พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 848


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๘๔๘

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๖


    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะ นอกจากแสดงว่า เป็นเชือกที่ผูกแล้วเหมือนเป็นบ่วงของมาร และเป็นเบ็ดของมารด้วย

    ท่านอาจารย์ แค่เป็นเชือก รู้ หรือยัง ได้ยินแต่ชื่อ แล้วจะรู้เมื่อไหร่ มิฉะนั้นก็คำโน้นอีกคำนี้อีก เป็นชื่อทั้งหมด แค่ว่าเป็นเชือก รู้ หรือยัง แล้วรู้เมื่อไหร่ด้วย

    อ.ธิดารัตน์ ธรรมปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เพราะว่าทรงแสดงไว้เท่านั้น แต่ต้องไตร่ตรองพิจารณาว่า วาจาสัจจะเป็นความจริง แต่ว่าจะรู้เมื่อไหร่ว่าโลภะเปรียบเหมือนเชือก หรือเป็นเชือก

    อ.ธิดารัตน์ ก็ต้องรู้ลักษณะของโลภะที่ขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าโลภะเกิดครั้งเดียว น้อยนิด รู้ไหมว่าเป็นเชือก

    อ.ธิดารัตน์ ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าสิ่งนั้นแหละทำให้จิตใจผูกพัน ไม่ยอมพรากทั้งๆ ที่เกิดแล้ว พอใจแล้ว ก็ยังเหนียวแน่นอยู่อย่างนั้น ไม่ยอที่จะทิ่งไป เพราะฉะนั้นลักษณะของความยินดีติดข้องเหมือนเชือกที่ผูกไว้ ไม่ยอมทิ้งสิ่งนั้นเลย จะรู้ต่อเมื่อมีความยินดีระดับไหนที่ผูกไว้แน่น เมื่อวานนี้ก็ผูก วันนี้หายไป หรือเปล่า ยังผูกอยู่ ยังเป็นเรื่องที่พอใจที่จะคิด หรือว่าที่จะยึดมั่น พรุ่งนี้ก็มาอีกแล้ว วันหนึ่งๆ อะไรผูก โลภะผูกไว้ที่ไหน เห็นไหมถ้าไม่รู้ว่า ขณะนั้นพอใจในสิ่งใดจะรู้ไหมว่า ถูกผูกไว้ในสิ่งนั้น ไม่ยอมทิ้งไม่ยอมจากสิ่งนั้นไปเลย เพราะฉะนั้นแต่ละคำจะรู้ก็ต่อเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏ และมีความเข้าถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์คะเหมือนกับมีทั้งผูกคือ ผูกพันในอารมณ์นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.ธิดารัตน์ เพราะว่า เป็นอารมณ์ที่โลภะติดข้อง เวลาที่จะรู้โดยความเป็นเครื่องผูก ต้องรู้ทั้ง
    ลักษณะของอารมณ์ และลักษณะของโลภะที่ติดในอารมณ์นั้น

    ท่านอาจารย์ มีใครไม่ถูกผูกบ้าง ไม่มี รู้เมื่อไหร่ ไม่ใช่เมื่ออ่านแต่ว่าพอฟังแล้วมีความเข้าใจ เวลาที่สภาพธรรมนั้นเกิด ห้ามฟังไหม อย่าคิด อย่าผูกพัน ห้ามได้ไหม

    อ.ธิดารัตน์ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็เข้าใจความหมายของคำว่า "ถูกผูกแล้ว" ถูกผูกไว้หมดเลยใช่ไหม

    อ.อรรณพ ปรารภอย่างนี้ว่า เชือกอื่นไม่ว่าจะเป็นเชือกไนล่อน เชือกอะไรที่ผูกแน่นๆ นับวันจะค่อยๆ คลาย หรือค่อยๆ สึกไปเอง แต่เชือกโลภะนับวันยิ่งผูกแน่น

    ท่านอาจารย์ ยิ่งหนายิ่งเหนียว

    อ.อรรณพ ยิ่งหนายิ่งเหนียวขึ้น

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าชาติหนึ่งก็ชาติหนึ่ง ชาติก่อนถูกผูกแล้วจากอะไร รู้ไม่ได้เลย และชาตินี้เท่านั้นที่รู้ได้ แต่อีกไม่นานก็ไม่ถูกผูกด้วยอารมณ์ของชาตินี้ แต่โลภะที่สะสมอยู่ในจิตจะผูกต่อในอารมณ์ใหม่ของชาติหน้า เพราะฉะนั้นถ้าจะย้อนกลับไปเราไม่รู้เลยว่า ชาติก่อนเราเป็นใครแต่โลภะมีแน่นอน แล้วโลภะที่เหนียวแน่นที่ผูกไว้อาจจะเป็นกับบุตร ธิดา อะไรก็ได้สำหรับพ่อแม่ผูกไว้มั่นคงเหลือเกิน ตลอดชาติด้วย แต่พอถึงชาตินี้ความผูกความเหนียวแน่นของโลภะยังมี แต่สิ่งที่ถูกผูกไว้ก็ต่างกับชาติก่อน

