พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 933


    ตอนที่ ๙๓๓

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗


    อ.ธิดารัตน์ ธรรมมีกำลังทั้งฝ่ายกุศลก็ได้ มีกำลังทั้งฝ่ายอกุศลก็ได้

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตประจำวัน ที่จะรู้สึกตัวเองว่าวันนี้ มีอหิริกะหรือไม่ ไม่ได้อยู่ในตำราเลย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าการฟังธรรม ก็คือได้เข้าใจสิ่งซึ่งมีแล้วตั้งแต่เกิด และมีมาแล้วทุกชาติ ซึ่งยังไม่เคยรู้มาก่อนเลย เหมือนทุกอย่างอยู่ในความมืด ไม่มีการที่จะรู้ว่ามีอะไรบ้างในความมืด แต่ในความมืดนั่นก็วุ่นวายด้วยความไม่รู้ ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งเหตุการณ์ต่างๆ จนกระทั่งมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มี ไม่ใช่ไปคิดใหม่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่มีอยู่แล้วนั่นเองซึ่งไม่เคยรู้มาเลย ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ตาม เมื่อได้มีการตรัสรู้แล้วก็เปิดเผยสิ่งที่มืดสนิทให้รู้ว่าในความมืดสนิทของความไม่รู้ของอวิชามีอะไรบ้าง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ที่ได้เคยมีแล้ว และที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ แล้วก็จะมีต่อไป เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องมีตัวธรรมให้ศึกษา มิฉะนั้นแล้วเราก็ศึกษาเพียงแต่ชื่อ แล้วก็ไม่รู้ว่าขณะใดเป็นธรรม แต่ให้รู้ว่าทุกคำที่ได้ยินคือสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้ด้วย เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า เดี๋ยวนี้มีอหิริกะ ความไม่ละอายไหม ไม่ใช่ในตำราเลย แล้วเป็นพละหรือไม่ ในเมื่อจะใช้คำว่าพละคือสิ่งที่มีกำลัง ก็ต้องรู้ว่าอกุศลทั้งหลายมีแน่นอน แล้วก็หลายระดับด้วย อกุศลซึ่งไม่ได้ปรากฏตัว แต่มีเป็นเชื้อของสภาพธรรมที่สามารถจะทำให้อกุศลทั้งหลายเกิดได้ แต่ถ้าไม่ปรากฏก็ไม่เห็น นอนหลับสนิทไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส แต่มีเต็มทั้งหมดที่ได้สะสมมาแล้วมาก แต่ว่าวันนี้จะมีปัจจัยให้อกุศลประเภทใดเกิดขึ้นจากกิเลสประเภทใดซึ่งมีมาก

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมี มิฉะนั้นแล้วเราก็ฟังไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เมื่อใดจะรู้ตามความเป็นจริงว่าแท้ที่จริงแล้วก็กล่าวถึงสิ่งที่มี ซึ่งเป็นธรรมทั้งหมดทุกคำ ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้น เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีอหิริกะหรือไม่ ความไม่ละอาย พูดภาษาไทยก็ชัดเจนกว่า เดี๋ยวนี้มีความไม่ละอายหรือไม่ มีก็ไม่รู้ ไม่มีก็ไม่รู้ ใช่ไหม เพราะว่าได้ยินแต่ชื่อทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมเพื่อให้ทราบว่ามีสิ่งซึ่งมีจริงๆ เกิดแล้วดับแล้วเร็วสุดที่จะประมาณได้ เห็นไหม ความยากที่จะรู้ความจริง ต้องเป็นปัญญาระดับใด ระดับที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อตรัสรู้สิ่งที่มีซึ่งยากที่จะรู้เพราะว่าเกิดดับเร็วมาก ได้แต่ชื่อที่คิดกัน เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหลง แต่สภาพธรรมนั้นๆ ก็เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไปแล้วด้วย

