พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 891


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๙๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖


    ท่านอาจารย์ ต้องอบรมปัญญาต่อไปอีกมาก จนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจทุกอย่าง ไม่เว้นที่กำลังปรากฏ ต้องมีคำต่อไปด้วย ไม่ใช่ว่าไปเข้าใจสิ่งที่ไม่ปรากฏ แต่เข้าใจทุกอย่างที่กำลังปรากฏ ทางตากำลังเห็น และมีสิ่งที่ปรากฏ ทั้งสองอย่างต้องเข้าใจ และคนที่ได้ฟังแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า จากไม่เคยรู้เลย ก็เริ่มรู้ความต่างของขณะนี้ที่มีจริงๆ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง ทรงแสดงความจริง เพื่อให้คนอื่นรู้ตามด้วย จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริง เช่นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ และสาวกทั้งหลาย ที่ฟังจนกระทั่งสามารถที่จะเป็นปัญญาที่เจริญขึ้น เป็นอริยปัญญา แต่กว่าจะถึง ต้องมีขั้นฟังก่อนแน่นอน เพราะว่าคิดเองไม่ได้

    อ.วิชัย ได้ฟังท่านอาจารย์กล่าวถึงคำที่ว่า คำไม่จริงเบียดเบียนคำจริง แต่ว่าคำจริงไม่ได้เป็นธรรมที่เบียดเบียนอะไรเลย ตรงนี้ขอความกรุณาท่านอาจารย์ด้วย

    ท่านอาจารย์ คำไม่จริงเบียดเบียนคำจริง คำจริงคืออนัตตา สิ่งที่มี เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปรากฏว่ามี แล้วก็ดับไป ไม่มีการที่จะเป็นของใคร หรือใครจะเป็นเจ้าของบังคับบัญชา ทำให้เกิดหรือทำให้ดับได้เลย นี่คือวาจาสัจจะ คำจริงถูกหรือไม่ แต่ถ้ามีการบอกว่า ให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนั้น เบียดเบียนความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ซึ่งยิ่งเข้าใจอย่างนั้นมากเท่าไร ยิ่งไม่เห็นความเป็นธรรม ซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นความเข้าใจธรรมว่าเป็นอนัตตา ก็จะหายไปหมด เพราะเหตุว่าถูกคำไม่จริงเบียดเบียนคำจริง

    แต่ว่าขณะใดก็ตาม คำนั้นเป็นคำจริง สามารถพิสูจน์ได้ สามารถเข้าใจได้ แม้ในขั้นการฟัง และการไตร่ตรองพิจารณาก็ไม่ผิด เพราะฉะนั้นคำจริงอนุเคราะห์ความไม่รู้ และความเข้าใจผิดให้หมดไป เพราะฉะนั้นคำจริง วันนี้มีขณะไหนบ้างหรือเปล่า ที่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีจักขุปสาท ซึ่งยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้กรรมหนึ่ง ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเพียงเห็น ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรเลยทั้งสิ้น สั้นมาก แล้วก็ดับไป นี่คือคำจริงหรือเปล่า เบียดเบียนความเห็นผิดได้ไหม เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถไปทำอะไรได้เลย นอกจากสะสมความมั่นคงที่จะเข้าใจอย่างนี้