    เพราะฉะนั้นจึงเห็นความไม่แน่นอน เห็นความไม่เที่ยง ถ้าเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ว่า ทุกอย่างชั่วคราวจริงๆ ค่อยๆ มีอาวุธที่จะตัดข่าย หรือว่าที่จะออกจากข่ายได้ แต่ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วดูเหมือนว่า สิ่งนั้นผูกเราไว้แน่นแต่แน่นเพียงชาติเดียว เพราะว่าจะต้องผูกกับสิ่งที่จะปรากฏในชาติต่อไป

    อ.อรรณพ ฟังท่านอาจารย์กล่าวก็น่าสลดใจว่า ผูกแต่ละชาติๆ ที่แล้วอาจจะผูกในสัตว์บุคคลซึ่งตอนนี้ก็ไม่ได้ผูกด้วยสัตว์บุคคลเหล่านั้นแล้ว ไม่รู้ว่าใครเป็นญาติพี่น้อง บ้านอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ขับรถผ่านไปก็ไม่รู้ว่าที่ตรงนั้นเราเคย เป็นอารมณ์ที่ช่วยให้โลภะเพิ่มขึ้น หรือเปล่า เลยเหมือนกับว่า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมอารมณ์ในแต่ละภพ แต่ละชาติ หรือแต่ละขณะเป็นเครื่องช่วยเพิ่มพูนความแข็งแกร่งของเชือกโลภะนี้

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ หรือกิเลส

    อ.อรรณพ กิเลสที่พอใจในอารมณ์นั้น

    ท่านอาจารย์ อย่าคิดว่า อารมณ์มีอิทธิพล ไม่มีเลยถ้าไม่มีกิเลสแล้วไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ไม่สามารถจะผูกได้

    อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ อารัมมณูปนิสสยะ หมายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าดูว่าแต่ละคนชอบต่างกันเพราะคุ้นเคยกับสิ่งนั้น พอใจในสิ่งนั้นจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย ชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าเจอสิ่งที่คล้ายๆ กัน หรือสิ่งที่เคยชอบไว้ ก็เกิดความยินดีในสิ่งนั้นได้เพราะว่า เคยพอใจในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นไม่น่าสงสัยเลยใช่ไหม เกิดมาแล้วต่างคนต่างชอบตามการสะสม ถ้าไม่เข้าใจธรรมเลย รู้ไหมว่ามีกิเลสมาก มากจนกระทั่งทำให้ไม่รู้เลยว่ามี

    เพราะฉะนั้นประโยชน์คือ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เราแต่เป็นจิตที่เกิดดับสืบต่อในสังสารวัฏฏ์ และสะสมอกุศลทั้งหลายไว้มาก ทางฝ่ายกุศลก็สะสมมาด้วยไม่ใช่ว่าไม่สะสม เพราะฉะนั้นจึงมีการใส่ใจ สนใจในความจริง ในความถูกต้อง จะฟังก็เพื่อที่จะได้เข้าใจตามความเป็นจริงแต่ไม่ใช่เพียงเพื่อเข้าใจ เพราะเหตุว่า เข้าใจไม่ใช่เรา เข้าใจเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นปัญญาเกิดขึ้น ปัญญาเห็นถูกต้องจากการไตร่ตรองเพราะรู้ว่า สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร

    เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใจความจริงก็ยังคงเหมือนเดิมคือสะสมอกุศลไว้มากขึ้นๆ แต่ผู้ที่มีปัญญารู้ว่า ทุกคนอกุศลมากจนเกินกว่าที่จะให้หมดไปได้ทันทีโดยที่ไม่มีการสะสมคุณความดี เพราะเหตุว่า ขณะใดก็ตามที่จิตเศร้าหมองเป็นอกุศลไม่ดี ขณะนั้นไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นหนทางเดียวคือ มีความเข้าใจถูกต้องว่า ถ้าอกุศลเกิดกุศลเกิดไม่ได้ไม่พร้อมกัน เพราะฉะนั้นการที่จะมีอกุศลน้อยลงคือ มีกุศลจิต หรือความดีเพิ่มขึ้น เริ่มเห็นคุณของความดี ไม่ใช่ไปเห็นความชั่ว ความทุจริตว่า เร็วดี จะทำให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ตามที่ต้องการ แต่เพราะมีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า เหตุกับผลต้องตรงกัน

    เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นโทษของอกุศลแล้ว ทุกคนวันนี้รู้ว่ามีมาก ถ้าเห็นจริงๆ ความดีจะเพิ่มขึ้น แม้แต่การตรึก ความคิดทั้งหมดก็เป็นไปในทางกุศลซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะประมาทกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ขี้เกียจทำใช่ไหม ไม่ใช่นิสัยที่จะต้องไปช่วยคนนั้นทำอย่างนี้ ฯลฯ แต่เวลาที่ปัญญาเกิดขึ้นแล้วรู้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิดขณะนั้นอกุศลจิตเกิด จะทำให้ไม่ประมาทเลยแม้เล็กน้อยสักเท่าไหร่ ศรัทธาเกิดในกุศลที่จะทำความดี

    ด้วยเหตุนี้เมื่อฟังธรรมเข้าใจแล้วก็จะเป็นปัจจัยทำให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ดีขึ้นทั้งกายทั้งวาจาด้วย ไม่ใช่ฟังธรรมเข้าใจแล้วเหมือนเราเข้าใจแต่ยังคงเป็นคนเก่าที่ไม่ดีแสดงว่า ความเข้าใจไม่ใช่เข้าใจจริงๆ ถ้าเป็นความเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่เคยพบกันมาก่อน หรือเปล่าใครจะรู้ เป็นญาติพี่น้อง เป็นมิตรสหาย เป็นศัตรู เป็นพี่เป็นน้อง ก็ไม่มีใครรู้ ทั้งคนนอกสถานที่นี้ด้วยตามถนนหนทางไม่ว่าที่ไหน ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ความเมตตาความหวังดีก็เพิ่มขึ้น ไม่มีการคิดที่จะเบียดเบียน

    เพราะฉะนั้นปัญญาย่อมนำมาซึ่งกุศลทุกประการตามอัธยาศัย แต่ไม่ใช่ว่า เมื่อปัญญาเกิดแล้วก็ไม่มีกุศลใดๆ เลย มีแต่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าที่อกุศลกรรมทางกายทางวาจามีได้เพราะความไม่รู้ แต่เมื่อมีความรู้แล้วก็จะละอกุศลแล้วกุศลก็ค่อยๆ เจริญขึ้น นี่เพียงทางกายทางวาจาซึ่งเป็นเรื่องของความดี ซึ่งเห็นคุณของความดี และไม่ละเลยที่จะทำความดีแต่ไม่พอเพราะเหตุว่า ต้องมีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น

    อ.คำปั่น กราบเรียนท่านอาจารย์กับคำว่า "พระสัทธรรม" จะนำไปสู่ความเข้าใจธรรม นำไปสู่ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ พอได้ยินคำก็อยากเข้าใจคำนั้น ถูกต้องไหม และยิ่งรู้ว่าคำนั้นหมายความถึงคำของผู้สงบ หรือว่า ธรรมที่ทำให้สงบ ไม่พอแค่นี้ต้องจากอกุศลทั้งหมดจึงจะสงบได้ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วจะมีคำหลายคำที่เราได้ยินแต่ก็มีความอยากรู้ความหมายของคำนั้น แต่นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้สงบเพราะว่า จริงๆ แล้วทั้งหมดต้องมาจากความเข้าใจ และเข้าใจอะไร เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เพื่อไปสู่ความสงบโดยที่ว่า สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องได้ว่า ขณะนี้สงบ หรือไม่สงบ บอกได้ไหม ถ้าไม่รู้จักธรรมไม่มีทางเลยเพราะว่า ได้ยินแต่ชื่อ ได้ยินแต่คำ เช่น คำว่า "จักขุวิญญาณ" ภาษาไทยคือ จิตเห็น ก็ได้ยินแล้วจะสงบอย่างไร ใช่ไหม เพียงได้ยิน

