พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 903


    ตอนที่ ๙๐๓

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗


    อ.วิชัย ทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ทางตาหูจมูกลิ้นกาย และทางใจ จิตที่เกิดขึ้นเป็นจิตขณะแรกทางใจ ซึ่งก็พิจารณาได้คือ ถ้าจะคิดนึก เช่น คิดถึงชื่อดอกกุหลาบ คิดถึงเรื่องราวที่บ้าน เหมือนกับขณะนั้นมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับจิตที่เกิดก่อนเป็นขณะแรกทางตาหูจมูกลิ้นกาย เช่น เสียง เสียงดัง จิตเหมือนกับได้ยินเลย แต่ว่ารู้ว่ามีจิตที่เกิดก่อนขณะแรกคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต แต่ว่าขณะนั้นก็ไม่มีวิริยะ เพราะว่ามีเสียงแล้วมากระทบแล้วจิตนั้นเกิดขึ้นทันทีเลยใช่ไหม ซึ่งต่างกับขณะที่คิดถึง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเสียงแต่คิดถึงเสียงต่างกันแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นเพราะเสียงนั้นยังปรากฏ ยังกระทบเป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด แต่ไม่มีเสียงมากระทบเลย แต่ก็ยังคิดถึงเสียงได้ทางใจ เพราะฉะนั้นจิตนั้นคือมโนทวาราวัชชนต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทุกอย่างฟังไปก่อนเข้าใจไปก่อน ค่อยๆ รู้ว่าไม่ใช่เราไปก่อนจนกว่าจะประจักษ์ความจริงว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่งเมื่อใด เมื่อนั้นจึงจะไม่ใช่เราจริงๆ

    อ.ธิดารัตน์ หมายความถึงว่าอาวัชชนทางปัญจทวารไม่จำเป็นที่จะต้องมีวิริยะเพราะว่าเขารู้รูปที่มากระทบกับปสาทขณะนั้นอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ แล้วรูปนั้นก็ยังมีจริงๆ ยังปรากฏ

    อ.ธิดารัตน์ แต่ก็มีวิตก วิจาร มีอธิโมก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่จิต ๑๐ ดวง ต้องมีเจตสิกมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นจิต ๑๐ ดวง ๑๐ ดวง คือทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดคือเพียง ๗ เท่านั้น เกินนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตอื่นต้องมีมากกว่าแน่นอน

    อ.ธิดารัตน์ มโนทวาราวัชชนทำกิจอาวัชชนทางมโนทวาร คือแน่นอนต้องมีการน้อมคิดถึงอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นสีที่เพิ่งดับ หรือว่าเรื่องราวรู้ได้หมด แต่มโนทวาราวัชชนที่มาทำโวฎฐัพพนกิจทางปัญจทวารก็มีวิริยะเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าต้องก่อนที่กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิดได้ เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ

    อ.ธิดารัตน์ เพราะกระทำทางให้ชวนะเกิดเลยมีวิริยะด้วย

    ท่านอาจารย์ เราพูดถึงเรื่องคิดกับเห็นสองอย่างก็ต้องต่างกันแล้ว แต่ว่าแทนที่เราจะไปพูดมากๆ หลายๆ เรื่อง ทีละหนึ่งเหมือนอย่างวิริยเจตสิก เราพูดเพียงคำว่าวิริยินทรีย์ แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าวิริยะคืออะไร เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตอะไรบ้าง แล้วเราจะเข้าใจวิริยินทรีย์หรือ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่พอได้ยินชื่อ แล้วมีคนบอก และอธิบาย เป็นสภาพที่ประคับประคองให้จิตดำเนินไปทางหนึ่งทางใดก็แล้วแต่ ฟังเหมือนเข้าใจ แต่ว่าวิริยเจตสิกจริงๆ เรารู้ได้ไหม และรู้เมื่อใด นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งความละเอียดจะทำให้เราเข้าใจธรรมขึ้น โดยพูดถึงทีละหนึ่ง อย่างจิต ๑๐ ดวงพูดพร้อมกัน ๑๐ ได้ เพราะเหตุว่าเห็นมีในชีวิตประจำวัน ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ ทางเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นกุศลวิบากหนึ่ง อกุศลวิบากหนึ่ง ถ้าใช้คำว่าปัญจวิญญาณหมายความถึงอะไร จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ แล้วใช่ไหม ถ้าใช้คำว่าทวิปัญจวิญญาณก็เข้าใจได้หมายความถึงกุศลวิบากต้องแยกเป็นกุศลวิบากหนึ่งอกุศลวิบากหนึ่ง จึงรวมเป็น ๑๐