    ด้วยเหตุนี้ กำลังทางฝ่ายอกุศลมีแน่เมื่อกระทำทุจริตกรรม แต่เดี๋ยวนี้ก็มี เห็นดอกไม้แค่นี้ ไม่ต้องมาก ก็เป็นแล้ว เพราะไม่รู้จึงมีความยินดีพอใจในสิ่งที่น่าพอใจ แต่ไม่ใช่การไม่ละอายที่มีกำลัง ไม่ใช่อหิริกะที่มีกำลัง เพราะเหตุว่าไม่มีใครทำอะไรที่เป็นทุจริต แต่เมื่อใดการกระทำใดๆ ก็ตาม เกิดขึ้นเพราะอกุศลที่มีกำลัง ก็สามารถที่จะทำทุจริตกรรมได้ทุกขั้น จนกระทั่งถึงการที่จะฆ่าพ่อแม่ หรือว่าคิดทำร้ายเบียดเบียนพระอรหันต์ แม้ท่านพระเทวทัตก็คิดที่จะทำลายชีวิตของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงแค่ให้บาดเจ็บ แต่ถึงกับเพื่อที่จะให้สิ้นพระชนม์ เช่นนี้ใครจะประมาทกิเลสได้ ท่านก็เกิดมานานแสนนาน สะสมมาทั้งกุศลอกุศล เป็นถึงเจ้าชายเทวทัต แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะกั้นอกุศลใดๆ ที่ได้สะสมมาแล้วไม่ให้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีอยู่ในใจทุกคน เราบอกแล้วว่าไม่มีใคร เพราะฉะนั้นในแต่ละจิต เวลานี้ไม่ได้มีจิตนี้ แต่มีจิตนั้น จิตนั้น จิตนั้นด้วย และจิตแต่ละหนึ่งที่เกิดขึ้น และดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดต่อ จิตนั้นไม่ใช่จิตอื่น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว ที่เข้าใจว่าเป็นเรา แต่ก็คือธาตุทั้งหมด ธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นทีละหนึ่งแล้วดับไป และการดับไปของจิต เจตสิก ซึ่งเป็นธาตุรู้ ก็เป็นปัจจัยให้จิต เจตสิก ธาตุรู้เกิดสืบต่อไม่ขาดสายมานานแล้ว แล้วก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม แล้วก็จะเห็นได้ว่ามีใครบ้างที่จะคิดที่จะเลิกเห็น เลิกได้ยิน ไม่มีเลยใช่ไหม ก็เพียงแต่ว่าอยากให้มีกิเลสน้อยลง หรือว่าอยากหมดกิเลส แต่ถ้าไม่รู้จักกิเลส เพียงแต่พูด กลางวันนี้จะไปรับประทานอาหารอร่อยไหม ต้องเลือกใช่ไหม ไม่อร่อยก็ไม่รับประทาน จะไปหาแสวงหาแต่ที่อร่อย

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่ากิเลสปกติธรรมดาจริงๆ อยู่ในความมืดไม่เคยมองเห็นเลยว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่น่าพอใจดับแล้วหมดแล้วไม่เหลือเลยสักอย่างเดียว แต่โลภะความติดข้องในสิ่งนั้นไม่ได้ดับตามไปด้วยเลย แต่ว่าสะสมอยู่ในจิต เป็นสิ่งซึ่งสิ่งภายนอกไม่สามารถที่จะเข้ามาถึงภายในได้ เช่น ดอกไม้สวย ดอกไม้จะเข้ามาอยู่ในหัวใจได้ไหม ไม่ได้เลย ก็เพียงให้เห็น แต่ว่าโลภะเป็นลูกศร เหมือนลูกศรเพราะเหตุว่าตามเข้าไปได้ถึงใจ เข้าไปสู่ใจ แล้วก็ปักคาอยู่ ไม่ได้มีใครไถ่ถอนออกไปเลย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าทุกข์ในสังสารวัฎที่เกิดจากการแสวงหาในปัจจุบันชาติเป็นอย่างไร ในอดีตก็เคยเป็นมาแล้วเช่นนั้น และต่อไปก็จะต้องเป็นเช่นนี้อีกถ้าไม่มีการฟังพระธรรม ด้วยเหตุนี้ไม่ประมาทที่จะเข้าใจว่าทุกคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส เป็นเรื่องของปัญญาทั้งสิ้น ให้รู้ว่าความไม่ละอายมีตั้งแต่ระดับที่อย่างอ่อนๆ จนกระทั่งสามารถที่จะมีกำลังถึงขั้นที่ทำร้าย หรือว่าล่วงศีลได้

    ด้วยเหตุนี้ต้องทราบว่าศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่รู้เลย พูดเรื่องกำลัง มีทั้งอหิริกะ อโนตตัปปะ เมื่อใด ขณะใด ก็เป็นแค่เพียงตัวอย่าง แต่เดี๋ยวนี้เป็นอะไร นี่ป็นสิ่งที่สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก่อนอื่นเป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง แต่ว่าไม่ใช่ของใคร

