พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 886


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๘๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ ตลอดชีวิตเกิดมา มีปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏหรือไม่ ถ้าไม่มีจะบรรลุมรรคผลเมื่อไร

    อ.คำปั่น ท่านอาจารย์ครับ ก็สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจความจริงอย่างแท้จริง อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวถึง แม้การจะเป็นผู้ที่มีศีลที่ดีงาม ก็ต้องคล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นจะบริสุทธิ์ไม่ได้เลย ที่จะไปชำระจิตให้บริสุทธิ์ จะเอาอะไรมาชำระ เพราะไม่รู้ คงไม่ลืม เพราะไม่รู้

    อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ ก็เป็นความสามารถที่จะได้ฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าความเข้าใจ แม้เรื่องของศีลว่า จริงๆ ศีลก็คือเป็นธรรม ไม่ใช่ตัวเรา ถ้าบุคคลที่ไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ก็ยังมีความรู้ว่าตนเองเป็นผู้ที่งดเว้น ไม่ใช่ว่าเป็นธรรมที่เป็นปัญญา ที่มีความรู้ถูก เข้าใจถูกว่า แม้จิตที่เป็นกุศลนั้น ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพจริงตามความเป็นจริง ก็เป็นอกุศล รู้เมื่อไรก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ ค่อยๆ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากความไม่รู้ไป และกิเลสอื่นๆ ด้วย

    อ.วิชัย เชิญคุณอรวรรณครับ

    ผู้ฟัง ผู้ที่เริ่มสนใจศึกษาธรรม หรือว่าปฏิบัติธรรม หรือว่าแสวงหาธรรม โดยมากก็จะไม่ได้ตั้งต้นแบบที่ท่านอาจารย์สอน อาจจะไปเริ่มตอนต้นที่บอกว่า ต้องมีทาน ศีล ภาวนา เหมือนกับว่าต้องมีทาน มีศีลก่อน ปัญญาถึงจะเจริญได้ คือทาน และศีล เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา หรือว่าศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนกับว่าต้องไปมีศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็แล้วแต่ว่าขณะไหน แล้วสมาธิปัญญาจะเกิดได้ หมายถึงว่าไม่ได้ตั้งต้นศึกษาว่า จริงๆ แล้วที่กล่าวว่าพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของปัญญา และปัญญาต้องรู้อะไร ก็จะเข้าใจผิดเช่นนั้น

    ขอความกรุณาท่านอาจารย์ตอกย้ำว่า ต้องเริ่มต้นถูก จึงจะสามารถพบหนทางที่จะละ หรือดับกิเลสได้ เมื่อไรไปตั้งต้นทาน ศีล ภาวนา โดยที่ไม่รู้จริงๆ ว่า ศีลคืออะไร ก็จะเป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องตรงกับที่ได้ฟังคำแรก ธรรมคืออะไร อย่างมั่นคง เข้าใจว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วจะมาเป็นเราได้อย่างไร เพราะฉะนั้นทุกคำต้องสอดคล้องกันตั้งแต่ต้น แม้แต่อกุศลเกิดแล้ว แล้วก็ไม่อยากที่จะให้อกุศลเกิด มีความเป็นเราหรือเปล่า ความละเอียด ใช่หรือไม่ แล้วถ้ายังคงมีความเป็นเรา จะดับอกุศลอะไรได้

