พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 914


    ตอนที่ ๙๑๔

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๗


    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วถามว่าแล้วเมื่อใดจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม อะไรเป็นเครื่องกั้น ไม่ให้เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม ฟังแล้ว แล้วจะทำอย่างไรต่อไป จะมีวิธีอย่างไร จะตรึกตรองอย่างไร นั่นก็คือไม่ได้เข้าใจธรรม ก็มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น กิเลสมีมาก พร้อมที่จะกั้นแม้ขณะที่ฟัง ก็ไม่ได้ฟังด้วยการคิดว่าฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพราะเป็นพระพุทธพจน์ เป็นคำจริงซึ่งคนอื่นไม่ต้องไปเสียเวลาคิดเอง คิดอย่างไรก็คิดไม่ถูก จะคิดถูกได้อย่างไร คิดไปว่าเพราะอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความจริงที่ทรงแสดงไว้ ก็คือไม่ใช่เพราะเรา แต่เพราะธรรม เพราะเป็นธรรมทั้งหมด

    อ.อรรณพ ส่วนในพระสูตร พระองค์ท่านทรงแสดงว่า ประกอบด้วยกิเลสเป็นเครื่องกั้น ในอรรถกถาท่านยกตัวอย่างชัดเจนอุกฤษฏ์ คือ ความเห็นผิดที่ดิ่งหรือนิยตมิจฉาทิฏฐิที่กั้น

    ท่านอาจารย์ คนเห็นผิดกั้นแน่ ไม่ฟัง แล้วถึงฟังก็ไม่ได้เข้าใจ ยังคงเห็นผิดต่อไป นั่นคือความเห็นผิดที่ดิ่ง มั่นคงไม่เปลี่ยน แต่คนที่ยังไม่ถึงระดับนั้น แต่ฟังไม่เข้าใจ เพราะอะไร เพราะกิเลสนั่นเองที่ทำให้ไม่เข้าใจ เวลานี้ทุกคนมีทิฏฐิหรือไม่

    อ.อรรณพ มี

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจว่าเป็นเรา ขณะนั้นเข้าใจธรรมหรือไม่

    อ.อรรณพ ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ อย่างละเอียดยิ่ง แม้แต่ขณะนั้นที่เป็นเรา เพราะฉะนั้นกว่าจะไม่ใช่เราที่จะไม่มีความเห็นผิด แม้ว่าไม่ใช่ความเห็นผิดอื่นๆ แต่ว่าเห็นผิดว่าสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เที่ยง ไม่เห็นดับไปเลย เกิดก็ไม่เห็น ดับก็ไม่เห็น ทั้งๆ ที่กำลังเกิดดับ ฟังแล้วเข้าใจไหม ถ้าไม่เข้าใจเพราะกิเลสกั้นหรือไม่ ยังมีความเป็นเราที่อยากจะให้เป็นอย่างนั้น อยากจะให้เป็นอย่างนี้ ไม่มีการที่จะสามารถสละ ละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ด้วยการที่เข้าใจในความจริงของสิ่งนั้น เช่น "เห็น" ขณะนี้ มีใครเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าสามารถที่จะรู้ความจริงของ "เห็น" ตามที่ได้ฟัง แต่กลับไปสนใจเรื่องอื่น อยากจะไปทำอย่างอื่นให้หมดกิเลส หรือให้ปัญญาเกิด โดยที่ว่าไม่ละคลายการที่ยึดถือ "เห็น" ขณะนี้ว่าเป็นเรา แม้ตรัสว่า "อุปาทานขันธ์" ขันธ์คือสิ่งที่ขณะนี้กำลังปรากฏเพราะเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปตลอดเวลาสืบต่อ แต่ละหนึ่งเป็นขันธ์ เพราะฉะนั้น อุปาทานขันธ์แต่ละหนึ่งที่ปรากฏ เอาไปทิ้งไว้ที่ไหน เดี๋ยวนี้มีเห็น "เห็น"ถ้าถามคนที่ศึกษาปริยัติธรรม อภิธรรม เรียกชื่อได้ "เห็น" ขณะนี้เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ประเภทที่เป็นวิญญาณขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่สังขารขันธ์ แต่เป็นวิญญาณขันธ์ ตอบได้ แล้วก็ทรงแสดงไว้ด้วย "อุปาทานขันธ์" ขันธ์ที่เป็นที่ตั้งของความยึดถือ แล้วเดี๋ยวนี้ล่ะ ตามความเป็นจริง รู้ตัวไหมว่ายึดถืออะไร และยึดถือขันธ์ไหน ยึดถือทุกขันธ์ แล้วแต่ขันธ์ใดปรากฏ ก็ยึดถือขันธ์นั่นเอง เช่น "เห็น" กำลังมีในขณะนี้ ก็เป็นเราเห็น