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นปัญญาในอรรถกถา จิตตุปปาทกัณฑ์ ท่านก็ให้ความหมายของปัญญาว่า ย่อมรู้ธรรมทั้งหลายโดยประการต่างๆ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเห็นได้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้ว มีอัตตาที่ทำ ก็เป็นความเสื่อมที่ไปจากอริยปัญญา เพราะท่านกล่าวว่า ความเสื่อมในที่นี้หมายถึง การไม่ให้เกิดขึ้นแห่งญาณที่ควรให้เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วธรรมขณะนี้ โดยประการต่างๆ หรือเปล่า เพียงแค่คำแรก เดี๋ยวนี้ธรรมทั้งหลายหลากหลายมาก ไม่เหมือนกันเลย แล้วก็รู้ธรรมแต่ละหนึ่งจริงๆ ว่าแต่ละหนึ่งๆ นั้นคือ ประการต่างๆ ของธรรม ซึ่งไม่ซ้ำกันเลย แม้แต่เห็นขณะนี้ ก็เป็นเห็น ประการหนึ่ง ได้ยินขณะนี้ก็เป็นได้ยิน แล้วรู้อย่างนี้หรือเปล่า โดยประการต่างๆ ทั้งวันเป็นธรรมทั้งหมด และก็โดยประการต่างๆ จริงๆ ยังไม่ต้องต่อไป เพียงแค่นี้ก็ยังไม่ได้อบรมพอที่จะรู้

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องฟังโดยละเอียด และก็โดยการที่ไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความมั่นคงว่า ธรรมเป็นอย่างนั้น แล้วก็ต้องถามคนอื่นหรือไม่ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ เห็นมีจริงๆ ประการหนึ่ง อย่างหนึ่ง ได้ยินก็มีจริงๆ ก็เป็นแต่ละหนึ่ง แล้วรู้อะไร รู้เห็นหรือเปล่า รู้ได้ยินหรือเปล่า รู้ความจริงของสิ่งที่เพียงปรากฏให้เห็นได้หรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นคำจริงทั้งหมดจะเป็นความจริง ไม่ว่าปัญญาจะเกิดขึ้น ฟังแล้วเข้าใจแล้ว ฟังอีกเข้าใจอีก ก็จะรู้ความจริงอย่างนี้ โดยที่ว่าไม่เปลี่ยนแปลงเลย ธรรมประการต่างๆ แค่คำนี้ จะอยู่ในใจไปอีกนานเท่าไร เพราะว่าแค่ฟัง และพระธรรมที่ทรงแสดงไว้มากมายสักเท่าไรใน ๔๕ พรรษา แล้วแต่ละคำไม่ใช่ผ่าน แต่ละคำเป็นปัญญาจริงๆ ถ้าไม่เริ่มต้นจากการพิจารณา และเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังจริงๆ อย่างละเอียด ไม่มีทางที่จะมีความเห็นที่ถูกต้อง ในสิ่งที่ปรากฏจนประจักษ์แจ้งได้

    เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่จริงคือปกติ เห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เป็นปกติ แต่ในขณะนั้น ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ธรรมประการต่างๆ จึงจะเห็นพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า จากการที่เพียงเห็น ซึ่งทุกคนก็เห็นอยู่แล้ว ใช่ไหม ก็เป็นธรรมหนึ่ง ให้รู้ว่าไม่ใช่ขณะที่จำ จำกับเห็นไม่เหมือนกัน และไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้รูปร่างสัณฐาน และก็ยังจำด้วย และก็รู้แต่ละหนึ่งหลากหลายมากเลย คนหนึ่งใส่เสื้ออะไร จำหมดเลย ใช่หรือไม่

    เพราะฉะนั้นธาตุรู้ที่เกิดขึ้นรู้ เร็วแค่ไหน เหมือนกับเห็นทันที ก็รู้ทันทีว่า เป็นใคร ชื่ออะไร ใส่เสื้ออะไร กำลังทำอะไร เพราะฉะนั้นธรรมประการต่างๆ ประมาทได้ไหม ว่าเราฟังธรรม แล้วเราก็ผ่านไป โดยไม่รู้ว่า กว่าจะรู้แม้แต่คำว่า ธรรมประการต่างๆ เพื่อที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เราสักอย่างเดียว แล้วก็จริงทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ไม่รู้ ว่าเป็นจริงอย่างไร ว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร นี่เป็นแต่เพียงทางเดียว คือทางตา ยังมีทางหูอีก ทางจมูกอีก ทางลิ้นอีก ทางกายอีก ทางใจอีก

    เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกของความไม่รู้จริง จนกว่าจะค่อยๆ รู้ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ แล้วทุกอย่างก็เป็นปกติ เพราะฉะนั้นฟัง เพื่อไม่ให้โลภะมาชักพา ไปอยากรู้ อยากประจักษ์แจ้ง โดยที่ไม่ใช่เหตุที่สมควรเลย เพียงฟังแค่นี้ทำอะไรได้ ในพระวินัยปิฎก ผู้ที่มีศรัทธา แล้วก็ตั้งใจ มีการสะสมมาที่จะอบรมปัญญาในเพศบรรพชิต คิดดู แค่คำว่าเพศบรรพชิต ธรรมประการต่างๆ หรือเปล่า จากคฤหัสถ์ที่จะต้องเห็นโทษ มีชีวิตที่สะอาดหมดจด ละความติดข้องในเรือน ทุกอย่างในเรือน นอกเรือนทั้งหมด ในเพศของคฤหัสถ์ เพื่อที่จะรู้ความจริง แสดงว่ายากหรือไม่

    ทุกคนสะสมมาที่จะคิด ห้ามความคิดไม่ได้เลย แต่เดือดร้อนเพราะความคิดหรือเปล่า ก็ยังเดือดร้อนต่อไปอีก ถ้าปัญญาไม่พอที่จะรู้ว่าขณะนั้น ก็เป็นธรรมประการต่างๆ ไปหมดเลยทุกขณะ เพราะฉะนั้นกว่าจะค่อยๆ เข้าใจความจริง ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ค่อยๆ รู้ไปทีละอย่าง เพราะว่าถ้ายังไม่โดยประการต่างๆ ไม่มีทาง ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้น จนกระทั่งถึงเป็นอริยปัญญาได้

    ด้วยเหตุนี้ในขณะฟังธรรม ไม่ผ่าน และก็ต้องเป็นขณะนี้ด้วย ที่จะรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วก็จะไปประจักษ์การเกิดดับของอะไร เมื่อไร ทำอย่างไร เป็นไปได้อย่างไร ก็เป็นความเห็นผิดทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรม ด้วยความเคารพอย่างยิ่งว่า ทุกคำจริง แต่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งสุดที่จะประมาณได้ ซึ่งความลึกซึ้ง รู้ได้ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น จึงจะสามารถรู้ได้ว่า เดี๋ยวนี้ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยประการต่างๆ โดยลักษณะต่างๆ เพราะอาศัยการฟังเข้าใจก่อน ไม่ใช่ว่าไปทำอะไรเพื่อที่จะให้รู้

    อ.วิชัย เมื่อได้ฟังทุกครั้งก็เป็นการที่จะสะสมความเข้าใจในทุกครั้งที่ได้ยิน แม้ท่านอาจารย์จะกล่าวถึงว่าเห็นอะไร ปกติก็เห็นเป็นธรรมดา แต่เมื่อได้ยินได้ฟัง ก็สามารถที่จะเข้าใจเพิ่มทีละนิดว่า เห็นเป็นเห็น คิดเป็นคิด แล้วที่จะเห็นแล้วไม่คิด ก็ไม่ได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เห็นแล้ว คิดแล้ว เดือดร้อนหรือไม่ เห็นไหม เพราะไม่รู้ความจริง ทั้งหมดเพราะไม่รู้ความจริง

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นไม่เดือดร้อนใจ ถ้ามีปัญญา ซึ่งข้อความต่อไป ท่านพูดถึงความไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่าไม่เสื่อม สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเร่าร้อน ในปัจจุบันทีเดียวแล เมื่อตายไปพึงหวังสุคติ

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะเห็นกำลังของปัญญา เพียงเข้าใจแค่นี้ก็ดีขึ้นมาหน่อย ที่ได้รู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง แค่นี้ แต่ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น ก็จะต้องหมดจากความทุกข์ทั้งปวง

