ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1784


    ตอนที่ ๑๗๘๔

    สนทนาธรรมที่ เทวะมนตรา รีสอร์ท จ.เชียงใหม่

    วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่าเป็นพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ ก็เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงให้ได้เข้าใจขึ้น เพราะว่าไม่มีใครสามารถที่จะคิดเองได้

    ผู้ฟัง ผมมีปัญหาเรียนถามท่านอาจารย์ที่กล่าวว่า ธาตุรู้มีจริง รู้ก็เกิดดับ เกิดดับ เป็นขณะ ถ้าเช่นนั้นในวงจรปฏิจจสมุปบาทสายดับ ผมมองไม่เห็นว่ามันมีรู้อยู่ครับ ท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะหนทางที่ถูกต้องให้ด้วย

    ท่านอาจารย์ เริ่มต้นของปฏิจจสมุปบาท อวิชาคือ..

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ หมายความว่า ไม่ได้เข้าใจถูก ไม่ได้เห็นถูก ในสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นแสดงว่า อวิชชานี่มีจริง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ คือความไม่รู้ที่ถูกต้อง แต่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ แต่ไม่เห็นถูกตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น จึงเป็นอวิชา อย่างเช่นขณะนี้ เห็น กำลังมี จะบอกว่าไม่เห็นไม่ได้ แล้วรู้ความจริงของเห็นในขณะนี้หรือไม่ว่าเป็นเพียงขณะหนึ่งซึ่งมีการเห็นเกิดขึ้น แต่ยังไม่รู้ว่าการเห็นคืออะไร แต่รู้ว่าการเห็นมีแน่ เพราะฉะนั้นเพียงเห็น แต่ว่าเหมือนเด็ก เหมือนสุนัข เหมือนแมว เหมือนนก ก็เห็น เห็นเป็นเห็น แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องว่าเห็นเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ก็พอจะเข้าใจความหมายของธาตุรู้หรือสภาพรู้ ซึ่งต่างกับธาตุที่ไม่รู้อะไรเลย เกิดมีจริงๆ คือเป็นแข็ง แข็งไม่รู้อะไร เสียงๆ มีจริงๆ เกิดเป็นเสียง แต่เสียงก็ไม่ได้คิด ไม่ได้รู้อะไร ไม่ได้จำอะไร เพราะฉะนั้นถ้าเว้นจากสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นอกจากนั้นก็เป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง คือว่ามีอยู่จริง

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ หรือไม่ คิดมีไหม

    ผู้ฟัง คิดมี

    ท่านอาจารย์ รูปร่างคิดเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่มีลักษณะ

    ท่านอาจารย์ คิด มีกลิ่นไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีกลิ่น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กลิ่นเป็นรูปที่ไม่รู้ แต่ขณะใดที่กลิ่นปรากฏให้รู้ว่ามีกลิ่นนั้นไม่ใช่กลิ่นอื่น ก็เพราะเหตุว่ามีสภาพที่กำลังรู้กลิ่นนั้น กลิ่นนั้นจึงปรากฏว่ามีจริงๆ เพราะแม้ว่ามีสภาพรู้ ธาตุรู้ ตั้งแต่เกิดจนตายก็ยังไม่รู้ว่ามี แต่เป็นเรา เราเห็น เราได้ยิน แต่เห็นไม่ใช่เรา เพราะถ้าเห็นไม่เกิด จะมีเราเห็นไหมหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้ยินไม่เกิด จะมีเราได้ยินหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นได้ยินเป็นได้ยิน ไม่ใช่เรา ได้ยินจะมารู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ไม่ได้ นั่นไม่ใช่ได้ยิน ได้ยินรู้เฉพาะเสียงอย่างเดียว ไม่รู้อย่างอื่น เพราะฉะนั้นสภาพที่กำลังรู้เสียง มีแน่ๆ แต่เวลาใดที่เสียงปรากฏต้องหมายความถึงมีสภาพที่กำลังรู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง อย่างนั้น ตัวรู้นี่คือวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ เราจะเรียกว่าอะไรก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ใช่ไหม เช่น ขณะนี้ กำลังกระทบแข็ง แข็งรู้ไหมว่ามีใครกระทบแข็ง ไม่รู้ แต่ขณะใดที่แข็งปรากฏว่ามีจริงๆ ขณะนั้นก็เพราะมีสภาพที่กำลังรู้แข็ง ไม่ได้รู้อย่างอื่น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราทำอะไรไม่ได้เลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเรา แต่มีธาตุหรือมีสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละอย่างซึ่งหลากหลายมาก แต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง ไม่ซ้ำกันเลย ถ้าแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ สิ่งที่มีจริงซึ่งสามารถที่จะรู้อะไรก็ได้ เห็นได้ ได้ยินได้ คิดได้ จำได้ สุขได้ ทุกข์ได้ กับสภาพที่แม้มีแต่ก็ไม่สามารถจะรู้ ไม่สามารถจะจำ เป็นแข็งบ้าง เป็นเสียงบ้าง เป็นกลิ่นบ้าง เป็นรสบ้าง