    เพราะฉะนั้น ฟังธรรมที่จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้น ก็คือต้องฟังด้วยการรู้ว่า กำลังฟังธรรม ไม่ใช่ฟังเราจะทำอะไรให้รู้เร็วๆ แต่ว่ากำลังฟังความจริงว่าธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วเมื่อเห็นเกิดแล้วดับไป ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย จะรู้หรือไม่ว่าแท้ที่จริงแล้ว "เห็น"เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ใคร และไม่ใช่ของใคร แล้วก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้มั่นคง ก็จะเข้าใจคำว่า "อุปาทานขันธ์" มั่นคง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย และไม่ต้องถามใครเลยด้วย แล้วก็รู้หนทางว่าหนทางที่จะละอุปาทานขันธ์ หรือดับอุปาทานความยึดมั่นว่าขันธ์เป็นเราได้ ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจละเอียดขึ้นเพิ่มขึ้นตามปกติตามความเป็นจริง แม้แต่คำว่า "ตามปกติ" ก็แสดงชัดเจนว่า เป็นอนัตตา บังคับบัญชาอะไรไม่ได้เลย ทุกคำต้องสอดคล้องกัน เป็นปกติคือเดี๋ยวนี้เกิดแล้ว ไม่มีใครทำเลย แล้วตราบใดที่ยังคงยึดถือ "เห็น" ว่าเป็นเรา นั่นคือ เริ่มมีความเข้าใจในคำที่ได้ยิน ไม่ใช่เพียงไปจำคำ แต่รู้ว่าความจริงแล้ว "เห็น" เดี๋ยวนี้เอง เป็นอุปาทานขันธ์ ที่ตั้งของการยึดถือ

    เพราะฉะนั้น ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ละ เพื่อให้ดับอุปาทาน ความเห็นผิดคือ ทิฏฐุปาทาน ที่ยึดมั่น มั่นคงว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ทุกคำก็ต้องสอดคล้องกันที่จะฟังด้วยความเข้าใจ ถ้าขณะนี้เข้าใจ ไม่มีเครื่องกั้น แต่ไม่เข้าใจเมื่อใด ขณะนั้นก็เพราะกิเลส

