พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 887


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๘๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    อ.อรรณพ เป็นการสนทนาเพื่อความเข้าใจธรรม ที่ละเอียดลงไปจนถึงตัว หรือสภาวธรรม เป็นพื้นฐานความเข้าใจอภิธรรม ซึ่งในทุกคำสอน ไม่ว่าจะพระองค์ท่านจะทรงแสดงโดยพระวินัย พระสูตร หรือแสดงโดยตรงในพระอภิธรรมก็ตาม แต่ก็คือเพื่อเข้าใจในธรรม ที่มีลักษณะ มีสภาพจริงๆ เพราะว่าถ้าไม่มีธรรมที่มีลักษณะ มีสภาวะจริงๆ ก็จะไม่มีคำสอนที่เป็น พระสูตรหรือพระวินัย อะไรเลย เพราะจริงๆ แล้วต้องมีสภาพธรรม

    เมื่อวานก็มีการสนทนาพระสูตร ลักษณะของพาล และบัณฑิต ถึงพระองค์ท่านจะทรงแสดงโดยเป็นพระสูตร คือลักษณะของพาล และบัณฑิตก็ตาม เพราะว่าต้องมีสภาพธรรมที่เป็นพาล และสภาพธรรมที่เป็นบัณฑิต ไม่ใช่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่อย่างใด

    ท่านอาจารย์ คำว่า พาลกับบัณฑิต ต้องหมายความถึงสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงชื่อพาลหรือว่าชื่อบัณฑิต เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา ก็ยังยาก เพราะฉะนั้นที่จะรู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นพาล สภาพธรรมใดเป็นบัณฑิต ไม่ใช่เพียงแต่สำหรับคิด พอได้ยินก็คิด อยากจะรู้ว่า พาลต่างกับบัณฑิตอย่างไร ชาตินี้กับชาติหน้าได้ยินแล้วจะเป็นอย่างไร แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะคำนึงถึงเลย เพราะเหตุว่าชีวิตที่มีอยู่ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อไร ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    เพราะเหตุว่าชีวิตก็คือ การเกิดขึ้น และดับไปของจิตแต่ละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง มีโอกาสที่จะได้ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง เพื่อจะเข้าใจสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น ซึ่งทรงแสดงไว้ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ยังไม่ต้องไปถึงการที่ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ แล้วก็ไปคิดเรื่องคนพาล และบัณฑิต แต่ทั้งหมดก็คือพาล ก็ต้องเป็นสภาพธรรม บัณฑิตก็ต้องเป็นสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ยังไม่ได้เข้าใจธรรม ยังคงคิดว่าเป็นเราอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะไปรู้ว่า ชาติหน้าเราจะเข้าใจคำภาษานี้ หรือว่าจำคำภาษานี้ ก็คือให้รู้ว่า จากการฟังความเข้าใจชาตินี้ว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน ปฏิเสธไม่ได้เลย แต่สิ่งนั้นมีจริง เพียงเมื่อเกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป นี่คือสะสมความเห็นถูก ในสิ่งที่มีจริงว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงชั่วคราว แล้วก็ดับไป ไม่ต้องสะสมเรื่องราวอะไร ที่คิดว่าชาติหน้าจะไปจำได้หรือไม่ จำได้มากน้อยขนาดไหน แค่ไหน ชื่อเสียงเรียงนามต่างๆ เพียงแต่ว่าขณะนี้ให้เข้าใจ และถ้ายังไม่ถึงชาติหน้า ขณะใดก็ตามที่ไม่ลืมว่า เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ และจะเข้าใจเมื่อได้ฟังพระธรรม แต่ถ้ายังไม่ได้ฟังพระธรรม ก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเลย มีใครบ้างรู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วที่สุด จนไม่ปรากฏว่า ขณะนี้สภาพธรรมใดเกิด และดับไป

    อ.อรรณพ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ มีข้อความสั้นๆ ในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ท่านอธิบายธรรมที่เป็นพาลธรรม และบัณฑิตธรรมสั้นๆ เลยว่า พาลธรรมเป็นไฉน อหิริกะ อโนตตัปปะ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า พาลธรรม

    ท่านอาจารย์ สั้นๆ คือขณะนั้นไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    อ.อรรณพ จึงเป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ

    ท่านอาจารย์ อหิริกะ อโนตตัปปะ

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ที่ว่าไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าพูดถึงโดยละเอียดเลย สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ยังไม่เข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แต่มีความเข้าใจธรรม ในขั้นเรื่องราวที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ แม้แต่เพียงจะรู้ว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏมีจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรา นี่คือความหมายของธรรม ไม่ได้เรียกธรรมเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นคนนั้นคนนี้เลย แต่มีจริงๆ กำลังปรากฏ แต่ขณะนี้สิ่งที่มีจริงหลากหลายมาก และเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะคิดถึงได้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมว่า ขณะนี้มีเห็น หนึ่งแล้ว เห็น ก่อนที่จะมีเห็น มีธรรมหรือเปล่า

    อ.อรรณพ มี

    ท่านอาจารย์ มี แต่ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้นเกิดเห็นแล้วก็ดับไป คือเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ให้มั่นคง ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลยทั้งสิ้น เข้าใจเมื่อไร ไม่ใช่พาลเมื่อนั้น แต่ขณะใดที่ไม่เข้าใจก็คือ พาล เพราะเหตุว่ามีอหิริกะ อโนตตัปปะ ไม่ละอาย ไม่รู้ว่าการที่สิ่งนี้มีปรากฏ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นความไม่รู้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นบัณฑิต หรือว่าเป็นผู้ที่รู้ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้จากการฟัง เป็นผู้ที่ไม่ประมาท คือพิจารณาคำที่ได้ยินโดยละเอียดยิ่ง ให้เข้าใจขึ้น ไม่ต้องไปไหนไกลกว่านี้เลย ทุกคำแม้แต่พาลหรือบัณฑิตก็อยู่ที่เห็น อยู่ที่ได้ยิน อยู่ที่ขณะนี้มีความเข้าใจหรือเปล่า ว่าขณะนี้เป็นธรรม ถ้าไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม ก็คือพาลแล้ว ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นขณะนี้จากพาล ที่ไม่รู้อะไรเลย ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจความจริงทีละเล็กทีละน้อยว่า ขณะนี้เห็น กำลังเห็นมีจริงๆ เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป โดยมากเราได้ยินคำมาก แล้วก็อยากจะเข้าใจคำนั้นๆ ที่เราได้ยินมาก แต่เราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า อะไรจะเป็นประโยชน์กว่ากัน มีชื่อเยอะ มีคำอธิบายเรื่องคำต่างๆ เหล่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เป็นทั้งหมดที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก จึงกล่าวถึงเจตสิกเดี๋ยวนี้ ก็มีเจตสิก จะกล่าวถึงพาลธรรม บัณฑิตธรรม ทั้งหมดก็คือเดี๋ยวนี้ แต่เราไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมขณะนี้ เราก็ฟังไม่เข้าใจว่า เราควรรู้อะไร คิดว่าเราควรจะรู้เพียงชื่อ จำชื่อไว้มากๆ ชาติก่อนจำชื่อไว้เยอะหรือไม่ จำคำไว้มากหรือไม่ แล้วเดี๋ยวนี้อยู่ไหน

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นพาลที่ยิ่งกว่าพาลก็คือ ความเห็นผิด ซึ่งขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น ก็ต้องมีอหิริ อโนตตัปปะ แต่เป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ คือความไม่ละอาย ความไม่เกรงในความเห็นผิดนั้นเลย เพราะฉะนั้นก็เห็นผิดได้ แม้ว่าจะตรงข้ามกับคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นก็รุนแรง แต่ตรงข้าม ความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ ก็เป็นบัณฑิตธรรมที่ยอดเยี่ยม เพราะเข้าใจถูกตามพระธรรมที่ถูกต้องเลย

    ไม่ทราบอาจารย์ธิดารัตน์ จะสนทนาเรื่องพาล และบัณฑิต ในชีวิตประจำวันของตัวเราเอง

    อ.ธิดารัตน์ เป็นสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของพาลหรือบัณฑิต ก็ต้องมีสภาพธรรม และที่อาจารย์อรรณพได้ยกตัวอย่าง อหิริกะ อโนตตัปปะ จริงๆ ก็เป็นอกุศลเจตสิก ที่ไม่ละอาย และไม่เกรงกลัวต่อบาป เกิดทั่วไปในอกุศลทุกประเภท เหมือนกับหิริ และโอตตัปปะ ซึ่งก็เป็นโสภณเจตสิกที่ทั่วไปแก่ธรรมฝ่ายดี

