พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 889


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๘๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่ได้อบรมแล้วเท่านั้น ที่สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยซึ่งไม่มีเรา ที่จะไปคิดหรือเป็นจำไว้ว่า เราทำ แต่ความจริงก็คือว่า เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นกว่าถึงคำว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นธรรมทั้งหมด จะได้เข้าใจจริงๆ อย่างมั่นคง ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม แล้วเลิกความเป็นตัวตน ที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะกลัว ว่าถ้าไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ปัญญาจะเกิดไม่ได้ นั่นคือกดหรือว่าปิด หรือว่ากั้น หรือว่าบังคับปัญญา ไม่ให้เจริญเลย

    แต่ถ้าตรงกันข้าม มีปัจจัยที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้น จะรู้เลยว่าปัญญาทั้งนั้นที่ทำหน้าที่ แม้ขณะนั้นไม่ได้คิดเลย ว่าอยากจะให้ปัญญาเกิด ควรจะรู้ว่านี่เป็นธรรม ควรจะรู้ว่าเป็นธรรมก็เป็นตัวตน แต่พอไม่คิด มีปัญญาที่ได้สะสมมาเพียงพอ ขณะนั้นสัมมาทิฏฐิเกิดทันที รู้ความเป็นธรรมทันที เพราะฉะนั้นอีกนานหรือไม่ กว่าจะหมดเยื่อใย การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะตั้งแต่อย่างหยาบ จนกระทั่งเยื่อใยในการที่เราจะเป็นคนดี แต่ก็เป็นเรา เพราะฉะนั้นอวิชชา ดีหรือไม่

    อ.วิชัย ไม่ดี แต่ว่าก็ยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นโทษของอวิชชา เพราะไม่รู้ทั้งหมดนี้

    อ.วิชัย เรียนถามอาจารย์อรรณพครับ เมื่อกล่าวถึงความเป็นไปของธรรม ซึ่งก็กำลังเป็นไปในขณะนี้ แล้วก็ยังมีเหตุที่จะให้เป็นไปอยู่ ซึ่งก็กล่าวเป็นวัฏฏะ คือการเป็นไปของธรรม ซึ่งเมื่อยังมีเหตุที่จะต้องให้ธรรมนี้เป็นไป ก็ยังต้องเป็นไปอยู่ ซึ่งก็ทรงแสดงเหตุ ก็คืออวิชชาอย่างหนึ่ง แล้วก็ตัณหาด้วย ขอความรู้ความเข้าใจตรงนี้ด้วย ที่ยังเป็นไปอยู่ในขณะนี้

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ก็กล่าวบ่อย ว่าเพราะไม่รู้ ซึ่งทุกอย่างเกิด ต้องเกิดจากเหตุ แต่เหตุที่เป็นก้นบึ้งจริงๆ กล่าวได้เลยคือความไม่รู้ ทำไมถึงต้องเกิดมา ผู้ที่หมดความไม่รู้แล้ว คือพระอรหันต์ ไม่ต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้นแค่ว่าต้องเกิดมา ก็เพราะความไม่รู้ที่สะสมไว้ แล้วก็ความติดข้องพอใจ ในความมีความเป็น เกิดเป็นคนก็พอใจในความเป็นคน เกิดเป็นนก เป็นหนู เป็นหนอน เป็นอะไร ก็พอใจในสิ่งนั้นใช่ไหม สภาวะแบบนั้น

    เพราะฉะนั้นนี่คือความไม่รู้ และความติดข้อง ซึ่งสภาพธรรมทั้งสองอย่าง เป็นเหตุสำคัญ แต่ลึกที่สุดก็คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นแล้วแต่พระองค์ท่านจะทรงแสดง เพื่อที่จะอธิบายให้เห็นถึงสาเหตุจริงๆ ของการเกิด เมื่อพระองค์ตรัสรู้ ก็ทรงอุทานว่า รู้แล้วตัวก่อนายช่างเรือนคือโลภะ และที่พระองค์ท่านทรงแสดงกับพระภิกษุว่า ที่พระองค์ท่านเอง แล้วก็ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายต้องเกิดมาก็เพราะอวิชชา ความไม่รู้

    เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดมาแล้ว สารพัดจะทุกข์ จะสุข จะดี จะชั่ว ก็ต้องเพราะความไม่รู้ ใช่หรือไม่ เกิดมาแล้ว ก็แล้วแต่ที่จะสะสมเป็นไป กิเลสบ้าง กุศลบ้าง ในแต่ละวัน ก็ต้องมาจากความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ท่านตรัสรู้ จึงแสดงธรรมที่เป็นความรู้ความเข้าใจ เป็นวิชชา ซึ่งตรงข้ามกับอวิชชา ที่จะสามารถละคลายความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย

    เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าว พอสรุปเป็นข้อความสั้นๆ ได้ว่า สะสมความเข้าใจไว้ในจิต ไม่ใช่สะสมทีละเยอะๆ ทีละนิดทีละหน่อยที่เข้าใจไป จากการฟังการพิจารณาการอบรมเจริญปัญญาทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าที่จะมีกำลัง แล้วก็ละคลายความไม่รู้ได้ แต่ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครที่จะรู้ว่า ทุกอย่างที่เกิดมา เพราะความไม่รู้ เพราะไม่มีใครที่จะมีพระบารมี ที่จะรู้ว่าทุกข์ทั้งหลายมาจากการเกิด สุดท้ายต้นเลยก็คือ มาจากอวิชชาความไม่รู้ จึงแสดงความเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เป็นปฏิจจสมุปบาท

    เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ท่านทรงแสดงแล้ว แสดงว่าต้องมีผู้ที่สามารถจะฟังเข้าใจได้ตามส่วน ในสมัยโน้นท่านสะสมมาดี ท่านฟังแล้วท่านเข้าใจ สามารถขจัดความไม่รู้หมดสิ้นไปเลย รวดเร็วมาก เพราะว่าท่านเป็นอุคฆฏิตัญญู แต่มาในสมัยนี้ เริ่มที่จะเห็นว่ามีความไม่รู้จริงๆ มากแค่ไหน

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่าเห็นขณะนี้ก็ไม่รู้ ได้ยินขณะนี้ก็ไม่รู้ แต่ว่าจากการเพียงจำ เพียงเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ว่าความรู้ในสิ่งที่มีจริง ยังไม่อาจจะรู้ เพราะยังไม่มีเหตุที่จะให้ความรู้ประเภทนั้นเกิด ดังนั้นต้องอบรม ต้องสะสมความรู้ ความเข้าใจ ทีเล็กทีละน้อย แล้วก็เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ การที่จะให้ความรู้ความเข้าใจเกิด ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ ไม่มีบุคคล ตัวตน ที่จะไปบังคับให้ความรู้ ปัญญา รู้ตรงเห็นขณะนี้ได้ แต่เมื่อมีปัจจัยให้เกิดขึ้น ก็ไม่มีบุคคลใดจะห้ามได้ด้วย นี้ก็เห็นถึงความเป็นอนัตตาของธรรมจริงๆ ว่า เป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ

    กราบท่านอาจารย์ครับ ในเรื่องของตัณหา ความยินดีพอใจ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเข้าใจเหมือนกับการที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสต่างๆ ที่อาจจะเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ แต่ถ้าพูดถึงความละเอียด การที่จะรู้ลักษณะของตัณหา เห็นถึงความละเอียดของตัณหา เพื่อที่จะเข้าใจถูก และสามารถที่จะรู้ว่า นั่นเป็นความพอใจ แม้ในการที่จะได้ยิน ได้ฟัง แล้วก็เพียงต้องการ หรือว่ามีความต้องการที่จะรู้ ซึ่งขณะที่ความต้องการนั้นเกิด ไม่สามารถจะรู้ถึงลักษณะของความต้องการนั้นได้เลย

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้โลภะ เป็นตั้งแต่อนุสัย จนถึงอาสวะ โอฆะ โยคะ คันถะอุปทาน ทั้งหมดไม่ขาดโลภะเลย ไม่ว่าจะเป็นสังโยชน์ จะเป็นกิเลสหรือจะเป็นประการใดๆ ของธรรม โลภะครบ

