พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 904


    ตอนที่ ๙๐๔

    ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนศึกษาธรรมจะใช้คำว่าปัญญาทางโลกกับปัญญาทางธรรม ไม่มีความชัดเจน ไม่มีแม้แต่ว่าปัญญาคืออะไร รู้อะไร แต่เมื่อศึกษาแล้วผ่านไม่ได้ เพื่อที่จะได้เข้าใจได้ถูกต้อง แล้วก็จะไม่พูดคำนั้นอีก เพราะเหตุว่าผิด เพราะยังไม่รู้จักโลก ยังไม่รู้จักปัญญา เพราะฉะนั้นเวลานี้รู้ว่าปัญญาคือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นวิชาไหนที่จะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของสิ่งที่มี และผสมกับความคิดหลายรูปแบบหลายแนว แต่ว่าเป็นสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ถ้าสามารถจะเข้าใจได้ก็จะเข้าใจความหมายของปัญญากับโลก แล้วก็จะไม่พูดผิด

    ผู้ฟัง ถ้าปัญญาแปลว่าความหมายคือสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคำแปล ปัญญาคือสภาพที่รู้ถูกเข้าใจถูก นั่นคือคำแปล แต่ตัวความเข้าใจถูกไม่ใช่เป็นไปตามคำแปล แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นใครจะแปลปัญญาไปว่าอย่างไรก็ตาม แต่ลักษณะของปัญญาคือสภาพธรรมที่เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงๆ คือสิ่งที่กำลังปรากฏว่ามีจริง แต่ว่าถ้าถามคนที่พูดว่าทางโลกทางธรรม บอกว่าโลกคืออะไร ธรรมคืออะไร เมื่อพูดแล้วต้องหมายความว่าเข้าใจสิ่งที่ได้พูด เวลานี้พูดว่าโลกกับธรรม เพราะฉะนั้นโลกคืออะไร ธรรมคืออะไร นี่คือต้องศึกษาพระธรรม ไม่มีใครเลยที่จะยังคงไม่ศึกษา และเข้าใจว่าที่เคยคิดเคยเข้าใจนั้นถูกต้อง

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์บอกว่าฟังธรรมให้เข้าใจ นั้นก็คือปัญญา

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ก่อน ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ธรรมก็คือสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เหมือนที่เราพูดใช่ไหม หมายความว่าฟังให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง นี่คือภาษาไทย ไม่ต้องใช้คำว่าปัญญา ไม่ต้องใช้คำอื่นที่เป็นภาษาบาลี ปัญญากับธรรม สัจจะพวกนี้เป็นภาษาบาลี แต่ที่นี้ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ก็คือว่าปัญญาคือขณะใดก็ตามที่เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง จริงทั้งหมด เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นไม่ผ่านคำนี้เลย ก่อนอื่นต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าอะไรมีจริง และถ้ามีจริงแต่ไม่รู้ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา แม้ว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ เพราะไม่รู้ ความไม่รู้จะเป็นปัญญาไม่ได้ แต่เมื่อสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง ลักษณะที่กำลังเข้าใจแม้เดี๋ยวนี้จะเรียกอะไรก็ตามแต่ แต่นั่นคือสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง ถ้าจะใช้ภาษาบาลีก็คือปัญญา เข้าใจธรรมคือสิ่งที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง จากคำถามที่บอกว่าอะไรคือสิ่งที่มีจริง ก็คือเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส นี่เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เพียงฟัง แต่พิจารณาเข้าใจว่าจริงหรือเปล่า ตรงหรือเปล่าอะไรที่มีจริงๆ แน่นอนขณะนี้ เห็นมีจริงๆ แน่นอน เพราะฉะนั้นเป็นคำจริง ปัญญาที่สามารถเข้าใจเห็น เข้าใจอย่างไร เห็นเป็นเห็น เห็นจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการที่สามารถที่จะรู้ความจริง และเข้าใจความจริง ขณะที่เข้าใจนั้นไม่ใช่เราแต่เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเฉพาะขณะที่เข้าใจนั่นเองเป็นสภาพธรรมนั้น ขณะอื่นที่ไม่เข้าใจก็ไม่ใช่สภาพธรรมนั้นแล้ว