    อ.อรรณพ ถ้ามีความประมาทไม่ศึกษาพระธรรม ความเห็นผิดเหล่านี้ก็จะสะสมจนเป็นความเห็นผิดที่ดิ่งได้หรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ความเห็นผิดที่ดิ่งก็มีรากฐานมาจากความเห็นผิดที่ยึดถือว่าขาดสูญอย่างหนึ่ง หรือยึดถือว่าเที่ยง ซึ่งจริงๆ แล้ว คือปฏิเสธทั้งเหตุ และผล คือไม่เข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม ไม่เชื่อในความดีไม่เชื่อในผล โอกาสที่ความเห็นผิดจะพอกพูนมากขึ้นจนเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิในอนาคตก็มีได้ แต่เมื่อฟังธรรมแล้ว มีความเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรมมั่นคงเพิ่มขึ้น ก็เหมือนกับค่อยๆ ที่จะคลายจากความเห็นผิดเหล่านี้ ที่ไม่เชื่อในเหตุในผล เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ปัญญาเบื้องต้นที่ใช้คำว่า "ความเข้าในเรื่องกรรม และผลของกรรม" ก็คือ "กัมมัสกตาปัญญา" ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งมั่นคงขึ้นๆ ก็จะเหมือนกับขจัดขัดเกลาความเห็นผิดเหล่านี้ได้ จริงๆ แล้ว แม้อกุศลเล็กน้อยที่เกิดแม้ขณะฟังธรรม ก็เหมือนกับขณะที่อกุศลเกิดก็กั้นไม่ให้กุศลเกิดในขณะนั้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะใดเข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่กิเลสเป็นเครื่องกั้น แต่ขณะใดไม่เข้าใจ เพราะบางคนก็บอกฟังแล้วไม่เข้าใจ บางคนเริ่มฟังก็ใช้คำว่าตามไม่ทัน ไม่รู้เรื่อง พูดอะไร แต่จริงๆ แล้ว ก็คือว่าขณะนั้นมีความเป็นเรา ถ้าฟังจริงๆ แล้วสนทนากันด้วย จะเข้าใจหรือไม่ เพราะว่าสิ่งใดที่ถูกก็คือถูก สิ่งใดที่เข้าใจผิดก็จะรู้ได้ว่าเข้าใจผิด ก็จะได้ละความเข้าใจผิด

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ตรง หมายความว่าฟังเพื่อเข้าใจ หรือฟังเพื่ออยากเป็นพระโสดาบันถ้าน้อยกว่านั้นคือฟังเพื่ออยากถึงวิปัสสนาญาณ เพราะถ้าไม่ถึงวิปัสสนาญาณ ไม่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็เป็นพระโสดาบันดับกิเลสไม่ได้ แท้ที่จริงแล้วถ้าคิดให้ตรง ก็คือว่าฟังเพื่อละความไม่รู้ ฟังเพื่อดับกิเลส นั่นคือจุดประสงค์ ซึ่งกิเลสทั้งหมดมาจากความไม่รู้ และสภาพธรรมใดที่จะดับกิเลสได้ โดยขั้นการฟัง ทุกคนมีเหตุมีผลฟังมาเฉยๆ ก็รู้ว่านิพพานเท่านั้นเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลสได้

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วอยากจะไปรู้นิพพานหรือรู้ว่ากิเลสมีมาก ดับไม่ได้ถ้าไม่มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็คือเป็นผู้ที่ต้องตรง ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น มิฉะนั้นฟังเพื่อจะได้วิปัสสนาญาณก็กั้นแล้ว ฟังเพื่อจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ก็กั้นแล้ว แต่ว่าฟังเพราะไม่เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งมีจริงๆ นั่นคือเป็นการฟังเพื่อดับกิเลส ตั้งแต่ดับความไม่รู้ การสงสัย การยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องตรง

    เพราะฉะนั้น กิเลสเป็นเครื่องกั้น คือ ขณะใดก็ตามที่หวังหรืออยาก ฟังเพราะอยากจะปฏิบัติ กั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้น อยากเมื่อใด เมื่อนั้นก็คือเครื่องกั้นแน่นอน เพราะฉะนั้น ตัวใหญ่ๆ อีกตัวหนึ่งก็คือตัวอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นอริยสัจที่ ๒ ก็คือเป็นสภาพธรรมที่ต้องละด้วยความรู้ ถ้าไม่รู้หมดความอยากไม่ได้ เพราะยังอยากอยู่นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามขณะที่ฟังไม่เข้าใจ พิจารณาได้ว่าเพราะอะไร ตัวเอง ไม่ต้องไปถามคนอื่นว่าทำไมเราถึงไม่เข้าใจ แต่พระธรรมทั้งหมด ฟังเพื่อให้เป็นความเข้าใจของตัวเอง และจะตอบให้คนอื่นรู้หรือไม่ว่าเพราะอะไร ตอบได้หรือไม่ หรือว่าให้เขาเข้าใจความจริง และเขาจะรู้ด้วยตัวของเขาเอง