    อ.วิชัย ขณะที่มีความต้องการ แต่ว่าขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ถึงลักษณะของความต้องการได้เลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า พอมีความติดข้องต้องการแล้ว ก็บอกว่านี่โลภะ อย่างตอนแรกที่คุณวิชัยบอก ใช่หรือไม่ พอมีอะไร ก็นั่น ถึงจะเป็นโลภะ ไม่ใช่ตอนนี่ตอนนั่น แต่ก็มีก่อนนั้นแล้ว โดยไม่รู้เลย ยังไม่ทันจะปรากฏว่า ชอบมากแล้วบอกว่า นี่โลภะ เรียกชื่อเลย เหมือนกับว่าหาโลภะมานาน ไม่เจอ แต่พอโลภะเกิด ชอบมากๆ ก็เลยจับได้ว่านี่โลภะ หรือว่านั่นโลภะ แต่ความจริงโลภะมีก่อนนั้นแล้ว

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการฟังพระธรรม จะไม่มีการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเลย ว่าแม้แต่คำว่า ติดข้อง ทันทีที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏแล้วไม่รู้ อวิชชาอยู่ที่ไหน ก็มีอกุศลอื่นๆ ติดตามมา เช่นความติดข้อง เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วดับไป แล้วไม่เหลือ แค่นี้ เมื่อไรจะค่อยๆ ซึมจนกระทั่งรู้ว่าจริง ไม่ว่าจะมีความพอใจในสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั่นดับทันทีที่รู้สึก เร็วอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นไม่มีสิ่งนั้นอีกต่อไปแล้ว แต่ยังพอใจอยู่ ยังจำได้ ยังคิดถึง เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า พอใจในสิ่งที่ว่างเปล่า เพราะขณะนี้ ทุกขณะดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย ว่างเปล่าทุกขณะ แต่ความติดข้อง ขณะใดที่ไม่รู้ความจริง ขณะนั้นก็เกิดแล้ว

    อ.วิชัย อาจารย์ธิดารัตน์ครับ ถ้ากล่าวถึงความละเอียดของพระธรรม พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณา (ธิ นาทีที่ ๙.๓๒) คุณ ทรงแสดงอภิธรรม ความละเอียดของจิตใจ อย่างเช่นเมื่อสักครู่ จากการสนทนาก็ทราบว่า เห็น หลังจากเห็นก็ต้องเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้ก็เป็นความละเอียดของจิต ที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนที่จะแสดงให้เห็น ถึงจิตที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว ว่าแต่ละขณะที่เกิดขึ้น จิตต้องเป็นชาติใดชาติหนึ่ง ขอความละเอียดตรงนี้ ว่าหลังเห็นเป็นกุศล หรืออกุศลอย่างไร

    อ.ธิดารัตน์ อย่างที่ทราบกัน แม้กระทั่งจิตเห็น ก็เป็นผลของกรรม ผลของกรรมก็คือเป็นจิตชาติวิบาก เพียงเกิดขึ้นรับผลของกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเห็น หรือว่าจิตหลังเห็นที่โดยละเอียด สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เหล่านี้ ก็เป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรม กรรมเดียวกันกับที่ทำให้เห็น ละเอียดมาก ๓ ดวง กรรมอะไรทำให้เห็น สิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้นเมื่อจักขุวิญญาณ เป็นผลของกุศล ก็เป็นกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะ สันติรณะ ก็เป็นกุศลวิบาก จักขุวิญญาณเป็นอกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนะ สันติรณะ ก็เป็นอกุศลวิบาก นี้คือเป็นการรับผลของกรรมโดยตรง จากนั้นก็มีจิตที่ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ไม่ใช่วิบาก ก็คือกริยาจิต ที่เป็นอเหตุกกริยาเกิดขึ้น กระทำทางที่จะทำให้ จิตต่อไป จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะหรือเป็นกุศล ที่เกิดขึ้นทำชวนกิจ ก็คือแล่นไปในอารมณ์