    ผู้ฟัง เหมือนพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสกับท่านพาหิยะใช่ไหม เป็นลักษณะที่สักแต่ว่ารู้ สักว่าเห็น สักว่าได้ยินไปเรื่อยๆ อย่างนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่สักโดยไม่รู้ อย่างขณะนี้เห็นแล้ว จะบอกว่าสักว่าเห็น ยังไม่ได้ แต่ต้องเป็นปัญญาที่เข้าถึงความหมายของคำว่า เห็นเพียงเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นตัวรู้เป็นตัวปัญญาได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีใครไม่รู้ว่าแข็งบ้างไหม

    ผู้ฟัง มีแข็ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าจับแก้ว เด็กรู้ไหมว่าแข็ง

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าถูกไฟ เด็กรู้ไหมว่าร้อน

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ แม้ไม่ต้องเรียกว่าร้อน ไม่ต้องเรียกว่าแข็ง ในขณะนั้นที่ว่าเรารู้ว่ามีร้อน แท้ที่จริงก็เพราะเหตุว่ามีสภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่ร้อนจึงกล่าวว่ามีร้อน ถ้าไม่รู้ลักษณะที่แข็งก็จะกล่าวว่ามีแข็งไม่ได้ แต่เพราะขณะนั้นกำลังรู้ในลักษณะที่แข็ง จึงรู้ว่ามีแข็ง เพราะฉะนั้นแข็งไม่ใช่สภาพที่รู้ แต่แข็งปรากฏเมื่อมีสภาพที่กำลังรู้เฉพาะแข็งอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็แยกออกว่ามีสภาพที่รู้ ไม่ใช่เรา เพียงเกิดขึ้นเห็น จึงสักแต่ว่าเห็นได้

    ผู้ฟัง ยาก

    ท่านอาจารย์ กำลังสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าถ้าง่ายๆ ก็ไม่ต้องบำเพ็ญพระบารมีนานถึง ๔ อสงไขยแสนกัปที่จะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง แต่ถูกปกปิดด้วยความไม่รู้ ซึ่งใช้ภาษาบาลีว่าอวิชชา ไม่รู้ความจริง ไม่ได้เห็นถูกตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่มีต้องเกิดขึ้นมีชั่วคราวแล้วก็หมดไป อย่างเห็นที่เกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ขณะนี้จิตที่ได้ยินกำลังได้ยินเสียงแล้วก็ดับไปเลย ทำอะไรก็ไม่ได้ เป็นสิ่งที่มีจริงชั่วขณะที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นแล้วก็หมดไปแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย นี่คือชีวิตที่เข้าใจว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ความจริงไม่ใช่ เป็นเพียงสิ่งที่มีจริงเมื่อเกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะต่างๆ กันไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย จะไปหาอีกที่ไหนก็ไม่ได้ เราคิดว่ามีเราเกิด แล้วก็มีเราตาย แต่ความจริงแม้เดียวนี้ก็ไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ซึ่งต้องฟัง จนกระทั่งสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อละความไม่รู้ จะกล่าวว่าเพียงรู้แข็งเป็นปัญญานั้นไม่ใช่ เป็นสภาพธรรมดาที่รู้แจ้งว่าแข็งขณะนี้เป็นอย่างนี้ เย็นมีตั้งแต่เย็นแล้วก็เย็นจัดใช่ไหม ต่างกันใช่ไหม ไม่ต้องเอ่ยคำใดๆ เลยขณะที่สภาพนั้นปรากฏ แต่ต้องใช้คำเพื่อที่จะให้รู้ว่าต่างกันอย่างไร ว่าเย็นก็มีหลายระดับ ในลักษณะที่เย็นก็มีจริงๆ เพราะมีสภาพที่กำลังรู้เย็นนั้นไม่ใช่เย็นอื่น

    เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตก็เป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริงชั่วคราว เกิดมารู้ เกิดมาเห็น เกิดมาได้ยิน แล้วก็หมด หมดก่อนตายด้วย เห็นเมื่อวานนี้ก็ไม่เหลือ รสอาหารที่อร่อยเมื่อครู่นี้ เดี๋ยวนี้นึกถึงได้ แต่ไม่ใช่รสที่กำลังปรากฏ เป็นความต่างกันแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่าวิญญาณธาตุ สภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตนี้กำลังเห็นเมื่อใด รู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏแน่นอน บอกได้ จำได้ ว่านั่นเขียว นั่นเหลือง นั่นเป็นต้นไม้ นั่นเป็นดอกไม้ นั่นเป็นอะไรต่างๆ ตามที่หลากหลายมากเพราะเห็น แต่ถ้าไม่มีเห็นจะรู้ไหมว่าความหลากหลายนั้นเป็นอย่างไร ก็รู้ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเห็นทีละหนึ่งแล้วก็ดับ แต่ว่าเกิดดับเร็วประมาณไม่ได้เลย เหมือนเวลาที่เราจุดก้านธูป และก็แกว่งเร็วๆ เพียงก้านธูปดอกเดียวก็ปรากฏเป็นวงกลมได้ ทั้งๆ ที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งนี่ต้องดับก่อน แต่เมื่อกลับมาซ้ำอย่างเร็วก็เหมือนว่าไม่ได้ดับเลย ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ มีแต่การเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เพราะไม่รู้ความจริงก็สืบต่อตั้งแต่เด็กจนถึงโต จนถึงเดี๋ยวนี้ จนกระทั่งจากโลกนี้ไป ธรรมซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครที่จะไปทำให้เกิดขึ้นได้ เพราะอะไร เกิดแล้วทั้งหมด แล้วจะทำอะไร เกิดแล้วต่างหาก เราคิดว่าจะทำอะไร ไม่ได้ทำ เกิดแล้ว แม้แต่คิดก็เกิดแล้ว แม้แต่จำก็เกิดแล้ว แม้แต่เห็นก็เกิดแล้ว ทุกอย่างมีปัจจัยเกิดแล้วไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง แต่ถ้าแยกย่อยแล้วก็เป็นลักษณะของสิ่งที่มีจริงเพียงแต่ละหนึ่งไม่ซ้ำกันเลย เสียงก็ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่คิด ไม่ใช่เห็น มีจริงตลอดในชีวิต แต่ก็หมดไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ทรงตรัสรู้ก็ทรงแสดงความจริงที่ได้ตรัสรู้แล้วให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้องว่าความจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีการตรัสรู้สภาพธรรมะ ก็มีแต่ความไม่รู้ ทุกภพทุกชาติก็ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เกิดมาจากไม่เคยเกิดมาเป็นคนนี้เลย แล้วก็มีคนนี้ แล้วคนนี้ทำอะไรบ้างตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อตายแล้วก็จำไม่ได้เลย หมดไปเลยหาอีกไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ประโยชน์อะไรของการที่เกิดมาเป็นคนนี้ บางคนก็ทำชั่ว ตลอดชีวิต บางคนก็ทำดีบ้าง แต่แม้จะทำดีปานใดก็ตามความดีนั้นไม่บริสุทธิ์เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่รู้ความจริงว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเมื่อทำดีก็ยังคงเป็นเราที่ทำดี เพราะฉะนั้น จะบริสุทธิ์จากสิ่งที่มีจริงๆ ได้อย่างไร ในเมื่อหลงเข้าใจว่าเป็นเราทำดี จะบริสุทธิ์จริงๆ ต่อเมื่อรู้ว่าไม่มีเรา

