอาทรัพย์มาเพื่อดูแลตัวเอง ปรนเปรอตัวเองเท่านั้น ไม่คิดที่จะแบ่งปัน หรือเจริญกุศลจากทรัพย์นั้นเลยก็มีใช่ไหม ถ้าดีกว่านั้นก็คือ หาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม ไม่คิดที่จะได้โลภทางลัด ดูแลตัวเอง และมีการแจกจ่ายช่วยเหลือ มีการเจริญกุศลดีไหม จริงๆ น่าจะมีแค่ ๓ ประเภท แต่ด้วยพระปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระพุทธศาสนานี้เพื่อออกจากความติดข้องจึงมีคำกล่าวเพิ่มอีกว่า เป็นผู้ที่แสวงหาทรัพย์โดยชอบ ไม่ผลุนผลัน เป็นผู้ที่เลี้ยงตัวเองด้วยความเหมาะสมให้อัตภาพนี้เป็นไป ไม่ใช่ลำบากจนเกิน และเป็นผู้ที่เจริญกุศลโดยการให้ทาน เป็นต้น และเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก เพราะฉะนั้นแม้ยังติดข้องอยู่ในกาม แสวงหากามแต่มีกุศลเกิดที่จะแสวงหาโดยชอบ และไม่ตระหนี่จนเกินไป เลี้ยงบำรุงตัวเองตามสมควรให้อัตภาพนี้ อยู่เพื่ออบรมเจริญปัญญา อย่างที่ท่านอาจารย์ได้เคยกล่าวบ่อยๆ ว่า "มีชีวิตอยู่เพื่อปัญญาปรากฏ" ซึ่งตรงสำหรับผู้ที่ยัง "บริโภคกาม"
แต่เป็นผู้บริโภคกามที่พระองค์ท่านทรงสรรเสริญโดยสถาน ๔ คือ ๑ แสวงหาโดยชอบ ๒ ไม่ตระหนี่กับตัวเองคือ ดูแลตัวเองให้อัพภาพนี้พอเหมาะอยู่ไปได้ ประการที่ ๓ มีการเจริญกุศลจากทรัพย์สินนั้น และประการที่ ๔ อบรมสะสมปัญญาเพื่อที่จะสลัดออกจากความติดข้องในกามนั้นโดยที่สุด เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ศึกษพระธรรม สะสมกุศล ความเข้าใจธรรม เป็นการที่หาทรัพย์ได้โดยชอบ เลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวอย่างเหมาะสม แล้วทำดี และศึกษาพระธรรมคือ เป็นผู้ที่สะสมปัญญาเพื่อที่จะออกจากการติดข้องในกามนี้ในที่สุด
อ.คำปั่น สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ยังมีโลภะ มีความติดข้องต้องการอยู่ คือ ความดี และความเข้าใจพระธรรม จะมีประเด็นต่อเนื่องอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงชีวิตของแต่ละคนว่า เมื่อเกิดมาแล้วแน่นอนจะต้องตาย แต่จะมีสักกี่คนที่คิดว่า ตัวเองต้องตายแน่นอนเพราะว่า ส่วนใหญ่มีความเพลินเพลิน มัวเมา ไม่คิดว่า ตัวเองจะต้องตาย แต่ก็มีพระพุทธพจน์ หรือพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมากมายในเรื่องของชีวิตของแต่ละคนว่า ในที่สุดแล้วจะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ก่อนที่จะละจากโลกนี้ไปก็ไม่พ้นความดี และการอบรมเจริญปัญญา มีข้อความหนึ่งที่แสดงว่า สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง ในที่ทุกสถาน คือ เมตตา และการระลึกถึงความตาย ทั้งเมตตา และการระลึกถึงความตายจะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลในชีวิตประจำวันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกื้อกูลต่อการเจริญของปัญญา กราบเรียนท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ บังคับให้มีเมตตาได้ไหม สิ่งที่ดีทุกอย่างบังคับให้เกิดขึ้นได้ไหม ให้มีมากๆ ด้วย เมตตาน้อยย่อมไม่พอ ต้องเจริญเมตตาให้มากๆ คิดดูว่า บังคับได้ไหม เพราะฉะนั้นจริงๆ ธรรมใดเป็นอย่างไรก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงว่า ธรรมฝ่ายไม่ดีจะกลับเปลี่ยนเป็นธรรมฝ่ายดีไม่ได้ เช่น ความโกรธกับความเมตตา ทั้งๆ ที่รู้ว่า เมตตา คือ ความหวังดี ความเป็นเพื่อนพร้อมที่จะเกื้อกูล นี่คือขาดไม่ได้เลยสำหรับในใจที่มีเมตตาคือพร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่น และหวังดีตลอด