    เพราะฉะนั้นสำหรับเห็น ได้ยิน พวกนี้เป็นชีวิตประจำวัน และกำลังมีด้วย เราก็พูดถึงทีเดียวพร้อมกันได้ว่า จิต ๑๐ ดวงนี้ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าจะที่ไหน หนังสือเล่มใด ตรงไหนความจริงจะไม่เป็นสอง เพราะฉะนั้นเมื่อวิริยเจตสิกไม่เกิดกับจิต ๑๐ ดวงนี้ จะไม่มีที่หนึ่งที่ใดในพระไตรปิฎกที่จะกล่าวว่าจิต ๑๐ ดวงนี้มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจของเราจะค่อยๆ มั่นคง แล้วก็รู้เพิ่มเติมในจิต ๑๐ ดวงนี้นั่นเองว่า จิต ๑๐ ดวงนี้นอกจากไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ยังไม่มีเหตุ ๖ ยังไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุ เพราะว่าในบรรดาเจตสิกทั้งหมด ๕๒ มีเจตสิกเพียง ๖ เจตสิกที่เป็นอกุศลเหตุ ๓ และโสภณเหตุ ๓ โสภณนี่คือเป็นกุศลก็ได้ เป็นวิบากก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ จึงไม่เจาะจงว่าเฉพาะกุศลเหตุ แต่กล่าวว่าอกุศลเหตุ ๓ และโสภณเหตุ ๓ ที่เป็นอโลภะ อโทสะ อโมหะ ค่อยๆ เข้าใจ แล้วก็มั่นคงในแต่ละคำที่ได้ยิน ไปช้าๆ และเข้าใจชัดเจนจะได้ไม่ลืม

    อ.คำปั่น คำว่าปัญญาก็เป็นภาษาบาลี แต่ภาษาไทยใช้คำว่าความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งก็เป็นความหมายของคำว่าปัญญานั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มฟังเริ่มศึกษาพระธรรม ก็จะเข้าใจว่ากิจหน้าที่ของปัญญาก็คือ รู้ถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นธรรมประการหนึ่งเป็นเจตสิกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นเจตสิกที่ดีงามเป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งเมื่อกล่าวถึงความเข้าใจถูกเห็นถูกก็มีหลายระดับขั้น แม้แต่ในการฟังการศึกษาพระธรรม ก็สะสมความเข้าใจในขั้นของการฟังเรื่องของความเป็นจริงของสภาพธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย นอกจากนั้นก็มีปัญญาที่รู้ถึงความเป็นจริงของเรื่องกรรม และผลของกรรม นี่ก็เป็นปัญญาด้วยที่เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงในเรื่องของเหตุของผล เมื่อเหตุมีผลก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามควรแก่เหตุ

    นอกจากนั้นปัญญาในระดับที่เป็นไปกับการอบรมเจริญความสงบของจิตก็มี และที่ประเสริฐจริงๆ ก็คือ ปัญญาที่เป็นไปพร้อมกับการระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนกว่าจะถึงปัญญาที่เป็นโลกุตระ ก็คือสามารถที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ทั้งหมดทั้งปวงก็เป็นความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องของปัญญา ปัญญาคือธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง

    อ.วิชัย คำที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเอาไว้ว่า นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด สำหรับบุคคลที่ไม่ฟังเลย หรือยังไม่เคยฟังพระธรรม หรือเริ่มฟังก็ไม่รู้จักว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นใคร ทรงรู้อะไร และจากข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสจะจริงมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เหมือนคนในสมัยโน้นสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม แต่ว่าคนที่ไม่รู้จักพระองค์เพราะไม่เคยเห็นจะรู้ไหมว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินไปบิณฑบาตร พระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาตรทุกเช้า แล้วก็ผ่านคนมากมายคนเหล่านั้นจะรู้ไหมว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเสด็จบิณฑบาตร