    ผู้ฟัง พอท่านอาจารย์บอกว่าไม่ใช่เรา ก็ลำบากนิดหน่อย เพราะส่วนใหญ่ทุกคนก็จะมีความเป็นเราอยู่ จะเห็นความแตกต่างตรงนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องฟังเรื่องจริงคำจริง เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เราอยู่ไหน เห็นไม่ใช่เรา ตรงไหม ค่อยๆ ตรงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เป็นความเห็นถูกขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง อวิชชาก็เป็นอวิชชา ทำหน้าที่ของอวิชชา ความเข้าใจถูกก็เป็นความเข้าใจถูก ทำหน้าที่ของตนคือกำลังเข้าใจ ไม่ใช่เราเลย เพื่อละความไม่รู้ จึงจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

    เมื่อวานนี้เราพูดถึงพุทธานุสติ ขณะใดที่เข้าใจจะรู้เลยว่าขณะนั้นเพราะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงคุณที่จากการที่เราไม่เคยเข้าใจเลยว่าสิ่งที่มีจริงขณะนี้เข้าใจได้เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไปหมดไป ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เท่านี้ก็สามารถที่จะระลึกถึงพระคุณได้แล้วใช่ไหม เป็นพุทธานุสติโดยไม่ต้องไปทำอย่างอื่นเลย ไม่ต้องไปนั่งท่องอะไรทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นจากการฟังท่านอาจารย์ มีความเข้าใจตามที่ท่านอาจารย์สอน ก็จะเป็นการเจริญปัญญา อย่างนี้จะถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเกิดเมื่อใด เกิดบ่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย นั่นคือเจริญ

    ผู้ฟัง พอเข้าใจมากขึ้น ปัญญาก็จะเกิดมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทำให้ปัญญาเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ แต่ฟังแล้วเข้าใจขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ นั่นคือจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง ค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง การสะสมปัญญามาที่น้อยมาก อวิชชาก็มีมาก ยากมากที่จะรู้ว่าสิ่งที่ฟังนั้นอะไรคือจริง อะไรคือไม่จริง ในตรงนี้นี่ถ้าเป็นตัวแทนผู้ใหม่จริงๆ เลย ท่านอาจารย์จะกรุณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องคิด ไม่ใช่ฟังแล้วไม่คิด คิดคือพิจารณาไตร่ตรองคำที่ได้ยินว่าจริงหรือเปล่า อย่างเช่นเห็น คนใหม่หรือคนเก่า เห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ถ้ามีตา ทุกคนก็ต้องเห็น

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็ต้องเห็น เพราะฉะนั้นก็ถามคนใหม่เห็นมีจริงไหม

    ผู้ฟัง ถ้าตรงก็ต้องบอกว่ามี

    ท่านอาจารย์ ใช่ ต้องเป็นคนที่ตรง ถ้าไม่ตรงจะไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย เพราะฉะนั้นความเป็นผู้ตรงต่อความเป็นจริง สัจจะคือความจริงของสิ่งที่มีจริงก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อความจริงว่า สมมติว่าคุณอรวรรณเป็นคนใหม่เอี่ยมเลย เดี๋ยวนี้เห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ไหม

    ผู้ฟัง มีจริงๆ เพราะกำลังเห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น รู้จักเห็นไหม

    ผู้ฟัง ก็รู้ว่าเห็น เห็นอะไรเยอะแยะ

    ท่านอาจารย์ รู้จักคุณวิชัย รู้จักคุณคำปั่น แต่รู้จักเห็นไหม ก็เห็นมีจริง ทุกคนก็บอกว่าเห็นมีจริง และก็กำลังเห็นด้วย แล้วรู้จักเห็นไหม