ถ้าจะดูชีวิตของพระโพธิสัตว์ในชาติที่เป็นสุวรรรสาม แม้ว่าถูกยิงด้วยลูกศรแต่ไม่โกรธคนยิง แต่สำหรับเรายังไม่ถูกใครยิงแต่โกรธเยอะไปหมดเลย ยังไม่ทันจะมากระทบกายสักนิดเดียว มีแต่คำบ้าง อะไรบ้าง คนโน้นคิดอย่างนี้ คนนี้คิดอย่างนั้นก็แย่แเล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีใจที่เป็นกุศลที่สะสมมาจริงๆ ด้วยการเห็นโทษระหว่างเมตตาความเป็นเพื่อนกับโทสะความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่เป็นเพื่อนเลย ใครคิดว่า อย่างไหนดีกว่ากัน เมื่อดีแล้วให้คนอื่นเป็น หรือเราเป็นดีกว่า เขาจะเป็น หรือไม่เป็นก็เรื่องของเขาใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงโดยไม่ข้าม ไม่ใช่พอได้ยินอย่างนี้ก็ขวนขวายท่อง จะได้มีเมตตามากๆ ก็ไม่ถูกต้องเลยเพราะว่ามีความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นถ้าจะระลึกถึงความตายให้มีประโยชน์จริงก็คือ มั่นใจได้ ตายแน่แต่จะช้า หรือเร็ว ตายในลักษณะไหน นอนหลับตายรู้สึกว่าทุกคนปรารถนามาก บางคนป่วยไข้นิดหน่อยเข้าโรงพยาบาลลูกหลานก็ไปดูแล พอพูดกับลูกเสร็จก็ตายก็ได้ใช่ไหม หรือว่าพูดเสร็จแล้วนอนหลับไปแล้วไม่ตื่นอีกเลยก็ได้ แต่ว่าที่ทุกคนลืมแล้วอยากจะคิดถึงความตายว่า ความตายต้องมีแน่ เพื่ออะไร เพื่อเป็นคนดีขึ้น หรือทำชั่วไปเหมือนเดิม เป็นสิ่งที่น่าคิดเพราะเหตุว่าคงจะไม่รู้ว่า ขณะนี้ไม่มีอะไรที่เป็นเราได้เลยสักอย่างเดียวเพราะทุกอย่างเกิดแล้วดับไปเรื่อยๆ แต่ทางไปของเหตุคือ กุศล และอกุศลต้องต่างกัน เพราะฉะนั้นทางเดินซึ่งขณะนี้ไม่ใช่เรา กุศลจิตก็เดินไปทางหนึ่ง อกุศลจิตก็เดินอีกทางหนึ่ง เดินคนละทางใช่ไหม แล้วจะเดินทางไหนกับใคร จะเดินไปกับกุศล หรือว่าจะเดินไปกับอกุศล ไม่ใช่ว่าจะไม่ไป ต้องไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะเห๋นได้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดง "ปฏิปทา" ทางดำเนิน ทางไปของแต่ละคนที่เกิดมาแล้วซึ่งต้องไป ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ก็ไปแต่ว่ายังไม่ถึงที่ ต่อเมื่อไหร่จากโลกนี้ก็ "ถึงที่" ถึงแก่กรรมที่ได้กระทำไว้ว่า กรรมไหนจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดที่ไหน และอย่างไร เพราะฉะนั้นการคิดถึงความตายไม่ใช่ว่าคิดแล้วไม่ทำอะไร แต่รู้ว่าก่อนจะตายคือ กำลังเดินไปสู่ความตาย เพราะฉะนั้นจะไปทางไหน ที่กล่าวถึงคือทรงแสดง ๓ ทาง ขอให้คุณคำปั่นช่าวยกล่าวถึงทาง ๓ ทางซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ และกำลังเดินกันทั้งนั้นแล้วแต่ว่าจะไปทางไหน
อ.คำปั่น จะขอกล่าวถึงนัยของคำแปล และจะกราบเรียนท่านอาจารย์อธิบายเพิ่มเติ่มเพื่อความเข้าใจธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทุกท่านก็คงจะได้ยินคำว่า ปฏิปทา เป็นภาษาบาลีแต่เมื่อแปลเป็นไทยคือ ทางดำเนินซึ่งมี ๓ ทางใหญ่ๆ ทางที่ ๑ คือ กามสุขัลลิกายนุโยคะ หรือ กามสุขัลลิกานุโยค ซึ่งหมายถึงความเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ทำตัวเองให้หมายถึงการตามประกอบเนืองๆ เป็นการทำตัวเองให้ได้รับความลำบากเดือดร้อน เป็นการประพฤติปฏิบัติในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ส่วนทางที่ ๓ เป็นทางที่ควรดำเนิน คือ ทางสายกลางที่ไม่เข้าใกล้ทางทั้ง ๒ อย่างข้างต้นซึ่งได้แก่ทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง คือ เริ่มตั้งแต่การอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง กราบเรียนท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฟังเพื่อให้รู้จักคนอื่นแต่ตัวเองทุกวันนี้ไม่รู้เลยว่า กำลังเดินทางแต่ไม่รู้ว่าทางไหน เหมือนคนตาบอดก็เดินเปะปะไปเรื่อยๆ แต่ไม่ได้รู้เลยว่ากำลังอยู่ในทางไหน เพราะฉะนั้นวันนี้ก็จะได้ทราบ ทุกคนเป็น "กามโภคี" บริโภคกามแล้วเพลิดเพลินในกามมากน้อยแค่ไหน ตามระดับขั้นของความติดข้อง ซึ่งทุกคนที่ยังไม่ได้ดับความยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลซึ่งใกล้ต่อการดับกิเลสหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ เมื่อยังไม่ใช่บุคคลท่านนั้นการตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมตามลำดับจากพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระอรหันต์ มีแน่นอนเป็นไปได้ด้วยแต่ไกลมาก และต้องเป็นทางถูกด้วย ถ้าทางผิดไม่มีทางเลยที่จะได้ไปสู่ทางที่จะดับกิเลสเพราะเหตุว่า ไม่มีปัญญา เพระฉะนั้นก่อนอื่นรู้จักตัวเองว่า เราเป็นใคร