พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 899


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๙๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗


    ผู้ฟัง การที่จะเป็นอินทรีย์ เพื่อเป็นผู้ตื่น หรือในพระสูตรก็จะอธิบายต่อว่า นอกจากจะมีนิวรณ์เป็นผู้หลับ และเป็นธุลี สกปรก เป็นกิเลส แต่ถ้าจะให้จิตบริสุทธิ์ ก็ต้องอบรมอินทรีย์ ๕ อยากจะศึกษารายละเอียดว่าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้ฟังเรื่องหลับ หลังจากฟังแล้ว ตื่นบ้างหรือไม่ หรือว่ายังคงหลับต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในห้องที่กำลังได้ยินได้ฟังธรรม หรือว่าจะไปที่ไหนก็ตามแต่ ยังคงหลับอยู่ หรือว่าตื่นขึ้นบ้าง มิฉะนั้นธรรมที่เราได้ยินได้ฟัง ก็เป็นแต่เพียงชื่อ ซึ่งยังไม่ได้เข้าถึงความเข้าใจจริงๆ ในแต่ละคำ ที่เราได้ยินซ้ำไปซ้ำมาบ่อยๆ เช่น คำว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และตอบได้ทุกคน เดี๋ยวนี้อะไรจริง เห็นจริง ได้ยินจริง ตอบได้ แต่ว่ายังไม่ตื่นที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงสิ่งที่เราใช้คำว่า เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ทุกอย่างที่เรากล่าวว่าเป็นธรรม เข้าถึงสภาพของความเป็นธรรม ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ได้ยินคำว่า หลับ ก็ต้องรู้ว่า ต้องต่างกับตื่น ขณะที่ตื่น รู้สิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนั้น ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้เข้าถึงสภาพที่กำลังปรากฏขณะนี้ ด้วยความเห็นถูก ด้วยความเข้าใจถูก ไม่ใช่ไปทำอะไรเลย ฟังเพื่อให้เห็นถูก ให้เข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งกำลังเห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังเห็นขณะนี้ ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้น ในขณะที่เห็นแล้วก็ดับไป

    กว่าจะเป็นอย่างนี้แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง จะได้รู้ว่าฟังแล้ว ตื่นหรือเปล่า และจะตื่นด้วยอะไร อะไรตื่น ไม่ใช่เราแน่ ใช่ไหม แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี ที่สามารถจะเข้าใจความจริงจากการฟัง เป็นปัจจัยให้รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตรงที่ได้ยินได้ฟังมาแล้ว ก็เป็นผู้ตรง ฟังเรื่องหลับ เข้าใจเรื่องหลับ แม้จะฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงความเข้าใจ ในความเป็นธรรมนั้นๆ ก็ยังไม่ตื่น

    เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่า หลับจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัส หมายความถึงอะไร หมายความถึงขณะนั้นที่ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้น มีปัญญาขั้นฟังเรื่องราว แต่ทั้งๆ ที่เรื่องราวกำลังปรากฏ แล้วก็ฟังเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังไม่ตื่นขึ้นรู้ความจริง ว่าสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เป็นอย่างที่ได้ยินได้ฟังนั่นเอง เพราะฉะนั้นขณะหลับ กับขณะตื่นก็ต่างกัน ขณะหลับ เดี๋ยวนี้เหมือนตื่น เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เหมือนตื่น แต่จะตื่นได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นการหลับหรือความหลับอีกนัยหนึ่ง ซึ่งแม้ว่ามีสิ่งที่มีจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ขณะใดที่ไม่รู้ความจริง ไม่ชื่อว่าตื่น ถ้าคนที่ไม่ได้ยินได้ฟังเลย พอได้ฟังพระพุทธพจน์ ตอนนี้ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ผู้ได้ฟังรู้เลย ตื่นในความหมายของรู้ความจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้เองไม่ได้แน่ๆ แต่ต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกว่าจะถึงกาล ขณะที่สามารถเข้าถึงความจริงนั้น เพราะว่าได้ฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และรู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็คือเดี๋ยวนี้ทั้งหมดเลย

    เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่า ถึงเวลาที่สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดีงาม โสภณ จะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่พร้อมด้วยปัญญา ที่สามารถเข้าถึงลักษณะของความเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงพูดว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ ในการเข้าถึงความเป็นธรรม ก็ไปทำให้เข้าถึงไม่ได้ ต้องฟังให้เข้าใจ และก็ปรุงแต่ง ให้ปัญญาขั้นนั้นเกิด