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ได้ยกตัวอย่าง หมายถึงว่าลักษณะของอกุศลที่มีกำลัง ขณะที่ล่วงทุจริตกรรมไม่ว่าจะเป็นทางกายทางวาจา เรียกว่าขณะนั้นเป็นพละแน่นอน เพราะว่ามีกำลังที่จะทำให้ล่วงทางกายทางวาจา แล้วถ้าไม่ถึงขั้นล่วงทางกายทางวาจา จะมีกำลัง จะเป็นพละไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาเหลือเกิน ถ้าไม่ถึงขนาดนั้นจะเป็นพละได้ไหม ทางฝ่ายอกุศลเป็นได้ไหม เดี๋ยวนี้ก็มีอยู่แล้ว อหิริกะ แล้วเราจะต้องพูดเรื่องพละเพราะเหตุว่าไม่ใช่ธรรมดา แต่ว่าเดี๋ยวนี้อหิริกะเป็นธรรมดาก็ไม่รู้

    อ.ธิดารัตน์ เพราะแม้กระทั่งในธรรมสังคณีก็มีทั้งที่อธิบายอหิริกะเฉยๆ อโนตตัปปะเฉยๆ แล้วก็มีทั้งอหิริกะที่เป็นพละ แล้วก็อโนตตัปปะที่เป็นพละ

    ท่านอาจารย์ แล้วใครจะไปขีดเส้น

    อ.ธิดารัตน์ แสดงว่าเขาต้องมีลักษณะ หรือว่ากำลังที่ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ธรรมทุกอย่างมีหลายระดับ อกุศลก็มีตั้งแต่ไม่เกิดขึ้นเลยแต่เป็นเชื้อที่จะทำให้อกุศลเกิด และก็มีตั้งแต่เกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ยังไม่ได้ล่วงทุจริตกรรม ก็เป็นระดับขั้นต่างๆ ตอนนี้อกุศลมีกำลังไหม มีแน่อกุศล แต่อกุศลที่มีมีกำลังหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ จริงๆ ก็มีกำลังขั้นกลุ้มรุม แต่ยังไม่ได้ถึงขั้นที่จะมีกำลังล่วงทุจริตกรรม

    ท่านอาจารย์ นั่นก็แสดงถึงกำลังที่ต่างกันแล้ว

    อ.อรรณพ เจตสิกที่เป็นอกุศลเจตสิก ที่เรียกว่าเกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกประเภทเลย ก็มีโมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก และอุทธัจจเจตสิก แล้วก็ยังมีอกุศลเจตสิกอื่นๆ อีก รวม ๑๔ อย่าง แล้วอหิริกะ อโนตตัปปะ มีลักษณะอย่างไร ท่านถึงแสดงว่าถ้าพูดถึงกำลังทางฝ่ายไม่ดี พระองค์ท่านก็แสดงถึงอหิริกะกับอโนตตัปปะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้เราพูดถึงเห็น ฟังธรรมแล้ว มีหิริ ละอายที่ยังไม่รู้ความจริงของเห็นหรือไม่ หรือว่าฟังธรรมก็ฟังไปเรื่อยๆ หรือว่ารู้เลยว่าแม้ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ยังไม่ได้เข้าใจเห็นตรงตามที่ได้ฟังเลย เพราะฉะนั้นขณะที่คิดเช่นนั้นเข้าใจเช่นนั้น เป็นหิริหรือไม่ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีหิริก็จะไม่ฟังต่อไป เพราะเหตุว่าเห็นก็เห็นไป แต่ว่าฟังแล้วเห็นเป็นสิ่งที่สามารถรู้ได้แน่นอน เพราะเหตุว่าเห็นเกิดปรากฏ สิ่งอื่นที่ไม่เกิดปรากฏนั่นเองไม่สามารถที่จะรู้ได้ แล้วสิ่งที่หมดสิ้นไปแล้วดับไปแล้วก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นก็มีความมั่นใจว่า ที่เราฟังธรรมทุกวันทุกครั้ง เพื่อเป็นปัจจัยที่จะให้สามารถเข้าถึง และเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ขณะนั้นเป็นหิริแน่นอน ใช่ไหม เมื่อมีความเข้าใจเช่นนั้น แต่ถ้าขณะนี้ฟังธรรมเพื่อเพลิดเพลิน เพื่อสบายใจ เพื่ออะไรต่างๆ ขณะนั้นก็ไม่ใช่หิริที่ละอาย ที่เรียกว่าเพราะไม่รู้ความจริงที่กำลังปรากฏจึงฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่เราจะมานั่งคิดนั่งประมวลนั่งวัดว่าขณะใดเป็นอย่างไร แต่ตามความจริงก็คือแม้หิริเรารู้จักหรือไม่ ตามความเป็นจริง ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจก็มีหิริ มีสติ มีศรัทธา มีสภาพธรรมที่เป็นโสภณหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้รู้สักอย่าง ถ้าฟังอย่างนี้เข้าใจก็ละอายที่ว่าก็ศึกษา ใช่ไหม ฟังต่อไปอีก เพื่อที่จะได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้