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นอกุศลดวงใด หรือประเภทใดก็ตาม จะประกอบด้วยความเห็นผิด หรือไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็ต้องมีความไม่ละอาย และไม่กลัวบาปคืออหิริกะ และอโนตตัปปะเกิดร่วมด้วยเสมอเลย เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับท่านแสดง ยกตัวอย่างเจตสิกที่ทั่วไปกับอกุศล เพราะว่าอกุศลจิตทุกประเภทเป็นพาล ขณะที่อกุศลจิตเกิด จะบอกว่าคนนั้นเป็นคนดีไม่ได้เลย เพราะว่าจิตนั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ไม่ดี ถูกประกอบพร้อมด้วยเจตสิก อย่างน้อยเมื่อมีอหิริกะ และอโนตตัปปะแล้ว มีอุทธัจจะด้วย มีโมหเจตสิก ซึ่งเป็นความไม่รู้ หมวดนี้ โมจตุกะ ๔ ประเภท เจตสิก ๔ ประเภท เป็นเจตสิกที่ทั่วไปแก่อกุศลจิตทุกประเภท

    เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลธรรมทั้งหลาย นอกจากจะไม่กลัวบาป ไม่เกรง ไม่ละอาย ยังไม่รู้ด้วย เพราะมีอวิชชา ซึ่งปกปิดให้ไม่รู้ และขณะนั้นก็ไม่สงบในอารมณ์ด้วย จะเป็นคนดีไม่ได้เลย ถ้าขณะที่จิตประกอบด้วย เจตสิกที่ไม่ดีเหล่านี้ ขณะนั้นถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้แสดงออกทางกาย ทางวาจา อย่างเช่นผู้ที่ประกอบด้วยความเห็นผิด แม้มีเพียงเล็กน้อย ความเห็นที่ไม่ถูกต้องตรงตามสภาพธรรม หลังจากที่เห็นแล้ว ยึดถือผิดว่าสิ่งนั้นเที่ยง มีอยู่ ก็ประกอบด้วยความเห็นผิด หลังได้ยินก็ยึดถือเสียง ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนเหล่านี้

    เพราะฉะนั้นทิฏฐิในชีวิตประจำวัน หรือว่าความยึดถือสภาพธรรมในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ยึดถือว่าเที่ยง ว่ามี หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ประกอบด้วยความเห็นผิด หลังเห็น หลังได้ยิน ซึ่งต้องสังเกตเอง แต่ละท่านในชีวิตประจำวันว่า ขณะใดจะมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือเป็นแค่เพียงโลภะ ที่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ศึกษาธรรมละเอียด เราได้ยินพาล ก็คนอื่น บัณฑิตก็หาใหญ่เลย ใช่หรือไม่ ก็อยากจะไม่คบพาล แล้วก็อยากจะไปหาบัณฑิตที่จะคบ แต่ถ้าไม่เข้าใจธรรมที่เป็นพาล ที่เป็นบัณฑิตจริงๆ ก็อยู่ในโลกของความคิดเท่านั้นเอง แต่พระธรรมก็จะเป็นประโยชน์ ที่จะทำให้มีการอบรมกุศล มีสภาพธรรมฝ่ายดี ที่ไม่มีที่หิริ โอตตัปปะเกิดเลยหรือไม่ ไม่มี ถ้าหิริ โอตตัปปะเกิดกับจิตใด จิตนั้นต้องดี

    กราบท่านอาจารย์ครับ ในพระธรรมสังคณี ท่านก็ยกเจตสิก ๒ อย่าง คือหิริโอตตัปปะว่า เป็นบัณฑิตธรรม เป็นธรรมคุ้มครองโลก ก็มีแสดงเหมือนกัน เราก็อยากให้โลกสงบดี แต่ท่านก็แสดงว่าหิริ โอตตัปปะ เป็นธรรมที่คุ้มครองโลก

    ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมว่า ธรรมละเอียด ลึกซึ้ง แม้ปรากฏก็ยากที่จะรู้ และเข้าใจได้ แต่เมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง จึงจะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่สามารถที่จะเข้าใจได้ทั่วถึงทั้งหมดในพระไตรปิฎก ก่อนอื่นขอเชิญคุณคำปั่น ให้คำแปลของคำว่า พาล กับคำว่า บัณฑิต

    อ.คำปั่น โดยศัพท์ พาล ก็หมายถึงคนที่โง่เขลา ผู้ที่ตัดประโยชน์ทั้งในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้า ชื่อว่าคนพาล คนที่คิดก็คิดไม่ดี พูดก็พูดไม่ดี ทำก็ทำไม่ดี นี้คือความเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นก็แสดงไว้เพิ่มเติมว่า ผู้ที่มีชีวิตเป็นอยู่เพียงลมหายใจเข้าออก แต่ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เพื่อเกื้อกูลทั้งแก่ตนเอง และคนอื่น นี่ก็ชื่อว่า คนพาล ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม

    ถ้ากล่าวถึงบัณฑิต บัณฑิต ก็คือ ผู้ที่ดำเนินไปด้วยปัญญา ผู้ที่มีปัญญา ซึ่งจากเมื่อวานก็ได้ฟังที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงในส่วนนี้ ชัดเจนมากว่า บัณฑิตก็เริ่มตั้งแต่มีความเข้าใจถูก เห็นถูก ในสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงเป็นบัณฑิตที่แท้จริง ก็คือสามารถที่จะดับกิเลสได้ ตามลำดับขั้น ความเป็นบัณฑิตจริงๆ ก็ไม่พ้นไปจาก ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดี มีปัญญา เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแต่ละคำ ไม่ใช่หมายความว่า เราผ่านไป แม้แต่คำว่าพาลคือใคร แล้วก็ทรงแสดงธรรมของพาล ก็คือว่าผู้ที่ไม่มีความละอายต่อบาป บาปก็คือ สภาพธรรมที่ไม่ได้นำความสุขความเจริญมาให้เลย และให้โทษด้วย

    อ.อรรณพ พาลธรรมก็คือ อหิริกะ อโนตตัปปะ สภาวะเหล่านี้ชื่อว่า พาลธรรม แล้วก็เป็นธรรมฝ่ายดำ กัณหธรรม อหิริกะ อโนตตัปปะ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า กัณหธรรม อกุศลธรรมแม้ทั้งหมด เป็นกัณหธรรม ตามที่ท่านอาจารย์กล่าว

    ท่านอาจารย์ ถ้าใครบอกว่า เราเป็นพาล โกรธไหม

    อ.อรรณพ ขอบคุณเขา เพราะว่าขณะที่เป็นอกุศล ก็ต้องพาล

    ท่านอาจารย์ แต่เขาต้องเข้าใจด้วยว่า พาลหมายความถึงอะไร ต่อไปคะ คุณคำปั่น

    อ.คำปั่น ผู้ที่มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต นี่ก็คือความเป็นคนพาล

    ท่านอาจารย์ อกุศลทั้งหมดครบถ้วน ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ต่อไปนี้เข้าใจแล้ว ว่า พาลคืออะไร

    อ.อรรณพ มีเพิ่มเติมอีกนิด เมื่อสักครู่ที่อาจารย์คำปั่นพูด ในมังคลทีปนี ท่านประมวลมา พลธาตุ เป็นไปในอรรถว่าปราณ ก็คือลมหายใจ ปราณก็คือความเป็นอยู่ และการหายใจ ผู้ใดย่อมเป็นอยู่ ยังหายใจเข้า และหายใจออกอยู่ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาการสักว่า หายใจเข้า หายใจออก หาเป็นอยู่ด้วยปัญญาอันประเสริฐไม่ เหตุนั้นผู้นั้นจึงชื่อว่า พาล รุนแรงมากเลย หายใจกันอยู่ทุกวัน ถ้าไม่อยู่ด้วยปัญญา เป็นพาล รู้สึกจะเป็นพาลเยอะเลย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นคำเตือน ให้รู้จริงๆ ไม่ใช่ว่าคนอื่น ว่าเป็นพาล แต่เป็นการเข้าใจถูกต้องว่า พาลคืออะไร มีชีวิตอยู่ที่ไร้ประโยชน์ ไม่มีคุณความดี แล้วก็ไม่ได้เข้าใจธรรมด้วย เพราะฉะนั้นมีชีวิตอยู่เท่ากับเพียงแค่ลมหายใจเข้าออก เวลาที่สนุกมาก ลืมแล้ว ใช่หรือไม่ มีชีวิตอยู่ คือเพียงแค่หายใจเข้าออก แต่ว่าขณะนั้นมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า เพราะฉะนั้นการมีชีวิตอยู่จริงๆ สามารถที่จะไม่ใช่พาลได้ แต่ต้องขอคำแปลของคำว่า บัณฑิต ด้วย