    ผู้ฟัง รู้ว่าเห็น แต่ไม่รู้จักเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นมีจริง ควรรู้จักไหม หรือว่าตลอดชีวิตที่เห็นก็ไม่รู้จักเห็นนั่นเอง ไปเรื่อยๆ กี่ชาติ ทั้งๆ ที่เห็นมีจริงยิ่งกว่าอย่างอื่นที่เข้าใจว่าจริง เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีศรัทธา สภาพซึ่งขณะนั้นไม่มีความติดข้องไม่มีความขุ่นเคืองไม่มีความไม่รู้ แล้วก็อยากจะไม่รู้ต่อไป ซึ่งเป็นสภาพที่ต่างกันใช่ไหม ไม่รู้แล้วรู้ได้ ฟังธรรมเพื่ออะไร ไม่ว่าคนใหม่คนเก่า แต่ตอนนี้สมมติว่าคุณอรวรรณเป็นคนใหม่จริงๆ จะรู้หรือจะไม่รู้ เห็นที่กำลังเห็น เห็นจริงๆ

    ผู้ฟัง ก็รู้ ต้องดีกว่าไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ควรรู้ แสดงว่ามีศรัทธาที่ได้สะสมมาแล้ว มีการเคยได้ยินได้ฟัง และเห็นประโยชน์ว่าตลอดชีวิตไม่มีอะไรเลยที่จะเข้าใจว่าเป็นของเราสักอย่างแม้แต่เห็นก็ไม่ใช่ของเรา แล้วก็ไม่ใช่เราด้วย แม้ว่าเห็นมีจริง เห็นก็เพียงเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป พอใจที่จะเข้าใจขึ้นอีกไหม เพราะว่ามีความจริงอีกมากมายของสิ่งซึ่งมีทุกวัน แต่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็ตามอัธยาศัย บางคนก็บอกว่าเสียเวลาไม่เห็นจะพูดอะไรเลย นอกจากเรื่องเห็น ทั้งๆ ที่มีเห็น แต่ก็ดูเหมือนว่าง่ายเหลือเกิน แล้วก็ไม่มีประโยชน์ แต่จะไม่พ้นเห็นไปได้ไหม ต้องเห็นอยู่ตลอด เกิดแล้วก็ต้องเห็น แล้วก็ยังยึดถือเห็นว่าเป็นเราด้วย แล้วก็ยังยึดถือสิ่งที่เพียงปรากฎให้เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งยั่งยืน ผิดทั้งนั้น เพราะฉะนั้นปัญญาคืออะไร

    ผู้ฟัง รู้ถูก เข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ บังคับใครได้ไหมว่าให้ฟังธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ บังคับให้เห็นประโยชน์ของความเข้าใจถูกได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็คือแต่ละหนึ่งที่ฟังธรรมที่นี่ก็เพราะได้สะสมบุญแต่ปางก่อน บุญที่นี่คือสภาพธรรมที่ดีงามที่เห็นประโยชน์ที่ไม่ติดข้องที่รู้ว่าอะไรประเสริฐที่สุด ชีวิตที่ประเสริฐที่สุดปฎิเสธไม่ได้เลยใช่ไหม นักปราชญ์มีปัญญาคือความเข้าใจถูกความเห็นถูก บางคนก็บอกว่าคนที่ศึกษาธรรมไม่เห็นดีอย่างคนที่ไม่ได้ศึกษาเลย คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมดูจะดีกว่า ความประพฤติทางกายทางวาจาความเมตตากรุณาการเสียสละต่างๆ ค้านกับพระธรรมหรือเปล่า เพราะเหตุว่าคนดีรู้หรือเปล่าว่าดีเมื่อใด แล้วก็ดีแค่ไหน เพราะว่าแม้ว่าดีแต่ก็ยังไม่รู้ว่าความไม่ดีนั้นคืออะไร เมื่อใด หรือรู้ใช่ไหม แล้วก็รู้หรือเปล่าว่า แม้ความดีหรือความไม่ดีก็เป็นธรรมซึ่งมีจริงซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น และตราบใดที่ยังไม่รู้อย่างนี้ที่เข้าใจว่าดี ดีตลอดไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง ยังมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ไม่ดี ดีทั้งวันมีใครดีบ้าง ยังมีกิเลสอยู่ทั้งนั้น ดีทั้งวันเป็นไปได้ไหม แค่นี้ก็รู้แล้วว่าเป็นคนดี ดีแค่ไหนระดับไหน เห็นแล้ว ขณะนี้เห็นแล้วดีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าติดข้อง หรือเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ศึกษาจะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นก็ไม่ดีแล้วด้วยความไม่รู้ กามาสวะ ทิฏฐาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ใครรู้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงคำนี้พุทธานุสติ ไม่ได้ระลึกถึงใครเลยแต่ระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหากรุณา มิฉะนั้นจะไม่มีใครมีโอกาสได้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้เลย คิดกันไปเรื่อย คิดกันไปเอง คิดไปต่างๆ นานา แต่ความคิดนั้นไม่ใช่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะว่าไม่รู้แม้แต่ว่าคิดก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แต่ก่อนก็น่าจะมีความทุกข์ แล้วก็ต้องไปหาธรรมมาดับทุกข์ แล้วทำไมถึงต้องมารู้เห็นโดยที่เหมือนกับไม่น่าจะเป็นอะไรที่น่าสนใจศึกษา หรือว่ามันน่าอัศจรรย์เป็นอะไรเป็นธรรมดาๆ ตื่นมาก็เห็นได้ยินอะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ดับทุกข์อะไร เป็นทุกข์อะไร จะไปหาธรรมมาดับทุกข์ ทุกข์อะไร