    ผู้ฟัง การศึกษาครึ่งๆ กลางๆ เป็นอันตรายมาก ก็ดูเหมือนกับผู้เริ่มศึกษาพุทธศาสนา ถ้าไม่เริ่มต้นให้ถูกว่า คืออะไร ในสิ่งที่กล่าว สิ่งที่พูด ในสิ่งที่ทำ โอกาสที่จะเจอถูก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะพูดหรือกล่าวหรือทำอะไร ต้องเข้าใจสิ่งนั้นก่อนว่า คืออะไร ยกตัวอย่างคำว่า ศีล บางคนก็ไปรักษาศีลโดยที่ยังไม่ทราบเลยว่า ศีลคืออะไร แต่จริงๆ ถ้าศึกษาแล้ว ท่านอาจารย์กล่าวว่าคือความเป็นปกติ อาจจะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ได้ จึงจะไม่เป็นครึ่งๆ กลางๆ ก็จะข้อความละเอียดตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องรู้ความจริงโดยตลอด แม้แต่ว่าขณะนี้ ไม่ใช่เรา กว่าจะถึงวันนั้น ไม่ใช่เรา เพียงแค่คิด แต่ว่าเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา ลักษณะที่เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ดับไปแล้ว ไม่เหลือเลย ไม่กลับมาอีกเลยด้วย แล้วติดข้องในอะไร ในสิ่งที่ไม่มีแล้ว เป็นอย่างไร โดยตลอด ทุกอย่างเกิด และดับ เกิด และดับ จะเหลืออะไรสักอย่างหรือเปล่า ก็ไม่เหลือเลย เพราะความไม่รู้ทำให้ติดข้องในสิ่งที่แม้ไม่มีแล้ว

    การฟังธรรม จึงเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรม และมีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ๔๕ พรรษาทุกคำ เพราะรู้ว่าแม้จะกล่าวว่าทุกอย่างเดี๋ยวนี้ บอกได้เลย เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม ได้แต่พูด แต่กำลังเห็น ไม่ได้รู้ตรงเห็น ที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา หรือขณะนี้ เสียงก็มี ได้ยินก็มี และพระองค์ก็ทรงทราบถึงการสะสมที่หลากหลายมากของแต่ละคนว่า ยากแสนยาก แม้กำลังพูดถึงเรื่องสิ่งที่มี ก็ใช่ว่าสามารถที่จะน้อมมาเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้พระมหากรุณาที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา เพื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี เพราะฉะนั้นก็ทรงแสดงพระธรรมโดยมีนัยหลากหลาย โดยประการทั้งปวง ทั้งในเรื่องของความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงโดยตลอด เพื่อที่จะได้ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ในอะไร ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ลืมคำนี้ไม่ได้เลย ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏในสิ่งนั้นหรือยัง และมีเห็นด้วย เห็นถูกกว่าเห็นเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไปหรือยัง

    พระธรรมก็มีอยู่ทั้งวันทุกชาติด้วย แต่ว่าต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดง ความลึกซึ้งที่สามารถจะให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ง่ายแน่นอน ๔ อสงไขยแสนกัป ก็ยังมีตัวอย่าง แสนกัปก็มีตัวอย่าง แล้วใครจะคิดวิธี ที่จะทำให้รู้ได้เร็ว รู้ได้ง่าย ผู้ที่ฟังพระธรรม ในสมัยพระทีปังกร และได้ฟังคำพยากรณ์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ซึ่งครั้งนั้นเป็นสุเมธดาบส ฟังเสร็จแล้วไปสร้างสำนักปฎิบัติกันหรือไม่ ท่านเหล่านั้นเป็นใคร ได้เฝ้าได้ฟังพระธรรม แต่เบิกบานที่ว่า แม้ได้ฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกร ยังไม่สามารถจะรู้ความจริงของเห็น ของได้ยิน ของสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้น โดยความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา กว่าจะรู้อย่างนี้ได้ อีก ๔ อสงไขยแสนกัป ที่สุเมธดาบสได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าโคดมพระองค์นี้ ท่าอดทน ท่านไม่ได้ไปทำอะไร ซึ่งไปเร่งรัด หรือไปคิดว่าทำอย่างนั้นแล้ว สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นความเห็นต่างกันตามการสะสม

    ผู้ฟัง ดูเหมือนว่าที่มีการสอนกันทาน ศีล ภาวนา หรือว่าศีล สมาธิ ปัญญา ก็บอกว่าไม่ได้สอนเอง เอามาจากพระไตรปิฎก ซึ่งถ้าฟังท่านอาจารย์แล้ว ก็เหมือนกับถ้าไม่ทราบว่าไปทำทาน ศีล ภาวนา โดยที่ยังไม่รู้จักว่าทาน ศีล ภาวนาคืออะไร หรือว่าศีล สมาธิ ปัญญาคืออะไร โดยที่ไม่ได้ฟังว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวสิ่งเหล่านี้โดยหมายถึงอะไร ก็ต้องผิดแน่นอน เพราะว่าคิดเอง ไม่มีทางถูก