    เพราะว่าจิตเหล่านี้ ถ้าเป็นวิถีจิตทางตา ก็คือมีสี ซึ่งกำลังปรากฏอยู่แล้วยังไม่ดับ พอใจแล้ว เมื่อโลภะเกิดขึ้น มีสีเป็นอารมณ์ หลังจากที่จักขุวิญญาณทำกิจเห็นแล้ว โลภะก็รู้สี แต่ติดข้องในสี แล้วก็มีโมหะ ที่คุณวิชัยถามว่า โมหะเยอะแค่ไหน เกิดร่วมแล้วกับโลภะ กับโทสะ ไม่พอใจก็ได้ หรือถ้ามีการฟังธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจถึงลักษณะของสีที่ปรากฏ ก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่จะเกิดขึ้น รู้สีตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นความเป็นไปของเหตุปัจจัย ที่จะปรุงแต่ง ที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ระหว่างที่ไปฟังพระอภิธรรม กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมาก็รู้ มาถึงอัพยากะตา ธัมมา เป็นเจตสิก หรือเป็นกริยาจิตหรือเปล่า ตรงนี้คือความโง่ ไม่สงสัย

    อ.วิชัย เมื่อคุณรักกล่าวถึงธรรมที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นอกุศล แล้วก็ธรรมที่เป็นอัพยากตะ ถ้ากล่าวถึงธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ คงไม่ลืมว่าการฟังทั้งหมด เพื่อเข้าใจธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงจำว่า กุศลธรรมคืออะไร ได้แก่อะไร แต่ว่าขณะนี้มีธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสาม เพราะเหตุว่าธรรมเมื่อเกิดขึ้น เป็นกุศลก็มี ถูกต้องหรือไม่

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    อ.วิชัย ธรรมเกิดขึ้นเป็นอกุศลก็มี

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    อ.วิชัย ธรรมเกิดขึ้นเป็นอัพยากตธรรมก็มี คือธรรมที่ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ขณะนี้มีธรรม ใช่หรือไม่

    ผู้มี มี

    อ.วิชัย ขอยกตัวอย่างสักหนึ่ง ได้หรือไม่ อะไรที่เป็นธรรมขณะนี้

    ผู้ฟัง ธรรมขณะนี้ก็คือการฟัง การฟังธรรม

    อ.วิชัย ขณะนั้นเป็นจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จิต

    อ.วิชัย จิตที่เป็นกุศล คือขณะที่ฟังธรรมแล้วกุศลเกิดเข้าใจ จิตขณะนั้นเป็นกุศลธรรม คือไม่มีบุคคลจะรู้ได้ แต่บุคคลนั้นสามารถที่จะเข้าใจ และพิจารณาถึงจิตใจขณะนั้น เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แต่ขณะนั้น มีจิตที่เกิดพร้อมกับศรัทธา อโลภะ อโทสะ หิริ โอตัปปะ แม้กล่าวอย่างนี้ แต่ว่าธรรมนั้นเกิดแล้วเป็นไป ยากที่จะรู้ แต่ว่าลักษณะของกุศลต้องต่างกับอกุศล แต่ความรู้ความเข้าใจที่จะรู้ละเอียด ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาที่จะรู้ แต่ธรรมที่เป็นกุศล คือเกิดแล้วเป็นกุศล เป็นไปในทาน การให้ จิตขณะนั้นเป็นกุศลธรรม เป็นธรรมที่เป็นกุศล ไม่ใช่จิตอย่างเดียว แต่หมายถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ศรัทธา สติ หิริ โอตัปปะ อโลภะ อโทสะ ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเกิดพร้อมกับจิตขณะนั้น จิตขณะนั้นพร้อมกับธรรมที่เกิดร่วมด้วย เป็นกุศลธรรม ส่วนอกุศลธรรม ก็ต่างแน่นอน เพราะว่ากุศลธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ ให้ผลเป็นสุข แต่ว่าอกุศลธรรม เป็นธรรม ที่มีโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ มีหรือไม่ อกุศลธรรมที่เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง มี

    อ.วิชัย มี ขณะที่โกรธ เป็นกุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง ต้องเป็นอกุศลแน่นอน