    อ.คำปั่น โดยความหมายของบัณฑิต บาลีคือปัณฑิต ความหมายก็คือผู้ดำเนินไปด้วยปัญญา ชื่อว่าบัณฑิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกุศลมีหลายอย่าง ใช่หรือไม่ การสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นด้วยอามิส คือด้วยวัตถุ ให้เขาพ้นจากความทุกข์ยากเดือดร้อน ก็เป็นกุศล แต่ว่าขณะนั้นเป็นบัณฑิตหรือเปล่า เป็นเพียงกุศลหรือเป็นบัณฑิต หรือในขณะที่ละเว้นทุจริต ทางกาย ทางวาจา ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ขณะนั้นก็มีอหิริกะ อโนตตัปปะ สามารถเว้นการที่จะทำให้บุคคลอื่น เป็นทุกข์โทษภัยได้ ด้วยความเมตตา ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต แต่มีปัญญาหรือเปล่า เป็นบัณฑิตหรือยัง

    เพราะฉะนั้นการที่กุศลจิตที่เป็นไปในทาน ในศีลของทุกชีวิตในโลกนี้ ในชีวิตประจำวัน ยังไม่ใช่เป็นบัณฑิต แต่ว่าเป็นกุศลได้ เพราะฉะนั้นบัณฑิตต้องเป็นผู้ที่มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก คือเป็นผู้รู้ความจริงของสิ่งที่มีในขณะนั้น เพราะฉะนั้นขณะนี้ หนทางเป็นบัณฑิตมี คือการที่ได้ฟังพระธรรม และสามารถที่จะเข้าใจคำที่ได้ยินได้ฟัง ขณะที่เข้าใจ เป็นบัณฑิตแน่นอน แต่ยังไม่ถึงระดับขั้นของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงการเริ่มต้น ที่จะมีความเห็นถูก จากการเข้าใจ โดยการฟังเท่านั้น

    บัณฑิตจริงๆ คือใคร พระอรหันต์ และปัญญาก็ตามลำดับขั้น ก็น้อยลงจนกระทั่งถึงขณะที่มีความเห็นถูกแม้เพียงเล็กน้อย ก็เริ่มหนทางที่จะเป็นบัณฑิตได้

    อ.อรรณพ เชิญคุณสุพิชชาครับ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ฟังพาลกับบัณฑิต อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติม เพราะอย่างมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกเลย และบูชาบุคคลที่ควรบูชา

    ท่านอาจารย์ มงคลเริ่มด้วยไม่คบคนพาล ต้องรู้จักคนพาล โดยกาย วาจา แล้วก็ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ก็จะรู้ถึงใจด้วย ว่าบุคคลนั้น มีจิตใจเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นคนพาลคือผู้ที่มีกายทุจริต วจีทุจริต แล้วจะคบหรือไม่ ไปคบกับผู้ที่มีกายทุจริต วจีทุจริต ทั้งหมดก็เพราะใจเป็นอกุศล เป็นมโนทุจริต แต่ก็ยาก ที่จะรู้ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล เพราะนั่งกันอยู่อย่างนี้ อกุศลจิตเกิดแล้ว ไม่รู้ ต่อเมื่อมีกาย หรือวาจา ที่กระทำในสิ่งที่ทุจริต เมื่อนั้นจึงจะสามารถรู้ได้ ว่าขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิต เป็นพาล ที่จะทำให้กายเป็นพาล วาจาเป็นพาลด้วย

    สำหรับตรงกันข้าม บัณฑิตก็คือผู้ที่มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ก็รู้ยาก กายสุจริตคืออย่างไร ถ้าขณะนั้นจิตเป็นอกุศล กายสุจริตได้ไหม ต้องขณะนั้นเป็นกุศลจิต กายจึงสุจริตได้ ด้วยเหตุนี้ ธรรมก็เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ที่จะต้องเข้าใจ แม้แต่ว่าเพราะใจเป็นกุศล กายจึงเป็นสุจริตได้ วจีสุจริตได้ แต่วจีสุจริต จนถึงคำจริง