    วันนี้เห็นความเห็นแก่ตัวบ้างไหม ของใคร คนอื่นเห็นแก่ตัว หรือว่าแท้ที่จริงทุกคนที่เข้าใจว่ามีตัวเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้เลย ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะนี้คนนี้กำลังเห็นแก่ตัว แม้นิดเดียวก็ส่องถึงความเป็นตัวตน และการยึดถือตนว่าเป็นเราจึงเห็นแก่ตัวเพราะรักตัวที่สุด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าตั้งแต่ตื่น รักใครที่สุด ตัวนี้เดือดร้อนก็เพราะตัว รักมาก เป็นอะไรนิดหน่อยก็ไม่ได้ ตัดผมผิดรูปผิดร่างก็เดือดร้อนแล้ว เพียงแค่ผม ก็เป็นเรา เป็นของเราไปหมดเลย เพราะฉะนั้น ยึดถือสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยว่าเป็นเรา และเป็นของเรา แล้วทุกข์ไหม และสำหรับผู้ที่จะไม่ทุกข์ ก็คือว่าไม่มีความติดข้องเพราะว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นปรากฏเพียงชั่วคราวแล้วก็หายไปดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย มีเพื่อนฝูงมิตรสหายญาติพี่น้อง หายไปทีละคนสองคน หายไปเลย จากที่เคยมี เคยพบ เคยพูด ก็หายไป ไปตามหาที่ไหนอีกก็ไม่มี แม้แต่เราเองก็มาอยู่ในโลกนี้ชั่วคราวแล้วก็หายไป ไปไหนรู้ไหม ไม่รู้ใช่ไหม แต่ไปแน่

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องคอยไปจนกระทั่งถึงวันนั้น เมื่อวานนี้ก็หายไปแล้ว เมื่อครู่นี้ก็หายไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ฟังธรรม เราไม่มีทางที่จะมีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มี เพราะฉะนั้นจึงมีความต่างของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับปุถชน เทียบกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังธรรม เพราะว่าได้สะสมบุญแต่ปางก่อน ทำให้มีความศรัทธาที่จะเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจ อยู่ไปวันๆ แล้วไม่เข้าใจอะไรเลยกับมีผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมให้คนสามารถที่จะเข้าใจได้ ก็เป็นโอกาสของผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้ว เพราะฉะนั้นชาตินี้เป็นชาติปางก่อนของชาติหน้า กำลังสะสมบุญที่ได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อนของชาติหน้าคือเดี๋ยวนี้ที่จะค่อยๆ เข้าใจธรรมขึ้น ก็จะมีโอกาสที่เมื่อฟังก็เข้าใจได้ สามารถที่จะเข้าใจความหมายของคำว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ด้วย แต่ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่มีสิ่งที่สามารถจะกระทบให้ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ แล้วก็จำไว้มั่นคงว่าแม้ไม่เห็นก็ยังมีสิ่งนั้นอยู่ มีพี่มีน้องยังอยู่ใช่ไหม จำไว้เท่านั้นเอง แต่ความจริงแม้ขณะนี้ก็เป็นธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม และสิ่งที่อาศัยเกิดพร้อมกันก็ดับไปพร้อมกันด้วย ก็ไม่เหลืออะไรเลยสักอย่าง