    อ.อรรณพ ลักษณะของสภาพธรรมที่มีลักษณะต่างๆ กัน แม้อกุศลเจตสิกที่เป็นความไม่ละอาย เป็นอหิริกะ ความไม่เกรงกลัวในบาปอกุศลทุจริตกรรมทั้งหลายเป็นอโนตตัปปะ ก็มีลักษณะสภาพเช่นนั้น และถ้ามีกำลังขึ้นก็จะปรากฏในลักษณะของการที่ล่วงทุจริตกรรม อะไรต่างๆ เหล่านี้

    ท่านอาจารย์ เป็นชีวิตประจำวันที่สามารถเข้าใจได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ได้รู้จักธรรมแต่ละหนึ่ง จนกว่ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น มีการละคลายความต้องการที่อยากจะรู้ เพราะรู้ว่าอยากเพียงใด ก็รู้ไม่ได้ แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะนั้นก็คือชำระจิตให้บริสุทธิ์ สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งละคลายความยึดถือได้

    อ.อรรณพ โลภะ หรือกิเลสอกุศล เหมือนลูกศรที่เสียบเข้าไปในใจ อย่างเช่น เราพอใจว่าดอกไม้สวย ดอกไม้ซึ่งอาจจะเป็นรูปที่น่าพอใจ ก็ไม่ได้เข้ามาในใจของเรา

    ท่านอาจารย์ ดับแล้วด้วย ไม่เหลือเลยด้วย แต่โลภะเก็บสะสม

    อ.อรรณพ ก็เป็นความหมายของการที่ว่าเป็นลูกศรที่เสียบเข้าไปในภายใน

    ท่านอาจารย์ สามารถเข้าไปถึงใจได้เลย ทำร้ายได้เลย ในขณะที่สิ่งที่พอใจก็เพียงแต่ภายนอก แล้วก็ดับไปแล้วด้วย

    อ.อรรณพ สะท้อนถึงชีวิตประจำวันของผู้ที่มีอกุศล อย่างเช่นโลภะ แล้วเราก็ไม่เห็นโทษเลย อย่างเช่นเราจะไปเที่ยวที่ไหน ก็อยากจะไปสัมผัสบรรยากาศ อยากชมดอกไม้สวยๆ ฟังเพลงเพราะๆ ซึ่งรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่ประณีตเหล่านี้ ไม่ได้เข้าไปในจิตใจเราเลย แต่โลภะที่เข้าไปในใจเรา

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเอาออกอย่างไร

    อ.อรรณพ ด้วยปัญญา

    ท่านอาจารย์ อยู่ข้างในเหนียวแน่นติดสนิทมากมายเห็นไหม ให้รู้ตามความเป็นจริง จึงค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยแล้วก็รู้ได้เลย ถ้าไม่ได้ฟังให้เข้าใจ แล้วจะละได้อย่างไร แต่ปัญญาสามารถล้างออกได้

    อ.ธิดารัตน์ อธิบายว่าหิริตั้งอยู่ด้วยสภาวะละอาย โอตตัปปะตั้งอยู่ด้วยสภาวะกลัว แล้วท่านก็อธิบายกลัวในที่นี้ก็หมายถึงกลัวภัย หมายความว่าจะกลัวภัย หรือว่ากลัวโทษของอกุศลเหล่านี้

    ท่านอาจารย์ ก็เห็นโทษว่าอกุศลเป็นโทษ

    อ.ธิดารัตน์ เมื่อเราพูดถึงกลัว เราจะนึกถึงสภาพของความกลัวที่เป็น..