    อ.วิชัย เป็นอกุศลธรรม ขณะที่โกรธ ไม่ใช่เฉพาะความโกรธอย่างเดียวที่เกิด ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    อ.วิชัย แต่ต้องมีจิตเกิดร่วมด้วย และมีเจตสิก แน่นอนย่อมมีอวิชชา มีอหิริกะ มีอโนตตัปปะ มีอุทัธจจะ เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นธรรมเกิดพร้อมกันแล้ว ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นอกุศลธรรม เห็นความต่างระหว่างจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้น เป็นกุศลก็มี และเป็นอกุศลก็มี ส่วนธรรมที่ไม่เป็นทั้งกุศล ไม่เป็นทั้งอกุศลก็มี เช่นเดียวกัน ขณะนี้มีหรือไม่ มีเห็นหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    อ.วิชัย เห็นมีจริง ใช่หรือไม่ เห็นเป็นกุศลหรือเปล่า เห็นเป็นผลของกรรม ใช่หรือไม่ ดังนั้นการฟังธรรม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ใช่ว่าเพียงจำ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรม ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ได้ยิน ก็เป็นผลของกรรม ไม่ใช่ทั้งอกุศล ไม่ใช่ทั้งกุศล การฟังพระธรรม โดยเฉพาะอภิธรรม เป็นธรรมละเอียดอย่างยิ่ง ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟัง และใคร่ครวญพิจารณา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่เป็นการที่จะรีบเร่ง เพราะเหตุว่ารีบเร่งไม่ได้ แต่ค่อยๆ ที่จะเข้าใจขึ้นได้ จากการฟังในแต่ละครั้ง

    อาจารย์อรรณพครับ ถ้ากล่าวถึงกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงความที่ธรรมนั้น เป็นมูลของอกุศลหรือเป็นมูลของกุศล ถ้ากล่าวถึงมูลของอกุศล ก็ได้แก่ โลภะ โทสะ และโมหะ ถ้ากล่าวถึงมูลที่เป็นฝ่ายดีงาม ที่เป็นโสภณรวมทั้งกุศลนี้ด้วย ก็เป็นอโลภะ อโทสะ และอโมหะ ที่พระผู้มีพระภาคกล่าวถึงว่า ธรรมเหล่านี้ที่เป็นมูล เป็นเหตุคืออย่างไร

    อ.อรรณพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เหตุของการเกิดของสภาพธรรมทั้งหลายอย่างละเอียด เพราะฉะนั้นนี่คือความลึกซึ้ง ความอัศจรรย์ของพระพุทธศาสนา เพราะว่าถ้าเราไม่ได้ศึกษาตามคำสอน แล้วไม่มีการอบรมเจริญปัญญา เป็นผู้ที่มีเหตุผลแบบเลื่อนลอย เกิดอย่างนี้เพราะอย่างนี้ อะไรที่เราไม่รู้ถึงเหตุ เราก็บอกว่าเกิดลอยๆ บังเอิญ ใช่หรือไม่ แต่จริงๆ แล้ว พระองค์ท่านทรงรู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรมทั้งหลาย และรู้ปัจจัยที่ทำให้เกิด ปัจจัยคือสิ่งที่ทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ใช่ไหม และก็ยังแสดงลึกเป็นชั้นๆ ลงไป จนแสดงถึงเหตุตรงๆ เลย

    อย่างทำไมเราหงุดหงิดใจ บางคนก็บอกว่า คนโน้นมาทำให้ คนนี้มาทำให้ เพราะว่าหนาวไป ร้อนไป เผ็ดไป อะไรไป ใช่ไหม แต่จริงๆ พระองค์ท่านทรงแสดงว่าเพราะมีเหตุคือ โทสเหตุ ซึ่งเป็นโทสเจตสิกที่สะสมมา เมื่อมีปัจจัย จึงเกิดขึ้น ทำไมถึงอยากโน่นอยากนี่ เดือดร้อนต่างๆ เพราะมีโลภะเป็นเหตุ ถ้าไม่มีความอยาก ก็คงไม่ไปก่อทุจริตกรรมต่างๆ นั่นคือโลภะเป็นเหตุ ก็พอจะเห็นได้ แต่โลภะ โทสะ เกิดขึ้นเพราะอะไร ลึกสุด เบื้องต้นของปฏิจจสมุปบาท ก็คืออวิชชา ความไม่รู้