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดโดยมากจะคิดถึงคำ และเรื่องราวแล้วสนใจแต่ลืมว่า พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงต้องเป็นความเข้าใจตามลำดับ และสามารถที่จะรู้ได้ว่า เข้าใจจริงๆ หรือเปล่าแม้แต่คำว่า สงบ หนทางที่จะสงบต้องเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงดับกิเลสหมดจึงสงบ และทรงแสดงหนทางที่จะทำให้มีความสงบโดยดับกิเลสตามลำดับขั้นด้วย

    นี่คือเวลาที่ได้ฟังพระธรรมแล้วได้ยินคำไหน อย่าเพิ่งคิดที่จะเข้าใจเพียงความหมายของคำนั้นแต่ต้องรู้ด้วยว่า พระธรรมทั้งหมดเพื่อให้ผู้ที่ฟัง หรือได้ยินคำนั้นเกิดความเข้าใจจริงๆ เช่น ธรรม ก็รู้อยู่แล้วว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริงขณะนี้ แต่พอมีคำว่า "สัทธรรม" ก็ต้องต่างกับคำอื่นเพราะหมายความว่า ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้ผู้ฟังเกิดความเห็นถูก เกิดความเข้าใจถูก และสงบตามลำดับขั้น คนไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีขณะนี้ไม่มีทางสงบจากกิเลสได้เลยเพราะว่า พอได้ยินคำว่า สงบ ทุกคนที่วุ่นวายมีภาระ มีกิจการงานมาก อยากสงบเลย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์เพียงให้ไม่รู้อะไรเลยแต่อยาก

    แต่ตามความเป็นจริงคือ ให้มีความเข้าใจถูกต้อง และรู้ว่า ความสงบจริงๆ คือ มาจากความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในอะไร ในสิ่งที่มีจริงแต่ไม่เคยเข้าใจถูกมาก่อนเลย เพราะฉะนั้นการที่จะสงบได้จริงๆ เป็นพระสัทธรรมซึ่งจะนำไปสู่การกับกิเลส ต้องจากความเข้าใจว่า ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ ขณะที่ฟังก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า เข้าใจได้แค่ไหน หรือเพียงแต่ได้ยินได้ฟังแล้วเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า นี่เป็นประโยชน์กว่าการที่จะไปถึงว่า "พระสัทธรรมได้แก่ธรรมอะไร มีอะไรบ้าง" แต่ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูกต้องในคำนั้นซึ่งกล่าวถึงความเป็นจริงในขณะนี้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะก็ฟังว่า ปริยัติหมายถึงการรอบรู้ในพระพุทธพจน์ซึ่งในพระพุทธพจน์ก็ไม่มีอะไรนอกจากกล่าวถึงสิ่งที่กำลังปรากฏที่เป็นจริง ก็จะสงสัยบ่อยมากว่า ในการศึกษา เช่น ท่านอาจารย์บอกว่า รู้ว่าเห็น ขณะนี้อะไรเป็นธรรม ก็เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ หรือว่าได้ยินเสียง และคิดนึกคือ รับรู้ ๕ ทาง และคิดนึก ก็จะเข้าใจ และพูดตามได้ แต่จะสงสัยมากว่าการที่จะรู้ว่า เป็นปริยัติ หรือเป็นเพียงแค่ฟัง จำได้แล้วพูดตาม ตรงนี้ผู็ศึกษาจะทราบได้อย่างไรว่า เข้าใจถูก หรือไม่เข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมว่า ผู้ศึกษาต้องไตร่ตรอง และเป็นผู้ที่ตรงด้วย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏสิ่งนั้นเกิดขึ้น การเกิดของเห็นปรากฏไหม ไม่ปรากฏ แล้วสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นสิ่งนั้นต้องดับไป การดับไปของเห็นขณะนี้ปรากฏ หรือยัง

    เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะรู้ว่า การฟังว่าเห็นเกิดดับ และเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง ความเข้าใจแค่ไหนในเห็นต้องมีเหตุด้วย มิฉะนั้นไม่มี "โพธิปักขิยธรรม" ไม่ใช่เราจะไปทำอะไรขึ้นมาเพื่อที่เราจะรู้ แต่ต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ขณะนี้ไม่มีเราที่จะไปทำแต่อะไรที่สามารถทำให้รู้ความจริงของเห็นซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจถูก และไม่ประมาทว่า ขณะนี้เห็นเกิดดับจริงๆ แต่ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ตรงรู้ว่า เพียงเท่านี้จะไปประจักษ์การเกิดดับได้ไหมเพราะเหตุว่า การเกิดดับต้องเป็น "ปฏิปัตติ" การเข้าถึงความจริงของสภาพธรรมด้วยปัญญา และสติ ไม่ใช่เราเลยสักอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจถูกต้องว่า ทุกอย่างที่กล่าวถึงไม่ว่า พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก เป็นธรรมทั้งหมด ถ้ายังไม่มีความเข้าใจอย่างนี้จะประจักษ์การเกิดดับไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็เป็นผู้ตรง แม้แต่เพียงการที่จะรู้ว่า เห็นขณะนี้ ยังไม่ต้องถึงการเกิดดับ แต่ว่าไม่ใช่เรา มีเหตุปัจจัยเกิดเพียงเห็นแล้วดับไปก็ยังไม่มีความมั่นคงพอจนกว่าเราจะได้ฟังบ่อยๆ คุ้นเคยบ่อยๆ จนละคลายการที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดต้องเป็นไปตามลำดับด้วยความเข้าใจขึ้น ตรงต่อความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย มิฉะนั้นไม่เห็นโลภะ ไมได้ละโลภะซึ่งเป็นสมุทัยเลยเพราะว่า ทุกอย่างก็เป็นไปตามความติดข้อง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ ในการศึกษาดูเหมือนว่า จะต้องแน่นอนคือศึกษา คือรอบรู้เป็นปริยัติสัทธรรม คือปริยัติสัทธรรมมั่นคงเป็นปัจจัยให้ปฏิปัตติ แต่จริงๆ แล้วในการที่จะทราบ หรือว่าไม่หลงทางว่า เป็นศึกษา จำชื่อ จำเรื่อง หรือว่าศึกษาตัวเห็น ตัวสิ่งที่ปรากฏทางตา ตรงนี้ดูเหมือนจะ

    ท่านอาจารย์ ไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะเหตุว่า ขณะนี้ธรรมมีจริงๆ ไม่ต้องเรียกอะไรเลย มีจริงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียก และสิ่งนี้ถ้าไม่เกิดขึ้น มีได้ไหม

    ผู้ฟัง มีไม่ได้

    ท่านอาจารย์ และสิ่งนี้ยั่งยืนตลอดไป หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ก็พิสูจน์แล้วใช่ไหมว่า เมื่อได้ฟังอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ ยังไม่ได้ประจักษ์อย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะเป็นระดับไหน ขั้นไหน และการที่สามารถที่จะเริ่มรู้ว่า ไม่ใช่เราแต่เห็นเกิดขึ้น เห็นแค่นี้เอง อย่างนี้เอง แค่นี้ตรงเห็น ต้องอาศัยความเข้าใจซึ่งไม่ใช่เรา และการที่สามารถที่จะรู้ว่า ทำไมตอนต้นๆ ตอนแรกๆ ที่ฟังไม่เห็นมาเข้าใจเห็นเลย ได้ยินแต่คำว่า เห็น ได้ยินชื่อแต่ไม่ได้เข้าใจตรงเห็นที่กำลังเห็น จะรู้ได้ว่า การฟังเพียงเล็กน้อยไม่สามารถที่จะทำให้ความคุ้นเคยต่อการที่จะคิดอย่างอื่น เวลานี้ทุกคนกำลังคิดก็ไม่รู้ว่าคิด คิดอะไรก็ไม่รู้ใช่ไหม เต็มไปด้วยความไม่รู้ รู้จริงๆ หรือเปล่าว่าคิดๆ อะไร ทั้งๆ ที่กำลังคิด แสดงถึงความไม่รู้มากมายใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นแม้ขณะนี้ก็จะรู้ได้ว่า เห็นไม่ใช่คิด และกว่าจะรู้ความจริงต้องอาศัยความมั่นคง และไม่ใช่เราอีก แต่เพราะเข้าใจอย่างมั่นคงเป็นให้สภาพธรรมซึ่งเกิดกับจิตซึ่งเป็นธรรมที่เป็นฝ่ายดี สติ อโลภะ อโทสะ ทั้งหมดซึ่งเราได้ยินแต่ชื่อ แต่เดี๋ยวนี้มีจริงๆ ทั้งหมดมีจริงๆ แต่ยังไม่ได้รู้ความจริงสัก ๑ ใช่ไหม พูดถึงอโลภะเดี๋ยวนี้มีไหมขณะที่กำลังเข้าใจ พูดถึงอโทสะก็มี พูดถึงศรัทธาก็มี หิริโอตตัปปะก็มี นั่นเป็นสิ่งที่แม้มีก็ไม่ได้รู้ เพราะฉะนั้นการรู้ต้องเริ่มรู้ เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งรู้ความต่างว่า ขณะที่ได้ฟังเรื่องเห็นแล้วไม่ได้เข้าใจเห็นที่กำลังเห็น แต่พอได้ฟังมากๆ เข้าใจมากๆ โดยไม่ใช่ตัวเราพยายามที่จะไปรู้ นี่คือ ผิดอีกแล้ว