    อ.วิชัย ก็เพียงแต่เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า บุคคลใดพูดจริงรู้จริงประจักษ์แจ้งก็ต้องด้วยการสนทนาธรรมสนทนากัน เขาจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าคนนั้นเป็นคนที่มีความเข้าใจถูกมีความรู้ถูกจริงๆ ต้องชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเรียกขณะนั้นทันทีหรือเปล่า ผู้ที่ได้ไปพบพระผู้มีพระภาคในโรงช่างหม้อ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ไม่รู้ว่าบุคคลนี้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็พูดกับพระองค์ตามธรรมดา เรียกพระองค์ว่าอาวุโสเหมือนกับทั่วๆ ไป แต่ว่าเมื่อได้ฟังธรรมแล้วจึงรู้ว่าเป็นใคร เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังเลย จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้นี้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    อ.วิชัย ก็ต้องมีการฟังธรรม แล้วก็สนทนาธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีการฟัง และก็รู้ว่าวาจาที่ได้ยินนั้นจริงหรือเปล่า เป็นคำจริง หรือเปล่า พิสูจน์ได้เข้าใจได้หรือเปล่า

    อ.วิชัย หมายความว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่รู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะรู้ว่าพระองค์รู้เมื่อใด

    อ.วิชัย ก็ต้องฟัง

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องฟัง

    อ.วิชัย ชีวิตของบุคคลทั่วไปก็มีการเลี้ยงชีพ แล้วก็มีการแสวงหาเพื่อความสุขความสบายต่างๆ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา แสดงว่าปัญญาต้องยิ่งกว่าสิ่งของต่างๆ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าธรรมมีขณะนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม นั่นคือไม่รู้ใช่ไหม ใครรู้ว่าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา เป็นสภาพที่มีจริงแต่ละหนึ่ง

    อ.วิชัย ก็ต่างกับความสุขสบายที่อาจจะเห็นในสิ่งที่น่ายินดีพอใจ กับปัญญา จะมีความต่างสำหรับบุคคลทั่วไปอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ชีวิตนี้มีความสุขสบายใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็มีทั้งสุขทั้งทุกข์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนที่คิดก็จะรู้ได้ว่าไม่ได้สบายตลอดไป ไม่ได้สุขตลอดไป แม้แต่รูปร่างกายในวันนี้ไม่สบายแล้วใช่ไหม จึงต้องมีการบริหารร่างกายตั้งแต่ตื่นนอน มีการรับประทานอาหารแล้วสบายไหม หรือว่าไม่รับประทานเพราะไม่หิวสบายกว่า แต่ว่าเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาชีวิตจริงๆ วันหนึ่งจะรู้ได้ว่าต้องเป็นเช่นนี้ แต่ว่าเมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริงก็พอใจที่จะเป็นเช่นนี้ เพราะฉะนั้นคนที่พอใจโดยที่ไม่รู้เลยว่าชีวิตสั้นมากแค่ไหน ไม่มีใครอยู่ในโลกตลอดไป แต่ว่าวันหนึ่งก็ต้องจากไป เพราะฉะนั้นระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ทำอะไรบ้าง สุขบ้างไม่เป็นไรแต่ตอนทุกข์ลำบากไหม เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วก็ลำบากทุกขณะเลย ต้องหายใจ ต้องลืมตา ต้องรับประทานอาหาร ต้องเป็นไปหมดเลย โดยไม่รู้จริงๆ ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ไม่เป็นไม่ได้ ต้องเป็น

    อ.วิชัย ปัญญาคือ สภาพธรรมที่รู้ตามความเป็นจริง ฉะนั้นความรู้ที่จะเป็นปัญญาสำหรับบุคคลที่ใหม่เริ่มฟัง ความเข้าใจอย่างไรที่ชื่อว่าปัญญา

    ท่านอาจารย์ ฟังทุกคำ แล้วก็ไตร่ตรอง ความหมายของปัญญาคือความเข้าใจถูกความเห็นถูกใช่ไหม แล้วก็เห็นถูกในอะไร แค่นี้ไม่คิดหรือ บอกว่าความเห็นถูกก็ฟังความหมายของคำว่าปัญญา แต่ว่าคิดต่อไปหรือเปล่า เห็นถูกในอะไร อยู่ดีๆ ก็บอกว่าเห็นถูก และเห็นอะไรถูก ถ้าไม่คิดก็ตามไปเลย ปัญญาคืออย่างนั้นคืออย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้กำลังเห็น และก็เห็นถูกในอะไร ถ้าไม่มีเห็นไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น จะมีอะไรที่จะต้องเห็นถูกไหม แต่เมื่อมีสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เช่น เห็นอย่างนี้ เห็นถูกในอะไร ไม่มีอย่างอื่นเลย สภาพธรรมปรากฏทีละหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดก็จะรู้ว่าปรากฏพร้อมกันไม่ได้เลย ในขณะนี้มีเห็น และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น วาจาจริงก็คือสิ่งนี้กำลังมีจริงๆ ที่สามารถจะเข้าใจได้ว่า เดี๋ยวนี้มีเห็น และมีสิ่งที่ถูกเห็น ปรากฏให้เห็น กำลังเห็นได้

