พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 952
ตอนที่ ๙๕๒
ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
อ.อรรณพ จิตกับเจตสิกเป็นสภาพรู้ ซึ่งจิตเจตสิกก็เกิดที่ที่เดียวกัน ถ้าเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่วัตถุรูปคือที่ที่จิตเกิดเดียวกัน แล้วก็มีอารมณ์เดียวกันด้วย เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน แต่ทำไมจิตจึงเป็นหัวหน้า
ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวถึงสภาพรู้ ก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิต มีเจตสิกด้วย สภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิดได้ต้องอาศัยปัจจัย ถ้าไม่มีธรรมที่เกื้อหนุนอุปการะสนับสนุนให้เกิด ก็เกิดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ในขณะนี้มีสิ่งที่เกิดแล้วกำลังปรากฏ แต่เราไม่เคยเข้าใจในการที่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ดูธรรมดา แต่ว่าตามความเป็นจริงธรรมดาไหม น่าอัศจรรย์ไหม จากไม่มี แล้วก็มี แต่เมื่อมี อะไรทำให้มีขึ้น ไม่เคยคิดเลย เพราะว่าไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจถูกต้องในสิ่งซึ่งเพียงปรากฏ แล้วก็หมดไปเร็วสุดที่จะประมาณได้ ไม่มีการที่จะให้ได้เข้าใจสภาพธรรมนั้น ถ้าไม่มีการค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจ ซึ่งผู้ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนกระทั่งตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมเลย และไม่ได้สร้างหรือไม่ได้ทำให้ธรรมใดเกิดขึ้น แต่ตรัสรู้ความจริงว่าสภาพรู้มี ถ้าไม่มีอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ เห็นขณะนี้ก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่มี เมื่อได้ยินไม่มี เสียงก็ต้องไม่มี เพราะว่าถ้าไม่มีได้ยิน เสียงก็ปรากฏไม่ได้
เพราะฉะนั้นแต่ละขณะซึ่งมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ ขณะนั้นก็มีสภาพธรรมซึ่งต่างกัน เช่น ขณะนี้ได้ยิน เสียงมีแน่นอน แล้วเสียงก็ดับไปแล้ว แต่ก่อนที่เสียงจะดับ ต้องมีธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงนั้นจึงปรากฏ เพราะฉะนั้นได้ยินกับเสียงเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน แต่ถ้าไม่มีเสียงได้ยินจะเกิดขึ้นได้ไหม เพียงเท่านี้ก็แสดงความเป็นปัจจัยว่า แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ว่าถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ แม้แต่ไม่มีเสียงเท่านี้ จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ แต่ไม่ใช่แต่เฉพาะมีเสียงเท่านั้น ที่ทำให้จิตได้ยินเกิด ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น เช่น ต้องมีรูปพิเศษที่สามารถกระทบเสียง ถ้าใช้คำว่ารูปหมายความถึง ธรรมที่มีจริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย นี่เป็นสิ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความจริงต้องเป็นความจริง
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม โลกไหนก็ตาม สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่อีกอย่างหนึ่งคือธาตุที่รู้เกิดขึ้นต้องรู้ ซึ่งถ้าไม่มีธาตุรู้เกิดขึ้นอะไรก็ปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือเห็นความที่ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะเหตุว่าปัญญาเริ่มจากการฟังเข้าใจสิ่งที่กำลังมี จนกว่าจะประจักษ์ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ตรงตามที่ได้ฟังจากผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้เท่านั้น คนอื่นไม่สามารถที่จะแสดงความจริงโดยละเอียดเช่นนี้ได้เลย