    ถ้าเราพูดคำที่ไม่จริงในชีวิตประจำวัน เช่นบอกว่า รับประทานอาหารแล้ว แต่บอกว่ายังไม่ได้รับประทาน พูดไม่จริง ใช่หรือไม่ ขณะนั้นก็ไม่ใช่วจีสุจริต แต่วาจาจริงต้องถึงกับพูดคำที่แสดงความจริง ของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพราะฉะนั้นใจที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา สามารถที่จะกล่าวคำที่แสดงถึงความจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้ถูกต้องหรือไม่

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคำที่ไม่ใช้วาจาสัจจะ เช่นให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ จริงหรือเปล่า ทำได้หรือเปล่า เพราะคำที่ถูกต้องที่สุด ที่ไม่เปลี่ยนเลย คือคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการที่ทรงตรัสรู้ความจริงโดยตลอด โดยประการทั้งปวง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ถ้ามีใครบอกให้เราทำ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่มีเหตุผลเลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าการรู้เป็นปัญญา ไม่ใช่การไม่รู้แล้วทำ

    เพราะฉะนั้นคำอย่างนั้น ไม่ใช่วาจาสัจจะ เป็นวจีทุจริต เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า คำใดเป็นคำสุจริต คำใดเป็นคำทุจริต ก็ต้องเป็นปัญญาตามลำดับขั้นด้วย

    อ.อรรณพ ดีครับ ต่อเนื่องกันว่าสามมงคล ก็ในกถาเดียวกัน แต่ท่านอาจารย์ครับ ก่อนที่จะไม่คบพาล คบบัณฑิต ก็ต้องมีปัญญาที่รู้จักพาล และบัณฑิตก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าถ้าไม่มีกาย วาจา จะรู้ได้หรือไม่

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นมงคลข้อที่หนึ่ง จริงๆ ก็เริ่มจากปัญญาเลย ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทุกคำ ต้องไม่ลืม ทุกคำ เพื่อให้เข้าใจถูก ความเข้าใจถูกก็คือปัญญา เพราะฉะนั้นคำใดๆ ที่ไม่ทำให้เข้าใจถูก คำนั้นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำใดที่ทำให้เข้าใจผิด ยิ่งไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน

    อ.อรรณพ นี่คือประโยชน์ที่มีจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราไปดูแค่เป็นข้อๆ ไป ไม่คบพาล คบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ควรบูชา แต่ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจ อย่างพระสูตรเมื่อวานก็ชัดเจนมาก ในจินตสูตร ที่พูดถึงลักษณะความต่างของบัณฑิต และพาล ผู้ที่จะรู้ว่าอะไรเป็นพาล อะไรเป็นบัณฑิต ก็คือคนฉลาด คนฉลาดทั้งหลาย ฉลาดคือมีปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกในธรรม จะพึงรู้จักได้ว่า นี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นพาลตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น มงคลข้อที่หนึ่ง ถ้าไม่มีปัญญา ไม่รู้พาลว่าคืออะไร บัณฑิตคืออะไร แล้วจะเสพคุ้นกับกุศลหรืออกุศล แล้วโดยสมมติบัญญัติที่เป็นบุคคล ก็รู้ว่าบุคคลใด ที่ประกอบด้วยพาลธรรม บุคคลนั้นก็สมมติกัน เรียกกันว่าเป็นคนพาลก็ได้ คนไหนที่มีกุศลธรรม มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ก็เป็นบัณฑิต ใช่หรือไม่ เมื่อรู้เช่นนั้นแล้ว ย่อมจะเป็นผู้ที่เคารพในธรรมของบัณฑิต หรือธรรมที่เป็นบัณฑิต ก็มีการเคารพบูชา บุคคลที่ควรบูชา เพราะว่าเป็นการชื่นชมในกุศลธรรม ในปัญญา ในความดีงาม เพราะฉะนั้นพระองค์ท่านก็ทรงแสดงต่อเนื่องกันจริงๆ เลย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    19 ม.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