    อ.อรรณพ ซึ่งก็เป็นเพราะกิเลสทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ จะเห็นได้ว่า แม้จะรู้ว่าฟังเพื่อเข้าใจธรรม แต่ทำไมยังมีกิเลสมาก เดือดร้อนอีกแล้ว ก็มากกว่าที่คิดอีก ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะจริงๆ มากกว่าที่คิดอีกมาก

    อ.อรรณพ ก็เป็นกิเลสต่อเติมซ้อนเข้าไปอีก ที่เดือดร้อนกับกิเลส ทำไมเป็นเช่นนี้ ศึกษาธรรมดูว่าดี ทำไมยิ่งเห็นกิเลสมากขึ้นๆ

    ท่านอาจารย์ ดีกว่าไม่เห็น

    อ.อรรณพ แต่ว่าที่ดีกว่านั้นคือไม่ควรที่จะมีกิเลสที่เดือดร้อนกับกิเลสอีก

    ท่านอาจารย์ แต่ก่อนนั้นต้องเห็นก่อน ถ้ากิเลสไม่เกิดเลย จะเห็นได้อย่างไรว่ามีกิเลสมาก ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ก็คือความไม่หวั่นไหว เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ามีความเข้าใจในความเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะเกิดทำกิจของปัญญา เติบโตขึ้นพอที่จะทำกิจของปัญญาได้ แต่ถ้ายังน้อยมากเหมือนเด็กแรกเกิด จะไปทำอะไรได้ จะไปช่วยผู้ใหญ่ทำอะไรได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะทำกิจของปัญญามั่นคงขึ้น ก็ต่อเมื่อปัญญาเจริญขึ้น อบรมขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าวิบากที่ได้รับ เป็นการเจ็บไข้ได้ป่วย เรามีความเข้าใจตรงนี้แล้ว จะทำให้บรรเทาลงได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ยังเป็นเรา หาวิธีไปเท่าใดก็ทำไม่ได้เพราะเป็นเรา ไม่ได้เป็นการเข้าใจว่าห้ามได้หรือไม่ ไม่ให้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับไหม เป็นเราหรือเปล่า จนกว่าจะมั่นคง แล้วก็จะไม่ลืมว่าทุกอย่างเป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าแม้ขณะนั้นก็เป็นธรรม เห็นหรือไม่ กว่าจะถึงความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เมื่ออย่างนี้เกิดขึ้นแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร คิดเป็นเราที่จะแก้ แต่ไม่ได้เข้าใจว่าขณะนั้นห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ แม้แต่ความคิดขณะนั้นก็เกิดแล้วด้วย แล้วก็คิดอย่างนั้นด้วย

    เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงความเข้าใจที่ถูกต้องว่าทุกอย่างไม่เว้นเลย ไม่ว่า ณ ยามใดเมื่อใด ก็เป็น ณ กาลครั้งหนึ่งจริงๆ เพียงมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะเดือดร้อนกับไม่ว่าอะไรที่เกิดแล้วปรากฏหรือไม่ ชั่วขณะที่ปรากฏแล้วก็ดับแล้วก็ไม่กลับมาอีก ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นเลย ให้เข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะห้ามไม่ได้ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย มั่นคงอย่างนี้จึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในวันหนึ่ง เมื่อทุกอย่างจริงๆ เป็นธรรม ไม่ใช่ตอนนี้เป็นเราจะหาวิธีแก้อย่างไรที่จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น นั่นคือไม่ได้เข้าใจในความเป็นธรรมของ ณ กาลครั้งหนึ่ง ซึ่งเพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การฟังถ้าฟังจนเป็นธรรมได้ ก็จะมีประโยชน์มหาศาล