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง หรือในการที่บอกว่า ตั้งต้นที่ทำจิตให้บริสุทธิ์ ที่บอกว่าละชั่ว ทำดีแล้ว ทำจิตให้บริสุทธิ์ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ก็คือผิด เพราะเหมือนกับไปตามพยัญชนะ โดยไม่เข้าใจอรรถที่แท้จริงของสิ่งที่ทรงนำมาเทศนาให้ฟัง ก็ผิดแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ ปริยัติ ปฏิปัตติ ปฏิเวธ ข้ามขั้นไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ซึ่งตรงนี้สำคัญจริงๆ ถ้าไม่เริ่มที่ปริยัติ แล้วไปปฏิบัติเลย เหมือนกับยังไม่ทราบว่าอะไรก็ไปปฏิบัติ ก็ต้องผิดแน่นอน

    ท่านอาจารย์ แล้วปฏิบัติอะไร แล้วรู้อะไร เมื่อวานนี้ก็มีการสนทนาธรรมกับท่านหนึ่ง ซึ่งท่านไปปฏิบัติ ก็เรียนถามท่านว่า ท่านปฏิบัติอย่างไร ท่านก็บอกว่าลูกแก้วกลมๆ แล้วเกี่ยวอะไร นั่นหรือปัญญา ปฏิบัติทำไม ลูกแก้วกลมๆ ไปรู้อะไร

    การพูดคำจริง เป็นการอนุเคราะห์ เพื่อประโยชน์หรือเปล่า เพราะเป็นคำจริงให้คนอื่นได้เข้าใจ แต่คนที่พูดคำไม่จริง เบียดเบียนหรือเปล่า แต่เข้าใจว่าถ้าพูดความจริงที่ถูกต้อง ไปเบียดเบียนคนอื่น ถูกหรือผิด ถ้าพูดคำไม่จริง เบียดเบียนคนอื่นแน่นอน และเบียดเบียนความจริงด้วย ทำให้ความจริงนั้นหมดไป เพราะว่าทุกคนเข้าใจว่าสิ่งที่ไม่จริงนั้น จริง

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาโดยละเอียด ถึงเจตนา ถึงประโยชน์ ถึงความอนุเคราะห์ เพราะเหตุว่าคำนั้นเป็นคำจริง ไม่ได้ให้คำที่ไม่จริงกับคนอื่นเลย สามารถที่จะพิสูจน์ได้ ซักถามได้ ไตร่ตรองได้ เข้าใจได้ ถ้าจะคิดว่าคำจริงที่กล่าวเบียดเบียนคนอื่น ก็คิดว่าตรงกันข้ามเลย คำไม่จริงนั้นเบียดเบียนคำจริง แล้วก็เบียดเบียนคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย เพราะเหตุว่าเป็นคำไม่จริง แต่ว่าการพูดคำจริง ต้องในขณะที่เป็นประโยชน์ ถ้าขณะนั้นไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ควรที่จะกล่าว เพราะไม่มีประโยชน์ ต้องคิดถึงประโยชน์ด้วย

    อ.อรรณพ กราบเรียนอาจารย์ครับ อยากจะกราบเรียนสนทนาให้จบประเด็น เรื่องที่ว่า ต้องทำศีล ทำสมาธิ แล้วก็จะได้เป็นปัญญา ก็พอจะมีความเข้าใจพื้นฐานว่า ศีล จะทำให้เกิดปัญญาได้เอง คนที่ไม่ต้องศึกษาธรรม แล้วมีศีล ๕ หรือศีลอะไร เขาก็ต้องบรรลุกันไปเอง ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ว่ามีความคิดที่อาจจะดูเหมือนถูก ที่คิดว่าเขาไม่คิดถึงขนาดนั้น แต่เขาคิดว่า แค่ศีลยังไม่มีเลย แล้วจะไปเจริญปัญญา ก็เป็นเรื่องดูว่าเหลือวิสัย แล้วก็มีคำที่ท่านพระนาคเสน ท่านแสดงไว้ว่า ศีลเป็นพื้นฐานของกุศลธรรมทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ท่านพระสารีบุตร ต้องไม่กล่าวถึงอกุศลศีล และกุศลศีล เพราะฉะนั้นขณะที่รักษาศีล เข้าใจอะไรหรือเปล่า ทุกคำที่เป็นพุทธพจน์ เพื่อความเห็นถูก เพื่อปัญญาที่เข้าใจถูก แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ศีลนั้นก็ไม่ใช่พระพุทธพจน์ เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ศีลที่จะเป็นพุทธพจน์ เพราะเหตุว่าได้ทรงแสดงไว้แล้วว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่เพราะเหตุว่าไม่ได้มีการไตร่ตรองอย่างละเอียด ก็ไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นธรรม

