คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
ข้อความต่อไปมีว่า
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อายุของพวกมนุษย์นี้น้อย จำต้องละไปสู่ปรโลก มนุษย์ทั้งหลายจำต้องประสบความตายตามที่รู้กันอยู่แล้ว ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีมนุษย์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดอยู่นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือที่เกินกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีน้อย
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
อายุของพวกมนุษย์น้อย บุรุษผู้ใคร่ความดีพึงไม่ประมาทอายุที่น้อยนี้ พึงรีบประพฤติให้เหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะฉะนั้น เพราะความตายจะไม่มาถึงมิได้มี วันคืนย่อมล่วงเลยไป ชีวิตก็กระชั้นเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยย่อมสิ้นไปฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชีวิตนี้น้อยหนอ
ข้อความต่อไป
ข้อ ๑๘๕
คำว่า มนุษย์ผู้นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล มีความว่า เมื่อใดมนุษย์ เป็นคนแก่ เจริญวัย เป็นผู้ใหญ่โดยกำเนิด ล่วงกาลผ่านวัย มีฟันหัก ผมหงอก ผมบาง ศีรษะล้าน หนังย่น ตัวตกกระ คด ค่อม ถือไม้เท้าไปข้างหน้า เมื่อนั้นมนุษย์นั้นย่อมเคลื่อน ตาย หาย สลายไป เพราะชรา การพ้นจากความตายไม่มี สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
สัตว์ที่เกิดมามีภัยโดยความตายเป็นนิตย์ เหมือนผลไม้ที่สุกแล้วมีภัย โดยการหล่นในเวลาเช้าฉะนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น มนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาด ทั้งหมดย่อมไปสู่อำนาจมัจจุ มีมัจจุสกัดอยู่ข้างหน้า เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกมัจจุสกัดข้างหน้าแล้ว ถูกมัจจุครอบงำ บิดาก็ต้านทานบุตรไว้ไม่ได้ หรือพวกญาติก็ต้านทานญาติไว้ไม่ได้ เมื่อพวกญาติกำลังแลดูกันอยู่นั่นแหละ กำลังรำพันกันอยู่เป็นอันมากว่า ท่านจงดู ตนคนเดียวเท่านั้นแห่งสัตว์ทั้งหลายอันมรณะนำไปได้ เหมือนโคถูกนำไป ฆ่าฉะนั้น สัตว์โลกอันมัจจุ และชราครอบงำไว้อย่างนี้ ...
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ชีวิตนี้มีน้อยหนอ มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี แม้หากว่ามนุษย์ใด ย่อมเป็นอยู่เกินไป มนุษย์ผู้นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล
ข้อ ๑๘๖
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศกในเพราะวัตถุเป็นที่ถือว่าของเรา ความยึดถือทั้งหลาย เป็นของเที่ยงมิได้มีเลย การยึดถือนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุดทีเดียว กุลบุตร เห็นดังนี้แล้ว ไม่ควรอยู่ครองเรือน
ยากแสนยากต่อการสละเพศคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นเพียงการค่อยๆ ห่างออกจากกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยปัญญา และสติปัฏฐาน เพราะถึงแม้จะออกจากเรือนไปสู่เพศบรรพชิต แต่ถ้า ไม่อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าไม่สามารถออกจากกาม คือ การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ได้อย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะออกจากบ้านไปสู่เพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่ มีอัธยาศัยมุ่งตรงต่อพระวินัย เพราะว่าการเป็นบรรพชิตนั้นไม่ใช่ด้วยเพียง การอุปสมบท แต่ต้องเป็นผู้มีจิตมุ่งตรงที่จะรักษาพระวินัยบัญญัติ คือ ข้อควรประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062