    ผู้ฟัง การพลัดพราก

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เกิดแล้วมีดับไหม

    ผู้ฟัง จริงๆ เกิดแล้วดับ

    ท่านอาจารย์ พลัดพรากตลอดเวลาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่หรือ กำลังพลัดพรากหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าลึกซึ้งถึงความว่าเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง ก็ใช่

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้นทุกข์อะไร เห็นไหม ไม่รู้จักทุกข์ แต่เป็นทุกข์แล้วก็ไม่รู้จักทุกข์ แล้วก็ไปหาธรรมที่จะดับทุกข์ หาไม่เจอแน่ เพราะไม่เข้าใจ แต่ถ้ามีความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะที่เข้าใจไม่เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง เข้าใจคือปัญญา อยากก้าวหน้าคือโลภะ

    ท่านอาจารย์ ความจริงต้องพิจารณาว่า เพียงได้เข้าใจจะน้อยจะมากสักเท่าใดก็ตาม เพียงได้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็ไม่ใช่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เห็นคุณค่าไหม เพียงแม้ได้เข้าใจเท่านี้ก็ประเสริฐ ยังมีสิ่งที่จะทำให้เข้าใจได้มากกว่านี้ยิ่งประเสริฐกว่านี้ เพราะว่าสามารถที่จะไม่ใช่เพียงฟังแต่ประจักษ์แจ้งความจริงด้วย แต่เห็นโลภะนักลวงลวงให้อยู่ในสังสารวัฏ ลวงทุกวัน ล่อด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ลวงให้ว่าเป็นสิ่งที่ยั่งยืนเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แท้ที่จริงหามีไม่ เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีชั่วคราวเหมือนในฝัน เพราะปรากฏแล้วหมดไปแล้วอยู่ไหนไม่เหลือเลย เพียงเข้าใจเท่านี้ก็ประเสริฐ เพราะฉะนั้นถ้ารู้คุณค่าของการเข้าใจจริงๆ จะไม่ถูกโลภะลวง อยากรู้มากกว่านี้เป็นไปได้อย่างไร แค่นี้ก็มากแล้วที่มีโอกาสได้ฟัง แล้วก็ถ้าเข้าใจจริงๆ อย่างมั่นคงยิ่งมากขึ้นในเพียงไม่กี่คำ แต่ว่าเป็นความจริงที่สามารถที่จะถึงการประจักษ์แจ้งได้