    อ.วิชัย ในเรื่องของศีล ซึ่งท่านพระสารีบุตร ก็แสดงเรื่องของธรรม ก่อนหน้านี้ศึกษาในเรื่องของว่า ศีลคือปกติ ไม่ว่าจะเป็นกุศลศีลหรืออกุศลศีล แต่ก็มีความรู้ความเข้าใจขึ้นว่า อะไรที่มีโทษ ถ้าเป็นอกุศลแน่นอนย่อมมีโทษ แล้วก็ให้ผลเป็นทุกข์ด้วย แต่ถ้าเป็นกุศลนั้นเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม แล้วก็ไม่มีโทษ ในส่วนของธรรมอย่างอื่น ท่านพระสารีบุตรก็แสดงถึง เจตนาเป็นศีล เจตสิกก็เป็นศีล สังวรก็เป็นศีล ความไม่ก้าวล่วงก็เป็นศีล กล่าวถึงเจตนาก่อน เชิญอาจารย์ธิดารัตน์ครับ เจตนาเป็นศีลคืออย่างไร ซึ่งท่านก็ขยายความว่า เจตนางดเว้นปาณาติบาต เป็นต้น

    อ.ธิดารัตน์ ที่ท่านยกตัวอย่างเจตนาที่งดเว้นอกุศล เพราะว่าเจตนาเป็นกรรมด้วย ใช่หรือไม่ ขณะที่เว้นอกุศลทั้งหลาย ก็เป็นกุศลกรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นความเป็นไปคือมีทั้งเจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศล ที่จะเว้นอกุศลจากบาป ก็เป็นกุศลกรรม แล้วก็ทำให้มีกาย วาจา ที่จะเป็นไปด้วยเจตนาเจตสิกนั้น ก็เป็นปกติ ปกติเพราะว่าการที่ท่านกล่าวว่า เจตนาเป็นศีล ก็คือเป็นความเป็นไปของกุศลเจตนา อกุศลเจตนา

    อ.วิชัย ท่านอาจารย์ครับ ถ้ากล่าวถึงเจตนา ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็แสดงถึงว่า เป็น ศีล หรือว่าเจตนาคือความจงใจ ถ้าจงใจ ตั้งใจที่กล่าวว่าเป็นศีลคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดที่จะวิรัติทุจริต หรือว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำอะไรบ้างไหม คุณวิชัยเคยคิดหรือไม่

    อ.วิชัย เคย

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นตั้งใจ จงใจ คิดที่จะไม่ทำ ใช่หรือไม่

    อ.วิชัย ใช่ มีความตั้งใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นที่เกิดขึ้น อย่างบอกว่าจะไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง เคยหรือไม่

    อ.วิชัย เคยคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นกุศล ใช่หรือไม่

    อ.วิชัย เป็นสภาพที่เป็นกุศล ไม่เดือดร้อนใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลศีล ใช่หรือไม่

    อ.วิชัย เป็นด้วยในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเจตนานั้นก็เป็นศีล ที่เป็นกุศล เพราะว่าตั้งใจที่จะเว้นทุจริต

    อ.วิชัย หมายถึงว่าที่ท่านแสดง คือแสดงละเอียดทีละอย่าง แม้ทีประเภทก็เป็นศีลสีในแต่ละอย่าง