    อ.กุลวิไล เชิญคุณอรวรรณค่ะ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ฟังท่านอาจารย์สนทนากับอาจารย์วิชัย ถ้าไม่ฟังก็จะไม่รู้เลย คิดว่าชีวิตคือเราเห็น เห็นอะไรเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อฟังเข้าใจ ก็ไตร่ตรองตามได้ว่า เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แล้วจำว่าเป็นรูปพรรณสัณฐานอะไร เป็นคิด เป็นอะไรต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นพอไตร่ตรองรู้ว่า รู้แค่ไหน ใช่หรือไม่ ถ้าไม่ไตร่ตรองเหมือนเข้าใจมาก ทั้งพระสูตรนี่เลย แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า หนึ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เช่นเห็น รู้การเกิดขึ้น และดับไปหรือเปล่า ได้ยินขณะนี้เกิดขึ้น และดับไป ไม่ใช่เราด้วยหรือเปล่า แต่ละหนึ่งซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ไร้รอยต่อ ไม่ปรากฏว่าเกิด และดับ ทำให้หลงเข้าใจว่าเที่ยง ซึ่งไม่จริง ทุกอย่างแต่ละหนึ่งต้องเกิดแล้วก็ดับไป ปรากฏทีละหนึ่ง เดี๋ยวนี้เพราะจิตเกิดดับมากมายนับไม่ถ้วน จึงปรากฏว่าเป็นคนมากมาย เป็นดอกไม้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ถ้าไม่มีจิต จะไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ปรากฏให้คิด ให้จำเลย

    เพราะฉะนั้นขณะที่ฟัง ก็รู้ว่าไม่ใช่ความเข้าใจลักษณะจริงๆ แต่ละหนึ่ง เพียงแต่ฟังรู้ว่า ที่ไม่รู้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วสุดที่จะประมาณได้ จึงไม่รู้ ถ้าช้าๆ คงรู้ บางคนก็เลยไปทำช้าๆ แต่ช้าๆ อย่างนั้น ไม่ใช่การเกิดดับของสภาพธรรมเลย แล้วก็หลงผิดด้วย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ พระสูตรที่นำมาศึกษาที่อาจารย์กุลวิไลอ่าน อริยปัญญา ก็จะหมายถึงวิปัสสนาญาณหรือว่ามรรคญาณ ในการเรียนเรื่องราวก็ทราบได้ว่า วิปัสสนาญาณก็เป็นปัญญาที่ยังห่างไกล แต่ตอนนี้ให้เริ่มฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นชื่อว่าปัญญา รู้ความจริง ไม่ได้รู้ผิด ตั้งแต่ขั้นฟัง ฟังแล้วรู้ว่าจริงๆ เป็นอย่างนี้ ไตร่ตรองรู้ว่า ขณะนี้ไม่ได้รู้แต่ละหนึ่ง ที่จะใช้คำว่ารู้แจ้ง ที่เป็นวิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความรู้ ที่รู้เฉพาะแต่ละหนึ่งจนทั่ว ถ้าไม่ทั่วจะรู้ได้อย่างไร เกิดดับสืบต่อกันล่ะ แต่ว่าถ้าทั่วคือทีละหนึ่งๆ ค่อยๆ แยกเป็นทีละหนึ่ง รู้ความต่างกันทีละหนึ่ง

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็จะสำคัญมากว่า ถ้าเข้าใจว่าธรรมเป็นอนัตตา แล้วจะไปทำอะไรไหม ก็แปลว่าความไม่จริงเบียดเบียนความจริง เพราะฉะนั้นตรงนี้กว่าจะมีปัญญารู้ความจริง ก็ต้องรู้ว่าเริ่มจากฟังแบบนี้ก่อน