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุใด ทำไมว่ามีประโยชน์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ เพราะเป็นความจริง เวลานี้ใครรู้ความจริงบ้าง มีสภาพธรรมทั้งหมดจริง แต่ก็ไม่รู้ว่าจริงอย่างนั้น เท่านั้นเอง แล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง แต่ต้องอาศัยการฟังนาน แล้วให้ปัญญาเกิด ปัญญาเป็นพืชที่โตช้า ไม่ทันใจ

    ท่านอาจารย์ อีก ๒,๐๐๐ ปี เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง น้อยไปครับ

    ท่านอาจารย์ อีก ๑๐๐,๐๐๐ ปีข้างหน้า

    ผู้ฟัง ก็ยังน้อยไปอีก

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อใดปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เห็นได้ว่าถ้าไม่เข้าใจจริงๆ จำนวนปีไม่สำคัญเลย ปุถุชนเป็นปุถุชนนานกว่าผู้ที่บำเพ็ญบารมีเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะความหนาแน่นของอกุศล

    ผู้ฟัง ก็ต้องฟังแล้วก็เข้าใจไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องขออนุโมทนา ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรมซึ่งไม่สามารถบังคับบัญชาได้จริงๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฟังเพื่อเข้าใจในขณะนั้น สภาพนั้นมีจริงๆ เกิดจริงๆ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ดับไปแล้วจริงๆ ใข่หรือไม่ ไม่เหลือเลยด้วย

    อ.วิช้ย มีข้อความว่า "ที่จะพรรณนาคุณ คุณของพระผู้มีพระภาคแม้ตลอดหนึ่งกัปป์ คุณของพระผู้มีพระภาคนั้นก็ยังไม่หมดสิ้นไป หรือแม้ท่านพระสารีบุตรผู้ทรงปัญญามาก ก็ยังไม่อาจรู้ทั่วถึงคุณของพระผู้มีพระภาค" ฉะนั้นในฐานะที่มีโอกาสได้ศึกษา และฟังธรรม จะเข้าใจหรือว่ารู้ถึงคุณของพระผู้มีพระภาค รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ก็ตามกำลังของปัญญา มีปัญญาแค่นี้จะไปพรรณนาพระคุณได้มากกว่านี้หรือ ก็เท่าที่ปัญญาสามารถเข้าใจได้ เคยมีใครบอกคุณวิชัยมาก่อนหรือไม่ ว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วดับไป

    อ.วิชัย ไม่เคยมาก่อนเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินอย่างนี้เป็นประโยชน์มหาศาลหรือไม่ มหาศาลเท่าที่ได้ฟัง ยังมีมากกว่านี้อีก มหาศาลนับประมาณไม่ได้ที่ปัญญาจะเจริญขึ้น แล้วสามารถจะเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ จากการเริ่มฟังก่อน ไม่ใช่คิดเอง

    อ.วิชัย ดูเหมือนว่าเล็กน้อยเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่เริ่มยังมากอย่างนี้ แล้วต่อไปความละเอียดของการที่จะเห็นความจริงแล้วสามารถที่จะละกิเลสได้ วางดับไปเลยไม่เกิดอีก ใครทำได้ แม้แต่เพียงขณะนี้พอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด แค่นี้ ให้ไม่พอใจได้ไหม ให้ไม่ติดข้องได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่มีสภาพธรรมที่เป็นอย่างนั้นได้ คือปัญญาที่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ก็ยังเพียงเล็กน้อย ยังไม่ถึงวิปัสสนาญาณ ยังไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ คิดดู เพราะฉะนั้น จะสรรเสริญได้เท่ากำลังของปัญญาจะมี ชีวิตประจำวันใครเคยรู้สึกบ้างไหมว่าเหมือนอยู่กลางป่าดงซึ่งเต็มไปด้วยหนาม และต้องเดินไปด้วย แล้วจะไปอย่างไรถ้าไม่ระวัง แผลเต็มตัว เต็มเท้า ป่าดงเต็มไปด้วยหนามทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทต้องไม่ประมาทจริงๆ ระมัดระวังจริงๆ แม้แต่คำที่จะแสดงความเคารพอย่างยิ่ง คือ ต้องตรงตามที่ทรงแสดง ถ้าเปลี่ยน ไม่ตรง นั่นคือไม่เคารพ ถ้าจะบอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ ยาก ง่ายๆ ดีกว่า จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม นี่เป็นการเคารพหรือไม่ นี่เป็นความตรงหรือไม่ นี่เป็นเครื่องกั้นหรือไม่ หันหลังให้พระสัทธรรม ไม่กลับมาพบอีกเลย