    ท่านอาจารย์ พระธรรมละเอียดมาก เพราะฉะนั้นถ้าใครรักษาศีล แต่ไม่รู้ว่า ศีลคืออะไร มีทางที่จะละกิเลส ถึงการดับกิเลสได้หรือไม่ ที่กล่าวว่าต้องมีศีลก่อน ถึงจะมีปัญญา แต่ถ้าในขณะนั้นไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วจะบอกว่าจะถึงปัญญา ที่จะดับกิเลสได้ไหม ก็เป็นไปไม่ได้

    อ.วิชัย จะเข้าใจอย่างนี้ที่ท่านแสดงถึงเจตนา หมายถึงแสดงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราด้วย หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นจึงมีธรรมแต่ละหนึ่งๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธรรมใดเป็นลักษณะใด เจตนาไม่ใช่สติ และสติเป็นศีลได้หรือเปล่า

    อ.วิชัย ก็เป็นอีกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอีก ใช่หรือไม่

    อ.วิชัย อาจารย์อรรณพ มีอะไรเพิ่มเติม เชิญครับ

    อ.อรรณพ วันนี้ คงเป็นวันที่ได้มีโอกาสเข้าใจในเรื่องศีล เมื่อสักครู่อ.วิชัยก็สนทนาสองประเด็นว่า เจตนาชื่อว่าศีล เจตสิกชื่อว่าศีล เพราะว่าก่อนหน้านี้ก็ได้พูดถึงศีล ก็อาศัยกุศลจิต ตรงนี้จะชัดเจนว่า ท่านมุ่งถึงเจตสิก ซึ่งเจตสิกที่ชัดเจน ท่านหยิบยกมาแสดงก็คือเจตนา ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้สนทนากับอ.วิชัย เราจะเห็นว่าในชีวิตประจำวัน บางครั้ง มีเจตนาศีล แต่ไม่รู้ เช่นรู้สึกว่า เราไม่ควรที่จะทำอย่างนี้ต่อไป ไม่ควรไปพูดกับเขาแรงๆ พูดไปแล้วกลับมาก็รู้สึกว่าไม่ดี หรือทำไมจะต้องมีกาย วาจาที่ไม่ดีอย่างนั้น ก็มีเจตนาที่จะงดเว้นสิ่งเหล่านี้

    ซึ่งข้อความทางการแสดงไว้ในมหานิทเทสว่า เจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ศีล ๕ ของผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติก็ดี ชื่อว่าเจตนาศีล มุ่งถึงเจตนาที่จะงดเว้น ตัวนั้นไม่ใช่ใคร แต่เป็นเจตนาเจตสิกที่เป็นสีละ หรือเป็นเจตนาศีล แล้วก็ยังมีต่อว่า ความงดเว้นของผู้ที่งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น ชื่อว่าเจตสิกศีล ไม่ใช่เพียงแค่เจตนา ใช่ไหม แต่ในขณะที่มีการงดเว้น ก็มีเจตสิกธรรมต่างๆ มากมาย ก็คือเจตสิก และจิตทั้งหลาย โดยเฉพาะเจตสิกทั้งหมดที่เกิด ที่เป็นเจตสิก ขณะนั้นต้องดีงาม นั่นเป็นเจตสิกศีล มีคำว่าเจตสิกศีลด้วย หรือถ้าจะพูดถึงในบรรดากรรมบถทั้ง ๑๐ ที่เป็นอกุศลกรรมบถ ก็มีทางกาย ๓ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ทางวาจา ๔ ก็คือพูดเท็จ หักประโยชน์ผู้อื่น พูดคำส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ กาย ๓ วาจา ๔ รวมเป็น ๗ แล้วก็มีอภิชชา เพ่งเล็งของผู้อื่น และมีพยาปาทะ ความไม่พอใจต่างๆ ผูกพยาบาท แล้วก็ความเห็นผิด

    แต่ถ้าตรงข้าม ก็เป็นฝ่ายดี ก็คือเจตนาที่จะงดเว้นจากอกุศลกรรมบถทั้ง ๗ หรือกาย ๓ วาจา๔ ท่านก็แสดงว่านั่นคือเจตนาศีล คือเจตนาในกรรมบถ ๗ ของผู้ละการฆ่าเป็นต้น นั่นคือเจตนาศีล ที่เป็นไปในการละอกุศลกรรมบถ ๗ หรือว่ามีกุศลกรรมบถ ๗ แล้วก็มีต่อว่า การที่ไม่มีการเพ่งเล็งของผู้อื่น ไม่โลภที่จะเพ่งเล็งของผู้อื่นหรือว่าไม่พยาบาท และสัมมาทิฏฐินี้ เป็นเจตสิกศีล