    เพราะฉะนั้นเข้าใจถูกในอะไร อยู่ดีๆ บอกปัญญาคือความเห็นถูก และเห็นถูกในอะไร ในเมื่อขณะนี้ถ้าจะกล่าวถึงธรรมหนึ่งอย่าง จะต้องไม่มีอย่างอื่นปรากฏร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือเป็นสิ่งที่ปรากฏ หรือเห็น หรือได้ยิน หรือคิดก็ตาม หลากหลายมากไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย แล้วจะบอกว่าเป็นอย่างเดียวกันได้อย่างไร นี่ก็เริ่มแล้วใช่ไหม ต้องรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีมากมาย แต่ว่าเห็นถูกในอะไร ต้องทีละหนึ่ง และในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ด้วย เพราะฉะนั้นการฟังธรรมไม่ใช่เผินว่าเข้าใจแล้วว่า ปัญญาเป็นสิ่งที่มีจริงหมายความว่าอะไร ไม่ใช่เพียงความหมาย แต่เป็นความเข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้ นั่นคือปัญญา ฟังเฉยๆ และก็มีสิ่งที่ปรากฏทั้งวัน แล้วจะเข้าใจอะไร จะเห็นถูกอะไร

    เพราะฉะนั้นความเข้าใจก็คือ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ถ้าเป็นปัญญาเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่เกิดขึ้น จึงเห็นแล้วดับไป นี่คือความเห็นถูกตามความเป็นจริงของเห็น ในขณะที่เสียงปรากฏ เสียงปรากฏไม่นานเลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยิน เสียงปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นเสียงก็มีปรากฏ ได้ยินก็มี เข้าใจถูกในอะไร ไม่ใช่ว่าเผินๆ เข้าใจถูก แล้วเดี๋ยวนี้มีทุกสิ่งทุกอย่างเข้าใจอะไรถูก เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ทำไมถึงได้พูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตาหนึ่ง เสียงกำลังปรากฏให้ได้ยินหนึ่ง ถ้าขณะนี้ใครได้กลิ่นก็มีกลิ่นที่มีจริงอีกหนึ่ง ถ้ารสปรากฏขณะที่ลิ้มรสรสก็มีจริงๆ หนึ่ง และขณะนี้เย็นไหม ร้อนไหม อ่อนไหม แข็งไหม ตึงไหม ไหวไหม พูดทำไม ก็มีจริงๆ เพื่ออะไร เพื่อเข้าใจถูก

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแต่ละคำไม่เผิน แม้แต่ปัญญาก็ต้องรู้ว่าเข้าใจอะไรถูก ขณะนี้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เข้าใจอะไรถูก ก็เข้าใจเห็นเดี๋ยวนี้ แต่เมื่อยังไม่ได้เข้าใจ ก็ต้องฟัง สำหรับผู้ที่ได้ตรัสรู้ความจริงแล้ว ก็จะได้เข้าใจตามเมื่อได้ฟังว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วก็ดับไป นี่แสดงให้เห็นว่าขณะนี้เหมือนมีหลายอย่างปรากฏพร้อมกัน แต่การเกิดดับอย่างรวดเร็วของแต่ละหนึ่งซ้ำๆ จนกระทั่งปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่ได้ดับไปเลย เพราะฉะนั้นเห็นถูกในอะไร ก็เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงนี่เอง เพราะฉะนั้นไม่ข้ามไป เพียงแค่รู้ว่าปัญญาคืออะไร ปัญญาหมายความว่าอะไร เข้าใจอะไร แต่ต้องปัญญารู้อะไร เห็นถูกอะไร เข้าใจอะไรด้วย แล้วสิ่งนั้นต้องมีจริงๆ คือเดี๋ยวนี้กำลังปรากฏ