ด้วยเหตุนี้เมื่อฟังแล้วเข้าใจความจริงก็รู้ว่า สิ่งที่รู้ยากก็ยังสามารถรู้ได้ โดยปัญญาที่กว่าจะอบรมจนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถที่จะเข้าใจความหมายของคำว่าธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ของใคร เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไปเร็วสุดที่จะประมาณได้ ฟังไว้ก่อน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมขณะนี้ยังไม่ได้ปรากฏการเกิดดับเร็วเช่นนั้นเลย แต่ก็ปรากฏลักษณะที่ต่างกัน เช่น ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่คิดนึก เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งปะปนกันไม่ได้เลย แล้วก็เป็นทีละหนึ่งอย่างหรือหนึ่งขณะด้วย นี่ก็คือให้ทราบว่ามีธาตุรู้แน่นอน แล้วธาตุรู้ก็มีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ใช่เราหรือว่าไม่ใช่ใครทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นปัจจัยที่จะทำให้ธาตุรู้เกิดขึ้น ธาตุรู้ขณะนี้กำลังเห็น เริ่มเข้าใจ ธรรมคือไม่ใช่ไปฟังเรื่องชื่อหรือว่าเรื่องราว ซึ่งไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ แต่การศึกษาธรรมหมายความว่ารู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่มีความเข้าใจในความเป็นจริงของสิ่งนั้น จนกว่าจะได้ฟังว่าสิ่งที่มีจริงทุกอย่างที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละหนึ่ง เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ปนกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังเห็น มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น แล้วก็มีเห็น รู้จักเห็นหรือยัง ฟังว่ามี เดี๋ยวนี้มีแน่ๆ เพราะว่ากำลังเห็น แต่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่าในขณะนี้ที่กำลังเห็น เห็นเกิดขึ้นเฉพาะเห็นไม่ได้ ต้องมีสภาพที่เป็นนามธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น แต่ต่างกัน เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่กำลังเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างหนึ่ง แต่มีสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดพร้อมกับในขณะที่กำลังรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย แต่ถ้าไม่ทรงแสดง จะไม่รู้เลย เช่น ความรู้สึก วันนี้สบายดีหรือเปล่า สุขหรือทุกข์ มักจะถามกันใช่ไหม วันนี้เป็นอย่างไร
ในพระไตรปิฏกก็จะมีข้อความที่พระผู้มีพระภาคหรือพระภิกษุท่านก็ถามทุกข์สุขกัน พอทนได้หรือ หรือว่าเป็นอย่างไรบ้าง นี่ก็หมายความว่าต้องมีความรู้สึกด้วย เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรมแต่ละหนึ่งก็คือว่า เห็น เป็นสภาพที่กำลังรู้ว่าเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเช่นนี้ ไม่รู้อย่างอื่นเลย แต่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเท่านั้นว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏเช่นนี้ สภาพรู้หรือสภาพเห็นเป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จิตตะ หรือวิญญาณ หรือมโน หรือหทย หลายคำเพื่อแสดงความที่กว่าจะรู้ว่าจิตเป็นธรรมเช่นนั้นซึ่งไม่ใช่เรา ต้องอาศัยคำที่ทรงพระมหากรุณาแสดงหลายคำ จนกว่าจะเข้าใจได้ เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีเห็น เราจะศึกษาหรือได้ยินคำว่าเห็นอีกหลายปี แต่เข้าใจเห็นที่กำลังเห็นตามที่ได้ฟังเพียงใดอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเหตุว่าไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจง่ายเลย เห็นมีจริงๆ แต่เข้าใจยากมาก เพราะเหตุว่าไม่เคยรู้ความจริง เห็นเมื่อใดก็ไม่รู้ แล้วก็เป็นเราเห็นทุกครั้ง แต่เห็นก็หมดไป ขณะที่กำลังนอนหลับสนิท ไม่มีเห็นเลย แล้วเราจะอยู่ที่ใด แต่เวลานี้ขณะที่กำลังเห็น เป็นเราเห็นเพราะไม่รู้ เป็นคนอื่นหรือเปล่า เป็นคนนั้นเป็นคนนี้หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ แต่เห็นที่ใด เมื่อใดเพราะไม่รู้ จึงเป็นบุคคลนั้นหรือผู้นั้นที่กำลังเห็น