และระดับไหนด้วย ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นธรรมดาของคนที่ยังมีเหตุที่จะให้ยินดีพอใจ ที่จะให้หมดกิเลสไปโดยไม่มีเหตุที่สมควร คือ ไม่มีปัญญา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นธรรมต้องละเอียดมาก ต้องรู้ว่าปัญญาคืออะไร กำลังอยู่ทางไหน ตอนนี้อยู่ในทางกำลังบริโภคกามอยู่ใช่ไหม แต่ก็มีการสะสมที่จะรู้อันตรายของทางนี้เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ตลอดชีวิตแล้วผลของการกระทำด้วยกำลังของความติดข้องซึ่งเป็นทุจริตกรรมก็จะไปสู่อบายภูมิ เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานโดยประมวลแต่นรกมีหลายขุม ภพภูมิต่างๆ มีมากทีเดียว ไม่มีใครพาใครไปได้สักคนนอกจากกรรมที่ได้กระทำแล้วเหมือนมาสู่โลกนี้ น่าอัศจรรย์ว่า ใครพามา ญาติพี่น้องคนไหนพามา หรือเปล่า เพื่อนฝูงคนไหนบอกหนทาง และชี้ให้มา หรือเปล่าก็ไม่ใช่ แต่กรรมที่ได้กระทำแล้วฉันใด ขณะนี้จึงมีกรรมที่ได้กระทำแล้ว และกำลังกระทำ และจะกระทำต่อไปอีกซึ่งเป็นทางที่จะทำให้เมื่อถึงเวลาย่อมไปสู่ทางที่ได้เดินไป เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุดที่จะรู้จักตัวเองว่า ขณะนี้แม้เป็นผู้บริโภคกามแต่ยังเห็นโทษของความไม่รู้ทั้งๆ ที่สภาพธรรมปรากฏ ถ้าเกิดไม่มีใครชี้แจง ไม่มีใครแสดงเหตุผลก็จนใจจะไปรู้เองย่อมไม่ได้ แต่เมื่อมีผู้ที่ทรงตรัสรู้แม้นานมาแล้วแต่วาจาสัจจะเป็นความจริงทุกกาลสมัย เมื่อเป็นวาจาสัจจะคือ คำพูดเรื่องความจริง สิ่งที่จริงที่ได้พูดตรงเพราะได้รู้ความจริงนั้นจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้อาศัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง อาศัยพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้วเป็นที่พึ่งเพื่อถึงการที่จะเป็นพระอริยบุคคล เพื่อการดับกิเลสมิฉะนั้นแล้วจะมีคำถามว่าทำไมอีก "เข้าใจทำไม?" "เดินทำไม?" "ไปไหน?" เต็มไปด้วยคำถามเพราะไม่รู้ทั้งนั้นแต่เวลานี้ให้รู้ว่า แม้ผู้ที่บริโภคกามก็ยังมีผู้ที่ประพฤติดี และประพฤติชั่ว ทุกคนยังต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้วติดข้อง เกิดโลภะความพึงพอใจบ้าง หรือว่า ขุ่นเคืองใจเป็นโทสะบ้าง แต่ยังไม่ได้เข้าใจความจริง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นอย่างนี้่ไปเรื่อยๆ แต่ก็มีผู้ที่แม้ว่าจะมีโลภะ โทสะ มีความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ก็ประพฤติดี แสวงหาสมบัติ หรือว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในทางที่ไม่ได้เบียดเบียนใคร
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้กระทำทุจริตกรรมย่อมไม่ได้เดินทางไปสู่อบายภูมิ แต่ถ้าทำกรรมแล้วถึงเวลาที่กรรมนั้นให้ผลย่อมเหมือนชาตินี้ กุศลกรรม ๑ ที่ได้กระทำไว้เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ ว่าในชาติก่อน หรือว่าแสนโกฏิกัปป์มาแล้วยังสามารถทำให้เกิดได้ในภพภูมินี้ ใครรู้บ้างว่ามาจากไหน ใครรู้บ้างว่าทำกรรมอะไรมาถึงได้มาเกิดเป็นคนนี้ อย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่นซึ่งความจริงไม่ใช่ใครเลยนอกจาก "ธาตุ" ที่สะสมสือต่อมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจ จะมั่นคงอยู่ในทางคุณธรรมเพื่อที่จะได้ไม่ไปสู่อบายภูมิโดยที่ใครพาไปไม่ได้นอกจากการกระทำของตนเอง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจ และไม่เห็นโทษภัย ความติดข้องย่อมสามารถที่จะทำให้เกิดทุจริต เพราะฉะนั้นทางไปของผู้บริโภคกามอีกทางหนึ่งคือ ไปสู่อบายภูมิ แล้วใครจะรับประกันได้ถ้าไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล กรรมที่ได้กระทำแล้วยังสามารถให้ผลได้ ถึงแม้ว่าไม่ให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแต่เมื่อเกิดแล้วยังตามมาให้ผลภายหลังได้ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง วันก่อนอาจจะมี เดี๋ยวนี้อาจจะไม่มี แต่พรุ่งนี้อาจจะมีได้เพราะว่า