    เพราะฉะนั้นทางผิดมีมากเพราะเหตุว่า อวิชชา และโลภะมีมาก ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า เหตุที่สามารถทำให้ไม่ไปคิดเรื่องอื่นเลยในขณะที่กำลังเห็นก็มีแต่เห็นที่เริ่มเข้าใจขึ้น เพราะอาศัยการฟัง และความเข้าใจอย่างมาก ถึง หรือยัง ต้องเป็นผู้ตรงไม่ต้องถามใคร ไม่ต้องบอกใคร ไม่ต้องมาคิดว่า "เออ เรามาคุยกันดีมั้ยว่า ใครรู้เห็นบ้างแล้ว หรือใครยังไม่ได้รู้เห็นเลย" ไม่จำเป็นเลยเพราะว่า เป็นเรื่องเฉพาะตัวจริงๆ ที่ผู้นั้นเป็นผู้ตรงจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ยากไหม นานไหมกว่าจะเริ่มเข้าใจเห็นที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจาารย์ถามว่า คิดเรื่องอื่น หรือคิดแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็จะรู้ว่าในการฟังบ่อยๆ เนืองๆ ขณะนี้ก็จะคิดแรื่องห็น เรื่องแข็ง เรื่องเสียง เรื่องได้ยิน ฯลฯ แต่ก็จะรู้ว่า เป็นเพียงสติขั้นคิดจากการที่ฟังเข้าใจว่า ก็คือขณะนี้ก็จะเป็นบ่อยมากขึ้นแต่จะรู้เลยว่า เป็นสติขั้นคิดว่า "อ๋อ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้" แต่ก็จะคิดประมาณนี้

    ท่านอาจารย์ คิดก็เป็นธรรม กว่าจะไม่ใช่เราอย่างที่เราได้ฟัง และมีความเชื่อว่า ทุกอย่างเป็นธรรมในขั้นฟังแต่ว่า ยังไม่ได้เป็นความจริงจนกว่าสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพราะถ้าไม่รู้ขณะนั้นก็มีความต้องการ และมีความติดข้อง เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อเห็นความละเอียดของธรรม และเป็นผู้ตรง

    เพราะฉะนั้นการฟังตั้งตนไว้ชอบคืออย่างไร ไม่ใช่เราฟังแต่ว่าฟังเพื่อรู้ว่า ไม่มีเรา ธรรมเป็นธรรม ธรรมเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ไม่มีใครอยากเป็นคนเลวคนชั่วแต่สะสมความเลวความชั่ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดก็คือ ความเลวความชั่วไม่ใช่ใคร เพราะฉะนั้นถ้าสะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยในที่สุดก็จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า ทุกคำเป็นวาจาสัจจะเมื่อเป็นพระพุทธพจน์ แม้แต่ว่า ธรรม สิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงเป็นอนัตตา ทุกคำทิ้งไม่ได้เลย พอเป็นอนัตตา เข้าใจแล้วก็มาเป็นเราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ถูกแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเหมือนโลภะไม่ปล่อยแต่ถ้าฟังเข้าใจมาก เมื่อความเป็นเราไปจดจ้องเกิดก็คือ สามารถรู้ได้ว่าอันนี้ไม่ใช่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา ปัญญาจากการฟังทำให้ระลึกได้ว่า นั่นไม่ถูก เพราะฉะนั้นที่พึ่งที่แท้จริงคือปัญญา

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณ

    อ.คำปั่น กราบเรียนท่านอาจารย์ จากความเข้าใจในขั้นของปริยัติย่อมเกื้อกูลต่อความเข้าใจในขั้นที่เป็นปฏิปัตติ เพราะฉะนั้น ความเกื้อกูลกันของปริยัติ ปฏิปัตติ นำไปสู่ปฏิเวธ กราบเรียนท่านอาจารย์ได้กล่าวในส่วนนี้ต่อด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ในวันนี้แน่ที่จะถึงปฏิเวธแต่ว่า ถ้าไม่เข้าใจเห็นแล้วจะมีสติไปรู้ และเข้าใจเห็นได้อย่างไร แค่นี้ก็เป็นคำตอบแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 193
    23 ธ.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