เพราะฉะนั้นให้เข้าใจธาตุรู้ก่อนหนึ่งอย่างซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ก็มีธาตุรู้อื่นด้วย ซึ่งอาศัยกันแล้วก็เกิดพร้อมกัน เช่น ความรู้สึก วันนี้มีข่าวดีบ้างหรือยัง ไม่มี มีข่าวร้ายบ้างหรือยัง ไม่มีทั้ง๒ อย่าง เพราะฉะนั้นก็ไม่โสมนัส ไม่โทมนัส ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ความจริงขณะใดก็ตามที่กระทบกาย มีอะไรก็ตามที่กระทบกาย ไม่รู้สึกเลยว่าขณะนั้นมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น อาจจะเป็นความรู้สึกรำคาญเพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่น เส้นผมที่ตกมาที่หน้าผาก บางมาก เส้นเดียว รำคาญไหม ขณะนั้นความรู้สึกไม่สบายทางกายเกิดแล้ว ก็ไม่ใช่สภาพของธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่เพราะมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ ความรู้สึกในสิ่งนั้นจึงมี จะเป็นความรู้สึกเฉยๆ ก็ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น จะเป็นความรู้สึกโสมนัสคือดีใจ เป็นสุข ขณะนั้นก็ไม่ใช่ธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งนั้น หรือขณะที่กำลังเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะเจ็บต้องมีการกระทบที่กาย เพราะฉะนั้นสภาพที่รู้ลักษณะที่กระทบที่กายเป็นอย่างหนึ่ง ความรู้สึกเจ็บที่เกิดพร้อมกับกายที่กำลังปรากฏในขณะที่จิตกำลังกระทบนั้นก็อีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่ใช่ใครที่จะประมาทคิดว่าฟังแล้วเข้าใจแล้ว รู้แล้ว บอกว่าเห็นไม่ใช่เรา ก็รู้แล้ว บอกว่าเสียงเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ก็รู้แล้ว บอกว่าความรู้สึกเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ก็รู้แล้ว ไม่ใช่เช่นนั้นเลย ไม่แล้ว เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ความจริงซึ่งอะไรทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น และเมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ที่จะไม่ให้สิ่งนั้นดับไป ไม่มี เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าฟังธรรมโดยละเอียด ตั้งแต่เกิดจนตายถ้ายังไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็คือว่าไม่รู้อะไรเลย ตลอดชาติมีแต่เห็นแล้วชอบบ้างไม่ชอบบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง แสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง แต่ผู้รู้จะเห็นความสั้นของชีวิต อยู่กันไปอย่างไรก็ไม่นาน สมัยก่อนนั้นมนุษย์มีอายุถึง ๑,๐๐๐ ปี ๑๐,๐๐๐ ปี แต่สมัยนี้ก็ยากที่จะถึง ๑๐๐ ปี หรือว่าเกิน ๑๐๐ ปี สั้นไหม ถ้าคิดถึงแต่ละขณะซึ่งผ่านไปเร็วมาก
เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นหรือเปรียบเทียบความยืนยาวของภพชาติอื่น เช่น เทพเทวดา ก็จะมีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์ ก็จะเห็นชีวิตของมนุษย์แสนสั้นเร็วมากเลย เพราะฉะนั้นเกิดมาแล้วไม่รู้อะไรใช่ไหม แต่มีความติดข้องในสิ่งที่ไม่รู้มากมายทุกวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่าชีวิตนี้น้อยมาก ลองเปรียบเทียบกับแมลงเม่า เพียงมีแสงไฟก็ปรารถนาคิดว่าจะเป็นสุขที่ได้เข้าใกล้แสงไฟ เพราะฉะนั้นแมลงเม่าก็บินเข้าสู่กองไฟแล้วก็ตาย เราเหมือนเช่นนั้นไหม ถ้าจะอุปมาว่าชีวิตสั้น ถ้าเทียบกับสวรรค์ เทวโลก พรหมโลก เพราะฉะนั้นเพียงเท่านี้ แต่เกิดมาก็มีแต่ความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ มีความต้องการแสวงหามุ่งไปสู่สิ่งนั้นแล้วก็ตาย โดยที่ไม่ได้อะไรเลยจากการที่เกิดความพอใจในสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ใช่เพื่อเรารู้แล้ว เราประจักษ์แล้ว สภาพธรรมเกิดแล้วดับแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้นเลย แต่ความเข้าใจถูก ต้องเป็นความเข้าใจถูกในสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมทีละคำ ก็จะเป็นประโยชน์มากที่จะทำให้เรา เริ่มเข้าใจความละเอียดซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน ถึงขณะนี้ที่กำลังเห็น ไม่ใช่เรา กำลังได้ยินก็ไม่ใช่เรา กำลังคิดนึกก็ไม่ใช่เรา กำลังกระทบสิ่งที่อ่อนแข็งก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริงคือธาตุรู้ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นรู้แล้วดับไป เร็วสุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้นก็มีธาตุรู้ ๒ อย่างที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น คือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานซึ่งทรงบัญญัติใช้คำว่า จิต จิตตะ หรือวิญญาณ มโน มนัส หทยก็แล้วแต่ ใช้คำอื่นได้ไหม ไม่ใช่คำเหล่านี้ ภาษาใดก็ได้ ขอให้รู้ว่าหมายความถึงธาตุที่กำลังมีในขณะนั้นซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดธาตุรู้เลย แต่ความละเอียดก็คือว่าธาตุรู้มี ๒ อย่าง ธาตุรู้ทั้ง ๒ อย่างอาศัยกันเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่ามีสิ่งหนึ่งเกิด แล้วก็มีสิ่งอื่นมาอาศัย แต่ว่าอาศัยกัน และกัน เกิดพร้อมกัน เพราะว่าจะไม่มีสภาพธรรมใดสักอย่างเดียวที่เกิดขึ้นได้ตามลำพัง