    ท่านอาจารย์ นี่คือความเข้าใจถูก ว่าเป็นอนัตตา ไม่มีใครหรือเรา ที่จะทำอะไรได้เลย

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ อยากจะทราบในรายละเอียดของอินทรีย์ ๕ คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ท่านอาจารย์ก็จะเน้นว่า ฟังอะไรก็ให้เข้าใจความเป็นธรรมขณะนี้ ไม่ใช่ไปติดในชื่อ ในเรื่อง ในพยัญชนะ แต่ก็มีความรู้สึกว่า ถ้าสามารถอธิบายให้เข้าใจในรายละเอียดได้ว่า ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นอย่างไร ก็สามารถเข้าใจได้ว่า จะอบรมให้รู้การเกิดขึ้น มีขึ้น แล้วก็สามารถค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริงขณะนี้ได้

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ศรัทธา มีจริงๆ แต่ว่าเมื่อไร ใครรู้ เพราะว่าได้ยินเพียงแต่ชื่อ แต่วันหนึ่งๆ ต้องรู้ก่อน เต็มไปด้วยนิวรณ์หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ศรัทธา เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตาม ที่ไม่มีนิวรณ์ จิตจะผ่องใสหรือไม่ ไม่มีกามฉันทะ ความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะไม่รู้ และติดข้อง ไม่มีพยาปาทะ เพราะเหตุว่าขณะนั้นขุ่นเคือง ไม่ได้มีอารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏ ตรงตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ไม่ผ่องใส ใช่หรือไม่ เพราะว่าเต็มไปด้วยความขุ่นเคืองใจ

    เพราะฉะนั้นไม่ว่านิวรณ์ใดๆ ทั้งสิ้นที่มี เมื่อใดที่ปราศจากนิวรณ์ เมื่อนั้นสภาพของจิต ไม่มีเครื่องกั้น ไม่มีเครื่องทำให้เศร้าหมอง ใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะนั้นมีศรัทธาคือสภาพของธรรม ซึ่งผ่องใส เพราะปราศจากนิวรณ์ แล้วก็ประกอบด้วยสภาพธรรมฝ่ายดีงามด้วย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงต้องละเอียดว่า ขณะที่เป็นวิบากคือผลของกรรม ซึ่งอุปปัตติ เกิดขึ้นรับผลของกรรม โดยต้องเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่มีโสภณเจตสิก สภาพธรรมที่ดีงามเกิดขึ้นร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเป็นการอุปปัตติ เกิดขึ้น เมื่อมีวาระของกรรมที่จะให้ผล แล้วแต่ว่าจะเป็นเห็น หรือเป็นได้ยิน แต่ว่าหลังจากนั้นแล้ว มีความติดข้องหรือเปล่า มีความไม่รู้หรือไม่ ถ้ามีขณะนั้นไม่ผ่องใส เป็นนิวรณ์ เพราะฉะนั้นให้ทราบไว้เพียงว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่มีนิวรณ์ และขณะนั้นเป็นสภาพของจิต ซึ่งเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล หรือเป็นไปในการอบรมความสงบของจิต ให้พ้นจากนิวรณ์ต่างๆ และกำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้จากขั้นการฟังเข้าใจ ขณะนั้นจิตก็ผ่องใส เพราะความเข้าใจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะมีความเข้าใจ โดยไม่มีศรัทธา สภาพธรรมที่ผ่องใสร่วมด้วย ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ยังสามารถที่จะรู้ว่า ขณะใดเข้าใจ แต่ที่จะสามารถรู้ว่า ขณะนั้นผ่องใส ยากหรือไม่ เพราะฉะนั้นแม้มีจริง ก็ไม่ใช่ว่าจะปรากฏ เหมือนกับขณะนี้ที่กำลังเห็น มีผัสสเจตสิกไม่รู้ เวทนาเจตสิกก็ไม่รู้ สัญญาเจตสิกก็ไม่รู้ เจตนาเจตสิกก็ไม่รู้ หรือรู้