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นโทษ แล้วก็ชอบดอกไม้ เห็นโทษไหม

    อ.ธิดารัตน์ ขณะชอบไม่เห็นเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะได้เข้าใจความหมายของคำว่าอหิริกะ หรือ หิริ อโนตตัปปะกับโอตตัปปะว่าต้องตรงกันข้ามกัน แล้วใครจะมีปัญญาที่จะรู้ แม้แต่เพียงความพอใจในสิ่งที่ปรากฎก็เป็นโทษ ขณะนั้นก็ต้องเป็นหิริถึงสามารถที่จะรังเกียจในความติดข้อง และก็รู้ว่าความติดข้องแม้เพียงเท่านั้นก็เป็นโทษ โดยส่วนใหญ่คนคิดว่ากลัวก็คือกลัวผี หรือกลัวอะไรก็แล้วแต่ที่กลัวๆ กันอยู่ แต่นั่นไม่ใช่หิริหรือโอตตัปปะ ถ้าโอตตัปปะต้องเห็นโทษภัยของอกุศล

    เพราะฉะนั้นที่ลืมไม่ได้ไม่ว่าจะได้ยินธรรมหมวดไหน ข้อไหน เรื่องอะไรในพระไตรปิฎกทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฏก ไม่ว่าพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม สภาพธรรมที่มีจริงแท้ๆ ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน ที่เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ว่ามีจริงๆ ด้วย มี ๓ อย่าง จิต เจตสิก รูป ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเมื่อสักครู่พูดถึงอะไรก็ต้องเป็นหนึ่งใน ๓ ใช่ไหม ไม่ว่าเป็นอะไรทั้งหมด จิตเป็นเจตสิกหรือไม่

    ผู้ฟัง จิต ไม่ใช่เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นรูปหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ รูปเป็นจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ รูปเป็นเจตสิกหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ฃ

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นรูปหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นเจตสิกหรือไม่

    ผู้ฟัง เจตสิกเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ แล้วศรัทธาเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ แล้วเจตสิกคืออะไร

    ผู้ฟัง เจตสิกก็เป็นสภาพที่ต้องร่วมกับจิต

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นรูปหรือไม่

    ผู้ฟัง เจตสิกไม่ใช่รูป

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นศรัทธาเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ตอบได้ว่าเป็นเจตสิก แล้วรูปมีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วศรัทธาไม่ใช่รูป

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกแน่นอน แล้วลองอธิบายเพิ่มเติม ถ้ามีคนถามว่าแล้วเจตสิกคืออะไร ตอบเฉยๆ พอเขาถามแล้วเราก็ไม่สามารถจะบอกได้ ก็แปลว่าเราจำเท่านั้นเอง ใช่ไหม แต่ความจริงต้องเป็นความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ตามที่เข้าใจ เจตสิกคือสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ฟังชื่อก่อนอื่น แล้วก็พยายามฟังเรื่องใช่ไหม แล้วก็เข้าใจชื่อ เข้าใจเรื่อง แต่ถ้าถามถึงความเข้าใจที่มั่นคงในความเป็นจริงของสิ่งนั้น ก็ต้องรู้ว่าเจตสิกคืออะไร

    ผู้ฟัง เจตสิกก็คือสภาพความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ หนึ่งล่ะ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ใช่หรือเปล่า เห็นไหม

    ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้

    ท่านอาจารย์ นี่คือเราต้องเข้าใจ หมายความว่าไม่ว่าคำถามอะไร ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจได้ เราก็ตอบเท่าที่เราสามารถที่จะเข้าใจได้ เช่น เจตสิกมีจริงแน่นอน แล้วเจตสิกเป็นอะไร ก็เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ และอะไรอีก เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ซึ่งไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อย่างจิต แต่ว่ามีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งซึ่งต่างกัน นี่เป็นความต่างกันของจิตกับเจตสิก และเจตสิกจะไม่เกิดกับจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ต้องเกิดกับจิต

    ท่านอาจารย์ แล้วจิตจะไม่เกิดกับเจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเจตสิกก็เกิดกับจิตเพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่ามีสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะทั้ง ๒ เป็นสภาพรู้ ซึ่งอาศัยกัน และกันเป็นปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะมีจิตโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และจะมีเจตสิกโดยไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยไม่ได้ ที่ใดมีจิตที่นั่นมีเจตสิก ที่ใดมีเจตสิกแสดงว่าที่นั่นต้องมีจิต และเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกันด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อสักครู่กล่าวถึงอะไร