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจแค่ไหน เช่นเดี๋ยวนี้ได้ยินคำว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เข้าใจแค่ไหน เห็นหรือไม่ เป็นคนโน้นคนนี้อยู่นั่นแหละ เห็นทีไรก็เป็นคนนั้นคนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่เห็นเพียงสักแต่ว่าเห็น เพราะรู้จริงๆ ว่าปรากฏให้เห็นเท่านั้น แล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ฟังมากๆ ก็จะรู้ว่า อวิชชารู้ไม่ได้ แต่ปัญญาค่อยๆ สะสม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แล้วจะเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่าเข้าใจแค่ไหน ไม่ต้องไปหาอริยปัญญา โดยที่ยังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ อริยปัญญาจะมีได้ต่อเมื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏที่กำลังฟัง และขณะที่กำลังเข้าใจ ไม่ต้องเรียกว่าปัญญา ไม่ต้องเรียกว่าวิชชา เพราะเข้าใจ เข้าใจถูกตามความเป็นจริง ไม่ได้เข้าใจผิด คุณอรวรรณคะ ตั้งแต่เช้ามารับประทานอาหารหรือยัง เดี๋ยวนี้รับประทานอยู่หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ แน่ใจนะ เดี๋ยวนี้กำลังบริโภคอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็เห็นแล้วก็พอใจ ไม่พอใจ

    ท่านอาจารย์ บริโภคอยู่ตลอดเวลา ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ไม่ใช่เฉพาะอาหาร อาหารเป็นทางเดียวใน ๖ ทาง แล้วทางอื่น ไม่ได้บริโภคหรือ ไม่เหมือนกันหรือ เวลารสปรากฏอร่อย ชอบไม่ชอบ ใช่หรือไม่ สิ่งที่ปรากฏทางตาสวย ไม่สวย บริโภคหรือเปล่า ไม่ใช่เราเลย ถึงวาระที่จะเกิดขึ้นบริโภค จึงบริโภคได้

    เพราะฉะนั้นจิตเห็นเกิดขึ้นเพียงเห็น เท่านั้นเอง สำหรับให้กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดขึ้นบริโภค เหมือนกำลังบริโภครสต่างๆ เพราะฉะนั้นอะไรบริโภค จิตไหนบริโภค ไม่ใช่เราเลยสักอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ถ้าเข้าใจแล้วก็สามารถที่จะเข้าใจโดยตลอดทุกขณะได้ ว่า เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละหนึ่ง อย่างกุศลจิต จะเกิดทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง อกุศลจิตเกิดทางตา เวลาเห็นแล้ว เกิดอกุศลได้หรือไม่ ได้ ขณะนั้นไม่ว่าจะทางไหนกุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล ที่เรากำลังคิดว่าเราชอบ ไม่ชอบ อร่อย ไม่อร่อย เพราะหรือไม่เพราะ ก็คือขณะที่กำลังบริโภค ด้วยโลภะหรือโทสะ หรือด้วยกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำ ก็คือกล่าวถึงธรรม โดยนัยประการต่างๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจขึ้นว่าไม่มีเรา ไม่ใช่ตอนที่กำลังบริโภคอาหารเท่านั้น ที่เป็นรสอร่อยมาก แต่ไม่ว่าขณะไหน กุศลเกิดเมื่อไร เกิดทางตาได้หรือไม่ ทางหูได้หรือไม่ ทางจมูกได้หรือไม่ ทางลิ้นได้หรือไม่ ทางกายได้หรือไม่ ทางใจได้ไหม เพราะฉะนั้นจึงเป็นธรรมประการต่างๆ ถ้าไม่รู้ ไม่มีเข้าใจ ไม่มีทางเลย จะไปพูดถึงอริยปัญญา ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า หมายความถึงอะไร ว่าต้องเจริญเข้าใจขึ้น เพราะมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ให้เข้าใจ แต่ถ้าขณะนั้นปรากฏแล้วไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็จะเป็นปัญญาไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ก็เตือนอยู่เสมอว่า บริโภคก็ไม่รู้ตัว หรือว่ากำลังโปรยธุลี หรือว่ากิเลสลงในจิต ก็ไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นคงต้องฟังแล้วให้ท่านอาจารย์เตือนบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ทางเดียวรักษาจิต ด้วยความจริง ด้วยธรรมที่ได้ฟัง เพราะว่าเก็บความไม่จริงไว้มาก เพราะไม่รู้ คิดว่าเที่ยงตลอดเวลา ความจริงสิ่งใดก็ตามเกิดแล้วดับ แต่ไม่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นก็หลงยึดถือว่ายังมีอยู่ กว่าจะค่อยๆ บริโภคด้วยความเห็นถูก