    อ.วิชัย ลักษณะของปัญญาคือมีจริงๆ แม้ไม่ต้องกล่าวชื่อก็มีจริง ปัญญารู้สิ่งที่มีจริงคือขณะนี้เห็น และได้ยิน ก่อนฟังไม่เคยคิดอย่างนี้ เมื่อฟังอย่างนี้แล้วก็รู้ว่า นี้เห็นนี้ได้ยิน อย่างนี้ชื่อว่าปัญญาหรือ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน พอฟังแล้ว นี้เห็น พูดอย่างไร นี้เห็น พูดตามทั้งๆ ที่เห็นก็เห็น ได้ยิน ก็ได้ยิน แต่ก็ยังพูดตามว่านี้เห็น แต่ตรงเห็นหรือเปล่า หรือว่าเพียงพูดว่านี้เห็น แต่ไม่ได้เข้าใจเห็น เพราะฉะนั้นเข้าใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จะเรียกว่าปัญญาก็ได้เรียกญาณก็ได้ วิชชาก็ได้ อะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่หมายความถึงขณะที่กำลังเข้าใจจริงๆ ในความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    อ.วิชัย ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่ารู้ตรงเห็นหรือเปล่า คือความรู้ตอนเริ่มที่จะเริ่มฟังก็ฟังตาม แล้วก็จำคำว่านี้คือเห็น และได้ยิน แต่ว่าความรู้ที่รู้ตรงเห็นต้องเป็นอีกแบบหนึ่งใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ขณะนี้มีหลายอย่างไม่ตรงเห็น แต่ถ้ามีอย่างเดียวจะตรงเห็นไหม ไม่มีอย่างอื่นเลย นอกจากเห็นเท่านั้นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น ขณะนั้นจะรู้ตรงนั้นไหม เพราะไม่มีอย่างอื่น

    อ.วิชัย ถ้าเกิดรู้ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่มีอย่างอื่นจึงสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีในขณะนั้นได้ตามความเป็นจริง แต่เมื่อมีหลายๆ อย่างแล้วก็บอกว่านี้เห็น กำลังพูดอย่างนี้ นี้เห็นแค่ไหน นี้เห็นเป็นคำ แต่ว่าไม่ใช่นี้คือเห็นที่กำลังเห็นจริงๆ

    อ.วิชัย ก็เป็นการยากสำหรับคนใหม่เริ่มที่จะรู้ว่านี้เห็น แต่ว่าก็ไม่รู้อยู่ดีว่านี้เห็นคืออย่างไร นอกจากจะฟังอบรมขึ้นเรื่อยๆ ที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการฟังเลยจะมีโอกาสไหม เห็นทั้งวันก็ไม่รู้ว่าเห็นคืออะไร เมื่อฟังแล้วเริ่มรู้ว่าทั้งชีวิตก็แค่นี้เอง และก็ชั่วคราวจริงๆ แต่ละหนึ่ง ไม่ใช่ว่าชีวิตนี้สั้น แต่ว่าแม้เห็นก็แสนสั้นยิ่งกว่าชีวิต เพียงชั่วขณะที่เห็นเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง เราก็รู้อยู่อีกอย่างหนึ่งว่า ปัญญาทางธรรมกับปัญญาทางโลกนี่แตกต่างกันไปมากเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่ปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพียงคำว่าปัญญา ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรมจริงๆ ก็ไม่รู้จักปัญญา หลงเข้าใจว่านั่นคือปัญญาแต่ไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นเมื่อศึกษาธรรม ผู้ที่ทรงแสดงจากการที่ได้ทรงตรัสรู้คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นทุกคำเป็นวาจาจริงกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อที่จะให้เข้าใจถูกต้องทุกคำ เช่นโลกคืออะไรปัญญาคืออะไร สับสนปนกันไม่ได้ สับสนปนกันเมื่อใดคือไม่ได้เข้าใจเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจจริงๆ ก็ต้องอาศัยการฟังโดยเคารพอย่างยิ่งว่า บุคคลที่ได้ตรัสวาจานั้น ได้กล่าวคำที่ทำให้คนอื่นเริ่มมีความเห็นถูกมีความเข้าใจถูกในสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย จะกล่าวว่าตลอดชีวิตหรือในสังสารวัฏก็ได้ ถ้าไม่มีการได้ฟังพระธรรมก็จะมืดอย่างนี้ต่อไป และก็จะมีคำที่ไม่รู้จักจริงๆ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นทุกคำต้องชัดเจน