นาที 5.00
มีคำถามจากท่านผู้ฟัง ๒ ข้อ
ข้อ ๑. เรื่องเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ถ้าผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ ไม่ทำให้สุขเวทนาเกิด แต่ทำให้ทุกข์ โทมนัสเกิด เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้หรือไม่ หรือจะหมายเอาเพียงสุขเวทนาเท่านั้นที่ทำให้เกิดตัณหา
ข้อ ๒. สติปัฏฐานที่เกิดระลึกลักษณะของวาโยธาตุที่ตึงหรือไหว มีหนังสือ บางแห่งบอกมีรูปหย่อน ตึง ไหว ถามว่า สติที่ระลึกลักษณะที่หย่อนมีหรือไม่
ข้อ ๑. ไม่ว่าจะเป็นเวทนาประเภทใดทั้งสิ้น เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้แม้อุเบกขาเวทนา ตัณหาก็ชอบ ไม่เดือดร้อน ชอบจริงๆ พอใจที่จะได้มี อุเบกขาเวทนานั้นอีก ถ้าเป็นสุขเวทนา ตัณหาก็ชอบพอใจที่จะให้เกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา ตัณหาก็ชอบที่จะให้ไม่ทุกข์หรือโทมนัสในขณะนั้น เพราะท่านที่มีทุกข์ ทุกท่านอยากให้ทุกข์หมด เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียวที่จะไม่ทำให้เกิดตัณหา
เวลาที่มีทุกข์แล้ว ไม่มีตัณหา เป็นไปได้ไหม ที่ไม่อยากจะพ้นทุกข์นั้น
ทุกคนทนทุกข์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่อยากจะให้มีทุกข์นั้น อยากให้ทุกข์นั้นหมดไป ในขณะที่อยากให้ทุกข์นั้นหมดไปก็เป็นตัณหาที่ต้องการให้ทุกข์นั้นหมดไป
สำหรับโทมนัสก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครชอบความโศก ความทุกข์ ความ ไม่สบายใจ ทุกคนถามว่า ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ ไม่โทมนัส ไม่เสียใจ ทราบได้เลย จากคำถาม ว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา แต่ปรารถนาอารมณ์อื่น เพราะฉะนั้น ก็มีตัณหา ความต้องการที่จะให้พ้นจากอารมณ์นั้น
ยังไม่หมดโลภะหรือตัณหาไปโดยง่าย เพียงแต่จะรู้หรือไม่รู้ในความละเอียดของโลภะซึ่งเกิดแทรกอยู่ตลอดเวลา ตลอดวันเป็นเรื่องของโลภะทั้งหมด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่มีการที่จะรู้จริงๆ ได้ยินแต่ชื่อ และรู้จากการอ่าน การเขียน การฟัง แต่เวลาที่โลภะกำลังเกิดอยู่จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นไปเพราะโลภะทั้งนั้นในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ลืมตา แม้แต่การบริหารร่างกายโดยการออกกำลัง หรือปฏิบัติกิจที่จะทำให้ร่างกายเป็นอยู่สะดวกสบายก็ตามแต่ ในขณะนั้นๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่รู้เลยว่า นามรูปที่กำลังเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน กำลังเกิดดับนั้น ก็เป็นที่ตั้งของความพอใจ
ท่านที่จะดื่มน้ำ เมื่อกี้ก็คงจะมีหลายท่านที่ดื่มน้ำ ทราบไหมว่า ขณะนั้นแม้แต่กิริยาอาการที่ก้าวเดินไป ที่หยิบ ที่จับ ที่ดื่ม ที่ลิ้ม ก็เป็นไปด้วยตัณหาทั้งนั้น
ขณะที่จะวางแก้ว ขณะที่จะเปลี่ยนอิริยาบถ ขณะที่จะพูด ขณะที่จะไต่ถามกัน ด้วยเรื่องสารทุกข์ต่างๆ ก็เป็นไปด้วยโลภะทั้งหมด
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด หรือกุศลไม่เกิด ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นโลภะ ซึ่งยากต่อการที่จะรู้จริงๆ เพราะต้องอาศัยสติระลึก และเมื่อระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันเมื่อไหร่ ตามปกติจริงๆ เมื่อนั้นจะเห็นโลภะซึ่งเป็นสราคจิต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพแรก เพราะว่าทุกคนมีมากในชีวิตประจำวัน