    อ.อรรณพ มีอีกข้อหนึ่งท่านกล่าวถึง การมีวิบากเป็นเครื่องกั้น ซึ่งพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ ก็ไม่มีใครที่บ้าใบ้บอดหนวก ปฏิสนธิด้วย ๒ เหตุบ้าง ๓ เหตุบ้าง แม้ว่าท่านจะแสดงว่าถ้าไม่ได้ปฏิสนธิด้วย๓ เหตุคือ ไม่ได้มีอโลภะ อโทสะ และอโมหะ คือปัญญา ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่ว่าแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วย ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ การศึกษาพระธรรมที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ และสะสมไปได้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องลึกซึ้งที่จะต้องอาศัยความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ไม่บ้าใบ้บอดหนวก ไม่มาได้ไหม ปกติดี แข็งแรงดี ไม่บ้า ไม่ใบ้ ไม่บอด ไม่หนวก ไม่มาได้ไหม

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้น แม้บางคนไม่บ้า ไม่ใบ้ ไม่บอด ไม่หนวก ต่อให้เป็น ๓ เหตุเลย ไม่ฟังธรรม ตกนรกก็มาก

    ท่านอาจารย์ เรื่องวิบากเป็นเรื่องที่ใครไม่สามารถจะรู้ได้เลย กรรมเป็นมือที่มองไม่เห็นจริงๆ แล้วก็ทำได้ทุกอย่างซึ่งคาดไม่ถึง คิดไม่ถึง ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร เพียงแค่จะมาฟังธรรม เกิดขาหัก มาได้ไหม วิบากแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาปกติที่จะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่พ้นจากการเป็นธรรม มีความมั่นคง เพราะฉะนั้น การฟังมาแล้วในชาติก่อนๆ ในชาตินี้ในชาติต่อไป ก็เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏว่าไม่ใช่เรา

    อ.คำปั่น ขอสอบถามประเด็นเรื่องของกิเลส ซึ่งโดยปกติกิเลสก็มากทีเดียวในขีวิตประจำวัน ท่านอาจารย์กล่าวว่า มีความมั่นคง มีความไม่หวั่นไหว แม้ในกิเลสที่เกิดขึ้นเป็นไป ขณะที่อกุศลหรือกิเลสเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ได้เป็นกุศล ขณะนั้นก็หวั่นไหวด้วยอำนาจของกิเลสอกุศลประการต่างๆ แล้ว ที่จะกล่าวถึงว่า "ไม่หวั่นไหวในกิเลสที่เกิดขึ้น" จะเป็นในลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วเป็นแล้ว รู้ว่าเป็นธรรม หวั่นไหวไหม

    อ.คำปั่น ขณะที่เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่หวั่นไหว

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ะสะสมความไม่หวั่นไหว เพราะเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม

    อ.อรรณพ พูดถึงว่ากิเลสเป็นเครื่องกั้น แล้วทุกคนก็ยังมีกิเลส แต่เป็นคนมีกิเลสที่ฟังธรรม เพราะฉะนั้นแม้มีกิเลสแล้วยังฟังธรรม แต่ว่ากิเลสจะเป็นเครื่องกั้นน้อยลงเพราะว่าเป็นผู้ที่รู้ว่ากิเลสก็เป็นกิเลสตามความเป็นจริง เกิดตามเหตุตามปัจจัย ไม่หวั่นไหวในกิเลส แม้บางคนกลัว กลัวอะไร กลัวจะลังเลสงสัย พยายามจะไม่สงสัย พยายามไม่เห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ก็มีตัวตนที่จะสู้กับกิเลส ใช่ไหม อยากสู้กิเลส กิเลสนี่ไม่ชอบ ทำอย่างไร นั่นคือมีตัวตนที่จะสู้กิเลส สำเร็จไหม ไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้นคิดจะสู้กับกิเลส หรือว่าควรเข้าใจถูกตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นกิเลสก็เป็นธาตุหรือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าไม่มีปัจจัยจะเกิดได้ไหม และเมื่อเกิดแล้วต้องตามปัจจัยเท่านั้น มากกว่านั้นน้อยกว่านั้นก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมทั้้งหมด

    อ.อรรณพ ซึ่งตรงนี้รับรองได้เลยว่า ถ้าไม่ได้ฟังธรรมให้เข้าใจ คนที่ดูเหมือนว่ามีศรัทธาในการศึกษาพระธรรม ต้องคิดที่จะสู้กับกิเลส

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เป็นตัวตนด้วย หาวิธีไหน วิธีนั้น วิธีนี้ ที่จะสู้กับกิเลส ขณะนั้นแพ้กิเลสโดยไม่รู้ตัว เพราะขณะนั้นกิเลสนั่นเองทำให้คิดอย่างนั้น

    อ.อรรณพ พระองค์ท่านจึงได้ทรงแสดงอีก ๓ ประการ คือ เรื่องมีศรัทธา มีฉันทะ และมีปัญญา เป็น ๓ ประการสุดท้าย ศรัทธา ฉันทะ ปัญญา ที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่ศรัทธาคำเดียวก็ต้องเข้าใจ ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ จึงผ่องใส ขณะหวั่นไหว อยากผ่องใส อยากไม่มีกิเลส ขณะนั้นก็ไม่ใช่ศรัทธา

    อ.อรรณพ "ฉันทะ" ในที่นี้หมายถึงอย่างไร

    ท่านอาจารย์ "ฉันทะ" ก็คือความพอใจ เพราะว่าแต่ละคนก็มีศรัทธาในการฟัง แล้วมีปัญญาความเข้าใจถูกอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เข้าใจผิด มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ "ฉันทะ" เป็นความพอใจที่ต่างคนต่างมีตามการสะสม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแม้ว่าจะมีศรัทธา มีปัญญา แต่ก็ต่างกันโดยฉันทะ มิฉะนั้นจะไม่มีเอตทัคคะในทางต่างๆ อย่างท่านอนาถบิณฑิก ฉันทะในทางใด ในการให้อาหารแก่คนยากไร้ ซึ่งคนอื่นก็ไม่ได้มีฉันทะอย่างนี้ แต่ว่ามีศรัทธา และปัญญาเหมือนกัน คุณอรรณพพอจะทราบไหมว่าคุณอรรณพมีฉันทะทางใด

    อ.อรรณพ มีฉันทะหลายเรื่อง มีทั้งฉันทะทางกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วคนอื่นจะเหมือนคุณอรรณพได้หรือไม่ เหมือนบ้างไม่เหมือนบ้างแล้วแต่ฉันทะแต่ละทาง แล้วแต่ละคนรู้จักตัวเองพอที่จะบอกได้ไหมว่า มีฉันทะในทางใด มีฉันทะในการขียนตำรับตำราหรือไม่ หรือมีฉันทะในการสนทนาธรรม หรือว่ามีฉันทะในการฟัง หรือว่ามีฉันทะในการพูด ก็แล้วแต่ ใช่ไหม ทำให้แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ จากการที่ได้พบกันบ่อยๆ ก็พอจะทราบฉันทะต่างๆ บางท่านมีฉันทะในการช่วยเหลือคนอื่นอย่างมาก พอจะเห็นได้ในทุกทาง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    21 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