    ตอนนี้ไม่มีทางโลก ทางธรรมแล้วใช่ไหม เพราะว่ามิฉะนั้นแล้วต้องปัญญาทางโลกคืออะไร ปัญญาทางธรรมคืออะไร คือทุกคำต้องชัดถึงจะเป็นความเข้าใจถูกความเห็นถูกจริงๆ รู้ว่า คำที่พระผู้มีพระภาคตรัส และทรงแสดงมีความจริงที่ลึกซึ้ง แล้วก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นแต่ละคำต้องชัดเจน เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้วว่าถ้าเป็นเรื่องวิชาการต่างๆ ทำขนมเก่ง ตัดเสื้อเก่ง ประดิษฐ์เครื่องมือต่างๆ ทำอาวุธต่างๆ ได้ไม่ใช่ปัญญาแน่นอน แต่เมื่อมีคำว่าปัญญาทางโลกหมายความว่าอย่างไร โลกคืออะไร และสิ่งที่ไม่ใช่โลกคืออะไร เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่พูดต้องมีความเข้าใจชัดเจน ปัญญาคือความเห็นที่ถูกต้อง ปัญญาทางโลกก็คือปัญญาที่รู้จักโลก ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถ้าปัญญาที่รู้จักโลก ถ้าเป็นในลักษณะเป็นธรรมแล้ว เป็นปัญญาทางธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ไปคิดอย่างที่เราเคยคิดมาก่อน คือการฟังธรรม หรือฟังอะไรก็ตามแต่ ตั้งแต่เกิดจนตายจะพูดคำที่ไม่รู้จัก อย่างเมื่อสักครู่นี้แม้แต่วิชชาอวิชชาก็พูดคำที่ไม่รู้จัก จนกว่าจะได้ฟัง และเข้าใจถูกต้องว่าวิชชาคืออะไร อวิชชาคืออะไร หรือแม้แต่โลกคืออะไร ก็ต้องรู้ด้วยว่าเราไม่รู้จักโลก เราบอกว่าเราอยู่ในโลก แต่โลกคืออะไร ถามคนที่บอกว่าอยู่ในโลก เขารู้ไหมว่าโลกคืออะไร จึงจะมีคำพูดว่าปัญญาทางโลก เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้จักว่าโลกคืออะไร ก็บอกว่าปัญญาทางโลก แล้วก็ไม่รู้ว่าโลกอะไร

    เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำเพื่อความเข้าใจถูก ต้องไม่ลืมว่าเพื่อเข้าใจ มรดกที่ล้ำค่าที่สุดคือให้ความเห็นถูกความเข้าใจถูกของผู้ฟัง ของผู้ฟังเอง ใครก็ไปทำอะไรไม่ได้ นอกจากไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความเห็นที่ถูกต้องจริงๆ ของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นแต่ละคำจะไม่ผ่านเลย มิฉะนั้นเราก็จะสับสนคิดว่าเรากำลังพูดเรื่องปัญญาทางโลกกับปัญญาทางธรรม แต่ธรรมคืออะไร โลกคืออะไร ปัญญาคืออะไร ถ้าเราจะพูดสั้นๆ ทีละคำ เราจะเข้าใจขึ้น ทุกคนที่ยังไม่ได้ฟังธรรมใช้คำว่าปัญญาทางโลก ทุกคนเลย แต่ว่าปัญญาคืออะไร โลกคืออะไร จึงใช้คำว่าปัญญาทางโลก เมื่อสักครู่นี้ก็เข้าใจแล้วใช่ไหมว่า ถ้าเป็นเรื่องอื่นวิชาอื่นๆ ไม่ใช่ปัญญาไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นวิชาการอื่นไม่ได้กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เป็นแต่เพียงเรื่องราวความจำของสิ่งที่มีจริงด้วยความคิดต่างๆ แนวความคิดต่างๆ ก็เป็นวิชาการต่างๆ แต่ถ้ากล่าวถึงว่าสิ่งที่มีจริง ปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง ก่อนอื่นต้องรู้ว่าสิ่งที่มีจริงคืออะไร จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าปัญญารู้สิ่งที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นก่อนศึกษาธรรมจะใช้คำว่าปัญญาทางโลก กับปัญญาทางธรรม ไม่มีความชัดเจน ไม่มีแม้แต่ว่าปัญญาคืออะไร รู้อะไร แต่เมื่อศึกษาแล้วผ่านไม่ได้ เพื่อที่จะได้เข้าใจได้ถูกต้อง แล้วก็จะไม่พูดคำนั้นอีก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    13 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