คนที่บอกว่าไม่มีโลภะ คือ ผู้ที่ไม่รู้ว่ามี แต่ผู้ที่รู้ จะบอกไม่ได้เลยว่า ไม่มีโลภะ เพราะว่ามีมากเกือบจะตลอดเวลา ถ้ากุศลจิตไม่เกิด โทสมูลจิตไม่เกิด โมหมูลจิต ไม่เกิด วิบากจิตไม่เกิด ก็เป็นโลภมูลจิตทั้งนั้น
สำหรับข้อ ๒. ที่ว่า สติปัฏฐานที่เกิดระลึกลักษณะของวาโยธาตุที่ตึงหรือไหว มีหนังสือบางแห่งบอกมีรูปหย่อน ตึง ไหว ถามว่า สติที่ระลึกลักษณะที่หย่อน มีหรือไม่
นี่เป็นเรื่องของพยัญชนะ หรือสมมติบัญญัติ ไม่ใช่การระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงสิ่งที่กายกระทบสัมผัส ทุกคนจะไม่สงสัยลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แต่พอถึงตึงหรือไหว เริ่มถามกันแล้วว่า ลักษณะของธาตุลมที่ตึงหรือไหวเป็นอย่างไร ดูเหมือนกับว่า เมื่อไม่รู้ก็พยายามที่จะ รู้ลักษณะของธาตุลมซึ่งตึงหรือไหว และขณะนี้ก็มีความพยายามที่จะรู้ลักษณะของหย่อนว่า หย่อนมีไหม เพราะเมื่อมีตึงก็น่าจะมีหย่อน
ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ควรกังวลเรื่องชื่อ เพราะถ้ากังวลเรื่องชื่อ คำถามอื่น จะมาอีก แล้วลื่นๆ ล่ะธาตุอะไร อย่างสัมผัสกระทบสบู่ ลื่นๆ นั่นธาตุอะไร จะเป็นธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม หรือหย่อนหรือเปล่า หรือว่าลื่น จะมีอีกมากมาย และเหนียวล่ะ ก็จะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งใช้ชื่อ และไม่รู้ว่าความจริงนั้น เป็นเพียงสิ่งที่กระทบสัมผัส และปรากฏเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่กระทบสัมผัส อย่ากังวลเรื่องชื่อ เพราะจะทำให้กั้น เนื่องจากไม่รู้ว่าควรจะใช้คำบัญญัติไหน แต่ความจริงสภาพปรมัตถธรรมมี และ กำลังปรากฏ
หนทางที่ดีที่สุด คือ จะเหนียวเหนอะหนะ จะลื่น จะหย่อน จะตึง จะไหว จะอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นโดยนัยนี้ก็จะหมดความสงสัย และไม่ต้องมากังวลว่า อยากจะรู้ลักษณะของธาตุลม หรือว่ายังไม่รู้ธาตุลมสักที ก็กังวลอยากจะรู้แต่ธาตุลม
เวลาที่ธาตุลมกำลังปรากฏ ถ้าลักษณะที่ไหวปรากฏ สติระลึกรู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องใส่ชื่อก็ได้ ใช่ไหม และลักษณะอื่นๆ ก็จะปรากฏ สำหรับทางกาย ลักษณะใดก็ตามที่ไม่ใช่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ลักษณะนั้น ก็เป็นตึงหรือไหวได้ เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ สั้น และเล็กน้อยมาก ไม่ปรากฏนานจนกระทั่งให้ใครไปนึกถึงชื่อได้ แต่สามารถทำให้รู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยไม่ต้องไปกังวลว่า ลักษณะนี้ที่กำลังปรากฏจะเรียกว่าอะไรดี
ยังสงสัยไหม ท่านผู้ถาม ก็ผ่านไปได้สำหรับเรื่องของสมมติบัญญัติ
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมด ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่เริ่มตั้งแต่เกิด และก็แก่ เจ็บ ตาย สุข ทุกข์ เห็น ได้ยิน ทั้งหมดล้วนเป็นสภาพธรรมในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ซึ่งชาติก่อนๆ ก็เคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว เคยเกิดแล้ว เคยแก่แล้ว เคยเจ็บแล้ว เคยตายแล้ว เคยสุขแล้ว เคยทุกข์แล้ว ทั้งหมด และก็หมดไป
เพราะฉะนั้น สังสารวัฏฏ์จะไม่สิ้นไป เพราะต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการ เกิดแล้วเกิดอีก เจ็บแล้วเจ็บอีก ตายแล้วตายอีก ซึ่งในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกคนก็รู้ความจริงว่า วันหนึ่งก็ต้องตายเหมือนคนอื่นๆ ที่ตายไปแล้ว เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า วันที่จะจากโลกนี้ไป จะจากไปด้วยปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งเจริญขึ้น หรือจะจากไปโดยไม่สนใจที่จะอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ก็จากโลกนี้ไปด้วยความมัวเมา ติดข้อง เพลิดเพลิน ในลาภ ในยศ ในสักการะ ในสรรเสริญ ซึ่งเป็นเพียงชั่วขณะจิต และจะไม่ติดตามไปสู่โลกหน้าเลย