    ผู้ฟัง ยังไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิกก็ไม่รู้ ชีวิตินทริยเจตสิกก็ไม่รู้ มานสิการะก็ไม่รู้ แล้วก็จะไปรู้ศรัทธา ซึ่งจะเกิดกับขณะที่ไม่มีนิวรณ์ และขณะนั้นก็มีโสภณธรรมอื่นๆ เกิดร่วมด้วย ที่พอจะรู้ได้ก็คือ ความเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่ผ่องใส เพราะว่าขณะที่กำลังมีนิวรณ์ต่างๆ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่เวลาที่สามารถจะเข้าใจได้ ขณะนั้นสภาพของจิตพ้นจากนิวรณ์ เพราะมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย อย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท นี่คือการฟังธรรม ได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟัง แล้วก็ยากต่อการที่จะเข้าใจ และก็ยากต่อการที่จะรู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม แต่ต้องมีความอดทน และก็รู้ความต่างกัน ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ขณะนี้ที่ฟัง เข้าใจหรือไม่

    ผู้ฟัง เข้าใจขั้นฟัง

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ ขณะนั้นมีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าสามารถจะรู้ได้ก็เพียงเท่านี้ โดยไม่ต้องมีใครไปพยายามจงใจ ที่จะแยกลักษณะของศรัทธามารู้ว่า ศรัทธามีลักษณะอย่างนี้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี โสภณเจตสิกทั้ง ๑๙ เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แม้จิตที่กำลังเป็นสภาพธรรม ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็ยังไม่สามารถจะรู้ว่าจิตต่างกับปัญญา ทั้งหมดนี้ก็เป็นความสุขุม ลึกซึ้งของธรรม ซึ่งใช้คำว่าอภิธรรม แต่ธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ เพราะฉะนั้นในการศึกษาในขั้นที่ยังไม่เข้าถึงตัวธรรม ก็ฟัง เรื่องราวของสิ่งที่ฟัง เพื่อให้สังขารขันธ์ปรุงแต่ง ว่าธรรมในขณะนี้ เช่น เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ ถ้าปัญญารู้ตรง ยังไม่เกิด แต่ก็จะฟังความเป็นธรรม ความเป็นธาตุมากขึ้น ก็สามารถปรุงให้สติระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเป็นธรรมอยู่แล้ว สังขารขันธ์ก็เป็นสังขารขันธ์อยู่แล้ว เวทนาก็เป็นเวทนาขันธ์อยู่แล้ว สัญญาขันธ์ก็เป็นสัญญาขันธ์อยู่แล้ว ไม่มีใครอื่นเลย นอกจากสภาพธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้นกว่าจะตื่น ค่อยๆ เข้าใจถูก รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ก็ต้องอาศัยการฟัง โดยไม่หวัง ที่ว่าเมื่อไรจะรู้อย่างนี้ แต่จากการที่เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยๆ จึงจะเป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้เข้าใจขึ้นได้ จนกระทั่งถึงสามารถที่จะถึงการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามที่ได้ฟัง

    ผู้ฟัง จะศึกษาอินทรีย์ ๕ ให้เข้าใจความเป็นธรรมขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะต้องมีพื้นฐาน

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะนี้ก็ทราบ ขณะใดที่ไม่มีนิวรณ์ ใช่ไหม และขณะใดที่เข้าใจ ก็มีปัญญา ไม่ใช่เราที่เข้าใจ และขณะใดที่มีปัญญา ก็มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ เกิดร่วมด้วย จึงเป็นอินทรีย์ ๕ เมื่อขณะที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะขาดศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิไม่ได้ ไม่ใช่มีแต่ปัญญาเท่านั้น และจะขาดผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ นี่คือความเข้าใจขึ้นๆ ว่าเป็นธรรมทั้งหมด ชื่อต่างๆ หลากหลาย แต่ไม่ใช่เป็นเฉพาะชื่อ ชื่อนั้นแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่ละเอียด ที่รวดเร็ว เกิดดับสืบต่อตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นฟังเพื่อที่จะตื่น รู้ความจริงว่าเป็นอย่างนั้นทีละเล็กทีละน้อย ถ้าขณะใดที่ฟัง ไม่ใช่เพียงเข้าใจเรื่องของสิ่งที่มีจริง เช่นขณะนี้กำลังเห็น ฟังเรื่องเห็น คิดด้วยใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ ก็แยกไม่ได้ ว่าเห็นไม่ใช่คิด เห็นเป็นเห็น กว่าจะเห็นเป็นเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น เกิดมาเห็นแล้วก็ดับไป จึงเพียงแต่ว่าเห็น หรือสักแต่ว่าเห็นได้ ด้วยปัญญาที่เข้าใจความจริงเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องละเอียด เพื่อเข้าใจถูกเท่านั้นเอง แล้วเราก็สามารถจะพิสูจน์ได้ว่า ที่ฟังมาแล้วทั้งหมด ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน รู้ได้ด้วยตัวเอง แล้วพอหรือยัง ยังสงสัยอยู่ ใช่ไหม ยังไม่รู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ที่ได้ยินชื่อ แม้แต่ปัญญา แม้แต่สติ แม้แต่วิริยะ ก็มี ได้ยินชื่อครบ แต่ว่าขณะนี้แม้เกิดขึ้นจริง และก็ดับไปจริงๆ ก็ไม่รู้ จึงหลับ เพราะว่าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง อย่างการศึกษาพระสูตร ถ้าไม่ติดในคำ รู้ตัวว่ายังหลับอยู่ ก็จะต้องฟัง อบรมปัญญา