    เพราะฉะนั้นเมื่อจะทรงแสดงเหตุตรงๆ ของอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงแสดงโลภะ โทสะ โมหะ เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลธรรมต่างๆ แล้ว แม้ในขณะที่อกุศลธรรมใดเกิดขึ้น จะปราศจากเหตุเหล่านี้ไม่ได้เลย อย่างน้อยที่สุดต้องมีโมหเจตสิก เป็นโมหเหตุ ทันทีทันใดที่อกุศลขณะนั้นกำลังเกิดขึ้นเลย ถ้ามีความติดข้อง ก็มีโลภะเกิดร่วมด้วยโมหะเป็นเหตุสอง หรือมีความไม่พอใจ ขณะนั้นก็มีโทสะกับโมหะเป็นเหตุสองอย่าง นี่คือตามความเป็นจริง

    แต่ถ้าโลกมีแต่เฉพาะเหตุที่ไม่ดี แล้วก็เกิดแต่อกุศล ก็คงจะแย่ ไม่ต้องมีการดับกิเลสกัน ใช่หรือไม่ พระองค์ท่านจึงแสดงถึงเหตุที่ดี อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ซึ่งก็มีสภาพของโสภณธรรมที่ดีนั้นจริงๆ เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต เป็นคุณความดี ใช่หรือไม่

    เพราะฉะนั้นเกิดขึ้นไม่ใช่ลอยๆ ที่เราคิดว่าเป็นเราทำดี เป็นเราที่สละ ขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะมีอโลภเจตสิกเกิดกับจิต มีอโทสเจตสิกเกิดกับจิต ในขณะที่เป็นกุศลประการต่างๆ ถ้าเราโกรธ ให้ได้หรือไม่ ไม่อยาก ไม่ชอบคนนี้ ไม่ให้อภัยๆ เขาเป็นคนไม่ดีมาก ไม่ให้อภัย โทสะ หรือขณะนั้น ถ้ามีความติดข้อง หวงของ ชอบมาก ให้ได้หรือไม่ ไม่ได้ แต่ตอนที่มีการสละช่วยเหลือก็ดี หรือมีเมตตาไม่โกรธก็ดี กุศลทั้งหลายต้องมีเหตุตรงๆ ขณะที่จิตที่ดีงามเกิดขึ้น เลยมีอโลภเหตุ อโทสเหตุ และถ้าได้ฟังพระธรรม มีความรู้ความเข้าใจ ก็ยังมีในบางครั้งบางคราว ซึ่งเกิดปัญญา ซึ่งเป็นสภาพที่เข้าใจความเป็นจริง เป็นเหตุ เหตุหนึ่ง อโมหเหตุคือ เป็นเหตุที่ไม่ใช่โมหะ ไม่ใช่ความลุ่มหลง ไม่ใช่ความไม่รู้ ก็คือเป็นความรู้นั่นเอง เพราะฉะนั้นพระองค์ท่านจึงแสดงเหตุตรงๆ เป็น ๖ อย่างหรือเป็นเจตสิก ๖ อย่าง

    อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ ดูเหมือนว่า แต่ละขณะของชีวิตก็เหมือนกับ เป็นไปด้วยความประมาทอยู่ อย่างไรที่จะให้ถึงความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อม

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องรู้จักว่า ไม่ประมาทคือเมื่อไร และอะไร

    อ.วิชัย ก็ต้องขณะที่สติเกิด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ก็มีชีวิตวันหนึ่งๆ ไม่รู้เลย อยู่ไป และจะชื่อว่าประมาทหรือไม่ประมาท ที่จะรู้ว่าแม้แต่สิ่งที่มี ก็ยังไม่รู้เลยว่าอะไร ประมาทถึงอย่างนั้น แม้แต่สิ่งที่กำลังมี ก็ยังไม่รู้ ประมาทที่จะไม่รู้ต่อไป

    อ.วิชัย ก็ต้องอบรมความไม่ประมาท คือการฟังพระธรรมให้เข้าใจเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ ประมาทเมื่อมีชีวิตอยู่ โดยไม่รู้ต่อไป ไม่ประมาทคือรู้ว่า มีสิ่งที่ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะประมาทหรือไม่ประมาท ในเมื่อรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ยังไม่รู้ ถ้าประมาทก็คือไม่รู้ต่อไป แต่เมื่อรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ยังไม่รู้ ไม่ประมาทคืออะไร

    อ.วิชัย ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็เหมือนกับเป็นการเริ่มต้น ที่จะถึงความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เมื่อไร ประมาทเมื่อนั้น ได้ไหม

    อ.วิชัย ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    19 ม.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