    เพราะฉะนั้นกว่าจะมีความเห็นถูกความเข้าใจถูกอย่างมั่นคง ที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทันทีที่เห็น ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าถ้าไม่มีจิต ไม่มีสภาพรู้หรือเห็น อะไรๆ ก็ไม่มีในโลก ปรากฏไม่ได้เลยว่ามี แต่ทั้งหมดเพราะจิตเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน เกิดแล้วดับไป และเกิดอีก แล้วก็ดับไปทุกวัน ก็ทำให้มีสิ่งที่ปรากฏเสมือนว่าไม่ขาดไปจากโลกนี้เลย แต่ความจริงต้องรู้ว่าจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะดับแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาจะปรากฎได้อย่างไร ก็ต้องไม่มี ใช่ไหม ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจเพื่อที่ละความไม่รู้ ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรด้วยความต้องการ แต่ให้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าปัญญา ภาษาไทยก็นำคำภาษาบาลีมาใช้แต่ไม่รู้ว่าอะไร พูดแต่คำว่าปัญญา ถ้าจะถามว่า ปัญญารู้อะไร จะตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ตอบไม่ได้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะต้องฟัง แม้แต่คำที่เราใช้ ด้วยเหตุนี้คงจะไม่ผิดถ้ากล่าวว่าตั้งแต่เกิดจนตายพูดคำที่ไม่รู้จัก ลองพูดมาสักคำ เช่น คำว่า จิต จิตคืออะไร แล้วเดี๋ยวนี้มีจิตไหม เดี๋ยวนี้จิตกำลังทำอะไร แล้วจิตอยู่ที่ไหน ไม่รู้เลย แต่พูดได้ โกรธ พูดได้ และโกรธคืออะไร เดี๋ยวนี้มีหรือไม่ และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เกิดแล้วหายไปไหน เห็นไหมว่าก็ไม่ได้รู้ความจริงอะไรแม้อย่างเดียว เพราะฉะนั้น การที่จะพูดอะไรแม้แต่คำที่เราได้ยินได้ฟังที่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประมาทไม่ได้เลย เพราะว่าแต่ละคำมีความหมายที่ลึกซึ้ง และก็ไม่เปลี่ยนแปลง ทุกคำเป็นคำจริง เป็นวาจาสัจจะ เพราะว่าอิงอาศัยอริยสัจจะซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างทุกขอริยสัจจะ ทุกข์ที่เป็นการเห็นที่ถูกต้องที่เป็นความจริงที่ประเสริฐ เพราะว่าสามารถที่จะรู้ความจริงได้ ก็คือ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ธรรมดาอย่างนี้ สิ่งนั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา ใครเปลี่ยนได้ไหม ไม่ให้ดับ ไม่ให้หมดไป เพราะฉะนั้นถ้าสามารถที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ ก็เป็นผู้ประเสริฐ เพราะว่าขณะนั้นเป็นปัญญา ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