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนา

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวถึงความเสื่อมว่า การไม่ให้เกิดขึ้นแห่งญาณที่ควรให้เกิดนั่นแล เป็นความเสื่อม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน บางคนก็บอกว่า พระธรรมยาก ไม่ฟัง แล้วฟังใคร ก็ต้องไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะง่าย แล้วมีใครเป็นที่พึ่ง พูดจริงๆ หรือเปล่า

    อ.กุลวิไล ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่มีความเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง ก็ไม่มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วจะว่ามีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ได้หรือไม่

    อ.กุลวิไล ไม่ได้ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มีอะไรเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ และกัมมสกตาญาณ เป็นผู้ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ผู้ประกอบด้วยกัมมสกตาญาณ ไม่เสื่อม เวลานี้ประกอบหรือเปล่า ได้ยินแล้วก็ผ่านไป แต่ว่าต้องละเอียด ประกอบหรือเปล่า ประกอบเพียงฟัง ว่ามีกรรม ซึ่งเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีผลของกรรม แต่เป็นญาณหรือเปล่า นี่ใช้คำว่า กัมมสกตาญาณ หมายความถึง ปัญญาที่รู้เรื่องกรรม และผลของกรรมด้วย

    การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ถึงที่สุด ไม่ได้มีอะไรที่จะเหลือ ที่จะเปลี่ยนแปลง หรือไม่ให้รู้เลย เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ขณะนี้กำลังเห็น มีจริงๆ ใช่หรือไม่ เป็นเราหรือเปล่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เพราะกรรมเป็นปัจจัย ใช่หรือไม่ ตามที่ได้เรียน

    อ.กุลวิไล ใช่

    ท่านอาจารย์ กรรมไม่ได้ทำให้เพียงเกิด แต่ต้องทำให้มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่คือฟัง แต่ถ้าขณะใด สามารถที่จะเข้าใจเห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ โดยที่ว่าขณะนั้นไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นเลย เพราะฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคง ว่าขณะนี้ใครก็ทำเห็นไม่ได้ แม้แต่เห็นยังไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไรเลย ใครก็ทำให้เกิดไม่ได้ แค่เกิดมาเห็น ยังทำไม่ได้ แล้วที่จะไปทำอื่น ทำได้หรือ ทำให้คนนั้นเป็นคนดี ทำให้โลกเป็นอย่างนี้ ทำให้โลกเป็นอย่างนั้น ทำได้หรือไม่ ในเมื่อแค่เพียงเห็นก็ยังทำไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ในหนึ่ง ทีละหนึ่งชัดเจนขึ้น เพราะขณะนั้นรู้ว่าเห็นเกิดแล้ว บางครั้งเห็นสิ่งที่ดี บางครั้งเห็นสิ่งที่ไม่ดี เลือกไม่ได้เลย แล้วแต่กรรมว่าเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม นั่นก็คือขณะที่กำลังฟัง แต่ขณะนั้นก็ยังไม่ได้เข้าใจเห็น ขณะนี้ใครจะบอกได้ ว่าเห็นที่เกิดแล้วดับ เป็นกุศลวิบาก ผลของกุศลกรรม หรือว่าเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นเห็นขณะนั้นเป็นอกุศลวิบากเปลี่ยนไม่ได้ เพียงฟัง ใครรู้ ผู้ที่ทรงตรัสรู้ทรงแสดง