    เพราะฉะนั้นถามว่า ปัญญาเป็นศีลหรือไม่ เพราะอะไรปัญญาจึงเป็นศีล เพราะเป็นเจตสิก เป็นเจตสิกศีล เพราะฉะนั้นคำว่า ศีล กว้างครอบคลุมนี้แค่สองประการ เจตนาชื่อว่าศีล แล้วก็เจกสิกชื่อว่าศีล ก็ขอเสริมในสองประการนี้ จะได้เป็นประเด็น

    อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ การศึกษาปริยัติ โดยเฉพาะอภิธรรมปิฎก ก็จะมีการกล่าวถึงเรื่องของความละเอียดของจิต แม้ในเรื่องของวิถีจิตต่างๆ แต่การที่จะรู้ เข้าใจว่าทั้งหมด เพื่อเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ บางครั้งก็อาจจะมาคิดเป็นเรื่องของคำ เรื่องพยัญชนะ โดยที่ละเลยการที่จะเข้าใจในสิ่งที่มีขณะนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจึงมีพระสูตร ๔๕ พรรษา เพื่อให้เห็นความสำคัญของแต่ละธรรม ที่กว่าจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏได้ ต้องอาศัยการฟังจนกระทั่งมีศรัทธามั่นคง แล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่า ฟังมาแล้วว่าเห็นเกิดแล้วดับ ตามเหตุตามปัจจัย ฟังมา แต่ว่า กำลังนี้ (นาทีที่ ๑๙.๕๘ กำลังมีเห็นขณะนี้) เห็นก็เกิด เป็นเห็นเท่านั้น แล้วก็ดับไป ก็ยังไม่ถึงปัญญาระดับนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ได้เข้าใจถูก สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    อ.วิชัย ขอกล่าวถึงความรู้สึกคือ เมื่อเข้าใจเรื่องของปัจจัยต่างๆ บ้าง รู้ก็เพียงเข้าใจ แต่ก็ไม่ได้นั่งคิดถึงว่า ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ที่เป็นธรรมจริงๆ แต่ขณะที่ฟังเรื่องราวของวิถีจิตบ้าง หรือเรื่องความเป็นปัจจัย ก็ฟังเข้าใจแต่ก็เหมือนกับเข้าใจ และก็ไม่ได้ติดอะไร เพียงเข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่นี้คุณวิชัยพูดถึงเรื่องปัจจัย นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ อะไรก่อน

    อ.วิชัย ต้องนามรูปปริจเฉทญาณก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะไปเข้าใจปัจจัย ก่อนที่จะรู้ว่านี่เป็นธรรม ได้หรือไม่

    อ.วิชัย ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเลย ได้ยินชื่อธรรม ได้ยินคำว่านามธรรม รูปธรรม แต่ว่าขณะนี้ก็เป็นธรรมทั้งหมด และก็เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง จริงๆ แต่ละหนึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เร็วสุดที่จะประมาณ แต่ก็ยังมีลักษณะที่เป็นนิมิตปรากฏให้รู้ว่า สิ่งนั้นมีจริงๆ กำลังเกิดดับ อย่างเห็นก็ไม่ใช่ได้ยิน ก็ไม่ใช่คิดนึก แต่เห็นก็ไม่ใช่หนึ่งขณะ เห็นก็เกิดดับอยู่ตลอด ในขณะที่กำลังปรากฏ ทั้งหมดเพื่อรู้ว่าไม่ใช่เรา แล้วก็เป็นอนัตตา แต่ส่วนพระสูตรที่ทรงแสดงไว้ ก็อุปการะในขณะที่กำลังได้เข้าใจ ว่านี่คือความเป็นไปของชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่เป็นสังสารวัฏฏ์ โดยความละเอียดอย่างยิ่ง แม้แต่จะกล่าวถึงเจตนาศีล ตั้งใจที่จะวิรัติทุจริตที่จะไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็แล้วแต่