    การศึกษาธรรมที่ถูกต้อง คือเข้าใจในภาษาของตนเอง เพราะเหตุว่าถ้าเราไปเริ่มจากคำที่เราไม่รู้จักมาก่อน เราก็มาหา เช่นคนที่ได้ยินคำว่าธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมอยู่ที่ไหน ต้องหาใช่ไหม แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ มีจริงๆ หรือไม่ จะตอบว่าอย่างไร เห็นเดี๋ยวนี้ เห็นจริงๆ มีเห็นจริงๆ หรือไม่ ตอบว่าอย่างไร เห็นจริงๆ มีเห็นแน่ๆ เพราะกำลังเห็น สิ่งที่มีจริงก็เป็นธรรม เพราะความหมายของธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ เราก็ถึงตัวธรรมโดยไม่ต้องอาศัยคำอื่นมาปิดบังใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในภาษาที่คนที่ได้ฟังเข้าใจคือภาษามคธี ซึ่งใช้กันอยู่ในสมัยนั้นไม่ใช่ภาษาไทย แต่คนไทย เวลาได้ยินคำภาษาอื่น เช่นภาษาบาลี ใช้คำว่าภาษาบาลี เพราะคือภาษามคธี ซึ่งดำรงคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วยพระโอษฐ์ที่จะไม่เปลี่ยน เพราะมีหลักไวยากรณ์ที่ไม่คลาดเคลื่อน และตายตัว ถ้าเข้าใจศึกษาจริงๆ ทั้งรูปศัพท์ คำที่ใช้ที่บ่งถึงลักษณะของสิ่งที่มีจริง ก็จะทำให้เข้าใจคำนั้น ไม่ใช่เพียงเข้าใจคำ หรือรูปไวยากรณ์ แต่ว่าคำนั้นสองถึงสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะแปลสิ่งที่ชาวมคธกำลังฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ กับการที่เราพูดภาษาไทยของเราในเรื่องสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นภาษาบาลีก็เรื่องเดียวกัน เวลาใช้คำว่าธรรมก็คือกำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริง จะไม่พูดถึงสิ่งที่ไม่มี ไร้ประโยชน์ และสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ พูดเพื่ออะไร เพื่อให้เกิดความเห็นถูกความเข้าใจถูก เช่นตรัสภาษาบาลีที่ตรัสถามพวกชาวมคธว่า จักขุวิญญาณเที่ยงไหม แต่เราก็ยังไม่เข้าใจคำว่าจักขุวิญญาณ เพราะไม่ใช่ภาษาไทยจนกว่าเราจะรู้ว่า เห็นนี่เอง เห็นธรรมดาๆ เวลาที่พูดถึงจักขุวิญญาณชาวมคธก็ไม่คิดถึงเรื่องอื่น เขาก็เข้าใจถึงเห็นทันที เขาจะไปเข้าใจอย่างอื่นได้ไหมเวลาที่ใช้จักขุวิญญาณ สำหรับเขา และสำหรับเราก็ใช้คำว่าเห็น จะไปคิดถึงคำอื่นได้ไหม ในเมื่อเห็นมี กำลังเห็น ก็พูดเรื่องเห็นขณะนี้ เที่ยงไหม เกิดดับ เพราะเหตุว่าไม่ได้เห็นตลอดเวลา นี้เป็นเครื่องยืนยันความที่เริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยในคำว่าไม่เที่ยงหมายความว่าไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในขณะนี้เอง เห็นกับได้ยินก็ต่างกันแล้ว แต่เสมือนพร้อมกัน นี่แสดงถึงความไม่รู้ ก่อนที่จะไปถึงคำยากๆ ปฏิจจสมุปบาทแต่ละองค์ๆ ก็ต้องเข้าใจว่า ถ้าไม่มีสิ่งที่มีจริงจะมีปฏิจจสมุปบาทหรือไม่ ว่าเพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริง จริงๆ เป็นความเข้าใจ ไม่ต้องกังวล เวลาที่ได้ยินภาษาบาลีเราก็เข้าใจชัดเจน เช่นคำว่าวิญญาณธาตุ ทั้งวันมีเห็น แล้วก็มีคิดต่างกันหรือไม่ เห็นขณะนี้ ไม่ต้องคิดเลย มีสิ่งที่ปรากฏชัดเจน เพราะตาเป็นปัจจัยกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ จิตเกิดขึ้นเห็นชัดเจนในสิ่งที่ปรากฏ เวลาที่เสียงกระทบหู จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้นชัดเจน รู้แจ้งในเสียงที่กำลังรู้ในขณะนั้น ไม่ใช่เสียงอื่น และวันนี้ก็เป็นอย่างนี้ ก็แสดงวันนี้ก็มีทั้งเห็นชัดเจน ได้ยินชัดเจน ได้กลิ่นชัดเจน จะใช้คำว่ารู้แจ้งก็ได้ตามรูปศัพท์ รู้แจ้งรสชัดเจน เมื่อครู่นี้รสอะไรตั้งมากมายใช่ไหม ถ้าไม่มีธาตุที่กำลังลิ้มรู้รสนั้นจริงๆ รสนั้นก็ปรากฏไม่ได้ เมื่อปรากฏแล้วดับไปจะไปใช้คำอื่นให้ชัดเจนเหมือนขณะที่รสกำลังปรากฏก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เห็นความหลากหลายของธาตุรู้ว่าธาตุรู้ที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นอย่างหนึ่ง ชัดอย่างนี้เลย