    เพราะฉะนั้นก็เริ่มเห็นพระปัญญาคุณ และความลึกซึ้ง และความละเอียด ซึ่งไม่ได้ผ่านไป เพียงแค่ฟังเข้าใจว่า เห็นขณะนี้เป็นผลของกรรม แต่เห็นไม่ใช่เรา เห็นเป็นธรรมที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเห็นขณะนี้ไม่ใช่ความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะขณะที่กำลังติดข้อง ขณะนั้นไม่ใช่เห็น เห็นดับไปแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าอะไร แต่ว่าเมื่อจิตที่เกิดดับสืบต่อ จำลักษณะรูปร่างสัณฐาน และก็มีความพอใจ มีความติดข้อง แต่ละหนึ่งขณะนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น

    ใครรู้ว่าขณะไหนเป็นผลของกรรม ขณะไหน เป็นกรรม เห็นหรือไม่ นั่นเป็นชื่อ แต่ชื่อกล่าวถึงธรรมที่มีจริงๆ ให้เข้าใจขึ้น ถึงสภาพที่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรม คือกุศล และอกุศล ไม่ว่าจะเป็นผลของกรรมก็ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่สามารถเข้าใจลักษณะที่ต่างกัน เห็นหรือไม่ เห็นความต่างไหม ว่าเห็นเกิดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ แค่เห็น แค่เห็น ได้ยินก็เกิดแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ แค่ได้ยิน แต่เห็นแล้วชอบกับไม่ชอบ ไม่ใช่เพราะกรรม เพราะทำไม ถ้าเป็นกรรมก็ต้องให้ไม่ชอบไปตลอด หรือว่าชอบไปตลอด ใช่หรือไม่ แต่นี่ไม่ใช่ว่าขณะที่ชอบ และไม่ชอบนั้น เป็นผลของกรรม ไม่ใช่ แต่ว่าผลของกรรมจริงๆ เพียงแค่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น เล็กน้อยมาก สั้นมาก แต่ความไม่รู้ก็ปรุงแต่ง จนกระทั่งเป็นความเดือดร้อนมากมาย เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งผู้มีปัญญารู้ความต่างของเห็น กับลักษณะที่ชอบหรือไม่ชอบ ก็รู้ว่าขณะใด แม้ไม่เรียกชื่อ แต่สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะผลของกรรม แต่ขณะใดก็ตามที่ชอบ ไม่ชอบ ไม่ได้เพราะเป็นผลของกรรม แต่เพราะการสะสมที่ว่า ทำไมบางครั้งเห็นแล้วก็ชอบ บางครั้งเห็นแล้วก็ไม่ชอบ เลือกไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นความเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม ต้องลึกซึ้งขึ้นอีก คือ ต้องถึงการที่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ตามความเป็นจริง ว่ามีความต่าง จึงจะสามารถเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องกรรม ว่าเห็นขณะนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เกิดแล้ว กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดแล้ว แต่หลังจากนั้น แล้วแต่การสะสม ว่าสะสมความพอใจ ไม่พอใจ ความโกรธ พยาบาท หรือว่าปัญญาที่สามารถจะเข้าใจลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจอย่างนี้ จึงมีคำกล่าวว่า กัมมสกตาญาณ เพราะว่าเป็นปัญญาที่รู้ถึงกรรม เพราะว่าทรงแสดงแล้ว ตั้งแต่ต้นว่า ทุกอย่างเป็นธรรมประการต่างๆ เพราะฉะนั้นแม้กรรมก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมที่เป็นเหตุ แม้ผลของกรรมก็ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผล

    เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ความหลากหลายของสภาพธรรมอย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้ตัวจริงๆ ของผลของกรรม และกรรม ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวเป็นคำ เป็นชื่อว่า เป็นปัญญาที่เข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องนำไปถึง การเข้าใจตัวธรรมจนถึงที่สุด จึงจะเป็นอริยปัญญา เพราะเหตุว่าเจริญจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจถูก ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามลำดับขั้น ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    15 ม.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