มีเหตุที่ได้กระทำแล้ว ใครอยากเจ็บป่วยบ้าง ไม่มีใครต้องการแต่เมื่อเหตุมีผลย่อมต้องมี เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงต้องละเอียด จากการที่เป็นผู้ที่บริโภคกามด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจแต่สะสมการที่เห็นโทษของกาม เห็นประโยชน์ของความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้นฟังพระธรรม จะอ่าน จะสนทนาเหมือนขณะนี้ก็ได้เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีโดยที่ไม่หวังเลยว่า เมื่อไหร่จะดับกิเลสได้เพราะว่า กิเลสดับด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจไม่ได้ เพราะฉะนั้นฟังเพื้อรู้ เพื่อเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งสามารถที่จะพ้นภาวะของผู้ที่ตาบอดเดินเปะปะไม่รู้ว่า มีหลุมมีบ่อที่ไหน เดี๋ยวเป็นทุจริต เดี๋ยวเป็นสุจริต นั่นคือความไม่รู้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของความรู้ย่อมนำไปสู่หนทางที่คนที่ไม่รู้ไม่สามารถจะไปได้ กำลังเป็นอย่างนี้เพราะไม่เห็นใครที่ไปทรมานตัวเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" เพราะเหตุว่า เป็นความเข้าใจผิดคิดว่า กิเลสจะหมดได้ด้วยการทรมาน จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อขณะที่ทรมานก็เป็นเราทั้งนั้น ตราบใดที่เป็นเราคือ ไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะกล่าวถึงขณะนี้เดี๋ยวนี้มีมากมายจึงต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจ และรู้ว่า ถ้าเป็นธรรมจริงๆ คือ กล่าวถึงสิ่งที่มีในขณะนี้ละเอียดขึ้นให้เข้าใจถูกต้องขึ้นว่า เป็นสิ่งที่มีจริงเกิดแล้วจึงปรากฏ และเกิดแล้วจึงเป็นอย่างนี้ตามเหตุตามปัจจัย แม้แต่แต่ละคนเกิดมาแล้วประพฤติอย่างนี้ทุกวันๆ แต่ว่าแต่ละคนต่างกันเพราะว่า ต่างย่อมประพฤติตามที่เป็นไป เดี๋ยวนี้คือ ความเป็นไป จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะเอื้อมมือไปตักอาหารที่ชอบ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยให้เกิดขึ้นแล้วดับไป รู้ดีกว่าไม่รู้ หรือเปล่า
อ.คำปั่น เวลาที่ได้ฟังพระธรรมจะมีข้อความที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงคุณของกุศลธรรม โทษของอกุศลธรรมไว้มากมายทีเดียว แต่มีจำนวนไม่น้อยเลยที่มีการกระทำทุจริตกรรม กระทำบาปกรรม ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด
อ.ธิดารัตน์ ทำบาปใช่ไหม ทำบาปในการที่จะล่วงศีล หรือว่าทำบาป เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือว่าประกอบอกุศลกรรมทั้งหลาย มีอกุศลเป็นปัจจัยอยู่แล้ว และจริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันผู้ที่เป็นปุถุชน คือ ผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลที่ยังไม่ได้ดับกิเลส มีอกุศล หรือกิเลสที่สะสมมาจนเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส และเมื่อกิเลสเหล่านั้นมีกำลังมากย่อมเป็นปัจจัยให้ล่วงศีลทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เป็นต้น และถึงแม้ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่แต่รู้ว่า มีกิเลส ย่อมเป็นปุถุชนที่ดีขึ้นมาเล็กน้อยเพราะยังรู้ว่า ตัวเองมีกิเลส และถ้าเห็นโทษของอกุศลธรรมเหล่านี้ มีการศึกษาธรรมเพื่อที่จะขัดเกลาอกุศลธรรม ย่อมค่อยๆ เป็น "กัลญาณปุถุชน" คือ ปุถุชนที่มีธรรมอันงามเพิ่มขึ้นๆ นี่คือ ประโยชน์สำหรับผู้ที่เห็นโทษของอกุศลธรรมทั้งหลาย และตามความเป็นจริงอกุศลธรรมทั้งหลายเกิดเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาเนิ่นนานซึ่งมีกิเลสหลากหลายระดับ
กิเลสที่สะสมนอนเนื่องในจิตซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจการงานเลยเรียกว่า "อนุสัยกิเลส" สิ่งที่สะสมมาไม่ใช่แค่ชาตินี้ อดีตนานแสนนานมีมา และเมื่อไหร่ที่จะรู้ว่ามีอกุศลเหล่านั้นคือ ขณะที่มีกิเลสที่สะสมแล้วเป็นปัจจัยให้โลภะเกิดในชีวิตประจำวัน โทสะเกิดในชีวิตประจำวัน จะทราบได้เลยว่า เรามีพืชเชื้อของกิเลสเหล่านี้สะสมมาเนิ่นนานที่จะทำให้อกุศลเหล่านี้เกิดขึ้นมีกำลังมากน้อยแค่ไหนตามการสะสม และประโยชน์คือ การสะสมกุศล หรือปัญญาที่จะค่อยๆ ขัดเกลาอกุศล
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 841
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 842
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 843
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 844
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 845
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 846
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 847
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 849
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 850
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 851
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 852
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 853
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 854
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 855
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 856
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 857
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 858
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 859
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 860
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 861
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 862
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 863
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 864
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 865
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 866
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 867
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 868
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 869
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 870
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 871
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 872
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 873
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 874
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 875
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 876
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 877
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 878
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 879
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 880
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 881
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 882
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 883
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 884
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 885
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 888
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 890
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 892
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 893
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 894
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 895
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 896
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 897
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 898
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 900