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่าจะไปให้โลภะลวงต่อไปว่า อยากรู้มากกว่านี้ควรจะก้าวหน้ามากกว่านี้ฟังมาตั้งนานแล้ว แต่ว่าขณะที่เพียงแม้ได้เข้าใจอย่างนี้ก็บุญแล้วประเสริฐแล้ว แล้วก็มีโอกาสที่จะเข้าใจมากกว่านี้อีก เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ๔๕ พรรษาทุกคำมีค่าถ้าเราฟังจริงๆ เพื่อเข้าใจ และก็รู้ว่าเมื่อเข้าใจแล้วก็คือว่าไม่ต้องมีใครมาลวงให้ไปอยาก หรือว่าให้ไปต้องการเกินกว่านี้ เพราะว่าเหตุไม่มีพอที่จะให้เข้าใจเกินกว่านี้ได้ เมื่อฟังเท่านี้เข้าใจแค่นี้ ฟังต่อไปก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงตรัสรู้ความจริงทั้งหมด รู้อัธยาศัยของสัตว์โลกสะสมมากด้วยโลภะมากด้วยอวิชชา มากด้วยโทสะ มากด้วยศรัทธา หรือว่ามากด้วยปัญญา แต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย ขณะจิตแรกที่เกิดก็เป็นเพราะการสะสมของกุศล และอกุศล และกรรม ซึ่งจะให้ผลในชาติแต่ละชาตินั้นด้วย โดยไม่มีใครสามารถจะเลือกหรือบังคับบัญชาได้

    เพราะฉะนั้นที่ได้สะสมมาแล้วที่เกิดในขณะแรกจนถึงได้มีโอกาสฟังธรรม ก็ส่องไปถึงการที่ได้ฟังมาแล้ว แล้วก็มีความศรัทธา เพราะฉะนั้นเมื่อได้มีความเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นลาภอันประเสริฐที่ได้เข้าใจเพียงเท่านี้ก่อน ใช่ไหม จะเข้าใจมากมายทันทีจนถึงที่สุดเป็นไปไม่ได้ เข้าใจ แล้วก็เข้าใจขึ้น เข้าใจก่อน เข้าใจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมั่นคง ขณะนั้นก็จะรู้ว่าหนทางนี้เป็นหนทางเดียวที่จะละความเป็นตัวตนซึ่งมาก ความเป็นตัวตนปรากฏในขณะที่แม้คิดว่าเมื่อใดเราจะรู้มากกว่านี้ เมื่อใดจะรู้มากกว่านี้ อยากรู้มากกว่านี้ ทั้งๆ ที่ฟังแล้วก็ได้เข้าใจตามที่ได้ฟังเท่านี้ และตามที่ได้ไตร่ตรองจนกระทั่งมั่นคงขึ้น เพราะฉะนั้นก็มีความพอใจขณะนั้นก็เป็นกุศล ไม่เดือดร้อนว่าเราอยากรู้กว่านี้ เมื่อใดจะรู้กว่านี้ เพราะฉะนั้นควรที่จะต้องเห็นโลภะว่าเป็นสิ่งที่ควรละ ทรงแสดงไว้เป็นอริยสัจจะที่ ๒ เป็นธรรมที่ควรละ เพราะฉะนั้นควรละไม่ใช่ไปละตอนโน้น แต่ว่าละไปเรื่อยๆ เพราะว่าขณะนั้นอะไรที่จะละได้ ก็ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ จึงสามารถที่จะละได้ ยากไหม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ดอกไม้ เห็นทุกวัน แล้วก็คิดอย่างนี้ทุกวัน จนกว่าจะเริ่มฟังธรรมแล้วเข้าใจ แต่กว่าจะถึงการที่เข้าใจโดยไม่มีใครเลย นอกจากสิ่งที่เพียงปรากฏในขณะนั้น เพียงทีละหนึ่งอย่าง ยิ่งเป็นความถูกต้องยิ่งขึ้นชัดเจนขึ้น

    เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง จะเห็นได้ว่าฟังในเบื้องต้นก็เข้าใจในเบื้องต้น และความเข้าใจในเบื้องต้นก็จะค่อยๆ ทำให้รู้ว่าเมื่อใดเข้าใจขึ้นโดยที่คนอื่นไม่ต้องบอกเลย เห็นธาตุที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ นี่เป็นคำพูด ซึ่งหมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้จริงๆ โดยไม่ต้องพูด เพราะฉะนั้นจะเข้าใจในความเป็นธาตุซึ่งไม่มีใครอีกเลย เราเข้าใจว่ามีคน แต่ปรากฏเมื่อใดว่าเป็นคนนั้น เมื่อเห็นธาตุที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ที่อยู่ที่มหาภูตรูป ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่มีสิ่งที่มี แต่ไม่ใช่มหาภูตรูป แต่ต้องเกิดกับมหาภูตรูป และสามารถจะกระทบกับจักขุปสาท และสามารถเพียงเห็นได้ จิตอื่นธาตุอื่นไม่สามารถจะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นได้

    เพราะฉะนั้นกว่าจะละความเป็นเราออกหมด จากไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นการที่อบรมด้วยความมั่นคงขึ้น พื้นฐานที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรมต้องมั่นคงว่าเป็นธรรม แม้แต่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ และกำลังพูดเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น แม้เพียงไม่มาก แต่เริ่มเข้าใจว่าถึงจะปรากฎว่า เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ เป็นคนนั้นบ้าง เป็นสิ่งนั้นบ้างก็ตามแต่ แต่ความจริงก็คือว่าเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราว่าเป็นคน ก็จะต้องมีธาตุรู้คือจิต และก็มีเจตสิกสภาพรู้ซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้นโดยจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน แล้วก็มีรูป เพราะฉะนั้นที่ว่าเป็นคนหรือเป็นสัตว์ที่มีชีวิตก็ต้องมีจิต เจตสิก และมีรูปด้วยในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และแต่ละอย่างก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเร็วมากสุดที่จะประมาณได้

    เพราะฉะนั้นกว่าจะเห็นใคร ไม่มีคนนั้น แต่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เข้าใจว่าเป็นใคร ก็เป็นมหาภูตรูป แล้วก็มีจิต เจตสิก ซึ่งแต่ละหนึ่งสะสมมา แล้วก็เข้าใจว่าเป็นแต่ละคน ซึ่งความจริงสภาพธรรมทั้งหมดเกิดดับทั้งนั้น เกิดดับทั้งหมด เกิดดับรวดเร็วมาก จึงหาความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ เพราะฉะนั้นความเข้าใจอย่างนี้สะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ มั่นคงขึ้น ไม่ว่าในขณะเห็น ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏเริ่มมี หรือว่าความเข้าใจในธาตุเห็นซึ่งเพียงเกิดขึ้นเห็นแล้วก็หมดไปก็มี เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานมากเป็นจิรกาลภาวนา

    ทุกคนก็รู้ว่าขณะนี้ฟังเรื่องเห็น ได้ฟังเรื่องการเกิดขึ้นของเห็น การดับไปของเห็น แต่ขณะนี้ไม่ได้ประจักษ์การเกิด และดับไปของเห็น ทั้งๆ ที่เป็นความจริง แต่ว่าปัญญาที่ได้อบรมแล้ว จากการค่อยๆ คลายความติดข้องอย่างมั่นคงว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยรู้ว่า แท้ที่จริงก็เป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ปรากฏได้แต่ละครั้ง ไม่ได้ปรากฏพร้อมกันทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นจิรกาลภาวนา แล้วก็รู้ได้เลยว่า ถ้าขณะใดก็ตามที่ปัญญา และกุศลธรรมไม่เกิด อกุศลธรรมเกิด เห็นแล้วไม่รู้เป็นอกุศลแล้ว ไม่รู้ความจริงจะเป็นกุศลได้อย่างไร และหลังจากเห็นแล้วจะไม่ให้เกิดความติดข้องก็ไม่ได้ ยับยั้งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นแม้ความติดข้องหลังเห็นก็ไม่รู้ แต่ว่าจากการฟังธรรมรู้ว่ามี