ทางตาก็ชัดอย่างนี้ ทางหูก็ชัดอย่างนี้ ถ้ามีกลิ่นทางจมูกก็ชัด ทางกายก็ชัดในเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ที่กำลังปรากฏ ก็เป็นจิตประเภทที่รู้ชัด เป็นวิญญาณธาตุ ๕ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ถ้าศึกษาต่อไปเราเลือกได้ไหม จะเห็นอะไร อยากเห็นเพชรนิลจินดา อยากเห็นดอกไม้สวยๆ ไม่อยากเห็นขยะ ไม่อยากเห็นผลไม้เน่าๆ ก็ไม่ได้ใช่ไหม แต่เห็นแล้ว ทำอย่างไร มาจากไหน จะไม่ให้เห็นก็ไม่ได้เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัย มีคำมากมายแต่ว่าค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้อง แล้วเวลาที่เข้าใจ เข้าใจจริงๆ อย่าไปอยากรู้คำมากๆ แต่ว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ แต่ว่ารู้คำไหนให้เข้าใจคำนั้นให้จริงขึ้น ถูกต้องขึ้น แล้วจะไม่สับสน และเวลาได้ยินอีกเปลี่ยนไม่ได้เลยคำนั้นยังคงหมายความว่าอย่างนั้น เช่นจิตที่รู้แจ้ง เมื่อวานนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ ก็เป็นเห็นอย่างนี้ เป็นได้ยินอย่างนี้ ไม่ใช่คิดนึก นี่ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นการที่จะศึกษาธรรมต้องไม่ลืมว่า ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงพระมหากรุณา เห็นประโยชน์ที่จะให้คนอื่น และได้รู้ตามด้วย มิฉะนั้นสัตว์โลกก็เกิดมาแล้วก็ตายไปโดยไม่รู้ และไม่มีทางจะรู้ด้วยถ้าไม่ได้ยินได้ฟังคำสอนของผู้ที่บำเพ็ญพระบารมีถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นมหาโพธิสาวก มหาโพธิสัตว์ ผู้ที่ไม่ใช่มหาโพธิสัตว์คือไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นสาวกโพธิสัตว์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นปัจเจกโพธิสัตว์ เพราะสัตว์หมายความถึงผู้ที่ข้อง แต่ผู้ที่ข้องนี้ไม่ได้ข้องในรูปเสียงกลิ่นรสอะไรอื่น แต่ข้องในความเห็นที่จะเข้าใจให้ถูกต้องในสิ่งที่มี และลองคิดดูว่าใครจะเป็นอย่างนี้ มีสิ่งที่มีก็ไม่สนใจ สนุกสนานไปวันๆ หนึ่ง แสวงหาแต่ความสุขใช่ไหม แต่ผู้ที่มีปัญญาข้องที่จะรู้ความจริงว่าสิ่งนี้คืออะไรแน่ ทำไมมีแล้วไม่มี แล้วก็มีอีก แล้วก็ไม่มีอีก ไม่รู้จบใช่ไหม และในที่สุดจากเกิดก็ไปตาย และก็ไม่มีอะไรในโลกนี้ แต่เมื่อข้องในปัญญาใช่ไหม ก็รู้ได้ว่าหนทางเดียวที่จะมีปัญญาที่จะรู้ความจริงก็ต่อเมื่อมีความดี ถ้ามีความชั่วทุกวันก็จะมานั่งเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏหรือไตร่ตรองให้เข้าใจถึงสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น อาศัยจากการที่ได้เป็นพระโพธิสัตว์ ก็รู้ว่าจะไม่สามารถรู้ความจริงได้ถ้าขาดคุณธรรมที่เป็นบารมี ๑๐ ซึ่งบารมีที่ต้องมีอย่างมั่นคง คือสัจจะความจริงใจ ฟังพระธรรมเพื่ออะไร จริงใจก็คือเพื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ไม่อย่างนั้นเราก็เสียเวลา ๒-๓ ชั่วโมงวันหนึ่ง พรุ่งนี้ก็อีกเช้าบ่าย และก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าจริงใจก็คือรู้ว่าสิ่งที่ได้ฟังมีประโยชน์สามารถพิสูจน์ได้ เพราะอะไร เพราะพูดถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ให้เห็นประโยชน์ว่า ถ้าจะรู้ จะรู้อะไร ถ้าไม่ใช่สิ่งที่กำลังมีจริงๆ การที่ได้ยินได้ฟังเรื่องในอดีต เรื่องในอนาคต แต่สิ่งที่มีจริงไม่ได้ให้ความเข้าใจอะไรเลย แล้วจะมีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นธรรมใดที่ได้ฟัง และสามารถที่จะทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ต้องอาศัยการไตร่ตรอง และการเห็นประโยชน์ เพราะว่าชีวิต ดำรงอยู่เพียงหนึ่งขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏจริงๆ แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏแล้วไม่รู้ ก็สะสมความไม่รู้ไปทุกชาติ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 198
    18 มี.ค. 2567