ด้วยเหตุนี้เมื่อเป็นธาตุรู้ก็อาศัยกัน ๒ อย่าง คือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานอย่างหนึ่งคือจิต และสภาพอื่นทั้งหมดไม่มีรูปร่างใดๆ เป็นธาตุรู้ แล้วก็เกิดพร้อมจิต ใช้คำว่าเจตสิก หมายความถึงธาตุรู้ซึ่งเกิดในจิตเกิดพร้อมจิตแยกกันไม่ได้เลย โกรธ มีไหม มองเห็นโกรธไหม แล้วโกรธเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าไม่เห็น จะโกรธไหม ถ้าไม่คิดจะโกรธไหม ถึงอย่างไรก็ต้องมีธาตุรู้คือจิต ซึ่งขณะนี้จะรู้อะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเป็นที่อาศัยของนามธรรม ธาตุรู้ซึ่งเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตดับพร้อมจิต เพราะฉะนั้นทรงแสดงว่ามีเจตสิกถึง ๕๒ ประเภท ลองคิดดู วันนี้รู้จักเท่าใด รู้จักเจตสิกกี่ประเภท แต่จิตมีแน่นอน
เพราะฉะนั้นถ้านับธาตุรู้ ก็คือเจตสิก ๕๒ จิต ๑ รวมเป็นธาตุรู้ ๕๓ ได้ไหม หรือใครบังคับ หรือใครบอกไม่ได้ ต้องเป็นเช่นนี้ หนังสือว่าเช่นนั้น แต่ความจริงไม่ใช่ ต้องเข้าใจลักษณะที่มีจริงๆ แล้วจะรู้ว่าธรรมที่ได้ฟังทั้งหมด สอดคล้องกันทั้งหมด แล้วก็อาศัยกันที่จะทำให้เข้าใจขึ้นด้วย รู้จักเจตสิกอะไรบ้าง ลองบอก วันนี้สภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ แล้วก็มีอะไรบ้าง เราอาจจะบอกว่าคนนั้นขยัน ใช่ไหม ขยันมีจริงๆ หรือเปล่า เป็นเราหรือเปล่า เป็นจิตหรือเปล่า ขยันเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นนอกจากจิตแล้ว สภาพนามธรรมใช้คำว่านามธรรมหมายความถึง สภาพที่เกิดขึ้นรู้โดยที่ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย
เพราะฉะนั้นจิต และเจตสิกเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นนามธรรมที่เกิดมี ๒ อย่างที่เกิดพร้อมกันคือจิต และเจตสิก ขยันเป็นเจตสิกไม่ใช่เรา รู้จักเจตสิกหนึ่งแล้ว อะไรอีก ลองช่วยกันคิดว่ารู้จักเจตสิกอะไรบ้าง ไม่ต้องอาศัยหนังสือก็ได้ แต่วันนี้มีเจตสิกอะไรบ้าง โกรธไม่ใช่ขยัน เป็นเจตสิกอีกหนึ่ง เมื่อสักครู่นี้มีคนใจดีใช่ไหม ไม่มีคนถ้าไม่มีธรรม ถ้าไม่มีจิตไม่มีเจตสิก จะไม่มีการสมมติว่าคน ถึงแม้คนก็หลากหลายมาก จนไม่รู้ว่าจะหมายความถึงคนไหน ก็ต้องมีชื่อใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะกล่าวถึงชื่อ เราก็รู้ว่าไม่ได้หมายความถึงจิตเจตสิกอื่น แต่หมายความถึงจิตเจตสิกซึ่งหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อที่จะให้รู้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมใด แม้แต่ขยันก็เป็นคำเป็นชื่อ ภาษาบาลีจะใช้คำว่าวิริยเจตสิก ถ้าเป็นสภาพโกรธขุ่นเคือง ก็เป็นปฏิฆะหรือโทสเจตสิก
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม จึงต้องศึกษาคำแต่ละคำให้เข้าใจจริงๆ มิฉะนั้นถ้าเอาความคิดในภาษาไทยมา แล้วก็จะเข้าใจผิดเพราะว่าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด อีกประการหนึ่ง จิตเกิด ๑ ขณะประกอบด้วยเจตสิกมากน้อยตามประเภท จิตบางประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ บางประเภทก็ ๑๐ บางประเภทก็ ๑๑ บางประเภทก็มากกว่านั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราจะไม่กล่าวว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน จะเอาเจตสิกใดเป็นใหญ่เป็นประธาน