    ท่านอาจารย์ และเวลาตื่นก็รู้ด้วย ว่าไม่ใช่หลับ เพราะเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นเรื่องของความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่ต้องกังวลว่า น้อยเหลือเกิน ฟังแล้วเข้าใจนิดเดียว แต่ถ้าไม่ฟังเลย จะเป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่ฟังต่อไป จะเป็นอย่างนั้น คำพูดที่ว่าอริยสัจ ๔ ก็ไม่มีความหมาย คำพูดที่ว่าอินทรีย์ ๕ ก็ไม่มีความหมาย เพราะเหตุว่าไม่ได้มีการเข้าใจ จากการฟังด้วยความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่มีหนทางอื่นนี้แน่นอน เพราะว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจ ซึ่งคิดเองไม่ได้ ฟังเพื่อละความไม่รู้ ฟังเพื่อละความติดข้องต้องการ ฟังเพื่อเข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อ.คำปั่น กราบเรียนท่านอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องของอินทรีย์ ถ้ากล่าวถึงชื่อของอินทรีย์ ได้ยินใหม่ๆ ก็จะตื่นเต้นว่า จะหมายถึงอะไร อาจจะคิดไปเรื่องของจำนวนมากมาย แต่เมื่อได้ยินได้ฟังธรรมในวันนี้ ก็ดูเหมือนว่า ท่านอาจารย์กำลังจะกล่าวให้เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า ถ้าหากว่าไม่มีศรัทธาที่จะเริ่มฟังพระธรรม ให้เข้าใจในขณะนี้ การที่จะมีธรรมที่เจริญขึ้น ถึงความเป็นอินทรีย์ ก็จะมีไม่ได้ เวลาที่ได้ฟัง ได้ศึกษาในเรื่องของอินทรีย์แต่ละประการ จะมีความเกื้อกูล จะเป็นประโยชน์อย่างไรกับผู้ที่เริ่มฟัง เริ่มศึกษาธรรมในขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ได้เข้าใจว่า ธรรมหลากหลาย แล้วก็ได้ยินชื่อ แต่ว่าตัวจริงๆ ก็มี แต่ไม่สามารถที่จะรู้ได้ในขั้นการฟัง ต้องเป็นผู้ที่ตรง ขณะนี้มีศรัทธา อยู่ไหน ดับแล้ว ใช่หรือไม่ นี่คือฟังจนรู้ว่า ไม่มีเรา เป็นธรรม จนกระทั่งไม่เหลือความเป็นเรา ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหนทั้งสิ้น

    อ.คำปั่น เป็นพุทธประสงค์เลยครับ ที่พระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ก็เพื่อที่จะให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจในความเป็นจริงของธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ว่าสัตว์โลกที่เป็นปุถุชน หนาแน่นด้วยความไม่รู้ ถ้าแสดงธรรมเพียงเล็กน้อย ไม่มีทางที่จะทำให้เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นก็ทรงแสดงโดยละเอียด โดยประการทั้งปวง โดยนัยต่างๆ เพื่อเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟัง พิจารณา เข้าใจขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    อ.คำปั่น จริงๆ เวลาที่ได้ยินได้ฟังว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ฟังเผินๆ ดูเหมือนว่า ไม่มีอะไรเลย แต่ก็เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่งเลย