ขณะนี้ทุกคนมีร่างกายซึ่งเคยเป็นที่รัก หรือขณะนี้ก็ยังเป็นที่รักที่พอใจ ก็ให้ทราบว่า ร่างกายนี้ต้องเปื่อยเน่าผุพัง และชาติหน้ารูปร่างกายจะเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นอย่างนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า จิต เจตสิก การกระทำ ทางกาย ทางวาจาในชาตินี้ ที่อกุศลจะเกิดครอบงำจนทำให้ร่างกายในชาติต่อไป พิกลพิการ ตา หู จมูกไม่น่าดู หรือจนกระทั่งทำให้ถึงสภาพของเปรต อสุรกาย สัตว์นรก ซึ่งก็เป็นชั่วขณะจิตที่เร็วมาก เร็วยิ่งกว่ากระพริบตาก็สามารถเปลี่ยนสภาพนี้ทั้งหมดจากมนุษย์ในสุคติภูมิ ไปสู่อบายภูมิได้
แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามลำดับของปัญญา และการสะสม
อันนี้จะทำให้อกุศลจิตเกิดครอบงำที่จะให้ร่างกายในชาติต่อไป ที่ก้นพิการตาหูจมูกไม่น่าดูหรือจนกระทั่งทำให้ถึงสภาพของเปรตอสูรกายสัตว์นรก นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งชั่วขณะจิตที่เร็วมากนะคะ เร็วยิ่งกว่าเกือบพริบตาก็3ารถที่จะเปลี่ยนสภาพนี้ทั้งหมดจากมนุษย์ในสุคติภูมิไปสู่อบายภูมิใด แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรม ตามลำดับ ของปัญญา และการสะสม
การที่จะดับทุกข์จริงๆ ต้องดับที่ต้นเหตุ คือ อวิชชา ถ้าไม่มีปัญญา ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อวิชชาก็เต็ม และเมื่ออวิชชายัง เต็มอยู่ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลต่างๆ เช่น ความติดข้องในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจธรรม ไม่อยากจะรู้ ไม่อยากจะเข้าใจธรรม ก็เพราะมีความติด ความพอใจ ความเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความคิดนึกต่างๆ
ถ้าถามท่านที่ยังไม่สนใจ ก็จะเห็นได้ว่า เพราะท่านยังพอใจที่จะสนุกสนานเพลิดเพลินไปในชีวิต แต่ท่านที่สนใจแล้วก็ใช่ว่าจะหมดโลภะ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า อวิชชามีมาก และปัญญาที่เริ่มมีก็ยังน้อย ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ตามกำลังความสามารถ เพราะเหตุว่าที่ใครจะมีกุศลจิตตลอดวัน มีการศึกษาพิจารณาธรรมตลอดวัน หรือสติปัฏฐานระลึกสภาพธรรมตลอดวันนั้น เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็จะต้องดำเนินไป คือ อกุศลบ้าง กุศลบ้าง แล้วแต่ว่าชาติหนึ่งจะสะสมกุศลได้มากกว่าอกุศล หรือถึงแม้ไม่มากกว่าอกุศล แต่กุศลนั้นก็มีกำลังเพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงวันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งทำให้ปัญญาที่ได้สะสมมาคือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ และกุศลอื่นๆ ประกอบเป็นบารมีทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ซึ่งขณะนั้นเป็นอภิสมัย เป็นขณะที่ยากจะเกิดได้ และเป็นสมัยที่เป็นอภิสมัยจริงๆ เป็นสมัยที่แทงตลอดในสัจจธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2063
นาที 18.00
ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน อรรถกถาปฐมโพธิสูตร แสดงความหมายของอภิสมัย มีข้อความว่า
การแทงตลอด ชื่อว่าอภิสมยะ
สมยะ คือ การละ
อนึ่ง สมัย ชื่อว่าอภิสมยะ เพราะเป็นสมัยยิ่งโดยละได้เด็ดขาด
ชื่อว่าอภิสมยะ เพราะพึงถึง คือ พึงบรรลุโดยญาณเฉพาะหน้า ได้แก่ หยั่งรู้ถึงสภาวะแห่งธรรมที่ไม่แปรผัน