    ผู้ฟัง ศรัทธา

    ท่านอาจารย์ ศรัทธา มีจริงหรือไม่

    ผู้ฟัง มีศรัทธา

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก ฝ่ายดีหรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ศรัทธา เป็นเจตสิกฝ่ายดี

    ท่านอาจารย์ ศรัทธา เป็นสภาพที่ผ่องใส รู้ยากไหม ขณะใดที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสอกุศลใดๆ เลย ที่เกิดในขณะนั้น สภาพธรรมนั้นจึงผ่องใส และศรัทธานั่นเองเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเมื่อใด อกุศลทั้งหลายก็เกิดไม่ได้เมื่อนั้น เดี๋ยวนี้มีศรัทธาไหม

    ผู้ฟัง มีศรัทธา

    ท่านอาจารย์ เมื่อใด

    ผู้ฟัง ศรัทธาในการที่จะศึกษาธรรม แต่นั่นก็เพียงชั่วคราว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่ามีการเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่เที่ยง

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าศรัทธาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้น ยังไม่เป็นพละ แล้วศรัทธาจะมีกำลังจนถึงขั้นเป็นพละเมื่อใด

    ท่านอาจารย์ คุณธิดารัตน์ก็ห่วงพละมากๆ เลย เมื่อใดจะถึงพละ ธรรมเป็นเรื่องละ ก็เป็นเรื่องที่ฟังให้เข้าใจ เพื่อที่จะได้รู้ความจริงว่าสภาพธรรมมีหลายระดับ แล้วก็ การกระทำในแต่ละวันที่ปรากฏ พอจะรู้ได้เท่านั้นเอง แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอะไร แม้แต่ศรัทธาที่เราพูดถึง ก็เพียงแต่รู้ว่าขณะใดก็ตามที่ขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นมีหรือเปล่า นี่ก็เป็นเรื่องที่ฟังเพื่อที่จะมีความเห็นถูกเข้าใจถูกจริงๆ ไม่ใช่แค่คิด และประมวลประเมินเอาว่าเป็นเช่นนั้นหรือเป็นเช่นนี้ แต่ต้องเป็นผู้ตรงที่รู้ว่าขณะนี้กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งยังไม่รู้จัก เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่รู้จัก จะไปหาความเป็นพละว่าตอนไหนอย่างไรใช่ไหม ขณะนี้ที่กำลังฟังเป็นพละหรือยัง

    อ.ธิดารัตน์ ยังไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ยัง รู้แค่นี้ว่ายัง เพราะแค่ฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเลย และจะไปเป็นพละได้อย่างไร เพราะฉะนั้นฟังแล้วรู้จุดประสงค์ของการฟัง ว่า เพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นจุดประสงค์ ไม่ใช่ฟังไป ฟังไปก็ดี แต่ว่าไม่ได้คิดถึงว่าแท้ที่จริงแล้ว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่ออนุเคราะห์ให้คนที่ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเอง ได้มีความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งลึกซึ้ง ยากแต่ว่าสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้จริงๆ ได้

    ด้วยเหตุนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้ฟังต้องเคารพจริงๆ ในการฟังว่า เพื่อเข้าใจแต่ไม่ใช่ฟังเพื่อเราอยากจะไปรู้ หรือว่าไปหากฎเกณฑ์ หรืออะไร แต่ขณะนี้เพียงรู้ว่าขณะนี้ที่กำลังมีการฟังธรรมเข้าใจธรรม มีศรัทธาด้วยแน่นอน แต่ยังไม่ถึงความเป็นพละเพราะอะไร เพราะยังไม่ถึงการเข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏขณะนี้ แค่นี้ ๒ ขั้นนี้ก็ต่างกันแล้วใช่ไหม ฟังเรื่องของศรัทธา และก็มีความเข้าใจ และขณะนี้ก็รู้ว่าฟังเพื่อถึงการเห็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องว่า เป็นสิ่งที่มีจริงเกิดแล้วดับ ไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืนเลย เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังแม้มีศรัทธา ศรัทธานั้นยังไม่เป็นพละเพราะเหตุว่ายังไม่ใช่ขณะที่กำลังเริ่มเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้มีอะไรปรากฏบ้าง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    28 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