    แต่ว่าตั้งใจปรากฏอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า แม้มี เกิดกับจิตทุกขณะ แต่ก็หลากหลายประเภท เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตาม ที่กำลังไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ขณะนั้นต้องมามีเจตนาปรากฏให้รู้หรือไม่ ว่าฉันจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่มี เพราะฉะนั้นเจตสิกในขณะนั้นก็เป็นศีล เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า การที่จะยกสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ที่กล่าวถึง ก็ต่างกาล อย่างขณะที่กำลังคิด ว่าจะไม่ทำทุจริต ไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง ไม่กล่าววาจาอะไรก็แล้วแต่ คำหยาบ แต่พอถึงเวลาจริงๆ เห็นความเป็นอนัตตา หรือเดือดร้อน เห็นหรือไม่ ปัญญาไม่พอ แต่ที่ได้ฟังมาแล้วทั้งหมดก็คือว่า ทุกอย่างเป็นธรรมเกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ถ้าจิตขณะนั้นไม่เป็นโทสะอย่างแรง คำหยาบอย่างนั้นก็เกิดไม่ได้เลย แต่เมื่อเกิดแล้ว แทนที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา เป็นธรรม ปัญญาไม่พอ

    ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงธรรมอื่นๆ ด้วย ๔๕ พรรษา เพื่อที่จะน้อมมา สู่การที่จะได้เข้าใจสภาพของธรรม ก่อนที่จะเข้าใจว่า ขณะนั้นอะไรเป็นปัจจัย ที่จะให้เป็นอย่างนั้น การที่จะเข้าใจธรรม ต้องละเอียดแล้วก็ต้องตรง และก็ตามความเป็นจริงด้วย

    อ.วิชัย หมายถึงว่าขณะที่มีแม้เจตนา ที่จะงดเว้นหรือว่าแม้สภาพธรรมที่เป็นกุศลเจตสิกเกิดขึ้น แต่ว่าการที่จะมีสติ ที่รู้ในลักษณะของธรรม ที่เป็นเจตนาหรือว่าลักษณะของธรรมที่มี ขณะนั้นก็เป็นศีล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะมีพยัญชนะหลากหลาย ซึ่งแสดงความจริงอย่างละเอียดยิ่ง อย่างคำว่า ศีลสังวรหรือศีลสังวะระ มีหรือไม่

    อ.วิชัย มี

    ท่านอาจารย์ คำนี้ มีใช่ไหม แล้วต่างกันอย่างไร เมื่อไร เจตนาจะไม่พูดปด ไม่พูดไม่จริง ไม่พูดคำหยาบ แต่ถึงเวลานั้น ขณะนั้นวิรัติคือคือสังวร เมื่อสิ่งนั้นกำลังเผชิญหน้า จะต้องมีสภาพธรรมที่ไม่ใช่เพียงเจตนาซึ่งตั้งใจไว้ ตั้งใจไว้ก็ดับไปแล้ว ตั้งใจไว้กี่วันแล้ว อาจจะเป็นปี หรือว่าหลายปีมาแล้วก็ได้ ที่เคยคิดใช่หรือไม่ แต่เวลาที่ประสบกับสิ่งนั้นจริงๆ วิรัติหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็ยังมีสังวรด้วย ในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏเฉพาะหน้า

    นี่คือความละเอียดของธรรม ซึ่งกว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เราเลย ฟังธรรมทั้งหมด เพื่อได้เห็นถูกต้อง โดยที่ไม่ต้องไปเจาะจง ว่าจะเข้าใจตรงนั้น เรื่องนี้ หรืออะไร แต่เมื่อมีความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมแน่นอน เพราะเกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ก็จะทำให้เพิ่มความละเอียด ในการที่จะศึกษาต่อไป ฟังต่อไป เพราะเหตุว่าพระไตรปิฎกมาก ไม่น้อยเลย แต่ละคำก็มีความหลากหลาย มีความต่าง ที่จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น มิฉะนั้นไม่มีทางที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    22 ม.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