ชื่อว่าอภิสมยะ เพราะไป คือ บรรลุ ตรัสรู้ โดยภาวะเฉพาะหน้า คือ โดยชอบ ได้แก่ ความหยั่งรู้สภาวะตามความเป็นจริงแห่งธรรม
นี่เป็นการเตือนผู้ที่ฟังธรรม และผู้ที่อบรมเจริญปัญญาให้รู้ว่า การรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง ตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เข้าใจในไตรลักษณะ คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นในขณะนี้ และกำลังดับไปในขณะนี้
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงเวลานั้น ทุกท่านก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้หนทางว่า สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเริ่มที่จะเข้าใจถูกในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะกำลังเข้าใจในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ และรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ในขณะที่กำลังปรากฏเท่านั้น ละอัตตสัญญา คือ ความทรงจำทั้งหมดที่เกี่ยวกับนามรูปใดๆ ที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา เป็นตัวตน ไม่มีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะทางทวารหนึ่งทวารใดแต่ละทวาร ทีละลักษณะเท่านั้น ในขณะนี้ ค่อยๆ อบรมเจริญไปจนกว่าจะประจักษ์การเกิดดับ และวิปัสสนาญาณก็สมบูรณ์จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะเป็นสมัยยิ่งโดยละ ได้เด็ดขาด ไม่มีกิเลสที่ดับแล้วเกิดขึ้นอีกได้เลย
ขณะนี้นามธรรม และรูปธรรมแต่ละประเภทมีปัจจัยเกิดขึ้น และดับไปๆ อาศัย กัน และกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพที่เป็นนามธรรม ก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม สภาพที่เป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม แต่ถ้าปัญญา ไม่รู้จริงๆ ในลักษณะที่แยกขาดจากกันในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังถูกต้อง หรือกำลังคิดนึก ก็ไม่มีทางเลย ที่จะประจักษ์ได้ว่า สภาพธรรมในขณะนี้มีไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างก็เป็นเพียงขั้นฟัง และพิจารณา และค่อยๆ สะสมไป จนกว่าความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนามธรรม และรูปธรรมจะเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ ให้สติเกิดระลึกได้บ่อยๆ และรู้ชัดในความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม
ขณะนี้นามธรรมทางตาดับแล้ว การดับไปของนามธรรมคือจิต และเจตสิก ขณะก่อนเป็นปัจจัยให้นามธรรมขณะต่อไปเกิด ในขณะที่จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิด ร่วมด้วยในขณะหนึ่ง ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันโดยขณะนั้นยังมีอยู่ ยังไม่ปราศไป เพราะฉะนั้น ความเป็นปัจจัยละเอียดมาก ตั้งแต่ในจิต ๑ ขณะ จนกระทั่งจิต ขณะก่อนเป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเข้าใจเรื่องนามธรรม และรูปธรรมละเอียดขึ้น จะทำให้ละคลายการยึดถือนามธรรม และรูปธรรมว่าเป็นตัวตน
แต่ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการพิจารณาให้เข้าใจความเป็นปัจจัย หรือลักษณะ ของนามธรรม และรูปธรรมโดยละเอียด แม้สติจะระลึกก็ไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้ ต้องอาศัยการฟังจนกระทั่งเข้าใจเป็นกำลังส่งเสริมให้สามารถละการยึดถือสภาพธรรมในขณะนั้นว่า เมื่อเป็นรูปจึงไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นนามธรรมก็เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้นจริงๆ
ที่มา ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2064