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็ยังมืด ใช่หรือไม่ ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ยังไม่ชัดเจน ยังไม่สว่าง ยังไม่แจ้ง ในสภาพของธรรม เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่า ธรรม เข้าใจความหมายของธรรม รู้ว่าขณะนี้มีธรรม แต่ก็ยังไม่ถึงการเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมไม่ใช่เรา และก็ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย เป็นเพียงแต่ละหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของตนๆ มีปัจจัยจึงเกิด เกิดแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นก็ยากที่จะรู้ได้

    อ.คำปั่น ครับ เป็นสิ่งที่ยากจะรู้ได้ แม้มีธรรมอยู่ตลอด มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ท่านอาจารย์ครับก็น่าพิจารณาอย่างนี้ สำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ก็จะต้องมีการพิจารณา ไตร่ตรองในความเป็นจริง ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เห็นประโยชน์เลย ก็คงไม่พูดถึงบุคคลเหล่านั้น ใช่ไหมครับ อย่างไรก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจความจริง แต่สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม เห็นประโยชน์ของการที่จะได้เข้าใจความจริง ก็จะต้องมีศรัทธา เห็นประโยชน์ที่จะต้องฟัง ต้องศึกษาต่อไป เพราะว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกตามความจริง

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่ ถึงได้ฟัง มาฟัง ฟังแล้วยากมาก ละเอียดมาก ลึกซึ้งมาก เพราะเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็จะฟังต่อไปหรือไม่ มีศรัทธามาแล้ว ถ้าไม่มีศรัทธาที่จะฟังต่อไป ชื่อว่ารู้จักก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า ได้ยินแต่เพียงชื่อ แต่แม้ว่าเสียงที่ได้ยินได้ฟังยาก ยากที่ต้องศึกษาเป็นกัปป์กัปป์ เป็นอย่างไร เริ่มรู้สึกอย่างไร ยังมีศรัทธาที่จะฟังต่อไปอีกหรือเปล่า หรือว่าหมดศรัทธาเสียแล้ว เพราะยากเหลือเกิน ชาตินี้แค่ชาติเดียว แต่กัปป์หนึ่งมีเท่าไร ใช่ไหม แต่ธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่จะรู้ว่า มีจริงสำหรับจะไม่รู้ต่อไป หรือว่ามีจริงที่จะทำให้สามารถเข้าใจขึ้นในความจริงของผู้ตื่น ผู้ได้ทรงตรัสรู้ความจริงแล้ว และทรงพระมหากรุณา แสดงให้คนอื่น ได้มีโอกาสที่จะเกิดปัญญาของตนเองได้

    เพราะฉะนั้นไม่ประมาทพระธรรม ไม่ประมาทพระปัญญาคุณของสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทรงแสดงตามความเป็นจริง จะเปลี่ยนจากความเป็นจริงไม่ได้ เมื่อความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซื้ง ยากยิ่ง ก็แสดงให้มีความสามารถค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ความจริงนั้นได้ นี่คือศรัทธาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ จะเป็นศรัทธาได้อย่างไร ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการเห็นประโยชน์จริงๆ

    เพราะฉะนั้นยิ่งยาก ยิ่งมีศรัทธา ที่จะรู้ว่าสิ่งที่ยาก แต่รู้ได้ ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนเลยแค่ฟัง ใช่ไหม ลำบากอะไร แค่ฟัง ไม่ต้องไปทำอะไรเลยทั้งสิ้น อย่างอื่นต้องขวนขวาย ต้องพยายามทุกอย่าง แต่นี่เพียงแค่ฟัง ฟังด้วยความเคารพ เพราะเหตุว่าเป็นวาจาสัจจะ คำนั้นไม่หลอกลวง ไม่ทำให้เข้าใจผิด ไม่ทำให้เห็นผิด แต่ทำให้เข้าใจความจริงที่มีอยู่ทุกขณะในชีวิต ที่เข้าใจว่าเป็นเรา แต่ความจริงก็คือเป็นธรรมแต่ละหนึ่งจริงๆ ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็จะพ้นจากการที่ไม่รู้ หลงยึดถือสิ่งที่ไม่มี ซึ่งดับไปแล้วว่ายังมีอยู่