    เพราะฉะนั้นก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจความจริงตามลำดับ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็จะทำให้ทำความที่ไม่ไปเป็นตัวตนให้มีมากขึ้นเลย ใช่ไหม เพราะเหตุว่าความเข้าใจขณะใดเกิดขึ้น ขณะนั้นจะไปอยากได้อย่างไร ในเมื่อรู้ว่าแม้ความอยากความต้องการก็เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นก็ครอบงำไม่ให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และรู้ว่าควรเจริญกุศลทุกประการสัพพสัมภาระภาวนา ไม่ใช่ฟังแล้วก็จะประจักษ์การเกิดดับเท่านั้น อย่างอื่นก็ยังคงเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับคำที่เตือน แม้แต่คำว่าสัพพสัมภาระภาวนา กุศลเล็กๆ น้อย นิดๆ หน่อยๆ เมื่อเช้านี้ทำบ้างหรือเปล่า เริ่มทำหรือยัง หรือฟังไปอีกสักเดือนเริ่มแล้ว ก็แล้วแต่ แต่ละบุคคล ไม่ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นประโยชน์จริงๆ ของการที่ได้ทรงแสดงพระธรรมโดยนัยประการต่างๆ แม้แต่ภาวนาการอบรมก็รู้ว่าจะอบรมปัญญาจะขาดการที่จะต้องเจริญกุศลไม่ได้ และก็ต้องเป็นผู้ที่เคารพในกุศลจริงๆ สักกัจจภาวนา ทุกครั้งที่กุศลเกิดเพื่อกุศลเท่านั้น เคารพในกุศลนั้น เพราะว่าทุกคนเคารพในคุณความดี ไม่มีใครไปเคารพความไม่ดีเลย ใช่ไหม และความดีก็ไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่คนนั้นไม่ใช่คนนี้ ความดีก็เป็นธาตุเป็นธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตามที่เห็นประโยชน์ของการที่ความดีเป็นความดีที่ควรเคารพ เพราะฉะนั้นก็ทำความดีโดยไม่หวัง เรื่องก้าวหน้าเรื่องอะไรก็ไม่ต้องคิดเลย ยิ่งออกไปจากใจได้เมื่อใดบ่อยๆ ก็ยิ่งจะค่อยๆ คลายความเป็นตัวตนเมื่อนั้น เพราะว่าอีกนาน ต้องทั่ว

    นี่เป็นเหตุที่ต้องอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันเท่านั้น เพราะเหตุว่าเกิดแล้ว ถ้าสมมติว่าไม่ใช่ชีวิตประจำวัน หวังว่าทำเช่นนั้นเช่นนี้แล้วปัญญาจะเกิด หวังว่ามีหนทางลัด ขณะนั้นก็คือว่าไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น ซึ่งเกิดแล้วทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่ใช่ชีวิตปกติ ก็ผิด

    อ.วิชัย ก็ได้กล่าวว่าเราเห็นบ้าง หรือว่าเราต่างๆ บ้าง แต่ก็เป็นความละเอียดไม่ใช่เพียงคำ แต่ว่าถ้าเกิดความรู้ความเข้าใจ หรือว่าความเห็นจากการที่ได้ยินได้ฟังธรรมว่า จริงๆ ธรรมไม่ใช่เราเลย แต่ว่าบางครั้งถ้าฟังไม่ดีก็เหมือนกับมีเราที่จะไปพิจารณา หรือว่าจะไปกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครรู้

    อ.วิชัย ก็ต้องเป็นปัญญาที่รู้

    ท่านอาจารย์ ตัวเอง ไม่ใช่คนอื่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้คำว่าตถาคตหมายความถึงใคร ท่านพระอานนท์ท่านก็ต้องมีคำแทนตัวของท่านด้วยให้รู้ว่าหมายความถึงใคร แต่ปัญญาความเข้าใจต่างระดับ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับคำ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเข้าใจคำนั้นไหม เช่น มีตนเป็นที่พึ่ง ฟังเผินก็มีตัวตน แต่เมื่อรู้ว่าไม่มีตัวตนจริงๆ พึ่งคนอื่นได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวตน หรือมีตนเป็นที่พึ่ง ก็หมายความว่าไม่ใช่คนอื่น แต่ไม่ใช่ว่าตนที่เป็นอกุศล ต้องเป็นโพธิปักขิยธรรม หรือธรรมที่นำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 194
    19 มิ.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