นาที 24.00
ตโปกรรมสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงประทับพักผ่อนอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกแห่งพระทัยอย่างนี้ว่า
โอ เราเป็นผู้พ้นจากทุกรกิริยานั้นแล้ว โอสาธุ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากทุกรกิริยาอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์นั้น โอสาธุ เราเป็นสัตว์ที่บรรลุโพธิญาณแล้ว
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้ทราบความปริวิตกแห่งพระทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยจิต จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้ทราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
มาณพทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยการบำเพ็ญตบะใด ท่านหลีกจากตบะนั้นเสียแล้ว เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์มาสำคัญตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านพลาดจากมรรคาแห่งความบริสุทธิ์เสียแล้ว
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงได้ตรัสกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
เรารู้แล้วว่า ตบะอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตบะทั้งหมดหาอำนวยประโยชน์ให้ไม่ ดุจไม้แจว หรือไม้ถ่อไม่อำนวยประโยชน์บนบก ฉะนั้น เราจึงเจริญมรรค คือ ศีล สมาธิ และปัญญาเพื่อความตรัสรู้ เป็นผู้บรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว
ดูกร มารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง
มารไม่รู้หนทางข้อประพฤติปฏิบัติเลยที่จะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้แจ้งสภาพธรรมอย่างไร มารไม่สามารถจะเข้าใจได้เลย เพราะฉะนั้น ก็มีความพากเพียรที่จะติดตามขัดขวาง และข้อความที่ขัดขวางนั้นก็เป็นข้อความที่พยายามชักชวนให้เห็นผิด ให้ประพฤติผิด ให้ปฏิบัติผิด เช่น ข้อความที่มารกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า มานพทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยการบำเพ็ญตบะใด ท่านหลีกจากตบะนั้นเสียแล้ว เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์มาสำคัญตนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านพลาดจากมรรคาแห่งความบริสุทธิ์เสียแล้ว
ถ้าไม่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก เห็นข้อปฏิบัติที่ผิดว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ก็จะกล่าวตำหนิข้อปฏิบัติที่ถูกว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดตามความเข้าใจผิดของตัวเอง เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก เพื่อจะได้ไม่ถูกบุคคลอื่นชักชวนชักจูงด้วยความเข้าใจผิด ซึ่งก็จะเป็นการขัดขวางความเจริญในการปฏิบัติธรรมของท่าน ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับมารว่า เรารู้แล้วว่าตบะอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตบะทั้งหมดหาอำนวยประโยชน์ให้ไม่ ดุจไม้แจว หรือไม้ถ่อไม่อำนวยประโยชน์บนบก ฉะนั้น เราจึงเจริญมรรค คือ ศีล สมาธิ และปัญญาเพื่อความตรัสรู้ เป็นผู้บรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ดูกร มารผู้ กระทำซึ่งที่สุดตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว
ถ้ายังมีบุคคลอื่นซึ่งทำให้ท่านหวั่นไหวได้ ก็ยังตกอยู่ในอำนาจของผู้ที่ขัดขวางนั้น แต่ถ้าผู้ที่ขัดขวางไม่สามารถที่จะทำให้ท่านหวั่นไหวได้ ท่านก็กำจัดการกระทำของบุคคลผู้ขัดขวางนั้นได้ เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวในการขัดขวางของบุคคลอื่น
สุภสูตรที่ ๓ มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ อุรุเวลาประเทศ ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่กลางแจ้งในราตรีอันมืดทึบ และฝนกำลังตกประปรายอยู่
ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปใคร่จะให้เกิดความกลัว ความครั่นคร้าม ขนลุกขนพองแด่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วแสดงเพศต่างๆ หลากหลาย ทั้งที่งาม ทั้งที่ไม่งาม ในที่ไม่ไกลแต่พระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป ดังนี้ จึงตรัสกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า
ท่านจำแลงเพศทั้งที่งาม ทั้งที่ไม่งาม ท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลอันยืดยาวนานมารผู้มีบาปเอ๋ย ไม่พอที่ท่านจะทำการจำแลงเพศนั้นเลย
ดูกร มารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว และชนเหล่าใดสำรวมดีแล้วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาร ชนเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้เดินตามหลังมาร
ที่มา ...
- สังเวชนีย - พระบรมสารีริกธาตุ
- สติ - ธรรมไม่ใช่เรา
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธานุสสติ (ตอนที่ 3) และ ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 1)
- คยา - ฉันทะของผู้ที่จะเป็นพุทธเจ้า (ตอนที่ 2)
- คยา - ตรัสรู้ - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 1)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 2)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 3)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 4)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 5)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 6)
- คยา - พุทธวิปัสสนา (ตอนที่ 7) - มารรบกวนพระผู้มีพระภาคหลังตรัสรู้
- คยา - มารรบกวน - อันตรธาน
- คยา - ปฎิปทา - วิวาท - เลื่อมใส
- คยา - เลื่อมใส - มรรค - ทุกข์ - สติรู้ขันธ์
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - พระเจ้าปุกกุสาติ (ตอนที่ 3) - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 1)
- ราชคฤห์ - ภิกษุ ๗ รูป (ตอนที่ 2)
- ราชคฤห์ - ปุกกุสาติกุลบุตร - ธาตุวิภังคสูตร
- ราชคฤห์ - ธาตุมนสิการ
- ราชคฤห์ - สังคยนา ๑ - พระอานนท์
- ราชคฤห์ - อานันทเถรคาถา
- คิชฌกูฎ - ทีฆนข - จังกม - ลักขณสูตร
- คิชฌกูฎ - พระฉันนะ - กัสสปภิกษุ - มหาสาโรปมสูตร
- นาลันทา - พระสารีบุตรปรินิพพาน
- นาลันทา - พระสารีบุตรแสดงเรื่องบารมี - ทุกข์ ๓ - ลูกศร
- พาราณสี - ธัมมจักร - ปัญจวัคคีย์
- พาราณสี - มัชฌิมาปฏิปทา - สติ - สัจจ์
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 1)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฎฐาน (ตอนที่ 2)
- พาราณสี - บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มหาปรินิพพานสูตร
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 1)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 2)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 3)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 4)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 5)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 6)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 7)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 8)
- กุสินารา - มรณสติ (ตอนที่ 9)