อ.อรรณพ ประการนี้ตรงตามอรรถกถา ที่มีคำถามว่า จิตเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน ทำไมจึงกล่าวว่าจิตเป็นหัวหน้า ท่านก็กล่าวมีคำแก้ว่า ใจได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่านั้นก็คือเจตสิกนั่นเอง ด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัยยังธรรมเหล่านั้นให้เกิดขึ้น ท่านก็เปรียบเทียบเหมือนถ้าตอนที่เป็นอกุศล จิตก็เหมือนหัวหน้าโจร หัวหน้าโจรไม่ได้เป็นคนไปหยิบไปฆ่าเอง เป็นคนสั่งเป็นประธาน ท่านก็อธิบายไว้ แล้วเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็อธิบายก็มีข้อความในอรรถกถาว่า ด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัยยังธรรมให้เกิดขึ้น ก็คือเจตสิก ธรรมทั้งหลายนั่นจึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า เพราะเมื่อใจไม่เกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ แล้วท่านก็อธิบายต่อไปว่า ฝ่ายใจถึงเจตสิกธรรมบางเหล่าแม้ไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ตอนโลภเจตสิก โทสเจตสิกไม่เกิด จิตเกิดได้ไหม เกิดได้ จิตที่เป็นกุศลก็ไม่มีโลภะโทสะโมหะ ตอนที่เป็นโทสะ โลภะก็ไม่มี แต่จิตมีอยู่ตลอดเช่นที่อาจารย์พูด แต่เจตสิกบางอย่างก็เกิดกับจิตอยู่ตลอดเวลา เช่น เวทนาเจตสิก แต่ทำไมไม่เป็นใหญ่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาผัสสะเป็นหัวหน้า ก็ต้องกล่าวถึงเจตสิกอื่นที่เกิดรวมกันพร้อมทั้งจิต แต่ถ้ากล่าวถึงจิตก็รู้อยู่แล้วว่าเจตสิกทั้งหลายอาศัยจิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าจิตประเภทที่ดีเกิดขึ้น ก็เมื่อมีโสภณเจตสิก เจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย แล้วจะเรียกว่าอะไรที่จะให้เป็นหัวหน้าในขณะนั้น
อ.อรรณพ ก็ต้องจิต
ท่านอาจารย์ แต่ถ้ากล่าวว่าโสภณเจตสิกเกิดกับจิต ขณะนั้นจิตก็เป็นจิตที่ดี เพราะมีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย รวมยอดอยู่ที่จิตคำเดียว เจตสิกอื่นทั้งหมดก็ดี แม้แต่ผัสสเจตสิกที่กระทบอารมณ์ จิตเกิดเมื่อใดต้องมีสภาพของเจตสิกนี้เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะฉะนั้นผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่จำ ก็เกิดกับจิตทุกประเภท แต่ว่าเมื่อมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก ผัสสเจตสิก และจิตก็เป็นสภาพที่ดีทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวว่าแล้วจะยกเจตสิกไหนขึ้นมา จะยกผัสสะหรือจะยกเวทนาหรือจะยกสัญญาขึ้นเป็นหัวหน้า ก็ต่างก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน แต่จิตเป็นหนึ่งซึ่งเป็นธาตุรู้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานสำหรับเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ไม่ว่าเจตสิกที่ไม่ดีเกิดจิตนั่นเองก็ไม่ดี กล่าวว่าจิตไม่ดีก็รวมเจตสิกอื่นที่ไม่ดีทั้งหมด ไม่ต้องแยกเป็นแต่ละหนึ่ง
อ.อรรณพ ท่านอาจารย์ยกตัวอย่าง เช่น ขณะที่เจ็บ ไปกระแทกอะไรแล้วเจ็บ ขณะนั้นความรู้สึกปรากฏเป็นใหญ่ในความรู้สึก แต่ขณะนั้นจิตก็ยังคงเป็นหัวหน้าของสัมปยุตตธรรมขณะนั้น
ท่านอาจารย์ เหมือนเดี๋ยวนี้ ชีวิตตามความเป็นจริง เวทนาความรู้สึกเป็นใหญ่ไหม
อ.อรรณพ เป็นใหญ่
ท่านอาจารย์ ในขณะที่เป็นใหญ่ แต่ว่าจิตเป็นใหญ่ในขณะใด เช่นเวลานี้ที่กำลังเห็น เวทนาเป็นใหญ่หรือเปล่า
อ.อรรณพ ถ้าเห็น จิตต้องเป็นใหญ่
ท่านอาจารย์ เห็นเป็นใหญ่ใช่ไหม เพราะขณะนั้นเวทนายังไม่ใช่อินทริยะ ซึ่งความรู้สึกนั้นในขณะนั้นที่เป็นอินทรีย์ โดยที่ว่าแม้มีจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ แต่ความรู้สึกใหญ่กว่าไหม
อ.อรรณพ ความรู้สึกใหญ่กว่า
ท่านอาจารย์ จนกระทั่งลักษณะของจิตไม่ปรากฏ
อ.อรรณพ จิตยังคงเป็นมนินทรีย์ แต่ในขณะนั้นมีความรู้สึกแสดงความเป็นใหญ่ เช่น ความไม่สบายใจ
ท่านอาจารย์ และถ้าจิตนั้นไม่เกิด ความรู้สึกไม่สบายใจจะเกิดได้ไหม
อ.อรรณพ ก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นมนินทรีย์เป็นใหญ่หมายความว่า เพื่อที่จะให้เจตสิกคือความรู้สึกนั้นเกิด แต่ความรู้สึกนั่นเองเป็นใหญ่ครอบงำ
อ.วิชัย ประเด็นหนึ่งก็คือความเป็นอินทรีย์หรืออินทริยะ คือถ้ากล่าวถึงจิต ไม่ว่าจะเป็นกาลใดโดยฐานะหรือโดยลักษณะ ก็คือเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่ถ้าพูดถึงกำลังของสภาพธรรมที่จะเกิดขึ้น และปรากฏให้รู้ได้ เช่น ความรู้สึกที่เจ็บ หมายถึงว่าขณะนั้นโดยทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ก็เป็นอินทรีย์คือเป็นใหญ่ในการจะเสวยความรู้สึกที่เป็นทุกข์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเป็นใหญ่ประการเดียว ในการรู้แจ้งอารมณ์
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 901
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 902
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 903
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 904
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 905
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 906
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 907
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 908
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 909
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 910
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 911
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 912
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 913
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 914
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 915
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 916
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 917
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 918
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 919
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 920
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 921
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 922
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 923
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 924
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 925 -VB
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 926 -VB
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 927
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 928
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 929
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 930
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 931
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 932
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 933
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 934
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 935
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 936
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 937
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 938
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 939
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 940
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 941
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 942
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 943
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 944
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 945
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 946
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 947
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 948
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 949
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 950
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 951
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 952
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 953
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 954
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 955
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 956
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 957
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 958
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 959
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 960