    เพราะฉะนั้นปัญญาก็เป็นแสงสว่างที่จะทำให้เห็นถูก ที่จะทำให้ละความติดข้อง และละคลายความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งปวง ไม่ได้ทำอันตรายเลย แค่ฟัง และก็เข้าใจขึ้น ขณะที่เข้าใจก็ละความไม่รู้ และความไม่เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เดือดร้อนไหม ถ้าเดือดร้อน ขณะนั้นเพราะไม่เข้าใจธรรม เข้าใจแค่ฟังนิดเดียว แล้วก็เป็นไม่เข้าใจอีก เข้าใจหน่อยหนึ่ง และก็เปลี่ยนเป็นไม่เข้าใจอีก จนกว่าความเข้าใจจะมั่นคงว่า ไม่มีเรา ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ที่กำลังปรากฏ ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นแล้วตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ท่านจารย์ค่ะ เวลาเราศึกษาธรรมจริงๆ มีอรรถ และพยัญชนะมากมาย ที่เราได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่คิดเรื่องต่างๆ

    ผู้ฟัง แล้วสิ่งที่ควรศึกษาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจให้ถูกต้องว่า เห็นไม่ใช่คิด

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจในเห็นด้วยซ้ำ แต่ว่าคิดนึกเรื่องราวมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง อะไรที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น บางคนก็บอกว่าพูดแต่เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ก็ดีที่ได้ฟังเรื่องอย่างนี้ แทนที่จะฟังเรื่องอื่นๆ จริงไหม ต่อให้จะพูดซ้ำอย่างไร เรื่องเห็นก็กำลังเห็น ก็ดีกว่าพูดเรื่องอื่น ใช่ไหม ขณะที่กำลังได้ยินก็มีได้ยิน จะพูดเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ก็คือสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้นฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจขึ้น ย่อมดีกว่าฟังเรื่องอื่น จะซ้ำสักเท่าไร ก็ยังมีเห็นให้เริ่มเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่ตามความเป็นจริงของผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญามั่นคง พอที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าพูดเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ก็คิดเรื่องอื่นใช่ไหม เห็นไหม แล้วเมื่อไรจะรู้เห็นที่กำลังเห็น พูดว่าเห็นก็คิดเรื่องอื่น พูดเรื่องเห็น ได้ยิน ขณะนี้ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเห็น แล้วก็ดับไป เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป พูดอย่างนี้ บางคนก็คิดเรื่องอื่นก็ได้

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะฟังซ้ำอีกสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังไม่ใช่ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจ เห็นที่กำลังเห็น จนกว่าเมื่อไรที่ว่าซ้ำทุกวัน ขอให้คิดดู ดีกว่าฟังเรื่องอื่น ใช่ไหม เพื่อที่จะได้เข้าใจเห็นที่กำลังเห็น จนกว่าจะเข้าใจได้ ไม่รู้ว่าจะต้องซ้ำอีกมากเท่าไร เพราะว่าฟังเรื่องเห็น ก็คิดเรื่องอื่นแล้ว ไม่ได้เข้าใจเห็นที่กำลังเห็น จนกว่าฟังเรื่องเห็น แล้วก็ไม่ได้คิดเรื่องอื่น แต่ว่ากำลังเข้าใจเห็น ที่กำลังเห็นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสามารถรู้ความจริงได้ทั้งหมด คิดก็ไม่ใช่เรา แค่นี้ จนกว่าจะเป็นอย่างนี้จริงๆ

    ผู้ฟัง แม้เห็นมีในขณะนั้น หรือว่าได้ยินมีขณะนั้น เราก็ไม่ได้รู้สภาพตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังยังไม่พอ เพราะฟังแล้วก็คิดเรื่องอื่น ไม่ได้รู้เห็นที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ถ้าเราไปคิดอย่างอื่น ก็หมายถึงว่าคนละเรื่องแล้วใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เราพยายามจะทำอะไร ที่ไม่ใช่การฟังให้เข้าใจ สิ่งที่กำลังฟัง และที่กำลังมี ใช่ไหม

    อ.คำปั่น จริงๆ เวลาที่ได้ยินได้ฟังธรรม ก็จะต้องมีคำ มีชื่อ แต่ก็ได้ฟังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวอยู่เสมอว่า คำที่ได้ยินนั้น ชื่อที่ได้ยินนั้น ส่องถึงตัวจริงของธรรมหรือเปล่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    1 ม.ค. 2568

    ซีดีแนะนำ